Friday, June 25, 2010

Levels of Security for Duty Holsters

Levels of Security for Duty Holsters



ซองใส่ปืนสั้นในปัจจุบันมีอยู่ 3 ประเภทหลักๆ คือ ซองปืนพกนอกเพื่อใช้งานทั่วไป (Duty holsters) ซองปืนพกซ่อน (Concealment holsters) และ ซองปืนสั้นเพื่อการกีฬา (Sporting holsters) ซึ่งซองปืนสมัยใหม่เพื่อการใช้งานทั่วไปและแบบพกซ่อน มักมีการแบ่งความปลอดภัยในการป้องกันการถูกแย่งปืนโดยบุคคลอื่น ซึ่งแบ่งเป็นหลายระดับ เช่น Level 1, Level 2, Level 3 เป็นต้น


ปัญหาของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการพกพาอาวุธด้วยซองปืนพกนอกนั้นก็คือ การถูกคนร้ายแย่งปืนออกจากซองปืน ดังนั้นในปี ค.ศ. 1975 บริษัท Roger Holster Company จึงได้ออกแบบซองปืนใหม่และกำหนดระดับของความปลอดภัยในการใส่ปืนไว้กับซอง ซึ่งต่อมาบริษัท Safariland ได้ซื้อบริษัท Roger Holster Company ในปี ค.ศ. 1985 และได้ปรับปรุงการกำหนดมาตรฐานระดับความปลอดภัยในการใส่ปืนไว้ในซองเสียใหม่ โดยกำหนดเป็น ระดับ 1 ถึง 4 (Level 1-4)


การออกแบบซองปืนเริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้นทั้งวัสดุและกลไก เพื่อให้ซองปืนมีความทนทาน น้ำหนักเบา สวยงามและปลอดภัยมากขึ้นยากแก่การถูกบุคคลอื่นแย่งปืนออกจากซองได้


ในการแบ่งระดับความปลอดภัยของซองปืนพกนอกซึ่งใช้ในงานทั่วไปนั้น (Levels of Security for Duty Holsters) แบ่งออกเป็น


Level 1 ซองปืนต้องผ่านการทดสอบ โดยการที่ปืนอยู่ในซองคาดด้วยสายซึ่งใช้งานปกติและให้บุคคลอื่นจับด้ามปืนและพยายามดึงปืนออกจากซอง โดยใช้แรงในทิศทางใดก็ได้เป็นเวลา 5 วินาที ซึ่งปืนจะต้องไม่ถูกดึงออกได้และซองปืนยังคงติดอยู่กับผู้พก ในขณะที่ผู้พกปืนนั้นสามารถชักปืนออกได้เองภายในเวลา 2 วินาที


Level 2 ซองปืนซึ่งผ่าน Level 1 ให้ปลดระบบล็อกหลัก (Primary securing device) ของซองปืนออก แล้วทำการทดสอบแบบเดียวกับ Level 1 ซ้ำอีกครั้ง โดยระบบล็อกหลักนั้นดูได้จากเป็นกลไกแรกที่ผู้ใช้จะปลดออกเป็นอันดับแรกในขณะจะนำปืนออกจากซอง


Level 3 ซองปืนซึ่งผ่าน Level 2 ให้ปลดระบบล็อกอย่างที่สอง แล้วทำการทดสอบแบบเดียวกับ Level 1 ซ้ำอีกครั้ง โดยระบบล็อกอย่างที่สองนั้นดูได้จากเป็นกลไกต่อมา ซึ่งผู้ใช้จะปลดออกหรือกระทำบางอย่างเป็นอันดับต่อไป หลังจากระบบล็อกหลักถูกปลดแล้วเพื่อจะนำปืนออกจากซอง


ในการทดสอบระบบความปลอดภัยที่สูงขึ้นไปก็ทำโดยค่อยๆปลดระบบล็อกออกไปที่ละอย่าง ปัจจุบันนี้ระดับสูงสุดอยู่ที่ Level 4 (ซองปืนส่วนใหญ่ในท้องตลาดมักมีระดับความปลอดภัยระหว่างระดับ 1 ถึง 3 ยกเว้นของ Safariland มีถึงระดับ 4)


ระดับความปลอดภัยที่สูงขึ้นหมายถึงผู้ใช้ต้องทำการปลดล็อกหลายชั้นหรือหลายขั้นตอนกว่าจะนำปืนออกมาใช้ได้ ซึ่งเป็นการยากที่จะถูกแย่งปืนออกจากซองโดยบุคคลอื่น แต่ก็ทำให้เวลาในการชักปืนออกจากซองเพื่อใช้งานช้าลงไปด้วย


ซองปืน Level 2 นิยมใช้กันมากที่สุดในกลุ่มผู้รักษากฎหมาย เนื่องจากความเร็วในการใช้งานและความปลอดภัยอยู่ระดับกลางๆ นอกจากนั้นซองปืนที่ดีควรมีการปกป้องโกรงไกปืนด้วย (Trigger guard) เพื่อไม่ให้ใครสามารถสอดนิ้วเข้าไปเหนี่ยวไกปืนได้ขณะที่ปืนยังอยู่ในซอง อีกทั้งควรทดลองใช้งานซองปืนด้วยตนเองก่อนเลือกซื้อเนื่องจากยังมีปัจจัยอื่นอีกในการใช้ซองปืนแต่ละแบบแต่ละระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ความยาวของนิ้วมือ ขนาดมือของผู้ใช้ เป็นต้น


กลไกในการทำให้ปืนปลอดภัยในซองปืนแต่ละรุ่นแต่ละยี่ห้อจะแตกต่างกัน ดังนั้นผู้ใช้ต้องทำความเข้าใจและฝึกฝนในการใช้งานจนเกิดความเคยชิน ไม่เช่นนั้นในยามคับขันซึ่งเรามีความกดดันและตื่นเต้น อาจไม่สามารถชักปืนออกจากซองเพื่อใช้งานได้ทันเวลา


มีการศึกษาว่าถ้าฝึกการชักปืนออกจากซองมากกว่า 500 ครั้ง จะทำให้เกิดการจดจำเข้าไปในการทำงานของกล้ามเนื้อ (Muscle memory) ซึ่งจะทำให้การชักปืนมีความราบรื่นและรวดเร็ว ลดความผิดพลาดลงได้


สำหรับประชาชนทั่วไปแล้วโอกาสที่จะใช้ซองปืนพกนอกเพื่อการพกพามีน้อยกว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจมาก แต่ในสถานที่หรือสถานการณ์บางอย่างการมีซองปืนพกนอกที่ปลอดภัยย่อมเป็นทางเลือกหนึ่งซึ่งจำเป็นเช่นกัน


สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”


เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Levels of security for Safariland Holsters, Weapon Retention Levels Affect Safety and Speed โดย Jeremy P Stanfords , Retention Holsters: 500 draws โดย Mark Hanten

Friday, June 18, 2010

Shoot and No-shoot Targets

Shoot and No-shoot Targets



ในสนามฝึกยิงปืนส่วนใหญ่จะใช้เป้าซ้อมยิงที่มีลักษณะชัดเจนว่าเป็นคนร้ายเพื่อให้ง่ายแก่การฝึกซ้อม แต่ในความเป็นจริงนั้นเมื่อเราเห็นคนซึ่งผิดสังเกต เราต้องแยกแยะให้ได้ว่าคนๆนั้นเป็นภัยคุกคามหรือไม่


สิ่งที่ง่ายที่สุดก็คือ ดูท่าทาง ภาษากาย น้ำเสียง และที่สำคัญที่สุด คือ มองดูว่าเขาถืออาวุธอะไรอยู่หรือไม่ ดังนั้นเมื่อเห็นคนแปลกหน้าซึ่งมีท่าทางผิดปกติ เราจึงต้องมองดูที่มือทั้งสองข้างของเขาว่ามีอาวุธอยู่หรือไม่เพื่อประเมินระดับของภัยคุกคาม ข้อมูลเหล่านี้จะนำไปสู่การตอบสนองต่อสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม


การฝึกยิงปืนในระดับพื้นฐานนั้นจะใช้เป้ากระดาษที่มีลักษณะของคนร้ายชัดเจนหรือเป็นเป้าหุ้นคนซึ่งอนุมานว่าเป็นคนร้าย แต่ในระดับที่สูงขึ้นนั้นมักต้องฝึกการประเมินสถานการณ์และเลือกยิงเป้าหมายที่มีลักษณะของภัยคุกคาม (Decision-making targets) เช่น มือถืออาวุธอยู่ หรือให้ยิงเฉพาะเป้าหมายที่กำหนดไว้เท่านั้น ซึ่งเป็นการฝึกใช้วิจารณญาณในการใช้อาวุธปืนเป็นสำคัญ


ทักษะเหล่านี้มีความสำคัญเพราะนอกจากเราต้องยิงให้ถูกเป้าหมายในตำแหน่งที่ถูกต้องแล้ว ยังต้องเลือกยิงเฉพาะเป้าหมายที่เป็นภัยคุกคามเท่านั้น “ห้ามยิงผู้บริสุทธิ์” ซึ่งถือเป็นการฝึกที่ต้องอาศัยทักษะทั้งหมดมาประกอบกันรวมทั้งการตัดสินใจในเวลาที่เหมาะสมด้วย


ส่วนใหญ่การฝึกแบบนี้มักเป็นการจำลองสถานการณ์ซึ่งมีทั้งคนร้ายและตัวประกันหรือผู้บริสุทธิ์ปะปนกัน เราต้องทำการค้นหาในอาคาร ห้องพัก เพื่อช่วยเหลือตัวประกันโดยเลือกยิงเฉพาะคนร้ายที่ถืออาวุธ ในการฝึกนั้นหากยิงพลาดไปถูกเป้าหมายที่ห้ามยิงเราก็แค่เริ่มต้นใหม่ แต่ในสถานการณ์จริงนั้นไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ ดังนั้นการฝึกฝนเป็นประจำจนเกิดทักษะจะทำให้ลดโอกาสผิดพลาดลงได้


ในระดับประชาชนการฝึกยิงเป้าที่ต้องยิงและห้ามยิง (Shoot/No-shoot targets) ก็ยังถือว่ามีความจำเป็น เพราะไม่ใช่คนร้ายทุกคนที่เห็นเราจะต้องยิงเสมอไป หากเขาไม่มีลักษณะที่เป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรงก็ไม่จำเป็นจะต้องยิง หรือเลือกยิงในตำแหน่งที่อาจไม่ทำอันตรายจนถึงแก่ชีวิต เช่น บริเวณขา ตามความเหมาะสมของสถานการณ์ เป็นต้น


การฝึกนั้นจะใช้เป้าหมายที่มีลักษณะของภัยคุกคาม เช่น เป้าหุ้นคนหรือเป้ากระดาษซึ่งคนร้ายถืออาวุธ ปนกับเป้าที่คนไม่ถืออาวุธ หรือใช้เป้าล้มลุกซึ่งอาจปรากฏเป็นเป้าคนร้ายหรือคนดีก็ได้ตามแต่ที่จะจัดขึ้น เพื่อให้ผู้รับการฝึกได้ตัดสินใจและประเมินสถานการณ์ เป็นต้น


การฝึกเหล่านี้จะช่วยในการควบคุม “สติ” ไม่ให้หลับหูหลับตายิงอย่างเดียว เราต้องพิจารณาภัยคุกคามเบื้องหน้า ประเมินสถานการณ์ และเลือกตอบสนองอย่างเหมาะสม


TAS ฝึกสอนการแยกแยะเป้าหมายใน TAS force Pro


สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”


เรียบเรียงโดย Batman

Friday, June 11, 2010

Finger on the Trigger VS. off the Trigger

Finger on Trigger VS. off Trigger



แต่ก่อนนั้นเมื่อเข้าสู่สถานการณ์ที่จำเป็นต้องใช้อาวุธปืน จะได้รับคำแนะนำให้เอานิ้วเข้าโกร่งไกสัมผัสกับไกปืน (Finger on the Trigger) เพื่อเตรียมพร้อมที่จะยิงได้ตลอดเวลา ในปัจจุบันเราแนะนำให้เอานิ้วออกนอกโกร่งไก (Finger off the Trigger) โดยนิ้วชี้เหยียดยาวชิดโครงปืน จนกว่าจะเห็นและเล็งปืนไปยังเป้าหมายแล้วเท่านั้นจึงจะเอานิ้วสัมผัสไกปืนได้


คำแนะนำที่เปลี่ยนไปนี้เนื่องมาจากเหตุการณ์น่าเศร้าจากการที่เอานิ้วเข้าโกร่งไกตลอดเวลาเมื่อเผชิญเหตุ มีผู้บริสุทธิ์หลายคน หรือคนร้ายที่ไม่มีอาวุธถูกฆ่าหรือพิการจากการที่ปืนลั่นออกไปโดยไม่ตั้งใจ มีคดีขึ้นศาลจำนวนมากหลายคนต้องกลายเป็นฆาตกรโดยไม่ตั้งใจ สูญเสียอาชีพ ต้องติดคุกติดตะรางจากความผิดพลาดที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น


นักสรีรวิทยานาย Roger Enoka เคยแสดงให้เห็นว่า สามารถเกิดการยิงโดยไม่ตั้งใจได้หลายกรณีจากการที่นิ้วสัมผัสไกปืนตลอดเวลา เช่น


Inter-limb response: เมื่อมือหนึ่งกำแน่นขึ้น มืออีกข้างก็จะมีปฏิกิริยาที่จะกำแน่นขึ้นเช่นกัน ดังนั้นเมื่อถือปืนสองมือหากกำมือข้างที่คอยพยุงปืน แนวโน้มที่มือข้างที่กำปืนก็จะกำแน่นขึ้นยังผลให้นิ้วชี้ที่สัมผัสไกปืนจะขยับเข้ามาทำให้ปืนลั่นออกไปได้โดยไม่ตั้งใจ


Startle response: กล้ามเนื้อกลุ่มที่ใช้ในการงอนิ้วมือ (Flexor muscles) จะทำงานเมื่อมีอะไรมาทำให้เราตื่นเต้นมากๆ ตกใจหรือสะดุ้ง ดังนั้นหากนิ้วอยู่ที่ไกปืนเมื่อเราสะดุ้งตกใจด้วยเหตุใดก็ตาม มีแนวโน้มที่จะเหนี่ยวไกโดยไม่ตั้งใจ


Postural disturbance: เมื่อร่างกายเสียสมดุลย์ เช่น ลื่นหรือหกล้มเราจะกำมือโดยธรรมชาติ ซึ่งอาจทำให้ปืนลั่นโดยไม่ตั้งใจจากนิ้วซึ่งสัมผัสอยู่ที่ไกปืนตลอดเวลา


แล้วเราต้องเสียอะไรไปบ้างหากเราวางนิ้วชิดโครงปืนและอยู่นอกโกร่งไกปืน นั้นก็คือ “เวลาในการเริ่มยิง” นั้นเอง แล้วมันมากน้อยแค่ไหน


อดีดครูฝึกทหารนาม Manny Kapelsohn เคยพิสูจน์เมื่อหลายปีก่อนว่า เวลาที่เสียไปนั้นเล็กน้อยมาก เมื่อเดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ตำรวจเกษียณนาม Lance Biddle ปัจจุบันอยู่ในสมาคม IDPA (International Defensive Pistol Association) ของอเมริกา ได้ทำการพิสูจน์อีกครั้งเมื่อมีนักเรียนตำรวจซึ่งเพิ่งจบการศึกษาจากสองสถาบันต่างกัน พวกเขาถูกสอนให้เอานิ้วเข้าโกร่งไกสัมผัสกับไกปืนตลอดเวลาเมื่อเผชิญเหตุ


นาย Biddle ได้จัดการแข่งขันยิงปืนขึ้นครั้งหนึ่ง (มีผู้เข้าแข่งขั้นทั้งหมด 22 คน) โดยให้ผู้เข้าแข่งขันครึ่งหนึ่งต้องเอานิ้วอยู่นอกโกร่งไกและอีกครึ่งหนึ่งเอานิ้วสัมผัสไกปืนตลอดเวลาก่อนเริ่มยิง โดยมีสองเป้าหมายๆแรกต้องยิงที่ศีรษะในระยะ 5 ฟุต และเป้าหมายที่สองยิงที่ลำตัวในระยะ 15 ฟุต โดยจับเวลาด้วยเครื่องจับเวลาอิเล็กโทรนิค และให้เริ่มยิงหลังได้ยินสัญญาณเสียง “บี๊บ”


พบว่า การยิงเป้าหมายที่ศีรษะนั้น เวลาเฉลี่ยที่เริ่มต้นยิงหนึ่งนัดอยู่ที่ 0.437 วินาที เมื่อนิ้วสัมผัสไกปืนตลอดเวลา (เร็วสุดอยู่ที่ 0.21 วินาทีและช้าสุดอยู่ที่ 1.24 วินาที) ในขณะที่เมื่อนิ้วอยู่นอกโกร่งไกเวลาเฉลี่ยอยู่ที่ 0.732 วินาที (เร็วสุดอยู่ที่ 0.26 วินาทีและช้าสุดอยู่ที่ 1.69 วินาที) เวลาที่แตกต่างกันเพียง 0.295 วินาที หรือ น้อยกว่าหนึ่งในสามของวินาทีเสียอีก


เมื่อทำการยิงเป้าหมายบริเวณลำตัวพบว่า เวลาเฉลี่ยอยู่ที่ 0.457 วินาที เมื่อนิ้วสัมผัสไกปืนตลอดเวลา (เร็วสุดอยู่ที่ 0.22 วินาทีและช้าสุดอยู่ที่ 1.67 วินาที) ในขณะที่เมื่อนิ้วอยู่นอกโกร่งไกเวลาเฉลี่ยอยู่ที่ 0.554 วินาที (เร็วสุดอยู่ที่ 0.29 วินาทีและช้าสุดอยู่ที่ 1.10 วินาที) เวลาที่แตกต่างกันเพียง 0.096 วินาที หรือ น้อยกว่าหนึ่งในสิบของวินาที


การศึกษานี้ยืนยันอีกครั้งได้ว่าเวลาที่เสียไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เมื่อเทียบกับประโยชน์มากมายจากการเอานิ้วออกนอกโกร่งไกปืนก่อนทำการยิง


TAS สอนให้เอานิ้วออกนอกโกร่งไกปืนตลอดเวลา จนกว่าปืนจะชี้ไปยังเป้าหมายและต้องการทำการยิงแล้วเท่านั้นจึงจะให้นิ้วเข้าโกร่งไกเพื่อสัมผัสกับไกปืนได้


สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”
 





เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Off Fingers and Triggers ของ Massab Ayoob

Friday, June 4, 2010

Scan and Breathe

Scan and Breathe



เมื่อเราเข้าสู่สถานการณ์ที่ต้องใช้อาวุธปืน ความสามารถในการมองเห็นเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการตอบสนองต่อภัยคุกคามเบื้องหน้า


ความตระหนักรู้ถึงสถานการณ์ (Situational awareness) เป็นกุญแจสำคัญของความปลอดภัยส่วนบุคคล (Personal security) ซึ่งต้องอาศัยประสาทสัมผัสทั้งหมด สายตาสามารถเห็นภัยคุกคามที่อยู่ข้างหน้า ในขณะที่หูสามารถได้ยินเสียงที่มาข้างหลังได้ เมื่อมีความผิดปกติในทิศทางใดก็ตามมักต้องหันไปดูเพื่อแยกแยะว่าสิ่งนั้นเป็นภัยคุกคามหรือไม่ ความตระหนักรู้ถึงสถานการณ์ทำให้เรารู้ว่ามีอะไรอยู่รอบตัว มีใครกำลังเข้ามาใกล้หรืออยู่ที่ใด มีที่หลบซ่อนสำหรับคนร้ายอยู่ใกล้หรือไม่ ทำให้เราสามารถเตรียมตัวที่จะตอบสนองได้ดี โอกาสที่คนร้ายจะปรากฏตัวอย่างไม่ทันตั้งตัวจึงเป็นไปได้ยาก


การตอบสนองต่อสถานการณ์ร้ายนั้นมี 3 รูปแบบ คือ หลีกเลี่ยง (Avoid) หนี (Evade) และ ตอบโต้กลับ (Counter) ซึ่งการจะตอบโต้กลับควรใช้เมื่อเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือหนีได้ การหลีกเลี่ยงหรือหนีมักจะทำได้ถ้าเรามีเวลานานพอก่อนที่ภัยคุกคามจะตรงเข้ามาทำร้าย


ในขณะเผชิญเหตุด้วยความตื่นเต้นจะเกิดปรากฎการณ์หลายอย่างซึ่งมีผลต่อประสาทสัมผัสของเรา เช่น Tunnel vision (รูม่านตาขยายทำให้การมองเห็นแคบลงจะชัดบริเวณกลางภาพ เพื่อให้สนใจเฉพาะภัยคุกคามเบื้องหน้าเป็นสำคัญ ในขณะที่ขอบภาพจะไม่ชัดเหมือนการมองผ่านในอุโมงค์) ความสามารถในการได้ยินน้อยลง ทำให้ได้ยินเฉพาะบางเสียงที่สำคัญเท่านั้นขาดรายละเอียด บางช่วงอาจมีการกลั้นหายใจเป็นพักๆ ทำให้เหนื่อยง่ายขึ้น ความสามารถในการเคลื่อนไหวอย่างละเอียดของร่างกายทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร เช่น การเคลื่อนไหวของนิ้วมือ เป็นต้น


เมื่อพบภัยคุกคามสิ่งแรกที่ต้องทำ คือ มองที่มือของเขาว่ามีอาวุธอยู่หรือไม่ เพื่อประเมินภัยคุกคามและตัดสินใจตอบสนองอย่างเหมาะสม ปัญหาก็คือ คนส่วนใหญ่จะสนใจเฉพาะภัยคุกคามที่ตนเห็นเบื้องหน้าเท่านั้น ทำให้ขาดความสนใจภัยคุกคามอื่นซึ่งอาจปรากฏขึ้นมา


การฝึกฝนจะสามารถเอาชนะปฏิกิริยาดังกล่าวได้ ด้วยการฝึก Scan and Breathe (กวาดตามองทั่วๆ และหายใจ) นั้นจึงเป็นเหตุผลที่ครูฝึกมักตะโกนบอกให้ผู้รับการฝึกทำการ Scan and Breathe อยู่บ่อยครั้งหลังยิงเป้าหมายไปแล้ว ซึ่งผู้รับการฝึกบางคนก็ทำตามอย่างสม่ำเสมอในขณะที่บางคนตั้งอกตั้งใจเตรียมที่จะยิงนัดต่อไปเพียงอย่างเดียว


เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องกวาดตามองให้ทั่วบริเวณ เพื่อมองหาภัยคุกคามและมองที่มือของภัยคุกคามด้วยเสมอ


จากการศึกษาของเหตุการณ์การเผชิญหน้ากันด้วยอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ พบว่ามีน้อยกว่าครึ่งที่มีภัยคุกคามมากว่าหนึ่งคน แต่ความเป็นจริงน่าจะมากกว่านี้เนื่องจากผู้ต้องสงสัยจำนวนมากอาจหนีไปหลังเริ่มมีการใช้อาวุธปืน


ทันทีที่เห็นภัยคุกคามเบื้องหน้า ควรมองหาภัยคุกคามอื่นๆด้วย โดยให้ภัยคุกคามหลักยังอยู่ในสายตาตลอดเวลาและเริ่มที่จะตอบสนองทันทีไม่ว่าจะเป็นการหลีกเลี่ยง หนีหรือตอบโต้


ส่วนหนึ่งของการกวาดตามองให้ทั่ว คือ การมองหาทางหนี เพราะถ้ามีภัยคุกคามหลายคนอาจพยายามปิดทางหนีของเรา และมองไปข้างหลังถ้าเราพยายามถอยหลัง การมองเห็นภัยคุกคามได้เร็วเท่าไหรก็ยิ่งดี


การกวาดตามองให้ทั่วไม่เพียงแค่หันศีรษะมองซ้ายขวาเท่านั้น แต่ต้องมองทั้งใกล้และไกลด้วย เราจะเริ่มกวาดตามองให้ทั่วเมื่อไรก็ขึ้นกับตัวเราเองและสถานกาณ์ อาจตั้งแต่เริ่มเห็นภัยคุกคามและ/หรือหลังทำการยิงแล้วก็ได้


ฝึกฝนการใช้สายตาเพราะการเพียงแค่หันศีรษะไปมาไม่ได้หมายความว่าคุณได้รับรู้สิ่งที่เห็นจริงๆ


TAS เน้นย้ำเสมอให้ทำการตรวจการณ์หลังการยิงทุกครั้ง เพื่อมองหาภัยคุกคามอื่นซึ่งอาจปรากฎขึ้นมาอย่างฉับพลัน


สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”


เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง I spy ของ Dave Spaulding

Newcastle limousines