ในนิตยสารเกี่ยวกับอาวุธปืนหลายฉบับเมื่อจะทำการทดสอบความแม่นยำของอาวุธปืนสั้น มีหลายวิธีอาทิเช่น อาจให้ผู้ทำการทดสอบยิงปืนด้วยกระสุนหลายแบบ หรือใช้ผู้ทำการยิงทดสอบมากกว่าหนึ่งคน หรือใช้เครื่องมือช่วย เช่น แท่นรองปืนช่วยในการทำการยิงทดสอบ (ซึ่งปกติมักใช้ในการตั้งศูนย์ปืน)
นาย Mike “Duke” Venturino เป็นหนึ่งในนักทดสอบอาวุธปืนมายาวนาน เขาใช้เครื่องยึดปืนจากบริษัท Ransom International หรือที่เรียกว่า Ransom Rest เพื่อทดสอบความแม่นยำของปืนสั้นมากว่าสามสิบปี เครื่องนี้ช่วยลดความผิดพลาดอันเกิดจากมนุษย์ลงไปได้มาก
ความแม่นยำนั้นหมายถึง ความสามารถในการส่งกระสุนออกไปยังเป้าหมายหรือตำแหน่งที่เราต้องการได้ ซึ่งต้องอาศัยสิ่งสำคัญอย่างน้อยสองสิ่ง คือ การเล็งที่ถูกต้องและการเหนี่ยวไกที่ดี ซึ่งเครื่องมือนี้จะช่วยได้มาก เนื่องจากเมื่อยึดปืนเข้ากับแท่นรองแล้วทำการเล็ง จะมีอุปกรณ์ช่วยเหนี่ยวไกด้วย ทำให้แต่ละนัดที่ยิงออกไปมีความเที่ยงตรงมากกว่าการยิงด้วยคน (มักทำการยิงเป็นกลุ่ม เช่น 5 นัด)
เครื่องมือนี้สามารถเหนี่ยวไกปืนที่มีน้ำหนัก 10 หรือ 12 ปอนด์ ได้แบบเดียวกับปืนที่มีน้ำหนักไก 2 หรือ 3 ปอนด์ทีเดียว ในการใช้เครื่องมือนี้เราต้องยึดมันกับโต๊ะที่แข็งแรงพอสมควร
เขานำปืนกึ่งอัตโนมัติ รุ่น 1911 ขนาด .45 สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง กับปืนลูกโม่ รุ่น 1917 มาทดสอบ โดยปืนกึ่งอัตโนมัติมีน้ำหนักไกห้าปอนด์ ส่วนปืนลูกโม่มีน้ำหนักไกเจ็ดปอนด์ (Single action)
ปืนทั้งสองกระบอกนั้นให้กลุ่มกระสุนที่แตกต่างกันขึ้นกับกระสุนที่ใช้ เช่น อาจให้กลุ่มกระสุน 2 นิ้วที่ระยะ 25 หลาหรือแค่ครึ่งนิ้วเมื่อใช้กระสุนอีกแบบหนึ่ง ปืนทั้งสองกระบอกสามารถยิงถูกเป้าหมายที่ต้องการได้ในระยะ 50 ฟุตเมื่อใช้กระสุนที่เขาเลือก
อย่างไรก็ตามเมื่อเขานำปืนทั้งสองกระบอกมายิงเองไม่ได้ใช้เครื่องมือช่วยยึดปืน กลับพบว่าปืนกึ่งอัตโนมัติที่ทำการทดสอบครั้งนี้ให้ความแม่นยำมากกว่าปืนลูกโม่ (จำนวนครั้งที่ยิงถูกตำแหน่งที่ต้องการ)
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?
ก็เพราะ ความสัมพันธ์ระหว่างปืนกับคน (Ergonomics) นั้นเอง สำหรับเขาแล้วปืนกึ่งอัตโนมัติกระบอกนี้มีด้ามจับที่ถนัดมือกว่าปืนลูกโม่ (ด้ามจับของปืนลูกโม่กระบอกนี้ใหญ่มากจนเขาต้องเหยียดนิ้วชี้ออกไปไกลมากกว่าจะทำการเหนี่ยวไกได้)
ปัจจุบันนี้เขายิงทำกลุ่มได้ไม่เล็กเท่าสมัยก่อนๆแล้วเพราะอายุมากขึ้น เขาจะทำการทดสอบยิงปืนในระยะแตกต่างกันตั้งแต่ 30 ถึง 75 ฟุต ขึ้นกับการออกแบบและวัตถุประสงค์ของปืนกระบอกนั้น เช่น ปืนที่ใช้เพื่อป้องกันตัวหรือปืนพกซ่อน (มักมีลำกล้องสั้น) จะยิงในระยะใกล้ ส่วนปืนอื่นๆก็อาจยิงไกลขึ้น และจะทำการยิงด้วยสองมือเป็นหลัก ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ใช้อาวุธปืนโดยทั่วไปใช้กัน
จะเห็นได้ว่าปืนซึ่งผลิตจากโรงงานที่ได้มาตรฐานนั้นจะให้ความแม่นยำแทบไม่แตกต่างกันเมื่อทดสอบด้วยเครื่องช่วยยึดปืน แต่กลับพบความแตกต่างเมื่อทำการยิงโดยคน ดังนั้นคนจึงเป็นปัจจัยสำคัญในเรื่องความแม่นยำของอาวุธปืน
มีหลายปัจจัยที่อาจทำให้ปืนที่ทำการยิงมีความแม่นยำแตกต่างกัน เช่น อายุของผู้ยิง ขนาดมือ การเล็ง การเหนี่ยวไก ท่ายืน ท่าถือปืน อารมณ์ กระสุนที่ใช้ ระยะยิง ความอ่อนล้า ฯลฯ ดังนั้นการอ่านบทความเรื่องการทดสอบอาวุธปืนในนิตยสารต่างๆนั้นคงต้องพึงระลึกไว้ด้วยว่า ปัจจัยเกี่ยวกับคนนั้นมีส่วนสำคัญอย่างมากกับความแม่นยำของอาวุธปืน บางคนเมื่อซื้อปืนไปแล้วกลับพบว่ามันไม่ได้แม่นยำเหมือนอย่างที่ผู้ทำการทดสอบอาวุธปืนได้เขียนไว้ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากปัจจัยของตัวผู้ทำการยิงเอง
นอกจากนั้นการทดสอบอาวุธปืนควรทำอย่างตรงไปตรงมา เนื่องจากธุรกิจปืนในบ้านเรานั้นหากนิตยสารใดสามารถทำกลุ่มกระสุนได้ดีก็จะทำให้มีคนต้องการปืนรุ่นนั้นมาก (ขายดี) นิตยสารบางฉบับจึงอาจทำการทดสอบปืนอย่างไม่ตรงไปตรงมา เพื่อต้องการให้ได้กลุ่มกระสุนที่ดูดีร้านปืนจะได้ส่งปืนมาให้ทดสอบบ่อยๆ
ผู้อ่านจึงควรต้องใช้วิจารณญาณอย่างมากในการรับรู้ข้อมูลเหล่านี้
มีอาจารย์ท่านหนึ่งซึ่งเคยเป็นผู้ทำการทดสอบอาวุธปืนในนิตยสารเกี่ยวกับปืนมานานหลายปี ซึ่งร้านปืนส่วนใหญ่ในสมัยนั้นนิยมส่งปืนให้ท่านทดสอบ เพราะท่านทำกลุ่มกระสุนได้ดีโดยไม่ได้ดัดแปลงปืนแม้แต่น้อย ท่านได้บอกไว้ว่า “ปืนแต่ละกระบอกมีความแตกต่างกัน เราต้องปรับตัวให้เข้ากับปืน ไม่ใช่ปรับปืนให้เข้ากับตัวเรา” ปืนจะยิงได้ดีหรือไม่อยู่ที่ตัวเรามากกว่าตัวปืน
สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”
เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Amazing precision? ของ Mike “Duke” Venturino
No comments:
Post a Comment