Saturday, April 30, 2011

The World’s Greatest Equalizer


The World’s Greatest Equalizer

ในข่าวพาดหัวหลายครั้งกล่าวถึง ปืนลูกซองว่าเป็น อาวุธสังหาร ซึ่งนาย Paul W. Abel (เจ้าของ Shoot-N-Iron Practical Shooting & Training Academy) ก็เห็นด้วยว่าปืนลูกซองถือเป็นอาวุธสังหาร แต่สิ่งอื่นๆก็สามารถเป็นอาวุธสังหารได้เช่นกัน เช่น มีด ไม้ ขวดน้ำ เก้าอี้ ปากกา ก้อนอิฐ เป็นต้น

แน่นอนว่าอาวุธปืนทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นปืนสั้น ปืนลูกซอง ล้วนน่ากลัวในสายตาประชาชนทั่วไป และยิ่งถูกกระพือด้วยสื่อต่างๆ หรือกลุ่มต่อต้านอาวุธปืน (Anti-gunner) ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ออกมาในแง่ลบมากขึ้น แต่ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ปืนลูกซองได้ช่วยชีวิตประชาชนผู้บริสุทธิและครอบครัวของพวกเขามาหลายรายแล้ว

นาย Paul ไม่แนะนำให้ประชาชนต้องพยายามใฝ่หาปืนลูกซองเหมือนอย่างที่ตำรวจใช้งานเพื่อนำมาใช้ป้องกันตัว เพียงแต่หาปืนลูกซองที่จับถือและรู้สึกว่าใช้งานได้ถนัดมือ เพราะคนร้ายซึ่งถูกยิงด้วยปืนลูกซองของเราคงไม่ได้มีความหมายมากขึ้นถ้าถูกยิงจากปืนลูกซอง Remington 870 รุ่นใหม่ หรือจากปืนลูกซองลำกล้องคู่ทั่วไป

ไม่ว่าปืนสั้นหรือปืนลูกซองก็ถือว่าใช้เพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สินได้ดีทั้งสิ้น แต่ปืนสั้นอาจต้องฝึกฝนมากหน่อยกว่าจะมีความสามารถดีพอที่จะใช้งานได้อย่างน่าพึงพอใจ

นาย Bill Jordan (เจ้าหน้าที่ชายแดนสหรัฐและนักยิงปืนของสมาคม N.R.A. ที่มีชื่อเสียง) เคยกล่าวไว้ว่า ปืนลูกซอง (Shotgun) เป็น The World’s Greatest Equalizer (อาวุธซึ่งทำให้ทุกคนเท่าเทียมกันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก) ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

กระสุนของปืนลูกซองมีให้เลือกใช้ได้หลากหลายชนิด สำหรับประชาชนทั่วไปมักแนะนำให้ใช้กระสุน #OO buckshot เพื่อการเฝ้าบ้าน (Home defense) แต่กระสุนแบบนี้มีแรงถีบมากอยู่พอสมควร ผู้หญิงบางคนอาจกลัวที่จะยิงด้วยกระสุนแบบนี้ กระสุน Buckshot และกระสุนลูกโดด (Slugs) ต่างก็มีอำนาจทะลุทะลวงสูงอยู่เหมือนกัน ดังนั้นบางคนจึงใช้กระสุนที่มีอำนาจทะลุทะลวงน้อยกว่า เช่น กระสุน #6 ถึง #8 birdshot แทน นอกจากนั้นอาจใช้กระสุนที่มีดินขับน้อยลงก็ทำให้แรงถีบลดลงและคุมปืนได้ง่ายขึ้น

หลายคนอาจตั้งข้อสงสัยว่ากระสุนปืนที่มีอานุภาพน้อยลงเช่นนี้จะใช้งานในการหยุดยั้งคนร้ายได้ดีจริงหรือ เหตุการณ์ยิงปืนในบ้านหรือเพื่อป้องกันตัวเองนั้นมักเกิดขึ้นในระยะใกล้ ซึ่งระยะนี้ขนาดของกระสุนปืนลูกซองแทบจะไม่มีผลแตกต่างกันมากนัก

ในการตัดสินใจใช้อาวุธปืนนั้นขอให้ตอบคำถามสองข้อนี้ให้ได้ก่อน คือ มันสมเหตุสมผลที่จะต้องใช้อาวุธปืนหรือไม่ และ มันจำเป็นจะต้องใช้อาวุธปืนหรือไม่ ถ้าไม่แน่ใจก็จงอย่าใช้อาวุธปืน

สำหรับนาย Paul แล้วหากต้องตกอยู่ในสถานการณ์ซึ่งจำเป็นต้องใช้อาวุธปืนเพื่อป้องกันชีวิตและทรัพย์สิน เขาจะไม่ใช้อาวุธปืนสั้นในระยะซึ่งคนร้ายอยู่ไกลกว่าที่เขาฝึกยิงมา และถ้าเลือกได้ระหว่างการหยิบใช้ปืนสั้นหรือปืนลูกซองหากต้องเผชิญหน้ากับคนร้ายซึ่งมีอาวุธปืน เขาจะเลือก “ปืนลูกซอง”

สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”

                                                                                                            เรียบเรียงโดย Batman

             อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Shotguns for Home Defense ของนาย Paul W. Abel

Thursday, April 21, 2011

Zero a Pistol

Zero a Pistol


การยิงปืนให้ถูกเป้าหมายนั้นนอกจากทักษะในการยิงปืนของเราแล้ว การที่ศูนย์ปืนมีความเที่ยงตรงและแม่นยำก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน


การยิงปืนแข่งขันที่วัดความแม่นยำซึ่งใช้เป้าวงกลมดำ เรามักจัดศูนย์เล็งแบบนั่งแท่น (6 O’clock sight alignment) แต่สำหรับการยิงปืนระบบต่อสู้เรามักจัดศูนย์เล็งแบบเล็งจี้ (Center sight alignment) ไม่ว่าปืนที่เราต้องการใช้งานเพื่อป้องกันชีวิตและทรัพย์สินหรือเพื่อการกีฬาก็ควรมีการตั้งศูนย์ปืนให้เหมาะสมกับการเล็งที่จะใช้และระยะของเป้าหมาย จะขอยกตัวอย่างการตั้งศูนย์ปืนสั้นเพื่อใช้ป้องกันชีวิตและทรัพย์สินตามมาตรฐานของ NRA (National Rifle Association)


การตั้งศูนย์เล็งของปืนสั้นโดยทั่วไปมักปรับศูนย์หลังเป็นหลักเพราะทำได้ง่ายกว่าปรับศูนย์หน้า (ปืนนั้นจะต้องสามารถปรับศูนย์หลังได้ (Adjustable sights) ส่วนศูนย์ใบตาย (Fixed sights) มักไม่สามารถปรับได้หรือปรับได้เล็กน้อย) มีวิธีการทำด้วยการตั้งเป้าวงกลมดำไว้ที่ระยะ 15 ฟุต ให้ทำการเล็งยิงแบบศูนย์จี้ไปที่วงกลมดำตรงกลาง 5 นัด หากได้กลุ่มกระสุนที่ดี (กลุ่มกระสุนไม่ควรกว้างเกิน 9 นิ้ว) ก็ให้ปรับตั้งศูนย์หลังดังนี้ ปรับเคลื่อนศูนย์หลังไปยังทิศทางที่เราต้องการให้กลุ่มกระสุนของเราเคลื่อนไปตกที่เป้า เช่น เมื่อยิงไป 5 นัดแล้วกลุ่มกระสุนไปอยู่ทางด้านล่าง-ซ้ายของวงกลมดำ เราต้องการให้กลุ่มกระสุนเคลื่อนไปยังด้านบน-ขวา เพื่อให้กลุ่มกระสุนเข้าตรงกลางวงกลมดำ ก็ต้องปรับศูนย์หลังให้สูงขึ้นเล็กน้อยและขยับไปทางขวาเล็กน้อย แล้วทำการยิงอีก 5 นัด เพื่อดูว่ากลุ่มกระสุนไปตกยังตำแหน่งที่ต้องการหรือไม่ ค่อยๆปรับแก้ไปทีละเล็กละน้อยจนได้กลุ่มกระสุนที่ดีและตรงเป้าหมายที่เราต้องการ


ปืนที่ศูนย์หลังสามารถปรับได้นี้จะต้องมีการยิงตรวจสอบกลุ่มกระสุนและความแม่นยำเป็นระยะๆ เพราะบางครั้งจากการพกพาอาวุธปืนหรือมีการซ้อมยิงปืนเป็นจำนวนมาก อาจทำให้มีการเคลื่อนตัวของศูนย์หลังได้ ดังนั้นจึงต้องมีการยิงเพื่อตรวจความแม่นยำของศูนย์ปืนเป็นระยะๆ


ศูนย์ปืนที่ทำการปรับตั้งนั้นจะให้ความแม่นยำเฉพาะกับเป้าหมายในระยะนั้นเท่านั้น หากเป้าหมายอยู่ใกล้หรือไกลออกไปจากระยะที่ปรับตั้ง ความแม่นยำจะลดลงแต่ก็มักจะยังอยู่ในบริเวณที่ยอมรับได้


อาจมีรูปแบบการตั้งศูนย์ปืนอีกหลายวิธีขึ้นกับจุดประสงค์ของปืนที่จะนำไปใช้ เช่น อาจตั้งศูนย์ปืนที่ระยะ 15 หลา, 25 หลา, 50 หลา, 100 หลา เป็นต้น เนื่องจากต้องการใช้ในกีฬาล่าสัตว์ หรือการยิงปืนแข่งขันซึ่งจำเป็นต้องยิงเป้าหมายระยะไกลร่วมด้วย แต่สำหรับประชาชนทั่วไปซึ่งใช้ปืนเพื่อป้องกันตัวนั้น เหตุการณ์มักเกิดขึ้นในระยะใกล้ (ส่วนใหญ่ไม่เกิน 7 หลา) ดังนั้นบางท่านอาจตั้งศูนย์ปืนที่ระยะ 7 หลา ก็ได้


ความแม่นยำนั้นขึ้นกับความสามารถของผู้ยิงและกระสุนปืนเป็นหลัก ควรใช้กระสุนจริงที่จะใช้งานกับปืนนั้นๆในการตั้งศูนย์ปืน เพราะหากใช้กระสุนซ้อมซึ่งมีดินขับน้อยกว่ากระสุนจริง หากยิงเป้าหมายระยะไกลอาจเกิดความคลาดเคลื่อนได้มากกว่ากระสุนจริง แต่หากเป็นการตั้งเป้าระยะใกล้ เช่น ต่ำกว่า 25 หลา มักไม่ค่อยมีความแตกต่างกันนักสำหรับการใช้กระสุนจริงหรือกระสุนซ้อม


สำหรับ NRA ของอเมริกา ได้กำหนดหัวข้อพื้นฐานในการประเมินทักษะความสามารถในการใช้อาวุธปืนสั้นเพื่อป้องกันตัวเองในบ้าน ได้แก่ ความปลอดภัยในการใช้อาวุธปืน ความแม่นยำในการยิงที่ระยะ 15 ฟุต การปรับตั้งศูนย์ปืนที่ระยะ 15 ฟุต การดูแลรักษาความสะอาดของปืนอย่างปลอดภัย


สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”


เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Pre-Course Evaluation for the NRA Basic Personal Protection in the Home Course

Thursday, April 14, 2011

Put the Gun Down!


Put the Gun Down!


การใช้อาวุธปืนเพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สินนั้น เราต้องรู้ว่าเมื่อไรควรใช้อาวุธและเมื่อไรควรวางอาวุธ ในการป้องกันตัวด้วยอาวุธปืนนั้น นอกจากเราจะใช้อาวุธปืนด้วยเหตุผลที่เหมาะสมแล้ว อาวุธปืนนั้นอาจเป็นของเราเองหรือของผู้อื่นก็ได้ขึ้นกับสถานการณ์


เรารู้ว่าการใช้อาวุธปืนเพื่อป้องกันชีวิตและทรัพย์สินนั้นมักเกิดขึ้นในเคหะสถาน เช่น บ้านพัก เป็นต้น หากมีผู้บุกรุกหรือคนร้ายเข้ามาในบ้านโดยเจตนาร้าย เราอาจใช้อาวุธปืนเพื่อป้องกันตัวได้ตามสภาพที่เป็นจริง ในกรณีที่เราสามารถควบคุมคนร้ายได้ด้วยอาวุธปืนในมือของเรา หากเราหรือใครก็ตามแจ้งตำรวจและมีตำรวจมาเคาะประตูหรือเรียกอยู่ข้างนอก เมื่อตำรวจกำลังเข้ามา ขอให้เรารีบวางอาวุธปืนโดยเร็ว เพราะตำรวจไม่รู้จักเรา ไม่รู้ว่าเราเป็นคนดีหรือคนร้าย หากเขาเห็นเรามีอาวุธอยู่ในมือ เขาจะสันนิฐานไว้ก่อนว่าเราเป็นภัยคุกคาม หากเราไม่วางปืนลงอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้


ดังนั้นมีหลักสำคัญที่ถือปฏิบัติกัน ก็คือ วางอาวุธ “ก่อน” เห็นตำรวจ หากคุณเป็นสุจริตชนที่ใช้อาวุธปืนเพื่อป้องกันตัวไม่ว่าในสถานการณ์ใดๆก็ตาม หากตำรวจเข้ามาควบคุมสถานการณ์แล้ว ให้เราวางอาวุธก่อนที่จะเห็นตำรวจ อย่าลืมว่าตำรวจไม่รู้จักเรา ไม่รู้ว่าเราเป็นคนดีหรือคนร้าย ในสถานการณ์ที่มีความตึงเครียดสูง หากเราไม่วางอาวุธลงเมื่อเห็นตำรวจหรือไม่ทำตามคำสั่งของเขา เราอาจถูกยิงได้จากความเข้าใจผิด


นอกจากอาวุธปืนแล้วไม่ว่าเราถืออาวุธอะไรอยู่ก็ตาม เช่น มีด ไม้ ทุกสิ่งที่เราใช้เป็นอาวุธก็ต้องรีบวางลงเช่นกัน ปล่อยให้ตำรวจเข้ามารับผิดชอบสถานการณ์แทน และทำตามคำสั่งของเขาอย่างเคร่งครัด ห้ามวิ่งเข้าหาหรือวิ่งหนีเจ้าหน้าที่ตำรวจ หยุดอยู่กับที่รอให้เจ้าหน้าที่สั่งให้เคลื่อนที่ ชูมือขึ้นให้เจ้าหน้าที่เห็นมือของเราอย่างถนัดทั้งสองข้าง


การปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องในสถานกาณ์ที่มีอาวุธร้ายแรงเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นสิ่งสำคัญและควรเรียนรู้


สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”
                                                                                                            เรียบเรียงโดย Batman
                 อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจาก Surviving Disaster: Mall Shooting ของ Discovery channel

Friday, April 8, 2011

King of the Semi-Auto Cartridges


King of the Semi-Auto Cartridges


ในสมัยก่อนนั้นกระสุนขนาด .45 นิ้ว มีให้เลือกใช้อยู่เพียงแค่ไม่กี่แบบ เช่น กระสุนหัวกลม (Hardball) ซึ่งอาจหาซื้อได้หรือทำขึ้นช้เอง ปัญหาของกระสุน Hardball ก็คือ อำนาจทะลุทะลวงที่มากเกินไป แต่ปัจจุบันนี้มีการออกแบบกระสุนที่หลากหลายขึ้นและเหมาะแก่การใช้เพื่อป้องกันตัวอย่างยิ่ง


กระสุน .45 ACP หัวรู (Hollowpoint) ซึ่งผลิตจากโรงงานที่มีมาตรฐาน มีตั้งแต่หัวกระสุนขนาด 185, 200, 230 เกรน กระสุนเหล่านี้หลายรุ่นมีอำนาจหยุดยั้ง (Stopping power) อยู่ในอันดับต้นๆของตารางเปรียบเทียบอำนาจหยุดยั้งของกระสุน


ในแง่ของการป้องกันตัวนั้นอาจแบ่งปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ ปืนรุ่น 1911 กับ ปืนแบบอื่นๆ โดยปืนรุ่น 1911 นั้นส่วนใหญ่มักใช้กับกระสุน .45 ACP แต่ก็มีบางรุ่นที่ผลิตเพื่อใช้กับกระสุนขนาดอื่นๆ เช่น 9 ม.ม., 10 ม.ม., .38 Super เป็นต้น เป็นที่รู้กันว่ากระสุนปืน .45 ACP นั้นเก่าแก่กว่าปืนรุ่น 1911 แต่กระสุนแบบนี้ก็ยังคงยืนหยัดเป็นอันดับหนึ่งอยู่ได้


ในแง่ของอำนาจหยุดยั้งนั้นถึงแม้จะมีคู่แข่งที่สูสี อาทิเช่น กระสุน .357 Magnum, .40 S&W แต่กระสุน .45 ACP ก็ยังคงได้รับการยอมรับว่าเป็น King of the Semi-Auto Cartridges


ถึงแม้ปัจจุบันนี้ทหารและเจ้าหน้าที่ตำราจส่วนใหญ่ใช้กระสุนปืนขนาด 9 ม.ม. แต่ปืนรุ่น 1911 ที่ใช้กระสุน .45 ACP นั้น ยังมีหน่วยปฏิบัติการพิเศษของสหรัฐหลายหน่วยยังคงใช้เป็นหนึ่งในอาวุธประจำกายทั้งในสงครามอีรักและอัฟกานิสถาน


ปัจจุบันนี้มีแนวความคิดว่าปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติแบบ Double action มีความปลอดภัยในการพกพาและใช้งานกว่าปืน Single action ทั้งๆที่เมื่อหนึ่งร้อยกว่าปีก่อนปืนรุ่น 1911 ซึ่งเป็น Single action เป็นที่ยอมรับว่ามีความปลอดภัยสูงในการพกพาและใช้งานได้ดีแม้อยู่บนหลังม้าก็ตาม


สำหรับนาย John Taffin แล้ว เขาชอบปืน Double action ชอบปืนโครงโพลิเมอร์เช่นกัน และเขามีปืนเหล่านี้หลายกระบอกทีเดียว แต่สำหรับปืนประจำกายแล้วเขาก็ยังคงเลือกใช้ปืนรุ่น 1911 ที่ใช้กระสุน .45 ACP อยู่นั้นเอง


สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”

                                                                                                เรียบเรียงโดย Batman


          อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง America’s Pistol: The 1911 turns 100 ของนาย John Taffin

Newcastle limousines