Wednesday, March 25, 2009

Home Defensive Guns
















Home defensive guns

เมื่อเราจะเลือกปืนสักกระบอกเอาไว้ใช้ในบ้านเพื่อดูแลชีวิตและทรัพย์สิน เราควรเลือกปืนชนิดใดระหว่างปืนสั้นกับปืนลูกซอง เป็นคำถามที่หลายคนอยากทราบคำตอบ นาย Walt Rauch ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจในบทความเรื่อง A Matter Of Choice

เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า “ปืนลูกซอง” เป็นปืนที่ดีที่สุดในการใช้ปกป้องภัยคุกคามภายในบ้าน (Home defense) โดยให้เหตุผลว่า คุณไม่จำเป็นต้องเล็งมากมายแค่ชี้ไปในทิศทางที่ต้องการแล้วก็ยิงได้เลย นอกจากนั้นเสียงการขึ้นลำของปืนลูกซองก็ให้ผลทางจิตวิทยามากพอที่ภัยคุกคามเมื่อได้ยินแล้ว (ถ้าเขารู้ว่าเสียงนั้นเป็นเสียงของการขึ้นลำของปืนลูกซอง และถ้าสัญชาติญาณในการเอาชีวิตรอดแรงกว่าความต้องการเข้ามาก่ออาชญากรรม) ก็อาจวิ่งหนีไปเสียก่อนแล้ว

กลุ่มกระสุนของปืนลูกซองเมื่อยิงออกไปหลังจากระยะสามหลาจะกว้างขึ้นประมาณ 1 นิ้วทุกๆ 1 หลาที่ห่างออกไป นั้นหมายความว่าในระยะ 12 ฟุตคุณมีกลุ่มกระสุนกว้าง 2 นิ้วที่จะกระทบเป้าหมาย (ไม่ได้กระจายไปทั่วห้อง)

สำหรับนาย Rauch แล้วเขาไม่ลังเลที่จะใช้ปืนลูกซองในการป้องกันตัว เพราะมันยิงถูกเป้าหมายได้ง่ายกว่าปืนสั้น และมีประสิทธิภาพดีกว่าในแง่อำนาจหยุดยั้ง แต่ผู้ใช้ก็ต้องใช้ให้ถูกต้องเหมาะสมและรู้ข้อดี ข้อจำกัดของปืนลูกซองด้วย

สำหรับปืนสั้นแล้วต้องการการฝึกฝนมากกว่าในการที่จะยิงเป้าหมายให้ถูกในระยะห่างหนึ่งๆ นาย Rauch เคยอ่านรายงานที่เจ้าหน้าที่ตำรวจยิงคนร้ายด้วยปืนสั้นในระยะใกล้ (Point blank range) สามนัด แต่ไม่มีนัดใดยิงถูกเลย

อย่างไรก็ตามปืนสั้นนั้นเป็นปืนที่สามารถทำงานได้ดีเมื่อใช้งานด้วยมือเดียว แม้อำนาจหยุดยั้งของปืนสั้นจะด้อยกว่าปืนลูกซองแต่ก็ชดเชยด้วยการที่มันใช้งานง่ายกว่า นอกจากนั้นปืนสั้นยังพกซ่อนได้ง่ายกว่า (อาจซ่อนไว้ในเสื้อผ้า ใต้เครื่องเรือนภายในบ้าน หรือไว้ในมือโดยปืนนั้นพร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา)

ปืนลูกซองมีน้ำหนักมากกว่าปืนสั้นมาก ในสถานการณ์ที่เราต้องถือปืนคุมคนร้ายตลอดเวลา ด้วยความหนักของปืนลูกซองคนร้ายอาจหนีไปได้อย่างไม่ยากนัก นอกจากนั้นไม่ใช่ว่าในบ้านจะมีเราเพียงคนเดียวที่ต้องการอาวุธเพื่อใช้งาน บางคนในบ้านอาจไม่สามารถถือปืนลูกซองขึ้นและใช้มันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าถือปืนลูกซองได้ไม่ดีเมื่อยิงไปแล้วอาจมีเหตุติดขัดของปืนได้ง่ายโดยเฉพาะเมื่อใช้ปืนลูกซองกึ่งอัตโนมัติ

ข้อได้เปรียบของปืนสั้นอีกแง่หนึ่งคือ คุณสามารถใช้มืออีกข้างที่ไม่ได้ถือปืนทำอย่างอื่นเช่น เปิดประตู และใช้ร่วมกับไฟฉายได้ง่ายกว่า

การใช้ศูนย์ไฟฉาย (ไฟฉายที่ติดกับปืน) เวลาใช้งานไฟฉายและลำกล้องปืนจะไปในทิศทางเดียวกันตลอด แม้ว่าในบางโอกาสเราไม่ได้ต้องการเช่นนั้น

ใครก็ตามที่จะใช้ปืนลูกซองควรมีการฝึกยิงแห้ง (ไม่มีลูกกระสุนในรังเพลิง) โดยเขาแนะนำให้ฝึก “ตื่นและไป (Wake-up and go)” และจับเวลาขณะที่ลองทำ (เป็นการจับเวลาว่าเมื่อมีเหตุการณ์ผิดปกติเกิดขึ้นเราใช้เวลานานแค่ไหนในการที่จะตื่นขึ้น หยิบปืนและทำให้ปืนพร้อมใช้งาน)

การบุกเข้ามาในบ้านนั้นมักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง คุณต้องพร้อมที่จะรับมือกับภัยคุกคามได้ทันเวลาก่อนที่ภัยคุกคามจะมาถึงตัวคุณ หลักง่ายๆคือ คุณมีเวลามากเพียงเท่าที่ใครสักคนใช้ในการเปิดประตูธรรมดาไม่ว่าจะใช้กุญแจหรือไม่ และเคลื่อนที่ไปหาคุณหรือสมาชิกในครอบครัวเพื่อทำอันตราย

จะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะเป็นปืนลูกซองหรือปืนสั้นก็ไม่มีปืนแบบใดดีที่สุดสำหรับ “ทุกสถานการณ์” ในการใช้ป้องกันภัยคุกคามภายในบ้าน (Home defense) ดังนั้นการมีปืนทั้งสองแบบไว้ใช้จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดอย่างไม่ต้องสงสัย

ปืนลูกซองและปืนสั้นมีหลายแบบหลายขนาดให้เลือกใช้ มีข้อดี ข้อด้อยและข้อจำกัดในปืนแต่ละแบบ เราควรต้องศึกษาเพื่อเลือกและใช้ปืนให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ อีกทั้งต้องฝึกฝนการใช้งานจนเกิดทักษะความชำนาญ

TAS สอนการใช้อาวุธปืนสั้นที่สามารถใช้งานได้ง่ายทั้งหญิงและชาย รวมทั้งแทคติกอีกมากเพื่อให้คุณสามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างไม่ยากนัก
สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี "สติ"

เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความ A matter of choice ของ Walt Rauch

Tuesday, March 17, 2009

Low Light Shooting
















Low Light Shooting

มีคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญการยิงปืนบางท่านให้คำแนะนำไว้ว่า “ถ้าคุณอยู่ในที่มืดก็จงคงอยู่ที่นั้น แต่ถ้าคุณอยู่ในที่สว่างก็จงทำให้ที่มืดสว่างเสีย” จะเห็นได้ว่าการใช้ไฟฉายประกอบการยิงปืนในภาวะแสงต่ำมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง แต่ถึงแม้จะไม่มีไฟฉายในมือเราก็ยังต้องสามารถยิงเป้าหมายในความมืดได้ แทคติกการยิงด้วยสัญชาติญาณ (Instinct shooting) มีประโยชน์อย่างมากในสถานการณ์เช่นนี้

การยิงปืนในภาวะแสงต่ำถ้าใช้ไฟฉายที่ให้แสงสีขาวจะมีประโยชน์อย่างมาก เนื่องจากแสงสีขาวช่วยให้สามารถแยกแยะวัตถุได้ดีขึ้น จึงควรมีไฟฉายติดตัวไว้เผื่อกรณีที่จำเป็นต้องใช้

ศูนย์ปืนสำหรับยิงกลางคืนหรือศูนย์เรืองแสง เช่น ศูนย์ตริเตรี่ยม (Tritium sights) มีให้เลือกหลายแบบและหลายราคา ศูนย์ปืนเหล่านี้มีประโยชน์ในกรณีที่เราสามารถแยกแยะภัยคุกคามเบื้องหน้าได้โดยที่ไม่ต้องใช้ไฟฉาย ศูนย์เรืองแสงที่ใช้มักมีสามจุด (ศูนย์หน้า 1 จุด, ศูนย์หลัง 2 จุด)และมีหลายสีให้เลือกใช้

รูปแบบการถือปืนประกอบไฟฉายมีหลายวิธี ในที่นี้จะกล่าวถึง 5 รูปแบบที่นิยมใช้ (ไฟฉายที่ใช้เป็นไฟฉายทางแทคติค่อลมีปุ่มเปิด-ปิดอยู่ท้ายกระบอกไฟฉาย)

1. Harries technique หรือ Crossed wrist technique เป็นรูปแบบที่นิยมใช้กันมากและมีประสิทธิภาพสูง ทำโดยถือปืนด้วยมือข้างถนัดส่วนไฟฉายถือด้วยมือข้างไม่ถนัด กำด้ามไฟฉายเอาด้านท้ายกระบอกไฟฉายอยู่ด้านหัวแม่มือ ไคว้มือทั้งสองข้างเอาหลังมือชนกัน ควบคุมเปิด-ปิดไฟฉายด้วยนิ้วโป้งของมือข้างที่ถือไฟฉาย

2. Knuckle to knuckle technique ถือไฟฉายขนานกับมือที่ถือปืน โดยข้อนิ้วข้อกลางของมือข้างที่ถือไฟฉายจะสัมผัสกับข้อนิ้วข้อกลางของมือที่กำด้ามปืน รูปแบบนี้ใช้บ่อยเมื่อต้องการเปิดไฟฉายตลอดเวลา

3. Rogers/Surefire technique คล้ายกับท่า Knuckle to knuckle technique แต่มือข้างที่ถือไฟฉายให้หนีบไฟฉายไว้ระหว่างนิ้วชี้และนิ้วกลาง เปิด-ปิดไฟฉายด้วยโคนนิ้วโป้งมือข้างถือไฟฉาย

4. Neck index technique มือข้างที่ถือปืนยื่นออกไปยังเป้าหมายเบื้องหน้า ในขณะที่มือที่ถือไฟฉายกำกระบอกไฟฉายเอาด้านท้ายเข้าหานิ้วหัวแม่มือเพื่อควบคุมปุ่มเปิด-ปิด นำไฟฉายเข้ามาชิดลำคอข้างที่ถือไฟฉาย ส่องไฟไปข้างหน้าจะเห็นแนวปืนและเป้าหมายได้อย่างชัดเจน

5. FBI modified technique มือข้างที่ถือไฟฉายกำด้ามไฟฉายควบคุมปุ่มเปิด-ปิดด้วยนิ้วหัวแม่มือ ยื่นมือที่ถือไฟฉายออกห่างตัวออกไปโดยให้ยื่นไปข้างหน้าเล็กน้อย เพื่อแสงไฟจะได้ไม่ฉายถูกตัวผู้ถือไฟฉายเอง ตำแหน่งไฟฉายอาจย้ายที่ไปได้หลายตำแหน่งทั้งบน ล่าง ขวาหรือซ้าย

ในความเห็นของผู้เชี่ยวชาญหลายคนให้ความเห็นว่า Harries technique เป็นท่าที่นิยมใช้เพราะมีประสิทธิภาพสูง ใช้ได้ดีทั้งการยิงในท่า Weaver และ Chapman ส่วนท่า Knuckle to knuckle technique และท่า Rogers/Surefire technique ไม่ค่อยนิยมใช้เพราะควบคุมปุ่มเปิด-ปิดได้ไม่สะดวกนัก ส่วนท่า Neck index technique มีความรวดเร็วในการยิงสามารถมองเห็นแนวปืนได้ดี ท่า FBI modified technique มักใช้ในการค้นหา (Search) และใช้ในการลวงเป้าหมายได้ เนื่องจากไฟฉายจะอยู่ห่างตัวปรับเปลี่ยนได้หลายตำแหน่ง

หลักการใช้ไฟฉายประกอบการยิงในภาวะแสงต่ำ เมื่อเราเปิดไฟฉายนอกจากทำให้เราเห็นเป้าหมายเบื้องหน้าแล้ว แสงไฟนั้นก็เป็นการเปิดเผยตำแหน่งของตัวเราเองเช่นกันจึงเป็นความเสี่ยงที่อาจถูกจู่โจมจากภัยคุกความเบื้องหน้าได้ ส่วนใหญ่ถ้าภัยคุกคามมองไม่เห็นตัวเราเขามักจู่โจมมายังตำแหน่งที่ปรากฏแสงไฟ ดังนั้น FBI modified technique จึงควรถือไฟฉายห่างจากตัวเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจและเปลี่ยนตำแหน่งการถือไฟฉายไปในหลายๆจุด

ไม่ควรเปิดไฟฉายไว้นานโดยไม่จำเป็นซึ่งเป็นการเปิดเผยตัวเราเองเป็นการเสี่ยงอันตรายอย่างมาก การเคลื่อนที่ควรอาศัยความมืดเป็นฉากกำบัง ดังนั้นเมื่อเปิดไฟฉายเพื่อแยกแยะภัยคุกคามเบื้องหน้าแล้วควรรีบปิดไฟและเปลี่ยนตำแหน่งตัวเอง ในขณะเคลื่อนที่ควรปิดไฟเพื่อไม่ให้ภัยคุกคามมองเห็นตำแหน่งของเราได้

ในหลายกรณีเราอาจใช้วิธีการถือไฟฉายหลายท่าสลับปรับเปลี่ยนกันไปเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและสถานการณ์เบื้องหน้า บางครั้งอาจต้องสลับมือในการถือปืนและไฟฉาย การหาที่กำบัง การแยกแยะเป้าหมายหรือภัยคุกคาม การอาศัยสภาพแวดล้อมให้เป็นประโยชน์ การยิงในขณะเคลื่อนที่หรือยิงแล้วค่อยเคลื่อนที่ การยิงในภาวะกดดัน รวมทั้งการแก้ไขปัญหาติดขัดระหว่างการยิงในภาวะแสงต่ำเป็นสิ่งที่ต้องฝึกฝน

ดังนั้นทักษะการยิงปืนในภาวะแสงต่ำโดยยิงปืนทั้งที่มีและไม่มีไฟฉายประกอบเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก การเรียนรู้แทคติกต่างๆจะสร้างความได้เปรียบให้กับเราหากมีเหตุจำเป็นที่ต้องใช้อาวุธปืนในสถานการณ์วิกฤติเช่นนี้

ในสหรัฐอเมริกามีหลักสูตรที่สอนเกี่ยวกับการยิงปืนในภาวะแสงต่ำโดยเฉพาะ ซึ่งบางหลักสูตรแบ่งการฝึกเป็นหลายระดับตามความยากง่าย TAS จะสอนการยิงปืนในภาวะแสงต่ำใน TAS force 3 โดยเน้นที่ความปลอดภัยในการยิงและแทคติกต่างๆที่ประชาชนสามารถนำไปใช้ได้อย่างไม่ยากนัก

สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”

เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความ Shooting with flashlights ของ Stephen P. Wenger, Surefire’s low light shooting ของ Rob Garret, Low light shooting ของ Erik Lawrence

Sunday, March 15, 2009

Tactical Flashlight




Tactical Flashlight

ส่วนใหญ่การยิงปืนในสถานการณ์จริงมักเกิดขึ้นในสภาพที่มีแสงต่ำตั้งแต่ช่วงหัวค่ำจนถึงเช้ามืด ในหลายโอกาสแม้เป็นเวลากลางวันแต่ภัยคุกคามอยู่ในห้องที่ปิดมืดหรือซ่อนตัวในที่อับแสง เราอาจต้องใช้ไฟฉายประกอบการค้นหาหรือแม้แต่ร่วมกับการยิงปืน

ไฟฉายนอกจากช่วยให้สามารถแยกแยะเป้าหมายได้ง่ายแล้ว เมื่อเราส่องไฟเข้าตาภัยคุกคามเบื่องหน้าอาจทำให้ตาพล้ามัวชั่วขณะ ทำให้มีเวลาพอที่จะหนีหรือกระทำการอย่างอื่นต่อไป แต่การใช้ไฟฉายก็อาจเปิดเผยตำแหน่งที่อยู่ของเราซึ่งภัยคุกคามอาจเข้าจู่โจมเราได้ ดังนั้นการใช้ไฟฉายประกอบการยิงปืนจึงมีทั้งข้อดีและข้อเสีย

ไฟฉายที่ใช้มี 3 รูปแบบหลักๆด้วยกันคือ เริ่มตั้งแต่ไฟฉายธรรมดาที่ใช้กันอยู่ทั่วไปมีปุ่มเปิด-ปิดอยู่ด้านข้างของกระบอกไฟฉาย อย่างที่สองไฟฉายที่ถือด้วยมือแต่ปุ่มเปิด-ปิดอยู่ด้านท้ายกระบอก (Tactical handheld flashlight) และสุดท้ายคือศูนย์ไฟฉายที่สามารถติดกับปืนได้โดยตรง แต่ละแบบมีข้อดี-ข้อด้อยแตกต่างกันไป

เรานิยมใช้ไฟฉายสองแบบหลังในการยิงปืนโดยเฉพาะไฟฉายแทคติค่อลที่ปุ่มเปิด-ปิดอยู่ท้ายกระบอกและถือด้วยมืออีกข้าง มีประโยชน์อย่างมากเนื่องจากใช้งานได้หลากหลายวัตถุประสงค์

การเลือกซื้อไฟฉายแทคติค่อลแบบที่ถือด้วยมือมีหลักการง่ายๆที่ต้องพิจารณาดังนี้

1. ขนาดของไฟฉาย โดยปกติไฟฉายยาว 5 ถึง 7 นิ้ว เหมาะสำหรับการพกทำงานตามปกติ โดยเฉพาะบุคคลหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ต้องใช้ไฟฉายประจำ ส่วนไฟฉายที่สั่นกว่านี้สามารถใช้เป็นไฟฉายแบบพกซ่อนได้

2. ความหนาบางของไฟฉาย ไฟฉายที่ผอมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.75 นิ้วจะไม่ทำให้สะดวกมากขึ้นเมื่อพกแบบเสียบเข็มขัด แต่จะเหมาะกับการพกซ่อนในเสื้อผ้า การที่ไฟฉายผอมลงก็ต้องแลกกับความสามารถในการรวมแสงที่แย่ลง

3. แบตเตอรี่ ไฟฉายเหล่านี้มักใช้กับถ่านไฟฉาย CR123 Lithium โดยถ่านไฟฉายประเภทนี้มีอัตราการสูญเสียไฟต่ำทำให้อายุการเก็บรักษาได้นานถึงสิบปีทีเดียว แต่ก็ควรซื้อถ่านไฟฉายที่มีคุณภาพดีซึ่งอาจมีราคาแพง ไม่เช่นนั้นหากใช้ถ่านไฟฉายคุณภาพต่ำอาจไม่สามารถเก็บได้นานหรือเกิดระเบิดเองได้

4. ความแรง (Power) หรือความสว่าง มีสองหน่วยที่ใช้วัดความแรงของไฟฉาย หน่วยแรกคือ ลูเมนส์ (Lumens) เป็นการวัดประมาณแสงทั้งหมดที่หลอดไฟส่องสว่างออกมา กับอีกหน่วยหนึ่งคือ แรงเทียน (Candlepower) เป็นการวัดจุดที่สว่างที่สุดของลำแสงจากหลอดไฟ

ถ้าหลอดไฟที่มีลูเมนส์เท่ากันสองหลอดแต่หลอดที่มีแรงเทียนมากกว่าจะให้แสงที่มีความเข้มในส่วนที่รวมแสง (Focused) มากกว่าหลอดที่มีแรงเทียนต่ำกว่า โดยปกติเรามักนิยมวัดความแรงของไฟฉายด้วยหน่วย ลูเมนส์ สำหรับไฟฉายแทคติค่อลควรมีความแรงอย่างต่ำ 60 ลูเมนส์

ควรตรวจดูว่าไฟฉายนั้นรวมแสงได้ดีมากน้อยเพียงใด และมีจุดบอดอยู่กลางลำแสงหรือไม่ ไฟฉายควรสามารถรวมแสงได้ดีไม่มีจุดบอด

5. หลอดไส้หรือหลอด LED ภายในหลอดไส้จะบรรจุด้วยก๊าซเฉื่อยเพื่อให้อายุหลอดนานขึ้นและเพิ่มประสิทธิภาพ ปัจจุบันนิยมใช้ก๊าซ Xenon หรือ Halogen ส่วนหลอด LED มีประสิทธิภาพดีกว่าหลอดไส้ในแง่อายุการใช้งานและกันสะเทือน

6. ตัวสะท้อนแสง (Reflectors) ทำจากวัสดุและการออกแบบที่หลากหลาย ส่วนใหญ่ถูกออกแบบโดยใช้คอมพิวเตอร์

7. กระจกหน้าหลอดไฟ (Window) ถ้าทำจาก Tempered Pyrex with an anti-reflective coating ถือว่าดีที่สุดขณะนี้

8. ระบบกันสะเทือน (Shock isolation) ไฟฉายที่ถือด้วยมือส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องมีระบบนี้แต่ศูนย์ไฟฉายที่ติดกับตัวปืนจำเป็นต้องมีระบบนี้ หลอดไฟ LED ไม่จำเป็นต้องมีระบบนี้

9. วัสดุทำกระบอกไฟฉาย (Body materials) ถ้าทำจากยางหรือโพลิเมอร์จะทำให้กระบอกไฟฉายไม่เย็นมากนักในหน้าหนาวและกันลื่นได้ ถ้าได้ความแข็งแรงจากเหล็กมาเสริมก็จะดีอย่างมากแต่ก็ถือว่าไม่ได้เป็นสิ่งที่จำเป็นนัก

10. ปุ่มเปิด-ปิด (Switchology) ไฟฉายที่ใช้กับการยิงปืนมักมีปุ่มเปิด-ปิดอยู่ด้านท้ายกระบอกไฟฉาย โดยส่วนใหญ่มักเป็นการเปิด-ปิดไฟฉายเพียงชั่วคราว ถ้าต้องการเปิดไฟตลอดต้องหมุนปุ่มเปิด-ปิดก่อน ส่วนไฟฉายแบบใหม่ๆมักใช้การกดปุ่มเพียงครึ่งทางเพื่อการเปิด-ปิดชั่วคราวแต่ถ้าต้องการเปิดตลอดก็กดปุ่มจนสุด

11. กันน้ำ (Waterproofing) ไฟฉายที่ดีจะกันน้ำโดยมียาง O ring ที่ฝาครอบด้านหน้าและท้ายกระบอกไฟฉายเพื่อกันน้ำ คุณสมบัติกันน้ำเป็นสิ่งจำเป็น

12. คุณภาพโดยรวม (Overall quality) มีสองประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ ความเปราะบาง เช่นแตกหักง่ายหรือไม่ อีกประการหนึ่งคือ คุณภาพของแสงที่ออกมา ค่อนข้างเป็นนามธรรมขึ้นกับความต้องการของผู้ใช้

ข้อแนะนำ

เริ่มจากเลือกขนาดของไฟฉายที่ต้องการก่อน (ทั้งความยาวและเส้นผ่าศูนย์กลาง) ควรเลือกไฟฉายที่มีปุ่มเปิด-ปิดอยู่ท้ายกระบอกและเป็นการเปิด-ปิดแบบชั่วคราว ควรให้ความสว่างอย่างน้อย 60 ลูเมนส์ เลือกหลอดไฟแบบไหนก็ได้ถ้าคาดว่าไฟฉายไม่น่าจะตกหล่นบ่อยๆ แต่หลอด LED จะให้แสงไฟขณะที่รวมแสงกว้างกว่าหลอดไส้และมีอายุการใช้งานนานกว่า ประการสุดท้ายควรซื้อไฟฉายกระบอกที่สองด้วย ถ้าคุณไม่ได้พกไฟฉายกระบอกนี้ไว้กับตัวตลอดเวลาก็ควรเก็บมันไว้ในกระเป๋าเครื่องมือ (Gear bag) โดยไฟฉายกระบอกที่สองควรมีความสว่างมากกว่ากระบอกแรก (ซึ่งใช้พกติดตัวประจำ)

สำหรับผู้ที่ปฏิบัติงานที่ต้องใช้ไฟฉายประจำเช่นเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีข้อแนะนำว่าไฟฉายที่ใช้งานควรมีสองกระบอก โดยกระบอกหลักที่ใช้งานประจำควรมีความสว่างมากซึ่งอาจมีขนาดใหญ่ ส่วนกระบอกที่สอง (เป็นกระบอกสำรอง) ควรมีขนาดเล็กกว่าพกติดตัวประจำ ในกรณีที่กระบอกหลักไม่ทำงานหรือลืมนำกระบอกหลักไปทำงานด้วย อย่างน้อยก็ยังมีไฟฉายสำรองไว้ใช้งานได้ในยามจำเป็น

สำหรับประชาชนทั่วไปก็ควรมีไฟฉายสองกระบอกเช่นกัน โดยกระบอกหลักอาจเก็บไว้ที่บ้านใกล้กับปืน ส่วนอีกกระบอกก็พกติดตัวใช้ในกรณีจำเป็น

การใช้ไฟฉายประกอบการยิงปืนเป็นทักษะที่ต้องได้รับการฝึกฝนให้เกิดความชำนาญ ควรเรียนรู้ข้อดีและข้อควรระวังในการใช้ไฟฉายขณะยิงปืน อีกทั้งสามารถยิงได้ไม่ว่ามีไฟฉายชนิดใดในมือ ซึ่งแทคติกเหล่านี้ TAS จะสอนใน TAS force 3
สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”

เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความ Flashlight 101 ของ Ralph Mroz, Flashlight genes ของ Perry W. Hornbarger

Monday, March 9, 2009

Blocking The View


Blocking the view


นักยิงปืนส่วนใหญ่ได้รับการสอนให้ถือปืนด้วยสองมือยกขึ้นระดับสายตาเพื่อเล็งไปกลางลำตัวซึ่งเป็นเป้าใหญ่ ถ้าภัยคุกคามอยู่ห่างไปไม่กี่ช่วงแขนการถือปืนท่านี้อาจบดบังความสามารถในการเห็นสิ่งต่างๆที่อยู่ต่ำกว่าหัวไหล่ของภัยคุกคามเบื้องหน้าได้ โดยเฉพาะมือทั้งสองข้างของเป้าหมายซึ่งอาจถืออาวุธอยู่

ถ้าเราหรือภัยคุกคามกำลังเคลื่อนที่ก็จะทำให้เราสามารถมองเห็นมือของเป้าหมายได้ว่ามีอาวุธหรือกำลังทำในสิ่งที่อาจเป็นภัยคุกคามเราอยู่หรือไม่ เวลาเร็วสุดที่เราจะมีปฏิกิริยาต่อสิ่งกระตุ้นทางสายตาคือประมาณ 0.25 วินาที ในโลกของความเป็นจริงระยะเวลานี้จะนานขึ้นจากหลายปัจจัยทั้งจากภายในและภายนอกร่างกาย เช่น ความสามารถในการมองเห็นหรือสังเกต สภาพแวดล้อม การเรียนรู้ฝึกฝน สิ่งต่างๆเหล่านี้อาจมีผลต่อการตัดสินใจที่จะกระทำอะไรบางอย่างต่อสิ่งที่เห็นเบื้องหน้า

จุดสำคัญก็คือท่าการถือปืนที่ใช้อยู่ประจำอาจเป็นอุปสรรคในการมองเห็นแขนและมือของภัยคุกคามเบื้องหน้าได้ เป็นการเปิดโอกาสให้เขาทำอันตรายคุณ

ในการแข่งขันยิงปืนระบบต่อสู้ (Action-shooting competitions) บ่อยครั้งที่ผู้แข่งขันยิงเป้าที่ห้ามยิง (No shooting target) เนื่องจากมือทั้งสองของเป้าหมายถูกทาสีหรือแขวนเป้าที่ห้ามยิงไว้โดยเฉพาะเมื่อเป้าถูกแขวนไว้ที่ระดับเอว ทำให้ผู้แข่งขันมองไม่เห็นมันในขณะที่เขาเคลื่อนที่จากเป้าหนึ่งไปอีกเป้าหนึ่งด้วยการถือปืนสองมือในระดับสายตา

ในทางกลับกันถ้าปืนหรือมีดที่เป้าหมายถืออยู่ในระดับเอว ผู้แข่งขันก็อาจมองไม่เห็นมันด้วยเช่นกัน ในโลกของความเป็นจริงสถานการณ์อาจยิ่งเลวร้ายมากขึ้นถ้าภัยคุกคามไม่ได้แสดงอาวุธของเขาให้เห็นตั้งแต่แรก อายุ เพศ การแต่งกายไม่สามารถบ่งบอกได้ว่าบุคคลข้างหน้าเป็นคนดีหรือคนร้าย

วิธีแก้ไขง่ายๆก็คือ เมื่อคุณยกปืนขึ้นให้อยู่ในระดับที่คุณยังสามารถมองเห็น “มือ” ของคนร้ายได้

เรามักถูกฝึกให้ยกปืนขึ้นด้วยสองมือมองชัดที่ศูนย์หน้าเมื่อมีภัยคุกคามเกิดขึ้นทันที แต่ถ้าภัยคุกคามนั้นยังไม่ใช่เหตุที่ต้องยิงในทันทีก็ควรลดปืนลงเล็กน้อยหรือดึงปืนกลับเข้าหาตัวเพื่อสามารถตรวจการณ์หาภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นได้

แต่ถ้าเกิดอุปสรรคบางอย่างทำให้ภัยคุกคามสามารถโจมตีคุณได้ก่อน สิ่งที่ดีที่สุดก็คือ “การเคลื่อนที่อยู่เสมอ” โดยปกติแล้วคนทั่วไปมักถ่อยหลังห่างออกจากภัยคุกคาม แต่สำหรับคนที่ได้รับการฝึกฝนมามักฉากออกทางขวาหรือซ้ายเพื่อให้พ้นแนวปืน เนื่องจากกระสุนปืนสามารถเคลื่อนที่มาถึงคุณได้ก่อนที่คุณจะถ่อยหลังออกพ้นได้ทัน แต่การเคลื่อนที่ไม่ว่าทิศทางใดก็ยังดีกว่ายืนอยู่เฉยๆ

จะเห็นได้ว่าเราควรเรียนรู้การถือปืนอย่างถูกวิธีซึ่งเป็นสิ่งสำคัญแต่ก็ต้องรู้ข้อจำกัดของมันด้วย การเรียนรู้แทคติกต่างๆและทำการฝึกฝนบ่อยๆ จะลดโอกาสความผิดพลาดลง

TAS จะสอนให้คุณยิงปืนในขณะที่คุณเคลื่อนที่หรือเป้าหมายเคลื่อนที่ และการยิงหลังที่กำบังโดยถือหลักว่าเราต้องปลอดภัยก่อน และท้ายที่สุดการประเมินสถานการณ์ การแยกแยะเป้าหมายที่เป็นภัยคุกคาม ถือเป็นหลักสำคัญข้อหนึ่งในการฝึกอบรม

เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาจากบทความ Blocking the view ของ Walt Rauch

Monday, March 2, 2009

Gangsta Style Shooting







Gangsta style shooting

Gangsta style shooting ถ้าแปลตามตัวคงหมายถึงการยิงปืนตามแบบอันธพาลข้างถนน เป็นการยิงโดยถือปืนเอียง 90 องศาจากท่าถือปืนทั่วไปหรือขนานกับพื้น บางครั้งถึงกับถือปืนเอาปากกระบอกปืนอยู่ข้างล่างแล้วเหนี่ยวไกด้วยนิ้วก้อยก็มี ซึ่งเราเห็นบ่อยมากขึ้นในภาพยนตร์จากฮอลลิวูด ไม่ว่าจากในโรงภาพยนตร์หรือในโทรทัศน์ที่แก๊งอันธพาลผิวดำหรือแมกซิกัน ชักปืนขึ้นมาจากเอวแล้วถือปืนด้วยมือเดียวเอียงปืน 90 องศาจี้หัวคู่อริ หรือแม้แต่ยิงในขณะที่ถือปืนลักษณะนี้

ในชีวิตจริงมีการยิงในท่านี้หรือไม่ คำตอบคือ “มี” ส่วนใหญ่แล้วเป็นการยิงจากพวกอันธพาลข้างถนนจริงๆ แต่ก็มีบางศูนย์ฝึกอบรมยิงปืนในสหรัฐหรือแม้แต่ในยุโรปที่ฝึกสอนให้ยิงท่านี้กันอย่างจริงจังโดยเฉพาะเมื่อเป็นการยิงปืนมือเดียวในระยะประชิด (Close quarters attack)

ความนิยมในการยิงปืนท่านี้มีมากขึ้นเรื่อยๆหลังจากที่ภาพยนตร์แนวบู๊ล้างผลาญของฮอลลีวูดได้รับความนิยมไปทั่วโลก และมีการถือปืนหรือยิงในลักษณะนี้ซึ่งดูเท่ห์และแหวกแนวเป็นที่ถูกใจของผู้ชม

ความเป็นมาของการถือปืนลักษณะนี้ไม่แน่ชัดนักว่าใครเป็นคนแรกที่นำมาใช้ แต่มีข้อมูลอยู่ว่าอาจเป็นทหารจีน เนื่องจากพบภาพวาดตั้งแต่สมัย ค.ศ. 1930 ที่ทหารจีนถือปืนที่เอียง 90 องศา แต่ที่แน่ๆคือภาพยนตร์จากฮอลลีวูดเป็นผู้ทำให้ท่านี้ได้รับความนิยมขึ้นมา

ในปี ค.ศ. 1997 Massad Ayoob (คนที่รวบรวมสถิติและวิเคราะห์การยิงปืนต่อสู้ในเหตุการณ์จริงของเจ้าหน้าที่ตำรวจอเมริกันและเขียนเป็นหนังสือจนโด่งดัง) ได้เขียนบทความเกี่ยวกับ Gangsta style shooting ไว้อย่างน่าสนใจ เขาบอกว่าในช่วงแรกๆที่ภาพยนตร์ฮอลลีวูดนำเสนอการถือปืนหรือยิงปืนในท่านี้ ผู้เชียวชาญการยิงปืนหลายคนหัวเราะเยอะการถือและยิงปืนในลักษณะนี้เพราะคิดว่ามันมีประสิทธิภาพด้อยกว่าท่ายิงตามปกติ แต่พบว่ามีศูนย์ฝึกอบรมยิงปืนในยุโรปซึ่งไม่ขอเปิดเผยชื่อกลับเลือกใช้ท่ายิงนี้เป็นหลักในการฝึกสอน โดยให้เหตุผลว่าอเมริกาเป็นสุดยอดของปืนกึ่งอัตโนมัติ และมักเลือกผู้แนะนำทางเทคนิค (Technical advisers) มือดีที่สุดเกี่ยวกับอาวุธปืนมาให้คำแนะนำในการสร้างหนังเพื่อให้มีความสมจริง ดังนั้นต้องมีอะไรบางอย่างที่ทำให้ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้เลือกใช้ท่านี้

นักเรียนยิงปืนมือใหม่หลายคนมักคะยั้นคะยอให้ครูฝึกยิงปืนของเขาให้สอนยิงปืนท่านี้ เนื่องจากเป็นท่าใหม่และเห็นในภาพยนตร์คิดว่าน่าจะดีกว่าท่าเก่าๆที่สอนกันอยู่ทั่วไป นาย Ayoob ได้เคยนำการยิงปืนท่านี้ในสถานการณ์จริงมาวิเคราะห์พบว่า ประสิทธิผลจากการยิงปืนท่านี้ไม่ดีอย่างมาก เขาจึงไม่แนะนำให้ถือหรือยิงปืนท่านี้

นอกจากนั้นพบว่าอัตราการเสียชีวิตจากการยิงปืนของพวกอันธพาลในเขตเมืองลดน้อยลงอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เมื่อมีการใช้ท่านี้มากขึ้นโดยเฉพาะเมื่อมีการยิงจากนักเลงที่ถือปืนกลับด้าน 180 องศา (เอาปากกระบอกปืนลงล่างแล้วเหี่ยวไกด้วยนิ้วก้อย) นักเขียนอิสระ Marian Ayoob ให้คำวิจารณ์ว่า การถือปืนท่านี้ “ดูดี แต่ยิงไม่ดี”

Gangsta style shooting ได้ถูกนำมาวิเคราะห์เชิงวิทยาศาสตร์ที่ National Archive of Criminal Justice Data (NACJD) และตีพิมพ์เมื่อ ต.ค. 2002 พบว่าอัตราการเสียชีวิตจากการยิงปืนด้วยท่านี้ต่ำสุดเมื่อยิงผู้ชายอายุ 17 ถึง 34 ปี ตั้งแต่เดือน ธ.ค. ค.ศ. 1980 เป็นต้นมา จากสถิติดังกล่าวพบว่ากระสุนขนาดเดียวกันเมื่อยิงด้วยท่านี้มีโอกาสพลาดเป้าหมายได้สูง

Ayoob ยังได้ให้ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับอาวุธปืนที่มหาวิทยาลัยมิชิแกนทำการศึกษาท่ายิงเหล่านี้ พบว่าในการยิงระยะใกล้ถ้าใช้ท่ายิงที่เอาปากกระบอกปืนลงล่าง จะลดความแม่นยำลงไปประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าเอียงปืน 90 องศาจากท่าปกติความแม่นยำลดลงประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนั้นความแม่นยำจะยิ่งลดลงมากขึ้นเมื่อเป้าหมายเคลื่อนที่เช่นวิ่งหนี

มีผู้เชียวชาญการยิงปืนบางท่านให้ความเห็นเกี่ยวกับการเอียงปืนยิงว่า การยิงปืนด้วยมือเดียวโดยเฉพาะเมื่อยิงในระยะใกล้อาจเอียงปืนได้บ้างเล็กน้อย (มักน้อยกว่า 15 องศา) เพื่อให้ถือปืนได้ถนัดและเป็นธรรมชาติ มีความมั่นคงในการถือปืน บางหลักสูตรยิงปืนของสหรัฐอาจเอียงปืนถึง 45 องศา แต่ไม่ควรถือปืนเอียงจนถึง 90 องศาจากท่าปกติ

การยิงปืนด้วยมือเดียวในระยะประชิด TAS จะสอนยิงในท่าซึ่งได้รับการยอมรับว่ามีประสิทธิภาพสูง อีกทั้งแทคติกการยิงปืนอีกมากที่สร้างความได้เปรียบให้กับคุณ

สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”

เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจาก Gangsta Shooting Method, New gangsta trend significantly reduces inner city shooting fatalities

Newcastle limousines