Friday, August 19, 2011

A Snubnose Revolver


A Snubnose Revolver

โดยปกติแล้วปืน Snubnose Revolver มักหมายถึง ปืนลูกโม่ลำกล้องสั้น โดยเฉพาะลำกล้องประมาณ 2.5 นิ้วหรือสั้นกว่า แต่บางคนอาจหมายรวมไปถึงลำกล้องยาว 3 นิ้วด้วย โดยส่วนตัวของนาย Ralph Mroz แล้วปืนแบบนี้ยังต้องมีโครงปืนที่เล็กด้วย ดังนั้นปืน S&W N-frame .44 Magnum ลำกล้อง 2 นิ้ว สำหรับเขาแล้วไม่ถือว่าเป็นปืน Snubnose Revolver

ปืนที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ อาทิเช่น ปืน Colt D-frame (Detective Special type), S&W J-frame หรือ S&W K-frame ที่มีลำกล้อง 2 หรือ 2.5 นิ้ว ซึ่งเป็นปืนที่เหมาะแก่การป้องกันตัว (Self-defense) อย่างยิ่ง

ปืน S&W J-frame เป็นรุ่นที่นิยมมากที่สุดสำหรับใช้ในการป้องกันตัว เพราะปืนมีการทำอย่างปราณีตและเหมาะมือมาก ในขณะที่ปืน S&W K-frame ถือว่าเป็นหนึ่งในปืนที่มีเหมาะมือในการยิงมากที่สุด ส่วนปืน Colt D-frame ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักและแพร่หลายนัก

ลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของปืนลูกโม่ที่เหนือกว่าปืนสั้นกึ่งอัตโนมัตก็คือ ขนาดและองศาของด้ามปืนมีให้เลือกหลากหลาย เพื่อให้เหมาะสมกับมือของเจ้าของปืนซึ่งหามาเปลี่ยนได้ไม่ยาก หลายคนรู้สึกชอบพื้นที่ว่างระหว่างด้านหน้าด้ามปืนกับด้านหลังโกร่งไกปืนและทำให้คุมปืนได้ง่ายขึ้น

แม้ปัจจุบันจะเป็นยุคของปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติแต่ก็มีซองปืนลูกโม่ให้เลือกใช้หลายร้อยแบบ ส่วนเรื่องความแม่นยำนั้นได้มีการทดสอบยืนยันถึงความแม่นยำของปืนลูกโม่ลำกล้องยาวมาตรฐานโดยการยึดปืนไว้กับ Ransom Rest ส่วนปืนลำกล้องสั้นนั้นเมื่อใช้คนถือปืน ระยะห่างของศูนย์ปืนสั้นลงและแรงถีบของปืนที่มากขึ้นก็คงให้ความแม่นยำที่ลดลงเป็นลำดับไป อย่างไรก็ตามนักยิงปืนทั่วไปก็สามารถใช้ปืนนี้ยิงได้ดีเป็นส่วนใหญ่

เมื่อยิงในแบบ Double action เราสามารถทำกลุ่มกระสุนได้ประมาณ ¼ นิ้ว ในระยะห่าง 5 หลา สามารถยิงแผ่นกระเบื้องขนาด 4 นิ้ว ได้ที่ระยะ 10 หลา และยิงแผ่นเหล็กขนาด 10 นิ้ว ที่ระยะ 25 หลา ได้อย่างง่ายดาย

สำหรับปืนโครง K หรือ K-frame เป็นปืนที่ถือยิงได้ง่ายที่สุดและสามารถพกซ่อนที่เอวได้ดี ส่วนปืน J-frame ที่ทำจาก Scandium เป็นปืนที่เบาและสะดวกที่สุดในการพกซ่อนไว้ในกระเป๋ากางเกงหรือที่ข้อเท้า แต่เวลายิงจะสะท้านมืออย่างมาก ปืน D-frame Colt นั้นจะอยู่ระหว่างความรู้สึกว่าปืนใหญ่พอที่จะเหมือนปืนขนาดปกติแต่ก็เบาพอที่จะพกซ่อนในกระเป๋ากางเกง

ส่วนปืนที่ดีที่สุดนั้นเป็นเรื่องเฉพาะตัวอย่างมาก คุณต้องทดลองจับปืนและยิงจึงจะได้ปืนที่ “เหมาะสม” กับตัวคุณเอง

มีสองแนวคิดหลักๆเกี่ยวกับกระสุนปืนที่จะใช้ อย่างแรก คุณควรบรรจุกระสุนขนาด .357 นิ้ว (ถ้าปืนนั้นรองรับกระสุนขนาดนี้) เพราะมันสามารถให้ผลการยิงที่เชื่อถือได้เมื่อยิงถูกเป้าหมาย แต่กระสุนขนาดนี้จะมีแรงถีบอย่างมากเมื่อยิงด้วยปืนลำกล้องสั้น

อีกแนวคิดหนึ่ง คือ ใช้กระสุนที่มีแรงดันมาตรฐาน (Standard-pressure loads) ซึ่งคุณสามารถควบคุมปืนได้ดีเวลายิง แน่นอนว่าอำนาจหยุดยั้งย่อมน้อยกว่ากระสุน .357 นิ้ว แต่ก็ทำให้คุมปืนได้ง่ายขึ้นมากในขณะที่อำนาจหยุดยั้งไม่ได้ด้อยลงไปมากนัก ส่วนกระสุน +P ถือว่าอยู่กลางๆระหว่าง .357 นิ้วและกระสุนแรงดันมาตรฐาน โดยส่วนตัวแล้วนาย Ralph Mroz จะใช้กระสุนแรงดันมาตรฐาน

แล้วกระสุนแบบไหนจึงจะ “ดีที่สุด” สำหรับปืนลำกล้องสั้นแบบนี้ เป็นคำถามซึ่งหลายคนอยากได้คำตอบ มีข้อมูลน้อยมากเกี่ยวกับกระสุนขนาดตั้งแต่ .38 หรือ .357 นิ้ว ขึ้นไปในปืนลำกล้องสั้น โดยส่วนตัวแล้วเขาเชื่อว่าไม่ว่าจะใช้กระสุนขนาดเท่าไร เขาจะยิงเป้าหมายซึ่งเป็นภัยคุกคามมากกว่าหนึ่งนัดเสมอ ประสิทธิภาพของกระสุนเขาจะดูจากข้อมูลที่ได้ยินได้อ่านมา หรือมีผลการทดสอบกับแท่งเจลาตินเข้ามาประกอบการพิจรณา มากกว่าที่จะพยายามหากระสุนที่ดีที่สุด เขาแค่รู้สึกว่ากระสุนที่ใช้อยู่นั้นมีข้อมูลอยู่ในเกณฑ์ที่ใช้ได้ก็พอแล้ว

ยกตัวอย่างเช่น กระสุนขนาด 158 เกรน Lead Semi-wadcutter +P hallowpoint นิยมใช้ในปืนลูกโม่ขนาด .38 หรือ .357 นิ้ว มาอย่างยาวนานไม่ว่าจะเป็นปืนลำกล้องมาตรฐานหรือลำกล้องสั้นก็ตาม จนกระทั้งอดีตนายตำรวจชื่อดัง Jim Cirillo (เป็นผู้มีประสบการณ์การยิงปืนต่อสู้กับคนร้ายมาอย่างโชกโชน) ยกให้กระสุนแบบ Standard wadcutter เป็นกระสุนที่ดีที่สุดสำหรับปืนลำกล้องสั้น

ไม่ว่าจะใช้กระสุนแบบใดทักษะการยิงปืนสำคัญที่สุด เราต้องยิงให้ถูกสิ่งที่เราต้องยิง ไม่เช่นนั้นต่อให้เรามีกระสุนที่ดีที่สุด หากยิงไม่ถูกเป้าหมายก็ไม่มีประโยชน์

สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”

                                                                                                เรียบเรียงโดย Batman
                                                                        อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง The Perennial Snubbie ของ Ralph Mroz

Thursday, August 11, 2011

5 Things to do After a Shooting


5 Things to do After a Shooting

นายตำรวจชื่อดัง Massad Ayoob ได้ให้คำแนะนำที่น่าสนใจเกี่ยวกับการใช้อาวุธปืนยิงคนร้ายเพื่อป้องกันตัว ในขณะที่ตำรวจมาถึงควรจะให้ข้อมูลอะไรบ้างแก่ตำรวจ

1.      ชี้ว่าใครคือคนร้ายให้ตำรวจทราบ (Point out a Perpetrator to police)

2.      บอกตำรวจว่ามีบันทึกไว้ในโทรศัพท์เกี่ยวกับคนร้ายซึ่งคุณได้โทรไปแจ้งความไว้ (Tell police you will “Sign the Complaint”) ในต่างประเทศเมื่อประชาชนโทรไปแจ้งตำรวจ (911) จะมีการบันทึกเทปเสียงเอาไว้เพื่อเป็นหลักฐาน สำหรับประเทศไทยไม่แน่ใจว่าโทร 191 จะมีบันทึกเทปเสียงเช่นนั้นหรือไม่ ดังนั้นหากโทรศัพท์ของเราสามารถบันทึกเสียงได้ เวลาโทรแจ้งความก็ควรอัดบันทึกเสียงการโทรศัพท์ไว้ด้วยเพื่อเป็นหลักฐาน

3.      แสดงหลักฐานเกี่ยวกับคนร้ายให้ตำรวจได้เห็น (Point out the Evidence to Police) บอกตำรวจเกี่ยวกับหลักฐานหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำไมเราถึงต้องใช้อาวุธปืนเพื่อป้องกันตัว

4.      ชี้ว่ามีใครเห็นเหตุการณ์แก่ตำรวจ (Point out the Witnesses to Police) หากมีพยานเห็นเหตุการณ์หรือมีกล้องวงจรปิดบันทึกไว้ก็ควรรีบชี้ตัวให้ตำรวจได้ซักถามหรือดูเทปที่บันทึกไว้

5.      ให้ความร่วมมือกับตำรวจอย่างเต็มที่ภายใน 24 ช.ม. หลังได้พูดคุยกับทนายแล้ว (Will Give Full Cooperation in 24 hours After Speaking with Attorney) รีบติดต่อทนายความเพื่อขอคำแนะนำในการให้ปากคำตำรวจโดยให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่

หลักปฏิบัตินี้จะช่วยให้การทำงานของตำรวจง่ายขึ้น และอย่าลืมวางอาวุธของเราทันทีที่เห็นตำรวจเข้ามาดูแลสถานการณ์ เพราะเราอาจถูกเข้าใจผิดได้ว่าเป็นคนร้ายหากยังถืออาวุธไว้ในมือ

ในไม่กี่วินาทีที่เราใช้อาวุธปืน อาจทำให้เราต้องใช้เวลายี่สิบปีในห้องขังก็ได้ จึงควรใช้อาวุธปืนด้วยเหตุผลอันสมควร ไม่ใช้อารมณ์เข้ามาตัดสิน ใช้เพื่อ “ป้องกันตัว” เท่านั้น

สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”
 เรียบเรียงโดย Batman
                            อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากความคิดเห็นเรื่อง After a Real Shooting ของ Massad Ayoob

Thursday, August 4, 2011

Principles of Low Light Shooting

Principles of Low Light Shooting



นาย Derek McDonald ได้ให้หลักการเกี่ยวกับการยิงปืนต่อสู้ในภาวะแสงต่ำไว้อย่างน่าสนใจลงตีพิมพ์ในนิตยสาร American Rifleman


หลักสำคัญของการยิงปืนในภาวะแสงต่ำ ประกอบด้วย


- อ่านภาวะแสง (Read the light) เป็นการยากมากที่คุณจะอยู่ในสถานที่ซึ่งไม่มีแสงสว่างเลยแม้แต่น้อยหรือมืดสนิท ส่วนใหญ่แล้วจะพอมีแสงบ้างจะสว่างมากน้อยแค่ไหนก็แล้วแต่สภาพแวดล้อม มองดูสภาพแสงอย่างละเอียดโดยเฉพาะเงาซึ่งเกิดจากมีวัตถุบังแสง เช่น เงาจากบานประตู หน้าต่าง เป็นต้น


- เงามืดอันตราย (Dark holes are dangerous) ให้ความสนใจเป็นพิเศษกับบริเวณเงามืดหรือที่มีแสงสว่างน้อยที่สุด มีคำกล่าวที่ว่า “ทุกเงามืดจะมีภัยคุกคามซ้อนอยู่” ดังนั้นจึงต้องระวังบริเวณซึ่งมืดเกินกว่าที่จะเห็นภายในได้ในขณะนั้น ให้สงใสไว้ก่อนว่าอาจมีภัยคุกคามซึ่งอาจโผล่มาได้ทุกเมื่อ


- มองในแง่มุมของคนร้าย (See from the aggressor’s viewpoint) เป็นการคิดแบบคนร้ายซึ่งอยู่ในสภาพพื้นที่และแสงแบบนั้น ควรจะหลบซ่อนอยู่ที่ใดจึงจะได้เปรียบ ถ้าคุณมีประสบการณ์มากขึ้นจะยิ่งทำสิ่งนี้ได้ดีขึ้น


- เคลื่อนที่ไปยังบริเวณที่มีแสงน้อยที่สุด (Move to the lowest level of light) คุณควรใช้ประโยชน์จากความมืดเช่นกัน โดยเคลื่อนที่ไปหลบยังบริเวณที่มืดที่สุด การที่คุณอยู่ในพื้นที่ซึ่งเห็นตัวคุณได้ชัดนานเท่าไรก็เท่ากับเราเป็นเป้าหมายที่ชัดเจนนานเท่านั้น


- ใช้แสงและเคลื่อนที่ (Light and move) ไฟฉายในมือคุณจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อใช้อย่างถูกต้อง การใช้ไฟฉายนั้นจะเป็นการบ่งบอกตำแหน่งของคุณให้กับคนร้าย ไม่ควรเปิดไฟฉายไว้ตลอดเวลาที่ทำการเคลื่อนที่ ดังนั้นจะใช้ไฟฉายก็เพื่อมองหาเป้าหมายหรือค้นหาตำแหน่งที่จะเคลื่อนที่ต่อไป ดูสภาพแวดล้อมอย่างรวดเร็ว โดยเปิดไฟฉายเพียงชั่วเวลาสั้นๆเท่านั้นแล้วรีบทำการเคลื่อนที่ย้ายที่อยู่


- ใช้ไฟฉายส่องในระดับสูงต่ำที่แตกต่างกัน (Intermittent use of light at random heights) จากการศึกษาพบว่าคนร้ายมักยิงไปยังแหล่งกำเนิดแสงของคุณ ดังนั้นการเปิดปิดไฟฉายในหลายตำแหน่งสูงบ้างต่ำบ้าง ถือไฟฉายให้ออกห่างจากแนวกลางตัวของคุณ เพื่อจะทำให้คนร้ายสับสน


- อย่าให้แสงไฟส่องอยู่หลังเรา (Never allow yourself to be backlit) อย่าหยุดอยู่ที่ช่องทางเข้า-ออกประตู ระวังเพื่อนที่เดินตามหลังคุณจะส่องไฟฉายมาที่คุณ ซึ่งจะเป็นการบอกตำแหน่งของคุณให้คนร้ายเห็นได้อย่างชัดเจน


- ใช้พลังของแสง (Dominate with light) มีเพียงสองสถานการณ์ที่อนุญาตให้เปิดไฟฉายได้ตลอดเวลา คือ เมื่อคุณอยู่ในบริเวณที่มีแสงไฟส่องจากด้านหลังชัดเจนและคุณไม่สามารถเคลื่อนที่ออกมาจากที่นั้นได้ และสอง คือ เมื่อคุณสามารถควบคุมภัยคุกคามได้แล้วและไม่มีภัยคุกคามอื่นอีก คุณสามารถส่องไฟไปที่ตาของคนร้ายได้ในยามจำเป็นซึ่งจะทำให้ตาของเขาพล่ามัวไปชั่วขณะ แต่จากประสบการณ์พบว่าการตอบสนองของคนร้ายต่อแสงที่ส่องมาที่ตานั้น บางคนก็ยอมแพ้แต่บางคนกลับก้าวร้าวมากขึ้น ดังนั้นต้องเตรียมตัวให้พร้อมเสมอในขณะที่ส่องไฟไปที่ตาของคนร้าย


- ควบคุมการหายใจและผ่อนคลาย (Breathe and relax) ปกติเรามักจะหายใจเร็วขึ้นมากเมื่อต้องเผชิญหน้ากับภัยคุกคามร้ายแรงถึงชีวิต การควบคุมการหายใจ (Breath control) เป็นกุญแจสำคัญในการทำให้เรายังคงสงบ มีสติและควบคุมตัวเองได้ ถ้าคุณควบคุมการหายใจไม่ได้ คุณก็ควบคุมตัวเองไม่ได้เช่นกัน


เหตุการณ์ยิงปืนต่อสู้ในสถานการณ์จริงส่วนใหญ่มักเกิดในภาวะแสงต่ำ ดังนั้นทักษะนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ควรเรียนรู้และฝึกฝนให้เกิดความชำนาญ และถ้าคุณทำงานที่มีความเสี่ยงสูงก็ควรมีไฟฉายมากกว่าหนึ่งกระบอกพกติดตัว (ไฟฉายหลักและไฟฉายสำรอง)


สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”


เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Principles of Fighting at Night ของ Derek McDonald

Newcastle limousines