Making A Point
มีข้อโต้เถียงกันมากมายเกี่ยวกับรูปแบบการเล็งปืนระหว่าง การเล็งยิงโดยมองศูนย์ปืน (Sighted fire) กับการยิงด้วยสัญชาติญาณ (Point-shooting) นาย Dave Spaulding รู้สึกประหลาดใจมากว่าทำไมโลกของการยิงปืนรู้สึกว่าต้องพยายามให้เราเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง
เขาเริ่มถามผู้ที่เคยผ่านประสบการณ์การใช้อาวุธปืนยิงต่อสู้ในสถานการณ์จริงตั้งแต่เขาอยู่โรงเรียนตำรวจในปี 1976 เป็นต้นมา หนึ่งในคำถามที่เขามักถามบ่อยๆก็คือ คุณจำได้ไหมว่าขณะที่ทำการยิงต่อสู้นั้นคุณเล็งปืนอย่างไร มองศูนย์หรือไม่มองศูนย์ปืน บ่อยครั้งที่คำตอบนั้นทำให้รู้สึกประหลาดใจ
ตามที่พวกเขาเหล่านั้นตอบมา ทุกคนพูดเหมือนกันว่าในช่วงที่เขารู้สึกตกใจมากและต้องยกปืนขึ้นทำการยิงทันทีนั้นไม่ได้มองศูนย์ปืนเลย เรียกว่ากำลังอยู่ในช่วงตื่นตระหนก (Panic mode)
มีหนังสืออยู่เล่มหนึ่งชื่อ Point Shooting--Fact or Fallacy เขียนโดย Randy Watt เป็นตำรวจหัวหน้าหน่วยพิเศษในเมือง Ogden รัฐ Utah ของอเมริกา เขาได้ทำการวิจัยภายในหน่วยของเขาเองดูว่าการยิงแบบ Point-shooting นั้นเหนือกว่าหรือด้อยกว่าการยิงแบบมองศูนย์ปืน
การศึกษาพบว่า Point-shooting นั้นประสิทธิภาพจะลดลงตามระยะห่างของเป้าหมายที่เพิ่มขึ้น แต่ก่อนนั้นหลายคนคุยว่า Point-shooting นั้นมีประสิทธิภาพดีจนถึงระยะ 25 หลา แต่สำหรับการศึกษาที่ Ogden นั้นพบว่า ภายในระยะไม่เกิน 5 หลาการยิงทั้งสองวิธีให้ผลไม่แตกต่างกัน แต่เมื่อระยะห่างเกิน 7 หลาพบว่าความแม่นยำลดลงชัดเจนเมื่อยิงด้วยวิธี Point-shooting
มีคนจำนวนมากพูดถึงความสามารถของมนุษย์ในการใช้ศูนย์ปืนขณะยิงต่อสู้ ผู้เชี่ยวชาญได้ให้ความเห็นไว้ว่า ขณะที่ระบบประสาทซิมพาทีทิค (Sympathetic nervous system, เป็นระบบประสาทอัตโนมัติที่ทำงานขณะที่มีความตื่นเต้น) ทำงาน โดยเฉพาะเมื่อเริ่มเข้าสู่การต่อสู้ ตาจะจ้องเขม่งไปที่ภัยคุกคามเพื่อที่จะรวบรวมข้อมูลว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น ร่างกายต้องการรู้ว่าภัยคุกคามกำลังทำอะไรเพื่อที่จะตัดสินใจและทำการตอบสนอง สมองต้องการข้อมูลที่ทันการณ์ (Real time information) ซึ่งจะส่งตรงมาจากการมองเห็น มันจะเป็นจริงได้หรือที่ใครสักคนจะละสายตาไปจากภัยคุกคามที่กำลังจะเข้ามาฆ่าเขาเพื่อไปมองเจ้าชิ้นโลหะเล็กๆที่กระบอกปืน
เรารู้ว่าพื้นฐานการยิงปืนที่ดีทำให้เกิดความแม่นยำ โดยพื้นฐานประกอบด้วย การกำด้ามปืน ตำแหน่งร่างกาย แนวปืนกับเป้า รูปแบบการเล็ง (Sight picture) การเหนี่ยวไกอย่างเหมาะสม ถ้าเราละเลยพื้นฐานการยิงปืนความแม่นยำก็จะไม่เกิดขึ้น แล้วการยิงแบบ Point-shooting นั้นถือว่าละเลยพื้นฐานการยิงปืนหรือไม่ สำหรับนาย Dave Spaulding แล้วเขาคิดว่า “ไม่”
นาย Dave Spaulding คิดว่าทุกคนก็ยิงแบบ Point-shooting อยู่แล้ว ลองมาดูว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อยกปืนขึ้นยิงเป้าหมาย ไม่ว่าจะเริ่มจากท่าเตรียมพร้อมหรือจากซองปืน ร่างกายส่วนบนจะต้องมีการเคลื่อนที่หลายอย่างเพื่อที่จะนำปืนขึ้นสู้แนวสายตากับเป้าทุกครั้ง
เนื่องจากการยิงเกิดจากร่างกายระดับเอวขึ้นไป ไม่ว่าเราจะยิงจากท่าต่างๆทั้งนอนคว่ำ นั่งคุกเข่า หรือยืน การเคลื่อนไหวแบบเดิมจะเกิดขึ้นเพื่อนำปืนเข้ามาสู่แนวเดิมตลอด ถ้าปืนเคลื่อนที่ในแบบเดิมๆเหมือนกันทุกครั้ง ปืนก็จะมาอยู่ในที่ๆคุณต้องการเสมอ นี่แหละคือ Point-shooting ในความคิดของนาย Dave Spaulding
ในแง่ความรู้สึกของการยิงปืนนั้นเราจะเน้นที่ทำการยิงอย่างถูกต้องมากกว่าการเล็ง ในความเป็นจริงตานั้นเป็นสิ่งสุดท้ายที่จะทำให้การยิงนั้นมีความแม่นยำ ลำตัว แขนและมือจริงๆแล้วเป็นสิ่งสำคัญในการยิงปืน
บางคนอาจไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้ เพราะเมื่อยิงปืนออกไปแล้วกระสุนกินต่ำเกินไป นัดต่อไปก็จะพยายามแก้ไข แต่จะมีสักกี่คนจะแก้ไขโดยการเพ่งความสนใจไปที่ศูนย์ปืนมากกว่าการเหนี่ยวไกให้ถูกต้อง เขาคิดว่าการยิงที่ผิดพลาดจำนวนมากเกิดจากการเหนี่ยวไกที่ไม่ดีมากกว่าการมองศูนย์ปืนที่ไม่ดี บางคนอาจบอกว่าการเหนี่ยวไกนั้นไม่สำคัญเพราะเป็นการยิงระยะใกล้ซึ่งเขาไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง
การเหนี่ยวไกที่ไม่ถูกต้องส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ไม่ได้แยกการเคลื่อนที่ของนิ้วที่ใช้เหนี่ยวไกออกจากนิ้วอื่นๆ ในสถานการณ์เผชิญหน้าความสามารถในการยิงจะไม่ขึ้นสูงสุดแต่จะกลับไปสู่ระดับพื้นฐานที่ได้รับการฝึกมาดังนั้นการฝึกเหนี่ยวไกจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก
นาย Dave Spaulding คิดว่าไม่ได้มีความแตกต่างกันอย่างมากระหว่างการยิงที่เล็งชัดที่ศูนย์ปืนหรือชัดที่เป้า เพราะทั้งสองวิธีก็ต้องการการเคลื่อนไหวที่สอดคล้องกัน หลายคนที่เคยยิงต่อสู้บอกกับเขาว่าจำไม่ได้ว่าได้มองศูนย์หรือเปล่าขณะที่ยิง แต่พวกเขาจำได้ว่าแนวปืนอยู่ในระดับสายตากับเป้า
บางคนที่ยืนยันว่าใช้ศูนย์ปืนในการยิงซึ่งเป็นปืนลูกโม่ศูนย์หน้ามีสี เขาจะยิงเมื่อเห็นสีของศูนย์หน้าแวบขึ้นมา (Flash of color) ระหว่างแนวเล็ง
เขาเห็นว่าการสอนให้ใครสักคนยิงปืนโดยมองศูนย์ปืนนั้นก็ไม่ได้ยกเว้นที่จะสามารถยิงโดยการมองเป้าเป็นหลัก ถ้าเราสามารถยกปืนขึ้นสู่แนวสายตากับเป้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถเหนี่ยวไกได้อย่างถูกต้องการมองศูนย์หรือไม่มองศูนย์คงไม่ใช่เรื่องสำคัญ
ลองฝึกยิงแบบนี้ดู ทำทุกอย่างเหมือนการยิงโดยมองศูนย์ปืนแต่ให้มองชัดที่เป้าแทน แล้วคุณจะแปลกใจว่าคุณก็ยิงได้ดีเช่นกัน ขอเน้นย้ำอีกครั้งว่า “ยิ่งใกล้ยิ่งดี”
TAS สอนให้ยิงโดยใช้สัญชาติญาณเป็นหลัก เนื่องจากการยิงส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในระยะใกล้ซึ่งไม่มีเวลามาเล็งละเอียด แต่ในบางสถานการณ์ เช่น การยิงหลังที่กำบังหรือเป้าหมายอยู่ไกลเกิน 7 หลาเราแนะนำให้เล็งละเอียดมากขึ้นเพื่อความแม่นยำ
สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี "สติ"
เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Making A Point ของ Dave Spaulding
No comments:
Post a Comment