Thursday, October 29, 2009

Making A Point
























Making A Point

มีข้อโต้เถียงกันมากมายเกี่ยวกับรูปแบบการเล็งปืนระหว่าง การเล็งยิงโดยมองศูนย์ปืน (Sighted fire) กับการยิงด้วยสัญชาติญาณ (Point-shooting) นาย Dave Spaulding รู้สึกประหลาดใจมากว่าทำไมโลกของการยิงปืนรู้สึกว่าต้องพยายามให้เราเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง

เขาเริ่มถามผู้ที่เคยผ่านประสบการณ์การใช้อาวุธปืนยิงต่อสู้ในสถานการณ์จริงตั้งแต่เขาอยู่โรงเรียนตำรวจในปี 1976 เป็นต้นมา หนึ่งในคำถามที่เขามักถามบ่อยๆก็คือ คุณจำได้ไหมว่าขณะที่ทำการยิงต่อสู้นั้นคุณเล็งปืนอย่างไร มองศูนย์หรือไม่มองศูนย์ปืน บ่อยครั้งที่คำตอบนั้นทำให้รู้สึกประหลาดใจ

ตามที่พวกเขาเหล่านั้นตอบมา ทุกคนพูดเหมือนกันว่าในช่วงที่เขารู้สึกตกใจมากและต้องยกปืนขึ้นทำการยิงทันทีนั้นไม่ได้มองศูนย์ปืนเลย เรียกว่ากำลังอยู่ในช่วงตื่นตระหนก (Panic mode)

มีหนังสืออยู่เล่มหนึ่งชื่อ Point Shooting--Fact or Fallacy เขียนโดย Randy Watt เป็นตำรวจหัวหน้าหน่วยพิเศษในเมือง Ogden รัฐ Utah ของอเมริกา เขาได้ทำการวิจัยภายในหน่วยของเขาเองดูว่าการยิงแบบ Point-shooting นั้นเหนือกว่าหรือด้อยกว่าการยิงแบบมองศูนย์ปืน

การศึกษาพบว่า Point-shooting นั้นประสิทธิภาพจะลดลงตามระยะห่างของเป้าหมายที่เพิ่มขึ้น แต่ก่อนนั้นหลายคนคุยว่า Point-shooting นั้นมีประสิทธิภาพดีจนถึงระยะ 25 หลา แต่สำหรับการศึกษาที่ Ogden นั้นพบว่า ภายในระยะไม่เกิน 5 หลาการยิงทั้งสองวิธีให้ผลไม่แตกต่างกัน แต่เมื่อระยะห่างเกิน 7 หลาพบว่าความแม่นยำลดลงชัดเจนเมื่อยิงด้วยวิธี Point-shooting

มีคนจำนวนมากพูดถึงความสามารถของมนุษย์ในการใช้ศูนย์ปืนขณะยิงต่อสู้ ผู้เชี่ยวชาญได้ให้ความเห็นไว้ว่า ขณะที่ระบบประสาทซิมพาทีทิค (Sympathetic nervous system, เป็นระบบประสาทอัตโนมัติที่ทำงานขณะที่มีความตื่นเต้น) ทำงาน โดยเฉพาะเมื่อเริ่มเข้าสู่การต่อสู้ ตาจะจ้องเขม่งไปที่ภัยคุกคามเพื่อที่จะรวบรวมข้อมูลว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น ร่างกายต้องการรู้ว่าภัยคุกคามกำลังทำอะไรเพื่อที่จะตัดสินใจและทำการตอบสนอง สมองต้องการข้อมูลที่ทันการณ์ (Real time information) ซึ่งจะส่งตรงมาจากการมองเห็น มันจะเป็นจริงได้หรือที่ใครสักคนจะละสายตาไปจากภัยคุกคามที่กำลังจะเข้ามาฆ่าเขาเพื่อไปมองเจ้าชิ้นโลหะเล็กๆที่กระบอกปืน

เรารู้ว่าพื้นฐานการยิงปืนที่ดีทำให้เกิดความแม่นยำ โดยพื้นฐานประกอบด้วย การกำด้ามปืน ตำแหน่งร่างกาย แนวปืนกับเป้า รูปแบบการเล็ง (Sight picture) การเหนี่ยวไกอย่างเหมาะสม ถ้าเราละเลยพื้นฐานการยิงปืนความแม่นยำก็จะไม่เกิดขึ้น แล้วการยิงแบบ Point-shooting นั้นถือว่าละเลยพื้นฐานการยิงปืนหรือไม่ สำหรับนาย Dave Spaulding แล้วเขาคิดว่า “ไม่”

นาย Dave Spaulding คิดว่าทุกคนก็ยิงแบบ Point-shooting อยู่แล้ว ลองมาดูว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อยกปืนขึ้นยิงเป้าหมาย ไม่ว่าจะเริ่มจากท่าเตรียมพร้อมหรือจากซองปืน ร่างกายส่วนบนจะต้องมีการเคลื่อนที่หลายอย่างเพื่อที่จะนำปืนขึ้นสู้แนวสายตากับเป้าทุกครั้ง

เนื่องจากการยิงเกิดจากร่างกายระดับเอวขึ้นไป ไม่ว่าเราจะยิงจากท่าต่างๆทั้งนอนคว่ำ นั่งคุกเข่า หรือยืน การเคลื่อนไหวแบบเดิมจะเกิดขึ้นเพื่อนำปืนเข้ามาสู่แนวเดิมตลอด ถ้าปืนเคลื่อนที่ในแบบเดิมๆเหมือนกันทุกครั้ง ปืนก็จะมาอยู่ในที่ๆคุณต้องการเสมอ นี่แหละคือ Point-shooting ในความคิดของนาย Dave Spaulding

ในแง่ความรู้สึกของการยิงปืนนั้นเราจะเน้นที่ทำการยิงอย่างถูกต้องมากกว่าการเล็ง ในความเป็นจริงตานั้นเป็นสิ่งสุดท้ายที่จะทำให้การยิงนั้นมีความแม่นยำ ลำตัว แขนและมือจริงๆแล้วเป็นสิ่งสำคัญในการยิงปืน

บางคนอาจไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้ เพราะเมื่อยิงปืนออกไปแล้วกระสุนกินต่ำเกินไป นัดต่อไปก็จะพยายามแก้ไข แต่จะมีสักกี่คนจะแก้ไขโดยการเพ่งความสนใจไปที่ศูนย์ปืนมากกว่าการเหนี่ยวไกให้ถูกต้อง เขาคิดว่าการยิงที่ผิดพลาดจำนวนมากเกิดจากการเหนี่ยวไกที่ไม่ดีมากกว่าการมองศูนย์ปืนที่ไม่ดี บางคนอาจบอกว่าการเหนี่ยวไกนั้นไม่สำคัญเพราะเป็นการยิงระยะใกล้ซึ่งเขาไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง

การเหนี่ยวไกที่ไม่ถูกต้องส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ไม่ได้แยกการเคลื่อนที่ของนิ้วที่ใช้เหนี่ยวไกออกจากนิ้วอื่นๆ ในสถานการณ์เผชิญหน้าความสามารถในการยิงจะไม่ขึ้นสูงสุดแต่จะกลับไปสู่ระดับพื้นฐานที่ได้รับการฝึกมาดังนั้นการฝึกเหนี่ยวไกจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก

นาย Dave Spaulding คิดว่าไม่ได้มีความแตกต่างกันอย่างมากระหว่างการยิงที่เล็งชัดที่ศูนย์ปืนหรือชัดที่เป้า เพราะทั้งสองวิธีก็ต้องการการเคลื่อนไหวที่สอดคล้องกัน หลายคนที่เคยยิงต่อสู้บอกกับเขาว่าจำไม่ได้ว่าได้มองศูนย์หรือเปล่าขณะที่ยิง แต่พวกเขาจำได้ว่าแนวปืนอยู่ในระดับสายตากับเป้า

บางคนที่ยืนยันว่าใช้ศูนย์ปืนในการยิงซึ่งเป็นปืนลูกโม่ศูนย์หน้ามีสี เขาจะยิงเมื่อเห็นสีของศูนย์หน้าแวบขึ้นมา (Flash of color) ระหว่างแนวเล็ง

เขาเห็นว่าการสอนให้ใครสักคนยิงปืนโดยมองศูนย์ปืนนั้นก็ไม่ได้ยกเว้นที่จะสามารถยิงโดยการมองเป้าเป็นหลัก ถ้าเราสามารถยกปืนขึ้นสู่แนวสายตากับเป้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถเหนี่ยวไกได้อย่างถูกต้องการมองศูนย์หรือไม่มองศูนย์คงไม่ใช่เรื่องสำคัญ

ลองฝึกยิงแบบนี้ดู ทำทุกอย่างเหมือนการยิงโดยมองศูนย์ปืนแต่ให้มองชัดที่เป้าแทน แล้วคุณจะแปลกใจว่าคุณก็ยิงได้ดีเช่นกัน ขอเน้นย้ำอีกครั้งว่า “ยิ่งใกล้ยิ่งดี”

TAS สอนให้ยิงโดยใช้สัญชาติญาณเป็นหลัก เนื่องจากการยิงส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในระยะใกล้ซึ่งไม่มีเวลามาเล็งละเอียด แต่ในบางสถานการณ์ เช่น การยิงหลังที่กำบังหรือเป้าหมายอยู่ไกลเกิน 7 หลาเราแนะนำให้เล็งละเอียดมากขึ้นเพื่อความแม่นยำ

สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี "สติ"

เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Making A Point ของ Dave Spaulding

Tuesday, October 20, 2009







Weak Hand?

ในการยิงปืนทั่วไปเรามักถือปืนด้วยมือข้างถนัด (Strong hand) เป็นหลักและใช้มือข้างไม่ถนัด (Weak hand) มาช่วยประคองปืนเมื่อถือปืนด้วยสองมือ ผู้ที่ฝึกยิงปืนมาอย่างดีจะสามารถถือปืนยิงด้วยมือเดียวได้ทั้งมือข้างถนัดและข้างไม่ถนัด แต่นักยิงปืนจำนวนไม่น้อยไม่ได้ฝึกการยิงปืนด้วยมือข้างไม่ถนัด ซึ่งทักษะนี้จะมีประโยชน์อย่างมากในการยิงปืนแข่งขันและอาจช่วยชีวิตคุณได้ในการยิงต่อสู้จริง

Tony Holmes เขาเป็น USPSA Grand Master และเป็นนักกีฬา Three gun competitor ที่โดดเด่น ถ้าสถานการณ์และเวลาเหมาะสมเมื่อต้องยิงด้วยมือข้างไม่ถนัด เขาจะใช้ Classic “bullseye” stance โดยยืนเท้าห่างประมาณเท่ากับความกว้างของหัวไหล่ หันลำตัวขนานกับเป้า(ยืนประจันหน้ากับเป้าตรงๆ)

นาย Tony ไม่คิดว่าท่ายืนเป็นสิ่งที่สำคัญนัก แต่การเหนี่ยวไก (Trigger control) สำคัญที่สุด เขาจะถือปืนโดยไม่เอียงปืน เล็งผ่านศูนย์ปืน เตรียมที่จะเหนี่ยวไกและทำการเหนี่ยวไกปืน เมื่อต้องการทำการยิงด้วยความแม่นยำ เนื่องจากไกของปืนกึ่งอัตโนมัติส่วนใหญ่จะมีช่วงลากไกยาวก่อนที่จะถึงระยะซึ่งกระสุนจะลั่นออกไป ดังนั้นในนักยิงปืนที่เก่งจะสามารถฝึกการเหนี่ยวไกโดยวิธี Prep and Press (รู้ว่าระยะของไกปืนตำแหน่งไหนเมื่อกดเพิ่มอีกเล็กน้อยกระสุนจะลั่นออกไป เมื่อยิงไปแล้วก็แค่ผ่อนไกออกมาเล็กน้อยไม่ปล่อยจนสุดแล้วทำการยิงต่อ วิธีนี้ทำให้ยิงได้ต่อเนื่องและเร็วโดยการทำงานของปืนไม่ติดขัด) ซึ่งจะทำได้อย่างนี้ต้องอาศัยการฝึกฝนบ่อยๆเท่านั้น

นาย Mark Hannish เป็น USPSA Grand Master เช่นกันและเป็นครูสอนยิงปืนที่ Scottdales Gun Club ในรัฐอริโซน่า เขาแนะนำว่า เริ่มจากการส่งปืนไปยังมือข้างไม่ถนัดอย่างราบรื่น โดยยึดกฎแห่งความปลอดภัยไว้เสมอ (นิ้วอยู่นอกโกรงไก ปากกระบอกปืนชี้ไปในทิศทางที่ปลอดภัย) เมื่อต้องการยิงด้วยความแม่นยำเขาจะถือปืนโดยไม่เอียงปืน เล็งผ่านศูนย์ปืน และใส่ใจกับการเหนี่ยวไกให้มาก ไม่ต้องกังวลกับแรงถีบของปืน ถึงแม้มันอาจจะถีบมากหน่อยก็ตาม

แต่ถ้าเป็นการยิงเป้าหมายในระยะใกล้ (Close range) เขาจะเอียงปืนเล็กน้อยแต่ไม่ถึงกับขนานกับพื้นเหมือนที่เห็นในภาพยนตร์ การถือปืนโดยเอียงเล็กน้อยหรือตั้งตรงก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่แต่อย่างใด ในระยะใกล้เช่นนี้ให้ “มอง” ผ่านศูนย์ปืน (ไม่ต้องเล็งละเอียด แค่มองผ่านศูนย์หลัง ศูนย์หน้าและเห็นเป้าหมาย เรียกว่า การเล็งเป้าหมายที่พอยอมรับได้ หรือ Acceptable sight picture) แล้วทำการยิงให้เร็ว เหนี่ยวไกอย่างราบรื่น โดยข้อแนะนำในการเหนี่ยวไกคือ ให้กดไกเข้าหาด้ามปืนตรงๆด้วยนิ้วมือ อย่าใช้นิ้วดันด้านข้างของไกปืนจากด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่งเพื่อทำการเหนี่ยวไก (เป็นข้อผิดพลาดที่พบบ่อยในนักยิงปืนหลายคน)

นาย Bruce Piatt ชนะการแข่งขัน Bianchy Cups หลายครั้งและเป็นนักกีฬายิงปืนมานาน นอกจากนั้นเขายังเป็นตำรวจและครูสอนยิงปืนให้กับตำรวจอีกด้วย ในการยิงปืนแข่งขันนั้นหลักการยิงปืนก็ไม่ได้แตกต่างจากนักยิงปืนชั้นยอดคนอื่นๆ กล่าวคือ ถือปืนตั้งตรงไม่เอียง เล็งผ่านศูนย์ปืนและทำการเหนี่ยวไกโดยกดไกเข้ามาตรงๆอย่างราบรื่น

ในการฝึกให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจในแผนกของเขา นาย Bruce จะแนะนำให้ใช้ท่ายืนที่เรียกว่า Locked-up stance หรือ Street stance เนื่องจากงานในหน้าที่ซึ่งอาจต้องใช้อาวุธปืน พวกเขาไม่ได้ต้องการยิงปืนเป็นร้อยๆนัด ดังนั้นการควบคุมแรงถีบของปืนจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ (ทำให้ยิงต่อเนื่องได้เร็วและแม่นยำมากขึ้น)

เขาสอนให้ยืนโน้มตัวมาข้างหน้า แก้มแนบชิดแน่นกับหัวไหล่ โดยลำตัวส่วนบนทั้งหมดจะเสมือนเป็นหน่วยเดียวกัน เมื่อทำการยิงลำตัวส่วนบนจะทำหน้าที่รับแรงถีบของปืนและสามารถควบคุมปืนกลับมาสู่ตำแหน่งพร้อมยิงเป้าหมายได้เร็ว ถึงแม้ท่ายิงนี้อาจดูแข็งไปบ้างแต่ในสถานการณ์จริงนั้นเราคงไม่ได้ยิงในระยะ 25 หลาเหมือนการแข่งขัน เราต้องการยิงให้ถูกเป้าหมายให้เร็วที่สุด

TAS สอนการยิงปืนด้วยมือเดียวทั้งจากข้างถนัดและข้างไม่ถนัดด้วยท่า Locked-up หรือ Street stance เป็นหลัก แม้แต่การยิงปืนด้วยสองมือในท่า Chapman เราก็แนะนำให้ใช้หลักการนี้ร่วมด้วย (โน้มตัวมาข้างหน้า แก้มแนบหัวไหล่) และให้ย่อตัวลงเล็กน้อย อีกทั้งการยิงในภาวะแสงต่ำหากใช้หลักการนี้ร่วมในการถือปืนจะทำให้เรารู้ตำแหน่งของปืนได้ตลอดเวลา (แม้จะไม่มีไฟฉายก็ตาม) เพิ่มความแม่นยำในการยิงปืนในภาวะแสงต่ำได้

ในการยิงปืนระบบต่อสู้มักแนะนำให้ใช้ท่ายืน Weaver หรือ Chapman เป็นส่วนใหญ่และย่อตัวลงเล็กน้อย เพื่อให้เราเป็นเป้าที่เล็กลงและพร้อมที่จะเคลื่อนที่ได้ตลอดเวลา แต่การเรียนรู้ท่ายิงอื่นๆก็เป็นสิ่งจำเป็นซึ่งเราสามารถเลือกนำมาใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ได้

สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”

เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Weak Hand? ของ Dave Anderson

Newcastle limousines