New Home Defense Bullets
เมื่อกระสุนปะทะเข้ากับร่างกายมนุษย์ จะเกิดบาดแผล 2 รูปแบบ คือ หนึ่ง โพรงบาดแผลชั่วคราว (Temporary cavity) พลังงานในการกระแทกจากหัวกระสุนดันเนื้อเยื่อออกห่างออกจากแนวทางที่กระสุนเดินทางผ่าน แล้วเนื้อเยื่อนั้นสามารถกลับมาสู่ตำแหน่งเดิมได้
สอง โพรงบาดแผลถาวร (Permanent cavity) เป็นโพรงบาดแผลที่เนื้อเยื่อไม่กลับมาสู่ตำแหน่งเดิมหลังกระสุนเดินทางผ่านไปแล้ว
กระสุนปืนสั้นที่ใช้ในการป้องกันตัว (Defensive handgun ammunition) มักมีคุณสมบัติทั้งสองข้อ แต่อาจจะเน้นไปข้อใดข้อหนึ่งมากเป็นพิเศษ หัวกระสุนที่เบาแต่มีความเร็วสูงมากๆโดยเฉพาะกระสุนหัวรู (Hollowpoint) เชื่อกันว่าสามารถสร้างโพรงบาดแผลชั่วคราวได้ดี ซึ่งทำให้เกิด Hydrostatic shock ในขณะที่กระสุนกระทบร่างกาย กระสุนจึงมีอำนาจทะลุทะลวงไม่มาก และสามารถถ่ายเทพลังงานของกระสุนไปสู่เป้าหมายได้อย่างเต็มที่ โดยเรามักคิดว่ากระสุนขนาด 9 ม.ม. ซึ่งนิยมในปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติคงจะมีคุณสมบัติเช่นนี้เช่นกัน
หัวกระสุนที่หนักและความเร็วไม่มากมักจะสร้างโพรงบาดแผลถาวรได้ดี และสามารถทะลุทะลวงเข้าไปในร่างกายได้ลึกทำลายอวัยวะภายใน หัวกระสุนยิ่งหนัก ยิ่งยากที่จะหยุดมัน ดังนั้นอำนาจทะลุทะลวงจึงมากตามไปด้วย โดยเรามักคิดถึงกระสุนขนาด .45 ACP เป็นตัวอย่าง
โดยส่วนตัวของนาย Jeremy D. Clough แล้วเขาชอบหัวกระสุนที่หนักมากกว่าเบา ถึงแม้หัวกระสุนที่เบาปัจจุบันจะมีการออกแบบให้มีการบานออกซึ่งทำให้มีประสิทธิภาพในการหยุดยั้งดีขึ้นมาก แต่จากการศึกษาของ FBI พบว่าประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่บานออกในขณะทำการยิงทดสอบ หัวกระสุนที่เบาและเร็วจะมีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อมีความเร็วระดับปืนยาว (Rifle velocities) เพราะมันสามารถสร้างโพรงบาดแผลได้ใหญ่มากกว่ากระสุนปืนสั้น
แต่กระสุนแบบใหม่ที่หัวกระสุนจะแตกกระจายออกเป็นเศษเล็กเศษน้อยจำนวนมาก เรียกว่า Frangible bullets อย่างที่ผลิตโดย International Cartridge Corporate, DRT และ Extreme Shock เป็นต้น จัดอยู่ในกลุ่มหัวกระสุนเบาแต่เร็ว อย่างเช่น กระสุนของ Extreme Shock ขนาด .45 ACP มีน้ำหนักเพียง 125 เกรน (ขนาดมาตรฐานที่นิยมใช้ทั่วไปจะประมาณ 230 เกรน) แต่ให้ความเร็วมากกว่า 1400 ฟุตต่อวินาที (หัวกระสุนขนาด 230 เกรน จะให้ความเร็วประมาณ 850 ฟุตต่อวินาที) กระสุนแบบนี้เมื่อกระทบร่างกายเป้าหมายจะแตกกระจายออกและสามารถถ่ายเทพลังงานทั้งหมดให้กับเป้าหมายได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งหากกระสุนไปตกกระทบผนังห้องซึ่งกระสุนอาจทะลุผ่านไปได้แต่สะเก็ดกระสุนที่แตกกระจายออกไปนั้น มีโอกาสน้อยมากที่จะไปทำอันตรายบุคคลอื่นที่อยู่ฝั่งตรงข้ามอย่างรุนแรงได้น้อยกว่ากระสุนแบบมาตรฐานทั่วไป
แน่นอนว่ากระสุนหัวรูอาจจะไม่บานออกก็ได้ ในขณะเดียวกันกระสุนแบบใหม่นี้ก็อาจไม่แตกออกก็ได้ แต่มันก็จะประพฤติตัวเหมือนเป็นกระสุนหัวกลมธรรมดาเท่านั้นซึ่งก็ยังดี
กระสุนที่มีการแตกกระจายออกเช่นนี้มีการออกแบบหลายอย่าง ดังนั้นเมื่อคุณเลือกที่จะใช้กระสุน Frangible bullet ก็ควรศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับคุณสมบัติของกระสุนที่จะใช้ สภาพแวดล้อมเช่นไรที่กระสุนจะมีประสิทธิภาพสูงสุดและน่าเชื่อถือที่สุด
ยกตัวอย่างเช่น กระสุน Extreme Shock จะมีเปลือกทองแดงหุ้มผงโลหะอัดแน่นเอาไว้ภายใน เมื่อทดลองยิงใส่ก้อนเจลลาตินพบว่า กระสุนจะแตกกระจายออกเป็นผงเมื่อผ่านก้อนเจลลาตินไปได้ลึกประมาณ 3 นิ้ว และเมื่อยิงแผ่นเหล็กก็จะแตกออกทันที ดังนั้นในสถานการณ์ที่เราต้องคำนึงถึงอำนาจทะลุทะลวงที่น้อยแต่มีประสิทธิภาพในการหยุดยั้งดีๆ เช่น การป้องกันตัวในบ้านหรือบนเครื่องบิน (เจ้าหน้าที่ตำรวจบนเครื่องบินที่เรียกว่า Air marshal มักใช้กัน) กระสุนแบบนี้ก็อาจเป็นทางเลือกที่เหมาะสม
สิ่งที่ต้องระวังคือ กระสุนที่มีความเร็วสูงมากๆนั้นมักทำให้วิถีกระสุนไม่แม่นยำได้เมื่อใช้กับปืนที่มีเกลียวลำกล้องไม่มากนัก ดังนั้นคุณควรทดสอบกระสุนแบบใหม่ของคุณกับปืนที่จะนำไปใช้งานจริงทุกครั้ง เพื่อให้แน่ใจในประสิทธิภาพและความแม่นยำ ไม่ว่าจะเป็นปืนลำกล้องสั้นหรือลำกล้องมาตรฐาน
ถึงแม้กระสุน Frangible bullet นี้อาจยังหาไม่ได้ในไทย แต่ก็ถือว่าเป็นแนวคิดใหม่ที่น่าติดตาม และเชื่อว่าอีกไม่นานก็คงหาได้ในตลาดกระสุนปืนบ้านเรา
สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”
เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Controlling the Risks ของ Jeremy D. Clough
No comments:
Post a Comment