Monday, April 19, 2010

Revolver for home defense

Revolver for home defense



ปืนลูกโม่ (Revolver) รูปลักษณ์ภายนอกเปลี่ยนแปลงน้อยมากตลอดระยะเวลากว่า 110 ปี เป็นปืนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้เป็นอาวุธประจำกาย (Service guns) มานาน จนกระทั้งเปลี่ยนมาเป็นปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติเมื่อไม่กี่ปีมานี้


ตลาดอาวุธปืนในภาคประชาชนก็มักจะนิยมตามไปกับการเลือกใช้ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ดังนั้นปืนลูกโม่ก็ได้รับความนิยมลดลงเช่นกัน แต่ยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยเล็งเห็นถึงข้อได้เปรียบของปืนลูกโม่และใช้มันเพื่อการป้องกันตัวเองและสมาชิกในครอบครัว ดังนั้นบริษัทปืนใหญ่ๆ เช่น Smith & Wesson (S & W), Ruger, Taurus ยังคงผลิตปืนลูกโม่ออกมาขายอย่างต่อเนื่องตลอดมา


เหตุผลที่ใช้ปืนลูกโม่


ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถดึงสไลด์ของปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติได้อย่างดี หรือนิ้วแข็งแรงพอที่จะบรรจุกระสุนเข้าซองกระสุนได้อย่างไม่มีปัญหา โดยเฉพาะซองซึ่งสามารถบรรจุกระสุนได้หลายนัด (High-capacity pistol magazines) เนื่องจากสปริงในซองกระสุนจะแข็งมากขึ้นเรื่อยๆเมื่อบรรจุกระสุนเข้าไป


ในขณะที่แม้แต่คนซึ่งนิ้วมีข้ออักเสบอยู่ก็ยังสามารถดันลูกโม่ออกมา เทปลอกกระสุนทิ้ง แล้วบรรจุกระสุนใหม่ได้อย่างไม่ยากเย็นนัก


ไม่ใช่ทุกคนอยากเรียนรู้การใช้ปืนเพื่อป้องกันตัวด้วยเวลาอันยาวนาน สำหรับปืนลูกโม่แล้วไม่จำเป็นต้องเรียนรู้คันโยกต่างๆมากมาย เช่น คันลดนก คันค้างสไลด์ คันขึ้น Safety ไม่ต้องจดจำวิธีทำให้ปืนปลอดภัยซึ่งมีหลายขั้นตอน ในขณะที่ปืนลูกโม่แค่เปิดโม่ออก ปืนก็ปลอดภัยแล้ว


นาย Mark Moritz ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธปืนที่มีชื่อเสียง กล่าวไว้ว่า ปืนลูกโม่เป็นปืนที่เรียบง่ายและปลอดภัยที่สุด


การใช้อาวุธปืนเพื่อป้องกันตัว (Defensive Gun Usages, DGUs) หลายครั้งเกิดขึ้นในระยะประชิดตัวมากเรียกว่า ปากกระบอกปืนสัมผัสกับตัวคนเลยทีเดียว (Physical contact distance) ซึ่งปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติส่วนใหญ่หากอยู่ในระยะเช่นนี้อาจทำให้ปืนเกิดเหตุติดขัดได้ (เมื่อปลายปากกระบอกปืนถูกดันให้ชิดผิวหนังมากเกินไป สไลด์อาจถูกดันถอยหลังไปเล็กน้อยทำให้ไม่สามารถเหนี่ยวไกได้ แม้แต่เมื่อสไลด์ถูกปล่อยให้เดินหน้ากลับมาแล้ว แต่กลไกอื่นของปืนกลับไม่อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องก็ยังไม่สามารถทำการยิงได้) ในขณะที่ปืนลูกโม่ไม่มีปัญหาเหล่านี้เลย สามารถทำการยิงได้แม้ปลายปากกระบอกปืนถูกดันชิดกับผิวหนังคนร้าย เพราะกลไกทั้งหมดอยู่ด้านหลังลำกล้องปืน


ถึงแม้จะไม่ได้ยิงในระยะประชิดมากเช่นนี้ แต่เป็นการยิงระยะใกล้ (Close-quarter fighting) ซึ่งแขนที่ถือปืนอาจงออยู่ เช่น การยิงฉับพลันระดับเอว บางครั้งเมื่อใช้ปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติอาจมีเหตุติดขัดของปืนได้ เนื่องจากในการทำงานให้ครบวงรอบของปืนนั้น ต้องอาศัยการถือปืนที่มั่นคงพอสมควรเพื่อให้สไลด์สามารถถอยหลังและเดินหน้าได้สุด แต่ถ้าแขนงออยู่เมื่อสไลด์ถอยหลังอาจทำให้มือและปืนถอยหลังตามไปด้วย ส่งผลให้การทำงานของสไลด์ไม่สามารถถอยหลังได้สุดจึงเกิดเหตุติดขัดได้ ในขณะที่ปืนลูกโม่ “ไม่มีปัญหา”


กระสุนที่ใช้กับปืนสั้นกึ่งอัตโนมัตินั้นหากอ่อนอานุภาพไปเล็กน้อยก็อาจทำให้ปืนเกิดเหตุติดขัดได้แล้ว (ในการบริหารกลไกของปืนนั้นต้องใช้แรงถอยหลัง (Recoil) ของสไลด์ ดังนั้นหากกระสุนอ่อนอานุภาพแม้กระสุนจะยิงออกไปได้แต่การถอยหลังของสไลด์อาจไม่แรงพอที่จะบริหารกลไกให้ครบรอบได้ จึงไม่สามารถยิงกระสุนนัดต่อไปได้) ในขณะที่ปืนลูกโม่ไม่มีปัญหา ขอเพียงใช้กระสุนให้ตรงกับขนาดของปืนก็พอแล้ว


ในเรื่องของการพกซ่อนนั้นแม้แต่ปืนลูกโม่ลำกล้องมาตรฐาน 4 นิ้ว ก็สามารถพกซ่อนได้ไม่ยากเย็นนัก โดยใช้ซองพกซ่อนที่เอว บางคนใช้ปืนขนาดนี้พกซ่อนทุกวัน


เมื่อเปรียบเทียบปืนซึ่งใช้งานประจำ (Service guns) ทั้งปืนลูกโม่และปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติ ด้ามจับของปืนลูกโม่สามารถดัดแปลงให้เข้ากับมือของผู้ใช้ได้ง่ายกว่า เช่น ทำปลายด้ามปืนให้เรียวเล็กลงเพื่อง่ายแก่การพกซ่อนได้ด้วย


ในการยิงต่อสู้กันนั้น ความเร็วหมายถึงชีวิต (Speed is life) สำหรับปืนลูกโม่แล้วจึงมักยิงแบบ Double-action เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งต้องใช้แรงในการเหนี่ยวไกมากกว่าการยิงแบบ Single-action (น้ำหนักไกของ Single-action ประมาณ 2 ปอนด์กว่าๆ แต่ Double-action ประมาณ 10 ถึง 12 ปอนด์) และเมื่อยิงไปแล้วต้องคลายไกยาวประมาณเกือบครึ่งนิ้วเพื่อให้กลไกของปืนครบรอบการทำงานจึงจะยิงซ้ำได้ ในขณะที่ปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติอาจใช้น้ำหนักไกต่ำกว่านี้ เช่น 4 ปอนด์ และระยะคลายไกก็อาจสั้นกว่าเพียง 1 ส่วน 10 ของนิ้วเพื่อให้สามารถทำการยิงนัดต่อไปได้ ดังนั้นในการยิงด้วยปืนลูกโม่จึงมักแนะนำให้ใช้นิ้วชี้ข้อปลายสุดในการเหนี่ยวไก เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่มีแรงมากที่สุดในการเหนี่ยวไก บางคนเรียกตำแหน่งนี้ว่า The power crease


สำหรับนาย Massad Ayoob แล้วเขาเห็นว่า ปืนลูกโม่ Double-action ขนาด .38 หรือ .357 นิ้ว ความยาวลำกล้อง 4 นิ้ว เพียงพอสำหรับการป้องกันตัว และได้รับการพิสูจน์ถึงความเชื่อถือได้ของกลไกมาตลอดระยะเวลาอันยาวนาน อีกทั้งมีอำนาจเพียงพอในการหยุดยั้งภัยคุกคาม


สำหรับปืนขนาด .38 นิ้ว พยายามใช้กระสุนที่มีแรงขับมากๆ เช่น +P โดยเฉพาะแบบ Lead semi-wadcutter hollow point ขนาด 158 เกรน ซึ่งพบว่ามีอำนาจหยุดยั้ง (Stopping power) เท่ากับกระสุน Hardball 230 เกรน ขนาด .45 นิ้ว แต่ไม่มีปัญหาเรื่องการทะลุทะลวงที่มากเกินไปและอันตรายจากการสะท้อนของกระสุน (Ricochet potential) น้อยกว่า


ปืนขนาด .357 Magnum นั้นควรใช้กระสุนขนาด 125 เกรน Semi-jacketed hollow point ซึ่งมีข้อมูลพบว่าอาจมีอำนาจหยุดคน (Man-stopper) ได้ดีที่สุด


ส่วนเรื่องความแม่นยำของปืนก็ไม่ได้เป็นรองปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติแม้แต่น้อย ในขณะที่ราคาของปืนอาจต่ำกว่าเสียด้วยซ้ำ ดังนั้นเมื่อคิดความคุ้มค่าแล้วปืนลูกโม่อาจได้เปรียบปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติอยู่บ้าง


หากจะใช้ปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติให้ได้ดีนั้นยังมีสิ่งที่ต้องเรียนรู้อีกมาก นอกจากเทคนิคการยิงแล้วยังต้องเรียนรู้การแก้ไขเหตุติดขัดของปืนในรูปแบบต่างๆอีกมาก ในขณะที่ปืนลูกโม่มักเน้นที่เทคนิคการยิงเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากเหตุติดขัดเกิดขึ้นน้อยมากและแก้ไขไม่ยาก


การใช้อาวุธปืนในภาคประชาชนเพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สินนั้นมีความแตกต่างจากตำรวจและทหารเนื่องจากสภาพของภัยคุกคามซึ่งต่างกัน ดังนั้นการเลือกใช้อาวุธปืนจึงไม่ควรยึดถือตามตำรวจหรือทหารมากนัก ปืนลูกโม่ยังคงเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับประชาชนทั่วไป เนื่องจากความเรียบง่ายในการใช้งาน การดูแลรักษา การฝึกฝน และความเชื่อถือได้ของกลไกการทำงาน ส่วนเรื่องจำนวนกระสุนนั้น ส่วนใหญ่การยิงปืนต่อสู้ในเขตเมืองมักใช้วงกระสุนประมาณ 2 ถึง 3 นัด ซึ่งปืนลูกโม่เพียงพอสำหรับการใช้งานส่วนใหญ่


TAS สอนทั้งปืนลูกโม่และปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติ โดยเราแนะนำให้ผู้เริ่มต้นควรเรียนรู้จากปืนลูกโม่ก่อน แต่ก็ควรหัดใช้ปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติด้วยเช่นกัน ในการฝึกอบรมผู้รับการฝึกมือใหม่จึงมักได้มีโอกาสใช้ทั้งปืนลูกโม่และปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติ


สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”


เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Mastering the Revolver ของ Massad Ayoob

Monday, April 12, 2010

A Bullet Fired into the Air

A Bullet Fired into the Air



การยิงปืนด้วยกระสุนจริงขึ้นฟ้ามีอันตรายหรือไม่? เป็นคำถามที่หลายคนอยากทราบคำตอบ ที่ประเทศคูเวตหลังสงครามอ่าวครั้งแรกมีการยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อเฉลิมฉลอง (Celebratory bullets) พบว่ามีชาวคูเวตเสียชีวิตประมาณ 20 คนจากกระสุนที่ตกมาจากฟ้า ที่เมืองลอสแองเจลลีส (Los Angeles) ประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 1985 ถึง 1992 แพทย์ ร.พ. King/Drew Medical Center รักษาคนไข้ 118 คน ซึ่งได้รับบาดเจ็บจากถูกกระสุนปืนยิงซึ่งตกมาจากฟ้า โดยมี 38 คนเสียชีวิต


กระสุนที่ถูกยิงขึ้นฟ้าเมื่อมันตกลงมายังมีความเร็วมากพอที่จะเจาะทะลุผิวหนังทำอันตรายอวัยวะภายในได้ กระสุนที่มีความเร็วระหว่าง 148 ถึง 197 ฟุตต่อวินาที สามารถผ่านทะลุผิวหนังมนุษย์ได้ ความเร็วที่น้อยกว่า 200 ฟุตต่อวินาที เพียงพอที่จะทำให้กระดูกแตกและเจาะกะโหลกได้


ในขณะที่กระสุนตกจากฟ้าสามารถมีความเร็วได้ถึง 600 ฟุตต่อวินาที ซึ่งสามารถทำอันตรายทุกส่วนของร่างกายได้ กระสุนยิ่งมีขนาดใหญ่ เช่น .45 นิ้ว จะมีความเร็วปลาย (Terminal velocity) ขณะตกสูงกว่ากระสุนที่มีขนาดเล็กกว่าเนื่องจากสัดส่วนของน้ำหนักและหน้าตัดของกระสุน การคำนวณความเร็วปลายเป็นการยากเนื่องจากหลายปัจจัย เช่น แรงเสียดทานจากแรงลม ความเร็วต้น ความหนาแน่นของอากาศ และทิศทางการเคลื่อนที่ของกระสุนขณะถูกยิงขึ้นฟ้าซึ่งอาจตกพื้นห่างออกไปหลายไมล์


จากข้อมูลพบว่า 77 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ซึ่งได้รับอันตรายจากกระสุนตกจากฟ้าจะได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ, 12 เปอร์เซ็นต์ที่ไหล่, 5เปอร์เซ็นต์ที่หลังส่วนบน, 2 เปอร์เซ็นต์ที่หน้าอกและคอ, 1 เปอร์เซ็นต์ที่แขนส่วนบนและเท้า


จากการทดลองพบว่า กระสุนปืนขนาด .38 นิ้วเมื่อยิงขึ้นฟ้าและตกถึงพื้นจะมีความเร็วปลายประมาณ 191 ฟุตต่อวินาที ส่วนกระสุนลูกซองขนาด triple-ought buckshot มีความเร็ว 213 ฟุตต่อวินาที


จะเห็นได้ว่ากระสุนปืนพกขนาดตั้งแต่ .38 นิ้วขึ้นไป กระสุนปืนไรเฟิล กระสุนปืนลูกซอง เมื่อยิงขึ้นฟ้าและตกลงมาสู่พื้นก็ยังมีความเร็วและพลังงานเหลือพอที่จะทำอันตรายมนุษย์ได้อย่างไม่ต้องสงสัย ตั้งแต่บาดเจ็บเล็กน้อยไปจนถึงเสียชีวิตขึ้นกับตำแหน่งที่ถูกกระสุน


ดังนั้นในการตรวจอาวุธปืนหรือการทำให้ปืนปลอดภัยสำหรับปืนสั้นกึ่งอัตโนมัตินั้น นอกจากการปลดซองกระสุน กระชากสไลด์ถอยหลัง 2 ถึง 3 ครั้ง มองดูในช่องรังเพลิงว่าไม่มีกระสุนค้างอยู่ แล้วเหนี่ยวไกยิงทิ้งไปหนึ่งครั้งโดยหันปากกระบอกปืนไปในทิศทางที่ปลอดภัย ซึ่งอาจหันไปที่เป้าซ้อมยิง (มี Back stop อยู่ด้านหลัง) หรืออาจหันไปที่พื้นดิน (ไม่ควรหันไปทางพื้นปูนซึ่งกระสุนอาจสะท้อนไปถูกคนอื่นได้) ไม่ควรเหนี่ยวไกขึ้นฟ้าหรือแม้แต่การยิงปืนขึ้นฟ้าอย่างตั้งใจ เพราะกระสุนอาจตกไปถูกผู้บริสุทธิ์เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้


TAS สอนการตรวจอาวุธปืนอย่างถูกต้อง และการใช้อาวุธปืนอย่างปลอดภัย


สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”


เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Can a falling bullet be lethal at terminal velocity? Cardiac injury caused by a celebratory bullet ของ Angelo N. Incorvaia, et al., Can a bullet fired into the air kill someone when it comes down? ของ Cecil Adams

Sunday, April 4, 2010

Concealed Carry for Civilian

Concealed Carry for Civilian



ปกติเมื่อพกอาวุธปืนใส่ซองพกนอกบริเวณเข็มขัด ตำแหน่งซึ่งใช้ประจำ เรียกว่า Old FBI style โดยปืนจะอยู่ที่ตำแหน่งประมาณ 4 นาฬิกาของมือข้างถนัด และเอียงด้ามปืนมาข้างหน้าเล็กน้อยเพื่อให้หยิบจับได้สะดวก (แบ่งบริเวณรอบเอวตามตำแหน่งของเข็มนาฬิกา โดยบริเวณหัวเข็มขัดถือเป็นตำแหน่ง 12 นาฬิกา ด้านขวาเป็น 3 นาฬิกา ด้านซ้ายเป็น 9 นาฬิกา ด้านกลางหลังเป็น 6 นาฬิกา) เป็นตำแหน่งพกปืนซึ่งใช้บ่อยของเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร


แต่สำหรับประชาชนทั่วไปแล้วการพกอาวุธแบบเปิดเผยเช่นนี้เป็นสิ่งผิดกฏหมายและไม่เหมาะสม ในบางสถานการณ์ถึงแม้กฏหมายอาจอนุญาติให้พกพาอาวุธติดตัวไปได้ เราก็มักใช้วิธีพกซ่อนเสียมากกว่าถึงแม้จะเป็นปืนลำกล้องยาวมาตรฐานก็ตาม เช่น ปืนลูกโม่ลำกล้อง 4 นิ้ว ปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติลำกล้อง 5 นิ้ว เป็นต้น


การพกซ่อนนั้นแบ่งเป็นสองรูปแบบใหญ่ๆ คือ พกติดตัว กับ พกนอกตัว การพกนอกตัวเช่น ใส่อาวุธปืนไว้ในกระเป๋าถือ ใส่ในลิ้นชักรถ ใต้เก้าอี้นั่ง เป็นต้น ส่วนการพกติดตัวนั้นก็มีหลายตำแหน่งเช่นกัน


ถ้าปืนมีขนาดเล็กซึ่งมักเป็นปืนสำรอง (Backup gun, BUG) อาจพกซ่อนที่ข้อเท้าโดยใช้ซองพกซึ่งติดบริเวณข้อเท้า (Ankle holster) หรืออาจใส่ปืนไว้ในกระเป๋ากางเกง (ถ้าปืนนั้นเล็กพอ) นอกจากนั้นอาจคาดเอวไว้ด้านในของกางเกงแล้วนำชายเสื้อมาคลุมทับไว้ (มีเสื้อบางแบบที่ออกแบบมาสำหรับพกซ่อนปืนบริเวณเอวโดยเฉพาะ) สำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบอาจใช้ซองปืนคาดหน้าอกซึ่งปืนจะอยู่บริเวณใต้รักแร้ของมือข้างไม่ถนัดหรือทั้งสองข้างแล้วนำเสื้อ Jacket มาคลุมทับซ่อนไว้


สำหรับประชาชนทั่วไปการพกซ่อนปืนความยาวมาตรฐานนั้นนิยมพกบริเวณเอวของมือข้างถนัด โดยนำชายเสื้อมาคลุมทับไว้ อาจใช้หรือไม่ใช้ซองพกในก็ได้ ตำแหน่งที่ใช้บ่อย คือ


- Mexican carry เป็นตำแหน่งเดียวกับ Old FBI style แต่แทนที่จะพกด้านนอกเข็มขัดก็นำมาเหน็บไว้ภายในกางเกง


- 2 O’clock position หรือ Appendix carry เป็นการพกซ่อนโดยเหน็บปืนไว้บริเวณเอวที่ตำแหน่ง 2 นาฬิกาของมือข้างถนัด โดยหันด้ามปืนไปด้านเดียวกับมือข้างถนัด เป็นตำแหน่งที่มีประโยชน์มากเพราะง่ายและรวดเร็วในเข้าถึงปืนเพื่อนำมาใช้งาน


ส่วนการพกรอบเอวบริเวณอื่นเช่น เอวด้านหลัง หรือด้านหน้าหลังหัวเข็มขัดนั้นไม่นิยมและการเข้าถึงอาวุธยากกว่าตำแหน่งอื่น อีกทั้งไม่สะดวกในการพกจึงไม่แนะนำ (แต่การตรวจอาวุธพกซ่อนของเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้นต้องตรวจรอบเอว ไม่ใช่ตรวจเฉพาะบางตำแหน่งเท่านั้น)


Appendix carry นั้นนอกจากใช้พกอาวุธปืนแล้วยังอาจใช้พกซ่อนอาวุธอื่นได้อีก เช่น มีด กระบอง Baton เป็นต้น


ในการใช้หรือพกพาอาวุธปืนนั้นขอให้อยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย เมื่อจำเป็นจะต้องพกซ่อนก็อาจใช้หลักการดังกล่าวช่วยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น


สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”


เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Open coat draw secrets และ Springfield armory XD .45 ACP ของ Massad Ayoob

Newcastle limousines