Monday, September 21, 2009

Shooting Hearing Protection




















Shooting Hearing Protection

การยิงปืนนั้นต้องมีอุปกรณ์ป้องกันอย่างน้อยสองอย่าง คือ แว่นตาสำหรับยิงปืนและเครื่องป้องกันเสียงดังสำหรับหู เพื่อความปลอดภัยและถนอมให้อวัยวะทั้งสองใช้งานต่อไปได้อย่างยาวนาน

นักยิงปืนนั้นถือว่าเป็นหนึ่งในคนที่ต้องเผชิญกับสิ่งแวดล้อมที่มีเสียงดังที่สุด ดังนั้นแม้จะเป็นการได้ยินเสียงปืนที่ดังเพียงครั้งเดียวก็อาจทำให้หูได้รับความเสียหายอย่างถาวรได้แล้ว การใช้อุปกรณ์ป้องกันเสียงดังจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง

Peak Sound Pressure Levels (SPLs)
- .45 Automatic 165 dB
- .357 Revolver 160 dB
- 12 Gauge shotgun 155 dB
- .38 Revolver 150 dB
- .22 Rifle 145 dB

Occupational Safety and Health Administration (OSHA) ถือว่าระดับเสียงซึ่งดังมากกว่า 90 dB เป็นอันตรายต่อสุขภาพ (เสียงพูดสนทนาตามปกติมีระดับเสียงดังประมาณ 60 dB)

วิธีง่ายที่สุดในการปกป้องหูจากเสียงดังขณะยิงปืน คือ การใช้นิ้วอุดหู แต่คงไม่สามารถใช้นิ้วอุดได้ตลอดเวลาโดยเฉพาะเมื่อเราต้องทำการยิงปืนไปด้วย อุปกรณ์ใดก็ตามที่สามารถป้องกันคลื่นเสียงไม่ให้มาถึงหูเราได้ก็ถือว่าใช้ได้ทั้งสิ้น

ที่ครอบหู (Earmuffs) ซึ่งมีค่า Noise Reduction Rating (NRR) อย่างน้อย 19 ถือว่าเพียงพอสำหรับใช้ปกป้องหูจากการยิงปืนทั่วไปได้

สำหรับผู้ที่ยิงปืนบ่อยๆหรือยิงปืนยาวด้วยกระสุนความเร็วสูง (High velocity rifle) ควรต้องใช้อุปกรณ์ที่สามารถป้องกันเสียงได้ดียิ่งขึ้น ทางเลือกที่ดีที่สุดก็คือ การใช้ทั้งที่ครอบหูและที่อุดหู (Earplugs) ร่วมกัน (Muffs and Plugs system) โดยคิดง่ายๆให้บวก 6 ไปกับค่า NRR ของที่ครอบหู ยกตัวอย่างเช่น ที่ครอบหูมีค่า NRR 30 เมื่อใช้ร่วมกับที่อุดหูซึ่งดีที่สุดก็จะได้ค่า NRR ประมาณ 30 + 6 หรือ 36 เป็นต้น

หากคุณเป็นนักยิงปืนในระบบต่อสู้ นักกีฬายิงปืนที่ต้องการฟังคำสั่งจากกรรมการ นายพรานล่าสัตว์ ทหารในสนามรบหรือสนามฝึก การใช้ที่ครอบหูอิเล็กโทรนิก (Tactical electronic earmuffs) น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะในกรณีที่เสียงเบา เช่น เสียงคนพูด ที่ครอบหูจะมีอุปกรณ์ขยายเสียงนั้นให้ผู้สวมใส่ได้ยินเสียงดังขึ้น (มีปุ่มปรับความดังของเสียงตามที่ต้องการ) แต่เมื่อมีเสียงดังมากๆเกิดขึ้น เช่น เสียงปืน ระบบอิเล็กโทรนิกจะตัดระบบขยายเสียงทันทีทำให้หูได้รับการปกป้องจากเสียงที่ดังเกินไป ทันทีที่ระดับเสียงลดลงมาสู่เกณฑ์ที่ปลอดภัยระบบขยายเสียงก็จะกลับมาทำงานอีกครั้ง อุปกรณ์ที่ดีเช่นนี้ก็ต้องแลกมาด้วยราคาที่แพงขึ้น

หากอุปกรณ์ราคาแพงเหล่านี้ไม่สามารถหามาใช้ได้ ที่อุดหู (Earplugs) ซึ่งอนุญาตให้เสียงเบาผ่านได้แต่ป้องกันเสียงดังเกินไปก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่อุดหูซึ่งป้องกันเสียงได้มากที่สุดในท้องตลาดขณะนี้มีค่า NRR 33 หากต้องการใช้อุปกรณ์ที่มีค่า NRR มากกว่านี้ก็ต้องใช้ร่วมกับที่ครอบหู

ไม่แนะนำให้ใช้ที่อุดหูซึ่งทำจากขี้ผึ้ง เพราะขี้ผึ้งเป็นฉนวนกันเสียงที่แย่มาก (แย่กว่าที่อุดหูซึ่งทำจากโฟมเสียอีก)

ค่า NRR นั้นได้จากการคำนวณในห้องปฏิบัติการ ซึ่งใช้ค่า C rated scale ในการคำนวณ แต่เสียงที่มีผลต่อการได้ยินของมนุษย์นั้นเป็นค่า A rated scale ดังนั้นหากต้องการคำนวณเป็นค่า NRR ซึ่งมีผลต่อการได้ยินของมนุษย์ก็ต้องลบด้วย 7 เช่น ที่ครอบหูมีค่า NRR 29 ในสิ่งแวดล้อมที่มีเสียงดัง 120 dB เสียงหลังจากใส่ที่ครอบหูจะดังประมาณ 120-(29-7) หรือเท่ากับ 98 dB ซึ่งก็ยังอยู่ในเกณฑ์อันตราย

จำไว้ว่าค่า NRR เป็นเพียงตัวเลขในห้องปฏิบัติการ ซึ่งในสภาพความเป็นจริงแล้วจะไม่มีทางลดเสียงได้มากเท่านั้น จึงควรใช้สามัญสำนึกช่วยหากใช้เครื่องป้องกันหูแล้วไม่ว่าแบบใดก็ตาม ยังรู้สึกว่าเสียงยังดังมากอยู่ก็ควรหาวิธีป้องกันเสียงให้มากขึ้นไปอีก พึงระลึกไว้ว่าเมื่อความสามารถในการได้ยินเสียงเสียไปแล้วจะไม่สามารถหายเองได้ ดังนั้นการป้องกันจึงดีกว่าการรักษาโดยเฉพาะเรื่องของหู

ทุกครั้งที่ยิงปืนจึงควรใส่แว่นสำหรับยิงปืนและเครื่องป้องกันหูจากเสียงดังให้เป็นนิสัย เพื่อปกป้องอวัยวะที่มีค่าของคุณ

TAS เล็งเห็นถึงความปลอดภัยของผู้รับการฝึกเป็นอันดับแรก เราจึงมีแว่นและเครื่องป้องกันหูให้กับผู้รับการฝึกทุกคนได้ใช้ขณะฝึกซ้อมยิงปืน

หมายเหตุ Combat Arms Military Earplugs ปัจจุบันใช้ในกองทัพกลุ่ม NATO และกองทัพสหรัฐ โดยด้านสีเหลืองจะอนุญาตให้เสียงเบาผ่านได้แต่ลดเสียงดังลง ขณะที่ด้านสีดำจะมีค่า NRR 22 ตายตัวเหมาะกับสภาพแวดล้อมที่มีเสียงดังตลอดเวลา

เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Hunting/Shooting Hearing Protection and Enhancement, Protection While Shooting Firearms และ Hearing Protection Option ในเว็บ http://earplugstore.stores.yahoo.net/

Monday, September 14, 2009







C.A.R. system

Center Axis Relock (C.A.R.) system เป็นรูปแบบการยิงปืนที่นาย Paul Castle เป็นผู้คิดขึ้นในปี 1995 เขาเป็นตำรวจอังกฤษซึ่งฝึกยิงปืนมาหลายหลักสูตรทั้งในอังกฤษ ยุโรปและอเมริกา เขายังเคยฝึกฝนศิลปะป้องกันตัวจากครูมวยจีนและฝรั่งเศส นาย Paul Castle ได้ประยุกต์ความรู้ของเขาจนนำไปสู่หนึ่งในรูปแบบการยิงปืนที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลกโดยเฉพาะหน่วยปฏิบัติการพิเศษทั้งทหารและตำรวจ เขาเคยเป็นครูฝึกยิงปืนให้กับหน่วยงานของรัฐหลายแห่งทั้งในอังกฤษ แคนนาดาและอเมริกา เช่น FBI เป็นต้น และเคยชนะการแข่งขันยิงปืนมาหลายรายการ ปัจจุบันเป็นหัวหน้าครูฝึกที่ Sabre Tactical Training Resource and Research

C.A.R. system เหมาะกับการยิงปืนในระยะใกล้ (Closed quarter battle, CQB) อีกทั้งลดโอกาสที่จะถูกแย่งปืน รูปแบบการยิงนี้ประกอบด้วย 4 ท่าหลักๆ โดยเริ่มจากการยืนซึ่งหันด้านข้างเข้าหาเป้าหมาย (ถ้าถนัดมือขวาให้เอียงตัวหันด้านซ้ายเข้าหาเป้าหมาย) เรียกว่า Bladed stance เพื่อให้ตัวเราเป็นเป้าที่เล็กลง อาจย่อตัวงอเข่าเล็กน้อยเพื่อเตรียมพร้อมที่จะเคลื่อนที่ต่อไปได้

- High position เป็นการถือปืนระดับอก โดยกางข้อศอกออกมือทั้งสองข้างกำด้ามปืนอยู่ระดับอก หันปากกระบอกปืนชี้เข้าหาเป้าหมาย หากจำเป็นต้องยิงก็สามารถทำการยิงได้เลยในท่านี้ และถ้ามีหลายเป้าหมายก็แค่หมุนสะโพกวาดปืนไปในทิศทางที่ต้องการยิง นอกจากนั้นหากภัยคุกคามเข้ามาพยายามจะแย่งปืนก็สามารถใช้ข้อศอกหรือหัวไหล่กระแทกป้องกัน หรือกระแทกปืนออกไปตรงๆเพื่อหยุดภัยคุกคามเบื่องหน้าได้

- Combat high position เป็นท่าเตรียมพร้อมและใช้ตรวจการณ์ โดยยกปืนขึ้นมาใกล้ใบหน้าแต่ปากกระบอกปืนลดต่ำชี้ลงล่าง งอข้อศอกทั้งสองข้างโดยข้างหนึ่งจะอยู่ใต้ปืนซึ่งจะทำให้รับแรงสะบัดของปืนขณะยิงได้ดีขึ้นจึงยิงต่อเนื่องได้เร็ว

- Extended position เป็นท่ายิงระดับสายตา โดยกระดกปากกระบอกปืนขึ้นมา เล็งผ่านศูนย์ปืนด้วยตาซ้าย (ตาข้างตรงข้ามกับมือหลักที่ถือปืน) โดยเน้นที่ศูนย์หลังไม่ใช่ศูนย์หน้า ปืนอาจเอียงได้เล็กน้อยเพื่อให้สามารถถือปืนได้กระชับมากขึ้นและเป็นธรรมชาติ ข้อศอกยังงออยู่ และปืนอยู่ใกล้ใบหน้า เนื่องจากระยะทางที่ปากกระบอกปืนต้องเดินทางจากท่า Combat high มายังท่า Extended สั้นมากดังนั้นจึงสามารถเริ่มทำการยิงได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนั้นหากเป้าหมายใหม่ปรากฏขึ้นมาในทิศ 180 องศาจากเดิม ก็ไม่ต้องเปลี่ยนท่ายืนเพียงแค่เปลี่ยนมือหลักที่จับปืนก็สามารถทำการยิงเป้าหมายได้แล้ว

- Apogee แปลตามตัวว่า จุดสูงสุด เป็นท่าที่ยืดแขนทั้งสองข้างออกไปเล็กน้อย มีความแม่นยำมากขึ้น มีประโยชน์มากเมื่อต้องยิงเป้าหมายในระยะที่ไกลออกไป และอาจเล็งปืนด้วยตาข้างถนัดได้ มีลักษณะคล้ายท่า Weaver

รูปแบบการยิงนี้อาศัยการกำด้ามปืนที่เป็นธรรมชาติเพื่อให้คุมปืนได้ง่ายขึ้น ดังนั้นบางท่าปืนจึงเอียงเล็กน้อย การเล็งปืนด้วยตาข้างไม่ถนัดเพื่อให้มีมุมมองที่กว้างขึ้นอาจต้องฝึกบ้างแต่ก็ไม่ยากเย็นนัก นอกจากนั้นสามารถยิงด้วยสัญชาติญาณโดยไม่มองผ่านศูนย์ปืนเลยก็ได้ขึ้นกับสถานการณ์ สามารถทำการยิงได้ทั้งมือขวาและซ้ายโดยไม่ต้องเปลี่ยนท่ายืน การที่ถือปืนอยู่ใกล้ตาและแนวกลางตัวทำให้สามารถใช้กล้ามเนื้อแขนช่วยในการควบคุมปืนได้ดีขึ้นแต่ก็บดบังมุมมองไปบางส่วน จึงควรลดปืนลงเล็กน้อยเมื่อต้องการตรวจการณ์

นาย Paul Castle กล่าวว่า จากสถิติในอเมริกาอัตราการยิงถูกเป้าหมายในสถานการณ์จริงโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้นอยู่ระหว่าง 18 ถึง 22 เปอร์เซ็นต์ซึ่งต่ำมาก โดย 54 เปอร์เซ็นต์เกิดขึ้นภายในระยะห่าง 5 หลา และ 93 เปอร์เซ็นต์ภายในระยะห่าง 10 หลา เมื่อใช้รูปแบบการยิงนี้จะทำให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นมาก

เขาเน้นว่าในสถานการณ์จริง เราต้องเคลื่อนที่ออกห่างจากแนวปืนของฝ่ายศัตรูให้เร็วที่สุดและก็ทำการยิงตอบโต้ในขณะเคลื่อนที่ด้วย อีกทั้งควรทำการยิงหลายนัดในแต่ละเป้าหมาย และรีบหลบเข้าหาที่กำบังที่ปลอดภัยโดยเร็วที่สุด การยิงของระบบนี้จะเป็นการยิงป้องกันตัวเชิงรุก (Aggressive defense)

C.A.R. system นี้จะมีประโยชน์มากหากนำมาใช้ในสถานการณ์ที่เหมาะสม เช่น ในบริเวณพื้นที่คับแคบ ทางเดินคับแคบ บันได รถยนต์ส่วนตัว รถยนตร์โดยสาร บนเครื่องบิน เป็นต้น

การยิงหลายนัดหลายเป้าหมายนั้นเราต้องให้ความสำคัญกับความแม่นยำมากกว่าความเร็ว กระสุนที่พลาดเป้าอาจไปถูกบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง การฝึกฝนบ่อยๆจะทำให้เรารู้ความสมดุลระหว่างความแม่นยำกับความเร็ว (Precision and speed) ของตัวเราเอง

TAS นำบางส่วนของรูปแบบนี้มาประกอบกับท่ายิงอื่นๆ ซึ่งผู้รับการฝึกสามารถนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับตนเองและสถานการณ์ได้

สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”

เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Center Axis Relock, A Closer Look ของ Chris Adams, บทความเรื่อง Isosceles/Weaver V C.A.R. system ของ Paul Castle, etc.

Tuesday, September 8, 2009

Shotgun Malfunctions







Shotgun Malfunctions

เป็นที่ยอมรับกันว่าอำนาจหยุดยั้งของปืนลูกซองนั้นเหนือชั้นกว่าปืนสั้นมาก มีโอกาสยิงถูกเป้าหมายได้ง่ายกว่าเนื่องจากมีเม็ดลูกปรายกระจายออกไปเป็นบริเวณกว้าง แต่อานุภาพของปืนลูกซองก็ยังต้องพึ่งความสามารถและทักษะของผู้ยิงด้วยเช่นกัน รวมทั้งการเลือกกระสุนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ระยะยิงที่เหมาะสม (กระสุนลูกซองที่ต่างกันมีระยะยิงหวังผลต่างกัน) ปืนลูกซองยังมีคุณสมบัติคล้ายปืนยาวไรเฟิ่ล (Rifle) เมื่อยิงด้วยกระสุนลูกโดด (ปืนลูกซองที่ใช้ในทาง Tactical ที่ลำกล้องยาวตั้งแต่ 20 นิ้วขึ้นไปจึงมักติดศูนย์ไรเฟิ่ลมาด้วย)

เนื่องจากปืนลูกซองมีขนาดใหญ่และน้ำหนักมากกว่าปืนสั้นมากทำให้ความคล่องตัวน้อยกว่า พกซ้อนลำบาก จึงไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถยิงปืนลูกซองได้ดี อีกทั้งปืนลูกซองส่วนใหญ่สามารถบรรจุกระสุนได้ไม่มากนักเมื่อเทียบกับปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติทั่วไป นอกจากนั้นแรงถีบของการยิงปืนลูกซองนั้นหนักหน่วงกว่าปืนสั้นมาก ผู้ยิงจึงควรฝึกฝนการจับปืนและท่ายิงที่ถูกต้อง แต่กระนั้นปืนลูกซองก็ยังถือว่าเป็นอาวุธอีกชนิดหนึ่งที่เหมาะแก่การใช้งานเพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สินโดยเฉพาะที่บ้าน

ปืนลูกซองระบบ Pump action (เวลายิงเสร็จต้องสาวกระโจมมือถอยหลังและเดินหน้าเพื่อคัดปลอกกระสุนออกและบรรจุกระสุนใหม่เข้ารังเพลิงเองทุกนัด) มีการทำงานที่ไม่ซับซ้อนคล้ายกับปืนลูกโม่ ดังนั้นเหตุติดขัดจึงไม่มาก อีกทั้งสามารถใช้กระสุนที่มีแรงขับต่ำได้ ผิดกับปืนลูกซองกึ่งอัตโนมัติ (เวลายิงเสร็จจะใช้แรงดันของแก็สในการบริหารกลไกเพื่อคัดปลอกกระสุนออกและบรรจุกระสุนใหม่เข้ารังเพลิง จึงไม่ต้องสาวกระโจมมือ) มีการทำงานซับซ้อนหากใช้กระสุนแรงต่ำหรือถือปืนผิดท่ามีโอกาสทำให้การทำงานของปืนติดขัดได้

นาย Clint Smith ได้ให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขเหตุติดขัดของปืนลูกซองไว้อย่างน่าสนใจ ในปืนลูกซองระบบ Pump action ผู้ยิงต้องสาวกระโจมมือโดยดึงเข้าและดันออกจนสุดเพื่อบริหารกลไกของปืนให้ครบรอบการทำงาน (คัดปลอกกระสุนและบรรจุกระสุนใหม่เข้ารังเพลิง) ปัญหาหนึ่งที่พบคือ การบริหารกลไกไม่ครบรอบการทำงานจากการสาวกระโจมมือไม่สุด ในการยิงหลายเป้าหมายการบริหารกลไกปืนจึงขึ้นกับผู้ยิงเป็นสำคัญ ดังนั้นปืนจึงสามารถใช้ได้ในหลายสถานการณ์และรองรับการใช้งานอย่างหนักหน่วงได้

สำหรับปืนลูกซองกึ่งอัตโนมัติแม้จะสามารถทำการยิงหลายเป้าหมายได้เร็วกว่าและนุ่มนวลกว่า แต่นาย Clint Smith ก็ไม่แน่ใจว่าเพียงแค่เหตุผลเท่านี้เพียงพอสำหรับคุณสมบัติของปืนลูกซองที่จะใช้เพื่อการยิงต่อสู้ เพราะเขาพบว่าปืนบางครั้งมีเหตุติดขัดได้จากการยิงในบางท่าโดยเฉพาะท่านอน ดังนั้นหากใครที่จะเลือกใช้ปืนลูกซองกึ่งอัตโนมัติเพื่อใช้งาน ควรทดลองยิงในหลายท่าโดยเฉพาะท่าที่คิดว่าอาจทำให้ปืนมีปัญหา และควรเลือกกระสุนให้เหมาะสมด้วย

การเหนี่ยวไกปืนแล้วกระสุนไม่ลั่นออกไป (อาจเกิดจากยังไม่มีกระสุนในรังเพลิงหรือกระสุนด้าน) สำหรับปืนลูกซอง Pump action ก็แค่สาวกระโจมมือหนึ่งรอบการทำงาน (ดึงเข้าหาตัวจนสุดและดันออกจนสุด) และทำการยิงใหม่ แต่ถ้ายังไม่ลั่นอีกอาจเป็นเพราะยังไม่ได้ใส่กระสุนเลย ก็ให้สาวกระโจมมือเข้ามาเพื่อเปิดลูกเลื่อนค้างไว้ ใช้มือข้างไม่ถนัดหยิบกระสุนใส่ในรังเพลิงแล้วปิดลูกเลื่อนโดยสาวกระโจมมือดันออกจนสุด ทำการบรรจุกระสุนใส่ในหลอดกระสุนสำรองของปืนลูกซองมากเท่าที่ต้องการและทำการยิงต่อได้

สำหรับปืนลูกซองกึ่งอัตโนมัติก็เช่นกันให้ทำการดึงคันรั้งลูกเลื่อนมาด้านหลังจนสุดแล้วปล่อย ส่วนมากแล้วหากปืนไม่มีกระสุนลูกเลื่อนจะค้างอยู่ไม่ปิดกลับ เราก็ต้องใส่กระสุนในรังเพลิงและหลอดกระสุนสำรองมากเท่าที่เราต้องการ แล้วทำการปิดลูกเลื่อนและทำการยิงได้

หากยิงไปแล้วปืนไม่สามารถคัดปลอกกระสุนออกได้สมบูรณ์ ทำให้ปลอกกระสุนยังติดอยู่ที่ช่องคายปลอก ลักษณะนี้เรียกว่า Stovepipe ที่ใช้ชื่อนี้เพราะมีลักษณะคล้ายปล่องควัน ส่วนใหญ่เกิดจากการสาวกระโจมมือได้ไม่สุดหรือกระสุนอ่อนอานุภาพแรงขับไม่พอ (ในกรณีของปืนลูกซองกึ่งอัตโนมัติ) แก้ไขโดยเอื้อมมือข้างไม่ถนัดลอดใต้โครงปืนมาปัดปลอกออกทิศทางมาด้านท้ายปืน สำหรับปืนลูกซอง Pump action ก็ต้องสาวกระโจมมือไปข้างหน้าจนสุดแล้วค่อยยิง ส่วนปืนลูกซองกึ่งอัตโนมัติส่วนใหญ่ลูกเลื่อนจะเดินหน้าปิดเอง

ในกรณีที่มีกระสุนสองนัดอยู่ในรังเพลิง เรียกว่า Double feed มีสองลักษณะๆแรกกระสุนซ้อนกันคล้ายตัวอักษร วี (V) โดยลูกเลื่อนจะเปิดค้างไว้ ในกรณีของปืนลูกซอง Pump action ให้สาวกระโจมมือถอยหลังมาให้สุดเพื่อลดความกดดันที่กระทำต่อกระสุน แล้วคว่ำปืนเอาช่องคัดปลอกกระสุนลงมาที่ทิศ 6 นาฬิกา ใช้นิ้วหยิบกระสุนในรังเพลิงออกทั้งสองนัด แล้วใส่กลับเข้าไปในรังเพลิงหนึ่งนัด สาวกระโจมมือไปข้างหน้าจนสุดส่วนกระสุนอีกนัดให้ใส่กลับเข้าไปที่หลอดกระสุนสำรอง แต่ถ้ากระสุนนั้นได้ยิงไปแล้วก็ให้ทิ้งปลอกไปได้

แต่สำหรับปืนลูกซองกึ่งอัตโนมัติเนื่องจาก Recoil spring จะทำให้ลูกเลื่อนพยายามเคลื่อนไปข้างหน้าอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นคงต้องฝึกเล็กน้อยในการเปิดหน้าลูกเลื่อนด้วยก้านรั้งลูกเลื่อนแล้วเทกระสุนออกมา พร้อมกับใส่กระสุนที่ยังไม่ได้ยิงกลับเข้าไปหนึ่งนัด แล้วปล่อยให้ลูกเลื่อนเคลื่อนไปข้างหน้าพร้อมที่จะยิง

ลักษณะที่สองคือ กระสุนที่ใส่ไว้ในหลอดกระสุนสำรองไม่ถูกต้อง โดยกระสุนนัดสุดท้ายที่ใส่ในหลอดกระสุนไม่ได้ถูกดันเข้าไปลึกพอที่ขอยึดกระสุนในหลอดกระสุนจะยึดไว้ได้ ดังนั้นกระสุนจึงถูกสปริงในหลอดกระสุนดันให้ไหลออกมาเตรียมที่จะเข้ารังเพลิง (ขณะที่ในรังเพลิงมีกระสุนอยู่ก่อนแล้ว) เมื่อหงายปืนมองดูจะพบว่ามีกระสุนค้างอยู่หน้าหลอดกระสุนสำรอง แก้ไขโดยพยายามสาวกระโจมมือเพื่อเอากระสุนออกจากรังเพลิงให้หมดทั้งสองนัดแล้วใส่กระสุนกลับให้ถูกต้อง

การแก้ไขเหตุติดขัดของปืนควรต้องหมั่นฝึกซ้อมด้วยกระสุนปลอม (Dummies) เพื่อความปลอดภัยและให้เกิดทักษะความชำนาญ โดยรวมแล้วปืนลูกซองระบบ Pump action เหมาะที่จะนำมาใช้ในการปกป้องชีวิตและทรัพย์สิน เนื่องจากความน่าเชื่อถือของระบบการทำงานทำให้มีโอกาสเกิดเหตุติดขัดยากกว่าปืนลูกซองกึ่งอัตโนมัติ

ไม่ว่าจะเป็นปืนสั้นหรือปืนลูกซองก็ต้องการการฝึกฝนเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้อาวุธและทักษะความชำนาญ เรียนรู้เหตุติดขัดและวิธีแก้ไข รู้ข้อดี ข้อด้อย และข้อจำกัดของอาวุธที่เราใช้ เพื่อที่จะนำอาวุธปืนมาใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

TAS สอนเหตุติดขัดของปืนสั้นรวมทั้งวิธีแก้ไขใน TAS 2 โดยผู้รับการฝึกควรหมั่นฝึกซ้อมเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดทักษะ ส่วนปืนลูกซองนั้นจะเปิดสอนในหลักสูตรต่อๆไป

สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”

เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Shotgun Malfunctions ของ Clint Smith

Newcastle limousines