เนื่องจากเหตุการณ์ร้ายๆมักเกิดขึ้นในภาวะแสงต่ำ
ดังนั้นการยิงปืนประกอบไฟฉายจึงเป็นทักษะหนึ่งที่ถูกบรรจุไว้ในการสอนยิงปืนระบบต่อสู้
ประโยชน์หลักๆของไฟฉายก็เพื่อใช้ในการค้นหา
(Search) แยกแยะเป้าหมาย
(Identify the threat) ส่วนการเล็งนั้นไฟฉายทำให้เรามองเห็นเป้าหมาย
ยังผลให้เล็งได้ง่ายและมีความแม่นยำมากขึ้น
ไฟฉายซึ่งใช้ประกอบการยิงปืนในภาวะแสงต่ำที่นิยมมีอยู่
2 ประเภท คือ ศูนย์ไฟฉาย (Weapon-mounted Light) กับ ไฟฉายทางยุทธวิธี (Tactical Flashlight)
ไฟฉายไม่ว่าประเภทใดต่างก็มีข้อดี
ข้อด้อยและข้อจำกัดของมันเอง
ศูนย์ไฟฉาย
หรือ Weapon-mounted Light เป็นไฟฉายซึ่งติดอยู่ที่รางติดอุปกรณ์ใต้ปากกระบอกปืนโดยเฉพาะปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติ (ปืนลูกโม่บางรุ่นมีรางติดอุปกรณ์เหล่านี้เช่นกัน
แต่ไม่ค่อยนิยมเพราะมักเป็นปืนโครงขนาดใหญ่) เวลาใช้งานต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าได้ทำการติดตั้งศูนย์ไฟฉายแน่นหนากับตัวปืนดีแล้ว
เป็นที่ยอมรับว่าการยิงปืนประกอบศูนย์ไฟฉายเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการยิงเป้าหมายในภาวะแสงต่ำ
อย่างไรก็ตามเมื่อปืนติดศูนย์ไฟฉายแล้วจะทำให้น้ำหนักปืนมากขึ้น โดยเฉพาะน้ำหนักจะถูกถ่วงไปด้านลำกล้องปืนมากขึ้น
ความคล่องตัวก็อาจลดลงไปบ้าง
เป็นที่ทราบกันดีว่าการใช้ไฟฉายนั้นนอกจากจะช่วยเผยเป้าหมายให้เราเห็นได้ชัดเจนแล้ว
แต่มันก็ยังเป็นการเปิดเผยตำแหน่งของตัวเราเองให้กับภัยคุกคามได้รู้เช่นกัน
ในการถือปืนตามปกติปืนของเราจะอยู่แนวกลางตัว เมื่อภัยคุกคามยิงสวนมาที่แสงจากไฟฉายก็อาจถูกตำแหน่งที่สำคัญของเราได้
ในขณะที่ Tactical Flashlight ในบางเทคนิคไฟฉายอาจอยู่คนละตำแหน่งกับปืนทำให้ตัวเราปลอดภัยมากกว่า
การควบคุมการเปิด-ปิดศูนย์ไฟฉายจะใช้นิ้วโป้งของมือข้างไม่ถนัด
(Supporting Hand) การใช้งานให้มีประสิทธิภาพจำเป็นต้องฝึกฝนเช่นกัน
ไม่ใช่ว่าเปิดไฟฉายทุกครั้งจะต้องทำการยิงเสมอไป
เราต้องควบคุมได้ว่าเป้าหมายใดจำเป็นต้องยิง
ศูนย์ไฟฉายบางรุ่นอาจมีศูนย์เลเซอร์ประกอบในกระบอกเดียวกัน
ดังนั้นการฝึกใช้งานเพื่อให้สามารถใช้อุปกรณ์เหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดจึงเป็นสิ่งสำคัญ
เนื่องจากศูนย์ไฟฉายและ
Tactical Flashlight ต่างก็มีข้อดี ข้อเสีย และข้อจำกัดของมันเอง ดังนั้นบางคนอาจใช้ไฟฉายทั้งสองแบบ
โดยเลือกใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ บางครั้งการใช้ Tactical Flashlight อาจได้เปรียบกว่าการใช้ศูนย์ไฟฉาย
เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไปก็หันมาใช้ศูนย์ไฟฉายแทน โดย Tactical Flashlight อาจมีสายคล้องข้อมือจึงทำให้ใช้งานง่ายขึ้นเมื่อต้องเปลี่ยนมาใช้ศูนย์ไฟฉาย
เป็นต้น
โดยทั่วไปความสว่างของไฟฉายหรือศูนย์ไฟฉายอย่างน้อย
60 รูเมน ถือว่าเพียงพอที่จะทำให้เกิดอาการตาพล่ามัวชั่วขณะ (Blinding Effect) เมื่อส่องไฟไปที่ตาของคนร้ายภายในห้อง
การรู้จักอุปกรณ์ส่องสว่างของเราเป็นอย่างดีทำให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ควรฝึกยิงปืนประกอบไฟฉายหรือศูนย์ไฟฉายจนเกิดทักษะความชำนาญ เพราะสิ่งนี้อาจสร้างความแตกต่างระหว่างความเป็นและความตายได้เลยทีเดียว
สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี
“สติ”
เรียบเรียงโดย
Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Weapon-mounted Light
Deployment ของ Richard Mann
No comments:
Post a Comment