Thursday, December 30, 2010

Shoot Hollywood

Shoot Hollywood



การยิงปืนแบบในภาพยนตร์บู๊ล้างผลาญของฮอลลีวูดนั้นอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้หลายประการ คนส่วนใหญ่จะถนัดมือขวาและตาขวาเป็นตาหลักในการมองเห็น (Right-handed, right eye-dominant) คนส่วนน้อยถนัดมือซ้ายและมีตาซ้ายเป็นตาหลัก (มือถนัดข้างใดมักมีตาข้างเดียวกันเป็นตาหลัก) และมีคนเพียงเล็กน้อยที่มือและตาข้างถนัดเป็นคนละข้างกัน (Cross-eye dominant)


ในการยิงปืนโดยปกติจะถือปืนด้วยมือข้างถนัดและเล็งยิงด้วยตาหลักซึ่งมักเป็นข้างเดียวกับมือข้างถนัด แม้คนซึ่งมือและตาข้างถนัดเป็นคนละข้างกันก็สามารถฝึกให้ใช้ตาข้างเดียวกับที่ถือปืนทำการเล็งได้


ในภาพยนตร์นักแสดงมักต้องดูดีในท่าทางการยิงปืน ผู้กำกับเป็นบุคคลหนึ่งซึ่งมีอิทธิพลต่อมุมกล้องและการจัดท่าทางของนักแสดงเพื่อให้ออกมาดีบนแผ่นฟิล์ม เราจึงมักเห็นนักแสดงจำนวนไม่น้อยที่ถนัดมือขวาแต่กลับใช้ตาซ้ายเล็งปืน ที่เป็นเช่นนี้เพราะในปัจจุบันนิยมถือปืนด้วยสองมือหากเล็งปืนด้วยตาข้างเดียวกับมือข้างถนัด ใบหน้าจะถูกบดบังไปบางส่วน แต่หากเล็งด้วยตาข้างไม่ถนัดจะทำให้เห็นใบหน้าของนักแสดงได้อย่างชัดเจนจึงดูดีในภาพยนตร์


นอกจากนั้นก็มีบางสิ่งที่ไม่ควรเรียนรู้จากภาพยนตร์


- หาตาข้างถนัดของคุณเองและใช้มันในการเล็งปืน ไม่ควรเอียงหน้าเพื่อเล็งปืนด้วยตาข้างตรงข้ามกับมือข้างที่ถือปืน


- ศูนย์ปืนอยู่ด้านบนของปืนจึงควรใช้งานในลักษณะนี้ ไม่ควรเอียงปืนเล็งมากเกินไป


- ปืนสำรองใช้ในกรณีที่ปืนหลักไม่สามารถใช้ต่อได้ ไม่ควรถือปืนสองมือแล้วทำการยิงพร้อมกันเหมือนในภาพยนตร์ เพราะจะยิงไม่ถูกเป้าหมายอะไรเลยและลดโอกาสรอดชีวิตของคุณเอง


- กระสุนปืนไม่ว่าจะขนาดใดไม่สามารถยิงคนร้าย วัตถุ ให้กระเด็นไปในทิศทางตรงข้ามได้


- การยิงปืนขณะกระโดดลอยตัวอยู่กลางอากาศนั้นจะใช้ในภาพยนตร์เท่านั้น เพราะในความเป็นจริงการกระโดดนั้นใช้เวลาเพียงชั่วอึดใจเท่านั้นมันเร็วเกินกว่าที่จะทำการเล็งและยิงปืนได้อย่างแม่นยำ อีกทั้งในภาพยนตร์นั้นนักแสดงแทน (Stunt) จะทำการกระโดดลงบนเบาะและทำซ้ำหลายๆครั้งจนกว่าผู้กำกับจะได้ภาพที่ดีที่สุด หากเราทำตามในหนังนอกจากยิงไม่ถูกเป้าหมายแล้วยังบาดเจ็บจากการกระแทกพื้นอีกด้วย


- รถยนตร์จะไม่มีทางระเบิดเป็นลูกไฟดวงโตได้โดยการถูกยิงด้วยกระสุนปืนธรรมดา


- การตรวจค้นบ้าน (House clearing) ควรทิ้งไว้ให้เป็นหน้าที่ของมืออาชีพ เพราะพวกเขาจะทำงานเป็นทีม มีเครื่องมือและการฝึกฝนมาอย่างดี


- เสื้อผ้าที่ตัวละครสวมใส่เพื่อปิดบังปืนนั้น ในความเป็นจริงไม่มีทางที่จะปกปิดได้อย่างแนบเนียนจนจับผิดไม่ได้ นอกจากนั้นปืนที่ใช้ในการพกนั้นมักเป็นปืนยางซึ่งมีลักษณะเหมือนปืนจริง เนื่องจากปืนจริงมีราคาแพงและแข็งหากนำมาพกซ่อนเป็นเวลานานอาจเกิดรอยช้ำที่ผิวหนังของนักแสดงได้ซึ่งปืนยางจะให้ความนุ่มนวลมากกว่า


ภาพยนตร์บู๊ล้างผลาญในฮอลลีวูดให้ดูเพื่อความสนุก แต่อย่าไปลอกเลียนแบบโดยไม่คิดไตร่ตรองให้ดีก่อน


TAS สอนการยิงปืนระบบต่อสู้เพื่อป้องกันชีวิตและทรัพย์สินในรูปแบบซึ่งนำไปใช้งานได้จริง

สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”


เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Movie Gun Handling Mistakes ของ Patrick Sweeney

Friday, December 24, 2010

El Presidente

El Presidente



มีรูปแบบการฝึกยิงปืนหลายเป้าหมายรูปแบบหนึ่งซึ่งมีประโยชน์มาก เรียกว่า El Presidente drill ซึ่งคิดขึ้นโดยบิดาแห่งการยิงปืนสั้นสมัยใหม่ Jeff Cooper ในปี ค.ศ. 1970s ได้ตีพิมพ์ลงในนิตยสาร American Handgunner ประจำเดือน มกราคม/กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1979


El Presidente ได้รับความนิยมมากจนถือว่าเป็นมาตรฐานหนึ่งในการวัดความสามารถของนักยิงปืน เนื่องจากในการฝึกยิงปืนรูปแบบนี้ จำเป็นจะต้องใช้ทักษะหลายอย่างประกอบกัน อาทิเช่น การหยิบปืนออกจากซองปืนแล้วยกปืนขึ้นสู่ระดับสายตาเพื่อทำการยิง (Draw) การบรรจุกระสุนใหม่ (Reload) การเคลื่อนปืนไปยิงเป้าหมายต่างๆที่จัดไว้ (Good transition) และการ Follow-through ไกปืนที่ดี


El Presidente ประกอบด้วย


- ใช้เป้าหุ่นคน 3 เป้า วางห่างกันหนึ่งเมตร โดยทุกเป้าอยู่ห่างจากนักยิงปืนระยะสิบเมตร


- นักยิงปืนเริ่มจากกระสุนหกนัดในปืนซึ่งใส่อยู่ในซองปืน และมีอีกหกนัดในซองกระสุนสำรองหรือ Speedloader ในกรณีของปืนลูกโม่


- นักยิงปืนยืนหันหลังให้กับเป้าทั้งสามโดยมืออยู่ข้างหน้าหรือว่างไว้เหนือศีรษะ


- เมื่อได้ยินเสียงสัณญาณดังขึ้นให้นักยิงปืนกลับหลังหันเข้าหาเป้าหมาย ชักปืนออกจากซองทำการยิงสองนัดในแต่ละเป้า เมื่อกระสุนหมดให้บรรจุกระสุนใหม่แล้วทำการการยิงสองหรือสามนัดในเป้าที่เหลือ


การให้คะแนนก็ขึ้นกับจำนวนกระสุนที่ถูกเป้าและพลาดเป้าภายในเวลาที่กำหนด (มักให้ยิงภายใน 10 วินาที) แต่ในการแข่งขันยิงปืนบางประเภท เช่น IPSC อาจมีระบบการให้คะแนนที่มีความซับซ้อนมากขึ้น และปัจจุบันปืนซึ่งใช้ในการแข่งขันมีการแต่งปืนและใช้อุปกรณ์ที่ช่วยให้ทำการยิงได้เร็วขึ้นมากจึงอาจตั้งเวลาให้น้อยกว่านี้ก็ได้


จุดประสงค์เริ่มต้นของ Jeff Cooper นั้น ได้พัฒนาการยิงรูปแบบนี้เพื่อเพิ่มทักษะความชำนาญในการใช้อาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการเผชิญเหตุกับภัยคุกคามหลายคนโดยได้รับอิทธิพลมาจากเหตุการณ์จริง ซึ่งการฝึกยิงปืนรูปแบบนี้จะทำให้นักยิงปืนสามารถคุมปืนได้ดีขึ้น





สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”


เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Engaging Multiple Attackers ของ Dave Spaulding และ Combat Pistol Shooting ของ Wikipedia

Friday, December 17, 2010

Light characteristic

Light characteristic



ศูนย์ไฟฉายหรือไฟฉายที่ถือด้วยมือซึ่งใช้ในการยิงปืนในภาวะแสงต่ำนั้น มีสิ่งที่ต้องเรียนรู้และวิธีการใช้อย่างถูกต้อง


แสงซึ่งส่องออกมาจากไฟฉายไม่ว่าแบบใดจะมีความสว่างอยู่สองบริเวณ คือ


- แสงเข้มตรงกลาง เป็นบริเวณซึ่งแสงไฟสว่างสุด ควรมีความสว่างเท่ากันอย่างทั่วถึงไม่มีตรงกลางซึ่งสว่างน้อยกว่า (Center blind spot)


- แสงจางๆบริเวณรอบนอก (The arc of light) เป็นบริเวณรอบนอกถัดออกมาจากแสงเข้มตรงกลาง ความสว่างน้อยลงกว่าส่วนตรงกลางมาก แต่ก็ยังพอมองเห็นสิ่งต่างๆในบริเวณดังกล่าวได้


โดยทั่วไปแล้วบริเวณแสงเข้มตรงกลางจะตรงกับแนวปากกระบอกปืนเมื่อใช้ศูนย์ไฟฉาย หรือเมื่อถือไฟฉายด้วยมือก็มักวางแนวปืนให้ตรงกับบริเวณนี้เพื่อช่วยในการเล็งและกำหนดเป้าหมาย แต่ในกรณีการค้นหา (Searching) หรือเมื่อพบบุคคลต้องสงสัยแต่ยังไม่ได้มีลักษณะเป็นภัยคุกคาม นาย Clint Smith จะส่องไฟบริเวณแสงเข้มตรงกลางไปที่เท้าของบุคคลนั้น แล้วใช้ความสว่างของแสงจางๆรอบนอกในการดูมือทั้งสองข้างของบุคคลนั้นและมองหาลักษณะหรือสัญญาณที่บ่งบอกว่าเป็นภัยคุกคาม


การที่ไฟส่องไปที่เท้านั้นเป็นการบอกว่า ปืนยังไม่ได้ชี้ไปที่บุคคลนั้นโดยตรงจนกว่าจะแน่ใจแล้วว่าบุคคลนั้นเป็นภัยคุกคาม


ยกตัวอย่าง เช่น เมื่อเขาพบบุคคลใดซึ่งไม่ควรอยู่ที่นั้น เขาส่องไฟฉายไปที่เท้าของคนนั้นแล้วออกคำสั่งต่างๆ ในขณะที่แสงจางๆจากไฟฉาย (The arc of light) ยังคงทำให้เรามองเห็นความเคลื่อนไหวหรือสัญญาณบ่งบอกว่าบุคคลนั้นได้กลายมาเป็นภัยคุกคามแล้ว เมื่อนั้นเขาก็แค่ยกปืนขึ้นให้ไฟส่องสว่างไปที่เป้าหมายแล้วตัดสินใจทำสิ่งที่ควรทำ


ในการเข้าค้นห้องก่อนผ่านประตูเข้าไปเราต้องส่องไฟเข้าไปดูในห้องก่อน ถ้าใช้ปืนติดศูนย์ไฟฉายและต้องการเข้าจากด้านซ้ายของประตู เขาจะให้แสงไฟบริเวณที่สว่างสุดตำแหน่ง 9 นาฬิกา สัมผัสกับขอบประตูด้านซ้ายแล้วใช้ประโยชน์จากแสงจางๆจากไฟฉายในการช่วยดูพื้นที่ภายในห้องบริเวณอื่นๆ มากกว่าการส่องไฟไปที่ทางเดินเข้าประตู แต่ถ้าใช้ไฟฉายที่ถือด้วยมือก็จะมีความคล่องตัวในการใช้งาน อาจถือไฟฉายทางซ้ายหรือขวาของปืนก็ได้ขึ้นกับวิธีที่ใช้ และสามารถส่องไฟไปยังตำแหน่งที่ต้องการค้นหาได้อย่างสะดวกรวดเร็ว


จำไว้ว่าการจับเป้าหมายในการยิงขึ้นกับศูนย์ปืน “ไม่ใช่ตำแหน่งที่ไฟส่องไปถูก” ในการเปิดใช้ไฟฉายนั้นต้องคิดไว้ในใจเสมอว่า “เปิดเพื่อทำการต่อสู้ ไม่ใช่เปิดเพื่อดู” เพราะมิเช่นนั้นแล้วหากคิดแต่จะดู มองหาภัยคุกคามอย่างเดียว เมื่อพบภัยคุกคามแล้วแนวปืนอาจยังไม่พร้อมที่จะใช้ปกป้องตัวคุณเอง เขาจะเปิดไฟฉายเพื่อแยกแยะและกำหนดเป้าหมาย การมองเห็นสิ่งต่างๆเป็นเพียงผลพลอยได้ของแสงจากไฟฉายเท่านั้น


การยิงปืนประกอบไฟฉายนั้นเป็น “ทักษะ” ดังนั้นจึงเหมือนการฝึกยิงปืนทั่วไป หากต้องการยิงปืนประกอบไฟฉายได้ดีก็ต้อง “ฝึก ฝึก ฝึก” เท่านั้น


TAS สอนการยิงปืนประกอบไฟฉายอย่างถูกวิธีใน TAS force 2 และ TAS force Pro


สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”


เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Lights: More on use and deployment ของ นาย Clint Smith

Saturday, December 11, 2010

Tactical Flashlights VS. Weaponlights

Tactical Flashlights VS. Weaponlights



คนตาบอดยิงปืนเป็นตัวอย่างซึ่งยกขึ้นบ่อยในโรงเรียนกฎหมายเกี่ยวกับความสะเพร่าของผู้ใช้อาวุธปืนหรือความประมาทในการใช้อาวุธปืน ในช่วงมืดมิดยามค่ำคืนถึงแม้บุคคลใดจะมีสายตาปกติทุกอย่าง แต่ในทางกฎหมายแล้วก็เปรียบเสมือนคนตาบอด


หากใช้อาวุธปืนยิงในภาวะดังกล่างมีความเสี่ยงสูงที่จะยิงไปถูกผู้บริสุทธิ์ และเป็นคดีขึ้นศาลตัดสินลงโทษมาแล้วจำนวนมากทุกปี นี้จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงเริ่มมีการใช้อุปกรณ์ส่องสว่างประกอบการยิงปืนในภาวะแสงต่ำตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19


ในช่วง ค.ศ. 1880s เจ้าหน้าที่รักษากฎหมายได้เริ่มมีการใช้ตะเกียงน้ำมันก๊าดเพื่อส่องดูเป้าหมายด้วยมือข้างหนึ่ง ส่วนมืออีกข้างถือปืนลูกโม่หกนัดไว้


ในช่วง ค.ศ. 1930s FBI ได้พัฒนาวิธีการยิงปืนประกอบไฟฉาย ด้วยการถือปืนด้วยมือข้างหนึ่งส่วนมืออีกข้างถือไฟฉายยื่นออกไปด้านข้างออกห่างจากลำตัว เพื่อแยกแยะเป้าหมายและเป็นการหลอกคนร้ายว่าคุณอยู่ที่ซึ่งไฟฉายส่องออกมา (คนร้ายมักยิงไปยังแหล่งกำเนิดแสงไฟ โดยคาดว่าคนซึ่งถือไฟฉายก็น่าจะอยู่ที่นั้นด้วย)


ปืนซึ่งมีไฟฉายติดอยู่กับตัวปืนนั้นเริ่มมีการใช้ในช่วงต้น ค.ศ. 1900s แต่ยังไม่ได้รับความนิยมจนถึงช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ปัจจุบันนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจนิยมใช้ปืนซึ่งติดศูนย์ไฟฉายที่ให้แสงสีขาว (White light สามารถทำให้แยกแยะเป้าหมายได้ดีกว่าแสงสีอื่น) โดยมีซองปืนซึ่งใช้กับปืนที่ติดศูนย์ไฟฉายพร้อมใช้งาน แม้แต่การพกปืนแบบซ่อนเร้นก็มีซองปืนซึ่งใช้กับปืนที่ติดศูนย์ไฟฉาย (Concealment holsters) ให้ใช้ได้ด้วย


สำหรับประชาชนทั่วไปแล้วการใช้ปืนซึ่งติดศูนย์ไฟฉายอยู่นั้นมีสิ่งหนึ่งเป็นกังวลใจมากก็คือ ปืนและไฟฉายจะชี้ไปในทิศทางเดียวกันตลอด นั้นหมายถึงเมื่อไฟฉายส่องไปที่บุคคลใด ปากลำกล้องปืนก็ชี้ไปที่คนนั้นด้วยเช่นกัน ถึงแม้คุณจะเอานิ้วชี้ออกนอกโกร่งไกไว้ตลอดก็ตาม


มีการทดสอบในยุโรปพบว่าในภาวะความเครียดสูงถึงแม้จะเป็นนักยิงปืนมืออาชีพที่มีประสบการณ์สูงก็ยังเผลอเอานิ้วชี้เข้าโกร่งไกสัมผัสกับไกปืนโดยไม่มีเหตุผลสมควรอยู่บ่อยครั้ง ดังนั้นจึงเป็นเครื่องชี้ว่า “ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ”


ยิ่งไปกว่านั้นคุณไม่จำเป็นต้องยิงทุกคนซึ่งลำกล้องปืนชี้ไปหา นอกจากนั้นการชี้ปืนซึ่งบรรจุกระสุนไปยังบุคคลอื่นอย่างไม่เหมาะสมตัวคุณเองก็อาจมีความผิดอาญาได้แล้ว และยิ่งถ้าคุณยิงปืนออกไปถูกผู้บริสุทธิ์ไม่ว่าจะเป็นคนรู้จัก ญาติสนิทมิตรสหายหรือคนที่คุณรักโดยไม่ตั้งใจ ก็จะส่งผลทั้งทางกฎหมาย ครอบครัวทั้งสองฝ่ายและทางจิตใจอย่างรุนแรง


สำหรับนาย Massad Ayoob แล้วเขาเลือกที่จะใช้ปืนซึ่งมีศูนย์ไฟฉายติดอยู่และมีไฟฉายอีกกระบอกแยกต่างหากออกมาอีกอันเพื่อใช้ในการเฝ้าบ้าน ในการค้นหาคนร้าย (Searching) เขาจะให้แนวปืนชี้ลงพื้นและมืออีกข้างถือไฟฉายส่องมองหาคนร้ายหรือสิ่งผิดปกติใดๆเพื่อป้องกันการชี้ปืนไปยังบุคคลอื่นโดยไม่ตั้งใจ และถ้าคุณได้ยินเสียงผิดปกติที่ประตู คุณก็สามารถยกปืนขึ้นสู่ระดับสายตาพร้อมกับศูนย์ไฟฉายได้ทันที


คงไม่มีใครโต้เถียงได้ว่า การยิงปืนประกอบศูนย์ไฟฉายด้วยสองมือ (ใช้นิ้วโป้งของมือข้างไม่ถนัดในการเปิด-ปิดปุ่มไฟฉาย) นั้น ให้ความรวดเร็วและแม่นยำกว่าการถือไฟฉายด้วยมือข้างหนึ่ง ส่วนมืออีกข้างถือปืนยิง นอกจากนั้นการยิงปืนต่อสู้ป้องกันตัวในหลายครั้งเกิดขึ้นในระยะประชิดตัวมากๆชนิดที่ปากลำกล้องปืนกดสัมผัสผิวหนังกันเลยทีเดียว ถ้าเป็นปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติหากคุณกดปากลำกล้องปืนชิดตัวคนร้าย อาจทำให้สไลด์ถอยหลังได้เล็กน้อยส่งผลให้การทำงานของปืนติดขัดไม่สามารถยิงได้ แต่ถ้าปืนของคุณติดศูนย์ไฟฉายไว้โดยส่วนมากแล้วปลายศูนย์ไฟฉายจะยาวเกินปลายลำกล้องปืนออกมา เมื่อคุณกดปลายลำกล้องปืนเข้ากับตัวคนร้ายก็มักจะติดปลายศูนย์ไฟฉายก่อนที่จะถึงปลายลำกล้องปืน จึงไม่ทำให้ปืนติดขัดสามารถทำการยิงได้ ด้วยเหตุผลเหล่านี้มันอาจเป็นสิ่งที่ช่วยชีวิตคุณไว้ก็ได้


อาจไม่ได้สำคัญมากนักว่าจะเป็นศูนย์ไฟฉายหรือไฟฉายที่ถือไว้ด้วยมือ ถ้าเป็นไปได้ควรมีทั้งสองแบบแล้วเลือกใช้ให้เหมาะสมกับสถานะการณ์เป็นดีที่สุด


การยิงปืนในภาวะแสงต่ำนั้นที่สำคัญที่สุด คือ การแยกแยะเป้าหมาย ให้ได้ก่อนว่าเป็นภัยคุกคามหรือไม่ นอกจากดูที่ใบหน้าแล้วว่าเป็นคนรู้จักหรือไม่ ยังต้องดูที่มือทั้งสองข้างเสมอเพื่อมองหาอาวุธ อีกทั้งต้องสังเกตหาสัญญาณซึ่งบ่งบอกว่าคนร้ายได้แสดงลักษณะที่เป็นภัยคุกคามออกมาแล้วจึงจะทำการยิงได้


คิดไว้เสมอว่า ระยะห่างเป็นเพื่อนของคุณเสมอ (Distance is always your friend) ดังนั้นคงไว้ซึ่งระยะห่างระหว่างเรากับภัยคุกคาม หรือพยายามถอยห่างออกจากภัยคุกคามหรือสถานที่ซึ่งคิดว่าภัยคุกคามอาจหลบซ่อนอยู่ เช่น มุมทางเดิน ขอบประตู เป็นต้น


TAS สอนการยิงปืนในภาวะแสงต่ำใน TAS force 2 สำหรับประชาชน และ TAS force Pro สำหรับเจ้าหน้าที่รักษากฎหมาย


สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”


เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง The Light and The Handgun ของ Massad Ayoob

Friday, December 3, 2010

Shooting on the Move

Shooting on the Move



ล้ำลือกันว่า มิยาโมโต้ มูซาชิ (Miyamoto Musashi) เป็นนักดาบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น เชื่อกันว่ามีคนสังเวยชีวิตภายใต้คมดาบของเขามากกว่าหกสิบคน แสดงว่าเขาต้องรู้เคล็ดลับอะไรบางอย่างเกี่ยวกับการเผชิญหน้าซึ่งมีชีวิตเป็นเดิมพัน


เขาได้เขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ “คัมภีร์ห้าห่วง (Book of Five Rings)” เขาได้เขียนถึงความสำคัญของการเคลื่อนไหวขณะต่อสู้ไว้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นดาบหรืออาวุธปืนการก้าวเท้า (Footwork) และการจัดระเบียบร่างกายขณะเคลื่อนที่หรือเคลื่อนไหวล้วนเป็นสิ่งสำคัญ


แทคติกหรือกลวิธีต่างๆที่ใช้ในสถานการณ์ซึ่งตึงเครียดมากๆควรใช้วิธีที่เรียบง่ายและเชื่อถือได้ ถึงแม้การเดินจะเป็นสิ่งที่ทุกคนคุ้นเคย แต่การเดินไปยิงไปนั้นเป็นอะไรที่แปลกออกไปอย่างมาก การเคลื่อนที่ยิงได้ดีนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย หนึ่งในนั้นก็คือ การก้าวเท้าอย่างถูกต้อง(Proper footwork)


หลักทั่วๆไปปลายเท้าควรชี้ไปในทิศทางที่เรากำลังเคลื่อนที่ไป ในขณะที่ร่างกายส่วนบนหันไปทางเป้าหมาย การเดินแบบนี้จะลดโอกาสที่จะเสียสมดุล สะดุดหกล้ม ยกเว้นการเคลื่อนที่ไปด้านข้างอย่างรวดเร็วหนึ่งหรือสองก้าว ซึ่งทำโดยก้าวแรกให้ยาวจากเท้าข้างที่ใกล้ที่สุดในทิศทางที่จะไป แล้วตามด้วยก้าวสั้นๆของเท้าอีกข้างเพื่อรักษาระยะห่างของเท้าให้เท่ากับหัวไหล่


ในการเคลื่อนที่ไปข้างหน้าแต่ละก้าวให้เท้าสัมผัสพื้นโดยเริ่มจากส้นเท้าไปปลายเท้า และทำกลับกันในกรณีที่เดินถอยหลัง การเคลื่อนที่แบบนี้จะช่วยลดโอกาสที่จะลื่นหกล้ม ทุกก้าวจะรับทราบถึงสภาพสิ่งกีดขวางบนพื้นก่อนที่ร่างกายทั้งหมดจะเคลื่อนไปเต็มตัว


ในการเคลื่อนที่ไปด้านข้างยังมีอีกวิธีหนึ่ง คือ ใช้วิธีการไขว้ขา (Cross-strep) ไม่ว่าจะจะไขว้ไปด้านหน้าหรือด้านหลังของขาอีกข้าง โดยทั่วไปการก้าวเท้าแบบไขว้ขานี้ไม่ค่อยแนะนำเพราะจะเสียสมดุลหรือหกล้มได้ง่าย แต่วิธีนี้บางครั้งก็ใช้ได้ในกรณีที่กำลังเคลื่อนที่ไปในทิศทางหนึ่งและทำการยิงเป้าหมายจากด้านหลัง


ในขณะเคลื่อนที่เข่าควรงอเล็กน้อยซึ่งจะทำให้ทรงตัวได้ดีในพื้นที่ลื่นหรือขรุขระ อีกทั้งสามารถควบคุมการเคลื่อนที่ของศีรษะได้ดีกว่า หากศีรษะเคลื่อนที่มากจะทำให้มีปัญหาในการเล็งปืน การงอเข่าเล็กน้อยจะทำให้ศีรษะเคลื่อนที่น้อยลง และควรก้าวเท้าสั้นๆ ทั้งหมดนี้จะทำให้ปากกระบอกปืนเคลื่อนไหวน้อยลง


ข้อผิดพลาดที่พบบ่อยในการเคลื่อนที่ยิง เช่น การก้าวเท้ายาวเกินไปหรือวิ่ง ถึงแม้อาจจะจำเป็นในบางสถานการณ์ ควรเคลื่อนที่ยิงให้เร็วเท่าที่จะสามารถทำการยิงถูกเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ ในบางครั้งเราอาจต้องวิ่ง บางครั้งต้องยิงปืน แต่เราไม่ควรทำทั้งสองสิ่งนี้พร้อมกันเพราะโอกาสพลาดเป้าหมายได้มากโดยเฉพาะเมื่อทุกนัดมีความสำคัญ


นอกจากนั้นให้ร่างกายส่วนบนหันไปทางเป้าหมายตลอดเวลา และโน้มตัวส่วนบนไปข้างหน้าเล็กน้อย เพราะสิ่งนี้จะทำให้รักษาสมดุลของร่างกายได้ดีขึ้นและมีผลทางจิตใจในเชิงรุก (Aggressive) การคงท่าทางเชิงรุก (Aggressive posture) ด้วยการโน้มตัวส่วนบนไปข้างหน้าเข้าหาเป้าหมายเล็กน้อยเช่นนี้เป็นสิ่งที่สำคัญถึงแม้จะเป็นการเดินถอยหลังก็ตาม


การเคลื่อนที่ยิงควรทำให้เป็นธรรมชาติโดยเริ่มฝึกจากการเคลื่อนที่ของเท้าก่อนแล้วค่อยนำปืนเข้ามาประกอบการฝึกให้เป็นขั้นเป็นตอนไป ทำการฝึกยิงในขณะเคลื่อนที่และเมื่อกระสุนหมดหรือเกิดปัญหาให้ฝึกบรรจุกระสุนหรือแก้ไขปัญหาขณะเคลื่อนที่ด้วย เพราะในสถานการณ์จริงบางครั้งอาจไม่มีเวลาให้หยุดบรรจุกระสุนหรือแก้ไขเหตุติดขัดของปืน การฝึกเช่นนี้จะทำให้เรารู้ว่าตนเองจะต้องเคลื่อนที่เร็วแค่ไหนในการทำการยิงที่ดีหรือแก้ไขเหตุติดขัดของปืนได้


การฝึกที่ช่วยในการพัฒนาทักษะนี้อีกอย่างหนึ่ง คือ การใช้อาวุธปืนในสถานการณ์จำลอง (Force-on-force scenarios) ด้วยปืนอัดลม (Airsoft) ซึ่งปืนชนิดนี้เป็นที่ยอมรับในการฝึกของเจ้าหน้าที่รักษากฎหมายทั่วประเทศมานานพอสมควรแล้ว


คงต้องยอมรับว่ากลุ่มกระสุนที่ยิงเป้าหมายขณะเคลื่อนที่จะไม่หนาแน่นเท่ากับการยืนยิงอยู่กับที่ แต่ทักษะนี้สำคัญอย่างยิ่งสำหรับการยิงปืนในสถานการณ์จริง


TAS สอนการเคลื่อนที่ยิงอย่างถูกต้องให้กับผู้รับการฝึกใน TAS force 2


สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”


เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Tactical Move ของ Richard Nance

Friday, November 26, 2010

Good Holster

Good Holster



นาย Clint Smith เป็นครูสอนยิงปืนที่มีชื่อเสียงของอเมริกา เขาเป็นคนหนึ่งซึ่งพกปืนสั้นและใช้ปืนเกือบทุกวัน นอกจากนั้นเขายังสังเกตุการพกและใช้ปืนของบุคคลอื่นด้วย


หน้าที่ของซองปืน คือ การป้องกันปืนจากการตกหล่น ป้องกันการถูกแย่งปืนออกจากซองโดยบุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่ผู้ที่พกมัน ดังนั้นไม่ว่าซองปืนจะจับยึดปืนด้วยกลไกใด อาทิเช่น ใช้ความฝืด (Friction) ระบบล็อก (Lock) หรือใช้สายรัด (Strap) ก็เพื่อให้ปืนนั้นยังคงอยู่ในซองปืนอย่างปลอดภัย


จากประสบการณ์ที่ผ่านมาเขาได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับคุณสมบัติของซองปืนที่ดีสำหรับประชาชนไว้ดังนี้


- ซองปืนต้องปกปิดโกรงไกปืน ไกปืนไม่ควรโผล่ออกมาในขณะที่ปืนอยู่ในซองปืน เพื่อป้องกันการเหนี่ยวไกโดยบุคคลอื่นหรือตัวเราเองโดยไม่ตั้งใจ


- ซองปืนควรใส่ได้พอดีกับเข็มขัด เพื่อให้ซองปืนยังกระชับดีแม้ในขณะเคลื่อนที่หรือเคลื่อนไหวร่างกาย


- ซองปืนที่ดีนั้นเราควรสามารถชักปืนออกจากซองได้ไม่ว่าจะใช้มือข้างใด คุณสมบัตินี้หลายคนอาจโต้แย้งโดยเฉพาะผู้ที่ใช้ซองปืนซึ่งมีระดับความปลอดภัยสูงๆ (High-level retention holsters) ซึ่งใช้กันมากในหมู่เจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบ แต่สำหรับประชาชนหรือตำรวจในช่วงที่ไม่ได้ปฎิบัติหน้าที่ (Off-duty cops) นั้น เขาคิดว่าซองปืนซึ่งสามารถชักปืนออกมาได้ไม่ว่าจะใช้มือข้างใดเป็นคุณสมบัติที่สำคัญมากๆ เพราะหากมือหรือแขนข้างถนัดเกิดบาดเจ็บเราจำเป็นจะต้องชักปืนออกจากซองด้วยมือข้างไม่ถนัดให้ได้


ผู้รับการฝึกในศูนย์ฝึกของเขานั้น บางคนแม้แต่ในบ้านของตนเองปืนก็ไม่ใส่ในซองปืน แต่นาย Clint Smith จะให้เขาใช้ซองปืนในขณะฝึก และสำหรับคนซึ่งยังไม่มีซองปืนเขาก็แนะนำว่าควรมี


คนดีๆหลายคนต้องบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการมีซองปืนที่ไม่เหมาะสมหรือไม่มีซองปืน เป็นเหตุให้ปืนลั่นโดยไม่เจตนา มันคงเป็นสิ่งที่แย่มากๆหากคุณได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากปืนของตนเอง ดังนั้นนอกจากมีปืนที่ดีแล้วยังต้องมีซองปืนที่ดีด้วย


สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”


เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Holster Thoughts ของ Clint Smith

Friday, November 19, 2010

เตือนก่อนยิง

เตือนก่อนยิง


ปืน เป็นอาวุธอันตรายที่กฎหมายควบคุมตั้งแต่การครอบครอง การพกพา และผลการยิง ถ้าไม่มีใบอนุญาตครอบครองหรือพกพา จะถูกลงโทษตามกฎหมายปืน การพกปืนไม่มิดชิด อวดกร่างขู่ชาวบ้าน แม้มีใบอนุญาตพก ก็อาจถูกลงโทษตามกฎหมายอาญาได้ เมื่อลั่นกระสุนปืน ก็ยังใช้ผลการยิงลงโทษผู้ยิงได้อีกด้วย ดังนั้น การมีปืนจึงต้องมีสติตลอดเวลา


ผลการยิงที่ฆ่าหรือทำให้อีกฝ่ายบาดเจ็บได้ ผู้ยิงต้องรับโทษหนักเบาตามผลนั้น แต่กฎหมายก็มีข้อยกเว้นเพื่อช่วยคนใช้ปืนที่มีเจตนาสุจริตด้วย เช่น การป้องกันตัวเองพอสมควรแก่เหตุที่ไม่ถือว่ามีความผิด การป้องกันตัวเกินสมควรแก่เหตุหรือเหตุจำเป็นยิ่งยวดซึ่งถือว่ามีความผิด แต่รับโทษน้อยลงเท่าที่ศาลจะเห็นสมควร เป็นต้น คำตัดสินของศาลมาจากดุลพินิจตามข้อเท็จจริงและหลักกฎหมายที่ใช้พิจารณาคดี เรื่อง ดุลพินิจ ซึ่งเป็นภาษากฎหมาย ถ้าเรียกให้เข้าใจง่ายคือ การพิจารณาไตร่ตรองด้วยมุมมองและความเชื่อส่วนตัวของผู้ตัดสินคดี นั่นเอง


การพิจารณาขอบเขตของการพอสมควรหรือเกินกว่าเหตุของผู้ใช้อาวุธนั้นไม่มีหลักแน่นอน นักกฎหมายจึงต้องสังเกตจากดุลพินิจของผู้ตัดสินคดีว่าขอบเขตอยู่ที่ใดเพื่อประเมินผลของคดีว่าจะถูกลงโทษหรือไม่ อย่างไร ทั้งนี้ยังมีตัวแปรสำคัญคือ ทัศนคติของผู้ตัดสินคดีต่อรายคดีอีกด้วย ผลคดีที่เกี่ยวข้องกับอาวุธไม่ว่าจะเป็นมีดหรือปืนที่ผู้ใช้ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายบ่อยมาก คือ การเตือนก่อนใช้อาวุธ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เสียงหรือแสดงพฤติกรรมบางอย่าง เช่น ยิงเตือนที่ไม่ได้เล็งไปยังเป้าหมายโดยตรง หรือจำนวนหรือทิศทางการแทงมีด เป็นต้น


การเตือนคู่ต่อสู้ก่อนสำหรับคนใช้ปืน มักแย้งว่าเป็นการทำให้ตัวเองเสียเปรียบในการตอบโต้หรือรุกก่อน อยากให้ดูสถานการณ์และเจตนารมณ์ของผู้ใช้ปืนว่า กำลังต่อสู้เอาชนะกัน หรือ ป้องกันตัวเองให้รอดพ้นภัยร้าย เนื่องจากให้ผลทางกฎหมายแตกต่างกัน เราต้องไม่ลืมว่าเมื่อมีปืนในครอบครองเท่ากับเท้าข้างหนึ่งก้าวเข้าไปอยู่ในคุกแล้ว อีกข้างหรือร่างกายจะเข้าไปด้วยหรือไม่ ขึ้นอยู่ที่ผลของการใช้ปืน


ถ้าผู้ใช้ปืนต้องการยิงเพื่อเอาชนะอีกฝ่าย หากมีความตายเกิดขึ้นหรือการบาดเจ็บ จักต้องรับโทษฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาหรือทำร้ายให้เขาบาดเจ็บธรรมดาหรือสาหัสขึ้นอยู่ที่ลักษณะบาดแผล โทษประเภทนี้มีตั้งแต่ประหารชีวิตลดหลั่นจนถึงจำคุกมากกว่า 20 ปี ตัวอย่างเช่น การดวลปืนด้วยใจคึกคะนอง การยิงเข้าไปในรถเมล์หรือในที่ชุมนุมของคนจำนวนมาก เป็นต้น ในอีกเจตนารมณ์หนึ่ง คือ ยิงเพื่อป้องกันตัวเองให้พ้นภัยร้าย มักเริ่มต้นด้วยการไม่อยากฆ่าคน แต่อยากไล่เขาหรือหนีไปจากสถานที่อันตรายนั้น กฎหมายจึงมีข้อยกเว้นให้เจตนาประเภทนี้ไว้ที่เรียกกันว่า ป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจะถือว่า ไม่มีความผิดใดอันเกิดจากการใช้ปืน เมื่อไม่มีความผิด ก็ไม่ต้องรับโทษ แม้ผลของการยิงอาจฆ่าหรือทำร้ายโจรก็ตาม



จุดประสงค์ของการใช้ปืนเป็นหัวใจสำคัญ หลักกฎหมายยึดถือคำกล่าวที่ว่า “กรรมหรือการกระทำเป็นเครื่องมือชี้เจตนาของผู้กระทำได้” หมายความว่า จะมีคำพูดหรือไม่ก็ตาม เจตนาก็ดูได้จากการกระทำของบุคคล ดังนั้น หลายคดีที่มีการใช้ปืนก่อเหตุจึงดูที่พฤติกรรมการยิงเป็นหลักก็มองเห็นเจตนาของผู้ใช้ปืนได้ การจำแนกว่าการยิงปืนเป็นการจงใจฆ่าหรือป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมาย มักดูที่พฤติกรรมการยิงปืนของคู่คดี การเตือนก่อนยิง เป็นเรื่องสำคัญที่จะแสดงเจตนาว่าไม่ต้องการฆ่าใครก่อน หากยังรุกเข้ามาอีก จึงมีสิทธิ์ยิงใส่เป้าหมายได้ตามฝีมือของแต่ละคน


การเตือนก่อนยิงนั้นทำได้หลายวิธี เช่น เตือนด้วยเสียง คงเคยเห็นตำรวจทุกคนมักตะโกนเตือนให้วางอาวุธ มิฉะนั้น จะยิงคนร้าย หลังการเตือนแล้วยิงตาย ตำรวจก็ไม่ต้องรับผิดชอบทางกฎหมาย มันเป็นวิธีปฏิบัติแบบสากล การเตือนด้วยเสียงช่วยให้คนร้ายและผู้ใช้ปืนตั้งสติคิดและพิจารณาชั่วอึดใจหนึ่ง กฎหมายจึงคุ้มครองผู้ใช้ปืนเมื่อได้ส่งสัญญาณเตือนแก่คนร้ายก่อน ถ้าฝ่ายนั้นยังรุกรานต่อไป ผู้ใช้ปืนจึงเกิดสิทธิป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมายขึ้น ขณะที่คนร้ายหมดสิทธิอ้างการตอบโต้เพื่อป้องกันชีวิตเพราะเขาเป็นผู้เริ่มคุกคามและไม่ยอมหยุดตามคำเตือนนั้น


การเตือนอีกแบบหนึ่งคือ การเตือนโดยใช้พฤติกรรม เช่น การยิงเตือนไปยังจุดใกล้ตัวคนร้าย เป็นต้น จุดยิงเตือนจะบอกยืนยันเจตนาของผู้ใช้ปืนว่า ต้องการฆ่าตั้งแต่เริ่มแรก หรือ อยากเตือนให้คนร้ายคิดตรองว่าจะรุกคืบคุกคามเหยื่อหรือถอยหลังกลับไป การตัดสินใจของคนร้ายช่วยให้ผู้ใช้ปืนปลอดภัยขึ้นถ้าหันหลังกลับไปหรือสร้างเกราะคุ้มครองทางกฎหมายให้ผู้ใช้ปืนเมื่อรุกคืบเข้าหาอีก กฎหมายมองว่า สัญญาณเตือนทุกรูปแบบมอบเวลายั้งคิดให้แล้ว การตัดสินใจของโจรจักส่งผลต่อบทลงโทษหรือคุ้มครองคนร้ายและคนใช้ปืนในเวลาเดียวกัน


สิ่งที่พึงระวังสำหรับคนใช้ปืนคือ การยิงข้างหลัง ถ้าคนร้ายหันหลังกลับไปแล้วถูกยิงข้างหลัง ผู้ใช้ปืนจะถูกลงโทษทางกฎหมายเพราะสิทธิป้องกันตัวจากภัยร้ายหมดไปแล้วเมื่อโจรหันหลังหนี กระสุนยิงด้านหลังนัดนั้นจะส่อเจตนาฆ่าคนอันเป็นความผิดกฎหมายอาญาทันที แม้โจรจะบุกเข้าบ้านของท่านก็ตาม เราต้องไม่ลืมว่าทางกฎหมายช่วงเวลา ผลจากกระสุนแต่ละนัด พฤติกรรมคนร้ายและเจ้าของปืน จะบอกเจตนาได้ชัดเจนว่าป้องกันตัวหรือจงใจฆ่าคน กรณีที่โจรหันหลังหนีแล้วถูกยิงข้างหลัง กฎหมายแบ่งส่วนการรับโทษไว้ระหว่างโจรกับเจ้าของปืน คือ โจรก็รับผิดฐานบุกรุกบ้านของคนอื่น ส่วนผู้ใช้ปืนก็รับโทษฐานฆ่าคนโดยเจตนา แต่จะถือเป็นการป้องกันตัวเกินสมควรแก่เหตุด้วยหรือไม่ ศาลจะลงโทษมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล


เคยมีเหตุการณ์ที่โจรบุกเข้าปล้นบ้านนักแม่นปืนทีมชาติโดยพกมีดไปด้วยและไม่รู้ภูมิหลังเจ้าของบ้านมาก่อน เขาก็ใช้ปืนยิงเตือนก่อนโดยยิงไปที่กระถางต้นไม้ใกล้โจร มิได้เลือกใช้เสียง น่าจะเป็นไปตามหลักการต่อสู้ด้วยปืนที่เลี่ยงการใช้เสียงเพื่อความได้เปรียบด้านยุทธวิธี แต่คนร้ายยังรุกคืบต่อไป เขายิงใส่แขนและขาของคนร้ายจนบาดเจ็บลุกหนีไม่ได้ ทั้งที่ยิงฆ่าตายในฐานะผู้เชี่ยวชาญการใช้ปืนก็ได้ เขาไม่ถูกดำเนินคดีทางศาล เพราะตำรวจและอัยการเห็นพ้องว่าเป็นการป้องกันตัวเองพอสมควรแก่เหตุถือว่ากระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย นี่เป็นตัวอย่างของผู้ควบคุมปืนได้อย่างสมบูรณ์และใช้ปืนอย่างสุจริตใจ


ทุกครั้งที่ถือปืนจักต้องมีสติติดกายไว้ กระสุนทุกนัดที่ลั่นออกไปหมายถึงความรับผิดชอบทางกฎหมายต่อสังคมและครอบครัวของเหยื่อ กฎหมายจักคุ้มครองเฉพาะคนสุจริตเท่านั้น ไม่ว่าจะพูดโกหกอย่างไร กฎหมายสามารถมองเห็นเจตนาได้จากการกระทำเสมอ หากเลือกปืนเพื่อคุ้มครองชีวิตหรือทรัพย์สิน ก็ควรรู้จักวิธีควบคุมปืนให้ใช้ได้อย่างปลอดภัยและกำหนดขอบเขตผลการใช้ปืนได้ ขอให้จำว่า ตอนถือปืน เราควบคุมชีวิตของตนได้ เมื่อลั่นกระสุนออกไป คนตัดสินชะตากรรม จักเป็นคนอื่น เช่น ตำรวจ อัยการ ศาล เป็นต้น ทุกครั้งที่ถือปืน จงตั้งสติให้มั่นคง เพราะสติช่วยให้เดินห่างจากคุก


เรียบเรียงโดย Black Cuff

Friday, November 12, 2010

Small Frame Revolver

Small Frame Revolver



ปืนสำรอง หรือ Back-up Gun (BUG) นั้น สำหรับหลายคนแล้วคงนึกถึงปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติหรือปืนลูกโม่โครงเล็กลำกล้องสั้น เก็บไว้ในซองปืนในตำแหน่งซึ่งปกปิดได้ง่าย เช่น บริเวณเอวด้านในกางเกง ข้อเท้า เป็นต้น แต่สำหรับนาย Mike “Duke” Venturino แล้วเขากลับเลือกที่จะพกไว้ที่กระเป๋ากางเกงด้านหลัง (Hip Pocket)


เนื่องจากเขาเป็นคนอ้วนและไม่ได้คาดเข็มขัดมาหลายปีแล้ว ดังนั้นเมื่อไม่คาดเข็มขัดจึงไม่ใช้ซองปืนแบบคาดเอว เขาเลือกใช้ปืนลูกโม่โครง J ของ Smith&Wesson (โครงปืนขนาดเล็ก) ลำกล้องสั้นซึ่งบรรจุกระสุนขนาด .38 special ได้ 5 นัด โดยเลือกรุ่นที่ไม่มีนกสับออกมาข้างนอก (ใช้นกสับซึ่งหลบอยู่ในโครงปืน) จึงเป็นปืนที่ยิงแบบ Double action เท่านั้น


การที่เขาเลือกปืนซึ่งใช้กระสุนขนาด .38 special มากกว่าจะเป็นกระสุนขนาด .357 Magnum เป็นเพราะเมื่อเขาทดลองยิงด้วยกระสุนขนาด .357 Magnum แล้ว พบว่า นัดแรกยิงได้ไม่มีปัญหาแต่ด้วยแรงกระสุนที่รุนแรงจนทำให้ยากที่จะยิงนัดต่อๆไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่เขาไม่มีปัญหากับการยิงด้วยกระสุนปืนขนาด .38 special แม้แต่น้อย


ที่ระยะสิบฟุตเขาสามารถส่งกระสุนห้านัดเข้าเป้าได้อย่างแม่นยำ (กลุ่มกระสุนกว้างประมาณสามนิ้ว) และที่เลือกปืนซึ่งเป็นนกสับหลบใน เพราะหากมีนกสับยื่นออกมาจากโครงปืนอาจไปเกี่ยวกับชายเสื้อหรือขอบกางเกงในขณะทำการชักปืนออกมาใช้งานได้ การไม่มีนกสับนอกโครงปืนจึงทำให้การชักปืนทำได้อย่างราบรื่นไม่ติดขัด


เขาเคยทดลองใช้กระสุนขนาด .38 special 158 เกรน Semiwadcutters ยิงจากปืนลูกโม่พกซ่อนสองกระบอก โดยปืนกระบอกแรกเป็นปืนซึ่งใช้กับกระสุนขนาด .38 special เท่านั้น อีกกระบอกเป็นปืนขนาด .357 Magnum พบว่าความเร็วกระสุนจากปืนกระบอกแรก 760 ฟุตต่อวินาที ส่วนกระบอกที่สอง 707 ฟุตต่อวินาที (ปืนซึ่งใช้กระสุนขนาด .38 special เท่านั้น ให้ความเร็วกระสุนมากกว่ากระสุนขนาด .38 special ซึ่งยิงจากปืน .357 Magnum)


เมื่อปืนอยู่ในกระเป๋ากางเกงก็จำเป็นที่จะต้องปล่อยชายเสื้อลงมาปิดไว้ การชักปืนออกมาใช้งานก็ทำได้ไม่ยาก ในช่วงหน้าหนาวซึ่งต้องใส่แจ็คเก็ตหนาๆ เขาก็เพียงหยอดปืนลงในกระเป๋าเสื้อแจ็คเก็ตแทนก็เป็นอันใช้ได้แล้ว


ปืนลูกโม่โครงเล็ก (โครง J ของ S&W) ที่มีนกสับหลบอยู่ในโครงปืน นิยมใช้เป็นปืนพกซ่อนและสะดวกในการชักออกมาใช้งาน เพราะไม่มีส่วนยื่นเกะกะมาเกี่ยวชายเสื้อให้สะดุด


การเลือกปืนพกซ่อนขนาดเล็กนั้น เราควรทดลองยิงดูก่อนว่าปืนและกระสุนที่ใช้นั้นเราสามารถคุมปืนได้ดีหรือไม่ ไม่ใช่ว่าเลือกที่จะใช้แต่กระสุนแรงๆ ถึงแม้ว่าเราจะยิงได้ดีจากปืนขนาดมาตรฐานซึ่งเราพกประจำ แต่เมื่อยิงจากปืนโครงเล็กแล้วเราอาจไม่สามารถคุมปืนได้ดีก็ได้ อีกทั้งควรฝึกชักออกมายิงจากตำแหน่งที่พกซ่อนด้วย


สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”


เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Hip Pocket Handguns ของ Mike “Duke” Venturino

Friday, November 5, 2010

Tab-Rack-Bang (TRB)

Tab-Rack-Bang (TRB)



เหตุติดขัดขณะทำการยิงของปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติที่พบบ่อย ได้แก่ กระสุนด้าน, ใส่ซองกระสุนไม่สนิท, ปลอกกระสุนติดอยู่ที่ช่องคายปลอกคล้ายปล่องไฟ (Stovepipe malfunction), มีกระสุนสองนัดอยู่ในรังเพลิง (Double feed)


แนวทางแก้ไขทั่วไปก็ขึ้นกับสาเหตุ อาทิเช่น กระสุนด้านก็ต้องกระชากสไลด์ถอยหลังหนึ่งครั้งเพื่อคัดกระสุนที่อยู่ในรังเพลิงออกทิ้งไปและนำกระสุนใหม่จากซองกระสุนเข้ารังเพลิงเพื่อทำการยิงต่อไป


หากใส่ซองกระสุนไม่สนิทก็ต้องทำการดันท้ายซองกระสุนให้สนิท แล้วทำการกระชากสไลด์ถอยหลังหนึ่งครั้งเพื่อป้อนกระสุนเข้ารังเพลิง


ถ้ายิงไปแล้วปลอกกระสุนถูกดีดออกแต่กลับมาติดอยู่ที่ช่องคายปลอกกระสุนจะมีลักษณะคล้ายปล่องไฟของฝรั่งจึงเรียกว่า Stovepipe ก็ต้องใช้มือข้างไม่ถนัดทำการปัดปลอกกระสุนให้หลุดออกจากช่องคายปลอก (ปัดเข้าหาตัว) สไลด์จะเคลื่อนไปข้างหน้าทำให้ป้อนกระสุนนัดต่อไปและทำการยิงได้


ในบางครั้งมีกระสุนอยู่ในช่องรังเพลิงสองนัด (Double feed) ทำให้ไม่สามารถยิงได้ เราต้องปลดซองกระสุนออกก่อน (ควรเกี่ยวซองกระสุนด้วยนิ้วก้อยของมือข้างที่ถือปืน) แล้วกระชากสไลด์ถอยหลังหลายๆครั้งเพื่อคัดกระสุนทั้งสองนัดออกจากรังเพลิงให้หมด จากนั้นใส่ซองกระสุนกลับเข้าไปใหม่ทำการกระชากสไลด์ถอยหลังหนึ่งครั้งเพื่อป้อนกระสุนนัดใหม่เข้ารังเพลิงแล้วจึงทำการยิงต่อไป


ขณะทำการยิงเมื่อเหนี่ยวไกไปแล้วแต่กระสุนไม่ออกทั้งๆที่กระสุนยังไม่หมด (สไลด์ยังไม่ค้าง) และไม่ได้ยินเสียงระเบิดของดินปืน โดยทั่วไปก็ต้องละสายตาออกจากเป้าหมายมาดูที่ตัวปืนเพื่อหาสาเหตุว่าเกิดอะไรขึ้นแล้วทำการแก้ไขไปตามสาเหตุที่พบ ซึ่งอาจเสียเวลามากโดยเฉพาะเมื่อกำลังเผชิญหน้ากับภัยคุกคามร้ายแรง


Tab-Rack-Bang (TRB) เป็นแนวทางหนึ่งซึ่งทำให้การแก้ไขเหตุติดขัดระหว่างการยิงปืนทำได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น


Tab หมายถึง การกระแทกท้ายซองกระสุนด้วยฝ่ามือข้างไม่ถนัด เพื่อดันให้ซองกระสุนแนบสนิทกับด้ามปืน


Rack หมายถึง การกระชากสไลด์ถอยหลังหนึ่งครั้งเพื่อคัดกระสุนที่อยู่ในรังเพลิงออกทิ้งไป (อาจเป็นกระสุนที่ด้าน) หรือปลอกกระสุนซึ่งติดอยู่ที่ช่องคายปลอกให้หลุดออกมา บางคนอาจแนะนำให้เอียงปืนเล็กน้อยให้ช่องคายปลอกชี้ลงพื้นเพื่อให้ปลอกกระสุนหลุดออกมาได้ง่ายขึ้น

Bang เป็นคำที่ใช้แทนเสียงปืนดัง “ปั่ง!” ตามแบบฝรั่ง จึงหมายถึง ให้ทำการเหนี่ยวไกยิงได้


เมื่อทำ TRB แล้วยังไม่สามารถยิงได้แสดงว่าน่าจะเป็น Double feed ซึ่งต้องทำการแก้ไขตามวิธีของ Double feed ดังกล่าวข้างต้น


TRB สามารถใช้ได้ในเหตุติดขัดส่วนใหญ่ของปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติ แต่ก็มีเหตุติดขัดบางประการที่วิธีนี้ไม่สามารถแก้ไขได้ เช่น กระสุนลั่นออกไปแล้วแต่หัวกระสุนติดอยู่ภายในลำกล้องปืน หากเรายิงซ้ำไปอีกอาจทำให้ลำกล้องปืนแตกได้ ดังนั้นต้องแยกให้ดีว่าเหนี่ยวไกไปแล้วมีเสียงระเบิดของดินปืนแล้วหรือยัง ถ้ายังไม่มีการระเบิดของดินปืนก็ให้ใช้ TRB ได้ แต่หากไม่แน่ใจอาจต้องมองดูในลำกล้องปืนด้วย (อย่าลืมทำให้ปืนปลอดภัยก่อน) ปืนบางกระบอกบกพร่องที่กลไกเมื่อยิงกระสุนหมดแล้วแต่สไลด์ไม่ค้างทำให้คิดว่ากระสุนยังไม่หมด เป็นต้น


วิธี TRB นิยมใช้กันมากและมีสอนกันในหลายศูนย์ฝึกอบรมยิงปืนทั่วโลกรวมทั้ง TAS ด้วย


สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”


เรียบเรียงโดย Batman

Thursday, October 28, 2010

Flash Sight Picture

Flash Sight Picture



Flash Sight Picture เป็นรูปแบบการเล็งปืนซึ่งใช้ในการยิงเป้าหมายระยะใกล้อีกรูปแบบหนึ่ง วิธีการนั้นอยู่ระหว่างการเล็งปืนอย่างละเอียดตามปกติและการยิงแบบสัญชาติญาณที่เรียกว่า Quick Kill ซึ่งจะมองชัดที่เป้าหมายเป็นหลัก (อ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความเรื่อง Instinct shooting)


การเล็งแบบนี้จะมองชัดที่ศูนย์หน้าเป็นหลัก โดยยกปืนขึ้นสู่ระดับสายตา ให้แนวศูนย์หน้าและหลังอยู่ในระนาบเดียวกันตลอด เมื่อต้องการยิงที่ตำแหน่งใดก็นำศูนย์หน้าไปทาบกับเป้าหมายแล้วทำการเหนี่ยวไกทันที


ประโยชน์ของ Flash Sight Picture คือ สามารถทำการยิงได้เร็วและแม่นยำ เป็นรูปแบบหนึ่งซึ่งนิยมใช้ในการยิงระบบต่อสู้เช่นกัน


การฝึกยิงรูปแบบนี้ควรเริ่มจากช้าๆก่อน แล้วค่อยๆเร่งความเร็วขึ้น ยิงทีละนัดและดูผลการยิง หลังจากนั้นก็เพิ่มจำนวนวงกระสุนให้มากขึ้นในการยิงแต่ละรอบ


ภัยคุกคามในระยะใกล้นั้นเรามีเวลาตอบสนองสั้นมาก การเล็งปืนแบบ Flash Sight Picture ทำให้สามารถทำการยิงเป้าหมายได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ เป็นอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งมีประสิทธิภาพเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก ศูนย์หน้าที่มีจุดสีหรือหลอดสี (Fiber optics) จะทำให้ใช้วิธีนี้ได้ง่ายขึ้นเนื่องจากมองเห็นศูนย์หน้าได้ชัดขึ้น (เห็นได้ง่ายกว่าศูนย์หน้าที่เป็นเหล็กรมดำธรรมดา)


การมองชัดที่เป้าหมายขณะยิงตลอดเวลาตามวิธีการยิงด้วยสัญชาติญาณนั้น บางคนเชื่อว่าเป็นการยากที่จะเห็นตำแหน่งที่ยิงถูกเป้าหมายเพราะขึ้นกับสีเสื้อผ้าที่คนร้ายใส่ เราต้องดูจากปฏิกิริยาของเป้าหมายที่ตอบสนองต่อการถูกยิง ดังนั้นบางคนจึงแนะนำให้ดูที่ศูนย์หน้าดีกว่าตามวิธีดังกล่าว


ไม่ว่าการยิงในรูปแบบใดต่างก็มีข้อดี ข้อด้อย ข้อจำกัด ด้วยกันทั้งสิ้น การฝึกฝนและเลือกนำวิธีการต่างๆมาใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อสร้างความได้เปรียบให้กับตนเองในการเผชิญกับภัยคุกคามที่ร้ายแรง


การยิงปืนต่อสู้ในสถานการณ์จริงนั้นมักเกิดขึ้นในระยะใกล้ ดังนั้นเราต้องสามารถตอบสนองต่อภัยคุกคามได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ การฝึกยิงรูปแบบนี้อาจสร้างความแตกต่างระหว่างความเป็นและความตายได้


TAS สอนการยิงปืนฉับพลันซึ่ง Flash Sight Picture เป็นรูปแบบหนึ่งที่ทำการสอนให้ผู้รับการฝึกได้เรียนรู้


สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”


เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Flash Sight Picture ของ Erik Lawrence & Mike Pannone

Thursday, October 21, 2010

Voice Power

Voice Power



ในช่วงต้นปี ค.ศ. 1980s มีเหตุการณ์หนึ่งซึ่งน่าสนใจเกิดขึ้นที่เมือง San Diego ของอเมริกา บริเวณแถบนี้เป็นเมืองท่าค้าขายทางทะเลที่สำคัญแห่งหนึ่ง มีร้านค้า ผับ บาร์ ผู้คนมากมายและก็เต็มไปด้วยอาชญากรรมเช่นกัน


กลางดึกของคืนหนึ่งตำรวจสายตรวจสองนายได้รับแจ้งว่ามีขโมยเข้าไปในร้านขายพิซซ่าแห่งหนึ่งย่าน Broadway ตำรวจทั้งสองรีบไปที่เกิดเหตุทันทีและเห็นประตูหน้าร้านซึ่งเป็นกระจกมีร่องรอยถูกกระแทกแตก ด้านหลังห้องครัวมีบันไดขึ้นไปยังห้องเก็บของของร้านขายพิซซ่า


ตำรวจทั้งสองนายพกปืนสั้นขนาด .38 Special ของ Smith & Wesson (ตำรวจยุคนั้นพกแต่ปืนลูกโม่เป็นหลัก) และมีไฟฉายในมือ ทั้งคู่ตรวจชั้นล่างจนทั่วไม่พบผู้ต้องสงสัย จึงขึ้นไปยังชั้นบนโดยตำรวจนายแรกเดินขึ้นบันไดไปก่อน ในขณะที่เพื่อนคอยคุ้มกันอยู่ที่ทางขึ้นของบันไดชั้นล่าง


ทันทีที่ตำรวจนายแรกขึ้นไปถึงก็พบการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติในเงามืดพร้อมกับเสียงดังจากการรื้อค้นข้าวของ เขาจึงพูดออกไปยังผู้ต้องสงสัยตามระเบียบที่ได้ฝึกมาว่า พวกเขาเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ San Diego และสั่งต่อว่า “หยุดอยู่กับที่!” ซึ่งเป็นขั้นตอนปกติที่ตำรวจใช้กันทั่วไป


แสงจากไฟฉายเผยให้เห็นมีดทำครัวยาวแปดนิ้วในมือของคนร้ายอย่างชัดเจน นายตำรวจคนที่สอง (Cover officer) ตามขึ้นมาอย่างกระชัดชิดคอยคุ้มกันให้เพื่อน (Contact officer) ในขณะที่เขาออกคำสั่งไปยังคนร้ายเบื้องหน้า (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง Contact and Cover Principle)


ตำรวจนายแรกเริ่มใช้คำพูดก้าวร้าวมากขึ้นด้วยน้ำเสียงที่ดังลั่น “ทิ้งมีด!, ทิ้งมีดสิโว้ย!,….” คำพูดหยาบคายจากตำรวจนายนั้นพลั่งพลูออกมาอยู่หลายนาทีเพื่อให้คนร้ายวางอาวุธ แต่คนร้ายกลับไม่ไหวติงในขณะที่ปืนของตำรวจนายนั้นยังคงจับจ้องไปที่คนร้ายอย่างไม่คลาดสายตา เขายังคงตะโกนสั่งคนร้ายด้วยน้ำเสียงที่ดังขึ้นเรื่อยๆ


ในสมัยนั้นไม่มีการตามหน่วย SWAT ไม่มีกระสุนยาง ไม่มีแก็สน้ำตา ไม่มีปืนช็อตไฟฟ้า ไม่มีหน่วยเจรจาต่อรอง มีเพียงตำรวจซึ่งเผชิญเหตุกับปืนและกระสุนจริงในมือเท่านั้น


คนร้ายยืนห่างออกไปประมาณสิบฟุต หากเขาบุกเข้าหาตำรวจก็เพียงสองถึงสามก้าวเท่านั้น และเสื้อเกราะอ่อนของตำรวจนั้นไม่สามารถหยุดความคมของมีดได้


เมื่อแสงไฟส่องมาที่ใบหน้าคนร้ายดูเหมือนแสงไฟนั้นจะทำให้คนร้ายชะงักไปชั่วขณะ ในที่สุดเขาก็ทิ้งมีดลงและยอมแพ้ในที่สุด


คนร้ายถูกนำมาที่สถานีตำรวจ เขาถูกสอบถามโดยนายตำรวจคนแรกว่า คุณรู้หรือไม่ว่าผมเกือบจะยิงคุณอยู่แล้วหากคุณไม่ทิ้งมีดลงก่อน คนร้ายรู้สึกดีใจที่นายตำรวจได้แสดงตัวให้เขารู้ก่อน ตำรวจคนนั้นถามต่อทันที “แล้วคุณรู้ได้อย่างไร?” จากน้ำเสียงของผมรึ? ... ไม่ใช่ งั้นจากเครื่องแบบของผม? …ไม่ใช่ หรือจากปากกระบอกปืนในมือของผม? ... ไม่ใช่ แล้วมันอะไรกันล่ะ?


คนร้ายบอกว่า เขาเริ่มได้ยินสิ่งที่นายตำรวจคนนั้นสั่ง เมื่อคู่หูของคุณเริ่มอุดหูของเขา (แสดงว่าตะโกนดังมาก)


ในภาวะที่ตื่นเต้นประสาทสัมผัสบางอย่างจะจำกัดลง เช่น การมองเห็นจะเป็นลักษณะที่ชัดเฉพาะตรงกลางที่เรียกว่า Tunnel vision และการได้ยินจะลดลง


เหตุการณ์นี้นำไปสู่รูปแบบการฝึกของเจ้าหน้าที่ตำรวจเกี่ยวกับการใช้ “พลังเสียง” มีการฝึกอบรมเกี่ยวกับการใช้คำสั่งต่อคนร้ายด้วยภาษาที่ใช้กันตามท้องถนน (Street phases) พบว่าได้ผลดีกว่าการใช้คำพูดพื้นๆทั่วไป


การใช้น้ำเสียงที่ก้าวร้าวและดังที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อออกคำสั่งคนร้ายนั้นถือเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งประชาชนทั่วไปก็สามารถนำมาใช้ได้เมื่อต้องเผชิญหน้ากับภัยคุกคามร้ายแรง นอกจากเป็นการข่มขวัญคนร้ายแล้วยังเป็นการปลุกเร้าความตื่นตัวของเราเองอีกด้วย


“พลังเสียง” เป็นอาวุธอย่างหนึ่งซึ่งอาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายเบื้องหน้ายุติลงโดยปราศจากความรุนแรงก็ได้


TAS สอนให้ผู้รับการฝึกใช้พลังเสียงในการออกคำสั่งคนร้าย ก่อนทำการยิงตั้งแต่ TAS 1


สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”


เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง The Light Bulb ของ Bud Johnson

Friday, October 15, 2010

A Mistake of 1911 Handling

A Mistake of 1911 Handling



ปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติ รุ่น 1911 เป็นที่นิยมมานานโดยมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง และเป็นหนึ่งในปืนที่มีการลอกเลียนแบบและพัฒนามายาวนาน เป็นที่นิยมทั้งจากเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชน มีความเชื่อถือได้ของระบบปฎิบัติการและอำนาจหยุดยั้งที่มั่นใจได้ของกระสุนขนาด .45 นิ้ว


นาย Clint Smith เป็นคนหนึ่งซึ่งใช้ปืน 1911 เป็นอาวุธประจำกายมากว่า 40 ปี ตลอดระยะเวลาดังกล่าวเขาได้เห็นข้อบกพร่องของการใช้ปืน 1911 ที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ การวางนิ้วโป้งอยู่ใต้คัน Safety ซึ่งนักกีฬายิงปืนบางคนอาจวางนิ้วโป้งในลักษณะดังกล่าว แต่เขามีประสบการณ์เห็นนักเรียนของเขาซึ่งบางคนก็เป็นนักกีฬายิงปืนได้ทำการยกคัน Safety ขึ้นโดยไม่ตั้งใจในขณะที่กำลังฝึกซ้อมอะไรหลายอย่างพร้อมๆกัน เป็นผลให้ไม่สามารถทำการยิงได้


ดังนั้นที่ถูกต้องแล้วควรวางนิ้วโป้งไว้เหนือคัน Safety เสมอ ยกเว้นช่วงเวลาสั้นๆซึ่งเราจะทำการยกคัน Safety ขึ้นเพื่อทำให้ปืนปลอดภัย (เมื่อยกคัน Safety ขึ้นจะทำให้เหนี่ยวไกไม่ได้ และสไลด์ถูกล็อกไม่สามารถเคลื่อนถอยหลังได้)


ปืนที่มีคัน Safety ข้างเดียวถือว่าดีที่สุด และสามารถฝึกการใช้คัน Safety ด้วยมืออีกข้างได้ไม่ยากนัก ส่วนปืนที่มีคัน Safety ทั้งสองข้าง (Ambi-safeties) ก็เหมาะสำหรับบุคคลซึ่งถนัดซ้าย การใช้คัน Safety ขนาดใหญ่ทั้งสองข้างของปืน (Enlarged ambi-safeties) ซึ่งถูกนำมาใช้ในการแข่งขันยิงปืนในช่วงกลางจนถึงปลาย ค.ศ. 1970


นาย Clint Smith เคยใช้คัน Safety แบบทั้งสองข้างของปืนในการแข่งขันยิงปืนและการพกพาประจำวัน เขากลับพบว่าปืนมีการปลด Safety เองโดยไม่ตั้งใจอยู่บ่อยครั้งในขณะที่ปืนยังอยู่ในซองปืนซึ่งพกพาประจำเนื่องจากการเคลื่อนไหวของร่างกาย ดังนั้นเขาต้องคอยตรวจสอบการขึ้นคัน Safety เป็นประจำจนในที่สุดก็ต้องเปลี่ยนกลับมาใช้คัน Safety แบบข้างเดียวซึ่งมีปัญหานี้น้อยกว่ามาก


สำหรับคัน Safety ยิ่งใหญ่เท่าไร ยิ่งมีโอกาสที่จะถูกกระแทกจนปลดคัน Safety โดยไม่ตั้งใจได้ง่ายขึ้น ดังนั้นสำหรับคนมือเล็กอาจเปลี่ยนคัน Safety ให้เล็กลงจะดีกว่า


นาย Clint Smith เมื่อเผชิญกับภัยคุกคามที่อันตรายจนต้องใช้อาวุธปืนนั้น เขาจะปลดคัน Safety ลงและนิ้วสัมผัสไกปืนพร้อมที่จะยิงได้ทุกเมื่อ โดยขึ้นอยู่กับการกระทำของภัยคุกคามเบื้องหน้าเป็นตัวตัดสินการตอบสนองของเขาในการใช้อาวุธปืน


ปืนไม่ว่ารุ่นใดแบบใดจะมีทั้งข้อดีและข้อด้อยเสมอ การเรียนรู้ข้อบกพร่องหรือข้อจำกัดของปืนที่เราใช้งานประจำเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้มีความปลอดภัยทั้งในขณะพกพาและใช้งาน


สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”


เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Safety Stuff ของ Clint Smith

Newcastle limousines