Wednesday, November 4, 2009


























ท่ายืนยิงปืนสั้นระบบต่อสู้
3 ท่า

(Isosceles, Weaver, Chapman)

ท่ายืนยิงเหล่านี้เป็นท่ายิงปืนด้วยสองมือที่นิยมใช้กัน โดยทั้งสามท่าเป็นท่ามาตรฐานที่มักสอนกันทั่วไป

- Weaver stance ถูกคิดค้นขึ้นโดย นายตำรวจชื่อ Jack Weaver ชาวอเมริกัน ในช่วง ค.ศ. 1959 ซึ่งเขาแข่งขันชนะเลิศการยิงปืนหลายรายการจนมีชื่อเสียงด้วยท่ายิงที่แตกต่างจากคนอื่น (สมัยนั้นส่วนใหญ่ถือปืนยิงด้วยมือเดียว) จนบิดาของการยิงปืนสั้นสมัยใหม่อย่าง Jeff Cooper แนะนำให้ใช้ท่านี้เป็นหลักในการยิงปืนสั้นด้วยสองมือ (โดยเฉพาะที่สถาบันสอนยิงปืน Gunsite ของ Jeff Cooper)

ผู้ยิงที่ถนัดขวายืนเท้าห่างประมาณไหล่และถอยเท้าขวาไปข้างหลังครึ่งก้าวลำตัวเอียงประมาณ 45 องศาเข้าหาเป้า มือหลักที่ถือปืนยื่นออกไปข้างหน้าและงอข้อศอกเล็กน้อย(เกือบเหยียดตรง) มืออีกข้างจับรอบมือหลักช่วยพยุงปืนโดยงอข้อศอกมากกว่ามือหลักและทิศทางลงล่าง

ในการยิงปืนระบบต่อสู้จะงอเข่าทั้งสองข้างและโน้มตัวมาข้างหน้าเล็กน้อย เพื่อการทรงตัวที่ดี สามารถทำการเคลื่อนที่ได้ง่ายและควบคุมแรงถีบของปืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ท่ายิงนี้สามารถรับแรงถีบของปืนที่ใช้กระสุนขนาดใหญ่ได้ดีและทำการยิงซ้ำได้เร็ว เป็นที่นิยมอย่างมากในอเมริกาและอีกหลายประเทศ รวมทั้งในภาพยนตร์แนวบู๊ล้างผลาญของฮอลลีวูด

- Chapman stance หรือ Modified Weaver stance ถูกคิดค้นขึ้นโดย นาย Ray Chapman ชาวอเมริกัน เป็นนักยิงปืนในรุ่นราวคราวเดียวกับ Jeff Cooper เขาได้เห็นจุดเด่นของท่า Weaver stance และนำมาดัดแปลงเล็กน้อย โดยให้แขนข้างมือหลักที่ถือปืนเหยียดตรงออกไป เพื่อให้การถือปืนมีความมั่นคงมากขึ้น เนื่องจากใช้กล้ามเนื้อและกระดูกของแขนที่เหยียดตรงช่วยในการคุมปืน ทำให้ท่านี้ใช้ได้ง่ายกว่า Weaver stance ในคนที่กล้ามเนื้อท่อนบนของร่างกายไม่ค่อยแข็งแรงมากนัก

ในการยิงปืนระบบต่อสู้จะงอเข่า ย่อตัวลง และโน้มตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย นอกจากนั้นหากยกไหล่ข้างมือหลักที่ถือปืนขึ้นแนบแก้มและเล็งด้วยตาข้างเดียวกันจะทำให้แนวปืนมีความแม่นยำมากขึ้น คล้ายกับพานท้ายปืนยาวที่แนบแก้ม มีประโยชน์อย่างยิ่งเมื่อทำการยิงในภาวะแสงต่ำ เพราะหน้า แขน มือ และปืน จะอยู่ในแนวเดียวกันตลอดทำให้รู้ว่าแนวปืนอยู่ที่ใดแม้จะมองไม่เห็นในความมืดก็ตาม

- Isosceles stance คำว่า Isosceles หากแปลตามตัวแล้วหมายถึง มีด้านเท่ากันสองด้าน เช่น สามเหลี่ยมด้านเท่า หรือ Isosceles triangle เป็นต้น สำหรับการยิงปืนแล้วผู้ยิงจะถือปืนด้วยสองมือโดยหันหน้าและลำตัวเข้าหาเป้าหมายหรือประจันหน้ากับเป้าหมายตรงๆ เท้าทั้งสองข้างแยกห่างออกจากกันกว้างประมาณไหล่ของผู้ยิงเข่าและแขนทั้งสองข้างเหยียดตึง ปืนจะอยู่แนวกลางตัวระดับสายตา ท่านี้ได้รับความนิยมตั้งแต่ นาย Brian Enos และนาย Rob Leatham ใช้ท่ายิงนี้ชนะเลิศการแข่งขัน IPSC หลายรายการในปี ค.ศ. 1980

ในการยิงปืนระบบต่อสู้ต้องงอเข่า ย่อตัวลง และโน้มตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย เพื่อให้ศูนย์ถ่วงของลำตัวต่ำลงมีความมั่นคงในการยืนและง่ายแก่การเคลื่อนที่ โน้มตัวส่วนบนตั้งแต่เอวขึ้นไปมาข้างหน้าเล็กน้อย เพื่อสามารถรับแรงถีบของปืนได้ดีขึ้น เมื่อทำการยิงหลายเป้าหมายให้หมุนลำตัวส่วนบนตั้งแต่เอวขึ้นไปหันไปทางเป้าหมายนั้นๆ

ท่านี้ไม่ค่อยนิยมในการยิงระบบต่อสู้มากนักโดยเฉพาะในอเมริกา เพราะการที่หันลำตัวเข้าหาภัยคุกคามโดยตรงเป็นการเปิดกว้างให้เห็นเป้าหมายที่ใหญ่และง่ายแก่การถูกยิงจากภัยคุกคามเช่นกัน (การยิงปืนระบบต่อสู้มักเล็งปืนไปยังเป้าหมายที่ใหญ่ไว้ก่อนโดยเฉพาะลำตัว) อีกทั้งไม่ค่อยสะดวกนักในการที่จะทำการเคลื่อนที่ แต่ผู้เชียวชาญบางท่านคิดว่าท่านี้มีประสิทธิภาพดีกว่า Weaver ในด้านความแม่นยำ และใช้ในการยิงระบบต่อสู้ได้เช่นกัน

อีกทั้งท่านี้กลับได้รับความนิยมในอิสราเอล โดยเฉพาะหลักสูตร Krav Maga ซึ่งใช้ท่านี้เป็นหลัก โดยจะกางขาออกกว้างและงอเข่ามากจนเรียกว่าเป็นท่าขี้ม้าของอิสราเอล (Straddle or Horse stance)

ผู้เชี่ยวชาญบางท่านให้ความเห็นว่า หากใส่เสื้อเกราะกันกระสุน การยิงท่านี้จะปลอดภัยกว่าท่าอื่นซึ่งหันด้านข้างของลำตัวเข้าหาเป้าหมาย เพราะเสื้อเกราะจะแข็งแกร่งเฉพาะด้านหน้าที่ปกป้องลำตัวเท่านั้น

ท่ายิงทั้งสามสามารถใช้ในการยิงปืนระบบต่อสู้ได้ทั้งสิ้น แต่ละท่ามีทั้งข้อดีและข้อด้อย จึงควรฝึกฝนให้ชำนาญเพื่อสามารถเลือกนำมาใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ได้เต็มประสิทธิภาพ ปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนว่าท่ายิงใดดีที่สุด ส่วนใหญ่เป็นเพียงความเห็นของผู้เชี่ยวชาญซึ่งก็ยังแตกต่างกันอยู่ เมื่อเรารู้สึกว่าถนัดกับท่าใดเป็นพิเศษก็ให้ใช้ท่านั้นเป็นหลัก (ท่านั้นจะต้องถนัดในการยิงเป้าหมายหลายระยะ หลายเป้าหมาย เคลื่อนที่ยิงและยิงเป้าเคลื่อนที่)

สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”

เรียบเรียงโดย Batman

No comments:


Newcastle limousines