Friday, July 22, 2011

21-Foot Rule

21-Foot Rule

ในการยืนคุมเชิงผู้ต้องสงสัยในระยะห่างด้วยอาวุธปืนของเรานั้น มีกฎอยู่ข้อหนึ่งซึ่งมีสอนกันในโรงเรียนตำรวจของอเมริกา นั้นก็คือ “21-Foot Rule เป็นระยะปลอดภัยที่เจ้าหน้าที่ตำรวจควรอยู่ห่างจากผู้ต้องสงสัยอย่างน้อย 21 ฟุต (ประมาณ 6.4 เมตร)

จากการศึกษาเหตุการณ์จริงในการใช้อาวุธปืนต่อสู้กับคนร้ายที่มีอาวุธปืน เช่น การศึกษา NYDP: SOP9 (อ่านเพิ่มเติมได้ในบทความเรื่อง NYPD:SOP9 วันที่ 19 Nov 09, Newest FBI Study 1&2 วันที่ 28 Jan & 3 Feb 11) พบว่า มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นการยิงกันในระยะห่างน้อยกว่า 15 ฟุต (ประมาณ 4.6 เมตร) และจากหลายการศึกษาในอดีตพบว่าระยะปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจจากการถูกยิงโดยคนร้ายไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาตลอด โดย 75 เปอร์เซ็นต์ ของตำรวจที่ได้รับอันตรายจากการถูกยิงเกิดขึ้นในระยะน้อยกว่า 20 ฟุต (ระยะน้อยกว่า 10 ฟุต หรือประมาณ 3 เมตร มี 51 เปอร์เซ็นต์, ระยะ 10 ถึง 20 ฟุต มี 24 เปอร์เซ็นต์)

ดังนั้นนาย Dennis Tueller จึงตั้งเป็นกฎ “21- Foot Rule ขึ้นเพื่อใช้สอนตำรวจจนถือเป็นมาตรฐานในโรงเรียนสอนตำรวจทั่วประเทศ ด้วยระยะห่างระหว่างตำรวจและคนร้ายประมาณนี้พบว่า ตำรวจมีเวลามากพอที่จะบ่งชี้คนร้ายซึ่งถืออาวุธ “มีด” ในมือว่ามีลักษณะเป็นภัยคุกคาม แล้วทำการชักปืนออกจากซองและสามารถส่งกระสุนสองนัดไปที่ลำตัวของคนร้ายได้ทัน

แต่ในปัจจุบันพบว่าอาวุธที่คนร้ายใช้มีความหลากหลายมากขึ้นทั้งชนิดและความรุนแรง คนร้ายจำนวนไม่น้อยมีร่างกายที่แข็งแรงมากมีการเข้ายิม มีการฝึกการต่อสู้แบบผสมผสาน (Mixed Martial Art) ทำให้ระยะห่างที่ว่านี้อาจไม่เพียงพอสำหรับความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจในปัจจุบันก็ได้

จะเห็นได้ว่าถึงแม้เราจะพกปืนไว้กับตัวและคนร้ายมีเพียงอาวุธมีดนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าปืนจะได้เปรียบมีดเสมอไปเพราะในระยะห่างไม่เกิน 3 ก้าวจากคนร้าย อาวุธมีดถือว่าเป็นภัยคุกคามที่น่ากลัวมาก คนร้ายสามารถเข้าประชิดตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือประชาชนซึ่งเป็นเหยื่อได้อย่างรวดเร็วและยากแก่การป้องกัน

ในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือประชาชนในการเฝ้าระวังคนร้ายหรือคนแปลกหน้าควรทิ้งระยะห่างจากผู้ต้องสงสัยไว้ให้มากอย่างน้อย 21 ฟุต และยิ่งผู้ต้องสงสัยมีลักษณะที่บ่งบอกว่าเป็นคนที่แข็งแรงมากหรืออาจมีอาวุธร้ายแรงก็ยิ่งต้องห่างออกไปมากขึ้น ใช้คำสั่งด้วยเสียงที่มีพลังของเราในการสั่งให้ผู้ต้องสงสัยทำหรือไม่ทำอะไร ตื่นตัวและเตรียมพร้อมอยู่เสมอ เรียนรู้วิธีเผชิญเหตุร้ายในระยะประชิดอย่างฉับพลัน

สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”

                                                                                                เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Control the Threat ของ Donald J. Mihalek

Friday, July 15, 2011

Underwater Handgun Shooting

Underwater Handgun Shooting



ปืนที่เราใช้กันอยู่ทั่วไปนั้นไม่ว่าจะเป็นปืนสั้น ปืนยาว ปืนลูกซอง ถูกออกแบบมาให้ใช้งานบนบก แต่ถ้าต้องยิงปืนใต้น้ำแล้วปืนเหล่านี้โดยเฉพาะปืนสั้นซึ่งประชาชนใช้กันทั่วไปนั้นจะยังสามารถยิงได้หรือไม่ มีอันตรายต่อตัวปืนหรือผู้ยิงหรือไม่


มีการทดสอบหนึ่งซึ่งน่าสนใจเกี่ยวกับการยิงปืนใต้น้ำซึ่งทำโดย D&L Sport Inc. เป็นการทดสอบภายใต้สภาพที่มีการควบคุมเพื่อความปลอดภัยอย่างดี


โดยทำการทดสอบยิงปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติใต้น้ำจืด (Fresh water) ลึก 2 ฟุต


ปืนที่ใช้ในการทดสอบประกอบด้วย Glock .45, Glock . 40, Colt .45, D&L Sports signature grade 5” 1911 .45 ACP


ความน่าเชื่อถือของปืนแต่ละกระบอกถูกทดสอบโดยการยิงในสภาพปกติบนบก 1,000 นัด ก่อนที่จะนำไปทดสอบยิงใต้น้ำ


ปืน Glock ทั้งสองกระบอกเป็นปืนที่เพิ่งแกะกล่องออกมาจากโรงงาน พบว่าปืน Glock .45 มีความน่าเชื่อถือประมาณ 86 เปอร์เซ็นต์ (มีเหตุติดขัด 14 ครั้งต่อ 100 นัด) ในระหว่างการยิงทดสอบหนึ่งพันนัด ส่วนปืน Glock .40 มีความน่าเชื่อถือ 92 เปอร์เซ็นต์


ส่วนปืน 1911 ทั้งสองกระบอกเป็นปืนที่มีการปรับแต่ง (Custom handguns) ซึ่งพบว่ามีความน่าเชื่อถือเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์เมื่อยิงบนบก


กระสุนปืนที่ใช้ทำการทดสอบประกอบด้วย


- Federal Ball


- Federal Hydra Shock JHP


- Winchester SXT JHP และ


- Remington Golden Saber JHP


การยิงทดสอบประกอบด้วย 3 รูปแบบ คือ


1. บรรจุกระสุน 2 นัดในซองกระสุน ใส่เข้าตัวปืนที่เปิดค้างสไลด์ไว้แล้วนำลงแช่ในน้ำทั้งกระบอก ปลดคันค้างไลด์เพื่อป้อนกระสุนนัดแรกเข้ารังเพลิง หลังจากนั้นนำปืนขึ้นจากน้ำนาน 1 นาทีก่อนเริ่มทำการยิง


2. Zero drain time: นำปืนซึ่งบรรจุกระสุนพร้อมในรังเพลิงลงแช่น้ำทั้งกระบอก เมื่อนำปืนขึ้นจากน้ำก็ทำการยิงทันที ไม่รอให้น้ำไหลออกจากปืนจนหมดก่อน


3. ยิงปืนใต้น้ำลึก 2 ฟุต ในถังบรรจุน้ำลึก 5 – 6 ฟุต


จากการทดสอบพบว่า สำหรับปืน Glock .45 ไม่สามารถยิงกระสุนได้หลายครั้งเพราะเข็มแทงชนวนกระแทกจานท้ายกระสุนเบาเกินไป และพบว่าสไลด์ไม่เปิดค้างเมื่อกระสุนหมดประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งปัญหานี้ไม่พบเมื่อยิงบนบกตลอดการทดสอบ 1,000 นัด และปัญหานี้พบได้กับกระสุนทุกแบบที่ทำการทดสอบ


นอกจากนั้นปลอกกระสุนปืนซึ่งได้จากการยิงทดสอบมีลักษณะที่แสดงถึงภาวะความดันภายในปลอกกระสุนสูงเกินไป แต่ไม่มีปลอกกระสุนเสียหายร้ายแรง โดยไม่พบลักษณะเหล่านี้ในปลอกกระสุนปืนซึ่งใช้ยิงบนบก


ในการทดสอบยิงกระสุนหลายนัดติดต่อกันพบว่าปืน Glock .45 ประสบความสำเร็จเพียง 60 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น บางครั้งเกิดปัญหาจากการป้อนกระสุนเข้ารังเพลิงซึ่งพบได้เช่นกันในการทดสอบยิงปืนบนบก


สำหรับ Glock .40 ต้องยุติการทดสอบหลังจากยิงนัดแรกใต้น้ำเนื่องจากปลอกกระสุนฉีกขาดจากความดันภายในปลอกกระสุนที่สูงขึ้นมาก แสดงว่ากระสุนชนิดนี้ไม่สามารถทนต่อความดันที่เพิ่มขึ้นจากการยิงใต้น้ำได้


ในการทดสอบยิงปืนด้วยปืน 1911 ทั้งสองกระบอกนั้นให้ผลเหมือนกัน คือ สามารถยิงใต้น้ำได้อย่างไม่มีปัญหาถึงแม้ปลอกกระสุนจะมีลักษณะของความดันภายในปลอกกระสุนที่สูงผิดปกติก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้นในการทดสอบ Zero drain time ด้วยกระสุน 80 นัดก็ผ่านไปได้อย่างราบรื่น และปลอกกระสุนปืนไม่มีลักษณะของความดันในปลอกกระสุนสูงผิดปกติแต่อย่างใด อีกทั้งไม่พบว่าประสิทธิภาพของกระสุนที่ยิงออกไปด้อยลงด้วย


ในการทดสอบครั้งนี้พบว่าประสิทธิภาพของกระสุนที่ยิงใต้น้ำนั้นด้อยลงมาก ควรมีการทดสอบที่มีการควบคุมอย่างดีอีกหลายครั้งเพื่อยืนยันผลให้แน่นอน และไม่ควรทำการทดสอบเองที่บ้านเนื่องจากอาจมีอันตรายต่อตัวปืนและผู้ทำการทดสอบได้


โดยทั่วไปจากการทดสอบของหลายที่พบว่าปืนลูกโม่และปืนสั้นกึ่งอัตโนมัตินั้นสามารถทำการยิงใต้น้ำได้ แต่ปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติพบเหตุติดขัดได้มากกว่าปืนลูกโม่อย่างชัดเจน ประสิทธิภาพของกระสุนเมื่อถูกยิงใต้น้ำก็ลดลงไปมาก


ในบางประเทศมีการผลิตปืนสำหรับยิงใต้น้ำโดยเฉพาะทั้งปืนสั้นและปืนยาวเพื่อใช้งานในราชการทหาร กระสุนที่ใช้มีการออกแบบพิเศษลักษณะเรียวยาวสามารถพุ่งผ่านน้ำไปได้ดีจึงมีความแม่นยำและมีประสิทธิภาพสูง


สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”


เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Underwater Handgun Shooting ของ D&L Sports Inc

Newcastle limousines