Vang Comp’s Shotgun Wizardry
นาย Clint Smith ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการปรับแต่งปืนลูกซองไว้อย่างน่าสนใจ เขาบอกว่าไม่มีปืนใดที่ดีไปกว่าปืนลูกซองในการยิงระยะใกล้ (ภายในห้องหรือระยะห่างเท่ารถสักคัน) เป็นหนึ่งในปืนไม่กี่ชนิดซึ่งหากยิงถูกเป้าหมายในระยะใกล้แล้วสามารถฉีกเป้าหมายออกเป็นชิ้นๆได้ทีเดียว
แม้ปืนลูกซองจะได้รับการยอมรับในกลุ่มผู้รักษากฎหมาย แต่บางคนก็อาจไม่ชอบเนื่องจากแรงถีบที่หนักหน่วง กระสุนที่มีหลายรูปแบบ (กระสุนแต่ละแบบมีประโยชน์ต่างกัน จึงต้องใช้ความจำมากกว่าปืนชนิดอื่น) พานท้ายปืนที่อาจไม่เหมาะสม (ระยะห่างระหว่างไกปืนกับปลายพานท้ายปืนอาจไม่เหมาะกับบางคน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปืนถีบหนักขึ้น) ด้วยเหตุผลเหล่านี้ทำให้ปืนลูกซองมักถูกวางไว้ในรถตำรวจมากกว่านำออกไปใช้
แต่ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาปืนลูกซองมีการพัฒนาไปมากจนนำไปสู่รูปแบบใหม่ของปืนลูกซองสำหรับใช้ในการป้องกันตัว (Defensive shotgun)
นาย Clint Smith รู้จักกับนาย Hans Vang (คนที่คิดระบบ Vang comp) มากกว่าสิบปีแต่เขาไม่เคยใช้ปืนลูกซองของนาย Hans Vang เลย จนกระทั้งวันหนึ่งเขาส่งปืนลูกซองเรมิงตัน 870 รุ่นเก่า (เป็นปืนระบบ Pump action ผู้ยิงต้องสาวกระโจมมือเองทุกครั้งที่ยิงเพื่อคัดปลอกกระสุนและบรรจุกระสุนใหม่เข้ารังเพลิง) ให้นาย Hans Vang ปรับปรุง เมื่อได้รับปืนกลับมาพบว่ามันกลายเป็นปืนที่ดีเยี่ยมทีเดียว
ปืนได้รับการดัดแปลงหลายอย่างตามมาตรฐานของ Hans spec มีการเจาะรูเพื่อลดแรงสะบัดของปืน (Vang comp) ที่ปลายลำกล้องปืน เปลี่ยนศูนย์หน้าเป็นแบบจุด (Front sight dot) ขนาดใหญ่ขึ้นและศูนย์หลังมีฐานที่แข็งแรงมากขึ้นและสามารถปรับระดับได้ ซึ่งจะใช้ได้ดีในการยิงในภาวะแสงต่ำและเป้าเคลื่อนที่ซึ่งเหมาะกับสถานการณ์ซึ่งตำรวจต้องเผชิญ มีรางติดอุปกรณ์เสริมที่กะโหลกปืน (Receiver) ได้ เช่น กล้องเล็ง นอกจากนั้นยังขยายหลอดบรรจุกระสุนให้ด้วย กระโจมมือติดราง 1913 type tri-rail ซึ่งสามารถนำศูนย์ไฟฉายของ Surefire X-300 มาติดได้ อีกทั้งติดแผ่นใส่กระสุนสำรองที่กะโหลกปืน (Sidesaddle) มาให้ด้วย และเปลี่ยนพานท้ายปืนให้สั้นลงเพื่อทำให้ยิงได้ดีขึ้น
การปรับปรุงปืนของนาย Vang นั้นอยู่บนพื้นฐานที่ว่า ตำรวจซึ่งมีงบน้อยก็สามารถนำปืนเก่ามาทำได้โดยเสียค่าใช้จ่ายไม่มาก (หากไม่มีงบมากพอที่จะซื้อปืนใหม่)
ปืนลูกซองต่อสู้ หรือ ปืนลูกซองรณยุทธ์ (Tactical shotgun) ถือว่ามีคุณสมบัติเด่นที่สำคัญ 3 ประการ คือ
หนึ่ง อำนาจหยุดยั้งดีมากเมื่อทำการยิงถูกเป้าหมายในระยะใกล้ (ดีกว่าปืนสั้นทุกประเภทเมื่อใช้กระสุนที่เหมาะสม) โดยระยะหวังผลของกระสุนลูกปลายประมาณ 20 กว่าหลา (ขึ้นกับปืนและกระสุนที่ใช้)
สอง มีกระสุนให้เลือกใช้หลายแบบ ทั้งกระสุนลูกปรายและลูกโดดโดยแต่ละแบบมีหลายชนิด ซึ่งสามารถเลือกใช้ได้หลายวัตถุประสงค์ทั้งกีฬายิงเป้า ต่อต้านบุคคล จนถึงล่าสัตว์ ทำให้สามารถเลือกกระสุนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ได้ เมื่อใช้กระสุนลูกปรายทำให้มีโอกาสยิงถูกเป้าหมายได้ง่ายขึ้น
สาม เป็นปืนที่มีคุณสมบัติของปืนไรเฟิ่ล (Rifle) เมื่อใช้กระสุนลูกโดด (ระยะหวังผลไกลขึ้น และอาจใช้ทำลายกลอนประตูได้ด้วย)
ปัจจุบันมีกระสุนลูกซองที่มีแรงถีบน้อย (Low recoil หรือ Tactical buck shot) เพื่อทำให้สามารถยิงซ้ำได้เร็วขึ้น ซึ่งใช้ในกลุ่มผู้รักษากฎหมายเป็นส่วนใหญ่แต่ยังไม่มีใช้ในประเทศไทย ดังนั้นควรเลือกกระสุนแรงมาตรฐานไว้ก่อนหรือฐานต่ำ (Low base) เพื่อให้แรงถีบน้อยที่สุด ยิงซ้ำได้เร็วและสามารถคุมปืนได้ง่าย ส่วนอำนาจหยุดยั้งถือว่าเพียงพอสำหรับการต่อกรกับมนุษย์ เช่น กระสุน 12 เกจ (Gauge) OO Buck หรือ SG 9 เม็ดฐานต่ำ เป็นต้น
ปืนลูกซองต่อสู้ซึ่งเหมาะสำหรับใช้ในการปกป้องชีวิตและทรัพย์สิน มักเป็นปืนระบบ Pump action เนื่องจากกลไกทำงานไม่ซับซ้อน โอกาสติดขัดยากสามารถยิงกับกระสุนแรงต่ำได้ โดยปืนมักใช้ยิงในระยะใกล้จึงควรมีลำกล้องไม่ยาวนักเพื่อความคล่องตัว เช่น 18 นิ้ว (ในอเมริกาห้ามใช้ปืนลำกล้องสั้นกว่า 18 นิ้ว เพราะประชาชนสามารถพกซ้อนได้ง่าย) มีโช๊ค (Choke) แบบ Cylinder หรือ Improved cylinder เพื่อสามารถใช้กระสุนลูกโดดได้ อาจมี Compensator ไม่ว่าจะเป็น Vang comp หรือ Cutts comp ก็ได้เพื่อลดการสะบัดของปากกระบอกปืน และมีแผ่นรองพานท้ายปืน (Recoil pad) ที่ดีจะช่วยให้ยิงได้นุ่มมือขึ้นไม่ถีบมากนัก นอกจากนั้นใช้กระสุนขนาด 12 เกจ ปลอกยาว 2 ¾ นิ้ว หรือ 3 นิ้ว ฐานต่ำ มักสามารถบรรจุกระสุนได้มาก เช่น 7 ถึง 8 นัด (หลอดบรรจุกระสุนที่ยาวผิดปกติมากๆมักใช้ในการแข่งขันยิงปืน ไม่เหมาะในการใช้ยิงต่อสู้เพราะขาดความคล่องตัว) อาจมีที่ใส่กระสุนสำรองซึ่งติดอยู่ที่กระโหลกปืนเสริม มีศูนย์หน้าและหลังที่แข็งแรงโดยศูนย์หลังมักเป็นศูนย์ไรเฟิ่ล (เพื่อสามารถใช้ศักยภาพของปืนได้สูงสุด) กระโจมมือควรสามารถติดศูนย์ไฟฉายได้เพื่อการยิงในภาวะแสงต่ำ (สถานการณ์ยิงต่อสู้จริงมักเกิดในภาวะแสงต่ำ)
ข้อจำกัดของปืนลูกซอง อาทิเช่น น้ำหนักของปืนที่มากกว่าปืนสั้นมากจึงไม่สามารถถือปืนไว้ได้นานนัก จำนวนกระสุนอาจน้อยกว่าปืนสั้นส่วนใหญ่โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับปืนสั้นขนาด 9 ม.ม. ไม่ค่อยคล่องตัวเมื่อใช้ในพื้นที่ที่คับแคบมากๆ (Very confined space) เช่น ภายในรถยนต์หรือเครื่องบิน เป็นต้น
การเรียนรู้ข้อดีและข้อด้อยของปืนลูกซองทำให้เราสามารถใช้อาวุธชนิดนี้ได้อย่างเหมาะสม
TAS สอนยิงปืนลูกซองระบบต่อสู้เพื่อให้ผู้รับการฝึกสามารถใช้ในการปกป้องชีวิตและทรัพย์สินได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”
เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Vang Comp’s Shotgun Wizardry ของ Clint Smith
2 comments:
กำลังจะขึ้นลูกซองใช้งานอีกกระบอกพอดีเลยครับได้เจอบทความนี้โดนใจเลยครับ อาจารย์ พูดถึงกระสุนรีคอยต่ำบ้านเรามีโอกาสจะได้ใช้งานกันบ้างไหมครับ
กระสุน Low recoil หรือ Tactical buck shot เท่าที่ทราบขณะนี้ยังไม่มีการนำเข้ามาขายในไทย แม้แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยพิเศษเองก็ยังไม่มีใช้ แต่ได้ยินมาว่าในกลุ่มนักกีฬายิงปืนลูกซองบางพวกสั่งให้บริษัทผลิตกระสุนในไทยบางยี่ห้อช่วยทำกระสุน Low recoil ให้เพื่อใช้ในการแข่งขัน ผมไม่แนะนำให้ทำเช่นนี้เพราะผิดกฏหมาย ดังนั้นโอกาสที่เราจะได้ใช้กระสุนแบบนี้คงยากมากครับ
Batman
Post a Comment