Thursday, October 21, 2010

Voice Power

Voice Power



ในช่วงต้นปี ค.ศ. 1980s มีเหตุการณ์หนึ่งซึ่งน่าสนใจเกิดขึ้นที่เมือง San Diego ของอเมริกา บริเวณแถบนี้เป็นเมืองท่าค้าขายทางทะเลที่สำคัญแห่งหนึ่ง มีร้านค้า ผับ บาร์ ผู้คนมากมายและก็เต็มไปด้วยอาชญากรรมเช่นกัน


กลางดึกของคืนหนึ่งตำรวจสายตรวจสองนายได้รับแจ้งว่ามีขโมยเข้าไปในร้านขายพิซซ่าแห่งหนึ่งย่าน Broadway ตำรวจทั้งสองรีบไปที่เกิดเหตุทันทีและเห็นประตูหน้าร้านซึ่งเป็นกระจกมีร่องรอยถูกกระแทกแตก ด้านหลังห้องครัวมีบันไดขึ้นไปยังห้องเก็บของของร้านขายพิซซ่า


ตำรวจทั้งสองนายพกปืนสั้นขนาด .38 Special ของ Smith & Wesson (ตำรวจยุคนั้นพกแต่ปืนลูกโม่เป็นหลัก) และมีไฟฉายในมือ ทั้งคู่ตรวจชั้นล่างจนทั่วไม่พบผู้ต้องสงสัย จึงขึ้นไปยังชั้นบนโดยตำรวจนายแรกเดินขึ้นบันไดไปก่อน ในขณะที่เพื่อนคอยคุ้มกันอยู่ที่ทางขึ้นของบันไดชั้นล่าง


ทันทีที่ตำรวจนายแรกขึ้นไปถึงก็พบการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติในเงามืดพร้อมกับเสียงดังจากการรื้อค้นข้าวของ เขาจึงพูดออกไปยังผู้ต้องสงสัยตามระเบียบที่ได้ฝึกมาว่า พวกเขาเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ San Diego และสั่งต่อว่า “หยุดอยู่กับที่!” ซึ่งเป็นขั้นตอนปกติที่ตำรวจใช้กันทั่วไป


แสงจากไฟฉายเผยให้เห็นมีดทำครัวยาวแปดนิ้วในมือของคนร้ายอย่างชัดเจน นายตำรวจคนที่สอง (Cover officer) ตามขึ้นมาอย่างกระชัดชิดคอยคุ้มกันให้เพื่อน (Contact officer) ในขณะที่เขาออกคำสั่งไปยังคนร้ายเบื้องหน้า (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง Contact and Cover Principle)


ตำรวจนายแรกเริ่มใช้คำพูดก้าวร้าวมากขึ้นด้วยน้ำเสียงที่ดังลั่น “ทิ้งมีด!, ทิ้งมีดสิโว้ย!,….” คำพูดหยาบคายจากตำรวจนายนั้นพลั่งพลูออกมาอยู่หลายนาทีเพื่อให้คนร้ายวางอาวุธ แต่คนร้ายกลับไม่ไหวติงในขณะที่ปืนของตำรวจนายนั้นยังคงจับจ้องไปที่คนร้ายอย่างไม่คลาดสายตา เขายังคงตะโกนสั่งคนร้ายด้วยน้ำเสียงที่ดังขึ้นเรื่อยๆ


ในสมัยนั้นไม่มีการตามหน่วย SWAT ไม่มีกระสุนยาง ไม่มีแก็สน้ำตา ไม่มีปืนช็อตไฟฟ้า ไม่มีหน่วยเจรจาต่อรอง มีเพียงตำรวจซึ่งเผชิญเหตุกับปืนและกระสุนจริงในมือเท่านั้น


คนร้ายยืนห่างออกไปประมาณสิบฟุต หากเขาบุกเข้าหาตำรวจก็เพียงสองถึงสามก้าวเท่านั้น และเสื้อเกราะอ่อนของตำรวจนั้นไม่สามารถหยุดความคมของมีดได้


เมื่อแสงไฟส่องมาที่ใบหน้าคนร้ายดูเหมือนแสงไฟนั้นจะทำให้คนร้ายชะงักไปชั่วขณะ ในที่สุดเขาก็ทิ้งมีดลงและยอมแพ้ในที่สุด


คนร้ายถูกนำมาที่สถานีตำรวจ เขาถูกสอบถามโดยนายตำรวจคนแรกว่า คุณรู้หรือไม่ว่าผมเกือบจะยิงคุณอยู่แล้วหากคุณไม่ทิ้งมีดลงก่อน คนร้ายรู้สึกดีใจที่นายตำรวจได้แสดงตัวให้เขารู้ก่อน ตำรวจคนนั้นถามต่อทันที “แล้วคุณรู้ได้อย่างไร?” จากน้ำเสียงของผมรึ? ... ไม่ใช่ งั้นจากเครื่องแบบของผม? …ไม่ใช่ หรือจากปากกระบอกปืนในมือของผม? ... ไม่ใช่ แล้วมันอะไรกันล่ะ?


คนร้ายบอกว่า เขาเริ่มได้ยินสิ่งที่นายตำรวจคนนั้นสั่ง เมื่อคู่หูของคุณเริ่มอุดหูของเขา (แสดงว่าตะโกนดังมาก)


ในภาวะที่ตื่นเต้นประสาทสัมผัสบางอย่างจะจำกัดลง เช่น การมองเห็นจะเป็นลักษณะที่ชัดเฉพาะตรงกลางที่เรียกว่า Tunnel vision และการได้ยินจะลดลง


เหตุการณ์นี้นำไปสู่รูปแบบการฝึกของเจ้าหน้าที่ตำรวจเกี่ยวกับการใช้ “พลังเสียง” มีการฝึกอบรมเกี่ยวกับการใช้คำสั่งต่อคนร้ายด้วยภาษาที่ใช้กันตามท้องถนน (Street phases) พบว่าได้ผลดีกว่าการใช้คำพูดพื้นๆทั่วไป


การใช้น้ำเสียงที่ก้าวร้าวและดังที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อออกคำสั่งคนร้ายนั้นถือเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งประชาชนทั่วไปก็สามารถนำมาใช้ได้เมื่อต้องเผชิญหน้ากับภัยคุกคามร้ายแรง นอกจากเป็นการข่มขวัญคนร้ายแล้วยังเป็นการปลุกเร้าความตื่นตัวของเราเองอีกด้วย


“พลังเสียง” เป็นอาวุธอย่างหนึ่งซึ่งอาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายเบื้องหน้ายุติลงโดยปราศจากความรุนแรงก็ได้


TAS สอนให้ผู้รับการฝึกใช้พลังเสียงในการออกคำสั่งคนร้าย ก่อนทำการยิงตั้งแต่ TAS 1


สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”


เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง The Light Bulb ของ Bud Johnson

No comments:


Newcastle limousines