Warning Shot
การยิงปืนขู่หรือยิงเตือน
(Warning Shot) เป็นการยิงไปยังตำแหน่งอื่นซึ่งไม่ใช่ภัยคุกคามเพื่อเตือนหรือขู่คนร้าย
แต่คุณจะมั่นใจได้อย่างไรว่ากระสุนนัดนั้นจะไม่ไปถูกสิ่งที่ไม่ควรโดนยิง
ในบางกรณีการยิงปืนขู่หรือเตือนคนร้ายนั้นอาจได้ผลทำให้หยุดชะงักและยอมแพ้
แต่หลายครั้งอาจทำให้สถานการณ์แย่ลงเสียอีก ตัวอย่างเช่น
นายตำรวจท่านหนึ่งในกรุงมะนิลาของฟิลิปปินส์ ได้ยินเสียงร้องตะโกนขอความช่วยเหลือ
เขาจึงรีบวิ่งไปดูพร้อมกับปืนลูกโม่ขนาด.38 Special 6 นัดอาวุธประจำกายในมือ เขาเผชิญหน้ากับคนร้ายบ้าระห่ำถือมีดยาวในมือทั้งสองข้าง
ไล่ฟันผู้บริสุทธิ์อย่างไม่เลือกหน้า
เขายิงปืนขู่ไปหนึ่งนัดแต่แทนที่คนร้ายจะชะงัก
มันกลับวิ่งเข้าใส่นายตำรวจคนนั้นอย่างไม่เกรงกลัว เขายิงขู่ขึ้นฟ้าไปอีกสองนัด
แต่ไม่สามารถทำให้คนร้ายเปลี่ยนใจได้ เขาจึงยิงใส่คนร้ายไปด้วยกระสุนที่เหลืออีกสามนัดแต่ก็พลาดเป้า
ในที่สุดนายตำรวจคนนั้นก็เสียชีวิต
อีกกรณีหนึ่งเกิดขึ้นในเขต
New England ของอเมริกาเมื่อคนร้ายบุกเข้ามาในบ้าน โดยเจ้าของบ้านซึ่งอยู่ในภาวะตึงเครียดทำให้มองเห็นชัดบริเวณกลางภาพ
(Tunnel vision) เล็งปืนสูงขึ้นไปกว่าเป้าหมายและยิงขู่ไปหนึ่งนัด
กระสุนกลับพุ่งเข้าใส่ร่างของผู้บริสุทธิ์ซึ่งยืนอยู่บนระเบียงบ้านชั้นบนห่างออกไป
ดังนั้นตำรวจอเมริกามักไม่ยิงปืนขู่หรือเตือนกับคนร้าย
และไม่แนะนำให้ประชาชนยิงปืนขู่เช่นกัน
แต่ต้องมีเหตุผลซึ่งสามารถอธิบายได้ว่าทำไมจึงไม่ยิงปืนเตือนก่อน
สำหรับประเทศไทยระบบกฎหมายมีความแตกต่างกับอเมริกาอยู่หลายส่วน
บางกรณีเมื่อเกิดขึ้นในอเมริกาอาจไม่มีความผิด แต่สถานการณ์อย่างเดียวกันหากเกิดขึ้นในประเทศไทยอาจต้องติดคุกติดตะราง
การยิงปืนขู่หรือเตือนนั้น สำหรับประชาชนอาจยังพอมีที่ใช้ขึ้นกับ...สถานการณ์ ตามความเห็นส่วนตัวไม่ควรยิงเกินหนึ่งนัด
เพื่อเก็บกระสุนส่วนใหญ่ไว้ใช้ป้องกันตัว
และในหลายกรณีก็อาจไม่จำเป็นต้องยิงเตือนก่อน
สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี
“สติ”
เรียบเรียงโดย
Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Warning Shot Misconceptions
ของ Massad Ayoob