Saturday, September 25, 2010

กราดยิง เจตนาฆ่า

กราดยิง เจตนาฆ่า


ข่าวนักเรียนช่างกลกราดยิงใส่รถเมล์เมื่อเห็นคู่อริอยู่ในรถคันดังกล่าวโด่งดังนานเป็นอาทิตย์ การกราดยิงครั้งนั้นทำให้เด็กนักเรียนวัย 9 ปีที่นั่งอยู่กับพี่ชายตายคารถ ส่วนคู่อริรอดชีวิตไปได้ นอกจากนั้นยังมีผู้บาดเจ็บจากกระสุนปืนไทยประดิษฐ์อีกจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นผู้โดยสารรถเมล์ คนขับรถให้สัมภาษณ์ว่าส่วนใหญ่จะเลี่ยงไม่จอดป้ายที่มีเด็กช่างกลยืนรวมกลุ่มกันเพราะไม่อยากเจอเรื่องร้ายๆแบบนี้ เนื้อหาข่าวอย่างนี้บอกเตือนให้รู้ว่าภาพนักเรียนช่างกลโดยรวมไม่ค่อยดีนักในสายตาชาวบ้านว่า เป็นกลุ่มชอบหาเรื่อง รังแกคนอื่น ก่อความวุ่นวายให้สังคม ทั้งที่มีแค่บางกลุ่มที่เป็นวัยรุ่นนอกกรอบ นอกวินัย ไม่เคารพกฎระเบียบของสังคม และทำลายอนาคตของตัวเองจากคำสอนฝังหัวของรุ่นพี่ไม่ดีและจิตกร่างเมื่อมีปืนที่สร้างไว้ใช้เองได้


สายตากฎหมายมองปืนเป็นอาวุธอันตรายสูงสุด จึงมีการควบคุมทั้งการครอบครองและการพกพาอย่างเข้มงวดโดยต้องมีทะเบียนปืนทั้งสองแบบ นอกจากนั้นยังกำหนดชนิดของปืนที่ประชาชนมีได้อย่างจำกัด บทลงโทษหนักสำหรับผู้ทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับปืน เมื่อนำปืนไปฆ่าหรือทำร้ายคนอื่น ก็จะมีกฎหมายอาญาลงโทษอย่างหนัก กรณีกราดยิงนักเรียนคู่อริในรถเมล์ด้วยปืนไทยประดิษฐ์ เป็นอีกบทเรียนที่เกิดซ้ำซากมานานเมื่อพิจารณาจากคำพูดของผู้ยิงที่บอกว่า ไม่ได้ตั้งใจหรือมีเจตนายิงเด็กชายวัย 9 ปี แต่จะยิงคู่อริเท่านั้น คำแก้ตัวนี้ไม่ได้ช่วยลดหย่อนโทษฆ่าผู้อื่นของเขาได้ แต่ชี้ว่าเขามีความเข้าใจผิดพลาดเกี่ยวกับข้ออ้างว่าใช้ปืนกราดยิงใส่รถเมล์เพื่อสังหารคู่อริเท่านั้น


เจตนาในกฎหมายไทยหรือหลักสากลจะมีสองแบบ คือ เจตนาโดยตรง กับ เจตนาแบบเล็งเห็นผล เมื่อกฎหมายมองว่าปืนเป็นอาวุธสุดอันตราย จึงตีความหมายของเจตนาอย่างเคร่งครัดและครอบคลุมลักษณะการใช้งานหรืออันตรายของปืนด้วย เจตนาโดยตรง คือ การกระทำโดยรู้สำนึกในสิ่งที่กระทำและประสงค์ต่อผลจากการใช้ปืนว่า ต้องการทำอะไร ทำกับใคร คนกระทำมีจิตสำนึกดีว่าใช้ปืนเพื่ออะไร เพื่อใคร เช่น ใช้ปืนเล็งยิงใส่คนอื่นด้วยสารพัดสาเหตุ โดยรู้ดีว่ากำลังฆ่าคนด้วยปืน ส่วน เจตนาเล็งเห็นผล คือ การกระทำด้วยรู้สึกนึกในสิ่งที่กระทำและเล็งเห็นผลได้ว่าการกระทำนั้นจะเกิดผลอย่างไร เช่น เลือกใช้ปืนยิงไปที่กลุ่มคนซึ่งในนั้นมีศัตรูรวมอยู่ด้วย เขามีเจตนาใช้ปืนจึงหยิบปืนไป เมื่อยิงไปที่กลุ่มคนซึ่งรวมศัตรูเข้าไปด้วย แทนที่จะยิงศัตรูคนเดียว ถ้ามีคนตายในกลุ่มนั้นซึ่งอาจรวมศัตรูด้วยหรือไม่ก็ได้ กฎหมายถือว่า เขามีเจตนาฆ่าคนตายแบบเล็งเห็นผล เนื่องจากเขารู้ดีว่าปืนยิงออกไปต้องมีคนตายหรือบาดเจ็บด้วยประสิทธิภาพของมัน เมื่อเลือกใช้ปืน ย่อมถือว่ามีเจตนาฆ่าเยี่ยงเดียวกับเจตนาโดยตรง แม้คนตายหรือคนบาดเจ็บจะไม่รู้จักกับผู้ยิงก็ตาม


กรณีนักเรียนช่างกลกราดยิงใส่รถเมล์เมื่อเห็นคู่อริอยู่ในรถคันนั้น แล้วกระสุนไปฆ่าเด็กวัย 9 ปีและทำร้ายผู้บาดเจ็บจำนวนหนึ่ง เคยมีคดีประเภทนี้เกิดขึ้นมาหลายครั้งในศาลซึ่งตัดสินแล้วว่า แม้นักเรียนช่างกลอ้างว่าไม่ตั้งใจฆ่าเด็กหรือทำร้ายผู้บาดเจ็บเพราะไม่รู้จักกันมาก่อน แต่ยอมรับว่าตั้งใจยิงคู่อริเท่านั้น ศาลเคยตัดสินว่า ผู้กราดยิงใส่รถเมล์ด้วยปืนถือว่ามีเจตนาฆ่าคนตายโดยเล็งเห็นผลได้ว่า ปืนสร้างอันตรายถึงชีวิตแก่คนอื่นได้ ส่วนคนบาดเจ็บก็ถือว่าผู้กราดยิงมีเจตนาทำร้ายร่างกายผู้อื่นด้วยปืนโดยเจตนาเล็งเห็นผลหรือรู้อยู่แล้วว่าปืนทำอันตรายแก่ทุกคนได้ กฎหมายมองการกราดยิงว่า ผู้ยิงมีเจตนาฆ่าผู้ตาย เจตนาทำร้ายผู้บาดเจ็บ โดยไม่สนใจว่าผู้ยิงจะรู้จักเหยื่อหรือไม่ด้วยเหตุผลทางกฎหมายเรื่องเจตนาเล็งเห็นผล ดังนั้น เมื่อยิงปืน ก็ถือว่ามีเจตนายิงแบบเล็งเห็นผลหรือเจตนาโดยตรงขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงประกอบเสริมด้วย


ปืนในสายตากฎหมายถือเป็นอาวุธอันตราย เมื่อใครใช้ปืน ไม่ว่าจะรู้จักกับเหยื่อหรือไม่ จะถูกถือว่าเจตนาฆ่าหรือทำร้ายผู้อื่นแบบเล็งเห็นผลเสมอ เพราะกฎหมายถือว่าประชาชนรู้ดีว่าปืนมีประสิทธิภาพและมีอันตรายมากน้อยแค่ไหน จึงต้องระวังการใช้ปืนเสมอ เมื่อเกิดผลลัพธ์จากการใช้ปืน ผู้ยิงต้องมีความรับผิดชอบทางกฎหมายด้วย กรณีฆ่าคนตาย ผู้ยิงต้องรับผิดชอบในคดีอาญาด้วยระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 15 ถึง 20 ปี แล้วแต่ดุลพินิจของศาลโดยมีข้อเท็จจริงในคดี ประวัติของผู้ใช้ปืน อายุ เป็นหลักพิจารณากำหนดโทษของแต่ละคน


คดีกราดยิงใส่รถเมล์โดยปืนไทยประดิษฐ์ของนักเรียนช่างกลเป็นตัวอย่างล่าสุดของเจตนาเล็งเห็นผลที่ถือว่าเป็นคดีซ้ำรอยกับรุ่นพี่ช่างกลที่รับโทษอาญามาแล้วในข้อเท็จจริงแบบเดียวกัน กรณีที่คนใช้ปืนเป็นผู้เยาว์ ศาลอาจใช้ดุลพินิจกำหนดโทษไม่ถึงประหารชีวิตหรือลดโทษจำคุกลงด้วยเหตุเป็นเยาวชน การจำคุกของวัยรุ่นก็ถูกแยกไปจำขังในคุกเยาวชน มิใช่คุกผู้ใหญ่ แต่พวกเขาจะได้รับการบันทึกประวัติว่าเคยต้องโทษจำคุกทางอาญาไว้ตลอดชีวิต อารมณ์ชั่ววูบและความเข้าใจผิดพลาดของเยาวชนทำลายอนาคตของตัวเองเพราะเชื่อในพลังของปืนและความกร่างเมื่อถือปืนไว้โดยไม่คำนึงถึงผลลัพธ์จากการใช้ปืนด้วย


ปืนมีพลังในตัวเองจากประสิทธิภาพของมัน ส่งผลให้คนถือปืนรู้สึกว่ามีพลังเหนือคนอื่น แต่ควรเตือนตนไว้ว่า ทุกครั้งที่เลือกใช้ปืน กระสุนทุกนัดที่ยิงออกไป ผู้ใช้ปืนต้องมีความรับผิดชอบเสมอ กฎระเบียบที่ใช้ควบคุมหรือลงโทษผู้ใช้ปืน แม้จะมีข้อยกเว้นโทษอยู่ด้วย แต่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้ตัดสินว่าเชื่อในข้ออ้างประกอบการขอยกเว้นโทษหรือไม่ มันไม่ได้อยู่ในความควบคุมของผู้ใช้ปืนอีก ความกร่างเมื่อมีปืน คือ วิธีทำลายคนใช้ปืน คนฉลาดต้องควบคุมพลังของปืนได้ นี่คือ เจ้าของปืนตัวจริง มิใช่ทาสของปืน


เรียบเรียงโดย Black Cuff

Thursday, September 16, 2010

One-Shot Stop

One-Shot Stop



ข้อดีอย่างหนึ่งของปืนลูกซองก็คือ ความยืดหยุ่นในการใช้งาน ตั้งแต่ใช้เพื่อการล่าสัตว์ การกีฬา การสงคราม และเพื่อต่อสู้ป้องกันตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจและประชาชน คุณสมบัติที่หลากหลายเหล่านี้มาจากคุณลักษณะพิเศษของปืนลูกซองและกระสุนที่ใช้ซึ่งมีให้เลือกมากมายหลายแบบ โดยเฉพาะปืนลูกซองซึ่งใช้เพื่อป้องกันตัวในภาคประชาชนมีการพัฒนาไปมาก


กระสุนที่ใช้ได้กับปืนลูกซองสำหรับประชาชนนั้นแบ่งได้เป็น 2 แบบใหญ่ๆ คือ กระสุนลูกปราย (Buckshot) และ กระสุนลูกโดด (Slug) โดยกระสุนลูกปรายซึ่งบรรจุลูกตะกั่วขนาดเล็กจำนวนมากหลายร้อยเม็ด เรียกว่า Birdshot มักใช้ในกีฬายิงนกหรือกีฬายิงเป้าบิน


เป็นที่ยอมรับกันว่าปืนลูกซองมีอำนาจหยุดยั้งดีกว่าปืนสั้นมาก กระสุน Buckshot ที่มีลูกปรายบรรจุอยู่ระหว่าง 8 ถึง 13 เม็ด ได้ชื่อว่าเป็น “One-Shot Stop” เพราะเมื่อยิงถูกเป้าหมายจะคล้ายกับว่าคนร้ายถูกยิงด้วยกระสุนขนาด .380 นิ้ว จำนวนมากในคราวเดียวกันจึงมีอำนาจหยุดยั้งภัยคุกคามได้เป็นอย่างดี


ผู้เชี่ยวชาญบางท่านอาจแนะนำให้ใช้กระสุน Birdshot ในการป้องกันตัวเพราะกระสุนมีอำนาจทะลุทะลวงน้อยกว่า Buckshot เมื่อกระสุนพลาดไปกระทบผนังห้องจะมีโอกาสทะลุไปถูกผู้บริสุทธิ์ได้น้อยกว่า แต่ส่วนใหญ่กลับมีความเห็นว่าเมื่ออำนาจทะลุทะลวงน้อยก็เท่ากับว่าอำนาจหยุดยั้งน้อยลงไปด้วย


FBI มีมาตรฐานในการทดสอบประสิทธิภาพของกระสุนปืน โดยกำหนดว่าเมื่อกระสุนปืนยิงทดสอบใส่แท่ง 10 % ballistic gelatin ควรเจาะเข้าไปได้ลึกระหว่าง 12 ถึง 18 นิ้ว จึงจะถือได้ว่าเหมาะสมแก่การใช้งานเพื่อหยุดยั้งภัยคุกคามที่เป็นมนุษย์ (มีอำนาจหยุดยั้งดีที่สุด)


อำนาจหยุดยั้งขึ้นอยู่กับกระสุนนั้นสามารถส่งถ่ายพลังงานไปให้เป้าหมายได้มากน้อยเพียงไร เมื่อกระสุนยังคงอยู่ในเป้าหมายไม่ทะลุผ่านออกมาแสดงว่าสามารถส่งถ่ายพลังงานทั้งหมดให้เป้าหมายได้ หากตัวกระสุนเองมีพลังงานน้อยเกินไปถึงแม้จะถ่ายทอดไปให้เป้าหมายทั้งหมดก็ไม่อาจหยุดยั้งภัยคุกคามได้ เช่น กระสุนซึ่งเจาะแท่งเจลลาตินไปได้น้อยกว่า 12 นิ้ว หรือหากแม้มีพลังงานในตัวกระสุนมากแต่ไม่สามารถส่งถ่ายไปให้เป้าหมายได้มากพอก็ไม่อาจหยุดภัยคุกคามได้เช่นกัน อาทิเช่น กระสุนซึ่งทะลุผ่านเป้าหมายออกไปแสดงว่าไม่สามารถส่งถ่ายพลังงานไปให้เป้าหมายได้หมด อำนาจหยุดยั้งก็ขึ้นอยู่กับว่าพลังงานที่ส่งผ่านไปได้นั้นมากพอที่จะหยุดยั้งภัยคุกคามได้หรือไม่


กระสุนลูกโดดส่วนใหญ่พบว่าเมื่อทดสอบยิงใส่แท่งเจลลาตินดังกล่าวจะอยู่ในความลึกที่เหมาะสม แต่กับกระสุน Double-ought buckshot กลับทะลุทะลวงไปไกลกว่าระยะดังกล่าว (ไกลกว่า 18 นิ้วเสียอีก) ดังนั้นจึงมีการผลิตกระสุน Reduced recoil หรือ Low recoil ซึ่งน่าจะทำให้มีปัญหานี้น้อยลง


เป็นที่ยอมรับกันว่ากระสุนซึ่งเหมาะสำหรับใช้งานเพื่อป้องกันตัว คือ Double-ought buckshot หรือ OO buckshot โดยมีกระสุนลูกปรายบรรจุอยู่ 9 เม็ด ไม่จำเป็นต้องเลือกกระสุนที่มีดินขับมากๆ


สำหรับประชาชนแล้วปืนลูกซองถือเป็นอาวุธซึ่งเหมาะสมอย่างยิ่งในการใช้เพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สินในบ้าน ประสิทธิภาพของปืนลูกซองขึ้นกับการเลือกใช้กระสุนให้เหมาะสมกับภัยคุกคาม การเรียนรู้ข้อดีและข้อจำกัดของปืนลูกซองอีกทั้งการฝึกฝนการใช้งานให้เกิดความชำนาญจึงเป็นสิ่งสำคัญ


สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”


เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง The Home Defense Shotgun ของ T.N. Badams

Thursday, September 9, 2010

Double Tap

Double Tap



ในการยิงต่อสู้เพื่อป้องกันตัวนั้น “อำนาจหยุดยั้ง” ถือว่าสำคัญที่สุด โดยเฉพาะหากสามารถหยุดคนร้ายได้ด้วยกระสุนเพียงนัดเดียวได้ยิ่งดี ซึ่งกระสุนที่ใช้กับปืนสั้นจะทำเช่นนั้นได้มักเป็นกระสุนที่มีขนาดใหญ่ เช่น กระสุนขนาด .45 นิ้ว แม้จะใช้กระสุนขนาดนี้ก็ไม่ได้รับประกันว่าจะหยุดคนร้ายได้ด้วยกระสุนเพียงนัดเดียวเสมอไป ส่วนใหญ่ต้องใช้กระสุนมากกว่าหนึ่งนัด


ข้อจำกัดหนึ่งซึ่งไม่อาจเลี่ยงได้ของกระสุนขนาดใหญ่ คือ จำนวนกระสุนที่บรรจุได้ในซองกระสุนจะน้อยลง เช่น กระสุนขนาด .45 นิ้วส่วนใหญ่บรรจุในซองกระสุนได้ 7 ถึง 8 นัด เมื่อรวมกับกระสุนอีกหนึ่งนัดในรังเพลิงก็จะได้ประมาณ 8 ถึง 9 นัด ในขณะที่ปืนซึ่งใช้กระสุนขนาด 9 ม.ม. สามารถบรรจุได้มากกว่า 10 นัด ซองกระสุนบางรุ่นอาจบรรจุได้ถึง 33 นัดทีเดียว (Glock 26) เป็นต้น


ปืนประจำการของทหารนาโต้จะใช้กระสุนขนาด 9 ม.ม. ทำให้ทหารอเมริกันซึ่งเข้าร่วมด้วยต้องเปลี่ยนจากกระสุนขนาด .45 นิ้ว มาใช้ 9 ม.ม. เช่นกัน ข้อดีของการใช้กระสุนขนาด 9 ม.ม. อาทิเช่น สามารถนำกระสุนติดตัวไปได้มากนัดกว่าในน้ำหนักที่เท่ากัน (ให้ความสำคัญกับจำนวนกระสุนมากกว่าอำนาจหยุดยั้งของกระสุน) ปืนพกซึ่งใช้กระสุน 9 ม.ม. สามารถบรรจุกระสุนได้มากกว่าปืนซึ่งใช้กระสุน .45 นิ้ว อย่างเทียบกันไม่ได้ อีกทั้งเทคนิคการยิงต่อสู้จะใช้หลักที่ว่า เมื่อยิงถูกศัตรูแล้วให้ยิงต่อเนื่องจนกว่าศัตรูจะล้มลงหมดสภาพที่จะเป็นภัยคุกคาม หรือ การยิงแบบสองนัดซ้อน (Double tap) ดังนั้นจึงต้องใช้กระสุนจำนวนมาก


ถึงแม้อำนาจหยุดยั้งของกระสุนขนาด 9 ม.ม. จะด้อยกว่าขนาด .45 นิ้ว แต่การยิงหลายนัดในคราวเดียวกันเป็นการปิดจุดอ่อนของกระสุนปืนขนาด 9 ม.ม. ได้อย่างดี หากปืนซึ่งใช้กระสุนขนาด .45 นิ้ว แต่ยิงแบบ Double tap กระสุนคงหมดอย่างรวดเร็ว คงไม่ดีแน่หากเกิดขึ้นในสนามรบซึ่งมีภัยคุกคามมากมายและยังมีภารกิจที่ต้องทำอีกมาก


การยิงแบบสองนัดซ้อน หรือ Double tap นั้นจึงมีประโยชน์อย่างมากในการเพิ่มอำนาจหยุดยั้งภัยคุกคามได้อย่างดี


สำหรับประชาชนทั่วไปซึ่งภัยคุกคามมีความแตกต่างจากเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร โอกาสน้อยมากที่จะต้องเผชิญหน้ากับภัยคุกคามจำนวนมากเช่นนั้น ดังนั้นการใช้ปืนขนาด .45 นิ้ว หรือ 9 ม.ม. จึงเพียงพอในการป้องกันชีวิตและทรัพย์สิน การฝึกยิง Double tap นั้นมีประโยชน์และสามารถนำมาปรับใช้ได้ไม่ว่าจะใช้ปืนขนาดเท่าใดก็ตาม พึงระลึกไว้ว่าเมื่อยิง Double tap หากกระสุนนัดที่สองพลาดเป้าอาจไปถูกผู้บริสุทธิคนอื่นได้ ดังนั้นการฝึกยิง Double tap ควรได้กลุ่มกระสุนที่ใกล้กัน (แสดงถึงการถือปืนและการเหนี่ยวไกที่ดี) และควรเลือกเป้าใหญ่ไว้ก่อน เช่น ลำตัว เพื่อลดโอกาสที่จะพลาดเป้าหมาย


การยิง Double tap เป็นอีกหนึ่งเทคนิคที่ควรเรียนรู้ฝึกฝน รู้ข้อดีและข้อจำกัดของการยิงแบบนี้และเลือกใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์


สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”


เรียบเรียงโดย Batman

Friday, September 3, 2010

A Laser Sight for Home Defense

A Laser Sight for Home Defense



ปืนซึ่งติดศูนย์เลเซอร์ (Laser-mounted pistol) ที่มีคุณภาพร่วมกับการฝึกฝนการใช้งานอย่างดี อาจเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้การใช้อาวุธปืนมีประสิทธิภาพมากขึ้นในสถานการณ์อันมีภัยคุกคามร้ายแรงอยู่เบื้องหน้า


นาย Wes Doss เป็นคนหนึ่งซึ่งใช้ศูนย์เลเซอร์ประกอบปืนสั้นอย่างจริงจังมานาน เมื่อแสงเลเซอร์ตกกระทบเป้าหมายเขาสามารถส่งกระสุนเข้าไปได้อย่างแม่นยำและง่ายดาย แสงเลเซอร์นี้ไม่สนว่าเรากำลังใช้ปืนลำกล้อง 3 นิ้วหรือลำกล้อง 5 นิ้ว ไม่สนใจว่าเรากำลังใส่แว่นสายตาอยู่ในขณะเล็งปืนหรือไม่ ไม่ว่าจุดของแสงเลเซอร์อยู่ที่ตำแหน่งใดมันจะให้ความแม่นยำอย่างมากในระยะห่างหนึ่งๆ (ระยะห่างที่ทำการตั้งศูนย์เลเซอร์ไว้)


ศูนย์เลเซอร์มีประโยชน์หลักๆ 3 ประการ คือ


- ระยะห่างของเป้าหมาย ส่วนใหญ่การยิงเพื่อป้องกันตัวในบ้านมักเกิดขึ้นในระยะไม่เกิน 10 ถึง 15 ฟุต ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในระยะไม่กี่ช่วงแขนเท่านั้น ซึ่งเป็นระยะที่ความสามารถในการมองเห็นภัยคุกคามทำได้ยาก


- เวลา เนื่องจากระยะห่างที่ใกล้มากทำให้มีเวลาในการตอบสนองต่อภัยคุกคามน้อยมาก นั้นหมายความว่าคุณต้องตอบสนองอย่างรวดเร็ว


- คนร้ายซึ่งมีแรงจูงใจที่แรงกล้าในการก่ออาชญากรรม เราจึงต้องหยุดคนร้ายให้เร็วที่สุด


ด้วยการฝึกฝนการใช้ศูนย์เลเซอร์อย่างถูกต้อง คุณสามารถทำการเล็งยิงได้โดยที่ปืนยังไม่ต้องยกขึ้นสู่แนวสายตา สามารถทำการยิงได้อย่างแม่นยำในท่าทางต่างๆ เราสามารถเปิดตาทั้งสองข้างตลอดเวลาเพื่อทำการตรวจการณ์ มีผลทางจิตวิทยาต่อภัยคุกคามเมื่อเห็นลำแสงของเลเซอร์


ศูนย์เลเซอร์สามารถติดตั้งได้หลายตำแหน่ง ปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติหลายรุ่นมีรางติดศูนย์ไฟฉายหรือศูนย์เลเซอร์ใต้ลำกล้องปืน จึงเป็นการง่ายที่จะติดตั้งอุปกรณ์เสริมเหล่านี้


ส่วนปืนที่ไม่มีรางติดศูนย์ปืนพิเศษก็อาจต้องหาอุปกรณ์เสริมเป็นรางสำหรับติดศูนย์ปืนมาใส่ไว้ใต้ลำกล้องปืนเพื่อติดศูนย์เลเซอร์ นอกจากนั้นในปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติบางรุ่นอาจเปลี่ยนไกด์ลอด (Guide rod) ซึ่งอยู่ภายในโครงปืนให้เป็นศูนย์เลเซอร์ได้


เราสามารถหาแก้มประกบด้ามปืนซึ่งมีศูนย์เลเซอร์ติดอยู่ได้ เวลาใช้ต้องกำด้ามปืนให้แน่นเพื่อเปิดศูนย์เลเซอร์


ปืนลูกโม่ส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกออกแบบให้มีรางติดศูนย์ปืนพิเศษเหล่านี้ (ยกเว้นบางรุ่น) ส่วนใหญ่มักใช้แก้มประกบด้ามปืนที่มีศูนย์เลเซอร์ติดอยู่ โดยเฉพาะปืนพกซ้อนบางรุ่นมีศูนย์เลเซอร์ติดตั้งมาให้จากโรงงาน


ศูนย์ปืนบางรุ่นมีทั้งศูนย์เลเซอร์และศูนย์ไฟฉายในกระบอกเดียวกัน เพื่อความยืดหยุ่นในการใช้งาน


สีของลำแสงจากศูนย์เลเซอร์ส่วนใหญ่เป็นสีแดงเข้มเนื่องจากเห็นชัดในภาวะแสงต่ำ แต่ปัจจุบันแสงสีเขียวเริ่มนิยมมากขึ้น เนื่องจากเป็นสีที่เห็นได้ชัดทั้งกลางวันและกลางคืน


ปัจจุบันนี้การใช้งานของศูนย์เลเซอร์จึงไม่ได้จำกัดเฉพาะในภาวะแสงต่ำอีกต่อไป แม้ในช่วงเวลากลางวันหรือกลางแจ้งก็สามารถใช้ศูนย์เลเซอร์ได้เช่นกัน


ศูนย์เลเซอร์จะมีความแม่นยำในระยะห่างต่อเป้าหมายหนึ่งๆเท่านั้น เมื่อภัยคุกคามอยู่ใกล้หรือไกลออกจากระยะที่ตั้งศูนย์เลเซอร์ไว้ก็จะคลาดเคลื่อนไปบ้างแต่ก็ไม่มากนักยังอยู่ในวิสัยที่ยอมรับได้


แต่การใช้ศูนย์ปืนเลเซอร์ไม่ได้เป็นการรับประกันว่าจะยิงถูกตำแหน่งที่ลำแสงตกกระทบเสมอไป เพราะอย่างไรเสีย “การเล็ง” เป็นเพียงส่วนหนึ่งในหลายปัจจัยของการยิงปืนให้ถูกเป้าหมาย หากเราถือปืนไม่ถูกต้อง ท่ายิงไม่ถูกต้องมั่นคง เหนี่ยวไกไม่ถูกต้อง ต่อให้ใช้ศูนย์ปืนที่แม่นยำที่สุดในโลกก็อาจยิงไม่ถูกอะไรเลย


พื้นฐานการยิงปืนที่ดีและถูกต้องยังเป็นสิ่งสำคัญเสมอ ศูนย์เลเซอร์เป็นเพียงอุปกรณ์เสริมที่ช่วยให้การเล็งทำได้ง่ายขึ้นในบางโอกาสเท่านั้น


TAS สอนพื้นฐานการยิงปืนที่ถูกต้อง ผู้รับการฝึกสามารถนำไปปรับใช้กับอุปกรณ์เสริมเหล่านี้ได้


สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”


เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Lasers for Home Defense ของ Wes Doss

Newcastle limousines