Monday, March 22, 2010

Contact and Cover Principle

Contact and Cover Principle



หลักการการเข้าประชิดตัวและการคุ้มกัน หรือ Contact and cover principle ถูกพัฒนาขึ้นที่ San Diego ของอเมริกาเมื่อหลายปีก่อน เป็นหลักการที่สอนให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารในการเข้าควบคุมคนร้าย โดยคนแรกจะเข้าประชิดตัวคนร้าย (Contact role) ซึ่งอาจเข้าค้นตัวคนร้ายหรือควบคุมตัว ส่วนอีกคนจะต้องทำหน้าที่คุ้มกัน (Cover role) โดยอยู่ห่างคนร้ายออกไปเล็กน้อยและมีอาวุธพร้อมใช้งานในมือ เพื่อคอยดูแลความปลอดภัยให้กับเพื่อนร่วมงานซึ่งเข้าประชิดตัวคนร้ายอยู่


มีเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นที่เมือง Okaloosa ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเจ้าหน้าที่ Burt Lopez ทำหน้าที่ Contact ส่วนเจ้าหน้าที่ Skip York ทำหน้าที่ Cover หรือคุ้มกัน โดยครั้งนี้ Lopez ได้ใช้ปืน TASER (ปืนซึ่งยิงขั้วไฟฟ้าสองแท่งไปยังคนร้าย แล้วปล่อยกระแสไฟฟ้าเพื่อทำให้คนร้ายล้มลงเพราะกล้ามเนื้อเกร็งทั่วตัว) ยกขึ้นเล็งไปที่คนร้าย ซึ่งจากการฝึกการใช้ปืน TASER นั้นกำหนดไว้ว่า จนท.อีกคนจะต้องเป็นคนเข้าไปใส่กุญแจมือคนร้าย แต่ครั้งนี้ขณะที่ Lopez กำลังถือปืน TASER อยู่และ York กำลังหยิบกุญแจมือออกมานั้นคนร้ายได้หยิบปืนพกซ่อนออกมายิง จนท.ทั้งสองคน กระสุนยิงถูกแขนทั้งสองข้างของ York และแขนข้างหนึ่งของ Lopez โดย York พยายามหยิบปืนของตนขึ้นมาแต่ด้วยบาดแผลที่ฉกรรจ์จึงทำปืนตกพื้น ส่วน Lopez นั้นผู้ที่เห็นเหตุการณ์กล่าวว่า ได้พยายามยกปืนของตนขึ้นยิงด้วยสองมือ ทั้งๆที่แขนข้างหนึ่ง (ข้างไม่ถนัด) บาดเจ็บมาก อาจเป็นเพราะแขนข้างที่บาดเจ็บทำให้มีการเกร่งตัวของกล้ามเนื้อจึงทำให้กระสุนหลายนัดที่ยิงออกไปมีเพียงบางนัดถูกคนร้ายแต่ไม่สามารถหยุดคนร้ายไว้ได้ ถ้าเขายิงด้วยมือข้างที่ไม่บาดเจ็บเพียงข้างเดียวจะได้ผลดีกว่านี้หรือไม่ คงไม่มีใครตอบได้


ในที่สุดเจ้าหน้าที่ทั้งสองก็ถูกสังหาร โดยพบปืนตกอยู่ใกล้ตัวเขาในสภาพสไลด์เปิดค้าง ซองกระสุนเปล่าตกอยู่ข้างๆและมีซองกระสุนใหม่อยู่ในมือเตรียมพร้อมที่จะบรรจุในปืน “เจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับบาดเจ็บกำลังพยายามบรรจุกระสุนใหม่” ถ้าเป็นในสถานการณ์ปกติคงไม่ใช่เรื่องยากเย็นนักที่จะทำ แต่ในสถานการณ์ที่เราได้รับบาดเจ็บที่แขนเหลือเพียงข้างเดียวที่ใช้งานได้ดีคงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำได้ เจ้าหน้าที่ทั้งสองคนในวันนั้นไม่ได้พกปืนสำรอง (Backup gun, BUG) ไว้เลย


มีการนำเหตุการณ์นี้มาศึกษาเพื่อหาข้อผิดพลาดและหาแนวทางป้องกัน พบว่าเจ้าหน้าที่ซึ่งทำหน้าที่คุมกันนั้นอยู่ใกล้คนร้ายมากเกินไป เรียกว่าห่างกันไม่กี่นิ้วเท่านั้นเองซึ่งเป็นระยะที่อาจเกิดการทำร้ายกันได้ง่าย


ในการปะทะกับคนร้ายครั้งที่สองโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจเมือง Walton นั้นพวกเขาได้ทิ้งระยะห่างกับคนร้ายมากกว่า 15 หลาโดยมีเครื่องกำบังที่แข็งแรงมากก็คือรถของพวกเขาคอยกั้นขวางไว้ เจ้าหน้าที่ตำรวจยิงไปยังคนร้ายหลายสิบนัดแต่ก็พลาดเป้า ขณะที่คนร้ายก็ยิงตอบโต้กลับมาแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่หลังที่กำบังซึ่งแข็งแรง

เวลา ระยะห่างและที่กำบัง ทำงานได้ดีในการสร้างความได้เปรียบให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในขณะที่ไม่มีสิ่งเหล่านี้ในเหตุการณ์แรกซึ่งตำรวจถูกยิงเสียชีวิต หากเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งสองคนนั้นแค่ถือปืนควบคุมคนร้ายอยู่ห่างๆรอกำลังเสริมก่อนจะดีไหม คำตอบคือ “ดี” แต่ถ้าคนร้ายวิ่งหนีพวกเขาก็ไม่มีสิทธิยิงคนร้าย ยกเว้นว่าคนร้ายวิ่งหนีไปไม่กี่ก้าวแล้วหันกลับมาพร้อมปืนในมือ ก็จะมีเหตุผลให้ตำรวจใช้กำลังได้ (แต่เจ้าหน้าที่ทั้งสองคนขณะนั้นไม่พร้อมที่จะตอบโต้ด้วยกำลัง)


จากเหตุการณ์นี้ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งออกปฏิบัติงานถูกแนะนำให้มีปืนสำรองติดตัวไว้ หากแขนหรือมือได้รับบาดเจ็บ หรือยิงจนกระสุนหมดหรือปืนเกิดเหตุติดขัดก็ให้หยิบปืนสำรองขึ้นมาใช้แทนปืนหลักได้ทันที อีกทั้งมีการแนะนำ เน้นย้ำและฝึกปฏิบัติให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารถึง Contact and Cover Principle โดยผู้ที่ทำหน้าที่ Cover ต้องมีระยะห่างกับคนร้ายที่เหมาะสม รู้ตำแหน่งที่ควรอยู่และมีอาวุธพร้อมใช้งานได้ทันที เรียนรู้การใช้ที่กำบังเพื่อความปลอดภัย ผู้ที่ทำหน้าที่ Contact ต้องรู้ว่าจะเข้าหาคนร้ายเมื่อไหร อย่างไร เพื่อให้ตัวเองปลอดภัยและเพื่อนร่วมงานซึ่งทำหน้าที่ Cover สามารถทำหน้าที่ของตนได้อย่างถนัด


Distance is always your good friend หรือ ระยะห่างเป็นเพื่อนที่ดีของคุณเสมอ เป็นคำพูดซึ่งต้องท่องให้ขึ้นใจไว้เสมอสำหรับผู้ที่ใช้อาวุธปืนเพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สิน เป็นหลักที่ควรยึดถือและปฏิบัติทุกครั้งที่เผชิญเหตุ เราควรพยายามสร้างระยะห่างระหว่างตัวเรากับคนร้ายให้เหมาะสมไม่ใกล้เกินไป เพราะถ้าใกล้เกินไปคนร้ายอาจเข้ามาแย่งอาวุธในมือหรือเข้ามาทำร้ายเราได้อย่างรวดเร็วจนตั้งตัวไม่ทัน การมีระยะห่างที่มากขึ้นจะทำให้เรามีเวลามากพอที่จะตอบสนองต่อเหตุกาณ์ได้อย่างเหมาะสม และโอกาสที่คนร้ายจะยิงถูกเราก็ยากขึ้นด้วย


สำหรับประชาชนทั่วไปซึ่งไม่สามารถใช้อาวุธปืนในลักษณะเป็นทีมเหมือนเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ก็สามารถนำหลักการบางอย่างมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ในการใช้อาวุธปืนเพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของตนเองได้


การสร้างระยะห่างที่เหมาะสมและใช้ที่กำบังนั้นเป็นหัวใจอย่างหนึ่งในการฝึกยิงปืนระบบต่อสู้ ซึ่ง TAS ได้สอดแทรกอยู่ในหลักสูตรยิงปืนมาตลอด


ในการฝึกยิงปืนให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือทหารใน TAS force Pro นั้น เราจะเน้นหลัก Contact and Cover Principle เสมอ


ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”


เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง More Lessons from Okaloosa County ของ Massab Ayoob

Monday, March 15, 2010

Precision

Precision



ในนิตยสารเกี่ยวกับอาวุธปืนหลายฉบับเมื่อจะทำการทดสอบความแม่นยำของอาวุธปืนสั้น มีหลายวิธีอาทิเช่น อาจให้ผู้ทำการทดสอบยิงปืนด้วยกระสุนหลายแบบ หรือใช้ผู้ทำการยิงทดสอบมากกว่าหนึ่งคน หรือใช้เครื่องมือช่วย เช่น แท่นรองปืนช่วยในการทำการยิงทดสอบ (ซึ่งปกติมักใช้ในการตั้งศูนย์ปืน)


นาย Mike “Duke” Venturino เป็นหนึ่งในนักทดสอบอาวุธปืนมายาวนาน เขาใช้เครื่องยึดปืนจากบริษัท Ransom International หรือที่เรียกว่า Ransom Rest เพื่อทดสอบความแม่นยำของปืนสั้นมากว่าสามสิบปี เครื่องนี้ช่วยลดความผิดพลาดอันเกิดจากมนุษย์ลงไปได้มาก


ความแม่นยำนั้นหมายถึง ความสามารถในการส่งกระสุนออกไปยังเป้าหมายหรือตำแหน่งที่เราต้องการได้ ซึ่งต้องอาศัยสิ่งสำคัญอย่างน้อยสองสิ่ง คือ การเล็งที่ถูกต้องและการเหนี่ยวไกที่ดี ซึ่งเครื่องมือนี้จะช่วยได้มาก เนื่องจากเมื่อยึดปืนเข้ากับแท่นรองแล้วทำการเล็ง จะมีอุปกรณ์ช่วยเหนี่ยวไกด้วย ทำให้แต่ละนัดที่ยิงออกไปมีความเที่ยงตรงมากกว่าการยิงด้วยคน (มักทำการยิงเป็นกลุ่ม เช่น 5 นัด)

เครื่องมือนี้สามารถเหนี่ยวไกปืนที่มีน้ำหนัก 10 หรือ 12 ปอนด์ ได้แบบเดียวกับปืนที่มีน้ำหนักไก 2 หรือ 3 ปอนด์ทีเดียว ในการใช้เครื่องมือนี้เราต้องยึดมันกับโต๊ะที่แข็งแรงพอสมควร

เขานำปืนกึ่งอัตโนมัติ รุ่น 1911 ขนาด .45 สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง กับปืนลูกโม่ รุ่น 1917 มาทดสอบ โดยปืนกึ่งอัตโนมัติมีน้ำหนักไกห้าปอนด์ ส่วนปืนลูกโม่มีน้ำหนักไกเจ็ดปอนด์ (Single action)


ปืนทั้งสองกระบอกนั้นให้กลุ่มกระสุนที่แตกต่างกันขึ้นกับกระสุนที่ใช้ เช่น อาจให้กลุ่มกระสุน 2 นิ้วที่ระยะ 25 หลาหรือแค่ครึ่งนิ้วเมื่อใช้กระสุนอีกแบบหนึ่ง ปืนทั้งสองกระบอกสามารถยิงถูกเป้าหมายที่ต้องการได้ในระยะ 50 ฟุตเมื่อใช้กระสุนที่เขาเลือก


อย่างไรก็ตามเมื่อเขานำปืนทั้งสองกระบอกมายิงเองไม่ได้ใช้เครื่องมือช่วยยึดปืน กลับพบว่าปืนกึ่งอัตโนมัติที่ทำการทดสอบครั้งนี้ให้ความแม่นยำมากกว่าปืนลูกโม่ (จำนวนครั้งที่ยิงถูกตำแหน่งที่ต้องการ)


ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?


ก็เพราะ ความสัมพันธ์ระหว่างปืนกับคน (Ergonomics) นั้นเอง สำหรับเขาแล้วปืนกึ่งอัตโนมัติกระบอกนี้มีด้ามจับที่ถนัดมือกว่าปืนลูกโม่ (ด้ามจับของปืนลูกโม่กระบอกนี้ใหญ่มากจนเขาต้องเหยียดนิ้วชี้ออกไปไกลมากกว่าจะทำการเหนี่ยวไกได้)


ปัจจุบันนี้เขายิงทำกลุ่มได้ไม่เล็กเท่าสมัยก่อนๆแล้วเพราะอายุมากขึ้น เขาจะทำการทดสอบยิงปืนในระยะแตกต่างกันตั้งแต่ 30 ถึง 75 ฟุต ขึ้นกับการออกแบบและวัตถุประสงค์ของปืนกระบอกนั้น เช่น ปืนที่ใช้เพื่อป้องกันตัวหรือปืนพกซ่อน (มักมีลำกล้องสั้น) จะยิงในระยะใกล้ ส่วนปืนอื่นๆก็อาจยิงไกลขึ้น และจะทำการยิงด้วยสองมือเป็นหลัก ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ใช้อาวุธปืนโดยทั่วไปใช้กัน


จะเห็นได้ว่าปืนซึ่งผลิตจากโรงงานที่ได้มาตรฐานนั้นจะให้ความแม่นยำแทบไม่แตกต่างกันเมื่อทดสอบด้วยเครื่องช่วยยึดปืน แต่กลับพบความแตกต่างเมื่อทำการยิงโดยคน ดังนั้นคนจึงเป็นปัจจัยสำคัญในเรื่องความแม่นยำของอาวุธปืน


มีหลายปัจจัยที่อาจทำให้ปืนที่ทำการยิงมีความแม่นยำแตกต่างกัน เช่น อายุของผู้ยิง ขนาดมือ การเล็ง การเหนี่ยวไก ท่ายืน ท่าถือปืน อารมณ์ กระสุนที่ใช้ ระยะยิง ความอ่อนล้า ฯลฯ ดังนั้นการอ่านบทความเรื่องการทดสอบอาวุธปืนในนิตยสารต่างๆนั้นคงต้องพึงระลึกไว้ด้วยว่า ปัจจัยเกี่ยวกับคนนั้นมีส่วนสำคัญอย่างมากกับความแม่นยำของอาวุธปืน บางคนเมื่อซื้อปืนไปแล้วกลับพบว่ามันไม่ได้แม่นยำเหมือนอย่างที่ผู้ทำการทดสอบอาวุธปืนได้เขียนไว้ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากปัจจัยของตัวผู้ทำการยิงเอง


นอกจากนั้นการทดสอบอาวุธปืนควรทำอย่างตรงไปตรงมา เนื่องจากธุรกิจปืนในบ้านเรานั้นหากนิตยสารใดสามารถทำกลุ่มกระสุนได้ดีก็จะทำให้มีคนต้องการปืนรุ่นนั้นมาก (ขายดี) นิตยสารบางฉบับจึงอาจทำการทดสอบปืนอย่างไม่ตรงไปตรงมา เพื่อต้องการให้ได้กลุ่มกระสุนที่ดูดีร้านปืนจะได้ส่งปืนมาให้ทดสอบบ่อยๆ


ผู้อ่านจึงควรต้องใช้วิจารณญาณอย่างมากในการรับรู้ข้อมูลเหล่านี้


มีอาจารย์ท่านหนึ่งซึ่งเคยเป็นผู้ทำการทดสอบอาวุธปืนในนิตยสารเกี่ยวกับปืนมานานหลายปี ซึ่งร้านปืนส่วนใหญ่ในสมัยนั้นนิยมส่งปืนให้ท่านทดสอบ เพราะท่านทำกลุ่มกระสุนได้ดีโดยไม่ได้ดัดแปลงปืนแม้แต่น้อย ท่านได้บอกไว้ว่า “ปืนแต่ละกระบอกมีความแตกต่างกัน เราต้องปรับตัวให้เข้ากับปืน ไม่ใช่ปรับปืนให้เข้ากับตัวเรา” ปืนจะยิงได้ดีหรือไม่อยู่ที่ตัวเรามากกว่าตัวปืน


สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”


เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Amazing precision? ของ Mike “Duke” Venturino

Saturday, March 6, 2010

Ready Positions

Ready Positions



ในการยิงปืนนั้นมีพื้นฐานที่สำคัญอย่างหนึ่ง ก็คือ ท่าถือปืนเตรียมพร้อม (Ready position) ซึ่งมีหลายรูปแบบขึ้นกับสถานการณ์ของการใช้อาวุธปืนในขณะนั้น อีกทั้งมีความแตกต่างระหว่างท่าเตรียมพร้อมระหว่างการใช้ปืนสั้นและปืนยาว แต่จะขอกล่าวเฉพาะปืนสั้นเป็นหลัก


- Low ready position เป็นท่าเตรียมพร้อมที่ใช้มากที่สุด มี 2 รูปแบบ คือ ถือปืนด้วยมือเดียวหรือสองมือ ยื่นปืนออกไปข้างหน้าประมาณ 45 องศาแนวปืนชี้ลงพื้นแขนเหยียดตึง ในกรณีที่ถือสองมืออาจงอข้อศอกทั้งสองข้างนำปืนมาใกล้ลำตัวระดับประมาณลิ้นปี่ แนวปืนยังชี้ลงพื้นเบื้องหน้า 45 องศา หากมีคนอยู่ข้างหน้าเราอาจชี้ปืนเฉียงไปด้านข้างเล็กน้อย เพื่อหลบแนวปืนไม่ให้ไปยังคนข้างหน้า เป็นท่าเตรียมพร้อมการใช้อาวุธปืนในสถานการณ์ที่ไม่เร่งด่วน เพราะในการยกปืนขึ้นสู่ระดับสายตาเพื่อทำการยิงนั้นจะใช้ระยะทางยาวจึงใช้เวลานานกว่าจะทำการยิงได้ เช่น เมื่อจับปืนในสนามยิงปืนทั่วไปก็มักเริ่มจากท่านี้เพราะแนวปืนให้ความปลอดภัยสูง


- High ready position เป็นท่าเตรียมพร้อมในสถานกาณ์ซึ่งกำลังเผชิญกับภัยคุกคามด้วยการเตรียมพร้อมสูงสุด ปืนอยู่ระดับสายตาพร้อมยิงได้ตลอดเวลา มักใช้เมื่อเข้าสู่สถานการณ์ที่อาจมีภัยคุกคามปรากฎขึ้นมาได้ตลอดเวลาจึงต้องพร้อมที่จะใช้อาวุธปืนได้ทุกเมื่อ เป็นท่าที่สามารถทำการยิงได้เร็วกว่าท่าเตรียมพร้อมอื่น เช่น ในสถานการณ์ของการเข้าตรวจค้นภายในห้อง (Room clearing) หรือ การค้นหาภัยคุกคาม (Search) เป็นต้น แต่ท่านี้หากถือปืนอยู่นานๆอาจเมื่อยล้าได้ เพราะปืนอยู่ไกลแนวกลางตัวทำให้ต้องใช้กล้ามเนื้อแขนในการพยุงปืนมากกว่าการนำปืนมาอยู่ใกล้ลำตัวหรือใบหน้า


- High compressed ready position เป็นท่าเตรียมพร้อมถือปืนสองมือซึ่งปืนชี้ไปข้างหน้าแต่งอแขนสองข้างเอาปืนมาใกล้ลำตัวอยู่ระดับอก บางคนอาจลดแนวปืนลงเบื้องหน้าเล็กน้อย เป็นท่าที่สามารถตอบสนองต่อภัยคุกคามได้เร็วกว่า Low ready position เพราะปืนอยู่ใกล้ระดับสายตามากกว่า สามารถทำการยิงได้ทันทีหากมีภัยคุกคามปรากฎออกมาเบื้องหน้า นอกจากนั้นยังเป็นท่าที่ยากแก่การถูกคนร้ายแย่งปืนจากมือเรา เพราะปืนอยู่ใกล้ตัวสามารถปัดป้องการถูกแย่งปืนได้ง่ายกว่า อีกทั้งเป็นท่าที่สามารถถือปืนได้เป็นเวลานานไม่เมื่อยล้าง่าย เนื่องจากปืนไม่ได้อยู่ระดับสายตาจึงขาดความแม่นยำหากภัยคุกคามอยู่ไกล แต่ในระยะใกล้หรือระยะประชิด การยิงในท่านี้ยังใช้ได้ดี เช่น ในการตรวจค้นภายในบ้านหรืออาคาร เป็นบริเวณที่เราเคลื่อนที่ผ่านมุมห้องหรือมุมตึกเพื่อป้องกันการถูกแย่งปืนจากคนร้าย หรือรู้สึกเมื่อยล้าต้องการพักแขนจากการถือปืนอยู่นานแต่ยังอยู่ในพื้นที่ที่อาจมีภัยคุกคามปรากฎขึ้นมาได้


- Position Sul (ดูในบทความเรื่อง Position Sul)


- High และ Combat high position ของ C.A.R. system (ดูในบทความเรื่อง C.A.R. system)


การเลือกใช้ท่าเตรียมพร้อมในการใช้อาวุธปืนนั้นขึ้นกับสถานกาณ์ในการเผชิญเหตุ สภาพแวดล้อม การฝึกฝนของผู้ใช้อาวุธปืน ทุกรูปแบบมีทั้งข้อดีและข้อจำกัด จึงควรเรียนรู้และฝึกฝนในหลายรูปแบบเพื่อให้เกิดทักษะความชำนาญ เปรียบเหมือนเรามีเครื่องมือให้เลือกใช้ได้หลากหลาย สามารถเลือกรูปแบบให้เหมาะสมกับตัวเราและสถานการณ์ได้ดีขึ้น


ในการยิงปืนระบบต่อสู้นั้นท่าเตรียมพร้อมก็มักย่อตัวลงเล็กน้อยเพื่อพร้อมที่จะเคลื่อนที่ได้ตลอดเวลา


สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”


เรียบเรียงโดย Batman

Newcastle limousines