Wednesday, February 25, 2009

Position Sul











Position Sul

Position Sul เป็นภาษาโปรตุเกสแปลว่า “ทิศใต้” เป็นท่าเตรียมพร้อมในการใช้อาวุธปืนที่นิยมมากท่าหนึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ท่านี้ถูกนำมาใช้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1997 ผู้ที่คิดค้นท่านี้คือ นาย Alan Brosnan แห่ง TEES (Tactical energetic entry system, เป็นสถาบันเอกชนแห่งหนึ่งที่สอนให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลสหรัฐ เช่น หน่วย SWAT และ หน่วยปฏิบัติการพิเศษ) และ นาย Max F. Joseph แห่ง TFTT (Tactical firearms training team, เป็นสถาบันเอกชนอีกแห่งหนึ่งที่สอนให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลสหรัฐ เช่น หน่วย SWAT และ หน่วยปฏิบัติการพิเศษ เช่นกัน)

ท่าเตรียมพร้อมในการใช้อาวุธปืนที่นิยมมากท่าหนึ่ง คือ ท่า Low ready position หรือ Position 3 ทำโดยกำด้ามปืน งอข้อศอก ยึดแขนและมือเข้ามาชิดลิ้นปี่ ปลายกระบอกปืนชี้ลงพื้นข้างหน้า 45 องศา บางครั้งผู้ปฏิบัติอาจมีอาการเกร็งไม่คล่องตัวระหว่างการยิงต่อสู้ระยะประชิด ปืนมักชี้ไปที่ขาหรือก้นของคนที่อยู่ข้างหน้าเมื่อมีการเคลื่อนที่ตัดกัน และบางครั้งอาวุธปืนอาจยื่นไปห่างตัวมากเกินไปเมื่อเคลื่อนที่ผ่านประตูหรือมุมห้อง (อาจถูกแย่งปืนได้)

แต่ก่อนนั้นเมื่อเจ้าหน้าที่ตั้งแต่สองคนขึ้นไปถือปืนพกประจำกายเคลื่อนที่เป็นแถวเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในอาคารหรือสถานที่ใดๆ คนที่อยู่หน้าสุดต้องยกปืนของตนขึ้นเพื่อระวังภัยคุกคามด้านหน้า ขณะที่คนข้างหลังถือปืนไว้เตรียมพร้อมที่จะยกปืนขึ้นยิงเมื่อมีภัยคุกคามปรากฏขึ้น แต่หลายครั้งที่คนซึ่งอยู่ข้างหน้ามักรู้สึกว่าคนข้างหลังกำลังกวัดแกว่งปืนไปมา ปากกระบอกปืนชี้เข้าหาคนที่อยู่ข้างหน้าอย่างน่าหวาดเสียว

ท่า Position Sul นี้จึงถูกนำมาใช้เพื่อให้ผู้ถือปืนพกสามารถควบคุมปืนในท่าเตรียมพร้อมได้ดีขึ้นในขณะที่ทำการฝึก CQB (Close quarters battle, เป็นการฝึกการใช้อาวุธในระยะประชิด) หรือการปฏิบัติงานจริง อีกทั้งท่านี้ยังใช้ในขณะที่ผู้ถือปืนเคลื่อนที่ผ่านฝูงชน

Position Sul มีลักษณะใกล้เคียงกับท่าเตรียมพร้อมทั่วไป (Low ready position) เพียงแต่ปากกระบอกปืนให้ชี้ลงดินห่างออกไปข้างหน้าของผู้ถือปืนประมาณ 12 ถึง 18 นิ้ว ปากกระบอกปืนอาจเอียงซ้ายหรือขวาได้บ้างเล็กน้อยขึ้นอยู่กับสถานการณ์แต่โดยทั่วไปก็ชี้ตรงไปที่พื้นข้างหน้า ข้อศอกชิดลำตัว ข้อนิ้วกลางของมือที่ถือปืน (มือข้างถนัด) ต้องสัมผัสกับข้อนิ้วชี้ข้อแรกของมืออีกข้าง แบมือข้างไม่ถนัดออกหันฝ่ามือเข้าหาลำตัวบริเวณลิ้นปี่ นิ้วชี้ที่ใช้เหนี่ยวไกเหยียดตรงออกไปชิดโครงปืนตลอดเวลาเมื่อปืนยังไม่อยู่ในแนวยิง การยกปืนขึ้นจับเป้าหมายทำได้รวดเร็วใกล้เคียงกับท่า Low ready position สำหรับนาย Joseph แล้วเมื่อเขาถือปืนกึ่งอัตโนมัติ 1911 เขามักเอานิ้วหัวแม่มือทั้งสองข้างมาชนกัน

ถ้าสามารถถือปืนได้ถูกต้องในท่า Position Sul ปากกระบอกปืนจะไม่ชี้เข้าหาส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายผู้ถือปืนเลย ไม่ว่าคุณกำลังหยุดนิ่งหรือเคลื่อนที่ ท่านี้ถูกใช้เมื่อทำงานเป็น “ทีม”

Position Sul มักใช้ใน 3 กรณี

1. เมื่อคุณกำลังเคลื่อนที่อยู่ด้านหลังที่กำบังเข้าไปยังตำแหน่งที่จะทำการยิง หรือไปหาคู่หูที่กำลังยกปืนทำการตรวจการณ์ (Cover) หาภัยคุกคามอยู่ แต่ถ้าคุณเป็นคนที่ต้องทำการตรวจการณ์ คุณต้องยกปืนขึ้นเตรียมพร้อมที่จะยิงได้ทันทีในบริเวณที่คุณรับผิดชอบเมื่อมีภัยคุกคามเกิดขึ้น ท่านี้ไม่จำเป็นถ้าคุณปฏิบัติการอยู่คนเดียวยกเว้นมีคนซึ่งไม่ใช่คนร้ายเดินผ่านหน้าคุณๆควรลดปืนลงและอาจใช้ท่านี้ได้

2. เมื่อคู่หูหรือบุคคลฝ่ายเดียวกับคุณเคลื่อนที่ผ่านหน้า ขณะที่คุณทำการยิงหรือกำลังยกปืนขึ้นตรวจการณ์อยู่ คุณควรลดปืนลงอยู่ในท่านี้

3. การควบคุมฝูงชน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อต้องอารักษ์ขาบุคคลสำคัญผ่านฝูงชน คนที่ตามหลังบุคคลสำคัญควรถือปืนในท่านี้ ขณะที่สายตาสอดสายหาภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นและพร้อมที่จะยกปืนขึ้นจัดการกับภัยคุกคามนั้นทันที หรือถ้าคุณอยู่บนเครื่องบินเมื่อเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้ควบคุมตัวคนร้ายได้แล้วและคุณต้องยืนหันหลังให้ประตูห้องนักบินเพื่อป้องกันภัย การถือปืนในท่านี้ปากกระบอกปืนจะหันไปในทิศทางที่ปลอดภัยไม่ชี้ไปที่ศีรษะของผู้โดยสารเบื้องหน้า

เมื่อต้องเคลื่อนที่ผ่านฝูงชนหรือบริเวณที่ใกล้ชิดกับบุคคลอื่นมากๆเช่นทางเดินในรถบัสหรือบนเครื่องบิน การถือปืนท่านี้จะทำให้ยากแก่การถูกแย่งปืนจากคนรอบข้างและแนวปืนอยู่ในทิศทางที่ปลอดภัยมากกว่า

ในกรณีที่ขึ้นบันไดอาจเอียงปืนเฉียง 45 องศาไปด้านข้างไม่ถนัด เพื่อให้แนวปืนไม่ชี้ไปหาคู่หูที่อยู่ข้างหน้า

อย่าลืมหลักสำคัญที่ว่าแนวปืนต้องหันเข้าหาเป้าหมายที่ต้องการยิงเท่านั้น และต้องลดปืนลงในท่า Position Sul ทันที เมื่อคู่หูหรือคนในทีมเคลื่อนที่ผ่านหน้าคุณ

One-hand Sul คือ การถือปืนในท่า Position Sul แต่ถือปืนแค่มือเดียว ใช้ในกรณีที่มืออีกข้าง (ข้างไม่ถนัด) ไม่ว่าง เช่น กำลังถือของหรือช่วยพยุงคนอยู่เป็นต้น

Position Sul ถือเป็นท่าเตรียมพร้อมที่มีประสิทธิภาพท่าหนึ่งซึ่งเราสามารถนำมาใช้ได้ในสถานการณ์ที่เหมาะสม

สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”

เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาจากบทความ Position Sul here’s the scoop, Position Sul, Position Sul CQB ready position

Wednesday, February 18, 2009

Backup Gun




Backup Gun

ในช่วงต้นปี ค.ศ. 1980 ถึงต้นปี 1990 ตำรวจนิวยอร์กของอเมริกาใช้ปืนลูกโม่เป็นอาวุธประจำกายและไม่สามารถพก Speed loader ได้ เมื่อมีเหตุต้องใช้อาวุธปืนหากยิงจนกระสุนหมดและต้องการบรรจุกระสุนใหม่ ก็ต้องดึงกระสุนออกจากแถบกระสุนสำรองที่คาดเอวไว้ทีละนัดหรือสองนัดเพื่อบรรจุในโม่ คงนึกสภาพออกว่าจะเสียเวลามากขนาดไหนในยามวิกฤติที่ภัยคุกคามอยู่เบื้องหน้า ดังนั้นตำรวจนิวยอร์กจึงหาทางออกโดยการพกปืนอีกกระบอกหนึ่ง เมื่อปืนหลักกระสุนหมดก็โยนทิ้งไปเลยแล้วคว้าปืนสำรองขึ้นมายิงต่อสู้ต่อไป เรียกวิธีการนี้ว่า New York Reload ความนิยมในการทำเช่นนี้แพร่หลายไปในหลายเมืองของสหรัฐอเมริกาจนมีคำเรียกขานอีกหลายชื่อ เช่น St. Louis Reload, Chicago Reload เป็นต้น

คำว่า BUG เป็นสแลงที่อเมริกันชนใช้เรียก ปืนสำรอง หรือ Backup gun ปืนแบบใดควรเป็นปืนสำรอง หรือแม้แต่ควรมีปืนสำรองหรือไม่ เป็นคำถามที่ผู้ซึ่งฝากชีวิตไว้กับปืนหลายคนอยากทราบคำตอบ

ประการแรกคงต้องมาดูความหมายของคำว่า “ปืนสำรอง” ก่อน ปืนกระบอกนี้เป็นปืนกระบอกที่สองมีไว้พกติดตัว ส่วนใหญ่เป็นการพกซ่อน (Concealed carry) ใช้ในกรณีที่ปืนหลักกระสุนหมดหรือไม่สามารถใช้งานต่อไปได้ไม่ว่ากรณีใดๆก็ตาม นอกจากนั้นในกรณีที่เจ้าหน้าที่รักษากฎหมายอยู่นอกเวลาปฏิบัติงานซึ่งไม่ได้พกปืนหลักติดตัวแต่พวกเขาจะพกปืนสำรองไว้แทน บางครั้งจึงเรียกปืนแบบนี้ว่า Off-duty gun

จากสถิติในอเมริกาพบว่าปืนสำรองมีบทบาทสำคัญในการช่วยชีวิตเจ้าหน้าที่รักษากฎหมายได้หลายครั้ง หน่วยงานของสหรัฐจำนวนมากจึงอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ของตนสามารถมีปืนสำรองไว้ใช้ได้ (บางหน่วยงานก็ไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่มีปืนสำรอง)
หลายหน่วยงานของสหรัฐมีกฎชัดเจนว่าปืนสำรองจะต้องเป็นปืนที่ใช้กระสุนแบบเดียวกับปืนหลักที่ใช้งานประจำ แต่บางหน่วยงานก็เปิดกว้างให้ใช้ปืนที่ใช้กระสุนแตกต่างจากปืนหลักได้

ปืนสำรองควรมีคุณสมบัติดังนี้ (เป็นเพียงความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ ยังไม่ใช่กฎตายตัว)

1. เป็นปืนที่ใช้กับกระสุนไม่ต่ำกว่า .38 นิ้ว หรือ 9 มม. เนื่องจากกระสุนที่มีขนาดต่ำกว่านี้มีอำนาจหยุดยั้งต่ำมากเมื่อใช้กับคน

2. ควรมีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา เพื่อสะดวกในการพกซ่อนและการพกพาเป็นเวลานาน

3. ควรเลือกปืนที่ใช้กระสุนแบบเดียวกับปืนหลัก เพราะเมื่อปืนหลักเกิดติดขัดไม่สามารถใช้งานได้แต่ยังมีกระสุนเหลือ อาจนำกระสุนเหล่านั้นมาใช้กับปืนสำรองได้อีก

4. ควรเลือกกระสุนที่มีแรงขับมากที่สุดเท่าที่จะใช้กับปืนนี้ได้ เช่น +P, +P+ (ประเทศไทยไม่นำเข้ากระสุน +P+) เป็นต้น เนื่องจากปืนสำรองมักมีลำกล้องสั้นดังนั้นความแรงของกระสุนมักต่ำกว่าปืนลำกล้องมาตรฐาน (4 นิ้วสำหรับปืนลูกโม่และ 5 นิ้วสำหรับปืนกึ่งอัตโนมัติ) การเลือกใช้กระสุนที่มีแรงขับมากจะเพิ่มประสิทธิภาพของกระสุนได้

5. ไกปืนควรมีน้ำหนักใกล้เคียงกับของปืนหลัก เนื่องจากในภาวะวิกฤติที่เต็มไปด้วยความเครียด หากไกปืนสำรองเบากว่าไกปืนหลักที่คุ้นเคย อาจทำให้เกิดปืนลั่นออกไปได้โดยไม่ตั้งใจ

จากหลักการข้างต้นหากปืนหลักเป็นปืนลูกโม่ขนาด .38 นิ้วหรือ .357 แม็กนั่มลำกล้อง 4 นิ้ว ปืนสำรองก็อาจเป็นปืนที่ใช้กระสุนแบบเดียวกันแต่ลำกล้อง 2 นิ้ว โครงปืนอาจเลือกที่ทำจากไททาเนียมหรือสแกนเดียมเพื่อให้น้ำหนักปืนเบาลงเหมาะแก่การพกพาเป็นเวลานาน (แต่ราคาก็แพงขึ้นด้วย) บางคนอาจชอบปืนที่ไม่มีนกสับออกมาให้เห็นนอกโครงปืนและไม่มีศูนย์หลังเพื่อง่ายแก่การพกซ่อนและการชักปืนออกจากที่พกซ่อน (ไม่มีนกสับยื่นออกมาให้เกี่ยวเสื้อหรือขอบกางเกง) นอกจากนี้ควรมีกระสุนสำรองติดตัวไว้ด้วย

สำหรับปืนกึ่งอัตโนมัติถ้าใช้กระสุน .45 นิ้ว หรือ 9 มม.ลำกล้อง 5 นิ้วเป็นปืนหลัก ก็อาจเลือกปืนที่ลำกล้องสั้นลง เช่น ลำกล้อง 3 นิ้ว เพื่อพกซ่อนได้ง่ายขึ้น อีกทั้งซองกระสุนควรใช้ร่วมกันได้ระหว่างปืนหลักและปืนสำรอง เผื่อกรณีที่ปืนหลักติดขัดไม่สามารถใช้งานต่อได้แต่ยังมีกระสุนเหลือ ก็อาจนำมาเป็นกระสุนสำรองสำหรับปืนพกซ่อนได้

ตำแหน่งในการพกซ่อนนั้นมีหลายที่เช่น ข้อเท้า ใต้เสื้อคลุม(มีสายรัดไหล่) ในกางเกง เป็นต้น ในอเมริกามีหลักสูตรสอนยิงปืนสำหรับปืนพกซ่อนโดยเฉพาะ เป็นการฝึกกับปืนพกซ่อนของผู้รับการฝึกเองเพื่อเพิ่มทักษะในการใช้ปืนพกซ่อนของตนในสถานการณ์ต่างๆ วงกระสุนที่ใช้บางหลักสูตรอาจถึง 800 นัดก็มี ส่วนใหญ่ปืนสำรองมักใช้ยิงในระยะประชิด การฝึกยิงจึงทำในระยะไม่เกิน 9 หลาแต่จะเน้นที่ระยะ 7 หลาหรือต่ำกว่า (เนื่องจากเหตุการณ์ที่มีปืนเข้ามาเกี่ยวข้องมักเกิดในระยะต่ำกว่า 7 หลา)

เนื่องจากปืนพกซ่อนมักมีขนาดเล็กกว่าปืนหลัก การถือปืนและยิงปืนสำรองจึงไม่ค่อยถนัดนัก ทำให้ประสิทธิภาพในการใช้อาวุธปืนไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้นผู้ที่มีปืนพกซ่อนจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องฝึกฝนการยิงปืนสำรองอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการชักปืนออกจากที่พกซ่อนแล้วทำการยิงในสถานการณ์ต่างๆ

สำหรับประเทศไทยแล้วประชาชนทั่วไปการพกปืนต้องมีใบอนุญาตหรือมีเหตุอันควรจริงๆ และถึงมีใบอนุญาตพกปืนก็ไม่ใช่ว่าจะพกกันได้อย่างโจ่งครึ่ม พกได้ทุกที่ทุกเวลา มีข้อจำกัดอยู่เหมือนกัน แต่เมื่อมีเหตุอันควรจำเป็นที่จะต้องพกซ่อนก็ให้ใช้หลักการดังกล่าวข้างต้นเป็นแนวทางได้ แต่ที่สำคัญการฝึกฝนกับปืนสำรองเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง มิเช่นนั้นแล้วปืนสำรองอาจไม่ได้ช่วยทำให้สถานการณ์เลวร้ายเบื้องหน้าดีขึ้น

สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”

เรียบเรียงโดย
Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Back Up Gun Hints, Mother Nature Carries A Backup Gun, Back-up Gun And Deep Concealment, Off-duty & Backup Weapons, Choosing a Backup Gun

Monday, February 16, 2009

Instinct Shooting


Instinct Shooting

Instinct Shooting หรือการยิงปืนด้วยสัญชาติญาณ คำๆนี้สามารถสร้างความแตกต่างระหว่างความเป็นกับความตายให้กับการยิงปืนในระบบต่อสู้ได้อย่างไม่น่าเชื่อ หลายคนคงคิดว่าคนที่ยิงปืนเก่งต้องสามารถส่งกระสุนเข้าเป้าวงกลม 10 แต้มได้จำนวนมากที่สุด ซึ่งก็ไม่ผิดสำหรับการยิงปืนแข่งขันเอาคะแนนซึ่งรางวัลของชัยชนะคือถ้วยรางวัลเท่านั้น แต่สำหรับการยิงปืนระบบต่อสู้ซึ่งรางวัลสำหรับผู้ชนะคือการมีชีวิตรอดในขณะที่บทลงโทษของผู้แพ้คือความตายแล้ว ความแม่นยำระดับนี้แทบไม่มีความหมายเลยถ้าคุณไม่สามารถส่งกระสุนนัดแรกออกไปและสามารถหยุดยั้งภัยคุกคามที่จะเกิดขึ้นขณะนั้นได้ก่อนที่คุณจะถูกยิงล้มลง

การยิงต่อสู้กันในสถานการณ์จริงส่วนใหญ่อย่างเช่นในสงครามเวียดนามซึ่งเต็มไปด้วยป่าทึบ การยิงกันมักเกิดในระยะ 50 ฟุตหรือน้อยกว่า (ซึ่งถือว่าใกล้มากเมื่อเทียบกับระยะยิงหวังผลของปืนยาว) ยิ่งถ้าเป็นในเมืองระยะยิงอาจต่ำกว่า 7 หลาลงมา การยิงปืนด้วยสัญชาติญาณจะมีประโยชน์อย่างยิ่งเมื่อไม่มีเวลามากพอที่จะเล็งปืนอย่างละเอียด หรือเราอยู่ในที่กำบังที่ปลอดภัย

คำว่า Instinct Shooting มีใช้กันในหลายชื่อ อาทิเช่น Instinct Combat Shooting, Quick Kill, Shoot Where You Look, Point Shooting เป็นต้น ซึ่งโดยหลักการแล้วคล้ายกันแตกต่างกันในรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ

บิดาของ Instinct Shooting คือ นาย Bobby Lamar (Lucky) McDaniel ชาวอเมริกัน ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงปี ค.ศ. 1925 ถึง 1982 โดยผู้คิดค้นวิธีการยิงปืนรูปแบบนี้ไม่ปรากฏชัดว่าเป็นใครแต่นาย Lucky McDaniel คนนี้เป็นผู้ที่ทำให้การยิงปืนวิธีนี้ได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วสหรัฐ ซึ่งในสมัยนั้นถึงกับเรียกวิธีการยิงปืนแบบนี้ว่า Lucky’s Instinct Shooting

ปัจจุบันนี้วิธีการยิงปืนด้วยสัญชาติญาณได้รับการสอนอย่างเป็นทางการในกองทัพของหลายประเทศ รวมทั้งตำรวจทั่วโลก นอกจากนั้นยังมีการสอนในภาคประชาชนด้วยเช่นกัน เพื่อใช้ในการปกป้องชีวิตและทรัพย์สินหรือใช้ในเกมส์กีฬา (กีฬาล่าสัตว์, BB gun เป็นต้น)

นาย Lucky คนนี้ได้พัฒนาเทคนิคการยิงปืนของตนเองขึ้นมาในปี ค.ศ. 1954 ด้วยการใช้ปืน BB ที่ไม่มีศูนย์เล็ง (สมัยนั้น BB gun เป็นปืนยาวครับ) เขาสอนเจ้าหน้าที่รักษากฎหมายและนายพรานล่านกเป็นหลัก ต่อมาเขาก็พัฒนาเทคนิคการยิงของเขาไปสู่การยิงที่เรียกว่า Quick Kill ซึ่งได้สอนให้แก่บรรดาทหารสหรัฐระหว่างสงครามเวียดนาม

หลักการของ Instinct Shooting/ Quick Kill นั้นง่ายมากสามารถเรียนรู้ได้ในระยะเวลาอันสั้น เพียงคุณใช้นิ้วของมือข้างตาถนัด (มือและตาข้างถนัดมักเป็นข้างเดียวกัน) ชี้เป็นแนวยาวไปยังวัตถุที่คุณต้องการยิง โดยคุณไม่ต้องมองนิ้วที่ชี้ออกไปให้มองวัตถุเป็นหลัก ทันทีที่มองเห็นวัตถุชัดคุณก็สามารถยิงออกไปได้เลย

เขายังบอกอีกด้วยว่า คุณต้องวางใจในพระเจ้าที่ทรงประทานความสามารถในการชี้และการมองให้ชัด (Ability to point and focus) มาให้แก่เรา วิธีการยิงแบบนี้จะรวดเร็ว แม่นยำและเรียบง่าย เมื่อเป้าหมายปรากฏขึ้นในระยะใกล้เพียงพอ ความสำเร็จสำหรับการจัดการกับเป้าหมายขึ้นอยู่กับ “ความเร็ว ปฏิกิริยา ร่วมกับความแม่นยำ (Speed, Reaction, Accuracy)” ความอยู่รอดของคุณขึ้นอยู่กับสิ่งเหล่านี้

วิธีการ :
ตาข้างถนัด :
ก่อนอื่นคงต้องรู้ว่าตาข้างถนัดเป็นข้างไหน ส่วนใหญ่ตากับมือข้างถนัดจะเป็นข้างเดียวกัน แต่ถ้าไม่แน่ใจก็ทำการทดสอบง่ายๆดังนี้ ให้ยกนิ้วชี้ขึ้นมาหนึ่งข้างแล้วชี้ไปที่วัตถุใดวัตถุหนึ่งโดยที่วัตถุนั้นห่างจากปลายนิ้วไม่มากนัก จำภาพที่เห็นไว้แล้วยกมืออีกข้างขึ้นมาปิดตาทีละข้างขณะที่ยังมองวัตถุนั้นอยู่ (นิ้วยังชี้อยู่นะครับ) ตาข้างที่ภาพคลาดเคลื่อนไปจากตอนที่เราดูด้วยสองตาน้อยที่สุดก็คือตาข้างถนัด

การถือปืน : แนวลำกล้องอยู่ใต้ตาข้างถนัด มองผ่านแนวปืนออกไปโดยมองชัดที่วัตถุเท่านั้น (ไม่มองศูนย์ปืนเลย)

ท่ายืน : ยืนตามสบายโดยเท้าแยกห่างจากกันเล็กน้อย โน้มตัวเข้าหาเป้าเล็กน้อย เคลื่อนที่ไปพร้อมกับเป้า

การมองชัด (Focus) : สายตามองกว้างๆหาเป้าหมายก่อน เมื่อเห็นเป้าหมายแล้วให้เพ่งมองไปที่จุดใดจุดหนึ่งของเป้าหมายนั้น คล้ายๆกับศูนย์เลเซอร์ที่จี้ไปที่จุดนั้น อย่าละสายตาออกจากเป้าหมายเป็นอันขาด

มีการสอน Quick Kill ให้กับทหารราบ 1300 นายของสหรัฐทุกสัปดาห์ในศูนย์ฝึกที่ Fort Benning พบว่าหลังการฝึกครึ่งหนึ่งของผู้รับการฝึกสามารถยิงเหรียญเพนนีกลางอากาศได้ และมีประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ที่สามารถยิงกระสุน BB ด้วยกระสุน BB กลางอากาศได้

กุญแจสำคัญของความสำเร็จในการยิงปืนด้วยสัญชาติญาณก็คือ ทำให้ปืนเป็นส่วนขยายของตา ครูฝึกที่ Fort Benning แนะนำว่าควรเปิดตายิงทั้งสองข้างแต่ให้มองไปเหนือเป้าหมายที่จะยิงเล็กน้อยเพราะส่วนใหญ่แล้วแนวกระสุนเมื่อยิงด้วยสัญชาติญาณมักกินต่ำเล็กน้อย และที่สำคัญไม่ต้องเล็ง ที่ Fort Benning ทหารจะฝึกกับ BB gun ที่ระยะ 15 ฟุต (ระยะไกลสุดของกระสุน BB) โดยปืนที่ใช้จะถูกปิดศูนย์เล็งเอาไว้

สำหรับ TAS แล้วการยิงด้วยสัญชาติญาณเป็นหลักสำคัญข้อหนึ่งที่เริ่มสอนตั้งแต่ระดับพื้นฐาน (TAS force 1) และมีความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆในระดับการฝึกอบรมที่สูงขึ้นไป เนื่องจากเราตระหนักว่าการยิงในสถานการณ์จริงนั้นมักเกิดขึ้นในระยะใกล้และในภาวะที่มีแสงต่ำ ดังนั้นการเล็งยิงอย่างละเอียดจึงไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสมนัก แต่ TAS ก็ไม่ได้ปฏิเสธบทบาทและความสำคัญของการยิงปืนที่ต้องเล็งอย่างละเอียดโดยเฉพาะเมื่อเป้าหมายอยู่ไกลออกไป หรือเราอยู่หลังที่กำบังที่ปลอดภัย

เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจาก Time magazine, Rutland’s instinct shooting

Friday, February 13, 2009

Room Clearing


Room Clearing

จากบทความเรื่อง Cleaning House ของนาย Doug Larson กล่าวถึงแทคติกที่สอนใน Scottsdale Gun Club ซึ่งเป็นชมรมสอนยิงปืนแห่งหนึ่งในรัฐอริโซน่าของสหรัฐอเมริกา ชมรมยิงปืนแห่งนี้ไม่ธรรมดานะครับ ขนาดมีสนามยิงปืนในร่มติดเครื่องปรับอากาศ 36 ช่องยิง (ระยะยิง 25 หลา) โดยใช้ Mancom target systems (เป็นระบบจัดการช่องยิงและควบคุมเป้าชนิดหนึ่ง) มีห้องเรียน และบ้าน 2 หลังสำหรับใช้จำลองสถานการณ์ (ผนังภายในบ้านสามารถเลื่อนเพื่อปรับเปลี่ยนแผนผังภายในบ้านได้) มีร้านขายอาวุธปืนรวมทั้งอุปกรณ์เสริมอยู่ภายในชมรมนี้ด้วย

มีหลักสูตรหนึ่งชื่อ Dynamic structure clearing class ซึ่งสอนเกี่ยวกับวิธีการเข้าตรวจค้นห้องหรืออาคารโดยหลักสูตรนี้แบ่งเป็น 3 ส่วน มีการสอนภาคทฤษฏีและภาคปฏิบัติ ซึ่งการฝึกในภาคสนามได้มีการจำลองสถานการณ์โดยให้นักเรียนบางส่วนและครูฝึกแสดงตัวเป็นคนร้ายและใช้กระสุนสีซึ่งยิงจากปืนจริงได้ (เป็นกระสุนที่ทำมาพิเศษเพื่อใช้ในการฝึก ผู้รับการฝึกต้องใส่เครื่องป้องกันตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าและปืนต้องมีการดัดแปลงเล็กน้อยเพื่อให้ยิงกระสุนพวกนี้ได้)

หัวหน้าครูฝึกในหลักสูตรนี้คือนาย Paul Smith อดีตนาวิกโยธิน และเคยอยู่ในหน่วย SWAT อีกทั้งเคยทำงานเป็นผู้คุ้มกันบุคคลสำคัญ เขาได้ให้ข้อคิดเห็นและแทคติกที่น่าสนใจไม่น้อย

โดยปกติการเข้าตรวจค้นอาคารที่มีศัตรูอยู่ภายในเป็น “สิ่งที่ไม่แนะนำอย่างยิ่ง” ยกเว้นว่าไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เช่นจำเป็นต้องเข้าไปช่วยเหลือสมาชิกในครอบครัวจากเงื้อมมือของคนร้ายซึ่งบุกเข้ามาในบ้านหรือในห้องนอน การฝึกอบรมจากหลักสูตรเหล่านี้จะเพิ่มโอกาสความสำเร็จในการปฏิบัติการ แต่กระนั้นก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ดี


เริ่มด้วยการเรียนรู้การถือปืนด้วยท่าที่สามารถใช้อาวุธได้อย่างรวดเร็วแต่ก็ไม่ง่ายที่จะถูกปลดอาวุธ (น่าจะเป็นท่า High compressed ready position ซึ่งสอนตั้งแต่ TAS force 1 แล้ว) ฝึกการเคลื่อนที่ไปข้างหน้า ข้างหลัง ช้าและเร็วโดยไม่ละสายตาจากเป้าหมาย อีกทั้งระวังการทำให้เกิดเสียงขณะเคลื่อนที่ซึ่งอาจทำให้ผู้บุกรุกรู้ตำแหน่งที่อยู่ของคุณ

ถ้าการเคลื่อนที่อย่างรวดเร็วเป็นสิ่งสำคัญ อาจใช้วิธี Groucho technique (งอเข่าเล็กน้อยและก้าวเดินไปข้างหน้าโดยลงส้นเท้าก่อนปลายเท้า สลับไปซ้าย-ขวา) แต่ถ้าต้องการเคลื่อนที่ช้าๆ คุณ Smith ไม่แนะนำให้เดินไขว้เท้าแต่ให้เดินโดยเท้าข้างหนึ่งนำแล้วเท้าอีกข้างเลื่อนตามมา เพื่อให้มีความมั่นคงในการยิงปืนได้ตลอดเวลาขณะเคลื่อนที่

ภายในบ้านผู้บุกรุกอาจมีหลายคน ดังนั้นเราต้องมองหาภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอ สังเกตสิ่งผิดปกติภายในบ้านหรือห้องที่เรากำลังตรวจสอบ เช่น สังเกตความผิดปกติของแสงและเงา สีหรือเสียง อีกทั้งเราเองก็ไม่ควรเปิดเผยตัวเองในผู้บุกรุกรู้ตำแหน่งของเราด้วยเช่นกัน
เรียนรู้ความแตกต่างระหว่างการปกปิดกับการซ่อนเร้น และใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ในบ้านของคุณเอง


เมื่อมาถึงประตูที่เปิดอยู่และเราจำเป็นต้องผ่านเข้าไปข้างในเพื่อช่วยเหลือสมาชิกในครอบครัว อาจใช้วิธี Slice the pie ซึ่งเป็นวิธีที่เราสามารถมองเห็นพื้นที่ภายในห้องได้เพิ่มขึ้นทีละเล็กน้อยโดยเราไม่เปิดเผยตัวเองมากเกินไป (วิธีนี้คงมีสอนในระดับ TAS force 3) แต่ถ้าเราไม่มีเวลาที่จะทำวิธีนี้เนื่องจากคุณต้องเข้าไปช่วยสมาชิกในบ้านทันที ก็ให้ใช้วิธีเตรียมพร้อมที่จะพุ่งผ่านประตูเข้าไปอย่างรวดเร็วไม่ให้ผู้บุกรุกภายในห้องตั้งตัวได้ทันที่จะเล็งปืนและยิงมาที่เรา เมื่อผ่านเข้าไปในห้องให้หยุดสักครู่แล้วรีบมองไปทั่วห้องอย่างรวดเร็ว ฟังเสียงและประเมินภัยคุกคามที่อาจปรากฏขึ้น ถ้าไม่มีอะไรเกิดขึ้นให้เริ่มเคลื่อนที่ไปข้างหน้าตามวิธี Groucho technique

การฝึกระดับต่อไปเป็นการฝึกโดยมีคู่หูช่วยอีกแรง (การเคลื่อนที่เข้าตรวจค้นในห้องหรืออาคารเป็นคู่) ร่วมกับการยิงด้วยกระสุนสี ปกติคนทั่วไปมักคิดว่าการฝึกนี้เหมาะกับตำรวจหรือทหารเท่านั้น แต่สำหรับคุณ Smith แล้วกลับคิดว่ามันสำคัญอย่างยิ่งที่ประชาชนควรจะฝึกและเรียนรู้วิธีนี้ด้วยเช่นกัน โดยคู่หูของคุณอาจเป็นภรรยาซึ่งสามารถช่วยคุณอีกแรงเพื่อนำสมาชิกในครอบครัวออกมาจากห้องซึ่งมีผู้บุกรุกอยู่ได้อย่างปลอดภัย

ทั้งสองคนต้องเคลื่อนที่ได้อย่างสอดคล้องเหมือนเป็นทีมเดียวกัน โดยคนแรกทำหน้าที่ Slice the pie บริเวณประตูทางเข้าห้องเพื่อมองหาภัยคุกคามภายในห้อง อีกคนก็ทำหน้าที่คอยคุ้มกันอยู่ด้านหลังเมื่อคุณผ่านเข้าประตูเผื่อมีภัยคุกคามปรากฏขึ้นมา เรียนรู้การสื่อสารกันระหว่างคู่หู

การทำงานเป็นคู่นั้นกำหนดให้คนที่อยู่ข้างหน้าเป็นเบอร์หนึ่ง คนที่ตามหลังเป็นเบอร์สองโดยเบอร์หนึ่งอยู่ข้างขวาเสมอ หน้าที่ของเบอร์สองคือคุ้มกันพื้นที่ๆเบอร์หนึ่งไม่สามารถดูแลได้ (เบอร์สองอาจกลายเป็นเบอร์หนึ่งเมื่อสถานการณ์หรือผังห้องเปลี่ยนไป) ที่สำคัญห้ามเล็งปืนไปที่คู่หูที่อยู่ข้างหน้าคุณแม้ว่าภัยคุกคามจะมาจากข้างหน้าก็ตาม (สาเหตุมากกว่าครึ่งเกิดจากการทำร้ายกันเองของคู่หูในทีม)


นอกจากการตรวจดูมุมห้อง หลังห้อง ข้างใต้และรอบๆเฟอนิเจอร์แล้วควรตรวจดูข้างในตู้เสื้อผ้าและชั้นวางของที่อยู่สูงด้วย

ถ้าคุณไม่จำเป็นต้องเข้าไปตรวจในห้องที่สงสัยว่าจะมีผู้บุกรุกอยู่ ก็ “จงอย่าเข้าไป” หลีกเลี่ยงการต่อสู้ด้วยอาวุธปืนเป็นดีที่สุด เพราะในสถานการณ์ที่ตึงเครียดอาจทำให้เราลืมสิ่งที่ได้เรียนรู้มาก็ได้ เช่น ครูฝึกเองเคยทำการตรวจดูในห้องด้วยวิธี Quick peek (สอนใน TAS force 3 เช่นกัน) แล้วเกือบถูกยิงที่ศีรษะ ดังนั้นการฝึกในสถานการณ์จำลองเสมือนจริงจึงมีประโยชน์อย่างยิ่ง

สำหรับ TAS แล้วมีการฝึกสอนการเข้าตรวจค้นในห้องด้วยเช่นกัน ซึ่งนอกจากมีวิธี Slice the pie, Quick peek แล้วก็ยังมีวิธีอื่นอีกซึ่งเราสามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสมของสถานการณ์

ขอเน้นย้ำอีกครั้งว่าหากไม่จำเป็นที่จะต้องเข้าตรวจค้นห้องที่สงสัยว่าจะมีผู้บุกรุกอยู่ “ก็จงอย่าเข้าไป” ถ้าผู้บุกรุกเข้ามาหวังเพียงทรัพย์สินก็ปล่อยให้เขาไปดีกว่าเอาชีวิตของเราเข้าไปเสี่ยง โทรเรียกตำรวจหาความช่วยเหลือ แต่ถ้าชีวิตของสมาชิกในครอบครัวตกอยู่ในอันตรายก็คงจำเป็นต้องทำโดยอาศัยทักษะความรู้ที่ได้รับการฝึกฝนมา (การฝึกฝนบ่อยๆจะยิ่งทำให้เกิด "ทักษะ"และลดความผิดพลาดลง)

สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”

เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาจาก gun and ammo magazine

Thursday, February 12, 2009

ข้อดี-ข้อเสียระหว่างปืนลูกโม่กับปืนกึ่งอัตโนมัติ



ข้อดี-ข้อเสียระหว่างปืนลูกโม่กับปืนกึ่งอัตโนมัติ

ผมเชื่อว่าหลายคนโดยเฉพาะมือใหม่ที่กำลังมองหาปืนกระบอกแรกในชีวิต(และอาจเป็นกระบอกเดียวด้วย) ตัดสินใจลำบากที่จะเลือกปืนลูกโม่ (Revolver) หรือปืนกึ่งอัตโนมัติ (Pistol, Semiautomatic handgun) ดี คำถามยอดฮิตสำหรับมือใหม่ก็คือ “ปืนชนิดไหนดีที่สุด” (เนื่องจากคงมีได้กระบอกเดียวก็อยากได้ปืนที่ดีที่สุดไปใช้)

ถ้าผมบอกว่าปืนลูกโม่ดีที่สุด เพราะเป็นปืนที่เกิดขึ้นมาก่อน เป็นปืนที่มีประวัติยาวนานขนาดคนอเมริกันใช้บุกเบิกประเทศก็คงมีคนแย่งว่า ปืนลูกโม่เป็นอดีตไปแล้ว ปัจจุบันปืนกึ่งอัตโนมัติครอบครองส่วนแบ่งการตลาดอาวุธปืนมากที่สุดในโลก ซึ่งก็คงมีคนยกมือขึ้นค้านอีกโต้เถียงกันไปมาไม่มีที่สิ้นสุด

คำถามที่ควรถามมากกว่าคือ “ปืนแบบไหนเหมาะสมกับเรามากที่สุด” ซึ่งคำถามนี้ไม่มีใครตอบได้นอกจากตัวคุณเอง ผมขอแนะนำว่าก่อนตัดสินใจเลือกปืนสักกระบอกมาใช้งาน ควรศึกษาปืนแต่ละแบบให้ดีเสียก่อนทั้งข้อดี ข้อเสีย ข้อจำกัด และเมื่อมีปืนแล้วก็ควรหมั่นฝึกซ้อมยิงปืนโดยเรียนรู้จากครูสอนยิงปืนมืออาชีพ อย่างเช่น ชมรมยิงปืน Thai tactical shooting club หรือ TAS เพราะการยิงปืนควรเริ่มต้นอย่างถูกวิธี ถ้าเราเรียนรู้สิ่งผิดๆไปแล้วการกลับมาแก้ไขก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก (แต่ก็ไม่ถึงกับทำไม่ได้)

ผมจะกล่าวถึงความแตกต่างระหว่างปืนลูกโม่กับปืนกึ่งอัตโนมัติที่ใช้กันเป็นส่วนใหญ่พอสังเขปเพื่อเป็นข้อมูลตัดสินใจในการเลือกปืนสักกระบอกมาใช้งาน โดยส่วนหนึ่งเป็นความคิดเห็นส่วนตัวซึ่งบุคคลอื่นอาจเห็นแตกต่างไปได้

1. ความสวยงาม หนังบู๊ล้างผลาญตามโรงหนังส่วนใหญ่ใช้ปืนกึ่งอัตโนมัติเพราะดูเท่ห์ เก๋ ปราดเปรียว ซึ่งก็จริงของเขาปืนกึ่งอัตโนมัติมีการออกแบบที่หลากหลายทำให้รูปทรงมีความแตกต่างออกไปได้มาก ส่วนปืนลูกโม่ดูเรียบง่ายมาหลายร้อยปีรูปทรงเปลี่ยนแปลงน้อยมาก คนส่วนใหญ่ถ้าถามว่าชอบรูปทรงปืนแบบไหนก็คงตอบว่าปืนกึ่งอัตโนมัติ แต่กระนั้นก็ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่อาจตอบว่าปืนลูกโม่ ดังนั้นเรื่องความสวยงานนั้นก็ถือเป็นเอกสิทธ์ของแต่ละบุคคลไม่ขอวิจารณ์ครับ

2. วงกระสุน ศัพท์นี้ฟังแปลกๆในที่นี้ผมหมายถึง จำนวนกระสุนที่บรรจุได้ สำหรับปืนลูกโม่ก็ประมาณ 5 ถึง 6 นัดเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดกระสุนที่ใช้เช่น ถ้าเป็นกระสุนขนาด .38 นิ้ว หรือ .357 แม็กนั่ม ถ้าเป็นปืนโครงเล็กก็บรรจุกระสุนได้ 5 นัดแต่ถ้าเป็นโครงกลางถึงใหญ่ก็ 6 นัด แต่ปืนกึ่งอัตโนมัติถ้าใช้กระสุนขนาด 9 มม. อาจบรรจุกระสุนได้ถึง 10 กว่านัดแถมยังสามารถใส่เพิ่มในรังเพลิงเตรียมพร้อมได้อีกหนึ่งนัด ถ้าใช้กระสุนขนาด .45 นิ้วก็อาจบรรจุในแม็กกาซีนหรือซองกระสุนได้ตั้งแต่ 7 ถึง 8 นัดเสียเป็นส่วนใหญ่ยกเว้นบางรุ่นที่บรรจุได้มากขึ้นอีกเล็กน้อย อีกทั้งยังเพิ่มอีกหนึ่งนัดในรังเพลิงถือเป็นโบนัสทำให้วงกระสุนมากกว่าปืนลูกโม่อย่างไม่มีข้อสงสัย แต่เราควรรู้ว่าจากสถิติ (มีการศึกษาในอเมริกา) การใช้อาวุธปืนต่อสู้ในสถานการณ์จริงนั้นวงกระสุนที่ใช้มักไม่เกิน 3 ถึง 4 นัดเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นวงกระสุนของปืนลูกโม่จึงเพียงพอสำหรับการใช้งาน โอกาสที่เราจะต้องยิงบู๊ล้างผลาญเหมือนในหนังบอกได้คำเดียวว่า ยาก...... แต่กระนั้นบางคนอาจบอกว่ามีวงกระสุนมากๆไวก่อนอุ่นใจดี อันนี้ก็คงไม่ขอขัดอะไรเพราะเป็นเรื่องของจิตใจ

3. ความแม่นยำ ทุกคนก็คงอยากได้ปืนที่มีความแม่นยำชนิดที่หลับหูหลับตายิงก็โดน แต่ในความเป็นจริงแล้วผมเห็นว่าปืนมีส่วนในเรื่องความแม่นยำไม่ถึงกึ่งหนึ่ง เพราะปืนส่วนมากแล้วผลิตมาจากโรงงานที่มีชื่อเสียงได้มาตรฐาน เมื่อนำปืนแต่ละรุ่นมาทดสอบความแม่นยำอาจมีความแตกต่างกันบ้างแต่ก็หนีกันไม่เท่าไร ดังนั้นความแน่นยำขึ้นอยู่กับผู้ที่ใช้ปืนนั้นมากกว่า ปืนลูกโม่กับปืนกึ่งอัตโนมัติผมให้คะแนนเท่ากันในเรื่องความแม่นยำเมื่อใช้งานตามปกติ

4. ความเชื่อถือได้ของปืน หมายความว่ากลไกการทำงานของปืนมีโอกาสติดขัดน้อย เพราะถ้าเกิดเหตุการณ์ที่จำเป็นต้องใช้ปืนแต่มันกลับไม่ทำงานก็เป็นฝันร้ายของเจ้าของปืนนั้น ดังนั้นปืนที่ดีควรต้องทำงานได้อย่างราบลื่นไม่ติดขัดเพราะเราฝากชีวิตไว้กับมันในยามวิกฤติ ปืนลูกโม่มีประวัติการใช้งานยาวนานมากว่าร้อยปีกลไกการทำงานไม่ซับซ้อน ในขณะที่ปืนกึ่งอัตโนมัติมีการบริหารกลไกซับซ้อนกว่า เป็นที่ยอมรับกันว่าปืนลูกโม่มีโอกาสติดขัดได้น้อยกว่าปืนกึ่งอัตโนมัติ แต่ปัจจุบันปืนกึ่งอัตโนมัติสมัยใหม่มีการพัฒนาไปมากทำให้การบริหารกลไกมีความน่าเชื่อถือมากขึ้นใกล้เคียงกับปืนลูกโม่

5. เหตุติดขัดระหว่างยิง ที่พบบ่อยก็คือกระสุนด้าน ถ้าเป็นปืนลูกโม่ก็แค่เหนี่ยวไกยิงนัดถัดไปได้เลย แต่ถ้าเป็นปืนกึ่งอัตโนมัติเราต้องกระชากสไลด์เพื่อคัดกระสุนที่ด้านนั้นออกก่อนและป้อนกระสุนนัดใหม่เข้ารังเพลิงจึงจะยิงต่อไปได้ซึ่งเสียเวลามากกว่าปืนลูกโม่อย่างแน่นอน นอกจากนั้นอาจพบภาวะที่ปลอกกระสุนติดอยู่ที่ช่องคัดปลอกกระสุนไม่กระเด็นออกมา หรือใส่ซองกระสุนไม่สุดทำให้กระสุนไม่เข้ารังเพลิง กระสุนเก่าเก็บดินขับอ่อนแรงปืนลูกโม่ก็สามารถยิงได้แต่ปืนกึ่งอัตโนมัติอาจมีปัญหาถ้าเก่าจนแรงขับของดินปืนไม่มากพอที่จะดันลูกเลื่อนให้ถอยหลังได้เต็มที่ปืนก็จะติดขัดได้ โดยรวมๆแล้วปืนกึ่งอัตโนมัติมีปัญหาจุกจิกระหว่างการยิงได้บ่อยกว่าปืนลูกโม่

6. การดูแลรักษา โดยเฉพาะหลังยิงปืนเราต้องทำความสะอาดปืนเพื่อขจัดคราบดินปืนและตะกั่ว ในกรณีปืนกึ่งอัตโนมัติมีชิ้นส่วนที่ต้องถอดออกมาทำความสะอาดมากกว่าปืนลูกโม่ ระยะเวลาการทำความสะอาดก็แล้วแต่ความพิถีพิถันของเจ้าของปืนซึ่งอาจเรียกได้ว่าใกล้เคียงกัน สำหรับผมแล้วปืนลูกโม่ใช้เวลาทำความสะอาดนานกว่าปืนกึ่งอัตโนมัติเล็กน้อยส่วนใหญ่เสียเวลาไปกับการทำความสะอาดโม่ซึ่งมีหลายรู แต่เท่าที่ถามคนอื่นใช้เวลากับปืนลูกโม่น้อยกว่าปืนกึ่งอัตโนมัติ

7. อำนาจหยุดยั้ง (Stopping power) ในที่นี้หมายถึงว่าเมื่อยิงปืนถูกเป้าหมายไปแล้วหนึ่งนัดโอกาสที่จะหยุดเป้าหมายไม่ให้ตอบโต้กลับมาได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งอำนาจหยุดยั้งส่วนใหญ่เป็นเรื่องของกระสุนปืนเสียมากกว่า จากข้อมูลที่มีอยู่กระสุน .38 นิ้วอำนาจการหยุดยั้งประมาณเจ็ดสิบถึงแปดสิบกว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง แต่ถ้าเป็นกระสุนขนาด .357 แม็กนั่มแล้วอำนาจหยุดยั้งแปดสิบถึงเก้าสิบกว่าเปอร์เซ็นต์และมีอำนาจในการสังหาร (Killing power) สูงเก้าสิบกว่าเปอร์เซ็นต์จึงได้สมยานามว่า A mankiller สำหรับกระสุน 9 มม. มีอำนาจหยุดยั้งได้ดีกว่ากระสุน .38 นิ้วเล็กน้อย ในขณะที่กระสุนขนาด .45 นิ้วมีอำนาจหยุดยั้งเก้าสิบกว่าเปอร์เซ็นต์จนได้ชื่อว่า A manstopper จะเห็นได้ว่ากระสุน .357 แม็กนั่มเมื่อยิงถูกเป้าหมายแล้วมีโอกาสตายสูงแต่อาจไม่สามารถหยุดยั้งได้ในทันที

แต่กระสุน .45 นิ้ว มีโอกาสหยุดยั้งเป้าหมายได้ในนัดแรกสูงกว่า (พบว่าอำนาจหยุดยั้งของกระสุนปืนขึ้นกับน้ำหนักหัวกระสุน, ขนาดหน้าตัดของหัวกระสุน, ความเร็ว, รูปร่างของหัวกระสุน เป็นต้น) โดยหลักการแล้วเราต้องการกระสุนที่มีอานุภาพหยุดยั้งภัยคุกคามได้ในนัดแรกไม่เช่นนั้นแล้วเขาอาจยิงตอบโต้กลับมาได้ทำให้เราบาดเจ็บหรือเสียชีวิต เมื่อเห็นเช่นนี้แล้วทุกคนอาจเลือกกระสุน .45 นิ้วกันหมดซึ่งก็ต้องใช้กับปืนกึ่งอัตโนมัติเท่านั้น (ความจริงแล้วมีปืนลูกโม่บางรุนที่สามารถใช้กระสุน .45 นิ้วได้ แต่ไม่ค่อยได้รับความนิยมเพราะโครงปืนใหญ่มากไม่คล่องตัว) แต่ในความเป็นจริงแล้วปืนที่ใช้กับกระสุน 9 มม. หรือ .38 นิ้ว กลับได้รับความนิยมมากกว่า ส่วนเรื่องอำนาจหยุดยั้งหรืออำนาจสังหารอาจชดเชยได้ด้วยการยิงแบบ Double taps (ยิงสองนัดติดๆกันอย่างรวดเร็ว)

8. การพกซ่อน ในเรื่องนี้คงต้องยกให้ปืนกึ่งอัตโนมัติได้เปรียบไปอย่างเห็นๆ เพราะโครงปืนแบนราบไม่มีส่วนโค้งนูนชัดเจนเหมือนปืนลูกโม่ทำให้การพกซ่อนทำได้แนบเนียนกว่า แต่ปืนลูกโม่ที่โครงปืนเล็กก็ไม่ได้ใหญ่โตอะไรมากนัก (บางรุ่นเล็กมากจนเหมือนปืนแก็ปก็มี) สามารถพกซ่อนได้เช่นกัน

9. อุปกรณ์เสริม คงต้องยอมรับว่าปืนกึ่งอัตโนมัติมีอุปกรณ์เสริมให้เลือกใช้มากกว่าเช่น ศูนย์ไฟฉายหรือศูนย์เลเซอร์สามารถนำมาติดกับตัวปืนได้ (ตัวปืนต้องมีรางสำหรับติดอุปกรณ์เสริมด้วย) และเมื่อติดอุปกรณ์เหล่านี้เข้าไปแล้วปืนกึ่งอัตโนมัติจะดูเท่มากขึ้นไปอีก แต่ก็ต้องแลกกับปืนที่หนักขึ้นและคล่องตัวน้อยลง ส่วนปืนลูกโม่ส่วนใหญ่ตัวปืนเองไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ติดตั้งอุปกรณ์เสริมเหล่านี้ดังนั้นจึงหาอุปกรณ์เสริมสำหรับปืนลูกโม่ไม่ง่ายนักและไม่ค่อยได้รับความนิยม สำหรับผมแล้วใช้ไฟฉายชนิดที่ไม่ติดกับตัวปืน (Tactical flashlight) ทำให้สามารถใช้ได้กับทั้งปืนลูกโม่และปืนกึ่งอัตโนมัติ

10. น้ำหนักไกปืน สำหรับปืนลูกโม่แล้วส่วนใหญ่ต้องให้ช่างปืนปรับแต่งไกปืนให้เพราะน้ำหนักไกปืนที่มากับโรงงานมักแข็งเกินไปแต่การปรับแต่งนั้นทำได้ง่ายกว่าปืนกึ่งอัตโนมัติมาก ส่วนปืนกึ่งอัตโนมัติส่วนใหญ่ก็ต้องปรับแต่งเช่นกันแต่บางรุ่นมีการปรับแต่งไกมาให้จากโรงงานแล้วจึงไม่จำเป็นต้องปรับแต่งอีก ยกเว้นผู้ยิงที่ต้องการไกปืนที่น้ำหนักเบาขึ้นไปอีกหรือปืนยิงแข่งขันซึ่งต้องปรับแต่งอีกมาก

11. ความคงทนในการใช้งาน ในแง่ของวัสดุที่ทำปืนทั้งสองชนิดมีความใกล้เคียงกันเป็นส่วนใหญ่ยกเว้นปืนบางรุ่นหรือบางแบบที่ทำจากวัสดุที่แตกต่างออกไปเช่น ปืนลูกโม่มีการนำไททาเนียมหรือสแกนเดียมมาทำปืนเพื่อให้มีน้ำหนักเบาลงในขณะที่ยังคงมีความทนทานในการใช้งานแต่ก็ทำให้ราคาปืนสูงขึ้นไปด้วย ในขณะที่ปืนกึ่งอัตโนมัติมีการนำพลาสติกโพลิเมอร์ชนิดพิเศษมาทำโครงปืนเพื่อให้น้ำหนักปืนเบาลงเช่นกัน (สไลด์และลำกล้องปืนยังทำจากเหล็กอยู่) แต่อายุการใช้งานก็อาจสั้นกว่าวัสดุอื่น โดยทั่วไปปืนลูกโม่มีส่วนที่เคลื่อนไหวน้อยกว่าปืนกึ่งอัตโนมัติในขณะที่ทำการยิงจึงมีการสึกหรอจากการใช้งานน้อยกว่า โดยรวมๆผมว่าปืนลูกโม่เป็นต่ออยู่เล็กน้อย

12. การบำรุงรักษา ในแง่นี้ขอพูดถึงการดูแลชิ้นส่วนภายในปืนเพื่อทำให้ปืนยังใช้งานได้ดีอยู่ สำหรับปืนกึ่งอัตโนมัติอาจต้องการการบำรุงรักษามากกว่าปืนลูกโม่เพราะมีชิ้นส่วนที่เคลื่อนไหวมากกว่าจึงมีการสึกหรอได้ง่าย สปริงของปืนกึ่งอัตโนมัติควรเปลี่ยนตามคู่มือที่แนบมากับปืนแต่ละกระบอกแนะนำ เพื่อให้ปืนสามารถทำงานได้อย่างไม่ติดขัด อีกทั้งสปริงภายในแม็กกาซีนต้องหมั่นตรวจเช็คเพราะอาจมีอาการล้าตัวทำให้ป้อนกระสุนได้ไม่ดีเป็นเหตุให้ปืนติดขัดได้ นักยิงปืนส่วนใหญ่ไม่ค่อยเปลี่ยนสปริงภายในปืนกึ่งอัตโนมัติตามที่คู่มือแนะนำเพราะไม่ได้บันทึกว่าได้ยิงไปมากน้อยแค่ไหนแล้ว ดังนั้นถือเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งที่มีในปืนกึ่งอัตโนมัติซึ่งไม่ได้รับการเปลี่ยนอะไหล่ตามกำหนด

13. กระสุนซ้อม เมื่อมีปืนแล้วก็ต้องซ้อมยิงให้ชำนาญเผื่อเวลาใช้งานจริงจะได้ไม่ยิงพลาดไปถูกคนอื่น ในแง่ของกระสุนซ้อมแล้วกระสุน .38 นิ้ว กับ 9 มม. ราคาโดยทั่วไปเท่ากัน ส่วนกระสุนขนาด .357 แม็กนั่มไม่มีกระสุนซ้อม จึงใช้กระสุนขนาด .38 นิ้วแทน (ความจริงกระสุน .38 นิ้วหน้าตัดกระสุนเท่ากับ .357 นิ้วดังนั้นปืน .357 แม็กนั่มจึงสามารถใช้กระสุน .38 นิ้วแทนได้แต่ปืน .38 ไม่สามารถนำกระสุน .357 แม็กนั่มมาใส่ได้ถึงแม้หน้าตัดกระสุนจะเท่ากัน เพราะกระสุน .357 นิ้ว แม็กนั่มยาวกว่า .38 นิ้วเล็กน้อยดังนั้นเมื่อใส่ในโม่แล้วจะปิดโม่ไม่ได้ การที่ตัวเลขหน้าตัดของกระสุนต่างกันแต่กลับมีขนาดเท่ากันเป็นเพราะว่ากระสุน .38 นิ้วนั้นเกิดมาร้อยกว่าปีแล้ว เครื่องมือการวัดในสมัยนั้นไม่ค่อยเที่ยงตรงเท่าไร เมื่อเครื่องมือดีขึ้นพบว่าหน้าตัดจริงๆเป็น .357 นิ้วแต่เขาก็ไม่ได้เปลี่ยนชื่อใหม่ยังคงใช้ชื่อเดิมอยู่) ส่วนกระสุนซ้อมขนาด .45 นิ้วราคาสูงกว่า 9 มม. พอสมควร การเลือกใช้ปืนก็อาจต้องคิดถึงค่าใช้จ่ายในการฝึกซ้อมด้วย

14. ความง่ายในการใช้งาน ปืนลูกโม่แค่ใส่กระสุนเข้าโม่ ปิดโม่ แล้วยิงได้เลย แต่ปืนกึ่งอัตโนมัติเมื่อใส่ซองกระสุนแล้วต้องกระชากสไลด์ถอยหลังเพื่อป้อนกระสุนเข้ารังเพลิงและง้างนกสับก่อนจึงจะยิงได้ ซึ่งเสียเวลามากกว่าปืนลูกโม่เล็กน้อย ในกรณีที่ยิงจนหมดแล้วการบรรจุกระสุนใหม่ปืนกึ่งอัตโนมัติแค่ปลดซองกระสุนเก่าออกแล้วเสียบซองกระสุนใหม่เข้าไป จากนั้นปลดล็อคคันค้างสไลด์เพื่อป้อนกระสุนเข้ารังเพลิงแล้วยิงต่อได้เลยซึ่งใช้เวลาไม่กี่วินาที แต่ลูกโม่เมื่อเทปลอกกระสุนออกจากโม่แล้วต้องใส่ลูกปืนลงไปใหม่ด้วยมือซึ่งเสียเวลาพอสมควร ซึ่งเงื่อนไขนี้จะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อได้เตรียมซองกระสุนซึ่งบรรจุกระสุนไว้ก่อนแล้วเท่านั้น เพราะถ้าต้องมานั่งบรรจุกระสุนใส่ในซองกระสุนแล้วค่อยเสียบเข้าตัวปืนก็คงเสียเวลามากกว่าปืนลูกโม่เป็นแน่ ในทางกลับกันถ้าผู้ใช้ปืนลูกโม่ได้เตรียมกระสุนใส่ในสปีดโรดเดอร์ (Speed loader) หรือเจ็ตโรดเดอร์ (Jet loader) ไว้ก่อนแล้ว ระยะเวลาในการบรรจุกระสุนใหม่ก็ไม่แพ้ปืนกึ่งอัตโนมัติ นอกจากนั้นบางท่านที่ใช้ปืนลูกโม่แม้จะบรรจุกระสุนด้วยมือก็ไม่ได้ช้ากว่าปืนกึ่งอัตโนมัติ แต่ต้องฝึกฝนกันพอสมควร(ผมถือว่าพวกนี้เป็นมนุษย์พันธุ์พิเศษครับ)

หากต้องการทำให้ปืนอยู่ในสภาพที่ปลอดภัยไม่ลั่นออกมาเองสำหรับปืนลูกโม่ก็ง่ายมากแค่เปิดโม่ปืนก็ปลอดภัยแล้ว แต่สำหรับปืนกึ่งอัตโนมัติต้องทำหลายขั้นตอนกว่าปืนจะถือได้ว่าปลอดภัย (ต้องทำตามลำดับดังนี้ ปลดซองกระสุน กระชากสไลด์ 2-3 ครั้ง มองดูในช่องรังเพลิงว่าไม่มีกระสุนค้างอยู่ภายใน เหนี่ยวไกยิงทิ้งไปหนึ่งครั้ง)

นอกจากนั้นเวลาเก็บปืนที่บรรจุกระสุนไว้แล้วเพื่อความปลอดภัยและพร้อมใช้งานเมื่อยามจำเป็น สำหรับปืนลูกโม่ถึงบรรจุกระสุนในโม่จนเต็มก็ถือว่าปลอดภัย ปืนตกพื้นอย่างไรก็ไม่ลั่นออกมาเองได้อย่างแน่นอน นั้นคือจุดเด่นอีกข้อของปืนลูกโม่ในแง่ความปลอดภัย และเมื่อต้องการใช้ปืนก็หยิบขึ้นมายิงได้ทันที ส่วนปืนกึ่งอัตโนมัติมีหลายวิธีในการเก็บปืนหากบรรจุกระสุนในซองกระสุนและใส่ในตัวปืนแล้ว วิธีแรกไม่ต้องกระชากสไลด์เพื่อป้อนกระสุนนัดแรกเตรียมไว้ก่อนก็ถือว่าปลอดภัยทีเดียว เพราะไม่มีกระสุนอยู่ในรังเพลิงไม่มีโอกาสที่กระสุนจะลั่นออกไปได้ แต่ยามจะใช้งานขึ้นมาก็ต้องเสียเวลากระชากสไลด์ก่อนหนึ่งครั้งเพื่อป้อนกระสุนเข้ารังเพลิงจึงจะยิงได้ซึ่งเสียเวลาอยู่พอสมควร ในยามวิกฤติทุกวินาทีหมายถึงชีวิต

แต่ถ้าป้อนกระสุนเข้ารังเพลิงไว้ก่อนก็ต้องหาวิธีทำให้ปืนปลอดภัยจากการตกหล่นแล้วลั่นหรือปืนลั่นออกไปได้ง่ายเกินไปจึงอาจต้องขึ้น Safety ของปืนไว้เพื่อทำให้เหนี่ยวไกไม่ได้และขัดกับสไลด์ไว้ เวลาจะยิงก็ต้องอย่าลืมปลด Safety ด้วยไม่อย่างนั้นก็ยิงไม่ออก (ในเวลาคับขันอาจลืมได้) หรืออีกวิธีหนึ่งคือปืนที่มีระบบการลดนกสับลงครึ่งหนึ่งหรือลดลงจนชิดโครงปืนก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ซึ่งปืนจะยิงไม่ได้จนกว่าจะง้างนกสับถอยหลังจนสุด (ในเวลาคับขันก็ยังอาจลืมได้เช่นกัน) ในปืนกึ่งอัตโนมัติบางยี่ห้อหรือบางรุ่นไม่มี Safety หรือระบบลดนกมาให้ ดังนั้นความปลอดภัยในการใช้ปืนจึงขึ้นอยู่กับผู้ที่ถือปืนกระบอกนั้นเท่านั้น โดยรวมๆแล้วปืนลูกโม่ทำให้ปลอดภัยได้ง่ายกว่าปืนกึ่งอัตโนมัติ

15. ด้ามปืนที่เหมาะสมกับมือ สำหรับปืนลูกโม่แล้วมีด้ามปืนให้เลือกมากมายหลายขนาดและหลายแบบ เราสามารถเลือกให้เหมาะกับมือได้ง่ายกว่าปืนกึ่งอัตโนมัติซึ่งด้ามปืนเป็นที่อยู่ของซองกระสุนไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้มากนัก

16. ปืน Single action หรือ Double action ขอยกตัวอย่างปืนลูกโม่เวลายิงปืนนกสับจะทำงานสองจังหวะคือ จังหวะแรก นกสับที่อยู่ชิดโครงปืนต้องง้างถอยหลังออกมาจนสุด จังหวะที่สองคือ นกสับดีดกลับไปชิดโครงปืนทำให้เข็มแทงชนวนกระแทกกับจานท้ายกระสุนเพื่อจุดระเบิดดินปืนส่งผลให้กระสุนลั่นออกไป ปืน Single action หมายถึงเราต้องง้างนกสับถอยหลังมาก่อนจึงจะเหนี่ยวไกเพื่อปล่อยให้นกสับดีดกลับไปกระแทกจานท้ายปลอกกระสุน ถ้าเราไม่ง้างนกสับให้ก่อนก็จะยิงไม่ได้ ส่วนปืน Double action เราสามารถเหนี่ยวไกได้เลยในขณะที่นกสับอยู่ชิดโครงปืน ช่วงที่เหนี่ยวไกอยู่นั้นนกสับจะทำงานทั้งสองจังหวะโดยถอยหลังออกมาจนถึงระยะหนึ่งก็จะดีดตัวกลับไปกระแทกจานท้ายปลอกกระสุนทำให้ลูกปืนลั่นออกไป ปืนลูกโม่สมัยใหม่ส่วนใหญ่สามารถยิงได้ทั้งสองแบบ แต่ปืนกึ่งอัตโนมัติส่วนใหญ่เป็น Single action มีส่วนน้อยเป็น Double action ในสหรัฐบางรัฐห้ามเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ปืนกึ่งอัตโนมัติที่เป็น Double action เพื่อความปลอดภัย

จะเห็นได้ว่าไม่มีสิ่งใดในโลกสมบูรณ์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ทั้งปืนลูกโม่และกึ่งอัตโนมัติก็มีข้อดี ข้อด้อย ข้อจำกัด ของมันเอง การเลือกปืนใช้งานก็ต้องมาดูว่าเรายอมรับข้อบกพร่องจุดไหนได้บ้าง ที่สำคัญควรทดลองยิงปืนทั้งสองชนิดก่อนตัดสินใจ (เวลาไปยิงที่สนามยิงปืนอาจขอเช่าปืนแต่ละชนิดมาทดลองยิงดู หรือเวลาเรียนยิงปืนอาจขอลองยิงปืนหลายๆแบบดู แล้วพิจารณาว่าปืนแบบไหนเหมาะกับเรามากที่สุด)
และเมื่อมีปืนแล้วเราต้องทำความรู้จัก ทำความคุ้นเคยกับมันเพื่อให้รู้ข้อดี ข้อด้อย และฝึกฝนการใช้งานให้เกิดความชำนาญและความปลอดภัย

สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”

เรียบเรียงโดย Batman

Newcastle limousines