หลักการการเข้าประชิดตัวและการคุ้มกัน หรือ Contact and cover principle ถูกพัฒนาขึ้นที่ San Diego ของอเมริกาเมื่อหลายปีก่อน เป็นหลักการที่สอนให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารในการเข้าควบคุมคนร้าย โดยคนแรกจะเข้าประชิดตัวคนร้าย (Contact role) ซึ่งอาจเข้าค้นตัวคนร้ายหรือควบคุมตัว ส่วนอีกคนจะต้องทำหน้าที่คุ้มกัน (Cover role) โดยอยู่ห่างคนร้ายออกไปเล็กน้อยและมีอาวุธพร้อมใช้งานในมือ เพื่อคอยดูแลความปลอดภัยให้กับเพื่อนร่วมงานซึ่งเข้าประชิดตัวคนร้ายอยู่
มีเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นที่เมือง Okaloosa ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเจ้าหน้าที่ Burt Lopez ทำหน้าที่ Contact ส่วนเจ้าหน้าที่ Skip York ทำหน้าที่ Cover หรือคุ้มกัน โดยครั้งนี้ Lopez ได้ใช้ปืน TASER (ปืนซึ่งยิงขั้วไฟฟ้าสองแท่งไปยังคนร้าย แล้วปล่อยกระแสไฟฟ้าเพื่อทำให้คนร้ายล้มลงเพราะกล้ามเนื้อเกร็งทั่วตัว) ยกขึ้นเล็งไปที่คนร้าย ซึ่งจากการฝึกการใช้ปืน TASER นั้นกำหนดไว้ว่า จนท.อีกคนจะต้องเป็นคนเข้าไปใส่กุญแจมือคนร้าย แต่ครั้งนี้ขณะที่ Lopez กำลังถือปืน TASER อยู่และ York กำลังหยิบกุญแจมือออกมานั้นคนร้ายได้หยิบปืนพกซ่อนออกมายิง จนท.ทั้งสองคน กระสุนยิงถูกแขนทั้งสองข้างของ York และแขนข้างหนึ่งของ Lopez โดย York พยายามหยิบปืนของตนขึ้นมาแต่ด้วยบาดแผลที่ฉกรรจ์จึงทำปืนตกพื้น ส่วน Lopez นั้นผู้ที่เห็นเหตุการณ์กล่าวว่า ได้พยายามยกปืนของตนขึ้นยิงด้วยสองมือ ทั้งๆที่แขนข้างหนึ่ง (ข้างไม่ถนัด) บาดเจ็บมาก อาจเป็นเพราะแขนข้างที่บาดเจ็บทำให้มีการเกร่งตัวของกล้ามเนื้อจึงทำให้กระสุนหลายนัดที่ยิงออกไปมีเพียงบางนัดถูกคนร้ายแต่ไม่สามารถหยุดคนร้ายไว้ได้ ถ้าเขายิงด้วยมือข้างที่ไม่บาดเจ็บเพียงข้างเดียวจะได้ผลดีกว่านี้หรือไม่ คงไม่มีใครตอบได้
ในที่สุดเจ้าหน้าที่ทั้งสองก็ถูกสังหาร โดยพบปืนตกอยู่ใกล้ตัวเขาในสภาพสไลด์เปิดค้าง ซองกระสุนเปล่าตกอยู่ข้างๆและมีซองกระสุนใหม่อยู่ในมือเตรียมพร้อมที่จะบรรจุในปืน “เจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับบาดเจ็บกำลังพยายามบรรจุกระสุนใหม่” ถ้าเป็นในสถานการณ์ปกติคงไม่ใช่เรื่องยากเย็นนักที่จะทำ แต่ในสถานการณ์ที่เราได้รับบาดเจ็บที่แขนเหลือเพียงข้างเดียวที่ใช้งานได้ดีคงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำได้ เจ้าหน้าที่ทั้งสองคนในวันนั้นไม่ได้พกปืนสำรอง (Backup gun, BUG) ไว้เลย
มีการนำเหตุการณ์นี้มาศึกษาเพื่อหาข้อผิดพลาดและหาแนวทางป้องกัน พบว่าเจ้าหน้าที่ซึ่งทำหน้าที่คุมกันนั้นอยู่ใกล้คนร้ายมากเกินไป เรียกว่าห่างกันไม่กี่นิ้วเท่านั้นเองซึ่งเป็นระยะที่อาจเกิดการทำร้ายกันได้ง่าย
ในการปะทะกับคนร้ายครั้งที่สองโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจเมือง Walton นั้นพวกเขาได้ทิ้งระยะห่างกับคนร้ายมากกว่า 15 หลาโดยมีเครื่องกำบังที่แข็งแรงมากก็คือรถของพวกเขาคอยกั้นขวางไว้ เจ้าหน้าที่ตำรวจยิงไปยังคนร้ายหลายสิบนัดแต่ก็พลาดเป้า ขณะที่คนร้ายก็ยิงตอบโต้กลับมาแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่หลังที่กำบังซึ่งแข็งแรง
จากเหตุการณ์นี้ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งออกปฏิบัติงานถูกแนะนำให้มีปืนสำรองติดตัวไว้ หากแขนหรือมือได้รับบาดเจ็บ หรือยิงจนกระสุนหมดหรือปืนเกิดเหตุติดขัดก็ให้หยิบปืนสำรองขึ้นมาใช้แทนปืนหลักได้ทันที อีกทั้งมีการแนะนำ เน้นย้ำและฝึกปฏิบัติให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารถึง Contact and Cover Principle โดยผู้ที่ทำหน้าที่ Cover ต้องมีระยะห่างกับคนร้ายที่เหมาะสม รู้ตำแหน่งที่ควรอยู่และมีอาวุธพร้อมใช้งานได้ทันที เรียนรู้การใช้ที่กำบังเพื่อความปลอดภัย ผู้ที่ทำหน้าที่ Contact ต้องรู้ว่าจะเข้าหาคนร้ายเมื่อไหร อย่างไร เพื่อให้ตัวเองปลอดภัยและเพื่อนร่วมงานซึ่งทำหน้าที่ Cover สามารถทำหน้าที่ของตนได้อย่างถนัด
Distance is always your good friend หรือ ระยะห่างเป็นเพื่อนที่ดีของคุณเสมอ เป็นคำพูดซึ่งต้องท่องให้ขึ้นใจไว้เสมอสำหรับผู้ที่ใช้อาวุธปืนเพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สิน เป็นหลักที่ควรยึดถือและปฏิบัติทุกครั้งที่เผชิญเหตุ เราควรพยายามสร้างระยะห่างระหว่างตัวเรากับคนร้ายให้เหมาะสมไม่ใกล้เกินไป เพราะถ้าใกล้เกินไปคนร้ายอาจเข้ามาแย่งอาวุธในมือหรือเข้ามาทำร้ายเราได้อย่างรวดเร็วจนตั้งตัวไม่ทัน การมีระยะห่างที่มากขึ้นจะทำให้เรามีเวลามากพอที่จะตอบสนองต่อเหตุกาณ์ได้อย่างเหมาะสม และโอกาสที่คนร้ายจะยิงถูกเราก็ยากขึ้นด้วย
สำหรับประชาชนทั่วไปซึ่งไม่สามารถใช้อาวุธปืนในลักษณะเป็นทีมเหมือนเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ก็สามารถนำหลักการบางอย่างมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ในการใช้อาวุธปืนเพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของตนเองได้
การสร้างระยะห่างที่เหมาะสมและใช้ที่กำบังนั้นเป็นหัวใจอย่างหนึ่งในการฝึกยิงปืนระบบต่อสู้ ซึ่ง TAS ได้สอดแทรกอยู่ในหลักสูตรยิงปืนมาตลอด
ในการฝึกยิงปืนให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือทหารใน TAS force Pro นั้น เราจะเน้นหลัก Contact and Cover Principle เสมอ
ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”
เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง More Lessons from Okaloosa County ของ Massab Ayoob
No comments:
Post a Comment