Wednesday, February 18, 2009

Backup Gun




Backup Gun

ในช่วงต้นปี ค.ศ. 1980 ถึงต้นปี 1990 ตำรวจนิวยอร์กของอเมริกาใช้ปืนลูกโม่เป็นอาวุธประจำกายและไม่สามารถพก Speed loader ได้ เมื่อมีเหตุต้องใช้อาวุธปืนหากยิงจนกระสุนหมดและต้องการบรรจุกระสุนใหม่ ก็ต้องดึงกระสุนออกจากแถบกระสุนสำรองที่คาดเอวไว้ทีละนัดหรือสองนัดเพื่อบรรจุในโม่ คงนึกสภาพออกว่าจะเสียเวลามากขนาดไหนในยามวิกฤติที่ภัยคุกคามอยู่เบื้องหน้า ดังนั้นตำรวจนิวยอร์กจึงหาทางออกโดยการพกปืนอีกกระบอกหนึ่ง เมื่อปืนหลักกระสุนหมดก็โยนทิ้งไปเลยแล้วคว้าปืนสำรองขึ้นมายิงต่อสู้ต่อไป เรียกวิธีการนี้ว่า New York Reload ความนิยมในการทำเช่นนี้แพร่หลายไปในหลายเมืองของสหรัฐอเมริกาจนมีคำเรียกขานอีกหลายชื่อ เช่น St. Louis Reload, Chicago Reload เป็นต้น

คำว่า BUG เป็นสแลงที่อเมริกันชนใช้เรียก ปืนสำรอง หรือ Backup gun ปืนแบบใดควรเป็นปืนสำรอง หรือแม้แต่ควรมีปืนสำรองหรือไม่ เป็นคำถามที่ผู้ซึ่งฝากชีวิตไว้กับปืนหลายคนอยากทราบคำตอบ

ประการแรกคงต้องมาดูความหมายของคำว่า “ปืนสำรอง” ก่อน ปืนกระบอกนี้เป็นปืนกระบอกที่สองมีไว้พกติดตัว ส่วนใหญ่เป็นการพกซ่อน (Concealed carry) ใช้ในกรณีที่ปืนหลักกระสุนหมดหรือไม่สามารถใช้งานต่อไปได้ไม่ว่ากรณีใดๆก็ตาม นอกจากนั้นในกรณีที่เจ้าหน้าที่รักษากฎหมายอยู่นอกเวลาปฏิบัติงานซึ่งไม่ได้พกปืนหลักติดตัวแต่พวกเขาจะพกปืนสำรองไว้แทน บางครั้งจึงเรียกปืนแบบนี้ว่า Off-duty gun

จากสถิติในอเมริกาพบว่าปืนสำรองมีบทบาทสำคัญในการช่วยชีวิตเจ้าหน้าที่รักษากฎหมายได้หลายครั้ง หน่วยงานของสหรัฐจำนวนมากจึงอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ของตนสามารถมีปืนสำรองไว้ใช้ได้ (บางหน่วยงานก็ไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่มีปืนสำรอง)
หลายหน่วยงานของสหรัฐมีกฎชัดเจนว่าปืนสำรองจะต้องเป็นปืนที่ใช้กระสุนแบบเดียวกับปืนหลักที่ใช้งานประจำ แต่บางหน่วยงานก็เปิดกว้างให้ใช้ปืนที่ใช้กระสุนแตกต่างจากปืนหลักได้

ปืนสำรองควรมีคุณสมบัติดังนี้ (เป็นเพียงความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ ยังไม่ใช่กฎตายตัว)

1. เป็นปืนที่ใช้กับกระสุนไม่ต่ำกว่า .38 นิ้ว หรือ 9 มม. เนื่องจากกระสุนที่มีขนาดต่ำกว่านี้มีอำนาจหยุดยั้งต่ำมากเมื่อใช้กับคน

2. ควรมีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา เพื่อสะดวกในการพกซ่อนและการพกพาเป็นเวลานาน

3. ควรเลือกปืนที่ใช้กระสุนแบบเดียวกับปืนหลัก เพราะเมื่อปืนหลักเกิดติดขัดไม่สามารถใช้งานได้แต่ยังมีกระสุนเหลือ อาจนำกระสุนเหล่านั้นมาใช้กับปืนสำรองได้อีก

4. ควรเลือกกระสุนที่มีแรงขับมากที่สุดเท่าที่จะใช้กับปืนนี้ได้ เช่น +P, +P+ (ประเทศไทยไม่นำเข้ากระสุน +P+) เป็นต้น เนื่องจากปืนสำรองมักมีลำกล้องสั้นดังนั้นความแรงของกระสุนมักต่ำกว่าปืนลำกล้องมาตรฐาน (4 นิ้วสำหรับปืนลูกโม่และ 5 นิ้วสำหรับปืนกึ่งอัตโนมัติ) การเลือกใช้กระสุนที่มีแรงขับมากจะเพิ่มประสิทธิภาพของกระสุนได้

5. ไกปืนควรมีน้ำหนักใกล้เคียงกับของปืนหลัก เนื่องจากในภาวะวิกฤติที่เต็มไปด้วยความเครียด หากไกปืนสำรองเบากว่าไกปืนหลักที่คุ้นเคย อาจทำให้เกิดปืนลั่นออกไปได้โดยไม่ตั้งใจ

จากหลักการข้างต้นหากปืนหลักเป็นปืนลูกโม่ขนาด .38 นิ้วหรือ .357 แม็กนั่มลำกล้อง 4 นิ้ว ปืนสำรองก็อาจเป็นปืนที่ใช้กระสุนแบบเดียวกันแต่ลำกล้อง 2 นิ้ว โครงปืนอาจเลือกที่ทำจากไททาเนียมหรือสแกนเดียมเพื่อให้น้ำหนักปืนเบาลงเหมาะแก่การพกพาเป็นเวลานาน (แต่ราคาก็แพงขึ้นด้วย) บางคนอาจชอบปืนที่ไม่มีนกสับออกมาให้เห็นนอกโครงปืนและไม่มีศูนย์หลังเพื่อง่ายแก่การพกซ่อนและการชักปืนออกจากที่พกซ่อน (ไม่มีนกสับยื่นออกมาให้เกี่ยวเสื้อหรือขอบกางเกง) นอกจากนี้ควรมีกระสุนสำรองติดตัวไว้ด้วย

สำหรับปืนกึ่งอัตโนมัติถ้าใช้กระสุน .45 นิ้ว หรือ 9 มม.ลำกล้อง 5 นิ้วเป็นปืนหลัก ก็อาจเลือกปืนที่ลำกล้องสั้นลง เช่น ลำกล้อง 3 นิ้ว เพื่อพกซ่อนได้ง่ายขึ้น อีกทั้งซองกระสุนควรใช้ร่วมกันได้ระหว่างปืนหลักและปืนสำรอง เผื่อกรณีที่ปืนหลักติดขัดไม่สามารถใช้งานต่อได้แต่ยังมีกระสุนเหลือ ก็อาจนำมาเป็นกระสุนสำรองสำหรับปืนพกซ่อนได้

ตำแหน่งในการพกซ่อนนั้นมีหลายที่เช่น ข้อเท้า ใต้เสื้อคลุม(มีสายรัดไหล่) ในกางเกง เป็นต้น ในอเมริกามีหลักสูตรสอนยิงปืนสำหรับปืนพกซ่อนโดยเฉพาะ เป็นการฝึกกับปืนพกซ่อนของผู้รับการฝึกเองเพื่อเพิ่มทักษะในการใช้ปืนพกซ่อนของตนในสถานการณ์ต่างๆ วงกระสุนที่ใช้บางหลักสูตรอาจถึง 800 นัดก็มี ส่วนใหญ่ปืนสำรองมักใช้ยิงในระยะประชิด การฝึกยิงจึงทำในระยะไม่เกิน 9 หลาแต่จะเน้นที่ระยะ 7 หลาหรือต่ำกว่า (เนื่องจากเหตุการณ์ที่มีปืนเข้ามาเกี่ยวข้องมักเกิดในระยะต่ำกว่า 7 หลา)

เนื่องจากปืนพกซ่อนมักมีขนาดเล็กกว่าปืนหลัก การถือปืนและยิงปืนสำรองจึงไม่ค่อยถนัดนัก ทำให้ประสิทธิภาพในการใช้อาวุธปืนไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้นผู้ที่มีปืนพกซ่อนจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องฝึกฝนการยิงปืนสำรองอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการชักปืนออกจากที่พกซ่อนแล้วทำการยิงในสถานการณ์ต่างๆ

สำหรับประเทศไทยแล้วประชาชนทั่วไปการพกปืนต้องมีใบอนุญาตหรือมีเหตุอันควรจริงๆ และถึงมีใบอนุญาตพกปืนก็ไม่ใช่ว่าจะพกกันได้อย่างโจ่งครึ่ม พกได้ทุกที่ทุกเวลา มีข้อจำกัดอยู่เหมือนกัน แต่เมื่อมีเหตุอันควรจำเป็นที่จะต้องพกซ่อนก็ให้ใช้หลักการดังกล่าวข้างต้นเป็นแนวทางได้ แต่ที่สำคัญการฝึกฝนกับปืนสำรองเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง มิเช่นนั้นแล้วปืนสำรองอาจไม่ได้ช่วยทำให้สถานการณ์เลวร้ายเบื้องหน้าดีขึ้น

สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”

เรียบเรียงโดย
Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Back Up Gun Hints, Mother Nature Carries A Backup Gun, Back-up Gun And Deep Concealment, Off-duty & Backup Weapons, Choosing a Backup Gun

No comments:


Newcastle limousines