Friday, February 26, 2010

Empty load

Empty load



เมื่อทำการยิงจนกระสุนหมดเราต้องเปลี่ยนซองกระสุนใหม่ เรียกกระบวนการนี้ว่า Empty load หรือ Emergency reload หรือ Speed load


นาย Clint Smith แนะนำว่าในการยิงต่อสู้จริงนั้นเมื่อต้องเปลี่ยนซองกระสุน เขาจะให้ปืนอยู่ระดับสายตาชี้ไปที่เป้าหมาย มองไปที่ภัยคุกคามเบื้องหน้า ส่วนมืออีกข้างก็ไปหยิบซองกระสุนใหม่ (เราต้องรู้ว่าซองกระสุนสำรองอยู่ที่ไหน) โดยไม่ต้องละสายตาออกจากเป้าหมาย แล้วทำการเปลี่ยนซองกระสุนอย่างรวดเร็ว


ในการแข่งขันยิงปืนอาจละสายตาไปมองหาซองกระสุนใหม่ได้ เพราะเป้าหมายเป็นแค่กระดาษไม่เคลื่อนที่หนีเรา ไม่ยิงตอบโต้มา แต่ในการต่อสู้จริงเราต้องเตรียมพร้อมเสมอ ต้องรู้ว่าซองกระสุนสำรองอยู่ที่ไหน และไม่ควรละสายตาออกจากภัยคุกคามเป็นอันขาด


การจับซองกระสุนที่ถูกต้องควรให้ปลายนิ้วชี้สัมผัสกับหัวกระสุนนัดบนสุดในซองกระสุน เพื่อให้รู้ว่าด้านใดเป็นด้านหัวกระสุน เมื่อทำการปลดซองกระสุนเก่าออกก็ให้ใส่ซองกระสุนใหม่แทน โดยให้ด้านหัวกระสุนชี้ออกไปทางลำกล้องปืนแล้วกระแทกท้ายซองกระสุนจนสนิท กระชากสไลด์ถอยหลังหรือปลดคันค้างสไลด์เพื่อป้อนกระสุนนัดใหม่เข้ารังเพลิงพร้อมที่จะทำการยิงต่อได้ (ปืนที่ยิงจนกระสุนหมดส่วนใหญ่สไลด์จะถอยหลังจนสุดและค้างอยู่ในตำแหน่งนี้ เป็นสิ่งที่บอกเราว่ากระสุนหมดแล้ว)


สำหรับปืนลูกโม่การบรรจุกระสุนใหม่อาจทำได้ช้ากว่าปืนกึ่งอัตโนมัติยกเว้นปืนซึ่งใช้ Full moon clip ในการบรรจุกระสุน (ต้องเป็นปืนที่ออกแบบมาให้ใช้ Full moon clip) หรือใช้ Speed loader หรือ Jet loader ก็จะใช้เวลาน้อยลง แต่ก็ควรฝึกการบรรจุด้วยมือเปล่าให้ชำนาญ เผื่อในบางกรณีเราไม่สามารถใช้อุปกรณ์ช่วยบรรจุเหล่านี้ได้ ไม่ว่าจะบรรจุกระสุนด้วยมือเปล่าหรือใช้อุปกรณ์ช่วยบรรจุก็ต้องฝึกฝนบ่อยๆให้เกิดทักษะ ไม่เช่นนั้นเมื่อจะใช้งานจริงถึงแม้จะใช้อุปกรณ์ช่วยบรรจุก็อาจทำได้ไม่เร็วอย่างที่คิดก็ได้


นอกจากนั้นเมื่อปืนเกิดปัญหาขึ้นไม่ว่ากระสุนด้าน ปืนติดขัด หรือ กระสุนหมด เราควรหลบเข้าหาที่กำบังทันทีแล้วค่อยทำการแก้ไขเหตุติดขัดของปืน อาจนั่งคุกเข่าทำการแก้ไขเพื่อลดตัวเราให้เป็นเป้าที่เล็กลง


การฝึกฝนเพื่อให้เกิดความชำนาญนั้นอาจใช้กระสุนปลอมหรือ Dummy bullets เพื่อความปลอดภัย ถึงกระนั้นก็ขอให้ปฏิบัติเหมือนเป็นกระสุนจริงทุกประการเพื่อความเคยชิน โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยในการถือและใช้อาวุธปืน (นิ้วออกนอกโกรงไก, ชี้ปืนไปในทิศทางที่ปลอดภัย เป็นต้น)


TAS สอนการเปลี่ยนซองกระสุนโดยให้ทำหลังที่กำบังและ/หรือปืนยังชี้ไปยังเป้าหมายในระดับสายตา โดยไม่ละสายตาไปจากเป้าหมาย


สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”


เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง 50 Rounds, a minimalist approach to practice ของ Clint Smith

Friday, February 19, 2010

1 st Year Anniversary

1 st Year Anniversary



ครบรอบ 1 ปีของการให้ความรู้แก่ประชาชนในการใช้อาวุธปืนเพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สิน หวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่มีและใช้อาวุธปืนโดยสุจริตทุกท่าน


หลายคนอาจคิดว่า “ปืน” เป็นอาวุธซึ่งมักใช้ในการก่ออาชญากรรมร้ายแรง จึงมีความคิดต่อต้านการมีและใช้อาวุธปืนในภาคประชาชน อยากให้ข้อมูลอย่างหนึ่งที่สำคัญ


ปืนเป็นเพียงอุปกรณ์อย่างหนึ่งซึ่งคนนำมาใช้งาน โดยตัวปืนของมันเองไม่สามารถทำร้ายใครได้หากไม่มีใครไปหยิบมันแล้วเอานิ้วเหนี่ยวไกปืน ดังนั้นปืนจึงเป็นเพียงเครื่องมือในการแสดงเจตนาของผู้ที่ถือมันเท่านั้น ถ้าคนที่จับปืนและใช้มันด้วย “สติ” ด้วย “เหตุและผลที่เหมาะสม” มันก็จะเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์และมีประสิทธิภาพอย่างมาก แต่หากใช้มันด้วย “อารมณ์” หรือเพียงเพื่อ “ตอบสนองความต้องการที่ผิดๆ ใช้มันไปในทางที่ไม่เหมาะสม” ก็อาจเป็นภัยมหันต์ได้เช่นกัน


การที่ประชาชนมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองมากอาจไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีความรุนแรงหรืออาชญากรรมที่เกี่ยวกับอาวุธปืนมากตามไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น ในอเมริกานั้นการมีอาวุธปืนถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน (สิทธิในการปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของตนเอง) ซึ่งธุรกิจเกี่ยวกับอาวุธปืนเป็นธุรกิจใหญ่คอยค้ำจุนนักการเมืองสหรัฐมาตลอด อาจเรียกได้ว่าประเทศสหรัฐอเมริกานั้นใช้อาวุธปืนในการสร้างชาติมาตั้งแต่ในอดีตแล้ว รัฐเท็กซัสของอเมริกานอกจากประชาชนจะสามารถมีอาวุธปืนได้ง่ายดายแล้ว เขายังสามารถพกพาได้ด้วย (มีกฎระเบียบน้อย) แต่กลับเป็นรัฐซึ่งมีอัตราการก่ออาชญากรรมที่ใช้อาวุธปืนอยู่ในระดับต่ำมากๆของประเทศ


หากเราคิดว่าถ้าอาชญากรรมส่วนใหญ่ใช้อาวุธอะไรก็ให้ประชาชนห้ามมีอาวุธนั้นเสียก็หมดเรื่อง ในการก่ออาชญากรรมนั้นคนร้ายจะเลือกสิ่งที่ตอบสนองความต้องการของเขาได้ เช่น ถ้าไม่ใช้ปืน ก็ไปใช้มีด ไม่ใช้มีดก็ไปใช้ไม้ ไปใช้เชือก ฯลฯ ถ้าเราไล่ตามห้ามประชาชนมี ปืน มีด เชือก ไม้ ไว้ในครอบครองไปเรื่อยๆอย่างขาดสติ ก็ไม่ใช่การแก้ปัญหาอยู่ดีเพราะคนร้ายจะหาสิ่งอื่นมาทดแทนจนได้


นอกจากนั้นคนร้ายซึ่งตั้งใจจะทำผิดกฎหมายอยู่แล้ว คนกลุ่มนี้จึงไม่สนว่ากฎหมายจะห้ามอะไรบ้าง กฎหมายมีผลกับสุจริตชนเท่านั้น ดังนั้นการห้ามประชาชนมีอาวุธปืนหรือมีได้อย่างยากเย็นนั้นจึงเป็นการบังคับกับสุจริตชนไม่ใช่กับคนร้าย เป็นการตัดรอนความสามารถในการป้องกันตัวของสุจริตชนลง แต่ไม่มีผลกับคนร้ายแม้แต่น้อย (คนร้ายมักใช้ปืนเถื่อนมากกว่าปืนที่ถูกกฎหมายในการก่อคดีเพื่อให้ตามสืบไม่ได้)


ดังนั้นการลดความรุนแรงจากการใช้อาวุธปืนนั้น ควรอยู่ที่มาตรการภาครัฐในการลดหรือกำจัดปืนเถื่อนออกไปจากสังคม ปลูกฝั่งจิตสำนึกที่ดีให้กับประชาชน การขอมีอาวุธปืนนั้นควรบังคับให้ประชาชนต้องผ่านการฝึกอบรมการใช้อาวุธปืนด้วย เพื่อเรียนรู้การใช้อาวุธปืนอย่างถูกต้องปลอดภัย ไม่ใช่เพียงแค่เป็นสมาชิกสนามยิงปืนเท่านั้น


ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นมีสองด้านเสมอ ทั้งด้านดีและไม่ดีขอเพียงเราสามารถควบคุมให้ด้านดีมีมากกว่าด้านไม่ดีหรือควบคุมด้านไม่ดีให้อยู่ในขอบเขตจำกัดที่ยอมรับได้ก็น่าจะพอใจแล้ว การชั่งน้ำหนักระหว่างข้อดี-ข้อเสียของการมีและใช้อาวุธปืนในภาคประชาชนนั้นเป็นที่ถกเถียงกันมายาวนานทั่วโลก ภาครัฐควรมองอาวุธปืนในสถานการณ์ความเป็นจริงด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่ใช่คิดขึ้นมาเองแล้วไปออกกฎระเบียบซึ่งไปริบรอนสิทธิของสุจริตชนในการมีและใช้อาวุธปืนเพื่อปกป้องตนเองและสมาชิกในครอบครัว


นอกจากนั้นควรมีการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอาวุธปืนให้ทันสมัยมีเหตุมีผลเหมาะสม เปิดใจเรียนรู้ว่าทำไมสังคมอื่นซึ่งประชาชนมีปืนได้อย่างเสรีกลับมีอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับอาวุธปืนน้อย หาข้อดีของเขาแล้วนำมาปรับใช้ หาเหตุผลว่าทำไมสังคมซึ่งห้ามประชาชนมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองก็ไม่ได้มีความรุนแรงลดน้อยลงแม้แต่น้อย ให้โอกาสภาคเอกชนได้มีส่วนพัฒนาสนามยิงปืนให้มีคุณภาพทัดเทียมนานาชาติ (ปัจจุบันสนามยิงปืนยังต้องผูกติดกับภาครัฐ ทำให้ขาดความคล้องตัวและการพัฒนา)


สำหรับภาคประชาชนผู้ที่มีอาวุธปืน ก็มีหน้าที่สำคัญจะต้องเรียนรู้การใช้อาวุธปืนของตนเองอย่างถูกต้องปลอดภัยภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย การเข้ารับการฝึกอบรมยิงปืนจึงถือเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีอาวุธปืน และควรฝึกฝนการยิงปืนเป็นระยะๆเพื่อให้ทักษะการยิงปืนยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ตลอดเวลา


โดยส่วนตัวแล้วแม้แต่คนซึ่งไม่คิดจะมีอาวุธปืนก็ควรเรียนรู้การใช้อาวุธปืนไว้บ้าง หากตนเองตกอยู่ในอันตรายแล้วมีปืนอยู่ในมือ (ปืนของคนอื่น) เราก็ควรใช้อาวุธปืนนั้นได้อย่างถูกต้องเหมาะสมเพื่อปกป้องตนเองและคนในครอบครัว


ผมและทาง TAS มักพูดให้ผู้รับการฝึกอบรมยิงปืนฟังเสมอว่า การใช้อาวุธปืนขอให้เป็นทางเลือกสุดท้ายในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคมเพราะมันมีผลตามมาอีกมาก ทุกครั้งที่จับปืนเพื่อที่จะนำมาใช้ขอให้หยุดคิดถึงเหตุผลที่จะใช้อาวุธปืนก่อนว่าเหตุผลนั้นเหมาะสมหรือไม่ มีวิธีอื่นที่สามารถแก้ไขได้ด้วยการไม่ใช้อาวุธปืนหรือไม่ ถ้ามีก็ให้เลือกวิธีนั้นก่อน เมื่อใช้อาวุธปืนไปแล้วจะมีบุคคลอื่นมาตัดสินการกระทำของเราว่าเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งเขาอาจไม่เห็นด้วยกับเราก็ได้ และเราต้องรับผิดชอบต่อการกระทำทุกอย่างซึ่งอาจส่งผลต่อทั้งตัวเราเองและครอบครัวไปอีกนาน แต่หากมีเหตุจำเป็นต้องใช้จริงๆก็ต้องใช้ด้วยชั้นเชิงที่เหนือกว่าใครๆ เพื่อเพิ่มโอกาสรอดให้กับตัวเอง


สุดท้ายนี้หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้อ่านทุกท่านจะใช้อาวุธปืนด้วย "สติ" เพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สินภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย


เรียบเรียงโดย Batman

Saturday, February 13, 2010

Stair step barricades

Stair step barricades



การฝึกอบรม (Training) เป็นการรวบรวมทรัพยากรทั้งหมดที่มีของศูนย์ฝึกอบรม เพื่อนำมาปรับใช้กับผู้รับการฝึกให้ได้รับทักษะต่างๆตามที่ครูฝึกตั้งใจไว้ ซึ่งทักษะในภาคปฏิบัตินั้นควรมีความยืดหยุ่นอย่างมากเพื่อลองรับสถานการณ์ที่หลากหลาย เนื่องจากสถานการณ์จริงมักอยู่นอกเหนือความคาดหมายเสมอ


ความสามารถใช้สิ่งที่ครูฝึกมีเพื่อสอนผู้รับการฝึกอบรมให้ได้ทักษะตามที่ต้องการนั้นถือเป็นพรสวรรค์อย่างหนึ่งทีเดียว นาย Clint Smith เคยเห็นสนามสอนยิงปืนราคาแพงๆหลายแห่งใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีไม่คุ้มค่า บางแห่งมีขีดความสามารถมากแต่กลับสอนแต่เรื่องพื้นๆ


มีอุปกรณ์อยู่อย่างหนึ่งซึ่งเขาใช้มากว่า 30 ปีและมันมีราคาไม่แพง นั้นก็คือ ที่กำบังลักษณะขั้นบันได (Stair step barricades) มันทำจากวัสดุง่ายๆ ถอดประกอบและเคลื่อนย้ายได้ง่าย มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของอุปกรณ์ประจำสนามสอนยิงปืนของเขามาตลอด


แต่ละที่กำบังจะประกอบด้วยขั้นบันไดซึ่งผู้รับการฝึกจะต้องใช้ท่ายิงพื้นฐาน 5 ท่า (ยืน 2 ท่า, นั่ง 2 ท่า, นอน 1 ท่า) อาจให้ผู้รับการฝึกยิงระดับละ 2 นัดและครูฝึกประเมินผลรวมทั้งให้คำแนะนำ นอกจากนั้นที่กำบังยังอาจกลับข้างได้เพื่อฝึกการยิงในด้านที่ไม่ถนัด


ที่กำบังนี้จะช่วยฝึกการเคลื่อนที่ การถือปืนและท่าทางการยิง หากนำที่กำบังนี้มาวางใกล้รถก็จะรู้ว่าที่กำบังนี้มีขนาดและความสูงใกล้เคียงกับส่วนของรถที่เราใช้ในการกำบังขณะทำการยิง


คุณไม่จำเป็นจะต้องรีบวิ่งเข้าหากำแพงหรือที่กำบัง ตราบเท่าที่ยังมีสิ่งกำบังหรือสิ่งที่ซ้อนตัวคุณกั้นระหว่างตัวคุณกับภัยคุกคามได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่จงจำไว้ว่ากำแพงและรถอาจไม่สามารถหยุดกระสุนปืนไรเฟิ่ลได้


พึงระลึกไว้ว่าการที่เราเล็งปืนผ่านศูนย์เล็งได้ไม่มีสิ่งกีดขวาง ไม่ได้หมายความว่าแนวปากกระบอกปืนไม่มีสิ่งกีดขวางด้วย เนื่องจากแนวศูนย์เล็งกับแนวปากกระบอกปืนเป็นคนละแนวกัน ดังนั้นการยิงปืนหลังที่กำบังจึงต้องแน่ใจว่าแนวปากกระบอกปืนต้องไม่มีสิ่งกีดขวางโดยเฉพาะที่กำบังของเราเอง เพราะหากเป็นกำแพงจริงแล้วเรายิงเข้ากำแพงกระสุนอาจสะท้อนมาถูกตัวเราเองหรือคนอื่นเกิดอันตรายจนถึงเสียชีวิตได้


TAS เล็งเห็นถึงประโยชน์จากการใช้ที่กำบังแบบขั้นบันไดในการฝึกอบรม โดยผู้รับการฝึกตั้งแต่ TAS force 2 จะได้มีโอกาสฝึกยิงหลังที่กำบังด้วยอุปกรณ์ดังกล่าว อีกทั้งมีเป้าซ้อมยิงหลายรูปแบบเพื่อเสริมสร้างทักษะในการใช้อาวุธปืนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด


สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”


เรียบเรียงโดย Batman


อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Step-up ของ Clint Smith

Monday, February 1, 2010

Kneeling Position

Kneeling Position



การยิงปืนหลังที่กำบังนั้นในหลายกรณีเราจำเป็นต้องยิงในท่านั่งคุกเข่า (Kneeling position) ซึ่งมีหลายรูปแบบ แต่ละแบบมีข้อดีและข้อจำกัดจึงควรเรียนรู้เอาไว้เพื่อสามารถเลือกใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์


1. Supported kneeling position or Braced kneeling position (บางครั้งเรียกว่า นั่งคุกเข่าต่ำ) นั่งคุกเข่า ชันเข่าซ้ายขึ้นรับกับข้อศอกซ้ายที่วางลง ก้นวางบนส้นเท้าขวา การถือปืนมีความมั่นคง นิ่งกว่าท่าอื่น ยิงได้แม่นยำ


2. Unsupported kneeling position or Speed kneeling position (บางครั้งเรียกว่า นั่งคุกเข่าสูง) นั่งคุกเข่า ชันเข่าซ้ายขึ้น ข้อศอกซ้ายไม่วางบนหัวเข่าซ้าย ยืดตัวขึ้น ถือปืนยิงตามปกติ


3. Double kneeling position or California kneeling position นั่งคุกเข่า ไม่ชันเข่า ยืดตัวขึ้น ถือปืนยิงตามปกติ


4. นั่งคุกเข่าแต่ขาซ้ายเหยียดออกไปข้างหน้า ยืดตัวขึ้นหรือก้มเล็กน้อย ถือปืนยิงตามปกติ


รูปแบบที่ 1 ถึง 3 เป็นรูปแบบที่นิยมใช้กันมากและมีสอนกันทั่วไป เนื่องจากให้การเคลื่อนไหวที่เป็นธรรมชาติ ส่วนแบบที่ 4 ไม่ค่อยนิยมแต่ก็มีหลักสูตรยิงปืนบางแห่งใช้อยู่ นอกจากนี้อาจมีรูปแบบอื่นซึ่งมีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างไปได้บ้าง

ท่ายิงที่ดีควรให้การเคลื่อนไหวของร่างกายเป็นธรรมชาติ เรียบง่ายและมั่นคง สามารถนั่งและลุกยืนได้อย่างรวดเร็ว


การจะเลือกใช้ท่ายิงใดขึ้นกับความสูงต่ำของที่กำบัง สภาพแวดล้อมและความถนัด โดยอาศัยหลักการที่ว่า ตัวเราต้องโผล่พ้นที่กำบังออกไปให้น้อยที่สุด


รูปแบบการยิงดังกล่าวถือเป็นพื้นฐานของการยิงปืน แต่ไม่ใช่กฎของการยิงปืน ในการยิงต่อสู้เราอาจนั่งคุกเข่าในท่าที่แตกต่างจากนี้ได้ ปรับเปลี่ยนไปตามสภาพของที่กำบังหรือสิ่งแวดล้อมเพื่อให้สามารถทำการยิงเป้าหมายที่ดีได้ โดยอาศัยหลักที่ว่า ท่านั้นต้องมั่นคง เปิดเผยตัวเราน้อยและสามารถทำการยิงเป้าหมายได้อย่างดี


TAS สอนการยิงปืนหลังที่กำบังซึ่งผู้รับการฝึกสามารถยิงได้ในหลายท่าทางขอเพียงให้ยึดหลักการดังกล่าวก็ถือว่าเพียงพอแล้ว


สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”


เรียบเรียงโดย Batman

Newcastle limousines