Tuesday, June 30, 2009

การถือปืนลูกโม่ด้วยมือข้างเดียว (Revolver gripping 1)







การถือปืนลูกโม่ด้วยมือข้างเดียว (Revolver gripping 1)

ต้นกำเนิดของปืนสั้นหรือปืนพก คือ ปืนลูกโม่ Single action อย่างที่เราเห็นในหนังคาวบอยซึ่งต้องใช้มือข้างหนึ่งถือปืนและมืออีกข้างตบไปที่นกสับ (Fanning) ก่อนจึงจะยิงออกไปได้ ปกติปืนสั้นถูกออกแบบมาให้ถือยิงด้วยมือเพียงข้างเดียว ต่อมาเมื่อมีการทำปืน Double action จึงเริ่มมีการถือปืนสองมือซึ่งพบว่าให้ประสิทธิภาพดีกว่าถือปืนด้วยมือเพียงข้างเดียวและฝึกฝนให้แม่นยำได้ง่ายกว่า ดังนั้นปัจจุบันจึงนิยมถือปืนด้วยสองมือเป็นส่วนใหญ่

อย่างไรก็ตามควรต้องรู้หลักการถือปืนด้วยมือเพียงข้างเดียวก่อน เพราะในบางสถานการณ์เช่น มือข้างไม่ถนัดเกิดบาดเจ็บหรือไม่ว่างก็จำเป็นที่จะต้องยิงปืนด้วยมือข้างเดียว ไม่ว่าจะเป็นการยิงจากมือข้างถนัดหรือข้างไม่ถนัด ดังนั้นการยิงปืนด้วยมือข้างเดียวจึงยังถือเป็นพื้นฐานของการยิงปืนมาจนถึงปัจจุบันนี้

การกำด้ามปืนเป็นพื้นฐานอันดับแรกในการใช้อาวุธปืน ไม่ว่าจะใช้มือเดียวหรือสองมือ มือหลักที่ถือปืนมีความสำคัญที่สุด ส่วนมืออีกข้างเพียงช่วยพยุงปืนหรือทำให้ปืนนิ่งมากขึ้นเท่านั้น

การกำด้ามปืนมีความแตกต่างกันเล็กน้อยระหว่างปืนลูกโม่กับปืนกึ่งอัตโนมัติแต่โดยหลักใหญ่ๆแล้วเหมือนกัน ขอเริ่มด้วยปืนลูกโม่ก่อน

1. ควรเริ่มจากการถือปืนในมือข้างถนัดก่อน
2. กางนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วอื่นๆออกให้เป็นรูปคล้ายตัว วี (V)
3. นำด้ามปืนเข้ามาใส่ในง้ามระหว่างนิ้วโป้งกับนิ้วชี้ โดยให้ขอบบนของด้ามปืนอยู่ชิดกับง้ามนิ้ว เรียกการจับแบบนี้ว่า High grip (คุมปืนได้ดี ลดแรงสะบัดของปืน)
4. นิ้วชี้เหยียดยาวทาบชิดไปกับโครงปืนอยู่นอกโกรงไกปืน นิ้วที่เหลือกำด้ามปืนพอกระชับ
5. นิ้วโป้งเหยียดยาวทาบไปกับโครงปืนเมื่อจะยิงแบบ Single action แต่ถ้าจะยิงแบบ Double action ก็ในงอนิ้วโป้งลงทาบกับโครงปืน

การเหนี่ยวไก ถ้าเป็นการยิงแบบ Single action ให้ใช้อุ้งนิ้วข้อปลายสุดนิ้วชี้ในการเหนี่ยวไก เพื่อความนุ่มนวลในการเหนี่ยวไกซึ่งไม่ต้องลากไกยาว แต่ถ้ายิงแบบ Double action ให้ใช้บริเวณข้อพับนิ้วชี้ข้อปลายสุดในการเหนี่ยวไก เพื่อให้มีกำลังมากพอที่จะต้องลากไกยาวได้ (ความหมายของ Single และ Double action หาอ่านได้จากบทความเรื่อง ข้อดี-ข้อเสีย ระหว่างปืนลูกโม่กับปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติ)

วิธีเหนี่ยวไกปืน ในกรณีของปืนลูกโม่เมื่อทำการยิงแบบ Single action หลังจากง้างนกสับไปข้างหลังจนสุดด้วยนิ้วโป้งของมือข้างที่ถือปืน หรือถ้าไม่มีแรงพอก็ใช้นิ้วโป้งของมืออีกข้างช่วยก็ได้ แล้วเล็งเป้าหมายอย่างละเอียดใช้อุ้งนิ้วบริเวณปลายนิ้วชี้ ค่อยๆเพิ่มน้ำหนักเหนี่ยวไกอย่างช้าๆ จนถึงจุดหนึ่งนกสับจะดีดตัวกลับไปเอง ส่งเข็มแทงชนวนไปกระแทกจอกจานท้ายปลอกกระสุนทำให้กระสุนลั่นออกไปโดยไม่รู้ตัว เมื่อกระสุนลั่นออกไปแล้วค่อยๆถอนนิ้วชี้ที่ไกปืนออกอย่างช้าๆเพื่อคลายไกปืน (ไม่ควรกระตุกคายนิ้วชี้ออกเร็วทำให้ไกปืนดีดกลับ เรียกการค่อยๆคลายไกปืนแบบนี้ว่า การ Follow through ของไกปืน)

ในกรณียิงแบบ Double action ทำได้สองวิธีๆแรก ปกติไกปืนเวลาถอยหลังจะมีสองจังหวะโดยจังหวะแรกขณะที่เล็งเป้าหมายอย่างหยาบ ใช้ข้อนิ้วชี้บริเวณข้อพับปลายสุดเหนี่ยวไกเร็วลากยาวเข้ามา จนนกสับถอยหลังห่างออกจากโครงปืนมาถึงจุดหนึ่งจะได้ยินเสียง “คลิ๊ก” เบาๆให้หยุดสักครู่แล้วเล็งเป้าหมายอย่างละเอียด ขณะเดียวกันค่อยๆเหนี่ยวไกต่ออย่างช้าๆเมื่อถึงจุดหนึ่งนกสับจะดีดกลับทำให้เข็มแทงชนวนกระแทกจอกจานท้ายปลอกกระสุนส่งกระสุนออกไปโดยไม่รู้ตัว แล้วค่อยๆคลายไกปืนออกอย่างช้าๆ

วิธีที่สอง ให้เล็งละเอียดตั้งแต่ต้นค่อยๆเหนี่ยวไกปืนด้วยความเร็วปานกลางอย่างสม่ำเสมอจนนกสับดีดกลับไปเองโดยไม่รู้ตัว (ไม่ต้องหยุดเมื่อได้ยินเสียง “คลิ๊ก”) พบว่าการยิงแบบแรกให้ความแม่นยำมากกว่าเหมาะกับการยิงเป้าวงกลมดำ แต่การยิงในระบบต่อสู้นิยมวิธีที่สองมากกว่า เนื่องจากต้องยิงด้วยความรวดเร็ว

จุดสำคัญอย่ากระชากไกปืนหรือกระตุกไกปืนจะทำให้ปืนสั่นวิถีกระสุนจะเบี่ยงเบนไปมาก ถ้าต้องการความแม่นยำสูงควรยิงขณะที่กลั่นหายใจ (ให้หายใจเข้าจนสุดแล้วผ่อนอากาศออกเล็กน้อย แล้วกลั่นหายใจไว้สักครู่เพื่อเหนี่ยวไกปืนโดยเฉพาะตอนช่วงที่เล็งละเอียด ควรจะยิงภายในเวลาไม่เกิน 7 วินาที หากนานกว่านั้นก็ควรหายใจออกและเริ่มต้นยิงกันใหม่) ไม่ควรกำด้ามปืนแน่นจนเกินไปจนมีอาการเกร็งจะทำให้ปืนสั่นขาดความแม่นยำ กำด้ามปืนพอกระชับไม่ต้องกลัวเรื่องปืนสะบัดหรือที่บางคนเรียกว่า ปืนถีบ เพราะกระสุนได้พุ่งออกไปแล้วจึงไม่มีผลต่อความแม่นยำ

การฝึกฝนในการจับปืน การเล็ง การลั่นไก การควบคุมการหายใจ เป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้เกิดทักษะความชำนาญ เพราะสิ่งต่างๆเหล่านี้ถือเป็นพื้นฐานของการยิงปืนที่ดี

เมื่อยังไม่ต้องการยิงหรือยิงเสร็จแล้วให้นิ้วชี้ที่ใช้เหนี่ยวไกปืนอยู่นอกโกรงไกปืนเสมอ (นิ้วเหยียดยาววางทาบชิดโครงปืน)

สำหรับผู้ที่มือเล็ก เช่น ผู้หญิงหรือผู้ชายบางคนซึ่งอาจกำด้ามปืนแบบ High grip แล้วนิ้วชี้ไม่มีแรงมากพอที่จะเหนี่ยวไกในแบบ Double action ได้ ก็อาจต้องจับปืนแบบ Low grip แทนโดยให้ขอบบนของด้ามปืนอยู่สูงกว่าง้ามมือเล็กน้อย ไม่ว่า High grip หรือ Low grip หากฝึกฝนบ่อยๆก็สามารถทำการยิงที่ดีได้ (ก่อนเลือกซื้อปืนจึงควรลองกำด้ามปืนก่อนดูว่าสามารถกำด้ามปืนแบบ High grip และสามารถเหนี่ยวไกได้สะดวกหรือไม่)

สำหรับการยิงปืนระบบต่อสู้จะทำการยิงเป้าหมายในระยะใกล้มักไม่เกิน 7 หลา และไม่ต้องการความแม่นยำมากนัก ขอเพียงแค่ยิงให้เร็วและส่งกระสุนเข้าเป้าหมายที่ต้องการได้เป็นพอ และต้องทำการยิงได้ตลอดเวลา ดังนั้นไม่จำเป็นต้องกลั้นหายใจก่อนยิง ไม่ต้องเล็งละเอียดมากแค่มองผ่านๆ จัดศูนย์หลัง ศูนย์หน้า และเป้าให้อยู่ในแนวก็ทำการยิงได้เลย การจับด้ามปืนที่ถูกต้องจะทำให้คุมปืนได้ง่าย มีความแม่นยำมากขึ้น และสามารถทำการยิงซ้ำได้เร็ว

สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี
"สติ"

เรียบเรียงโดย Batman

Sunday, June 14, 2009

Tactical Targets











Tactical Targets

นาย David Kenik ได้กล่าวถึงความสำคัญของเป้าซ้อมยิงปืนไว้อย่างน่าสนใจ เขาไม่เคยสนใจมาก่อนว่ากำลังยิงเป้าอะไรเวลาซ้อมยิงปืน จนกระทั่งเขาเริ่มเรียนยิงปืนระดับสูงขึ้นเรื่อยๆจึงรู้ว่าเป้าแต่ละแบบมีประโยชน์แตกต่างกัน

ระบบเป้าแผ่นเหล็กล้มลุกหรือระบบเป้าราคาแพงๆอาจจะยิงแล้วสนุก แต่อาจไม่จำเป็นสำหรับการฝึกยิงปืนที่ดีเพื่อการป้องกันตัว มีทางเลือกที่ไม่แพงอีกมากมายซึ่งมีประโยชน์ต่อการฝึกซ้อมยิงปืนโดยระบบเหล่านั้นอาจทำไม่ได้

-เป้าตาวัว (Bullseye Targets) หรือเป้าวงกลมดำ คงไม่มีใครไม่เคยยิงเป้าวงกลมดำตรงกลางเป็นแน่ เป้าชนิดนี้เหมาะกับการฝึกซ้อมยิงปืนที่ต้องการความแม่นยำ โดยใช้การจัดศูนย์นั่งแท่นเป็นหลัก ความแม่นยำจะจำเพาะเฉพาะระยะยิงหนึ่งๆเท่านั้น กล่าวคือเมื่อเปลี่ยนระยะยิงห่างออกไปหรือใกล้เข้ามาก็ต้องปรับศูนย์ปืนใหม่เพื่อให้แนวกระสุนเข้าตรงกลางเป้าวงกลมดำ เป้าชนิดนี้จึงเหมาะกับการยิงที่วัดกันที่ความแม่นยำเป็นหลัก

การเล็งปืนแบบศูนย์จี้อย่างที่การยิงปืนระบบต่อสู้ใช้ มักไม่ง่ายนักที่จะส่งกระสุนเข้าตรงกลางของวงกลมดำได้

เป้าวงกลมดำจึงเหมาะสำหรับการฝึกยิงปืนระดับพื้นฐาน แต่ถ้าการยิงปืนมีจุดประสงค์เพื่อการต่อสู้ป้องกันตัวในสถานการณ์จริง ซึ่งมักยิงในระยะใกล้และภัยคุกคามมักไม่ได้ใส่ชุดที่มีวงกลมดำไว้ที่เสื้อด้วยแล้ว การใช้เป้าลักษณะนี้อาจไม่เหมาะสมนัก

-เป้าหุ่นคน (Human-Shaped Targets) เป็นเป้ากระดาษที่ทำขึ้นอย่างหยาบๆให้มีลักษณะคล้ายคนโดยมีลำตัวและศีรษะ มักใช้ในการยิงของ IPSC/IDPA แบ่งการให้คะแนนตามพื้นที่ที่ยิงถูกเป้าโดยแบ่งเป็น Zone A, B, C, D (คะแนนลดหลั่นกันลงมา)

เป้าชนิดนี้นิยมมากกว่าการใช้เป้าตาวัวในการฝึกซ้อมยิงระบบต่อสู้ เพราะการยิงปืนระบบนี้มักให้เล็งไปที่ลำตัวมากกว่าให้เล็งไปจำเพาะที่ส่วนหนึ่งส่วนใดลงไป

การแต่งตัวให้กับเป้า IPSC/IDPA ก็ทำได้ง่ายๆ เช่น การใส่หมวก เสื้อยืดให้กับเป้า และอาจวาดใบหน้าคนบนเป้าด้วยปากกาก็ทำให้เหมือนคนมากขึ้น เมื่อเขาใช้เป้าแบบนี้เวลาสอนยิงปืนก็มักมีคนหนึ่งในกลุ่มบ่นว่าการทำเช่นนี้ทำให้เขาไม่เห็น Zone A ของเป้า นาย David Kenik ก็จะตอบไปว่า คุณก็ไม่มีทางเห็นมันได้ในสถานการณ์จริงบนถนนหรอก

การทำให้เป้ามีความสมจริงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเตรียมตัวผู้ฝึกสำหรับสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด (worst-case scenario) ซึ่งต้องเล็งปืนไปยังคนจริงๆ เนื่องจากเราถูกสอนและฝึกไม่ให้เล็งปืนไปยังคน ซึ่งอาจฝั่งแน่นจนเราอาจลังเลเมื่อถึงสถานการณ์ที่จำเป็นต้องทำ การใช้เป้าที่เหมือนคนในสถานการณ์จำลองจะช่วยแก้ไขข้อบกพร่องนี้ได้

-เป้ารูปภาพ (Photographic Targets) เป็นเป้าที่มีรูปคนอยู่โดยมีอิริยาบทต่างๆ บางคนอาจถืออาวุธ บางคนอาจไม่มีอาวุธ อาจมีการติดรูปอาวุธหรืออุปกรณ์ที่ไม่เป็นพิษภัยไว้ที่เป้า ควรฝึกกับเป้าเหล่านี้หลายๆแบบเพื่อจุดประสงค์สองอย่างคือ เพื่อดูสมจริงและฝึกตัดสินใจ (ยิงเฉพาะเป้าหมายที่เป็นภัยคุกคามเท่านั้น ดังนั้นผู้ฝึกต้องแยกแยะเป้าหมายก่อนว่าเป็นภัยคุกคามหรือไม่)

วิธีดีที่สุดในการฝึกด้วยเป้ารูปภาพคือการให้คนอื่นช่วยจัดสถานการณ์ให้และเลือกเป้าหมายหลายๆแบบโดยผู้ฝึกไม่รู้มาก่อนว่าจะพบเป้าแบบใด ผู้ฝึกต้องตัดสินใจที่จะยิงหรือไม่ยิงโดยอาศัยวัตถุที่เป้าหมายถือหรือจากพฤติกรรม (ขี่จักรยานหรือกวัดแกว่งอาวุธ) เป็นต้น

เมื่อนำมาใช้ฝึกกับนักเรียนยิงปืนเขาพบว่า ส่วนใหญ่มักเครียดกับการฝึกเพราะความเหมือนจริง โดยเฉพาะเมื่อมีคนเล็งปืนมาทางคุณแม้จะเป็นเพียงแค่รูปภาพก็ตาม ซึ่งสิ่งนี้เป็นเรื่องที่ดีเนื่องจากเราควรฝึกในภาวะเครียดให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ผู้ฝึกมักจะสนใจที่อาวุธของเป้าหมายว่ามีหรือไม่ และจะยิงโดยมองเป้าหมายมากกว่าที่จะมองศูนย์ปืน (ซึ่งดีในระบบต่อสู้) การฝึกบ่อยๆจะทำให้คุ้นเคยกับความเครียด พบว่าผลการยิงจะดีขึ้นเรื่อยๆ

-เป้าสามมิติ (Three-Dimensional Targets) เป้าที่เรียกว่า Tac-Man (เป้าทำจากโฟมที่อัดนูนขึ้นแต่ข้างในกลวง เป้ามีใบหน้าคนและกล้ามเนื้อของลำตัว) ซึ่งใช้ในการฝึกของผู้รักษากฎหมาย เป็นเป้าชนิดแรกของเป้าสามมิติราคาไม่แพง

เป้านี้ดีมากที่ทำให้ผู้ฝึกได้รู้ว่าเมื่อยิงไปแล้วกระสุนจะเข้าบริเวณใดของร่างกายโดยเฉพาะเมื่อยิงจากด้านข้าง (ซึ่งเป้าแบบสองมิติไม่สามารถทำได้) และเมื่อนำเสื้อผ้ามาใส่ให้เป้ายิ่งมีความเหมือนจริงมากขึ้น

DVC Targets (ย่อมาจาก Diligencia, Vis, Celeritas เป็นภาษาลาตินแปลว่า ความแม่นยำ, พลัง, ความเร็ว) เป็นระบบเป้าที่นำ Tac-Man มาร่วมใช้ได้อย่างเยี่ยมยอด เช่น นำเป้า Tac-Man มาประกอบกับเป้า Hard Head Ted (เป็นเป้าแผ่นเหล็กวางตามตำแหน่งอวัยวะสำคัญของร่างกาย เช่น ศีรษะ กลางหน้าอก โดยแผ่นเหล็กยึดกับแกนหล็กกลางลำตัว โดยมีเป้า Tac-Man ประกบปิดอยู่ด้านหน้า และอาจใส่หมวกหรือเสื้อผ้าให้กับเป้าเพื่อความสมจริง) เมื่อยิงไปถูกตำแหน่งที่สำคัญของเป้า (บริเวณศีรษะหรือกลางหน้าอกซึ่งกระสุนจะถูกแผ่นเหล็ก) กลไกจะทำให้เป้าล้มลง

กุญแจสำคัญของการฝึกคือ แต่งตัว Tac-Man ให้เหมือนจริงที่สุด ไม่เพียงแต่ผู้ฝึกต้องเผชิญกับเป้าที่มีความคล้ายคนแล้วยังต้องยิงให้ถูกจุดสำคัญของเป้าหมายด้วยจึงจะทำให้เป้าล้มลงได้

เป้าสามมิติที่เหมือนตัวคนทั้งตัวก็มีใช้ในการฝึกของผู้รักษากฎหมาย โดยจะเป็นการแต่งตัวให้เป้าทั่งตัวและข้อต่อของแขนอาจอยู่ได้หลายตำแหน่ง มีดหรือปืนปลอมจะถูกติดไว้ที่มือของเป้าหมาย

TorsoPro เป็นชื่อเป้าสามมิติที่มีคุณภาพสูง มีลักษณะทางกายวิภาคเหมือนจริงทำจากโฟมผสมยาง สามารถใช้ในการฝึกยิงได้ประมาณสองพันนัดขึ้นกับขนาดหัวกระสุนและความหนาแน่นของการยิง นอกจากใช้ในการฝึกยิงปืนแล้วยังใช้ในการฝึกกับมีด กระบอง หรือทักษะอื่นๆที่ใช้แรงกระแทก

-เป้าที่ใช้ฝึกความแม่นยำ (Precision Targets) เป็นเป้าจุดดำขนาดเล็กขนาดเส้าผ่านศูนย์กลางหนึ่งนิ้ว สามารถทำเองได้โดยใช้คอมพิวเตอร์ ให้เริ่มยิงจากระยะสิบฟุตก่อน ยิงอย่างช้าๆจัดศูนย์ปืนอย่างละเอียด เป็นการฝึกการเล็ง การหายใจขณะยิง การเหนี่ยวไก และการ Follow-through และเมื่อยิงได้ดีแล้วก็ค่อยๆถ่อยห่างออกไป ในการยิงต่อสู้ป้องกันตัวเราจะไม่ยิงช้าหรือใช้ความแม่นยำขนาดนี้ แต่ทักษะที่ได้จากการยิงอย่างแม่นยำเป็นพื้นฐานสำหรับการยิงปืนในทุกสถานการณ์

-เป้าเคลื่อนที่ (Moving Targets) การยิงเป้าที่ตำแหน่งหน้าอกหรือศีรษะเป็นเรื่องไม่ยากนักเมื่อเป้าอยู่กับที่ แต่จะไม่ง่ายเลยเมื่อเป้ากำลังเคลื่อนที่และ/หรือผู้ยิงก็เคลื่อนที่ด้วย

การฝึกยิงกับเป้าเคลื่อนที่เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง สนามยิงปืนส่วนใหญ่ไม่มีเป้าเคลื่อนที่ให้ฝึกยิง หรือถึงจะมีก็มักมีความเร็วของเป้าระดับเดียวซึ่งไม่ค่อยเหมือนจริงเท่าไร แต่ก็ยังดีกว่ายิงเป้าอยู่กับที่เท่านั้น

นาย David Kenik ได้ลองเอารถบังคับด้วยวิทยุเด็กเล่นมาช่วยในการฝึกโดยเขาเอาลูกโป่งหลายลูกผูกกับเชือกและผูกติดกับรถหรือเอาแท่นวางเป้ากระดาษติดกับรถ แล้วบังคับรถให้วิ่งไปและทำการซ้อมยิงเป้าไปด้วย ทำให้เป้ามีการเคลื่อนที่ในหลายทิศทางและหลายความเร็ว เขาแนะนำว่าหากจะใช้วิธีนี้ควรใส่ล้อรถขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่หาได้เพราะรถต้องลุยได้ในพื้นที่สภาพต่างๆและใช้ถ่านที่มีกำลังสูงสุดเท่าที่มี

-การฝึกสถานการณ์จำลอง (Force-on-Force Training) การยิงเป้ากระดาษธรรมดาหรือเป้าแผ่นเหล็กขาดความสมจริงเพราะมันไม่เคลื่อนไหว ไม่ยิงตอบโต้กลับ พวกมันไม่มีความคิด ไม่มีอารมณ์ความรู้สึก ผู้ฝึกมักไม่มีความเครียดหรือความกลัว

ดังนั้นเป้าที่ดีที่สุดก็คือตัวมนุษย์เอง ตราบใดที่เรายังไม่สามารถจำลองการฝึกซ้อมยิงปืนที่เหมือนจริงได้ทุกอย่าง การฝึกซ้อมด้วยสถานการณ์จำลองโดยใช้อาวุธที่ไม่มีอันตราย เช่นปืนอัดลมหรือกระสุนสี ก็ยังถือว่าเป็นส่วนเติมเต็มให้ส่วนที่ขาดหายไปจากการฝึกยิงปืนในสนามยิงปืนทั่วไป

หากมีเวลาน้อยนาย David Kenik ก็จะฝึกยิงปืนในรูปแบบเดียวที่สนามยิงปืน แต่ถ้ามีเวลามากเขาก็จะฝึกซ้อมยิงกับเป้าหลายแบบ และอาจใช้เป้าเหล่านี้ร่วมกับทักษะการยิงป้องกันตัวแบบอื่นๆ เช่น การยิงหลายเป้าหมาย การเคลื่อนที่ยิง การยิงคุ้มกัน และใช้จำนวนกระสุนแตกต่างกันในการฝึกแต่ละครั้ง การฝึกแบบนี้จะช่วยเพิ่มโอกาสที่จะอยู่รอดได้เมื่อเผชิญหน้ากับภัยคุกคามด้วยอาวุธปืน

การฝึกยิงปืนในระบบต่อสู้ควรใช้เป้าหลายแบบ เพื่อเพิ่มทักษะพื้นฐานในหลายด้านที่จำเป็นด้วยกระสุนซ้อมและใช้กระสุนจริงในบางโอกาสเพื่อให้คุ้นเคยกับการยิงกระสุนจริง การฝึกยิงปืนเพื่อความแม่นยำยังคงมีความสำคัญ การฝึกซ้อมสถานการณ์จำลองทั้งที่ใช้เป้าอยู่กับที่ด้วยกระสุนซ้อมหรือฝึกกับคนด้วยปืนอัดลมหรือกระสุนสี เป็นการรวมทักษะต่างๆมาปฏิบัติเพื่อให้เกิดความชำนาญในเชิงยุทธวิธี

TAS สอนการยิงปืนระบบต่อสู้โดยผู้รับการฝึกจะได้มีโอกาสใช้เป้าหลายแบบทั้งเป้ากระดาษ เป้าแผ่นเหล็ก เป้าพลิก เป้าเคลื่อนที่ และเป้าหุ่นสามมิติ ตามระดับความเข้มข้นของการฝึกอบรม

สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”

เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Tactical Targets ของ David Kenik

Wednesday, June 10, 2009

Jeff Cooper's Rules of Gun Safety








Jeff Cooper's Rules of Gun Safety

John Dean Cooper หรือที่เพื่อนๆเรียกเขาว่า “Jeff” Cooper ชาวอเมริกันมีชีวิตอยู่ในช่วงปี ค.ศ. 1920 ถึง 2006 Jeff Cooper ได้ชื่อว่าเป็นบิดาของการยิงปืนสั้นสมัยใหม่ เขาเคยเป็นนาวิกโยธินร่วมสงครามโลกครั้งที่สองและสงครามเกาหลี

นาย Cooper เป็นผู้ก่อตั้ง American Pistol Institute (API) ในปี ค.ศ. 1976 ที่รัฐอริโซน่า และเป็นครูฝึกสอนยิงปืนให้กับประชาชน ตำรวจและทหารอยู่หลายปี (เขาสอนทั้งปืนสั้น ปืนลูกซองและปืนยาว Rifle) ระบบการยิงปืนสั้นสมัยใหม่ที่เขาเผยแพร่ อาทิเช่น เขาแนะนำให้ใช้กระสุนขนาดใหญ่โดยเฉพาะที่ใช้กับปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติ การถือปืนสั้นยิงด้วยสองมือ (ก่อนหน้านี้นิยมถือปืนสั้นยิงด้วยมือเดียว) แนะนำให้ใช้ท่ายืน Weaver เป็นหลัก เขายังได้ออกแบบกระสุนและปืน Rifle บางรุ่น และแต่งหนังสือเกี่ยวกับอาวุธปืนไว้หลายเล่ม

นอกจากนั้นยังเป็นผู้แนะนำ 5 รูปแบบสำหรับการเตรียมความพร้อมของปืนในการใช้งาน คือ

- Condition Zero คือ มีกระสุนอยู่ในรังเพลิงหนึ่งนัด, ใส่ซองกระสุนบรรจุเต็มที่ปืน, ง้างนกสับ, ไม่ใส่ safety (ปืนสามารถยิงได้ทันที)

- Condition One คือ มีกระสุนอยู่ในรังเพลิงหนึ่งนัด, ใส่ซองกระสุนบรรจุเต็มที่ปืน, ง้างนกสับ, ใส่ safety ไว้ (เมื่อจะยิงต้องปลด Safety ของปืนก่อน)

- Condition Two คือ มีกระสุนอยู่ในรังเพลิงหนึ่งนัด, ใส่ซองกระสุนบรรจุเต็มที่ปืน, ไม่ง้างนกสับ (เมื่อจะยิงต้องง้างนกสับก่อน)

- Condition Three คือ ไม่มีกระสุนอยู่ในรังเพลิง, ใส่ซองกระสุนบรรจุเต็มที่ปืน, ไม่ง้างนกสับ (เมื่อจะยิงต้องกระชากสไลด์ถ่อยหลังหนึ่งครั้งเพื่อป้อนกระสุนนัดแรกเข้ารังเพลิงและง้างนกสับก่อน)

- Condition Four คือ ไม่มีกระสุนอยู่ในรังเพลิง, ไม่ใส่ซองกระสุนที่ปืน, ไม่ง้างนกสับ (เมื่อจะยิงต้องใส่ซองกระสุนก่อนแล้วกระชากสไลด์ถ่อยหลังหนึ่งครั้งเพื่อป้อนกระสุนเข้ารังเพลิงนัดแรกและง้างนกสับ)

เขาได้ออกกฎเหล็กพื้นฐาน 4 ข้อเพื่อความปลอดภัยในการใช้อาวุธปืน ดังนี้

1. ให้คิดว่าปืนทุกกระบอกมีกระสุนบรรจุอยู่พร้อมยิง (All guns are always loaded) กล่าวคือ ทุกครั้งที่จับปืนให้ถือเสมือนว่าปืนกระบอกนั้นมีกระสุนบรรจุอยู่พร้อมที่จะยิงได้ ถึงแม้ว่าเราจะมั่นใจว่าปืนกระบอกนั้นไม่มีกระสุนบรรจุอยู่ก็ตาม

2. ห้ามหันปากกระบอกปืนไปหาสิ่งที่ไม่ตั้งใจจะยิง (Never let the muzzle cover anything you are not willing to destroy) กล่าวคือ เมื่อกำลังถือปืนอยู่ห้ามหันปากกระบอกปืนไปหาสิ่งที่คุณไม่ต้องการจะยิงโดยเฉพาะ “คน”

3. ห้ามเอานิ้วเข้าโกรงไกจนกว่าแนวปืนจะเข้าสู้เป้าหมายที่จะยิง (Keep your finger off the trigger until your sights are on the target) กล่าวคือ ขณะถือปืนต้องเอานิ้วที่จะใช้เหนี่ยวไก (มักเป็นนิ้วชี้) เหยียดยาวชิดโครงปืนอยู่นอกโกรงไกเสมอ จนกว่าปืนจะได้ถูกเล็งและเป้าหมายเข้าสู่แนวยิงแล้วจึงค่อยเอานิ้วเข้าโกรงไกเพื่อทำการยิง

4. แน่ใจในเป้าหมายที่จะยิง (Be sure of your target) กล่าวคือ คุณต้องรู้ว่าเป้าหมายที่จะยิงเป็นอะไร รู้ว่าเป้าหมายเข้าสู่แนวยิงแล้ว รู้ว่าอะไรอยู่หลังเป้าหมายที่จะยิง (กระสุนอาจพลาดหรือทะลุผ่านเป้าหมายไปถูกสิ่งที่อยู่ด้านหลังได้) รู้ว่าคุณกำลังทำอะไรอยู่ (ไม่ทานอาหารหรือดื่มของมึนเมาก่อนและระหว่างยิงปืนซึ่งอาจทำให้สติลดน้อยลง)

ได้มีการเพิ่มเติมไปอีกหลายข้อตามแต่ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ แต่กฎเหล็กทั้ง 4 ข้อนี้ก็ยังถือว่าเป็นหลักปฏิบัติพื้นฐานที่ผู้ใช้อาวุธปืนทุกคนต้องปฏิบัติมาจนถึงทุกวันนี้

การใช้อาวุธปืนเราต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยเป็นอันดับแรก ปลอดภัยต่อทั้งตนเองและคนรอบข้าง ให้คิดเสมอว่าปืนทุกกระบอกมีกระสุนบรรจุอยู่ เพราะบางครั้งเราเอากระสุนออกจากปืนแล้ว แต่อาจมีคนอื่นหรือเราเองลืมไปว่าได้บรรจุกระสุนกลับเข้าไปแล้ว ดังนั้นทุกครั้งที่จับปืนต้อง “ตรวจปืน” เสมอว่ามีกระสุนบรรจุอยู่หรือไม่และปฏิบัติเสมือนปืนมีกระสุนบรรจุอยู่ ให้ฝึกตรวจปืนบ่อยๆจนเป็นนิสัยทุกครั้งที่จับปืนหรือได้รับปืนจากคนอื่นให้ทำการตรวจปืนทุกครั้ง

ห้ามเอานิ้วเข้าโกรงไกปืนจนกว่าจะทำการยิง คนส่วนใหญ่ใช้นิ้วชี้ในการเหนี่ยวไกดังนั้นเมื่อกำด้ามปืนนิ้วชี้ต้องเหยียดยาวชิดโครงปืนเสมอ ถ้าเราไม่เอานิ้วเข้าโกรงไกไปสัมผัสกับไกปืนโอกาสที่ปืนลั่นโดยไม่ตั้งใจก็จะไม่มี และเมื่อทำการยิงเสร็จต้องเอานิ้วออกนอกโกรงไกทันที

ห้ามหันปากกระบอกปืนไปหาสิ่งที่ไม่ต้องการจะยิงโดยเฉพาะ “คน” ถึงแม้ว่าจะได้ทำการตรวจปืนแล้วและแน่ใจว่าปืนไม่มีกระสุนอยู่ เพราะคนที่ถูกปืนเล็งมาอาจรู้สึกหวาดเสียวได้และเขาก็อาจไม่แน่ใจว่าคุณได้ตรวจปืนดีแล้วจริงหรือ ถ้าคุณไม่เล็งปืนไปหาคนที่ไม่ได้ต้องการจะยิงก็ไม่มีทางที่ปืนจะลั่นไปถูกคนนั้นได้ อย่างมากก็ลั่นไปถูกสิ่งของทั่วไปความเสียหายก็ไม่มากนัก ดังนั้นเมื่อถือปืนห้ามหันปากกระบอกปืนไปหาคนรอบข้างอย่างเด็ดขาด และปากกระบอกปืนควรชี้ไปในทิศทางที่ปลอดภัยเสมอ เช่น ชี้ลงดิน หรือชี้ไปทางแนวกั้นกระสุนหรือ Backstop ของสนามยิงปืน ในบางกรณี เช่น การสอนยิงปืนอาจจำเป็นต้องหันปากกระบอกปืนไปทางคนก็ควรต้องตรวจปืนให้บุคคลนั้นดูก่อนหรือให้คนนั้นช่วยตรวจปืนอีกครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าปืนปลอดภัย

โดยหลักการแล้วมีเพียงเป้าหมายของเราเท่านั้นที่ควรจะต้องถูกยิง ดังนั้นเราต้องรู้ก่อนว่าเป้าหมายที่จะยิงเป็นอะไร เป็นเป้ากระดาษ หรือเป็นคนร้าย และต้องรู้ว่าด้านหลังของเป้าหมายเป็นอะไร มีความปลอดภัยที่จะยิงหรือไม่ เช่น ถึงแม้เป้าหมายจะเป็นคนร้ายแต่ถ้าด้านหลังคนร้ายมีผู้บริสุทธิ์อีกหลายคน หากเรายิงพลาดหรือกระสุนทะลุคนร้ายอาจพลาดไปถูกคนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องได้ก็ไม่ควรยิง

จะเห็นได้ว่าความปลอดภัยในการใช้อาวุธปืนขึ้นอยู่กับผู้ที่ถือปืนเป็นหลัก ซึ่งต้องมี “สติและจิตสำนึก” ในการใช้อาวุธปืนให้ปลอดภัยอยู่ตลอดเวลา

TAS สอนยิงปืนโดยพื้นฐานของการใช้อาวุธปืนอย่างปลอดภัย ภายใต้การดูแลของครูฝึกอย่างใกล้ชิดตลอดการฝึกอบรม

สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”

เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือพิมพ์ The Daily Courier, Wikipedia

Tuesday, June 9, 2009

Other Eyes











Other Eyes

เป็นที่ยอมรับว่าการยิงปืนระบบต่อสู้ควรเปิดตาทั้งสองข้าง แต่เล็งด้วยตาข้างถนัดหรือตาข้างเดียวกับมือหลักที่ถือปืน เพราะถ้าหลับตาไปหนึ่งข้างเพื่อเล็งจะทำให้สูญเสียมุมมองของตาข้างนั้นไป หากมีภัยคุกคามปรากฏขึ้นจากด้านตาข้างที่หลับอยู่จะทำให้เราไม่เห็นและอาจตกอยู่ในอันตรายได้

การเปิดตาทั้งสองข้างจึงเป็นสิ่งสำคัญ หากเราเห็นสิ่งผิดปกติเคลื่อนไหวอยู่บริเวณขอบมุมมองไม่ว่าด้านใดด้านหนึ่ง เราสามารถหันไปดูให้ชัดเพื่อแยกแยะว่าสิ่งนั้นเป็นภัยคุกคามหรือไม่ เพื่อตัดสินใจในการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปได้ ไม่ควรยิงด้วยสัญชาติญาณโดยยังไม่แยกแยะเป้าหมายก่อนว่าเป็นภัยคุกคามหรือไม่ แต่ควรใช้สัญชาติญาณในแง่ “สายตาของนักล่า (Hunter’s eye)” ซึ่งมีความฉับไวในการจับการเคลื่อนไหวเล็กๆน้อยๆและแยกแยะเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว

ในบางสถานการณ์อาจจำเป็นต้องเล็งด้วยตาข้างไม่ถนัดหรือถือปืนด้วยมือข้างไม่ถนัด ซึ่งเราจำเป็นต้องทำการยิงได้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น การยิงหลังที่กำบังถ้าเราถนัดขวาแต่ต้องเอียงตัวออกไปด้านซ้ายเพื่อทำการยิง หากเล็งด้วยตาขวาเราจำเป็นต้องโผล่ศีรษะและลำตัวออกไปมากกว่าการเล็งด้วยตาซ้าย ดังนั้นถ้าเราเปลี่ยนมาเล็งด้วยตาซ้ายและ/หรือเปลี่ยนมาถือปืนด้วยมือซ้าย เราก็ไม่จำเป็นต้องโผล่ออกจากที่กำบังมากนักก็สามารถทำการยิงได้

นอกจากนั้นหากแขนหรือมือข้างถนัดได้รับบาดเจ็บหรือไม่สามารถถือปืนได้ไม่ว่าจากสาเหตุใดก็ตาม เราก็ยังสามารถทำการยิงด้วยมือข้างไม่ถนัดได้ ซึ่งการยิงลักษณะนี้ไม่ถือเป็นเรื่องแปลกแต่อย่างใด เพราะบางคนตาข้างถนัดเป็นคนละข้างกับมือข้างถนัดก็ต้องยิงในลักษณะนี้เช่นกัน

เราควรต้องฝึกฝนการยิงที่ใช้ตาข้างไม่ถนัดในการเล็งหรือการยิงจากมือข้างไม่ถนัดก่อนที่จะมีเหตุจำเป็นต้องใช้ทักษะนี้ในสถานการณ์จริง

เมื่ออยู่ในสนามฝึกควรต้องฝึกยิงดังนี้ “มือข้างถนัด-ตาข้างถนัด, มือข้างถนัด-ตาข้างไม่ถนัด, มือข้างไม่ถนัด-ตาข้างถนัด, มือข้างไม่ถนัด-ตาข้างไม่ถนัด” โดยการฝึกยิงทั้งหมดต้องเปิดตาทั้งสองข้างแต่เล็งด้วยตาเพียงข้างเดียว

การฝึกยิงปืนสำหรับผู้เริ่มต้นอาจมีอุปสรรคบ้างในการเล็งปืนโดยเปิดตาทั้งสองข้าง บางครั้งอาจให้เริ่มจากหลับตาหนึ่งข้างก่อน เมื่อทำการยิงได้แล้วจึงเริ่มให้เปิดตาทั้งสองข้างแต่เล็งด้วยตาเพียงข้างเดียว

นอกจากนั้นมีการยิงปืนบางรูปแบบและบางสถานการณ์ที่จำเป็นต้องใช้การเล็งปืนด้วยตาข้างไม่ถนัด ดังนั้นการฝึกยิงด้วยการเล็งจากตาข้างถนัดและข้างไม่ถนัดหรือการถือปืนยิงจากทั้งมือขวาและมือซ้ายจึงเป็นสิ่งสำคัญ แม้การยิงลักษณะนี้ไม่ใช่สิ่งใหม่แต่ไม่ใช่ว่านักยิงปืนทุกคนจะทำได้ต้องมีการฝึกฝน ควรต้องเรียนรู้ทักษะเหล่านี้ก่อนที่จะตกอยู่ในสถานการณ์ที่จำเป็นต้องใช้ และถ้าเราฝึกฝนแล้วแต่ก็ทำไม่ได้อย่างน้อยเราก็รู้ข้อจำกัดของตัวเอง

ในสถานการณ์จริงนอกจากเราต้องประเมินสถานการณ์ภายนอกแล้ว ยังต้องประเมินขีดความสามารถของตัวเราเองด้วย และเลือกใช้ทักษะที่เหมาะสมเพื่อให้สามารถผ่านพ้นวิกฤติออกมาได้อย่างปลอดภัย

TAS สอนการฝึกยิงปืนทั้งจากมือข้างถนัดและมือข้างไม่ถนัด อีกทั้งให้เปิดตาทั้งสองข้างขณะยิง ผู้รับการฝึกสามารถนำทักษะที่ได้เรียนรู้ไปฝึกฝนเพื่อเพิ่มศักยภาพของตนเองต่อไปได้

สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”

เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Other Eyes ของ Clint Smith

Wednesday, June 3, 2009

Handgun Training Basics








Handgun Training Basics

นาย Walt Rauch ได้ให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการฝึกยิงปืนเพื่อใช้ในสถานการณ์จริงไว้อย่างน่าสนใจ อย่างแรกก็ต้องเลือกปืนที่จะใช้ก่อน ไม่ว่าจะเป็นปืนกึ่งอัตโนมัติหรือปืนลูกโม่ต้องมีการทำงานที่เชื้อถือได้ไม่ติดขัดง่ายและสามารถบรรจุกระสุนได้อย่างน้อย 5 นัด

สำหรับปืนกึ่งอัตโนมัตินั้นในช่วง 25 ปีมานี้ได้รับความนิยมอย่างมาก แต่ปืนลูกโม่ก็เหมาะสมที่สุดกับนิยามที่ว่า “เรียบง่ายดีที่สุด” ยิ่งคุณต้องจำน้อยเท่าไรเกี่ยวกับการทำงานของปืน ก็ยิ่งดีในการใช้งานในสถานการณ์จริง

ต่อมาก็เลือกขนาดของกระสุน ยิ่งกระสุนขนาดใหญ่และมีพลังมากเท่าไรก็ยิ่งดี เช่นกระสุน +P ดีกว่าไม่มี +P และควรเป็นกระสุนชนวนกลาง (Centerfire cartridge) ส่วนกระสุนชนวนริม เช่น กระสุน .22 ชนวนริม (Rimfire round) ไม่เป็นที่ยอมรับเนื่องจากความไม่แน่นอนของกระสุนเมื่อยิงจากปืนพก

เมื่อเลือกปืนและกระสุนได้แล้วต่อไปก็ฝึกฝนจนสามารถใช้ปืนได้อย่างคล่องแคล้วเป็นธรรมชาติจนแทบไม่ต้องคิด สุดท้ายคุณควรจะต้องฝึกจนสามารถส่งกระสุนหนึ่งหรือสองนัดเข้าเป้าหมายได้อย่างแม่นยำในระยะสิบฟุต

จะดียิ่งขึ้นถ้าคุณสามารถยิงได้ด้วยมือเพียงข้างเดียว ยิงได้ในท่าต่างๆ ยิงได้ในทุกสภาพแสงและไม่ขึ้นกับสภาพอากาศ มันจะเป็นประโยชน์มากถ้าฝึกการยิงด้วยนิ้วอื่นๆนอกจากนิ้วชี้ และยิงภายใต้การกำด้ามปืนทั้งที่ดีและไม่ดี เพราะคุณต้องสามารถหยิบปืนและยิงได้ทันที

ระยะยิงสิบฟุตไม่ได้ไกลเลยแต่ก็มักยิงพลาดกันบ่อยๆแม้แต่เป็นนักยิงปืนแข่งขันที่ชำนาญก็ตาม เริ่มการฝึกด้วยการยิงในระยะที่ใกล้กว่านี้ก่อน เมื่อยิงได้คล่องแล้วจึงค่อยๆถ่อยห่างออกจากเป้า

สนามยิงปืนส่วนใหญ่เมื่อคุณทำการยิงระยะใกล้มากเช่นนี้โดยเฉพาะเมื่อคุณยืนอยู่ที่แนวยิงห่างจากเครื่องกั้นด้านหลังสนามยิงปืน (Backstop) แนวกระสุนอาจพุ่งพ้นแนวกั้นได้ การยิงระยะใกล้มากหรือระยะประชิดควรยิงด้วยมือเดียวโดยถือปืนใกล้กับลำตัว ไม่ต้องรีบร้อนที่จะยิงและต้องแน่ใจว่าไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายอยู่ขวางแนวปากกระบอกปืน ถ้าจะให้ดีก็ควรมีอีกคนอยู่ข้างๆคอยดูและแก้ไขข้อผิดพลาด

อีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยในการยิงปืนได้ก็คือการใช้ปืนอัดลม (Airsoft gun) สามารถฝึกบ่อยได้เท่าที่ต้องการเพื่อให้ใช้ปืนได้อย่างคล่องจนแทบไม่ต้องคิด แต่ก็ต้องฝึกในสถานที่ๆเหมาะสมด้วย เช่น ถ้าไปฝึกยิงในสถานที่สาธารณะคุณก็อาจถูกใครบางคนยิงด้วยปืนจริงได้ (เพราะปืนอัดลมสมัยนี้มีความเหมือนกับปืนจริงมากจึงอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้)

โดยสรุปคุณต้องฝึกยิงปืนได้อย่างคล่องจนแทบไม่ต้องคิดและควรต้องยิงได้ดีแม้ในระยะสิบฟุตโดยไม่ขึ้นกับท่าทางของคุณและยิงได้ไม่ว่าใช้มือข้างใดยิง แค่ทักษะเหล่านี้ก็ครอบคลุมเก้าสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ของภัยคุกคามในสถานการณ์จริงแล้ว

สำหรับการเลือกใช้ปืนกึ่งอัตโนมัติหรือปืนลูกโม่ ถ้าคิดว่าจะมีปืนกระบอกเดียวและใช้เพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สิน การใช้ปืนลูกโม่น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีเพราะใช้งานง่ายไม่ว่าจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง มีความปลอดภัยสูง มีเหตุติดขัดในขณะใช้งานน้อยหรือถ้ามีก็แก้ไขได้ง่าย จำนวนกระสุนห้าหรือหกนัดถือว่าเพียงพอสำหรับการใช้งาน

แต่ถ้าใครมีปืนกึ่งอัตโนมัติก็ไม่จำเป็นต้องขายทิ้งแล้วเปลี่ยนเป็นปืนลูกโม่ เพราะปืนกึ่งอัตโนมัติก็มีข้อดีหลายประการเพียงแต่ต้องเรียนรู้มากกว่าปืนลูกโม่ ทั้งในแง่การแก้ไขเหตุติดขัด เทคนิคการเปลี่ยนซองกระสุนเพื่อให้สามารถใช้ศักยภาพของปืนกึ่งอัตโนมัติได้สูงสุด (จุดเด่นที่สุดของปืนกึ่งอัตโนมัติคือ จำนวนกระสุนที่บรรจุได้มากกว่าปืนลูกโม่ ยิ่งสามารถเปลี่ยนซองกระสุนได้อย่างคล่องแคล้วโดยเฉพาะ Tactical reload แล้ว จะเป็นการใช้ศักยภาพในด้านนี้ได้อย่างเต็มที่)

ในการฝึกยิงปืนระบบต่อสู้จะเป็นการยิงระยะใกล้เป็นส่วนใหญ่มักไม่เกินสิบฟุต ใช้เป้าหุ่นคน เป้าแผ่นเหล็ก เป้าล้มลุก และใช้การยิงด้วยสัญชาติญาณเป็นหลัก มีทั้งการยืนยิงอยู่กับที่ การเคลื่อนที่ยิงหรือยิงเป้าที่เคลื่อนที่ และการยิงอีกหลายลักษณะ เพื่อเพิ่มทักษะและขีดความสามารถของผู้รับการฝึกเป็นลำดับไป

การฝึกยิงปืนระยะใกล้นั้นควรนำเป้าไปวางใกล้ Backstop เพื่อลดโอกาสที่กระสุนจะหลุดออกจากแนวกั้น แต่ผู้ฝึกก็ต้องลงไปยืนยิงในสนามซึ่งสนามยิงปืนส่วนใหญ่ไม่ยินยอมให้ทำเช่นนี้ การฝึกยิงระยะใกล้โดยนำเป้ามาวางห่างจาก Backstop มีโอกาสที่กระสุนจะหลุดออกจากแนวกั้นได้แม้จะมีแนวกั้นขวางสนามอยู่ด้านบนก็ตาม

TAS สอนยิงปืนในระยะใกล้โดยนำเป้าไปวางใกล้ Backstop เพื่อความปลอดภัยในการฝึก (เราขอใช้สนามยิงปืนโดยไม่อนุญาตให้บุคคลอื่นเข้ามาใช้ร่วมกันในวันฝึก) ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมกับ TAS มาแล้วสามารถมาทบทวนการยิงปืนได้ทุกครั้งที่มีการฝึกอบรมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เนื่องจากเราตระหนักว่าโอกาสที่จะฝึกยิงปืนระบบต่อสู้เช่นนี้โดยผู้รับการฝึกสามารถเข้าไปยิงปืนในสนามใกล้ Backstop เพื่อความปลอดภัยมีไม่มากนัก

สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”

เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Handgun Training Basics ของ Walt Rauch

Newcastle limousines