Sunday, November 27, 2011

Rifle Sight for Shotgun


Rifle Sight for Shotgun

ปืนลูกซอง (Shotgun) ถือว่าเป็น ปืนปราบปืน เนื่องจากคุณสมบัติที่โดดเด่นหลายประการ มีการนำปืนลูกซองมาใช้ในหลากหลายวัตถุประสงค์ อาทิเช่น กีฬายิงปืนลูกซอง (ไม่ว่าจะเป็นยิงเป้าบินในแบบต่างๆ การยิงปืนรณยุทธ์ เป็นต้น) การล่าสัตว์ หรือใช้งานในราชการทหาร ตำรวจ และการป้องกันตัวภาคประชาชน

จุดเด่นสำคัญอย่างหนึ่งคือ กระสุนปืนลูกซอง มีให้เลือกใช้หลากหลายชนิดมาก ไม่ว่าจะเป็น กระสุนลูกปราย (กระสุน 1 นัด ภายในบรรจุหัวกระสุนเล็กๆหลายนัด) หรือ กระสุนลูกโดด (กระสุน 1 นัด มีหัวกระสุนขนาดใหญ่ 1 นัด)

โดยปกติการใช้ปืนลูกซองเพื่อการป้องกันตัวนิยมใช้กระสุนลูกปลาย 9 เม็ด เป็นส่วนใหญ่ เมื่อยิงออกไปหัวกระสุนจะกระจายออกเป็นม่านกระสุนหรือที่เรียกว่า Pattern ของกระสุน จึงมีโอกาสกระทบเป้าหมายได้ง่ายเมื่อเทียบกับกระสุนลูกโดด แต่กระสุนลูกโดดก็มีคุณสมบัติที่สามารถยิงออกไปได้ระยะหวังผลไกลกว่ากระสุนลูกปราย

ดังนั้นปืนลูกซองจึงมีคุณสมบัติของปืน 2 แบบในกระบอกเดียวกัน คือ ปืนลูกซองเมื่อใช้กระสุนลูกปราย และปืนไรเฟิ่ล (Rifle) เมื่อใช้กระสุนลูกโดด

ในการยิงปืนลูกซองระยะใกล้ด้วยกระสุนลูกปรายนั้น การใช้ศูนย์ปืนในการเล็งไม่ว่าจะเป็นศูนย์หน้าหรือศูนย์หลังอาจไม่มากนัก เพราะม่านกระสุนมักจะครอบคลุมเป้าหมายเบื้องหน้าในระยะใกล้ แต่เมื่อเป้าหมายอยู่ไกลเกินกว่าที่กระสุนลูกปรายจะมีประสิทธิผล ก็จำเป็นจะต้องใช้กระสุนลูกโดดแทน

การใช้ศูนย์ปืนไรเฟิ่ลจึงเป็นสิ่งจำเป็น บางกระบอกมีรางติดอุปกรณ์สามารถติดกล้องเล็งได้ เพื่อให้สามารถยิงกระสุนลูกโดดได้อย่างแม่นยำมากขึ้น

ศูนย์ปืนไรเฟิ่ลสำหรับปืนลูกซองที่นิยม อาทิเช่น ศูนย์ Ghost ring

เมื่อจะใช้ปืนลูกซองที่มีศูนย์ไรเฟิ่ลจำเป็นที่จะต้องตั้งศูนย์ปืนด้วยกระสุนลูกโดด หรือที่เรียกว่าการทำ Zero เพื่อให้เกิดความแม่นยำในการใช้งาน ส่วนกระสุนลูกปรายก็จำเป็นจะต้องทดลองยิงด้วยกระสุนที่เราจะใช้งานจริงเพื่อรู้ม่านกระสุนที่กระจายออกในระยะต่างๆ

นอกจากนั้นการฝึกเปลี่ยนกระสุนปืนจากกระสุนลูกปรายมาใช้ลูกโดด หรือที่เรียกว่า Changeover เป็นแทคติกหนึ่งที่สำคัญ เพื่อให้สามารถใช้ปืนลูกซองได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”

                                                                                                            เรียบเรียงโดย Batman

Saturday, November 12, 2011

Weapon-mounted Light VS. Tactical Flashlight


Weapon-mounted Light VS. Tactical Flashlight

เนื่องจากเหตุการณ์ร้ายๆมักเกิดขึ้นในภาวะแสงต่ำ ดังนั้นการยิงปืนประกอบไฟฉายจึงเป็นทักษะหนึ่งที่ถูกบรรจุไว้ในการสอนยิงปืนระบบต่อสู้

ประโยชน์หลักๆของไฟฉายก็เพื่อใช้ในการค้นหา (Search) แยกแยะเป้าหมาย (Identify the threat) ส่วนการเล็งนั้นไฟฉายทำให้เรามองเห็นเป้าหมาย ยังผลให้เล็งได้ง่ายและมีความแม่นยำมากขึ้น

ไฟฉายซึ่งใช้ประกอบการยิงปืนในภาวะแสงต่ำที่นิยมมีอยู่ 2 ประเภท คือ ศูนย์ไฟฉาย (Weapon-mounted Light) กับ ไฟฉายทางยุทธวิธี (Tactical Flashlight)

ไฟฉายไม่ว่าประเภทใดต่างก็มีข้อดี ข้อด้อยและข้อจำกัดของมันเอง

ศูนย์ไฟฉาย หรือ Weapon-mounted Light เป็นไฟฉายซึ่งติดอยู่ที่รางติดอุปกรณ์ใต้ปากกระบอกปืนโดยเฉพาะปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติ (ปืนลูกโม่บางรุ่นมีรางติดอุปกรณ์เหล่านี้เช่นกัน แต่ไม่ค่อยนิยมเพราะมักเป็นปืนโครงขนาดใหญ่) เวลาใช้งานต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าได้ทำการติดตั้งศูนย์ไฟฉายแน่นหนากับตัวปืนดีแล้ว เป็นที่ยอมรับว่าการยิงปืนประกอบศูนย์ไฟฉายเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการยิงเป้าหมายในภาวะแสงต่ำ อย่างไรก็ตามเมื่อปืนติดศูนย์ไฟฉายแล้วจะทำให้น้ำหนักปืนมากขึ้น โดยเฉพาะน้ำหนักจะถูกถ่วงไปด้านลำกล้องปืนมากขึ้น ความคล่องตัวก็อาจลดลงไปบ้าง

โดยปกติกฏแห่งความปลอดภัยในการใช้อาวุธปืนข้อหนึ่งซึ่งสำคัญมากๆ ก็คือ ห้ามชี้ปืนไปยังสิ่งซึ่งคุณไม่ต้องการยิง แต่เนื่องจากศูนย์ไฟฉายติดอยู่กับตัวปืนทำให้การค้นหาภัยคุกคาม (Search) แนวปืนและลำแสงจากไฟฉายจะไปในทิศทางเดียวกันตลอด เราอาจชี้ปืนไปยังบุคคลซึ่งไม่ใช่ภัยคุกคามก็ได้ จึงถือว่าเป็นการแหกกฏข้อนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นในขณะที่ทำการค้นหาจึงห้ามเอานิ้วชี้เข้าโกรงไกอย่างเด็จขาด และบางคนฝึกที่จะใช้ประโยชน์จากแสงสว่างจางๆซึ่งอยู่วงรอบนอกของแสงจากศูนย์ไฟฉายในการค้นหา เพื่อหลีกเลี่ยงแนวปืนไม่ให้ชี้ไปยังบุคคลซึ่งไม่ใช่เป้าหมาย

เป็นที่ทราบกันดีว่าการใช้ไฟฉายนั้นนอกจากจะช่วยเผยเป้าหมายให้เราเห็นได้ชัดเจนแล้ว แต่มันก็ยังเป็นการเปิดเผยตำแหน่งของตัวเราเองให้กับภัยคุกคามได้รู้เช่นกัน ในการถือปืนตามปกติปืนของเราจะอยู่แนวกลางตัว เมื่อภัยคุกคามยิงสวนมาที่แสงจากไฟฉายก็อาจถูกตำแหน่งที่สำคัญของเราได้ ในขณะที่ Tactical Flashlight ในบางเทคนิคไฟฉายอาจอยู่คนละตำแหน่งกับปืนทำให้ตัวเราปลอดภัยมากกว่า

การควบคุมการเปิด-ปิดศูนย์ไฟฉายจะใช้นิ้วโป้งของมือข้างไม่ถนัด (Supporting Hand) การใช้งานให้มีประสิทธิภาพจำเป็นต้องฝึกฝนเช่นกัน ไม่ใช่ว่าเปิดไฟฉายทุกครั้งจะต้องทำการยิงเสมอไป เราต้องควบคุมได้ว่าเป้าหมายใดจำเป็นต้องยิง

ศูนย์ไฟฉายบางรุ่นอาจมีศูนย์เลเซอร์ประกอบในกระบอกเดียวกัน ดังนั้นการฝึกใช้งานเพื่อให้สามารถใช้อุปกรณ์เหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดจึงเป็นสิ่งสำคัญ

เนื่องจากศูนย์ไฟฉายและ Tactical Flashlight ต่างก็มีข้อดี ข้อเสีย และข้อจำกัดของมันเอง ดังนั้นบางคนอาจใช้ไฟฉายทั้งสองแบบ โดยเลือกใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ บางครั้งการใช้ Tactical Flashlight อาจได้เปรียบกว่าการใช้ศูนย์ไฟฉาย เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไปก็หันมาใช้ศูนย์ไฟฉายแทน โดย Tactical Flashlight อาจมีสายคล้องข้อมือจึงทำให้ใช้งานง่ายขึ้นเมื่อต้องเปลี่ยนมาใช้ศูนย์ไฟฉาย เป็นต้น

โดยทั่วไปความสว่างของไฟฉายหรือศูนย์ไฟฉายอย่างน้อย 60 รูเมน ถือว่าเพียงพอที่จะทำให้เกิดอาการตาพล่ามัวชั่วขณะ (Blinding Effect) เมื่อส่องไฟไปที่ตาของคนร้ายภายในห้อง

การรู้จักอุปกรณ์ส่องสว่างของเราเป็นอย่างดีทำให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ควรฝึกยิงปืนประกอบไฟฉายหรือศูนย์ไฟฉายจนเกิดทักษะความชำนาญ เพราะสิ่งนี้อาจสร้างความแตกต่างระหว่างความเป็นและความตายได้เลยทีเดียว

สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”

                                                                                                            เรียบเรียงโดย Batman

                                                                                    อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Weapon-mounted Light Deployment ของ Richard Mann

Newcastle limousines