Thursday, October 28, 2010

Flash Sight Picture

Flash Sight Picture



Flash Sight Picture เป็นรูปแบบการเล็งปืนซึ่งใช้ในการยิงเป้าหมายระยะใกล้อีกรูปแบบหนึ่ง วิธีการนั้นอยู่ระหว่างการเล็งปืนอย่างละเอียดตามปกติและการยิงแบบสัญชาติญาณที่เรียกว่า Quick Kill ซึ่งจะมองชัดที่เป้าหมายเป็นหลัก (อ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความเรื่อง Instinct shooting)


การเล็งแบบนี้จะมองชัดที่ศูนย์หน้าเป็นหลัก โดยยกปืนขึ้นสู่ระดับสายตา ให้แนวศูนย์หน้าและหลังอยู่ในระนาบเดียวกันตลอด เมื่อต้องการยิงที่ตำแหน่งใดก็นำศูนย์หน้าไปทาบกับเป้าหมายแล้วทำการเหนี่ยวไกทันที


ประโยชน์ของ Flash Sight Picture คือ สามารถทำการยิงได้เร็วและแม่นยำ เป็นรูปแบบหนึ่งซึ่งนิยมใช้ในการยิงระบบต่อสู้เช่นกัน


การฝึกยิงรูปแบบนี้ควรเริ่มจากช้าๆก่อน แล้วค่อยๆเร่งความเร็วขึ้น ยิงทีละนัดและดูผลการยิง หลังจากนั้นก็เพิ่มจำนวนวงกระสุนให้มากขึ้นในการยิงแต่ละรอบ


ภัยคุกคามในระยะใกล้นั้นเรามีเวลาตอบสนองสั้นมาก การเล็งปืนแบบ Flash Sight Picture ทำให้สามารถทำการยิงเป้าหมายได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ เป็นอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งมีประสิทธิภาพเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก ศูนย์หน้าที่มีจุดสีหรือหลอดสี (Fiber optics) จะทำให้ใช้วิธีนี้ได้ง่ายขึ้นเนื่องจากมองเห็นศูนย์หน้าได้ชัดขึ้น (เห็นได้ง่ายกว่าศูนย์หน้าที่เป็นเหล็กรมดำธรรมดา)


การมองชัดที่เป้าหมายขณะยิงตลอดเวลาตามวิธีการยิงด้วยสัญชาติญาณนั้น บางคนเชื่อว่าเป็นการยากที่จะเห็นตำแหน่งที่ยิงถูกเป้าหมายเพราะขึ้นกับสีเสื้อผ้าที่คนร้ายใส่ เราต้องดูจากปฏิกิริยาของเป้าหมายที่ตอบสนองต่อการถูกยิง ดังนั้นบางคนจึงแนะนำให้ดูที่ศูนย์หน้าดีกว่าตามวิธีดังกล่าว


ไม่ว่าการยิงในรูปแบบใดต่างก็มีข้อดี ข้อด้อย ข้อจำกัด ด้วยกันทั้งสิ้น การฝึกฝนและเลือกนำวิธีการต่างๆมาใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อสร้างความได้เปรียบให้กับตนเองในการเผชิญกับภัยคุกคามที่ร้ายแรง


การยิงปืนต่อสู้ในสถานการณ์จริงนั้นมักเกิดขึ้นในระยะใกล้ ดังนั้นเราต้องสามารถตอบสนองต่อภัยคุกคามได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ การฝึกยิงรูปแบบนี้อาจสร้างความแตกต่างระหว่างความเป็นและความตายได้


TAS สอนการยิงปืนฉับพลันซึ่ง Flash Sight Picture เป็นรูปแบบหนึ่งที่ทำการสอนให้ผู้รับการฝึกได้เรียนรู้


สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”


เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Flash Sight Picture ของ Erik Lawrence & Mike Pannone

Thursday, October 21, 2010

Voice Power

Voice Power



ในช่วงต้นปี ค.ศ. 1980s มีเหตุการณ์หนึ่งซึ่งน่าสนใจเกิดขึ้นที่เมือง San Diego ของอเมริกา บริเวณแถบนี้เป็นเมืองท่าค้าขายทางทะเลที่สำคัญแห่งหนึ่ง มีร้านค้า ผับ บาร์ ผู้คนมากมายและก็เต็มไปด้วยอาชญากรรมเช่นกัน


กลางดึกของคืนหนึ่งตำรวจสายตรวจสองนายได้รับแจ้งว่ามีขโมยเข้าไปในร้านขายพิซซ่าแห่งหนึ่งย่าน Broadway ตำรวจทั้งสองรีบไปที่เกิดเหตุทันทีและเห็นประตูหน้าร้านซึ่งเป็นกระจกมีร่องรอยถูกกระแทกแตก ด้านหลังห้องครัวมีบันไดขึ้นไปยังห้องเก็บของของร้านขายพิซซ่า


ตำรวจทั้งสองนายพกปืนสั้นขนาด .38 Special ของ Smith & Wesson (ตำรวจยุคนั้นพกแต่ปืนลูกโม่เป็นหลัก) และมีไฟฉายในมือ ทั้งคู่ตรวจชั้นล่างจนทั่วไม่พบผู้ต้องสงสัย จึงขึ้นไปยังชั้นบนโดยตำรวจนายแรกเดินขึ้นบันไดไปก่อน ในขณะที่เพื่อนคอยคุ้มกันอยู่ที่ทางขึ้นของบันไดชั้นล่าง


ทันทีที่ตำรวจนายแรกขึ้นไปถึงก็พบการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติในเงามืดพร้อมกับเสียงดังจากการรื้อค้นข้าวของ เขาจึงพูดออกไปยังผู้ต้องสงสัยตามระเบียบที่ได้ฝึกมาว่า พวกเขาเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ San Diego และสั่งต่อว่า “หยุดอยู่กับที่!” ซึ่งเป็นขั้นตอนปกติที่ตำรวจใช้กันทั่วไป


แสงจากไฟฉายเผยให้เห็นมีดทำครัวยาวแปดนิ้วในมือของคนร้ายอย่างชัดเจน นายตำรวจคนที่สอง (Cover officer) ตามขึ้นมาอย่างกระชัดชิดคอยคุ้มกันให้เพื่อน (Contact officer) ในขณะที่เขาออกคำสั่งไปยังคนร้ายเบื้องหน้า (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง Contact and Cover Principle)


ตำรวจนายแรกเริ่มใช้คำพูดก้าวร้าวมากขึ้นด้วยน้ำเสียงที่ดังลั่น “ทิ้งมีด!, ทิ้งมีดสิโว้ย!,….” คำพูดหยาบคายจากตำรวจนายนั้นพลั่งพลูออกมาอยู่หลายนาทีเพื่อให้คนร้ายวางอาวุธ แต่คนร้ายกลับไม่ไหวติงในขณะที่ปืนของตำรวจนายนั้นยังคงจับจ้องไปที่คนร้ายอย่างไม่คลาดสายตา เขายังคงตะโกนสั่งคนร้ายด้วยน้ำเสียงที่ดังขึ้นเรื่อยๆ


ในสมัยนั้นไม่มีการตามหน่วย SWAT ไม่มีกระสุนยาง ไม่มีแก็สน้ำตา ไม่มีปืนช็อตไฟฟ้า ไม่มีหน่วยเจรจาต่อรอง มีเพียงตำรวจซึ่งเผชิญเหตุกับปืนและกระสุนจริงในมือเท่านั้น


คนร้ายยืนห่างออกไปประมาณสิบฟุต หากเขาบุกเข้าหาตำรวจก็เพียงสองถึงสามก้าวเท่านั้น และเสื้อเกราะอ่อนของตำรวจนั้นไม่สามารถหยุดความคมของมีดได้


เมื่อแสงไฟส่องมาที่ใบหน้าคนร้ายดูเหมือนแสงไฟนั้นจะทำให้คนร้ายชะงักไปชั่วขณะ ในที่สุดเขาก็ทิ้งมีดลงและยอมแพ้ในที่สุด


คนร้ายถูกนำมาที่สถานีตำรวจ เขาถูกสอบถามโดยนายตำรวจคนแรกว่า คุณรู้หรือไม่ว่าผมเกือบจะยิงคุณอยู่แล้วหากคุณไม่ทิ้งมีดลงก่อน คนร้ายรู้สึกดีใจที่นายตำรวจได้แสดงตัวให้เขารู้ก่อน ตำรวจคนนั้นถามต่อทันที “แล้วคุณรู้ได้อย่างไร?” จากน้ำเสียงของผมรึ? ... ไม่ใช่ งั้นจากเครื่องแบบของผม? …ไม่ใช่ หรือจากปากกระบอกปืนในมือของผม? ... ไม่ใช่ แล้วมันอะไรกันล่ะ?


คนร้ายบอกว่า เขาเริ่มได้ยินสิ่งที่นายตำรวจคนนั้นสั่ง เมื่อคู่หูของคุณเริ่มอุดหูของเขา (แสดงว่าตะโกนดังมาก)


ในภาวะที่ตื่นเต้นประสาทสัมผัสบางอย่างจะจำกัดลง เช่น การมองเห็นจะเป็นลักษณะที่ชัดเฉพาะตรงกลางที่เรียกว่า Tunnel vision และการได้ยินจะลดลง


เหตุการณ์นี้นำไปสู่รูปแบบการฝึกของเจ้าหน้าที่ตำรวจเกี่ยวกับการใช้ “พลังเสียง” มีการฝึกอบรมเกี่ยวกับการใช้คำสั่งต่อคนร้ายด้วยภาษาที่ใช้กันตามท้องถนน (Street phases) พบว่าได้ผลดีกว่าการใช้คำพูดพื้นๆทั่วไป


การใช้น้ำเสียงที่ก้าวร้าวและดังที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อออกคำสั่งคนร้ายนั้นถือเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งประชาชนทั่วไปก็สามารถนำมาใช้ได้เมื่อต้องเผชิญหน้ากับภัยคุกคามร้ายแรง นอกจากเป็นการข่มขวัญคนร้ายแล้วยังเป็นการปลุกเร้าความตื่นตัวของเราเองอีกด้วย


“พลังเสียง” เป็นอาวุธอย่างหนึ่งซึ่งอาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายเบื้องหน้ายุติลงโดยปราศจากความรุนแรงก็ได้


TAS สอนให้ผู้รับการฝึกใช้พลังเสียงในการออกคำสั่งคนร้าย ก่อนทำการยิงตั้งแต่ TAS 1


สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”


เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง The Light Bulb ของ Bud Johnson

Friday, October 15, 2010

A Mistake of 1911 Handling

A Mistake of 1911 Handling



ปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติ รุ่น 1911 เป็นที่นิยมมานานโดยมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง และเป็นหนึ่งในปืนที่มีการลอกเลียนแบบและพัฒนามายาวนาน เป็นที่นิยมทั้งจากเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชน มีความเชื่อถือได้ของระบบปฎิบัติการและอำนาจหยุดยั้งที่มั่นใจได้ของกระสุนขนาด .45 นิ้ว


นาย Clint Smith เป็นคนหนึ่งซึ่งใช้ปืน 1911 เป็นอาวุธประจำกายมากว่า 40 ปี ตลอดระยะเวลาดังกล่าวเขาได้เห็นข้อบกพร่องของการใช้ปืน 1911 ที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ การวางนิ้วโป้งอยู่ใต้คัน Safety ซึ่งนักกีฬายิงปืนบางคนอาจวางนิ้วโป้งในลักษณะดังกล่าว แต่เขามีประสบการณ์เห็นนักเรียนของเขาซึ่งบางคนก็เป็นนักกีฬายิงปืนได้ทำการยกคัน Safety ขึ้นโดยไม่ตั้งใจในขณะที่กำลังฝึกซ้อมอะไรหลายอย่างพร้อมๆกัน เป็นผลให้ไม่สามารถทำการยิงได้


ดังนั้นที่ถูกต้องแล้วควรวางนิ้วโป้งไว้เหนือคัน Safety เสมอ ยกเว้นช่วงเวลาสั้นๆซึ่งเราจะทำการยกคัน Safety ขึ้นเพื่อทำให้ปืนปลอดภัย (เมื่อยกคัน Safety ขึ้นจะทำให้เหนี่ยวไกไม่ได้ และสไลด์ถูกล็อกไม่สามารถเคลื่อนถอยหลังได้)


ปืนที่มีคัน Safety ข้างเดียวถือว่าดีที่สุด และสามารถฝึกการใช้คัน Safety ด้วยมืออีกข้างได้ไม่ยากนัก ส่วนปืนที่มีคัน Safety ทั้งสองข้าง (Ambi-safeties) ก็เหมาะสำหรับบุคคลซึ่งถนัดซ้าย การใช้คัน Safety ขนาดใหญ่ทั้งสองข้างของปืน (Enlarged ambi-safeties) ซึ่งถูกนำมาใช้ในการแข่งขันยิงปืนในช่วงกลางจนถึงปลาย ค.ศ. 1970


นาย Clint Smith เคยใช้คัน Safety แบบทั้งสองข้างของปืนในการแข่งขันยิงปืนและการพกพาประจำวัน เขากลับพบว่าปืนมีการปลด Safety เองโดยไม่ตั้งใจอยู่บ่อยครั้งในขณะที่ปืนยังอยู่ในซองปืนซึ่งพกพาประจำเนื่องจากการเคลื่อนไหวของร่างกาย ดังนั้นเขาต้องคอยตรวจสอบการขึ้นคัน Safety เป็นประจำจนในที่สุดก็ต้องเปลี่ยนกลับมาใช้คัน Safety แบบข้างเดียวซึ่งมีปัญหานี้น้อยกว่ามาก


สำหรับคัน Safety ยิ่งใหญ่เท่าไร ยิ่งมีโอกาสที่จะถูกกระแทกจนปลดคัน Safety โดยไม่ตั้งใจได้ง่ายขึ้น ดังนั้นสำหรับคนมือเล็กอาจเปลี่ยนคัน Safety ให้เล็กลงจะดีกว่า


นาย Clint Smith เมื่อเผชิญกับภัยคุกคามที่อันตรายจนต้องใช้อาวุธปืนนั้น เขาจะปลดคัน Safety ลงและนิ้วสัมผัสไกปืนพร้อมที่จะยิงได้ทุกเมื่อ โดยขึ้นอยู่กับการกระทำของภัยคุกคามเบื้องหน้าเป็นตัวตัดสินการตอบสนองของเขาในการใช้อาวุธปืน


ปืนไม่ว่ารุ่นใดแบบใดจะมีทั้งข้อดีและข้อด้อยเสมอ การเรียนรู้ข้อบกพร่องหรือข้อจำกัดของปืนที่เราใช้งานประจำเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้มีความปลอดภัยทั้งในขณะพกพาและใช้งาน


สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”


เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Safety Stuff ของ Clint Smith

Friday, October 8, 2010

Follow Through

Follow Through



การยิงปืนในเชิงต่อสู้ป้องกันตัวนั้นส่วนใหญ่จะใช้วงกระสุนมากกว่าหนึ่งนัด ไม่ว่าจะเป็นการยิงเป้าหมายเดิมซ้ำหรือยิงหลายเป้าหมายในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งการยิงนัดต่อไปให้ถูกเป้าหมายได้อย่างแม่นยำนั้น นอกจากการถือปืนที่ดี ท่ายิงถูกต้องมั่นคง การเล็งและการเหนี่ยวไกได้ดีแล้ว ยังต้องอาศัยทักษะที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งนั้นก็คือ การ Follow Through


การ Follow Through ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ Trigger Reset กับ Reacquiring the Sights


Trigger Reset นั้นนิ้วมือยังคงสัมผัสกับไกปืนตลอดเวลาหลังกระสุนลั่นออกไปเพื่อเป็นการง่ายที่จะทำการคลายไกปืนให้เดินหน้าไปสู่ระยะ Reset Point (ระยะซึ่งสามารถทำการยิงนัดต่อไปได้โดยไม่จำเป็นต้องคลายไกจนสุด อ่านเพิ่มเติมได้จากบทความเรื่อง Trigger Control) ซึ่งความหมายนี้มักใช้กับปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติเป็นส่วนใหญ่ แต่ถึงอย่างไรเสียปืนซึ่งไม่ต้องการ Reset Point เราก็ยังคงแนะนำให้นิ้วสัมผัสกับไกปืนตลอดเวลาในขณะที่คลายไกปืน (ควบคุมการคลายไกปืนตลอดเวลาด้วยนิ้วที่ใช้เหนี่ยวไก)

มีอีกวิธีหนึ่งซึ่งบางคนใช้ก็คือ การปล่อยนิ้วออกจากไกปืนโดยให้ไกปืนดีดกลับเองทันทีหลังยิง เมื่อจะยิงนัดต่อไปค่อยเอานิ้วกลับมาสัมผัสไกปืนใหม่ ซึ่งเป็นวิธีที่มีการเคลื่อนไหวมากเกินความจำเป็นทำให้ยิงซ้ำได้ช้ากว่าและต้องเสียเวลาจัดศูนย์ปืนให้เข้าเป้าใหม่นานกว่า นอกจากเสียเวลาแล้วยังอาจยิงพลาดเป้าได้ง่ายด้วย ดังนั้นวิธีหลังนี้จึงไม่แนะนำให้ใช้


Reacquiring the Sights เป็นกระบวนการซึ่งประกอบด้วยการมองเป้าหมายผ่านศูนย์ปืน ทำการยิง แล้วจัดศูนย์ปืนใหม่เพื่อให้พร้อมในการยิงนัดต่อไป การยิงซ้ำพลาดเป้าอาจเกิดจากการจัดศูนย์ปืนใหม่ได้ไม่ดี หากต้องการยิงหนึ่งนัดจะต้องมีการจัดศูนย์ปืนสองครั้ง (ครั้งแรกก่อนยิง ครั้งที่สองหลังยิงเสร็จเพื่อเตรียมยิงนัดต่อไป) เมื่อต้องการยิงสองนัดจะมีการจัดศูนย์ปืนสามครั้ง


การ Follow Through เป็นสิ่งสำคัญในการยิงปืนไม่ว่าในเชิงกีฬาแข่งขันหรือการยิงต่อสู้ป้องกันตัว เพราะความพร้อมในการยิงซ้ำได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำจะสร้างความได้เปรียบในขณะเผชิญกับภัยคุกคามที่มีชีวิตเป็นเดิมพัน จึงเป็นทักษะหนึ่งซึ่งผู้ฝึกยิงปืนควรใส่ใจฝึกฝนเป็นประจำ


การฝึกยิงแห้ง (Dry fire) เป็นวิธีหนึ่งซึ่งใช้พัฒนาทักษะเหล่านี้ได้ดีและอย่าลืมใช้กระสุน Dummy เพื่อถนอมเข็มแทงฉนวนไม่ให้ชำรุดก่อนเวลาอันควร


สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”


เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Basic Pistol Skill Sets ของ Ed Head

Friday, October 1, 2010

Luck in Gun Fighting

Luck in Gun Fighting



ในการต่อสู้ด้วยอาวุธปืนนั้นมีปัจจัยหลายอย่างซึ่งมีอิทธิพลต่อผลแพ้ชนะ อาทิเช่น ประสิทธิภาพของอาวุธที่ใช้ หากเรามีอาวุธที่เหนือกว่าภัยคุกคามก็ย่อมได้เปรียบ เช่น คนร้ายมีมีดแต่เรามีปืน คนร้ายมีปืนสั้นแต่เรามีปืนลูกซอง คนร้ายมีคนเดียวแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจบุกเข้าไปหลายคน พลซุ่มยิงสามารถกำจัดเป้าหมายได้จากระยะไกล เป็นต้น


ความชำนาญในการใช้อาวุธปืน ผู้ที่มีทักษะการใช้อาวุธปืนอย่างดี มีการฝึกยิงปืนในหลายลักษณะ หลายสถานการณ์ มีความรู้ดีในการแก้ไขเหตุติดขัดของปืน สามารถยิงได้ดีทั้งมือข้างถนัดและไม่ถนัด มีทักษะการยิงในภาวะแสงต่ำ ฝึกฝนยุทธวิธีในการใช้อาวุธปืน และหมั่นทบทวนเพื่อคงไว้ซึ่งทักษะที่จำเป็นเหล่านี้ ย่อมได้เปรียบคนซึ่งฝึกมาเพียงเล็กน้อยและไม่ชำนาญ


มีอุปกรณ์เสริมที่ดี เช่น มีไฟฉายที่มีประสิทธิภาพช่วยให้สามารถทำการยิงในภาวะแสงต่ำได้ดี มีซองกระสุนและเครื่องกระสุนเพียงพอในการใช้งาน มีศูนย์ไฟฉายและ/หรือศูนย์เลเซอร์ประกอบปืน มีการฝึกฝนการใช้อุปกรณ์เสริมเหล่านี้เพื่อความชำนาญ


มีความรู้ในการเลือกที่กำบังและที่หลบซ่อนอำพรางอย่างเหมาะสม สามารถใช้สภาพแวดล้อมให้เป็นประโยชน์ ทั้งแสงและสี เป็นต้น


และที่สำคัญก็คือ “โชค (Luck)” หลายครั้งที่เหตุการณ์การใช้อาวุธปืนผู้พ่ายแพ้อาจเป็นผู้ที่มีทักษะดีเยี่ยม ผู้ซึ่งแข่งขันกีฬาทั้งหลายจะทราบดีถึงอิทธิพลของ “โชค” เป็นอย่างดี จนมีคำกล่าวของนโปเลียนที่มีชื่อเสียงว่า “เขาต้องการคนซึ่งมีโชคดีอยู่ตลอดเวลามากกว่าคนที่บัญชาการได้เก่งและมีความสามารถสูง แต่เราทุกคนย่อมรู้อยู่ว่าในที่สุดแล้วโชคก็จะหมดไปจนได้”


สำหรับผู้ที่ใช้อาวุธปืนนั้นการฝึกฝนให้มีทักษะและคงไว้ซึ่งความสามารถในการใช้อาวุธปืนเป็นสิ่งสำคัญ และเป็นหนทางเดียวที่จะลดการพึ่งพา “โชค” ในการต่อสู้ป้องกันตัวด้วยอาวุธปืน ในทางกลับกันถึงแม้ว่าเราจะมีทักษะที่ดีแต่ก็จงตระหนักไว้ว่ายังมีปัจจัยอื่นอีกที่เราควบคุมไม่ได้ซึ่งมีอิทธิพลต่อผลแพ้ชนะ เช่น ทักษะของคนร้าย อาวุธของคนร้าย จำนวนคนร้าย สภาพแวดล้อม และโชค เราอาจเป็นผู้พ่ายแพ้ได้เสมอ ดังนั้นหากเลี่ยงการต่อสู้ด้วยอาวุธปืนได้ก็ควรเลี่ยง ใช้อาวุธปืนเป็นทางเลือกสุดท้าย แต่หากจำเป็นต้องใช้ก็ต้องใช้ด้วยทักษะที่เหนือชั้น

สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี "สติ"


เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Luck? ของ Ed Parumbo

Newcastle limousines