Friday, May 28, 2010

Sniper

Sniper



พลแม่นปืน หรือ พลซุ่มยิง (Sniper หรือ Sharpshooter) เจ้าของสมยานาม “One Shot, One Kill” หรือ “หนึ่งนัด หนึ่งสังหาร” มีประจำการในสองหน่วยงานหลักๆ คือ การทหาร (นิยมเรียกว่า Sniper) และ ตำรวจ (มักเรียกว่า Sharpshooter) อาวุธประจำกายของพลซุ่มยิงเป็นปืนยาวความแม่นยำสูงติดกล้องเล็ง (High-precision rifles with scope) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปืนระบบ Bolt action (ปืนยิงทีละนัด บรรจุกระสุนและคัดปลอกกระสุนด้วยมือ) แม้ปัจจุบันจะมีปืนซุ่มยิงแบบกึ่งอัตโนมัติ (Semi-auto sniper rifles) แต่มีข้อจำกัดบางประการจึงยังไม่นิยมมากนัก

คำว่า Sniper นั้นเริ่มใช้กันมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1824 โดยเรียกทหารอังกฤษในอินเดียซึ่งสามารถยิงปืนได้แม่นยำ (ขณะนั้นกีฬายิงนก Snipe นิยมมากและผู้ที่ยิงได้ดีจึงถูกเรียกว่า Sniper) ในอเมริกาคำว่า Sniper ถูกนำมาใช้ภายหลังสงครามกลางเมือง (American civil war, ค.ศ. 1861-1865) โดยความรู้ในเรื่องการซุ่มยิงและการพลางตัวได้นำมาจากนายพรานล่าสัตว์ในช่วงแรกและมีการพัฒนาต่อมาเพื่อใช้ในการสงคราม

ปืนยาวติดกล้องเล็งซึ่งใช้ในการซุ่มยิงถูกใช้ครั้งแรกโดยทหารเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 (ค.ศ. 1914-1918) ต่อมาอังกฤษจึงได้จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมพลแม่นปืนขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1915 บทบาทของพลซุ่มยิงเด่นชัดมากขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1939-1945)


การฝึกพลซุ่มยิงสำหรับตำรวจเริ่มหลังจากเหตุการณ์จับตัวประกันที่ประเทศเยอรมันในปี ค.ศ. 1972 (ขณะนั้นมีเพียงพลซุ่มยิงของทหารเท่านั้น แต่กฎหมายภายในประเทศห้ามทหารปฏิบัติการในเขตเมืองเป็นอันขาด ทำให้มีตัวประกันเสียชีวิตจำนวนมาก หลังจากนั้นกรมตำรวจทั่วโลกก็เริ่มเห็นความสำคัญของพลซุ่มยิง จึงได้มีการฝึกอบรมในเวลาต่อมา)


พลซุ่มยิงเหล่านี้มีความแตกต่างกันในภาระหน้าที่ตามแต่ลักษณะงาน เช่น ในการทหารพลซุ่มยิงมักใช้ในยามสงครามเป็นส่วนใหญ่เป็นการยิงที่ระยะไกลกว่า 1 ก.ม. จนถึง 2 ก.ม. (แต่สถิติไกลสุดอยู่ที่ระยะ 2,475 เมตร โดยทหารอังกฤษนาม Craig Harrison เมื่อ พ.ย. พ.ศ. 2552 ที่ประเทศอัฟกานิสถาน) ส่วนพลซุ่มยิงของตำรวจมักเป็นการยิงในเขตเมืองที่ระยะไม่เกิน 1 ก.ม. โดยส่วนใหญ่เป็นการยิงเพื่อช่วยเหลือตัวประกัน ซึ่งเป็นทางเลือกสุดท้ายหากการเจรจากับคนร้ายล้มเหลว เนื่องจากเป็นการยิงเพื่อสังหารคนร้ายโดยเฉพาะ


มีคติพจน์ประจำพลซุ่มยิงของตำรวจอเมริกา ว่า “Be prepared to take a life to safe a life หรือ เตรียมที่จะคร่าหนึ่งชีวิต เพื่อช่วยหนึ่งชีวิต”


พลซุ่มยิงของตำรวจมักยิงในระยะใกล้กว่าของทหาร โดยส่วนใหญ่มักยิงในระยะ 50 ถึง 100 เมตร โดยพลซุ่มยิงนั้นมีประจำอยู่เฉพาะในหน่วยปฏิบัติการพิเศษเท่านั้น เช่น หน่วย SWAT หรือหน่วยต่อต้านการก่อการร้าย (สำหรับประเทศไทยก็คือ หน่วยอรินทราช 26 และ หน่วยนเรศวร 261) ลักษณะงานมักเป็นการยิงจากอาคาร หรือที่หลบซ่อนระยะไกลไปยังเป้าหมาย


ในการปฏิบัติงานของพลซุ่มยิงมักประกอบด้วยสองคน (Two-man sniper team) คือ พลปืน (a shooter) กับพลชี้เป้า (a spotter) โดยปกติพลชี้เป้าจะเป็นคนซึ่งมีประสบการณ์มากที่สุดและอาจเปลี่ยนตำแหน่งกันได้หากอีกคนอ่อนล้า พลชี้เป้าจะช่วยกำหนดเป้าหมาย บอกระยะห่างของเป้าหมาย ความแรงและทิศทางลม การเล็งเป้าชดเชย หากยิงในระยะที่ไกลมากๆต้องคำนึงถึงอัตราการหมุนของโลกด้วย ส่วนพลปืนมีหน้าที่ปฏิบัติตามและทำการยิงให้ดีที่สุด (มักยิงหลังหายใจเข้าเต็มที่แล้วหายใจออกจนสุดและกลั่นหายใจไว้ อีกทั้งยิงในระหว่างจังหวะการเต้นของหัวใจ โดยใช้อุ้งนิ้วชี้ในการเหนี่ยวไกเพื่อความเที่ยงตรงมากที่สุด)


หน้าที่ของพลซุ่มยิงมี 2 ประการหลักๆ คือ


1. ทำลายเป้าหมาย โดยมักเป็นการยิงในระยะไกลจากที่ซ้อนเพื่อกำจัดเป้าหมายหรือทำให้บาดเจ็บ (ขึ้นกับจุดประสงค์) พลซุ่มยิงจึงต้องฝึกการยิงในสภาพแวดล้อมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลางวันหรือกลางคืน (มีอุปกรณ์เสริมช่วยให้ยิงกลางคืนได้แม่นยำ) ในสภาพป่าหรือในเขตเมือง ในสภาพความเครียดและความกดดันทางจิตใจสูง เลือกหาตำแหน่งในการซุ่มยิงที่เหมาะสม


2. หาข่าว โดยการพลางตัวเข้าไปในพื้นที่ใกล้เป้าหมายเพื่อหาข่าวและทำการซุ่มยิงเมื่อได้รับคำสั่ง คอยสังเกตความเคลื่อนไหวของศัตรูอยู่ห่างๆและรายงานกลับมาให้ผู้บังคับบัญชาเพื่อวางแผน ดังนั้นผู้ที่ฝึกเป็นพลซุ่มยิงจึงต้องฝึกการพลางตัวเพื่อสอดแนมฝ่ายศัตรูทั้งกลางวันและกลางคืน การเคลื่อนที่เข้าหาเป้าหมายโดยไม่ให้ศัตรูรู้ตัว จึงต้องเป็นผู้ที่มีความอดทนสูงมาก


ท่ายิงที่ให้ความแม่นยำสูงสุด คือ ท่านอนคว่ำโดยหนุนลำกล้องปืนด้วยถุงทราย อาวุธปืนที่ใช้ก็ขึ้นกับหน่วยงานและลักษณะงานที่ใช้ซึ่งมีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ


ผู้ที่จะเข้ารับการฝึกเป็นพลแม่นปืนหรือพลซุ่มยิงนั้น จะมีการคัดเลือกกันอย่างเข้มข้นเนื่องจากรัฐต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการผลิตพลซุ่มยิงที่เชี่ยวชาญแต่ละคน อีกทั้งอุปกรณ์ต่างๆไม่ว่าจะเป็นปืน กระสุนหรืออุปกรณ์เสริมอื่นๆก็มีราคาแพง ดังนั้นพลซุ่มยิงในแต่ละหน่วยงานจึงมีจำนวนไม่มากนัก (ในประเทศไทยพลซุ่มยิงมีในหน่วยปฏิบัติการพิเศษของทุกเหล่าทัพและตำรวจ)


ดังนั้นการซุ่มยิงในระยะไกลนั้นไม่เพียงแต่จะต้องมีอุปกรณ์ที่ดีมีราคาแพงแล้ว ยังต้องมีพลซุ่มยิงที่มีความสามารถและได้รับการฝึกฝนมาอย่างดีด้วย


สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนหรือรับข้อมูลข่าวสารขอให้มี “สติ”


เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Sniper Tidbits ของ snipercentral.com และ Wikipedia

No comments:


Newcastle limousines