Tuesday, May 29, 2012

The Combative Skills


The Combative Skills

ในการใช้อาวุธปืนต่อสู้เพื่อป้องกันตัวและเอาชีวิตรอดนั้น ความรู้ ทักษะ และจิตใจที่พร้อมรับมือกับภาวะวิกฤติซึ่งมีชีวิตเป็นเดิมพันถือว่าสำคัญอย่างยิ่ง

ในสถานการณ์ดังกล่าวสิ่งหนึ่งซึ่งต้องตระหนักไว้ก็คือ ยามที่เผชิญหน้ากับภัยคุกคามร้ายแรง สมองและความคิดจะสับสน อีกทั้งความสามารถในการพิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบจะลดลง ซึ่งการฝึกอย่างถูกต้องเหมาะสมจะทำให้เราตอบสนองได้ดีขึ้น

ใครก็ตามที่มีประสบการณ์ผ่านการต่อสู้ด้วยอาวุธปืนไม่ว่าจะเป็นตำรวจหรือทหาร ต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ความมั่นใจในทักษะการต่อสู้ของตนเองเป็นสิ่งเดียวที่ไม่อาจขาดได้

การมีทักษะในการยิงปืนที่ดีเป็นสิ่งสำคัญในการเพิ่มความมั่นใจในการใช้อาวุธปืนเพื่อป้องกันตัว และความสามารถนี้จะเกิดขึ้นได้จากการฝึกฝนทักษะซึ่งมีความเรียบง่ายในการใช้งาน

จากเหตุการณ์และประสบการณ์ในอดีตพบว่าไม่ใช่คนซึ่งชักปืนไวที่สุดหรือยิงได้กลุ่มกระสุนที่ดีที่สุดจะเป็นผู้ชนะและอยู่รอดเสมอไป แต่ผู้ชนะส่วนใหญ่คือ ผู้ซึ่งเตรียมพร้อม ไม่กลัวความเจ็บปวด กล้าที่จะต่อสู้ระยะประชิดกับคนร้าย และไม่ลังเลที่จะต่อกรและสยบภัยคุกคามเบื้องหน้าเมื่อยามที่สถานการณ์ไม่อาจเลี่ยงการใช้กำลังได้

จากประสบการณ์ตลอด 30 กว่าปีของนาย Dave Spaulding ในบทบาทเจ้าหน้าที่ตำรวจและอีก 7 ปีทำงานกับนักโทษในคุกของรัฐ ทำให้เขารู้ว่าพวกอาชญากรคิดอย่างไร ความผิดพลาดที่พบบ่อยที่สุดสำหรับบุคคลทั่วไปและเจ้าหน้าที่ก็คือ มักเอาความคิดและความรู้สึกของตนเองไปใส่ให้กับอาชญากรร้ายแรง (ซึ่งมักคิดและรู้สึกไม่เหมือนคนทั่วไป) เช่น เจ้าหน้าที่คนหนึ่งขณะเผชิญหน้ากับคนร้ายที่มีอาวุธปืนในมือ เจ้าหน้าที่ค่อยๆวางปืนของตนเองลงเพื่อให้ดูว่าตัวเขาไม่ได้เป็นภัยคุกคามกับคนร้ายและต้องการให้สถานการณ์ตึงเครียดน้อยลง แต่กลับถูกคนร้ายยิงใส่

นาย Kelly McCann ผู้ก่อตั้ง Crucible (ศูนย์ฝึกป้องกันตัวในสภาพแวดล้อมที่มีความเสี่ยงสูง) กล่าวไว้ว่า ในการต่อสู้นั้นเราใช้เพียง 10 เปอร์เซ็นต์ สำหรับทักษะ และอีก 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นเรื่องของจิตใจและทัศนคติ ทักษะทางร่างกายมีผลโดยตรงต่อสภาพจิตใจ แต่คุณต้องเตรียมสภาพจิตใจให้พร้อมที่จะใช้ทักษะของคุณเช่นกัน ดังนั้นทักษะทางด้านร่างกายและสภาพจิตใจจึงพึ่งพาซึ่งกันและกันไม่อาจขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้

คำว่า Combative Mindset หมายถึง การเตรียมพร้อมไว้ก่อนโดยอาศัยเหตุผลและสติปัญญา ในการที่จะตอบโต้กลับหรือต่อสู้กลับ เราจะทำเช่นนั้นได้ต้องอาศัยประสบการณ์ชีวิต การศึกษาหาความรู้และการฝึกฝน การสอนประชาชนให้มี Combative Mindset ไม่ใช่สอนให้เขาไปข่มเหงใคร แต่เป็นการลงทุนที่ฉลาดสำหรับเตรียมรับมือกับภัยคุกคามอันไม่คาดฝัน

“การเตรียมให้พร้อมไว้ก่อน” เป็นสิ่งสำคัญ ทั้งทหาร ตำรวจและประชาชนจำเป็นต้องมีความมั่นใจในความสามารถของตนเองและมีอำนาจเหนือความกลัวเมื่อต้องเผชิญเหตุร้าย

ทักษะในการต่อสู้ (Combative Skills) มีตั้งแต่การใช้คำพูด น้ำเสียง เทคนิคการป้องกันตัวต่างๆ อุปกรณ์ เช่น สเปรย์พริกไทย ไปจนถึงอาวุธที่เป็นอันตรายไม่ร้ายแรง เช่น กระบอง เครื่องจี้ไฟฟ้า ไปจนถึงอาวุธปืนซึ่งมีอันตรายถึงแก่ชีวิต ในการฝึกฝนเราควรเน้นที่การเตรียมความพร้อมทางด้านจิตใจและร่างกายในการตอบสนองต่อภัยคุกคาม

นาย Dave Spaulding จะถือหลัก 3 S ในการเลือกทักษะหรือเทคนิคที่จะนำมาใช้งานจริง

1.      Simple (เรียบง่าย) เทคนิคที่ครูฝึกสอนนั้นต้องเรียบง่าย ฝึกฝนหรือทำตามได้ไม่ยาก ในสถานการณ์ที่ตึงเครียดการเคลื่อนไหวที่ซับซ้อนจะทำได้ยากกว่า ดังนั้นเทคนิคที่เรียบง่ายจึงมักใช้ได้ดี

2.      Make Sense (ดูสมเหตุ-สมผล) คุณกำลังเผชิญกับภัยคุกคามร้ายแรงถึงแก่ชีวิต ดังนั้นเทคนิควิธีในการรับมือต้องดูสมเหตุ-สมผล ใช้วิจารณญาณในการพิจารณาว่าเทคนิคนั้นควรทำตามหรือนำมาใช้หรือไม่

3.      Street Proven (ได้รับการพิสูจน์จากการใช้งานจริงมาแล้ว) เทคนิคที่ได้รับการสอนนั้นผ่านการใช้งานจริงมาแล้วหรือไม่ หากเป็นเทคนิคใหม่และไม่เคยมีการใช้งานจริงมาก่อนก็คงต้องใช้วิจารณญาณในการพิจารณามากหน่อยในการจะนำมาใช้

นอกจากนั้นในการป้องกันตัวเราไม่ควรใช้เทคนิคซึ่งไม่คุ้นเคยหรือไม่ชำนาญ เพราะอาจเกิดความผิดพลาดได้ง่ายเป็นผลเสียมากกว่าผลดี และเขายังแนะนำอีกว่า คุณควรฝึกให้หนักและตั้งอยู่ในความไม่ประมาทเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ไม่คาดฝันตลอดเวลา

สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”
                                                                     
 เรียบเรียงโดย Batman
                                    อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง The Combative Mind ของ Dave Spaulding

Sunday, May 13, 2012

How firmly to grasp the gun

How firmly to grasp the gun



เทคนิคการยิงปืนนั้นมีหลากหลาย สิ่งหนึ่งที่ควรตระหนักไว้ก็คือ เทคนิคต่างๆเหล่านั้นเป็นเพียง “เครื่องมือ” ให้เราสามารถส่งกระสุนเข้าสู่เป้าหมายได้เท่านั้น เราต้องปรับเครื่องมือเหล่านี้ให้เหมาะกับตนเองและสถานการณ์


ในการถือปืนสั้นนั้นมีคำถามหนึ่งซึ่งนิยมมาก ก็คือ ควรกำด้ามปืนแน่นแค่ไหน? เป็นเรื่องที่มีการโต้เถียงกันมากในเหล่าผู้เชี่ยวชาญและมีคำแนะนำที่หลากหลาย


ในการแข่งขันยิงเป้าวงกลมดำ 5 นัดใน 10 วินาที (Speed event) หากใช้ปืนที่มีน้ำหนักไก 2.5 ถึง 3 ปอนด์ หรือกว่านั้นเล็กน้อย การกำด้ามปืนหลวมๆก็อาจเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด แต่ถ้าคุณยิงปืนกระบอกที่มีแรงถีบมากๆ เช่น .357 Magnum ด้วยปืนที่มีน้ำหนักเบาแต่มีไกปืนเกือบ 12 ปอนด์ และต้องยิงเร็วเช่นนั้น จำเป็นต้องใช้เทคนิคที่แตกต่างออกไป


การกำด้ามหลวมๆอาจเหมาะกับการยิงเป้าหมายระยะไกลเพื่อความแม่นยำ ปรมจารย์ Jeff Cooper ใช้วิธีนี้ เขาแนะนำว่าควรกำด้ามปืนเบาเหมือนกำนกกระจอกอยู่ในมือ ให้กำด้ามปืนแน่นพอที่ปืนจะไม่หลุดมือก็พอ อย่างไรก็ตามปืนที่ Jeff Cooper ใช้นั้นเป็นปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติ 1911 Government Model น้ำหนักปืนขณะไม่มีกระสุน 39 ออนส์ โดยมีน้ำหนักไกแค่ 3 ปอนด์เท่านั้น ซึ่งปืนแบบนี้แทบจะไม่มีใช้ในการป้องกันตัวแล้ว


ในกลุ่มที่กำด้ามปืนกลางๆไม่เบาหรือแน่นเกินไป พวกเขาจะกำด้ามปืนแน่นจนมือเริ่มสั่นแล้วคลายออกเล็กน้อย ในการยิงสมัยใหม่หากถือปืนสองมือมักแนะนำให้มือหนึ่งออกแรง 40 เปอร์เซ็นต์ อีกข้างออกแรง 60 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนักยิงปืนระดับแชมป์หลายคนใช้เทคนิคนี้ จุดสำคัญคือ การออกแรงกำด้ามปืนอย่างสม่ำเสมอตลอดเวลา


กลุ่มที่นิยมกำด้ามแน่นๆจะกำด้ามปืนแน่นที่สุดเท่าที่จะทำได้จนมือสั่น เขาให้เหตุผลว่าในภาวะกดดันมีแนวโน้มสูงที่มือจะสั่นอยู่แล้ว เราจึงควรทำตัวให้คุ้นเคยกับมันเสียแต่เน่นๆ อีกทั้งหากคนร้ายพยายามแย่งปืนในมือของคุณ การกำด้ามปืนแน่นสามารถลดโอกาสที่จะถูกแย่งปืนไปได้ นอกจากนั้นในการแข่งขันยิงปืนมีแชมป์โลกที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง คือนาย Rob Leatham เขาจะกำด้ามปืนแน่นที่สุดเท่าที่จะทำได้ และมีแชมป์ยิงปืนระดับโลกอีกหลายคนใช้วิธีนี้เช่นกัน


เทคนิคการกำด้ามปืนมีหลายวิธี แต่ละวิธีเป็นเพียงเครื่องมือ (Tool) ในการที่จะสามารถส่งกระสุนเข้าเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ ไม่มีสูตรสำเร็จเพียงสูตรเดียวที่ดีที่สุดสำหรับทุกสถานการณ์และใช้ได้กับทุกคน มีคำกล่าวที่ว่า YMMV หรือ Your Mileage May Vary บ่งบอกว่าคุณต้องเลือกเทคนิคต่างๆเหล่านี้ให้เหมาะกับตัวคุณเอง หรือ เลือกเครื่องมือให้ถูกกับงาน นั่นเอง


การที่เทคนิคหนึ่งเหมาะกับครูฝึกไม่ได้หมายความว่าเหมาะกับลูกศิษย์ทุกคน การเรียนรู้หลายๆเทคนิคทำให้เราสามารถเลือกใช้ให้เหมาะกับตัวเราและสถานการณ์เบื้องหน้าได้


สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”


เรียบเรียงโดย Batman


อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Primary Hand Grasp ของ Massad Ayoob

Newcastle limousines