Friday, July 30, 2010

A Muzzle Up or Down Ready Position

A Muzzle Up or Down Ready Position



ท่าเตรียมพร้อมการใช้อาวุธปืนโดยการถือปืนด้วยสองมือให้ปากกระบอกปืนชี้ขึ้นด้านบน บางครั้งเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า Sabrina position (ได้ชื่อมาจากตัวละครดังในภาพยนต์ยอดนิยมในอดีตเรื่อง Charlie’s angels) ท่าถือปืนด้วยมือเดียวในลักษณะเดียวกัน อาจเรียกว่า Half Sabrina position ทั้งสองแบบเห็นได้บ่อยในภาพยนต์แนวบู๊ล้างผลานของ Hollywood เนื่องจากสามารถเห็นปืนและใบหน้าของนักแสดงได้อย่างชัดเจน


แล้วท่านี้มีการใช้กันในชีวิตจริงหรือไม่ คำตอบคือ มี.....


เป็นท่าที่ได้รับความนิยมน้อยกว่าการชี้ปากกระบอกปืนลงล่าง เช่น Low ready position และ Position Sul (อ่านเพิ่มเติมได้จากบทความเรื่อง Position Sul ของเดือน February 2009) มีศูนย์ฝึกอบรมไม่มากนักที่สอนให้ถือปืนโดยปากกระบอกปืนชี้ขึ้นเช่นนี้ โดยให้เหตุผลสนับสนุน อาทิเช่น ท่าถือปืนให้ปากกระบอกชี้ขึ้นนิยมใช้กับปืนยาวมากกว่า ซึ่งเรียกการถือแบบนี้ว่า High port (ถือปืนเฉียงปากกระบอกปืนชี้ขึ้น โดยมือซ้ายอยู่ที่ด้ามจับบริเวณลำกล้องปืน พานท้ายปืนเฉียงลำตัวมาทางขวาล่าง มือขวาอยู่ที่คอพานท้ายปืนนิ้วชี้อยู่นอกโกรงไกปืน) เมื่อนำมาใช้กับปืนสั้นก็เท่ากับฝึกอย่างเดียวแต่ใช้ได้กับปืนทุกชนิด นอกจากนั้นเป็นท่าที่ง่ายแก้การแก้ไขเหตุติดขัดของปืน สะดวกในการเปลี่ยนซองกระสุน ไม่ต้องละสายตาไปจากเป้าหมายเบื้องหน้ามากนัก แนวปืนปลอดภัยเช่นกัน สามารถถือปืนได้นาน หากอยู่ในอาคารเมื่อปืนเกิดลั่นขึ้นโดยไม่ตั้งใจกระสุนจะทะลุผ่านฝ่าเพดานซึ่งอาจอันตรายน้อยกว่ากระสุนที่ตกกระทบพื้นแข็งแล้วสะท้อนไปถูกผู้บริสุทธิ สะดวกในการเคลื่อนที่อย่างรวดเร็ว เช่น วิ่ง เป็นต้น

แต่สำหรับผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการถือปืนสั้นแบบนี้อาจโต้แย่งด้วยเหตุผลหลายประการ อาทิเช่น ท่านี้แนวปืนชี้เข้าใกล้ศีรษะมากเป็นที่น่าหวาดเสียว หากกระสุนลั่นออกไปโดยไม่ตั้งใจมีโอกาสถูกส่วนสำคัญของร่างกายตัวเราเองหรือผู้อื่นมากกว่าการถือปืนชี้ลงล่าง ตัวปืนที่ถืออยู่ระดับสายตาจะบดบังมุมมองบางส่วน อีกทั้งเป็นการง่ายในการถูกคนร้ายแย่งปืนโดยการจับหันปากกระบอกปืนเข้าหาศีรษะของผู้ถือปืนเองและไม่อยู่ในท่าที่จะออกแรงต่อต้านได้ดีนัก เป็นต้น


สำหรับผู้ที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับท่าถือปืนแบบนี้อาจมีข้อโต้แย้งอื่นๆอีกมาก แต่โดยรวมแล้วท่าถือปืนที่นิยมมากที่สุดก็ยังคงเป็น Low ready position (ปืนชี้ลงล่างไปด้านหน้าประมาณ 45 องศาหรือเฉียงออกด้านข้างเล็กน้อย) ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยของแนวปืนเป็นสำคัญ ในกรณีที่ต้องถือปืนนานๆอาจหดปืนเข้ามาชิดกับหน้าอกหรือลิ้นปี่ได้ ทำให้สามารถถือปืนได้นานกว่าการเหยียดแขนตึงทั้งสองข้างยื่นออกไปข้างหน้า โดยแนวปืนจะต้องไม่ชี้หาคู่หูในทีมหรือผู้บริสุทธิรอบข้าง


ท่าเตรียมพร้อมเหล่านี้มักจะใช้ในกรณีที่คิดว่าภัยคุกคามยังอยู่อีกไกล แต่หากมีความเป็นไปได้มากที่จะมีคนร้ายปรากฏขึ้นมาในระยะใกล้ได้ทุกเวลา เรามักจะเปลี่ยนไปใช้ท่า High ready position (แนวปืนอยู่ระดับสายตาหรือลดลงมาเล็กน้อยเพื่อไม่ให้ปืนบดบังมุมมองมากนักและพร้อมที่จะยิงได้ในเวลาอันรวดเร็ว) และควรเป็นผู้ที่ฝึกยิงปืนมาอย่างดี เนื่องจากก่อนยิงทุกครั้งต้องแยกแยะเป้าหมายให้ได้ว่าเป็นภัยคุกคามหรือไม่ ท่า High ready position นั้นพร้อมที่จะยิงเป้าหมายซึ่งปรากฎออกมาได้เสมอ หากผู้ถือปืนไม่ได้ฝึกมาอย่างดีอาจตกใจเมื่อมีคนโผล่ออกมาอย่างกระทันหัน ทำให้ปืนลั่นออกไปถูกผู้บริสุทธิก่อนที่จะทำการแยกแยะ แต่หากถือปืนในท่า Low ready position ถ้าปืนลั่นออกไปก็อาจปลอดภัยกว่า High ready position


ไม่ว่าจะเป็นท่า Low ready หรือ Sabrina position ต่างก็มีทั้งข้อดีและข้อจำกัดด้วยกันทั้งสิ้น การเรียนรู้ข้อดีและข้อจำกัดของแต่ละท่า จะนำไปสู่การปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์


TAS สอนท่าเตรียมพร้อมยิงแบบ Low ready position ซึ่งนิยมใช้กันทั่วโลก


สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”


เรียบเรียงโดย Batman

Friday, July 23, 2010

Cover and Concealment

Cover and Concealment



การยิงต่อสู้ด้วยอาวุธปืน สิ่งแรกที่จะต้องทำคือ การหาที่ปลอดภัย “กำบัง” ตัวจากคมกระสุนของคนร้าย เราจึงมักแนะนำให้ก้มตัวต่ำแล้วเคลื่อนที่เข้าหาที่กำบังโดยเร็วที่สุด ในบางครั้งเราอาจต้องการเพียงที่หลบซ่อนเพื่ออำพรางไม่ให้คนร้ายเห็น ซึ่งที่กำบังและที่หลบซ่อนนั้นมีความหมายต่างกัน


ที่กำบัง (Cover) คือ สิ่งที่กั้นกลางระหว่างเรากับคนร้ายที่มีอาวุธ โดยสิ่งนี้ต้องสามารถหยุดยั้งอาวุธของคนร้ายได้ ในกรณีของอาวุธปืนนั้นเราควรเลือกที่กำบังซึ่งแข็งแรงพอที่จะหยุดยั้งกระสุนปืนได้ โดยประเมินจากอาวุธของคนร้ายว่าเป็นปืนที่มีอำนาจทะลุทะลวงมากน้อยเพียงใด (โดยทั่วไป ปืนไรเฟิ่ลความเร็วสูงจะมีอำนาจทะลุทะลวงมากกว่าปืนลูกซองและปืนสั้น ตามลำดับ) และถ้าเป็นปืนสั้นที่ใช้กระสุนแม็กนั่มขนาด .357 นิ้ว จะมีอำนาจทะลุทะลวงมากกว่าปืนขนาด 9 มม.และ .38 นิ้ว

การคิดว่าเราหลบอยู่หลังผนังห้องแล้วปลอดภัยจากอาวุธปืนนั้นอาจไม่จริงเสมอไป ถ้าผนังห้องนั้นทำจากไม้อัด อิฐมวลเบาหรืออิฐบล็อก อาจไม่สามารถหยุดกระสุนปืนบางประเภทได้ แต่ถ้าเป็นอิฐมอญจะให้ความแข็งแรงมากกว่า ดังนั้นการที่เรารู้ว่าบ้านของเราหรือห้องต่างๆนั้นสร้างด้วยวัสดุอะไร จะช่วยให้เราเลือกที่กำบังได้อย่างเหมาะสม


ที่หลบซ่อน (Concealment) คือ สถานที่หรือสิ่งปกปิดซึ่งสามารถอำพรางตัวเราไม่ให้คนร้ายเห็นหรือรู้ว่าเราอยู่ที่ใด ทำให้เรารอดพ้นจากการตกเป็นเป้าหมายของคนร้าย การหลบซ่อนนั้นต้องอาศัยความรู้และการสังเกตุ อาศัยสิ่งแวดล้อมรอบตัวมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นความรู้เกี่ยวกับแสงและเงา การตัดกันของสีของสิ่งแวดล้อมและตัวเรา รูปร่างของวัตถุที่นำมาใช้เพื่อหลบซ่อน เสียง เป็นต้น อาทิเช่น ถ้าเราก้มหลบอยู่หลังพุ่มไม้ไม่ให้คนร้ายเห็น แต่พุ่มไม้นั้นไม่สามารถหยุดยั้งกระสุนของคนร้ายได้ พุ่มไม้จึงอาจเป็นที่หลบซ่อนที่ดีแต่เป็นที่กำบังที่แย่


บางครั้ง “ที่กำบัง” อาจมีคุณสมบัติของ “ที่หลบซ่อน” ในขณะเดียวกันได้ซึ่งถือว่าดีมาก การเลือกที่กำบังหรือที่หลบซ่อนให้เหมาะสมกับสถานการณ์จึงเป็นสิ่งสำคัญ เราต้องแยกแยะได้ว่าสิ่งใดสามารถนำมาใช้เป็นที่กำบังได้และสถานที่ใดสามารถนำมาใช้เป็นที่หลบซ่อนได้ แล้วเลือกใช้ให้เกิดประโยชน์กับเรามากที่สุด


แม้แต่รถยนต์ซึ่งทำจากเหล็กก็ไม่ได้มีความแข็งแรงเท่ากันตลอดทั้งคัน ตำแหน่งของการใช้รถเพื่อกำบังกระสุนจากคนร้ายที่ดีที่สุด คือ เมื่อรถหันด้านข้างเข้าหาคนร้ายเราควรนั่งอยู่หลังล้อหน้าซึ่งจะมีห้องเครื่องช่วยกันกระสุนให้อีกชั้นหนึ่ง


เมื่อกระสุนกระทบกับวัตถุแข็งจะมีการสะท้อน เราเรียกว่า Ricochet ซึ่งทิศทางของการสะท้อนนั้นยากแก่การคาดเดา แต่พบว่าถ้าเราอยู่ชิดกับที่กำบังมากเกินไปอาจได้รับอันตรายจากกระสุนปืนที่สะท้อนออกมาจากที่กำบังได้ นอกจากนั้นถ้ากระสุนตกกระทบที่กำบังซึ่งแบนราบ เช่น กำแพง ในมุมที่เฉียงมากจะมีการสะท้อนออกไปในแนวระนาบเดียวกับพื้นผิวของที่กำบังนั้น แต่ส่วนใหญ่มักห่างจากพื้นผิวไม่เกิน 6 นิ้ว ดังนั้นเราจึงแนะนำให้อยู่หลังห่างจากที่กำบังประมาณหนึ่งช่วงแขนและในขณะเคลื่อนที่ผ่านกำแพงที่แบนราบควรอยู่ห่างจากกำแพงอย่างน้อย 1 ฟุตเพื่อป้องกันกระสุนที่อาจสะท้อนออกมาจากวัตถุแข็งเหล่านี้


การเลือกที่กำบังหรือที่หลบซ่อนอย่างเหมาะสมอาจหมายถึงความเป็นและความตายของเราทีเดียว ในการหลบหนีออกจากพื้นที่สังหาร (Killing field) เราต้องรู้ว่าจะเคลื่อนที่ออกจากที่กำบังอย่างไรและเมื่อไร รู้จักใช้สิ่งแวดล้อมรอบตัวให้เป็นประโยชน์ ทักษะเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้และฝึกฝน


TAS สอนการยิงปืนหลังที่กำบังอย่างถูกต้องและการประเมินสถานการณ์


สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”


เรียบเรียงโดย Batman

Friday, July 16, 2010

Trigger Control

Trigger Control



“ในการยิงต่อสู้นั้น การควบคุมอาวุธอยู่ที่ปลายนิ้วของคุณ” เป็นคำกล่าวที่แสดงถึงความสำคัญของ การควบคุมการเหนี่ยวไกปืน (Trigger control)


ความแม่นยำในการยิงปืนขึ้นกับความสามารถในการจัดให้ลำกล้องปืนจี้ไปยังเป้าหมายที่เราต้องการยิง ซึ่งต้องอาศัยหลายปัจจัยตั้งแต่การจับปืน ถือปืน ท่ายิง การเล็ง และการเหนี่ยวไกที่ดี


ในกรณีของปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติขณะทำการยิง เมื่อปลายนิ้วเพิ่มน้ำหนักกดไปยังไกปืนในการยิงแบบ Double action ทำให้ไกถอยหลัง นกสับจะถูกง้างออกเช่นกัน ซึ่งไกปืนจะถอยหลังไประยะหนึ่งจนถึงจุดหนึ่งซึ่งนกสับจะไม่ถอยหลังเพิ่ม หากเราเพิ่มแรงกดไปที่ไกปืนมากขึ้นอีกเล็กน้อยจะทำให้นกสับถูกปลดส่งให้มันเคลื่อนที่มาข้างหน้าชิดโครงปืนกระแทกเข็มแทงชนวนพุ่งไปกระทบจานท้ายปลอกกระสุนส่งหัวกระสุนผ่านลำกล้องออกไป เราเรียกจุดซึ่งเมื่อเราเพิ่มแรงกดไปที่ไกปืนอีกเล็กน้อยแล้วทำให้นกสับเคลื่อนมาชิดโครงปืนนี้ว่า Breaking point


เมื่อกระสุนผ่านลำกล้องออกไปแล้ว จะมีการเคลื่อนของสไลด์ถอยหลังเพื่อคัดปลอกกระสุนออกและขึ้นนกสับให้ (Cocking) เมื่อสไลด์เคลื่อนกลับมาข้างหน้าจะเป็นการบรรจุกระสุนจากซองกระสุนเข้าสู่รังเพลิงเตรียมพร้อมที่จะยิงนัดต่อไป ในช่วงนี้ปลายนิ้วได้กดไกเลยจุด Breaking point ไปแล้ว เราต้องค่อยๆคลายนิ้วที่กดไกเคลื่อนไปข้างหน้า เรียกว่า การ Follow through เราไม่จำเป็นต้องถอนไกให้เดินหน้าจนสุด เพราะเมื่อไกปืนเคลื่อนมาถึงจุดหนึ่ง เราเรียกว่า Reset point การทำงานของปืนพร้อมที่จะทำการยิงนัดต่อได้แล้ว หากเรากดไกเข้ามาอีกก็จะทำให้กระสุนลั่นออกไปได้ (ถ้าเป็นปืนแบบ 1911 หรือ Glock เราปล่อยให้ไกเดินหน้ากลับมาแค่ 0.25 นิ้วก็จะเข้าสู่การ Reset ไกและพร้อมที่จะยิงนัดต่อไปได้)


ปืนที่เป็นระบบ Double / single action (ยิงได้ทั้งแบบ Double และ Single action) ในการยิงนัดแรกถ้าเราไม่ได้ขึ้นนกสับไว้ก่อน (Cocking) การลากไกจะต้องใช้ระยะทางยาวและต้องใช้แรงกดไกมากในนัดแรก หลังจากยิงไปแล้วระบบจะเข้าสู่การยิงแบบ Single action (เพราะสไลด์ถอยหลังจะทำการขึ้นนกสับให้เอง) และไกปืนจะถอยหลังมาใกล้ด้ามปืนมากกว่าการยิงแบบ Double action ในการยิงนัดต่อไปเราจะออกแรงกดไกเพียงเล็กน้อยกระสุนก็จะลั่นออกไป (น้ำหนักไกในการยิงแบบ Single action จะเบากว่า Double action) ดังนั้นในการยิงนัดแรกในระบบ Double action นั้นเราต้องลากไกยาวและน้ำหนักไกจะมากกว่าการยิงนัดถัดไป รวมทั้งระยะการลากไกก็สั้นลงด้วย


ปืนที่เป็น Double action only ต้องลากไกยาวเท่ากันทุกนัด น้ำหนักไกทุกนัดจะเท่ากัน ส่วนปืนที่เป็น Single action only ก็ต้องขึ้นนกสับก่อนทุกครั้งจึงจะยิงได้และน้ำหนักไกทุกนัดจะเท่ากันตลอด (จะเบากว่าปืนที่ยิง Double action only)


ดังนั้นเราต้องรู้ว่าปืนสั้นที่เราใช้อยู่นี้มีระบบการทำงานแบบใด และน้ำหนักไกมากน้อยแค่ไหน


ในการยิงต่อสู้หรือแข่งขันบางประเภท สำหรับผู้ที่ฝึกยิงมามากจะสามารถควบคุมการเคลื่อนที่ของนิ้วชี้ในการเหนี่ยวไกปืนให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น โดยอาศัยการถอนไกมาแค่ระยะ Reset ไกเท่านั้นแล้วทำการยิงนัดต่อไปได้ เรียกกระบวนการนี้ว่า Trigger control


ประโยชน์ที่ได้ อาทิเช่น สามารถทำการยิงซ้ำได้เร็ว ลดโอกาสที่จะต้องแก้ไขการกำด้ามปืนหรือการเล็งใหม่ในขณะที่นิ้วชี้คลายไกมาจนสุด (บางคนเมื่อคลายไกเดินหน้ามาจนสุดจะทำให้การกำด้ามปืนและศูนย์ปืนคลาดเคลื่อนไปเล็กน้อย เมื่อจะยิงนัดต่อไปอาจต้องขยับมือเล็กน้อยเพื่อกำด้ามให้ดีขึ้นหรือต้องเล็งเป้ากันใหม่จึงเสียเวลามากขึ้น)


กุญแจสำคัญที่สุดในการควบคุมการเหนี่ยวไก (Trigger control) ก็คือ สมาธิ เราต้องรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ ต้องทำการฝึกฝนจนชำนาญและฝึกต่อเนื่องเป็นระยะๆเพื่อให้คงไว้ซึ่งทักษะนี้ตลอดเวลา เพราะการยิงแบบนี้ในการต่อสู้จริงเราคงไม่สามารถมานั่งตั้งอกตั้งใจค่อยๆถอนไกปืนจนถึงระยะ Reset แล้วทำการยิงนัดต่อไป แต่ต้องทำได้อย่างเป็นธรรมชาติ ให้อยู่ในจิตใต้สำนึกจึงจะเป็นประโยชน์ในการใช้งานจริง


การยิงแบบ Trigger control นั้นมักต้องฝึกกับปืนกระบอกเดิมจนชำนาญเพื่อให้รู้ระยะ Reset ของไกปืนและชินกับน้ำหนักไกดังกล่าว เมื่อเปลี่ยนปืนยิงก็ต้องหาระยะ Reset ไกกันใหม่ และหากคลายไกปืนออกมายังไม่ถึงระยะ Reset แล้วทำการยิงจะทำให้ปืนไม่ลั่น หากเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่มีชีวิตเป็นเดิมพันคงเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นเป็นแน่ ดังนั้นถ้าเราต้องยิงปืนหลายแบบ หลายกระบอก หรือปืนที่เราไม่คุ้นเคย การคลายไกปืนออกมาจนสุดแล้วค่อยทำการยิงนัดต่อไปจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าเพราะให้ความแน่นอนในการทำงานของปืน แต่ถ้าเราใช้ปืนเพียงไม่กี่กระบอกและสามารถฝึกฝนจนเกิดทักษะแล้ว การยิงแบบ Trigger control ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจและมีประโยชน์มากในการยิงต่อสู้ป้องกันตัว


สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”


เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Gunfight essential: Trigger Control ของ Dave Spaulding

Friday, July 9, 2010

Open New Handgun Box

Open New Handgun Box



นาย Dave Anderson เป็นนักทดสอบปืนที่มีชื่อเสียงเพื่อเขียนบทความลงวารสารเกี่ยวกับอาวุธปืน ในแต่ละปีต้องทำการทดสอบปืนจำนวนมาก เขาได้ให้คำแนะนำที่น่าสนใจเกี่ยวกับการดูแลปืนซึ่งซื้อมาใหม่ชนิดแกะกล่อง


อย่างแรกคงต้องตรวจสภาพของปืนโดยทั่วๆไปก่อน ดูชิ้นส่วนต่างๆ ตามที่คู่มือซึ่งมากับปืนได้แนะนำไว้ และดูว่ามีครบถ้วนหรือไม่


ปืนบางกระบอกทางบริษัททาน้ำมันปืนมาให้อย่างชุ่มโชก บางบริษัทส่งมอบปืนแบบชนิดแห้งสนิท จึงควรเช็ดทำความสะอาดปืนภายนอกด้วยผ้าชุบน้ำมันปืนเพื่อเช็ดน้ำมันส่วนเกินหรือพอให้มีน้ำมันเคลือบอยู่ที่ตัวปืนบ้าง ถอดปืนออกเป็นชิ้นส่วนเหมือนตอนทำความสะอาดปืนปกติ แล้วทำความสะอาดลำกล้องปืนเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีสิ่งแปลกปลอมตกหล่นอยู่ในลำกล้องปืน ใส่ไข (Gun grease) หล่อลื่นกลไกที่ปืนก่อนที่จะประกอบปืนกลับเข้าไป


หากยิงปืนกระบอกนั้นไปมากๆ เช่น ยิงไป 250 นัดหรือกว่านั้น หลังทำความสะอาดปืนเสร็จเขามักจะหยอดน้ำมันหล่อลื่น (Lube) ที่กลไกโดยเฉพาะปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติแบบ 1911 ซึ่งปืนแต่ละยี่ห้ออาจมีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันบ้าง อาจหาข้อมูลได้จากอินเตอร์เน็ทเพื่อดูว่าควรหยอดน้ำมันที่ตำแหน่งใดบ้าง โดยหลักการแล้วเขาจะหยอดน้ำมันหล่อลื่นในตำแหน่งที่มีการเคลื่อนที่มากๆ เช่น ร่องที่ตัวปืนและสไลด์ซึ่งเคลื่อนที่เสียดสีกันตลอด ร่องหน่วงเวลาที่สไลด์ (Locking lugs) เป็นต้น


สำหรับปืนสั้นกึ่งอัตโนมัตแล้วควรมีซองกระสุนสำรองอย่างน้อยหนึ่งซอง แต่ถ้ามีสองซองได้ก็จะดีมาก


ที่สนามยิงปืนเขาจะเริ่มยิงด้วยกระสุน Full Metal Jacket (FMJ) round-nose bullets เพราะหลังจากออกจากโรงงานมาอาจมีชิ่นส่วนของปืนซึ่งมีความฟืดมากอยู่ จึงควรเริ่มยิงจากกระสุนมาตรฐานก่อนเพื่อประเมินการทำงานของกลไกปืน และทำการยิงด้วยท่ายิงที่มั่นคง แขนตึงทั้งสองข้าง เพราะท่ายิงแบบอื่นอาจทำให้ปืนเกิดเหตุติดขัดได้


หากยิงไป 50 นัดแล้วยังไม่พบความผิดปกติในตัวปืน ก็ให้เปลี่ยนไปยิงกระสุนแบบอื่นได้ แต่ถ้าปืนเกิดเหตุติดขัดก็ยังคงต้องยิงด้วยกระสุน FMJ ไปก่อน เมื่อครบ 200 นัดแล้วยังพบว่าปืนมีปัญหาอยู่ก็ให้ส่งปืนคืนบริษัทกลับไป (ที่อเมริกาหากซื้อสินค้าแล้วไม่พอใจสินค้าสามารถส่งกลับคืนให้บริษัทได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่สำหรับเมืองไทยคงไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ เนื่องจากกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของเราไม่เข้มแข็งเหมือนอเมริกา)


สำหรับนาย Dave Anderson ถ้าเป็นปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติแบบ 1911 ซึ่งเขาคุ้นเคยแล้ว เขามักจะหาสาเหตุของความผิดปกติและทำการแก้ไขเองได้ แต่สำหรับบุคคลทั่วไปซึ่งไม่ใช้ผู้เชี่ยวชาญคงต้องส่งคืนบริษัทเพื่อแลกกับปืนที่มีคุณถาพดีกระบอกใหม่แทน (สำหรับเมืองไทยคงทำได้แค่ให้ช่างปืนช่วยดูและทำการแก้ไขให้)


ในช่วงไม่กี่ปีหลังนี้ปืนส่วนใหญ่ที่เขาทำการทดสอบจะไม่พบความผิดปกติในการทำงาน เนื่องจากปืนถูกทำจากโรงงานมาอย่างดีมากขึ้น และเขาทำตามวิธีที่ได้กล่าวไปข้างต้น


ปืนใช้งานกระบอกใหม่ควรทำตามที่นาย Dave Anderson แนะนำ เพื่อตรวจสอบการทำงานของปืนในช่วงแรก หากการทำงานของปืนไม่มีปัญหาก็ควรทดสอบยิงด้วยกระสุนแบบที่เราจะนำมาใช้งานจริงเพื่อดูว่าปืนมีปัญหาเกิดขึ้นหรือไม่ ควรเปลี่ยนสปริง (Recoil spring) ตามที่คู่มือแนะนำ เพื่อให้กลไกปืนสามารถทำงานได้อย่างน่าเชื่อถือตลอดไป


สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”


เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Reliability Resolutions ของ Dave Anderson

Friday, July 2, 2010

Tactical sighting-in

Tactical sighting-in



ในการตั้งศูนย์ปืนนั้นมีหลายวิธี ตั้งแต่การใช้เครื่องมือยึดจับปืนอยู่กับที่แล้วทำการยิง หรือใช้ถุงทรายรองปืนหรือแท่นรองปืนในการยิงตั้งศูนย์ จนถึงการถือปืนยิงตามปกติ ในการยิงปืนแข่งขันเอาคะแนนความแม่นยำนั้น การตั้งศูนย์ปืนให้เที่ยงตรงมีความสำคัญอย่างมากจึงต้องใช้ความละเอียดอ่อนในการตั้งศูนย์ปืนเป็นพิเศษ


โดยทั่วไปแล้วการจัดศูนย์ปืนในการแข่งขันทั่วไปมักตั้งศูนย์ปืนให้เที่ยงตรงในระยะใดระยะหนึ่งที่จะทำการแข่งขัน เช่น ถ้าแข่งยิงปืนระยะ 10 เมตร ก็ต้องจัดศูนย์ปืนให้เที่ยงตรงที่ระยะ 10 เมตร เมื่อจะแข่งที่ระยะ 15 เมตร ก็ต้องจัดศูนย์ปืนกันใหม่ เนื่องจากการแข่งขันมักใช้เป้าวงกลมดำ (Bulleye target) เพื่อความแม่นยำและการให้คะแนน เวลาเล็งจึงมักเล็งศูนย์ปืนแบบนั่งแท่นเป็นส่วนใหญ่


แต่สำหรับปืนต่อสู้นั้นเราไม่ได้ยิงในระยะไกลมากๆ และไม่ได้ยิงเป้าวงกลม อีกทั้งไม่ได้ต้องการให้ยิงเข้าจุด X ทุกนัด ขอเพียงยิงให้อยู่ใน “บริเวณที่ต้องการ” ก็เป็นอันใช้ได้ เนื่องจากการยิงต้องทำอย่างรวดเร็วและเป้าที่ใช้มักเป็นเป้าหุ่นคน ดังนั้นการจัดศูนย์จึงนิยมแบบ “ศูนย์จี้” เป็นส่วนใหญ่ เมื่อเราต้องการจะยิงตำแหน่งใดก็เพียงจัดแนวศูนย์หลัง ศูนย์หน้า แล้วจี้ไปยังตำแหน่งนั้นเพื่อทำการยิง

การที่จะสามารถส่งกระสุนไปยังตำแหน่งที่เราต้องการได้นั้น ก็ยังต้องมีการตั้งศูนย์ปืนให้มีความเที่ยงตรงในระดับหนึ่งอยู่ดี โดยมีหลักการดังนี้


ในการจัดศูนย์ปืนนั้นจะใช้เป้าวงกลมดำเนื่องจากทำการเล็งและดูกลุ่มกระสุนได้ง่าย อาศัยหลักการที่ว่า ปืนของเราจะต้องใช้งานในลักษณะใดก็ให้ตั้งศูนย์ในแบบเดียวกับที่จะใช้งานจริง จึงไม่ใช้อุปกรณ์ช่วยในการวางปืน (การตั้งศูนย์ปืนโดยใช้ถุงทรายช่วยในการวางปืน อาจทำให้กลุ่มกระสุนที่ได้แตกต่างจากการยิงปืนโดยไม่ใช้ถุงทรายช่วย)

เนื่องจากการยิงระบบต่อสู้นั้นมักยิงในระยะใกล้ไม่เกิน 7 หลา ดังนั้นการจัดศูนย์จึงทำที่ระยะ 7 หลา ถือปืนด้วยสองมือ เปิดตาทั้งสองข้างขณะเล็งยิง จัดศูนย์แบบศูนย์จี้ ไม่ต้องรีบร้อนในการยิง ยิงเป็นชุดๆละ 3 ถึง 5 นัด เพื่อดูกลุ่มกระสุน


หากการถือปืนและการเหนี่ยวไกทำได้ดีจะได้กลุ่มกระสุนที่แคบและเล็ก ซึ่งจะช่วยในการปรับศูนย์ปืนได้ แต่หากกลุ่มกระสุนกระจายมากก็คงต้องฝึกการถือและเหนี่ยวไกให้ดีก่อน


ปืนระบบต่อสู้นั้นศูนย์ปืนมีทั้งแบบ ศูนย์ตาย (ปรับไม่ได้) ศูนย์กึ่งปรับได้ (ปรับได้เล็กน้อย) ไม่ว่าจะเป็นศูนย์หน้าหรือศูนย์หลัง ในการปรับตั้งศูนย์ปืนนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่า ศูนย์ปืนกระบอกนั้นปรับได้มากน้อยแค่ไหน


ถ้าศูนย์หลังปรับได้บ้างก็ใช้หลักการดังนี้


- ให้ปรับศูนย์ปืนไปยัง “ทิศทางซึ่งต้องการ” ให้กลุ่มกระสุนย้ายไปอยู่ เช่น เมื่อยิงไปแล้วกลุ่มกระสุนอยู่ทางซ้ายของวงกลมดำ ซึ่งเราต้องการให้กลุ่มกระสุนเลื่อนมาทางขวาเล็กน้อยเพื่อให้เข้าตรงกลางวงกลมดำ เราก็ปรับศูนย์หลังไปทางขวาเล็กน้อยแล้วทดลองยิงใหม่เพื่อดูกลุ่มกระสุน ทำการปรับทีละเล็กละน้อยจนกว่าจะได้ตำแหน่งที่ต้องการ ถ้าศูนย์หลังสามารถปรับสูง-ต่ำได้ด้วยก็จะสามารถปรับแนวกลุ่มกระสุนให้สูงหรือต่ำได้ด้วยหลักการเดียวกัน


ถ้าศูนย์หน้าปรับได้บ้างก็ใช้หลักการดังนี้


- ให้ปรับศูนย์ปืนไปยัง “ทิศทางตรงข้าม” กับที่ต้องการให้กลุ่มกระสุนย้ายไปอยู่ (จะกลับทิศทางกับการปรับศูนย์หลัง) เช่น เมื่อยิงไปแล้วกลุ่มกระสุนอยู่ทางซ้ายของวงกลมดำ ซึ่งเราต้องการให้กลุ่มกระสุนเลื่อนมาทางขวาเล็กน้อยเพื่อให้เข้าตรงกลางวงกลมดำ เราก็ปรับศูนย์หน้าไปทางซ้ายเล็กน้อยแล้วทดลองยิงใหม่เพื่อดูกลุ่มกระสุน ถ้าศูนย์หน้าสามารถปรับสูง-ต่ำได้ด้วยก็จะสามารถปรับแนวกลุ่มกระสุนให้สูงหรือต่ำได้ด้วยหลักการเดียวกัน (ปกติศูนย์หน้าจะปรับสูง-ต่ำไม่ได้ ยกเว้น ปืนไรเฟิ่ล ปืนกล)


โดยส่วนใหญ่นิยมปรับศูนย์หลังมากกว่าศูนย์หน้าเนื่องจากทำได้ง่ายกว่า นอกเสียจากปรับศูนย์หลังจนเต็มที่แล้วก็ยังแก้กลุ่มกระสุนไม่ได้ก็คงต้องมาปรับศูนย์หน้าด้วย


การตั้งศูนย์ปืนควรทำเป็นระยะๆ เพราะเมื่อยิงไปจำนวนหนึ่งหรือกระสุนที่ใช้มีแรงถีบมากๆ จะทำให้ศูนย์ปืนคลาดเคลื่อนไปทำให้ความแม่นยำลดลง


การตั้งศูนย์ปืนด้วยตนเองทำให้เรารู้ข้อจำกัดของปืนและเป็นการฝึกถือและเหนี่ยวไกปืน ซึ่งเป็นพื้นฐานของการยิงปืนทุกระบบ


สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”


เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Sighting-in secrets ของ Mike “Duke” Venturino

Newcastle limousines