Thursday, October 27, 2011

Tactical Reload for a Pistol

Tactical Reload for a Pistol



ในการยิงปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติจนกระสุนหมดโดยทั่วไปจะทำให้สไลด์เปิดค้าง เมื่อเราปลดซองกระสุนออก (ทิ้งซองเปล่าลงพื้นได้เลย) แล้วนำซองกระสุนใหม่บรรจุเข้าไป ต่อมาปลดคันค้างสไลด์หรือดึงสไลด์ถอยหลังเพื่อให้สไลด์สามารถเดินหน้าบรรจุกระสุนนัดแรกเข้ารังเพลิงเตรียมพร้อมที่จะยิงต่อไปได้ เรียกว่า Emergency Load (Reload) หรือ Empty Load

แต่หากเรายิงไปได้สักระยะเวลาหนึ่งโดยกระสุนยังไม่หมด แล้วทำการเปลี่ยนซองกระสุนเอาอันใหม่ใส่เข้าไป (ซองกระสุนใหม่ควรมีกระสุนบรรจุอยู่เต็มหรือมากกว่าซองกระสุนเก่า) เพื่อให้มีวงกระสุนเต็มหรือมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยซองกระสุนเก่าก็ยังเก็บไว้ใช้ในโอกาสต่อไป หากเรายิงจนกระสุนหมดอย่างน้อยเราก็ยังมีอีกหนึ่งนัดในซองกระสุนเก่าที่เก็บไว้สามารถนำมาใช้ได้ ซึ่งกระสุนนัดนี้อาจเป็นนัดที่สำคัญที่สุดในชีวิตก็เป็นได้ เรียกการเปลี่ยนซองกระสุนแบบนี้ว่า Tactical Load หรือ Tactical Reload เป็นการขยายศักยภาพของปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติให้ถึงขีดสุด

Tactical Reload นี้เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับการยิงปืนระบบต่อสู้ ก่อนที่จะทำ Tactical Reload ควรหลบเข้าหลังที่กำบังเสมอ


มีหลายวิธีในการทำ Tactical Reload โดยส่วนตัวแนวปืนจะชี้ไปยังเป้าหมายตลอดเวลา โดยยืดแขนตามปกติหรือหดเข้ามาใกล้ตัวอีกเล็กน้อยแต่แนวปืนยังอยู่ในระดับสายตา บางศูนย์ฝึกอบรมจะให้หดปืนกลับเข้ามาใกล้ตัวโดยแนวปืนไม่จำเป็นต้องชี้ไปยังเป้าหมายเพื่อสะดวกในการเปลี่ยนซองกระสุน เป็นการทำงานกับปืนในบริเวณที่เรียกว่า Work Space หรือ Work Zone (บริเวณสมมุติอยู่ด้านหน้าระดับสายตา เพื่อใช้ในการทำอะไรก็ตามต่อปืนของเรา เช่น บรรจุกระสุน เปลี่ยนซองกระสุน แก้ไขเหตุติดขัด เป็นต้น อ่านเพิ่มเติมได้ในบทความเรื่อง Work Zone for Gun วันที่ 4 January 10)


ในการทำ Tactical Reload ให้มือซ้ายเอื้อมไปหยิบซองกระสุนใหม่โดยนิ้วชี้สัมผัสกับหัวกระสุนในซองตลอดเวลาเพื่อให้รู้ว่าตำแหน่งของหัวกระสุนอยู่ด้านไหน บางศูนย์ฝึกอบรมจะใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้หนีบซองใหม่ไว้โดยไม่ได้เอานิ้วชี้แตะที่หัวกระสุน ดังนั้นเราต้องมั่นใจและรู้ว่าหัวกระสุนในซองปืนหันไปทางด้านใด


ในขณะเดียวกันมือขวาใช้นิ้วโป้งกดปุ่มปลดซองกระสุนออก โดยมีอุ้งมือซ้ายซึ่งถือซองกระสุนใหม่มารองไว้ ใช้นิ้วชี้กับนิ้วกลาง หรือนิ้วกลางกับนิ้วนาง หรือนิ้วนางกับนิ้วก้อย (โดยส่วนตัวถนัดแบบนี้) “หนีบ” ซองกระสุนเก่าออกแล้วเสียบซองกระสุนใหม่กลับเข้าไปแทน ใช้อุ้งมือซ้ายกระแทกท้ายซองกระสุนเพื่อให้แน่ใจว่าซองกระสุนใหม่ใส่ได้แน่นดี แล้วนำซองกระสุนเก่ามาเก็บไว้ใช้ในโอกาสต่อไป หากสถานการณ์คับขันก็สามารถทำการยิงได้โดยยังหนีบกระสุนเก่าไว้ระหว่างนิ้วโดยทำการกำด้ามปืนตามปกติ เมื่อมีโอกาสจึงค่อยเก็บซองกระสุนเข้าที่


Tactical Load หรือ Tactical Reload เป็นทักษะที่สำคัญและต้องฝึกฝนบ่อยๆให้เกิดความชำนาญ เพื่อความปลอดภัยควรใช้กระสุนปลอม (Dummy bullets) ในการฝึกซ้อม ส่วนปืนลูกโม่ก็มีการทำ Tactical Reload เช่นกัน แต่จะขอกล่าวในโอกาสต่อไป


TAS สอน Tactical Load ใน TAS 2 ซึ่งเป็นทักษะที่ผู้ใช้อาวุธปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติควรรู้อย่างยิ่ง


สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”


เรียบเรียงโดย Batman

Friday, October 7, 2011

Mind-set for Home Defense


Mind-set for Home Defense

ในการเตรียมอาวุธปืนสั้นสำหรับเก็บไว้ที่บ้าน มีหลักการที่ควรพิจารณาดังนี้

-          ในกรณีที่มีอาวุธปืนหลายกระบอก ให้เลือกอาวุธปืนสั้นซึ่งทุกคนที่สามารถเข้าถึงปืนกระบอกนั้นสามารถใช้ได้อย่างดี หากเป็นปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติและมีผู้หญิงในบ้านสามารถใช้ปืนได้ก็ต้องแน่ใจว่าเธอสามารถใช้ปืนกระบอกนั้นได้อย่างดี ปัญหาที่พบบ่อยเป็นเรื่องของการขึ้นลำสไลด์ปืนลำบาก ไม่สามารถตรวจปืนได้อย่างเหมาะสมหรือแก้ไขเหตุติดขัดของปืนได้ หากมีปัญหาเช่นนั้นก็ควรเลือกปืนลูกโม่จะเหมาะสมกว่าเพราะกลไกเรียบง่าย ใช้งานง่าย

-          ซองปืนพกนอกที่มีความแข็งแรง หากมีปุ่มล็อกปืนทุกคนที่จะใช้ปืนกระบอกนั้นต้องสามารถปลดล็อกและชักปืนออกมาใช้งานได้อย่างรวดเร็ว โดยส่วนตัวจะเลือกใช้ซองปืนที่ทำจาก Kydex เนื่องจากซองปืนแข็งแรงพอที่จะใช้ในการขึ้นลำสไลด์ในกรณีที่ต้องทำด้วยมือเพียงข้างเดียวได้ง่ายกว่าซองหนัง

-          มีกระสุนสำรองอย่างเพียงพอ นอกจากบรรจุกระสุนไว้ในตัวปืนอย่างเหมาะสมแล้ว เรายังต้องเตรียมกระสุนสำรองไว้จำนวนหนึ่งบรรจุในซองกระสุนสำรองอีก 1 ถึง 2 ซองในกรณีของปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติ หรือบรรจุไว้กับอุปกรณ์ช่วยบรรจุสำหรับปืนลูกโม่ เช่น Speed load, Jet load หรือ Speed strip เป็นต้น โดยมีซองใส่ซองกระสุนสำรองหรืออุปกรณ์ช่วยบรรจุเหล่านั้นอย่างเหมาะสม

-          มีไฟฉาย (Tactical Flashlight) หรือ ศูนย์ไฟฉาย/ศูนย์เลเซอร์ติดปืน การมีอุปกรณ์ส่องสว่างเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก เนื่องจากเหตุการณ์ร้ายส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในภาวะแสงต่ำ ดังนั้นไฟฉายจะช่วยให้เราสามารถแยกแยะเป้าหมายหรือภัยคุกคามได้ง่ายขึ้นในสถานที่หรือสภาพแสงที่น้อย ควรเลือกไฟฉายที่มีความสว่างอย่างน้อย 50 รูเมน (ยิ่งสว่างมากยิ่งดี)

-          มีดต่อสู้ (Combat Knife) สำหรับผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับการใช้มีดในการป้องกันตัว การมีมีดพับ (Tactical Folder) หรือมีดใบตาย (Fixed Blade) สักเล่มในขนาดที่เหมาะสม ก็จะทำให้เรามีความยืดหยุ่นในการจัดการกับปัญหาหรือภัยคุกคามได้มากขึ้น (ผู้ที่พกปืนจำนวนไม่น้อยจะพกมีดต่อสู้ด้วย แต่มีเพียงส่วนน้อยที่มีความรู้เกี่ยวกับการใช้งานอย่างถูกต้อง)

-          เข็มขัด ควรเลือกเข็มขัดที่มีความแข็งแรงและใช้งานง่าย

โดยส่วนตัวจะนำปืนซึ่งบรรจุกระสุนพร้อมใช้งานใส่ในซองปืน, มีกระสุนสำรองซึ่งบรรจุในซองกระสุนหรืออุปกรณ์ช่วยบรรจุใส่ในซองอุปกรณ์เหล่านั้น, ไฟฉาย และมีดต่อสู้ เหน็บไว้กับเข็มขัดตามตำแหน่งที่เหมาะสม เมื่อยามต้องใช้งานก็เพียงแค่หยิบเข็มขัดซึ่งมีทุกอย่างเหน็บไว้ครบถ้วนอยู่แล้วมาคาดเอว เราก็จะมีทุกสิ่งที่สำคัญสำหรับการใช้งานในยามฉุกเฉิน เพื่อเผชิญหน้ากับภัยคุกคามร้ายแรงได้อย่างรวดเร็ว

อย่าลืมตรวจสอบสภาพของอุปกรณ์ต่างๆเป็นระยะๆเพื่อให้พร้อมใช้งานได้ตลอดเวลาโดยเฉพาะไฟฉาย เลือกใช้กระสุนที่มีคุณภาพมาตรฐานและผ่านการทดลองยิงกับปืนกระบอกนั้นมาแล้วอย่างราบรื่น

การเตรียมตัวให้พร้อมและทดลองหยิบอุปกรณ์เหล่านั้นมาใช้งานจะทำให้เรามีความพร้อมในการเผชิญเหตุได้ดีขึ้น

สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”
                                                                                                            เรียบเรียงโดย Batman

Newcastle limousines