Wednesday, December 23, 2009

Shooting behind the cover


Shooting behind the cover

เมื่อมีภัยคุกคามจากอาวุธปืนปรากฏขึ้นสิ่งแรกที่ต้องคิดถึงก่อนเสมอ คือ หาที่กำบัง โดยที่กำบังนั้นจะต้องแข็งแรงพอที่จะหยุดกระสุนจากภัยคุกคามได้ เราไม่แนะนำให้หมอบลงกับพื้นเพียงอย่างเดียวเพราะการยิงในเมืองหรือการยิงในบ้าน ในเคหะสถาน มักเกิดขึ้นในระยะใกล้ การหมอบลงกับพื้นทำให้เคลื่อนไหวได้ช้าและจำกัดเป็นเป้านิ่งให้กับคนร้ายได้ จึงควรก้มตัวต่ำวิ่งเข้าหาที่กำบังที่ใกล้ที่สุดโดยเร็ว แล้วประเมินสถานการณ์ทันที

นอกจากนั้นในสถานการณ์ที่เรากระสุนหมด หรือปืนเกิดเหตุติดขัดไม่สามารถทำการยิงต่อไปได้ ก็ต้องรีบหลบเข้าที่กำบังโดยเร็วที่สุดเพื่อทำการแก้ไขปัญหาในสถานที่ที่ปลอดภัย เมื่อเราพร้อมตอบโต้ด้วยอาวุธปืน การยิงปืนหลังที่กำบังจึงเป็นทักษะสำคัญอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้

หลักการยิงปืนหลังที่กำบัง


- ควรถือปืนยิงด้วยสองมือ เป็นที่ยอมรับกันว่าการถือปืนยิงด้วยสองมือให้ความแม่นยำมากกว่าการยิงปืนด้วยมือเดียว ยกเว้นมีเหตุจำเป็นจริงๆซึ่งไม่สามารถถือปืนยิงด้วยสองมือได้

- เล็งด้วยตาข้างถนัดและเปิดตาทั้งสองข้าง ไม่ว่าจะยิงทางด้านใดของที่กำบัง เช่น ซ้าย ขวา บน หรือ ล่าง ก็ควรมองผ่านศูนย์ด้วยตาข้างถนัด เพื่อให้มีความแม่นยำสูงสุด ถึงแม้บางครั้งเราอาจต้องโผล่บางส่วนของร่างกายออกไปมากกว่าการเล็งด้วยตาข้างไม่ถนัดก็ตาม อย่าลืมว่าความแม่นยำต้องมาก่อน เราต้องยิงให้ถูกสิ่งที่เราต้องยิง การเล็งด้วยตาข้างถนัดจะทำได้ดีกว่าตาข้างไม่ถนัด ยกเว้นมีเหตุจำเป็นบางอย่างซึ่งไม่อาจเล็งด้วยตาข้างถนัดได้ หรือเราฝึกการยิงด้วยตาข้างไม่ถนัดได้ดีเช่นกัน (เมื่อยิงหลังที่กำบังข้างไม่ถนัดหากเราสามารถถือปืนด้วยมือและเล็งด้วยตาข้างไม่ถนัดได้ จึงไม่ต้องโผล่ออกจากที่กำบังมากนักก็สามารถทำการยิงได้เกิดความปลอดภัยมากขึ้น)

- ยืนห่างจากที่กำบังประมาณหนึ่งช่วงแขน ตำแหน่งการยืนหรือนั่งยิงหลังที่กำบังมีความสำคัญมาก เรามักได้ภาพการยิงปืนที่ผิดๆจากภาพยนตร์ซึ่งผู้ยิงมักเอาหลังชนกำแพงหรือยืนชิดกำแพง เมื่อจะยิงก็ค่อยกลับหลังหันมายิงผ่านช่องหน้าต่าง ในความเป็นจริงการยิงเช่นนั้นทำให้เสียเวลาในการพลิกตัวเพื่อทำการยิง และไม่ได้ทำให้เราปลอดภัยมากขึ้นแม้แต่น้อย การยืนหันหลังให้ภัยคุกคามเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องแม้จะมีกำแพงกั้นไว้ก็ตาม เป็นการยากที่เราสังเกตเหตุการณ์ภายนอกเพื่อประเมินสถานการณ์ ดังนั้นเราต้องยืนหันหน้าเข้าหาภัยคุกคามโดยมีที่กำบังกั้นกลาง เป็นการง่ายที่จะมองเป้าหมายและทำการยิงได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนั้นหากยืนชิดหรือใกล้ที่กำบังมากเกินไปอาจถูกกระสุนของคนร้ายซึ่งยิงสะท้อนที่กำบังเข้าหาตัวเราได้เป็นอันตรายอย่างมาก

- แนวปืนชี้เข้าหาเป้าหมายตลอด ไม่ว่าจะยิงจากด้านใดของที่กำบังเมื่อมีการเปลี่ยนตำแหน่งการยิง การเคลื่อนที่ของแนวปืนหลังที่กำบังจะชี้ออกไปยังเป้าหมายและควรอยู่ใกล้แนวสายตาให้มากที่สุด เพื่อให้สามารถเริ่มทำการยิงได้เร็วและมีความปลอดภัย

- พยายามโผล่ส่วนของร่างกายออกไปให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อให้เราเป็นเป้าหมายที่เล็กที่สุดสำหรับคนร้าย ดังนั้นโผล่ปืนและส่วนของร่างกายเท่าที่จะทำการยิงเป้าหมายได้ก็พอ ซึ่งสิ่งนี้อาจต่างไปจากการยิงปืนแข่งขันรณยุทธ์เพราะนักกีฬามักโผล่ตัวออกไปมากเพื่อทำการยิงที่ถนัด เพราะรู้ว่าเป้ากระดาษนั้นจะไม่ยิงตอบโต้กลับมา ในสถานการณ์จริงตัวเราต้องอยู่ในที่ปลอดภัยให้มากที่สุด

- อย่าลืมว่าแนวศูนย์เล็งกับแนวปากกระบอกปืนเป็นคนละแนวกัน การที่เรามองผ่านศูนย์ปืนไปยังเป้าหมายได้ไม่มีสิ่งกีดขวางไม่ได้หมายความว่าปากกระบอกปืนไม่มีสิ่งกีดขวางด้วย ดังนั้นเราต้องมั่นใจว่าปากกระบอกปืนอยู่พ้นที่กำบังโดยไม่มีอะไรมาขวาง ปืนสั้นจะมีปัญหานี้น้อยกว่าปืนลูกซองและปืนยาว ซึ่งศูนย์เล็งกับแนวลำกล้องปืนอยู่ห่างกันมากกว่าปืนสั้น

- ขณะทำการยิงควรให้ปากกระบอกปืนยื่นพ้นขอบที่กำบังออกไปเล็กน้อย เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่ยิงถูกที่กำบังของตัวเอง ในบางสถานการณ์เราอาจใช้ขอบของที่กำบังช่วยพยุงปืนให้มีความมั่นคงมากขึ้นขณะทำการยิงได้ แต่การยิงเช่นนี้หากมีคนร้ายหลบอยู่ชิดกับที่กำบังด้านนอกก็อาจทำการแย่งหรือปลดอาวุธในมือเราได้ง่าย ถ้าไม่แน่ใจว่าภายนอกที่กำบังมีคนร้ายหลบซ้อนอยู่หรือไม่ก็อาจถอยหลังยิงห่างจากที่กำบังได้โดยไม่ยื่นปากกระบอกปืนออกพ้นที่กำบัง แต่ต้องระวังเรื่องแนวเล็งกับแนวปืนเป็นคนละแนวกันอาจยิงถูกที่กำบังของตัวเองได้

- ความรวดเร็วในการยิงขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ถ้าเราอยู่ในที่ปลอดภัยการยิงก็ไม่จำเป็นต้องเร่งมากนัก เล็งให้ดียิงให้ถูก กระสุนทุกนัดมีความหมายการยิงทิ้งยิงขว้างอาจเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ก็ได้ ในบางครั้งอาจต้องยิงเพื่อกดดันคนร้ายไม่ให้ทำการยิงตอบโต้มาก็ต้องทำการยิงที่เร็วขึ้น

มีหลายวิธีที่สามารถทำการยิงหลังที่กำบัง ไม่ว่าจะเป็นท่ายืน ท่านั่ง ท่านอน เป็นสิ่งที่ควรเรียนรู้และฝึกฝนโดยอาศัยหลักการข้างต้น

TAS สอนการยิงปืนหลังที่กำบัง เพื่อเพิ่มพูนทักษะให้กับผู้รับการฝึกได้สามารถใช้อาวุธปืนอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

เรียบเรียงโดย Batman

Thursday, December 10, 2009

Gun Aiming














Gun Aiming

เมื่อกระสุนพุ่งผ่านลำกล้องปืนออกไปจะเดินทางเป็นเส้นตรงอยู่ระยะหนึ่งหลังจากนั้นจะเริ่มโค้งต่ำลงจนตกกระทบพื้น ความแม่นยำของการยิงปืนโดยทั่วไปก็อยู่ที่เป้าหมายควรอยู่ในระยะที่กระสุนยังวิ่งเป็นเส้นตรง (ไม่รวมถึงการยิงปืนไรเฟิ่ลระยะไกล ซึ่งต้องมีการคิดคำนวณหลายปัจจัยในการเล็ง เช่น ระยะห่างของเป้า ความเร็วของกระสุน ความเร็วลม การหมุนของโลก เป็นต้น)

หากเป็นไปได้การเล็งปืนที่ดีที่สุดคือ การมองผ่านภายในลำกล้องปืนไปยังเป้าหมายเบื้องหน้าซึ่งเป็นแนวที่กระสุนจะวิ่งผ่านไปยังเป้าหมาย แต่ในความเป็นจริงไม่สามารถทำเช่นนั้นได้เราจึงต้องใช้ศูนย์ปืนซึ่งอยู่นอกลำกล้องปืนในการเล็ง

ทฤษฏีการเล็งปืนเป็นรูปแบบของสามเหลี่ยมมุมฉาก โดยฐานของสามเหลี่ยมเป็นแนวลำกล้องปืนซึ่งวิถีกระสุนจะวิ่งเป็นเส้นตรงไปยังเป้าหมายซึ่งตั้งอยู่ที่ปลายสามเหลี่ยมที่ฐาน ด้านมุมฉากเป็นความสูงของศูนย์ปืนโดยด้านที่วิ่งจากยอดสามเหลี่ยมไปยังปลายสามเหลี่ยมที่ฐานนั้นเปรียบเหมือนแนวเล็งจากศูนย์ปืน

จะเห็นได้ว่าแนวเล็งกับแนวลำกล้องปืนไม่ใช่เป็นแนวเดียวกันแต่จะตัดกัน ณ จุดหนึ่งซึ่งก็คือ เป้าหมายที่เราต้องการยิงนั้นเอง ดังนั้นในการตั้งศูนย์ปืนที่ระยะห่างของเป้าหนึ่งๆนั้นจะมีความแม่นยำเฉพาะที่ระยะห่างนั้นเท่านั้น เมื่อเลื่อนเป้าออกพ้นระยะที่ตั้งศูนย์ปืนเอาไว้ก็จะมีความคลาดเคลื่อนเกิดขึ้นทันที

ดังนั้นในการแข่งขันยิงปืนทั่วไปซึ่งต้องใช้ความแม่นยำสูงในการนับคะแนนโดยเฉพาะเป้ากระดาษวงกลมดำ (Bulleye target) ผู้เข้าแข่งขันจึงต้องปรับศูนย์ปืนให้เหมาะสมกับการยิงเป้าที่ระยะนั้นๆ เมื่อเปลี่ยนระยะของเป้าก็ต้องตั้งศูนย์ใหม่ ศูนย์หลังของปืนจึงมักปรับได้เพื่อให้เหมาะกับเป้าในระยะต่างๆตามที่นักยิงปืนต้องการ

แต่ปืนที่ใช้ในการยิงระบบต่อสู่นั้นมักเป็นศูนย์ใบตายหรืออาจปรับได้อย่างจำกัด (ขยับซ้าย-ขวาได้เล็กน้อย) แน่นอนว่าความแม่นยำระดับยิงเข้าจุดตรงกลางวงดำทุกนัดทุกระยะห่างคงเป็นไปไม่ได้ แต่ความคลาดเคลื่อนของตำบลกระสุนกระทบเป้านั้นไม่ห่างกันมากนัก เพราะจากทฤษฏีการเล็งข้างต้นความสูงของศูนย์เล็งและแนวลำกล้องปืนนั้นไม่ห่างกันมากนักดังนั้นด้านมุมฉากจึงสั้นมาก ส่วนด้านฐานซึ่งลากยาวไปถึงเป้าหมายจะยาวมากจนแนวเล็งกับแนวลำกล้องปืนเกือบจะเป็นแนวเดียวกัน หากเป้าหมายซึ่งมักใช้เป้าหุ่นคนอยู่ใกล้หรือไกลกว่าปลายสามเหลี่ยมที่ฐานซึ่งเป็นจุดที่แม่นยำที่สุด และเราเล็งไปที่บริเวณหน้าอกหรือลำตัวเป็นส่วนใหญ่ความคลาดเคลื่อนของตำบลกระสุนที่กระทบเป้านั้นก็ยังอยู่ในตัวเป้าหุ่นคนจึงเป็นวิสัยที่ยอมรับได้

ความได้เปรียบของศูนย์ปืนระบบต่อสู้คือ ความเรียบง่าย ความแข็งแรง เมื่อชักปืนออกจากซองหรือพกซ่อนในร่มผ้ามักไม่ติดขัด ไม่มีส่วนที่จะไปเกี่ยวขอบกางเกงหรือชายผ้าให้สะดุด ซึ่งต่างจากศูนย์ปืนแข่งขันซึ่งมีแง่มุมมากมีโอกาสเกี่ยวติดขอบผ้าขอบกางเกงได้ง่ายกว่า อีกทั้งศูนย์ปืนอาจเคลื่อนได้ง่ายกว่าด้วย

นอกจากนั้นรูปแบบการเล็งก็ยังมีความแตกต่างกัน การเล็งเป้า (Target aiming) มี 2 รูปแบบใหญ่ๆที่นิยมใช้กัน

1. ศูนย์จี้ เมื่อจัดแนวศูนย์หน้าและหลังได้แล้วก็ให้เล็งจี้ไปยังตำแหน่งที่ต้องการให้กระสุนถูกเป้า เป็นการจัดศูนย์ที่นิยมในการยิงปืนระบบต่อสู้ เนื่องจากความรวดเร็วในการใช้งาน แต่ไม่เป็นการง่ายนักที่จะจัดศูนย์ให้อยู่ตรงกลางเป้าได้พอดีจึงไม่เหมาะในการยิงปืนแข่งขันที่ใช้เป้าวงกลมดำ

2. ศูนย์นั่งแท่น เมื่อจัดแนวศูนย์หน้าและหลังได้แล้วก็ให้ฐานของเป้าหมายมาวางอยู่บนปลายยอดใบศูนย์หน้า เป็นการจัดศูนย์ที่นิยมในการยิงปืนเป้าวงกลมดำแข่งขัน เนื่องจากให้ความแม่นยำสูง จะเห็นได้ว่าแนวเล็งกับแนวที่กระสุนกระทบเป้านั้นเป็นคนละแนวกัน จึงถือเป็นการเล็งเผื่อให้กระสุนตกสูงกว่าที่เล็งไว้ ดังนั้นเป้าวงกลมดำที่มีขนาดเล็กหรือใหญ่ต่างกันก็ต้องจัดศูนย์ใหม่ทุกครั้งเพื่อให้กระสุนเข้าตรงกลางแม้เป้าจะห่างเท่ากันก็ตาม แต่เนื่องจากความง่ายในการจัดศูนย์แบบนี้ทำให้มีความแม่นยำสูง แต่ก็เสียเวลามากกว่าการจัดแบบศูนย์จี้

นักยิงปืนแข่งขันเป้าวงกลมหลายคนมักหลับตาข้างไม่ถนัดเพื่อให้ง่ายในการเล็ง แต่ในการยิงปืนระบบต่อสู้นั้นเราจะเปิดตาทั้งสองข้าง เพื่อสามารถประเมินสถานการณ์เบื้องหน้าได้ตลอดและใช้ตาข้างถนัดในการเล็งปืน

การยิงต่อสู้ในระยะต่ำกว่า 7 หลามักใช้การยิงด้วยสัญชาติญาณโดยมองผ่านศูนย์หลัง ศูนย์หน้า แล้วจี้ไปที่เป้าหมายและทำการเหนี่ยวไกได้เลย (อาจมองศูนย์หน้าชัดหรือเป้าหมายชัดก็ได้) แต่หากเป้าหมายอยู่ไกลกว่าระยะดังกล่าว และจำเป็นต้องยิงก็ควรใช้การเล็งละเอียดจะให้ความแม่นยำมากกว่า หรือเราอยู่ในที่กำบังซึ่งปลอดภัยและไม่จำเป็นต้องรีบร้อนทำการยิงก็สามารถเล็งละเอียดได้

มีการออกแบบศูนย์หน้าและหลังระบบต่อสู้ที่หลากหลายเพื่อให้ง่ายต่อการจัดศูนย์ อีกทั้งมีศูนย์ปืนเรืองแสง (Night sight) สำหรับยิงกลางคืน เพื่อให้ง่ายในการเห็นศูนย์ในภาวะแสงต่ำ

TAS สอนให้เล็งปืนแบบศูนย์จี้และเปิดตาทั้งสองข้างขณะยิงปืน เพื่อให้ผู้รับการฝึกคุ้นเคยกับการยิงปืนระบบต่อสู้

สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”

เรียบเรียงโดย Batman

Friday, November 27, 2009

Vang Comp’s Shotgun Wizardry











Vang Comp’s Shotgun Wizardry

นาย Clint Smith ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการปรับแต่งปืนลูกซองไว้อย่างน่าสนใจ เขาบอกว่าไม่มีปืนใดที่ดีไปกว่าปืนลูกซองในการยิงระยะใกล้ (ภายในห้องหรือระยะห่างเท่ารถสักคัน) เป็นหนึ่งในปืนไม่กี่ชนิดซึ่งหากยิงถูกเป้าหมายในระยะใกล้แล้วสามารถฉีกเป้าหมายออกเป็นชิ้นๆได้ทีเดียว

แม้ปืนลูกซองจะได้รับการยอมรับในกลุ่มผู้รักษากฎหมาย แต่บางคนก็อาจไม่ชอบเนื่องจากแรงถีบที่หนักหน่วง กระสุนที่มีหลายรูปแบบ (กระสุนแต่ละแบบมีประโยชน์ต่างกัน จึงต้องใช้ความจำมากกว่าปืนชนิดอื่น) พานท้ายปืนที่อาจไม่เหมาะสม (ระยะห่างระหว่างไกปืนกับปลายพานท้ายปืนอาจไม่เหมาะกับบางคน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปืนถีบหนักขึ้น) ด้วยเหตุผลเหล่านี้ทำให้ปืนลูกซองมักถูกวางไว้ในรถตำรวจมากกว่านำออกไปใช้

แต่ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาปืนลูกซองมีการพัฒนาไปมากจนนำไปสู่รูปแบบใหม่ของปืนลูกซองสำหรับใช้ในการป้องกันตัว (Defensive shotgun)

นาย Clint Smith รู้จักกับนาย Hans Vang (คนที่คิดระบบ Vang comp) มากกว่าสิบปีแต่เขาไม่เคยใช้ปืนลูกซองของนาย Hans Vang เลย จนกระทั้งวันหนึ่งเขาส่งปืนลูกซองเรมิงตัน 870 รุ่นเก่า (เป็นปืนระบบ Pump action ผู้ยิงต้องสาวกระโจมมือเองทุกครั้งที่ยิงเพื่อคัดปลอกกระสุนและบรรจุกระสุนใหม่เข้ารังเพลิง) ให้นาย Hans Vang ปรับปรุง เมื่อได้รับปืนกลับมาพบว่ามันกลายเป็นปืนที่ดีเยี่ยมทีเดียว

ปืนได้รับการดัดแปลงหลายอย่างตามมาตรฐานของ Hans spec มีการเจาะรูเพื่อลดแรงสะบัดของปืน (Vang comp) ที่ปลายลำกล้องปืน เปลี่ยนศูนย์หน้าเป็นแบบจุด (Front sight dot) ขนาดใหญ่ขึ้นและศูนย์หลังมีฐานที่แข็งแรงมากขึ้นและสามารถปรับระดับได้ ซึ่งจะใช้ได้ดีในการยิงในภาวะแสงต่ำและเป้าเคลื่อนที่ซึ่งเหมาะกับสถานการณ์ซึ่งตำรวจต้องเผชิญ มีรางติดอุปกรณ์เสริมที่กะโหลกปืน (Receiver) ได้ เช่น กล้องเล็ง นอกจากนั้นยังขยายหลอดบรรจุกระสุนให้ด้วย กระโจมมือติดราง 1913 type tri-rail ซึ่งสามารถนำศูนย์ไฟฉายของ Surefire X-300 มาติดได้ อีกทั้งติดแผ่นใส่กระสุนสำรองที่กะโหลกปืน (Sidesaddle) มาให้ด้วย และเปลี่ยนพานท้ายปืนให้สั้นลงเพื่อทำให้ยิงได้ดีขึ้น

การปรับปรุงปืนของนาย Vang นั้นอยู่บนพื้นฐานที่ว่า ตำรวจซึ่งมีงบน้อยก็สามารถนำปืนเก่ามาทำได้โดยเสียค่าใช้จ่ายไม่มาก (หากไม่มีงบมากพอที่จะซื้อปืนใหม่)

ปืนลูกซองต่อสู้ หรือ ปืนลูกซองรณยุทธ์ (Tactical shotgun) ถือว่ามีคุณสมบัติเด่นที่สำคัญ 3 ประการ คือ

หนึ่ง อำนาจหยุดยั้งดีมากเมื่อทำการยิงถูกเป้าหมายในระยะใกล้ (ดีกว่าปืนสั้นทุกประเภทเมื่อใช้กระสุนที่เหมาะสม) โดยระยะหวังผลของกระสุนลูกปลายประมาณ 20 กว่าหลา (ขึ้นกับปืนและกระสุนที่ใช้)

สอง มีกระสุนให้เลือกใช้หลายแบบ ทั้งกระสุนลูกปรายและลูกโดดโดยแต่ละแบบมีหลายชนิด ซึ่งสามารถเลือกใช้ได้หลายวัตถุประสงค์ทั้งกีฬายิงเป้า ต่อต้านบุคคล จนถึงล่าสัตว์ ทำให้สามารถเลือกกระสุนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ได้ เมื่อใช้กระสุนลูกปรายทำให้มีโอกาสยิงถูกเป้าหมายได้ง่ายขึ้น

สาม เป็นปืนที่มีคุณสมบัติของปืนไรเฟิ่ล (Rifle) เมื่อใช้กระสุนลูกโดด (ระยะหวังผลไกลขึ้น และอาจใช้ทำลายกลอนประตูได้ด้วย)

ปัจจุบันมีกระสุนลูกซองที่มีแรงถีบน้อย (Low recoil หรือ Tactical buck shot) เพื่อทำให้สามารถยิงซ้ำได้เร็วขึ้น ซึ่งใช้ในกลุ่มผู้รักษากฎหมายเป็นส่วนใหญ่แต่ยังไม่มีใช้ในประเทศไทย ดังนั้นควรเลือกกระสุนแรงมาตรฐานไว้ก่อนหรือฐานต่ำ (Low base) เพื่อให้แรงถีบน้อยที่สุด ยิงซ้ำได้เร็วและสามารถคุมปืนได้ง่าย ส่วนอำนาจหยุดยั้งถือว่าเพียงพอสำหรับการต่อกรกับมนุษย์ เช่น กระสุน 12 เกจ (Gauge) OO Buck หรือ SG 9 เม็ดฐานต่ำ เป็นต้น

ปืนลูกซองต่อสู้ซึ่งเหมาะสำหรับใช้ในการปกป้องชีวิตและทรัพย์สิน มักเป็นปืนระบบ Pump action เนื่องจากกลไกทำงานไม่ซับซ้อน โอกาสติดขัดยากสามารถยิงกับกระสุนแรงต่ำได้ โดยปืนมักใช้ยิงในระยะใกล้จึงควรมีลำกล้องไม่ยาวนักเพื่อความคล่องตัว เช่น 18 นิ้ว (ในอเมริกาห้ามใช้ปืนลำกล้องสั้นกว่า 18 นิ้ว เพราะประชาชนสามารถพกซ้อนได้ง่าย) มีโช๊ค (Choke) แบบ Cylinder หรือ Improved cylinder เพื่อสามารถใช้กระสุนลูกโดดได้ อาจมี Compensator ไม่ว่าจะเป็น Vang comp หรือ Cutts comp ก็ได้เพื่อลดการสะบัดของปากกระบอกปืน และมีแผ่นรองพานท้ายปืน (Recoil pad) ที่ดีจะช่วยให้ยิงได้นุ่มมือขึ้นไม่ถีบมากนัก นอกจากนั้นใช้กระสุนขนาด 12 เกจ ปลอกยาว 2 ¾ นิ้ว หรือ 3 นิ้ว ฐานต่ำ มักสามารถบรรจุกระสุนได้มาก เช่น 7 ถึง 8 นัด (หลอดบรรจุกระสุนที่ยาวผิดปกติมากๆมักใช้ในการแข่งขันยิงปืน ไม่เหมาะในการใช้ยิงต่อสู้เพราะขาดความคล่องตัว) อาจมีที่ใส่กระสุนสำรองซึ่งติดอยู่ที่กระโหลกปืนเสริม มีศูนย์หน้าและหลังที่แข็งแรงโดยศูนย์หลังมักเป็นศูนย์ไรเฟิ่ล (เพื่อสามารถใช้ศักยภาพของปืนได้สูงสุด) กระโจมมือควรสามารถติดศูนย์ไฟฉายได้เพื่อการยิงในภาวะแสงต่ำ (สถานการณ์ยิงต่อสู้จริงมักเกิดในภาวะแสงต่ำ)

ข้อจำกัดของปืนลูกซอง อาทิเช่น น้ำหนักของปืนที่มากกว่าปืนสั้นมากจึงไม่สามารถถือปืนไว้ได้นานนัก จำนวนกระสุนอาจน้อยกว่าปืนสั้นส่วนใหญ่โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับปืนสั้นขนาด 9 ม.ม. ไม่ค่อยคล่องตัวเมื่อใช้ในพื้นที่ที่คับแคบมากๆ (Very confined space) เช่น ภายในรถยนต์หรือเครื่องบิน เป็นต้น

การเรียนรู้ข้อดีและข้อด้อยของปืนลูกซองทำให้เราสามารถใช้อาวุธชนิดนี้ได้อย่างเหมาะสม

TAS สอนยิงปืนลูกซองระบบต่อสู้เพื่อให้ผู้รับการฝึกสามารถใช้ในการปกป้องชีวิตและทรัพย์สินได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”

เรียบเรียงโดย Batman

อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Vang Comp’s Shotgun Wizardry ของ Clint Smith

Thursday, November 19, 2009

NYPD SOP 9 - ANALYSIS OF POLICE COMBAT











NYPD SOP 9 - ANALYSIS OF POLICE COMBAT

ในปี ค.ศ. 1969 แผนก Firearms and Tactics section ของกรมตำรวจนิวยอร์ก (NYPD) ได้คิดที่จะทำการศึกษาในเชิงลึกเกี่ยวกับการใช้อาวุธของตำรวจในสถานการณ์จริง เรียกคำสั่งนี้ว่า SOP 9

การศึกษาเริ่มตั้งแต่ ม.ค. ค.ศ.1970 ถึง ธ.ค. ค.ศ.1979 และรายงานได้รับการเผยแพร่ในปี ค.ศ.1981โดยรวบรวมมากกว่า 6,000 เหตุการณ์

จนถึงช่วงเวลาที่รายงานได้รับการเปิดเผย ปืนส่วนใหญ่ของตำรวจได้มีการเปลี่ยนจากปืนลูกโม่มาเป็นปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติ และเงื่อนไขของสถานการณ์ใช้อาวุธปืนก็ค่อยๆเปลี่ยนไปด้วย ผลการศึกษาจะนำไปสู่รูปแบบการฝึกและการตอบสนองเพื่อการป้องกันตัวเองอย่างเหมาะสมจนกว่าจะมีการศึกษาใหม่ๆเพิ่มเติม

- ระยะในการยิงต่อสู้ (Shooting Distances) นับตั้งแต่ ก.ย. ค.ศ. 1854 ถึง ธ.ค. ค.ศ.1979 มีตำรวจ 254 นายเสียชีวิตจากการยิงต่อสู้กับคนร้ายที่มีอาวุธ โดย 90 เปอร์เซ็นต์เกิดขึ้นในระยะต่ำกว่า 15 ฟุต (ระยะประชิดจนถึง 3 ฟุตมี 34 เปอร์เซ็นต์, ระยะ 3 ถึง 6 ฟุตมี 47 เปอร์เซ็นต์, ระยะ 6 ถึง 15 ฟุตมี 9 เปอร์เซ็นต์) เมื่อศึกษาย้อนกลับไปจนถึงปี ค.ศ. 1929 จำนวน 4,000 เหตุการณ์ พบว่า 75 เปอร์เซ็นต์ เป็นการยิงในระยะต่ำกว่า 20 ฟุต (ระยะประชิดจนถึง 10 ฟุตมี 51 เปอร์เซ็นต์, ระยะ 10 ถึง 20 ฟุตมี 24 เปอร์เซ็นต์)

- สภาพแสง (Light Conditions) ส่วนใหญ่เหตุการณ์เกิดขึ้นในภาวะแสงต่ำ (Poor lighting conditions) แต่ไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นในภาวะที่มืดสนิท (Total darkness) เลย เป็นที่น่าสังเกตว่าไฟฉายไม่ได้ถูกนำมาใช้ช่วยเพิ่มขีดความสามารถ การยิงปืนในสภาพแสงสลัวๆนั้นมีความแตกต่างจากการยิงในภาวะแสงที่สว่างจ้าเห็นชัด

- อาวุธ (Weapons) อาวุธปืนเป็นอาวุธที่ใช้ทำร้ายตำรวจประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ของเหตุการณ์ทั้งหมด แต่ตำรวจ 254 นายที่เสียชีวิตจากการถูกทำร้ายนั้น 90 เปอร์เซ็นต์เกิดจากอาวุธปืนและมีเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เกิดจากมีด

60 เปอร์เซ็นต์เกิดจากปืนลูกโม่ โดย 35 เปอร์เซ็นต์เกิดจากปืนลูกโม่แบบพกซ่อน (โครงปืนเล็กลำกล้องสั้น)

- การเล็งปืน (Sight Alignment) 70 เปอร์เซ็นต์ของเหตุการณ์ทั้งหมดไม่มีการเล็งปืน เจ้าหน้าที่ตำรวจรายงานว่าพวกเขาใช้การยิงโดยสัญชาติญาณ (Instinctive or Point shooting) เมื่อระยะห่างระหว่างตำรวจกับคนร้ายเพิ่มขึ้นเริ่มมีรายงานการเล็งปืนมากขึ้น เช่น การใช้แนวลำกล้องปืนชี้ไปที่คนร้ายแล้วมองศูนย์หน้ารวมทั้งการเล็งละเอียด มีประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์จำไม่ได้ว่าได้เล็งหรือยิงโดยสัญชาติญาณ

- การชักปืนเร็ว (Quick Draw) 65 เปอร์เซ็นต์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจรู้ว่ากำลังจะเกิดเหตุร้าย และได้ชักปืนลูกโม่ (สมัยนั้นนิยมใช้ปืนลูกโม่) ออกมาพร้อมที่จะใช้งานซึ่งในทางยุทธวิธีถือว่าเหมาะสมแล้ว ตำรวจที่เสียชีวิตส่วนใหญ่มักทำงานในขณะที่อยู่คนเดียวและเผชิญหน้ากับคนร้ายมากกว่าหนึ่งคน

- การคุ้มกัน (Cover) มีเพียงปัจจัยเดียวซึ่งสำคัญที่สุดต่อการมีชีวิตรอดของตำรวจก็คือ การคุ้มกัน ในสถานการณ์ที่ตึงเครียดตำรวจจะตอบสนองต่อเหตุการณ์ตามที่ได้ฝึกมา โดยมักจะมีการคุ้มกันรวมอยู่ด้วยถ้าทำได้ แต่มันจะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าไม่เคยฝึกมาก่อน

- ตำเหน่ง (Positions) 84 เปอร์เซ็นต์ตำรวจกำลังยืนหรือนั่งคุกเข่า (Crouch position) ในขณะที่พวกเขายิงปืน

- มือข้างถนัดหรือมือข้างไม่ถนัด (Strong Hand or Weak Hand) เจ้าหน้าที่ตำรวจส่วนใหญ่ยิงด้วยมือข้างถนัด แม้แต่ในบางสถานการณ์ถ้าหากยิงด้วยมือข้างไม่ถนัดจะมีประโยชน์กว่า ดังนั้นการเน้นให้ฝึกยิงด้วยมือข้างไม่ถนัดอย่างหนักนั้นยังคงเป็นข้อสงสัยอยู่ว่าจำเป็นหรือไม่

- ยิงแบบขึ้นนกหรือไม่ขึ้นนก (Single and Double Action) ปืนลูกโม่ที่ใช้นั้น 90 เปอร์เซ็นต์ยิงโดยไม่ขึ้นนก (Double action) และเกือบจะไม่มีข้อยกเว้นเลย

- การยิงเตือน (Warning Shoot) อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการยิงอย่างต่อเนื่อง การยิงปืนด้วยความแม่นยำจากยานพาหนะที่กำลังเคลื่อนที่อย่างรวดเร็วนั้นแถบจะเป็นไปไม่ได้เลย แม้ผู้ยิงจะได้รับการฝึกยิงปืนมาอย่างดีเยี่ยมก็ตาม

การยิงปืนขณะที่กำลังวิ่งอยู่นั้นทำให้สถานการณ์แย่ลง เช่น กระสุนหมดเร็วขึ้นหรืออาจยิงพลาดไปถูกผู้บริสุทธิ์ซึ่งปรากฏออกมาอย่างกะทันหัน

- การบรรจุกระสุนอย่างรวดเร็ว (Rapid Reloading) จำนวนกระสุนที่ใช้ในการยิงต่อสู้กับคนร้ายที่มีอาวุธนั้นอยู่ที่ 2 ถึง 3 นัดเท่านั้น จำนวนกระสุนนี้คงที่มานานหลายปีตลอดการศึกษาและตรงกับการศึกษาที่ LAPD ซึ่งใช้กระสุนเฉลี่ย 2.6 นัดในการยิงต่อสู้แต่ละครั้ง

ความจำเป็นที่จะต้องทำการบรรจุกระสุนอย่างรวดเร็วเพื่อป้องกันการเสียชีวิตหรือบาดเจ็บอย่างร้ายแรงนั้นอาจไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ จากผลการศึกษานี้แม้แต่การยิงในระยะใกล้ซึ่งต่ำกว่า 15 ฟุตก็ไม่มีรายงานว่าจำเป็นต้องทำการบรรจุกระสุนอย่างรวดเร็ว

มีเพียง 6 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มีรายงานว่ามีการบรรจุกระสุนใหม่ (Reloading) ซึ่งมักเป็นเหตุการณ์ยิงในการไล่ติดตามคนร้าย หรือคนร้ายอยู่ในที่กำบัง หรือเป็นการยิงในระยะไกลกว่า 25 ฟุต

- ประสิทธิภาพของกระสุน (Bullet Efficiency) จากการศึกษาพบว่าไม่ใช่ขนาดของกระสุน รูปร่างของกระสุน ส่วนประกอบของกระสุน หน้าตัดของกระสุนหรือ ความเร็วของกระสุน จะเป็นปัจจัยสำคัญในการบอกประสิทธิภาพของกระสุน แต่ตำแหน่งที่โดนกระสุนต่างหากเป็นตัวบอกประสิทธิภาพของกระสุนในการหยุดคนร้ายไม่ว่าจะเป็นการเสียชีวิตหรือบาดเจ็บจนต่อสู้ต่อไปไม่ได้

- ความแม่นยำในการยิงต่อสู้ (Hit Potential In Gun Fights) ความแม่นยำในการยิงต่อสู้ของเจ้าหน้าที่ตำรวจดีขึ้นเรื่อยๆทุกปี มาหยุดอยู่ที่มากกว่า 25 เปอร์เซ็นต์เล็กน้อยเมื่อสิ้นสุดการศึกษา ส่วนความแม่นยำของคนร้ายนั้นอยู่ที่ 11 เปอร์เซ็นต์เมื่อปี ค.ศ. 1979

ในปี ค.ศ. 1992 ตำรวจโดยรวมๆ (Overall police) มีความแม่นยำประมาณ 17 เปอร์เซ็นต์ ในระยะต่ำกว่า 15 หลาโดย ระยะต่ำกว่า 3 หลายิงถูก 28 เปอร์เซ็นต์, 3 ถึง 7 หลา ยิงถูก 11 เปอร์เซ็นต์, 7 ถึง 15 หลา ยิงถูก 4.2 เปอร์เซ็นต์

- มีความแตกต่างระหว่างความสามารถในการยิงถูกเป้าในสนามยิงปืนกับในสถานการณ์ต่อสู้จริง (The Disconnection Between Range Marksmanship and Combat Hitsmanship) โดยปกติเรามักคิดว่าคนที่ยิงถูกเป้าที่ระยะ 50 หลาได้ในสนามยิงปืน ก็ควรจะต้องยิงถูกคนร้ายที่ระยะ 3 ฟุตอย่างแน่นอน แต่จากรายงานนี้กลับไม่พบว่าเป็นเช่นนั้น เพราะถ้าเป็นจริงอัตราการยิงถูกเป้าหมายน่าจะสูงกว่านี้ เพราะ 75 เปอร์เซ็นต์เป็นการยิงในระยะต่ำกว่า 20 ฟุต และเมื่อดูในรายละเอียดกว่า 200 เหตุการณ์ ซึ่งผู้ยิงมีฝีมือดีในสนามยิงปืนแต่กลับไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างการยิงแม่นในสนามยิงปืนกับการยิงในสถานการณ์จริง

ในกองทัพสหรัฐได้ตระหนักถึงความไม่สัมพันธ์กันนี้ ดังนั้นในปี ค.ศ. 1988 จึงเริ่มให้ทหารฝึกยิงด้วยสัญชาติญาณ (Point shooting) ในระยะต่ำกว่า 15 ฟุต รวมทั้งการยิงกลางคืนด้วย

การยิงปืนด้วยสัญชาติญาณมีหลายรูปแบบให้เลือกใช้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เรียบง่าย เรียนรู้ได้เร็วและมีประสิทธิภาพ

จะเห็นได้ว่าในการยิงปืนต่อสู้ในสถานการณ์จริงนั้นมักเกิดขึ้นและสิ้นสุดอย่างรวดเร็ว เป็นการยิงในระยะใกล้และมีภาวะแสงต่ำ ใช้วงกระสุนประมาณ 2 ถึง 3 นัดเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติหรือปืนลูกโม่ก็มีวงกระสุนเพียงพอสำหรับใช้ป้องกันตัว การฝึกยิงด้วยสัญชาติญาณมีประโยชน์อย่างมากในการยิงปืนระบบต่อสู้

TAS สอนการยิงปืนระบบต่อสู้ด้วยสัญชาติญาณ ผู้รับการฝึกจะได้เรียนรู้ทักษะที่จำเป็นสำหรับการใช้อาวุธปืนเพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สิน

สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”

เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง NYPD SOP 9 - ANALYSIS OF POLICE COMBAT จาก marylandcops.org

Monday, November 9, 2009

Dry Fire











Dry Fire

กระสุนปลอม ที่เราเรียกกันว่า กระสุนดัมมี่ (Dummy bullet) เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งเมื่อทำการฝึกยิงแห้ง (Dry fire) หรือการยิงโดยไม่ใช้กระสุนจริง เพื่อลดโอกาสที่เข็มแทงฉนวนจะหักจากการกระแทก ซึ่งแตกต่างจากกระสุนปลอมที่เราเรียกว่า กระสุนแบล็ง (Blank bullet) ซึ่งสามารถยิงได้แต่ไม่มีหัวกระสุนที่เป็นโลหะพุ่งออกไป (มักใช้กระดาษปิดปลายปลอกด้านหัวกระสุนไว้) และใส่ดินขับที่ไม่แรง จึงมีแต่เสียงดังคล้ายปืนแต่ไม่มีอันตรายมากนัก (ยกเว้นจ่อปากกระบอกปืนชิดหรือใกล้ผิวหนัง อาจทำให้เกิดแรงกระแทกจนเป็นอันตรายได้) มักใช้ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และการฝึกซ้อมทางตำรวจหรือทหารซึ่งต้องการเพียงเสียงดังของอาวุธปืนเท่านั้น

ในการยิงปืนปกติเมื่อทำการเหนี่ยวไกปืน นกสับจะส่งเข็มแทงฉนวนไปกระแทกจานท้ายปลอกกระสุนบริเวณแค็บจุดฉนวน (Primer) เพื่อให้เกิดการระเบิดเผาไหม้ของดินปืนภายในปลอกกระสุนอย่างรวดเร็วส่งหัวกระสุนออกไป การที่มีจานท้ายปลอกกระสุนรองรับเข็มแทงฉนวนไว้ทำให้แรงจากการดีดกลับของนกสับถูกถ่ายทอดไปยังจานท้ายปลอกกระสุนผ่านทางเข็มแทงฉนวน เราจึงเห็นว่าบริเวณแค็บจุดฉนวนที่จานท้ายปลอกกระสุนมีรอยยุบตัวจากเข็มแทงฉนวนที่กระแทกเข้ามา แต่เมื่อทำการยิงแห้งโดยไม่ใส่กระสุนไว้ แรงทั้งหมดจากการดีดกลับของนักสับจะถ่ายทอดไปยังเข็มแทงฉนวนโดยไม่มีตัวรับแรงต่อ เป็นเหตุให้เข็มแทงฉนวนมีอาการล้าตัวและอาจหักได้ในที่สุด

การฝึกยิงแห้งที่เหมาะสมจึงควรใส่กระสุนดัมมี่ไว้ด้วยเพื่อลดโอกาสการหักของเข็มแทงฉนวน โดยกระสุนดัมมี่ที่ดีนั้นบริเวณซึ่งเข็มแทงฉนวนกระแทกควรทำจากวัสดุที่ไม่แข็งมากนัก เช่น ทองเหลือง หรือ ยาง บางแบบอาจมีสปริงอยู่ภายในตัวกระสุนด้วยเพื่อช่วยดูดซับแรงกระแทกของเข็มแทงฉนวน

การฝึกยิงแห้งเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้เกิดทักษะการยิงปืนที่ดี โดยเฉพาะการเหนี่ยวไกปืนอย่างถูกต้องนั้นจำเป็นจะต้องฝึกฝนบ่อยๆจนเกิดความเคยชิน การฝึกยิงแห้งด้วยกระสุนดัมมี่ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายและถนอมเข็มแทงฉนวน

ในการฝึกยิงแห้งนั้นก็ยังคงต้องยึดกฎแห่งความปลอดภัยของการใช้อาวุธปืนอยู่ เช่น หันปากกระบอกปืนไปในทิศทางที่ปลอดภัยเท่านั้น เป็นต้น การฝึกยิงแห้งบ่อยๆทำให้เราคุ้นเคยกับปืนที่เราใช้งานประจำสามารถฝึกที่บ้านได้

กระสุนดัมมี่ยังสามารถใช้ฝึกการบรรจุกระสุน ฝึกการแก้ไขเหตุติดขัดระหว่างการยิง ซึ่งทักษะเหล่านี้สำคัญอย่างยิ่งในการยิงปืนระบบต่อสู้ เช่น การฝึกบรรจุกระสุนโดยสายตามองที่เป้าหมายตลอด (ไม่มองที่กระสุนซึ่งกำลังบรรจุ จึงต้องใช้ความรู้สึกที่ปลายนิ้วและการเคลื่อนไหวของนิ้วอย่างแม่นยำจนเกิดความเคยชิน) การที่สายตามองเป้าหมายขณะบรรจุกระสุนช่วยให้เราประเมินสถานการณ์ เห็นความเคลื่อนไหวของภัยคุกคามได้ตลอดเวลา และเมื่อไม่ต้องมองกระสุนขณะบรรจุจึงสามารถบรรจุกระสุนได้แม้ในภาวะแสงต่ำ หากฝึกด้วยกระสุนจริงอาจพลาดทำให้กระสุนตกพื้นเกิดความเสียหายที่ตัวกระสุนได้

กระสุนดัมมี่ที่ไม่มีส่วนพิเศษสำหรับรองรับเข็มแทงฉนวนจึงเหมาะกับการฝึกบรรจุกระสุนเท่านั้น หากนำมายิงแห้งเข็มแทงฉนวนอาจหักจากการที่ไปกระแทกกับโลหะแข็งของปลอกกระสุนได้ แต่กระสุนเหล่านี้มักมีรูปร่างและน้ำหนักเหมือนกระสุนจริงอย่างมาก ส่วนกระสุนดัมมี่ที่ใช้ฝึกยิงแห้งนั้นบางแบบอาจมีน้ำหนักหรือรูปร่างไม่เหมือนกระสุนจริงนัก รวมทั้งวัสดุที่ทำอาจมีความแตกต่างกันได้ เช่น พลาสติก หรือ โลหะ เป็นต้น เราจึงควรเลือกกระสุนดัมมี่ให้ถูกวัตถุประสงค์ที่ต้องการ

นักยิงปืนที่ดีและเก็งนั้นนอกจากการฝึกยิงปืนที่สนามยิงปืนแล้ว การฝึกยิงแห้งด้วยกระสุนดัมมี่ก็ถือเป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งในการพัฒนาทักษะการยิงปืน

TAS สอนการบรรจุกระสุนโดยให้สายตามองที่เป้าหมายตลอด รวมทั้งสอนวิธีแก้ไขเหตุติดขัดของปืนขณะทำการยิง

สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”


เรียบเรียงโดย Batman

Wednesday, November 4, 2009


























ท่ายืนยิงปืนสั้นระบบต่อสู้
3 ท่า

(Isosceles, Weaver, Chapman)

ท่ายืนยิงเหล่านี้เป็นท่ายิงปืนด้วยสองมือที่นิยมใช้กัน โดยทั้งสามท่าเป็นท่ามาตรฐานที่มักสอนกันทั่วไป

- Weaver stance ถูกคิดค้นขึ้นโดย นายตำรวจชื่อ Jack Weaver ชาวอเมริกัน ในช่วง ค.ศ. 1959 ซึ่งเขาแข่งขันชนะเลิศการยิงปืนหลายรายการจนมีชื่อเสียงด้วยท่ายิงที่แตกต่างจากคนอื่น (สมัยนั้นส่วนใหญ่ถือปืนยิงด้วยมือเดียว) จนบิดาของการยิงปืนสั้นสมัยใหม่อย่าง Jeff Cooper แนะนำให้ใช้ท่านี้เป็นหลักในการยิงปืนสั้นด้วยสองมือ (โดยเฉพาะที่สถาบันสอนยิงปืน Gunsite ของ Jeff Cooper)

ผู้ยิงที่ถนัดขวายืนเท้าห่างประมาณไหล่และถอยเท้าขวาไปข้างหลังครึ่งก้าวลำตัวเอียงประมาณ 45 องศาเข้าหาเป้า มือหลักที่ถือปืนยื่นออกไปข้างหน้าและงอข้อศอกเล็กน้อย(เกือบเหยียดตรง) มืออีกข้างจับรอบมือหลักช่วยพยุงปืนโดยงอข้อศอกมากกว่ามือหลักและทิศทางลงล่าง

ในการยิงปืนระบบต่อสู้จะงอเข่าทั้งสองข้างและโน้มตัวมาข้างหน้าเล็กน้อย เพื่อการทรงตัวที่ดี สามารถทำการเคลื่อนที่ได้ง่ายและควบคุมแรงถีบของปืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ท่ายิงนี้สามารถรับแรงถีบของปืนที่ใช้กระสุนขนาดใหญ่ได้ดีและทำการยิงซ้ำได้เร็ว เป็นที่นิยมอย่างมากในอเมริกาและอีกหลายประเทศ รวมทั้งในภาพยนตร์แนวบู๊ล้างผลาญของฮอลลีวูด

- Chapman stance หรือ Modified Weaver stance ถูกคิดค้นขึ้นโดย นาย Ray Chapman ชาวอเมริกัน เป็นนักยิงปืนในรุ่นราวคราวเดียวกับ Jeff Cooper เขาได้เห็นจุดเด่นของท่า Weaver stance และนำมาดัดแปลงเล็กน้อย โดยให้แขนข้างมือหลักที่ถือปืนเหยียดตรงออกไป เพื่อให้การถือปืนมีความมั่นคงมากขึ้น เนื่องจากใช้กล้ามเนื้อและกระดูกของแขนที่เหยียดตรงช่วยในการคุมปืน ทำให้ท่านี้ใช้ได้ง่ายกว่า Weaver stance ในคนที่กล้ามเนื้อท่อนบนของร่างกายไม่ค่อยแข็งแรงมากนัก

ในการยิงปืนระบบต่อสู้จะงอเข่า ย่อตัวลง และโน้มตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย นอกจากนั้นหากยกไหล่ข้างมือหลักที่ถือปืนขึ้นแนบแก้มและเล็งด้วยตาข้างเดียวกันจะทำให้แนวปืนมีความแม่นยำมากขึ้น คล้ายกับพานท้ายปืนยาวที่แนบแก้ม มีประโยชน์อย่างยิ่งเมื่อทำการยิงในภาวะแสงต่ำ เพราะหน้า แขน มือ และปืน จะอยู่ในแนวเดียวกันตลอดทำให้รู้ว่าแนวปืนอยู่ที่ใดแม้จะมองไม่เห็นในความมืดก็ตาม

- Isosceles stance คำว่า Isosceles หากแปลตามตัวแล้วหมายถึง มีด้านเท่ากันสองด้าน เช่น สามเหลี่ยมด้านเท่า หรือ Isosceles triangle เป็นต้น สำหรับการยิงปืนแล้วผู้ยิงจะถือปืนด้วยสองมือโดยหันหน้าและลำตัวเข้าหาเป้าหมายหรือประจันหน้ากับเป้าหมายตรงๆ เท้าทั้งสองข้างแยกห่างออกจากกันกว้างประมาณไหล่ของผู้ยิงเข่าและแขนทั้งสองข้างเหยียดตึง ปืนจะอยู่แนวกลางตัวระดับสายตา ท่านี้ได้รับความนิยมตั้งแต่ นาย Brian Enos และนาย Rob Leatham ใช้ท่ายิงนี้ชนะเลิศการแข่งขัน IPSC หลายรายการในปี ค.ศ. 1980

ในการยิงปืนระบบต่อสู้ต้องงอเข่า ย่อตัวลง และโน้มตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย เพื่อให้ศูนย์ถ่วงของลำตัวต่ำลงมีความมั่นคงในการยืนและง่ายแก่การเคลื่อนที่ โน้มตัวส่วนบนตั้งแต่เอวขึ้นไปมาข้างหน้าเล็กน้อย เพื่อสามารถรับแรงถีบของปืนได้ดีขึ้น เมื่อทำการยิงหลายเป้าหมายให้หมุนลำตัวส่วนบนตั้งแต่เอวขึ้นไปหันไปทางเป้าหมายนั้นๆ

ท่านี้ไม่ค่อยนิยมในการยิงระบบต่อสู้มากนักโดยเฉพาะในอเมริกา เพราะการที่หันลำตัวเข้าหาภัยคุกคามโดยตรงเป็นการเปิดกว้างให้เห็นเป้าหมายที่ใหญ่และง่ายแก่การถูกยิงจากภัยคุกคามเช่นกัน (การยิงปืนระบบต่อสู้มักเล็งปืนไปยังเป้าหมายที่ใหญ่ไว้ก่อนโดยเฉพาะลำตัว) อีกทั้งไม่ค่อยสะดวกนักในการที่จะทำการเคลื่อนที่ แต่ผู้เชียวชาญบางท่านคิดว่าท่านี้มีประสิทธิภาพดีกว่า Weaver ในด้านความแม่นยำ และใช้ในการยิงระบบต่อสู้ได้เช่นกัน

อีกทั้งท่านี้กลับได้รับความนิยมในอิสราเอล โดยเฉพาะหลักสูตร Krav Maga ซึ่งใช้ท่านี้เป็นหลัก โดยจะกางขาออกกว้างและงอเข่ามากจนเรียกว่าเป็นท่าขี้ม้าของอิสราเอล (Straddle or Horse stance)

ผู้เชี่ยวชาญบางท่านให้ความเห็นว่า หากใส่เสื้อเกราะกันกระสุน การยิงท่านี้จะปลอดภัยกว่าท่าอื่นซึ่งหันด้านข้างของลำตัวเข้าหาเป้าหมาย เพราะเสื้อเกราะจะแข็งแกร่งเฉพาะด้านหน้าที่ปกป้องลำตัวเท่านั้น

ท่ายิงทั้งสามสามารถใช้ในการยิงปืนระบบต่อสู้ได้ทั้งสิ้น แต่ละท่ามีทั้งข้อดีและข้อด้อย จึงควรฝึกฝนให้ชำนาญเพื่อสามารถเลือกนำมาใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ได้เต็มประสิทธิภาพ ปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนว่าท่ายิงใดดีที่สุด ส่วนใหญ่เป็นเพียงความเห็นของผู้เชี่ยวชาญซึ่งก็ยังแตกต่างกันอยู่ เมื่อเรารู้สึกว่าถนัดกับท่าใดเป็นพิเศษก็ให้ใช้ท่านั้นเป็นหลัก (ท่านั้นจะต้องถนัดในการยิงเป้าหมายหลายระยะ หลายเป้าหมาย เคลื่อนที่ยิงและยิงเป้าเคลื่อนที่)

สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”

เรียบเรียงโดย Batman

Thursday, October 29, 2009

Making A Point
























Making A Point

มีข้อโต้เถียงกันมากมายเกี่ยวกับรูปแบบการเล็งปืนระหว่าง การเล็งยิงโดยมองศูนย์ปืน (Sighted fire) กับการยิงด้วยสัญชาติญาณ (Point-shooting) นาย Dave Spaulding รู้สึกประหลาดใจมากว่าทำไมโลกของการยิงปืนรู้สึกว่าต้องพยายามให้เราเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง

เขาเริ่มถามผู้ที่เคยผ่านประสบการณ์การใช้อาวุธปืนยิงต่อสู้ในสถานการณ์จริงตั้งแต่เขาอยู่โรงเรียนตำรวจในปี 1976 เป็นต้นมา หนึ่งในคำถามที่เขามักถามบ่อยๆก็คือ คุณจำได้ไหมว่าขณะที่ทำการยิงต่อสู้นั้นคุณเล็งปืนอย่างไร มองศูนย์หรือไม่มองศูนย์ปืน บ่อยครั้งที่คำตอบนั้นทำให้รู้สึกประหลาดใจ

ตามที่พวกเขาเหล่านั้นตอบมา ทุกคนพูดเหมือนกันว่าในช่วงที่เขารู้สึกตกใจมากและต้องยกปืนขึ้นทำการยิงทันทีนั้นไม่ได้มองศูนย์ปืนเลย เรียกว่ากำลังอยู่ในช่วงตื่นตระหนก (Panic mode)

มีหนังสืออยู่เล่มหนึ่งชื่อ Point Shooting--Fact or Fallacy เขียนโดย Randy Watt เป็นตำรวจหัวหน้าหน่วยพิเศษในเมือง Ogden รัฐ Utah ของอเมริกา เขาได้ทำการวิจัยภายในหน่วยของเขาเองดูว่าการยิงแบบ Point-shooting นั้นเหนือกว่าหรือด้อยกว่าการยิงแบบมองศูนย์ปืน

การศึกษาพบว่า Point-shooting นั้นประสิทธิภาพจะลดลงตามระยะห่างของเป้าหมายที่เพิ่มขึ้น แต่ก่อนนั้นหลายคนคุยว่า Point-shooting นั้นมีประสิทธิภาพดีจนถึงระยะ 25 หลา แต่สำหรับการศึกษาที่ Ogden นั้นพบว่า ภายในระยะไม่เกิน 5 หลาการยิงทั้งสองวิธีให้ผลไม่แตกต่างกัน แต่เมื่อระยะห่างเกิน 7 หลาพบว่าความแม่นยำลดลงชัดเจนเมื่อยิงด้วยวิธี Point-shooting

มีคนจำนวนมากพูดถึงความสามารถของมนุษย์ในการใช้ศูนย์ปืนขณะยิงต่อสู้ ผู้เชี่ยวชาญได้ให้ความเห็นไว้ว่า ขณะที่ระบบประสาทซิมพาทีทิค (Sympathetic nervous system, เป็นระบบประสาทอัตโนมัติที่ทำงานขณะที่มีความตื่นเต้น) ทำงาน โดยเฉพาะเมื่อเริ่มเข้าสู่การต่อสู้ ตาจะจ้องเขม่งไปที่ภัยคุกคามเพื่อที่จะรวบรวมข้อมูลว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น ร่างกายต้องการรู้ว่าภัยคุกคามกำลังทำอะไรเพื่อที่จะตัดสินใจและทำการตอบสนอง สมองต้องการข้อมูลที่ทันการณ์ (Real time information) ซึ่งจะส่งตรงมาจากการมองเห็น มันจะเป็นจริงได้หรือที่ใครสักคนจะละสายตาไปจากภัยคุกคามที่กำลังจะเข้ามาฆ่าเขาเพื่อไปมองเจ้าชิ้นโลหะเล็กๆที่กระบอกปืน

เรารู้ว่าพื้นฐานการยิงปืนที่ดีทำให้เกิดความแม่นยำ โดยพื้นฐานประกอบด้วย การกำด้ามปืน ตำแหน่งร่างกาย แนวปืนกับเป้า รูปแบบการเล็ง (Sight picture) การเหนี่ยวไกอย่างเหมาะสม ถ้าเราละเลยพื้นฐานการยิงปืนความแม่นยำก็จะไม่เกิดขึ้น แล้วการยิงแบบ Point-shooting นั้นถือว่าละเลยพื้นฐานการยิงปืนหรือไม่ สำหรับนาย Dave Spaulding แล้วเขาคิดว่า “ไม่”

นาย Dave Spaulding คิดว่าทุกคนก็ยิงแบบ Point-shooting อยู่แล้ว ลองมาดูว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อยกปืนขึ้นยิงเป้าหมาย ไม่ว่าจะเริ่มจากท่าเตรียมพร้อมหรือจากซองปืน ร่างกายส่วนบนจะต้องมีการเคลื่อนที่หลายอย่างเพื่อที่จะนำปืนขึ้นสู้แนวสายตากับเป้าทุกครั้ง

เนื่องจากการยิงเกิดจากร่างกายระดับเอวขึ้นไป ไม่ว่าเราจะยิงจากท่าต่างๆทั้งนอนคว่ำ นั่งคุกเข่า หรือยืน การเคลื่อนไหวแบบเดิมจะเกิดขึ้นเพื่อนำปืนเข้ามาสู่แนวเดิมตลอด ถ้าปืนเคลื่อนที่ในแบบเดิมๆเหมือนกันทุกครั้ง ปืนก็จะมาอยู่ในที่ๆคุณต้องการเสมอ นี่แหละคือ Point-shooting ในความคิดของนาย Dave Spaulding

ในแง่ความรู้สึกของการยิงปืนนั้นเราจะเน้นที่ทำการยิงอย่างถูกต้องมากกว่าการเล็ง ในความเป็นจริงตานั้นเป็นสิ่งสุดท้ายที่จะทำให้การยิงนั้นมีความแม่นยำ ลำตัว แขนและมือจริงๆแล้วเป็นสิ่งสำคัญในการยิงปืน

บางคนอาจไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้ เพราะเมื่อยิงปืนออกไปแล้วกระสุนกินต่ำเกินไป นัดต่อไปก็จะพยายามแก้ไข แต่จะมีสักกี่คนจะแก้ไขโดยการเพ่งความสนใจไปที่ศูนย์ปืนมากกว่าการเหนี่ยวไกให้ถูกต้อง เขาคิดว่าการยิงที่ผิดพลาดจำนวนมากเกิดจากการเหนี่ยวไกที่ไม่ดีมากกว่าการมองศูนย์ปืนที่ไม่ดี บางคนอาจบอกว่าการเหนี่ยวไกนั้นไม่สำคัญเพราะเป็นการยิงระยะใกล้ซึ่งเขาไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง

การเหนี่ยวไกที่ไม่ถูกต้องส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ไม่ได้แยกการเคลื่อนที่ของนิ้วที่ใช้เหนี่ยวไกออกจากนิ้วอื่นๆ ในสถานการณ์เผชิญหน้าความสามารถในการยิงจะไม่ขึ้นสูงสุดแต่จะกลับไปสู่ระดับพื้นฐานที่ได้รับการฝึกมาดังนั้นการฝึกเหนี่ยวไกจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก

นาย Dave Spaulding คิดว่าไม่ได้มีความแตกต่างกันอย่างมากระหว่างการยิงที่เล็งชัดที่ศูนย์ปืนหรือชัดที่เป้า เพราะทั้งสองวิธีก็ต้องการการเคลื่อนไหวที่สอดคล้องกัน หลายคนที่เคยยิงต่อสู้บอกกับเขาว่าจำไม่ได้ว่าได้มองศูนย์หรือเปล่าขณะที่ยิง แต่พวกเขาจำได้ว่าแนวปืนอยู่ในระดับสายตากับเป้า

บางคนที่ยืนยันว่าใช้ศูนย์ปืนในการยิงซึ่งเป็นปืนลูกโม่ศูนย์หน้ามีสี เขาจะยิงเมื่อเห็นสีของศูนย์หน้าแวบขึ้นมา (Flash of color) ระหว่างแนวเล็ง

เขาเห็นว่าการสอนให้ใครสักคนยิงปืนโดยมองศูนย์ปืนนั้นก็ไม่ได้ยกเว้นที่จะสามารถยิงโดยการมองเป้าเป็นหลัก ถ้าเราสามารถยกปืนขึ้นสู่แนวสายตากับเป้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถเหนี่ยวไกได้อย่างถูกต้องการมองศูนย์หรือไม่มองศูนย์คงไม่ใช่เรื่องสำคัญ

ลองฝึกยิงแบบนี้ดู ทำทุกอย่างเหมือนการยิงโดยมองศูนย์ปืนแต่ให้มองชัดที่เป้าแทน แล้วคุณจะแปลกใจว่าคุณก็ยิงได้ดีเช่นกัน ขอเน้นย้ำอีกครั้งว่า “ยิ่งใกล้ยิ่งดี”

TAS สอนให้ยิงโดยใช้สัญชาติญาณเป็นหลัก เนื่องจากการยิงส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในระยะใกล้ซึ่งไม่มีเวลามาเล็งละเอียด แต่ในบางสถานการณ์ เช่น การยิงหลังที่กำบังหรือเป้าหมายอยู่ไกลเกิน 7 หลาเราแนะนำให้เล็งละเอียดมากขึ้นเพื่อความแม่นยำ

สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี "สติ"

เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Making A Point ของ Dave Spaulding

Tuesday, October 20, 2009







Weak Hand?

ในการยิงปืนทั่วไปเรามักถือปืนด้วยมือข้างถนัด (Strong hand) เป็นหลักและใช้มือข้างไม่ถนัด (Weak hand) มาช่วยประคองปืนเมื่อถือปืนด้วยสองมือ ผู้ที่ฝึกยิงปืนมาอย่างดีจะสามารถถือปืนยิงด้วยมือเดียวได้ทั้งมือข้างถนัดและข้างไม่ถนัด แต่นักยิงปืนจำนวนไม่น้อยไม่ได้ฝึกการยิงปืนด้วยมือข้างไม่ถนัด ซึ่งทักษะนี้จะมีประโยชน์อย่างมากในการยิงปืนแข่งขันและอาจช่วยชีวิตคุณได้ในการยิงต่อสู้จริง

Tony Holmes เขาเป็น USPSA Grand Master และเป็นนักกีฬา Three gun competitor ที่โดดเด่น ถ้าสถานการณ์และเวลาเหมาะสมเมื่อต้องยิงด้วยมือข้างไม่ถนัด เขาจะใช้ Classic “bullseye” stance โดยยืนเท้าห่างประมาณเท่ากับความกว้างของหัวไหล่ หันลำตัวขนานกับเป้า(ยืนประจันหน้ากับเป้าตรงๆ)

นาย Tony ไม่คิดว่าท่ายืนเป็นสิ่งที่สำคัญนัก แต่การเหนี่ยวไก (Trigger control) สำคัญที่สุด เขาจะถือปืนโดยไม่เอียงปืน เล็งผ่านศูนย์ปืน เตรียมที่จะเหนี่ยวไกและทำการเหนี่ยวไกปืน เมื่อต้องการทำการยิงด้วยความแม่นยำ เนื่องจากไกของปืนกึ่งอัตโนมัติส่วนใหญ่จะมีช่วงลากไกยาวก่อนที่จะถึงระยะซึ่งกระสุนจะลั่นออกไป ดังนั้นในนักยิงปืนที่เก่งจะสามารถฝึกการเหนี่ยวไกโดยวิธี Prep and Press (รู้ว่าระยะของไกปืนตำแหน่งไหนเมื่อกดเพิ่มอีกเล็กน้อยกระสุนจะลั่นออกไป เมื่อยิงไปแล้วก็แค่ผ่อนไกออกมาเล็กน้อยไม่ปล่อยจนสุดแล้วทำการยิงต่อ วิธีนี้ทำให้ยิงได้ต่อเนื่องและเร็วโดยการทำงานของปืนไม่ติดขัด) ซึ่งจะทำได้อย่างนี้ต้องอาศัยการฝึกฝนบ่อยๆเท่านั้น

นาย Mark Hannish เป็น USPSA Grand Master เช่นกันและเป็นครูสอนยิงปืนที่ Scottdales Gun Club ในรัฐอริโซน่า เขาแนะนำว่า เริ่มจากการส่งปืนไปยังมือข้างไม่ถนัดอย่างราบรื่น โดยยึดกฎแห่งความปลอดภัยไว้เสมอ (นิ้วอยู่นอกโกรงไก ปากกระบอกปืนชี้ไปในทิศทางที่ปลอดภัย) เมื่อต้องการยิงด้วยความแม่นยำเขาจะถือปืนโดยไม่เอียงปืน เล็งผ่านศูนย์ปืน และใส่ใจกับการเหนี่ยวไกให้มาก ไม่ต้องกังวลกับแรงถีบของปืน ถึงแม้มันอาจจะถีบมากหน่อยก็ตาม

แต่ถ้าเป็นการยิงเป้าหมายในระยะใกล้ (Close range) เขาจะเอียงปืนเล็กน้อยแต่ไม่ถึงกับขนานกับพื้นเหมือนที่เห็นในภาพยนตร์ การถือปืนโดยเอียงเล็กน้อยหรือตั้งตรงก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่แต่อย่างใด ในระยะใกล้เช่นนี้ให้ “มอง” ผ่านศูนย์ปืน (ไม่ต้องเล็งละเอียด แค่มองผ่านศูนย์หลัง ศูนย์หน้าและเห็นเป้าหมาย เรียกว่า การเล็งเป้าหมายที่พอยอมรับได้ หรือ Acceptable sight picture) แล้วทำการยิงให้เร็ว เหนี่ยวไกอย่างราบรื่น โดยข้อแนะนำในการเหนี่ยวไกคือ ให้กดไกเข้าหาด้ามปืนตรงๆด้วยนิ้วมือ อย่าใช้นิ้วดันด้านข้างของไกปืนจากด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่งเพื่อทำการเหนี่ยวไก (เป็นข้อผิดพลาดที่พบบ่อยในนักยิงปืนหลายคน)

นาย Bruce Piatt ชนะการแข่งขัน Bianchy Cups หลายครั้งและเป็นนักกีฬายิงปืนมานาน นอกจากนั้นเขายังเป็นตำรวจและครูสอนยิงปืนให้กับตำรวจอีกด้วย ในการยิงปืนแข่งขันนั้นหลักการยิงปืนก็ไม่ได้แตกต่างจากนักยิงปืนชั้นยอดคนอื่นๆ กล่าวคือ ถือปืนตั้งตรงไม่เอียง เล็งผ่านศูนย์ปืนและทำการเหนี่ยวไกโดยกดไกเข้ามาตรงๆอย่างราบรื่น

ในการฝึกให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจในแผนกของเขา นาย Bruce จะแนะนำให้ใช้ท่ายืนที่เรียกว่า Locked-up stance หรือ Street stance เนื่องจากงานในหน้าที่ซึ่งอาจต้องใช้อาวุธปืน พวกเขาไม่ได้ต้องการยิงปืนเป็นร้อยๆนัด ดังนั้นการควบคุมแรงถีบของปืนจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ (ทำให้ยิงต่อเนื่องได้เร็วและแม่นยำมากขึ้น)

เขาสอนให้ยืนโน้มตัวมาข้างหน้า แก้มแนบชิดแน่นกับหัวไหล่ โดยลำตัวส่วนบนทั้งหมดจะเสมือนเป็นหน่วยเดียวกัน เมื่อทำการยิงลำตัวส่วนบนจะทำหน้าที่รับแรงถีบของปืนและสามารถควบคุมปืนกลับมาสู่ตำแหน่งพร้อมยิงเป้าหมายได้เร็ว ถึงแม้ท่ายิงนี้อาจดูแข็งไปบ้างแต่ในสถานการณ์จริงนั้นเราคงไม่ได้ยิงในระยะ 25 หลาเหมือนการแข่งขัน เราต้องการยิงให้ถูกเป้าหมายให้เร็วที่สุด

TAS สอนการยิงปืนด้วยมือเดียวทั้งจากข้างถนัดและข้างไม่ถนัดด้วยท่า Locked-up หรือ Street stance เป็นหลัก แม้แต่การยิงปืนด้วยสองมือในท่า Chapman เราก็แนะนำให้ใช้หลักการนี้ร่วมด้วย (โน้มตัวมาข้างหน้า แก้มแนบหัวไหล่) และให้ย่อตัวลงเล็กน้อย อีกทั้งการยิงในภาวะแสงต่ำหากใช้หลักการนี้ร่วมในการถือปืนจะทำให้เรารู้ตำแหน่งของปืนได้ตลอดเวลา (แม้จะไม่มีไฟฉายก็ตาม) เพิ่มความแม่นยำในการยิงปืนในภาวะแสงต่ำได้

ในการยิงปืนระบบต่อสู้มักแนะนำให้ใช้ท่ายืน Weaver หรือ Chapman เป็นส่วนใหญ่และย่อตัวลงเล็กน้อย เพื่อให้เราเป็นเป้าที่เล็กลงและพร้อมที่จะเคลื่อนที่ได้ตลอดเวลา แต่การเรียนรู้ท่ายิงอื่นๆก็เป็นสิ่งจำเป็นซึ่งเราสามารถเลือกนำมาใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ได้

สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”

เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Weak Hand? ของ Dave Anderson

Monday, September 21, 2009

Shooting Hearing Protection




















Shooting Hearing Protection

การยิงปืนนั้นต้องมีอุปกรณ์ป้องกันอย่างน้อยสองอย่าง คือ แว่นตาสำหรับยิงปืนและเครื่องป้องกันเสียงดังสำหรับหู เพื่อความปลอดภัยและถนอมให้อวัยวะทั้งสองใช้งานต่อไปได้อย่างยาวนาน

นักยิงปืนนั้นถือว่าเป็นหนึ่งในคนที่ต้องเผชิญกับสิ่งแวดล้อมที่มีเสียงดังที่สุด ดังนั้นแม้จะเป็นการได้ยินเสียงปืนที่ดังเพียงครั้งเดียวก็อาจทำให้หูได้รับความเสียหายอย่างถาวรได้แล้ว การใช้อุปกรณ์ป้องกันเสียงดังจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง

Peak Sound Pressure Levels (SPLs)
- .45 Automatic 165 dB
- .357 Revolver 160 dB
- 12 Gauge shotgun 155 dB
- .38 Revolver 150 dB
- .22 Rifle 145 dB

Occupational Safety and Health Administration (OSHA) ถือว่าระดับเสียงซึ่งดังมากกว่า 90 dB เป็นอันตรายต่อสุขภาพ (เสียงพูดสนทนาตามปกติมีระดับเสียงดังประมาณ 60 dB)

วิธีง่ายที่สุดในการปกป้องหูจากเสียงดังขณะยิงปืน คือ การใช้นิ้วอุดหู แต่คงไม่สามารถใช้นิ้วอุดได้ตลอดเวลาโดยเฉพาะเมื่อเราต้องทำการยิงปืนไปด้วย อุปกรณ์ใดก็ตามที่สามารถป้องกันคลื่นเสียงไม่ให้มาถึงหูเราได้ก็ถือว่าใช้ได้ทั้งสิ้น

ที่ครอบหู (Earmuffs) ซึ่งมีค่า Noise Reduction Rating (NRR) อย่างน้อย 19 ถือว่าเพียงพอสำหรับใช้ปกป้องหูจากการยิงปืนทั่วไปได้

สำหรับผู้ที่ยิงปืนบ่อยๆหรือยิงปืนยาวด้วยกระสุนความเร็วสูง (High velocity rifle) ควรต้องใช้อุปกรณ์ที่สามารถป้องกันเสียงได้ดียิ่งขึ้น ทางเลือกที่ดีที่สุดก็คือ การใช้ทั้งที่ครอบหูและที่อุดหู (Earplugs) ร่วมกัน (Muffs and Plugs system) โดยคิดง่ายๆให้บวก 6 ไปกับค่า NRR ของที่ครอบหู ยกตัวอย่างเช่น ที่ครอบหูมีค่า NRR 30 เมื่อใช้ร่วมกับที่อุดหูซึ่งดีที่สุดก็จะได้ค่า NRR ประมาณ 30 + 6 หรือ 36 เป็นต้น

หากคุณเป็นนักยิงปืนในระบบต่อสู้ นักกีฬายิงปืนที่ต้องการฟังคำสั่งจากกรรมการ นายพรานล่าสัตว์ ทหารในสนามรบหรือสนามฝึก การใช้ที่ครอบหูอิเล็กโทรนิก (Tactical electronic earmuffs) น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะในกรณีที่เสียงเบา เช่น เสียงคนพูด ที่ครอบหูจะมีอุปกรณ์ขยายเสียงนั้นให้ผู้สวมใส่ได้ยินเสียงดังขึ้น (มีปุ่มปรับความดังของเสียงตามที่ต้องการ) แต่เมื่อมีเสียงดังมากๆเกิดขึ้น เช่น เสียงปืน ระบบอิเล็กโทรนิกจะตัดระบบขยายเสียงทันทีทำให้หูได้รับการปกป้องจากเสียงที่ดังเกินไป ทันทีที่ระดับเสียงลดลงมาสู่เกณฑ์ที่ปลอดภัยระบบขยายเสียงก็จะกลับมาทำงานอีกครั้ง อุปกรณ์ที่ดีเช่นนี้ก็ต้องแลกมาด้วยราคาที่แพงขึ้น

หากอุปกรณ์ราคาแพงเหล่านี้ไม่สามารถหามาใช้ได้ ที่อุดหู (Earplugs) ซึ่งอนุญาตให้เสียงเบาผ่านได้แต่ป้องกันเสียงดังเกินไปก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่อุดหูซึ่งป้องกันเสียงได้มากที่สุดในท้องตลาดขณะนี้มีค่า NRR 33 หากต้องการใช้อุปกรณ์ที่มีค่า NRR มากกว่านี้ก็ต้องใช้ร่วมกับที่ครอบหู

ไม่แนะนำให้ใช้ที่อุดหูซึ่งทำจากขี้ผึ้ง เพราะขี้ผึ้งเป็นฉนวนกันเสียงที่แย่มาก (แย่กว่าที่อุดหูซึ่งทำจากโฟมเสียอีก)

ค่า NRR นั้นได้จากการคำนวณในห้องปฏิบัติการ ซึ่งใช้ค่า C rated scale ในการคำนวณ แต่เสียงที่มีผลต่อการได้ยินของมนุษย์นั้นเป็นค่า A rated scale ดังนั้นหากต้องการคำนวณเป็นค่า NRR ซึ่งมีผลต่อการได้ยินของมนุษย์ก็ต้องลบด้วย 7 เช่น ที่ครอบหูมีค่า NRR 29 ในสิ่งแวดล้อมที่มีเสียงดัง 120 dB เสียงหลังจากใส่ที่ครอบหูจะดังประมาณ 120-(29-7) หรือเท่ากับ 98 dB ซึ่งก็ยังอยู่ในเกณฑ์อันตราย

จำไว้ว่าค่า NRR เป็นเพียงตัวเลขในห้องปฏิบัติการ ซึ่งในสภาพความเป็นจริงแล้วจะไม่มีทางลดเสียงได้มากเท่านั้น จึงควรใช้สามัญสำนึกช่วยหากใช้เครื่องป้องกันหูแล้วไม่ว่าแบบใดก็ตาม ยังรู้สึกว่าเสียงยังดังมากอยู่ก็ควรหาวิธีป้องกันเสียงให้มากขึ้นไปอีก พึงระลึกไว้ว่าเมื่อความสามารถในการได้ยินเสียงเสียไปแล้วจะไม่สามารถหายเองได้ ดังนั้นการป้องกันจึงดีกว่าการรักษาโดยเฉพาะเรื่องของหู

ทุกครั้งที่ยิงปืนจึงควรใส่แว่นสำหรับยิงปืนและเครื่องป้องกันหูจากเสียงดังให้เป็นนิสัย เพื่อปกป้องอวัยวะที่มีค่าของคุณ

TAS เล็งเห็นถึงความปลอดภัยของผู้รับการฝึกเป็นอันดับแรก เราจึงมีแว่นและเครื่องป้องกันหูให้กับผู้รับการฝึกทุกคนได้ใช้ขณะฝึกซ้อมยิงปืน

หมายเหตุ Combat Arms Military Earplugs ปัจจุบันใช้ในกองทัพกลุ่ม NATO และกองทัพสหรัฐ โดยด้านสีเหลืองจะอนุญาตให้เสียงเบาผ่านได้แต่ลดเสียงดังลง ขณะที่ด้านสีดำจะมีค่า NRR 22 ตายตัวเหมาะกับสภาพแวดล้อมที่มีเสียงดังตลอดเวลา

เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Hunting/Shooting Hearing Protection and Enhancement, Protection While Shooting Firearms และ Hearing Protection Option ในเว็บ http://earplugstore.stores.yahoo.net/

Newcastle limousines