Friday, August 27, 2010

See and Shoot

See and Shoot



ปืนติดศูนย์ไฟฉาย (Light-mounted pistols) เริ่มนิยมมากขึ้นเมื่อหลายปีก่อนโดยเริ่มจากหน่วย SWAT ของ LAPD (กรมตำรวจนครลอสแองเจลิสของอเมริกา) ซึ่งมันได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าเป็นอุปกรณ์ที่อาจช่วยชีวิตคุณได้ในยามที่ต้องทำการค้นหาคนร้ายในสถานที่ที่มีแสงต่ำ


หลายหน่วยงานของตำรวจเริ่มที่จะยอมรับปืนที่ติดศูนย์ไฟฉายมากขึ้น ทั้งหน่วย K9 (สุนัขตำรวจ) ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องใช้มือข้างหนึ่งถือสายจูงสุนัขและมืออีกข้างถือปืน การใช้ศูนย์ปืนไฟฉายจึงมีประโยชน์ชัดเจน นอกจากนั้นแม้แต่ตำรวจสายตรวจก็เริ่มใช้ศูนย์ไฟฉายมากขึ้นประกอบการตรวจค้นหาคนร้ายในอาคารที่มืดมิด ตามตรอกซอกซอยในคืนที่ไร้แสงจันทร์ เป็นต้น


ซองปืน Kydex บางรุ่นทำมาให้ใช้กับปืนที่กำลังติดศูนย์ไฟฉายได้ด้วย และบริษัทผลิตศูนย์ไฟฉายเหล่านี้ก็พัฒนาให้มีขนาดกระทัดรัดมากขึ้นจนสามารถติดกับลำกล้องปืนขนาดพกซ่อนได้


ปัจจุบันนี้อาจเห็นเป็นเรื่องปกติที่พบตำรวจพกปืนติดศูนย์ไฟฉาย ไม่มีใครรู้ได้แน่ชัดว่าอุปกรณ์นี้ได้ช่วยชีวิตคนมามากมายแค่ไหน แสงจากศูนย์ไฟฉายทำให้เรารู้ว่าคนร้ายกำลังถือกุญแจ โทรศัพย์มือถือ หรือ ปืน


แสงจ้าจากศูนย์ไฟฉายสามารถทำให้ตาของคนร้ายพล้ามั่วไปได้ชั่วขณะและหลายครั้งทำให้คนร้ายยอมจำนน นอกจากนั้นแสงสว่างจากศูนย์ไฟฉายที่ส่องออกไปได้ไกลทำให้เราเห็นคนร้ายได้ตั้งแต่ระยะไกลและสามารถทำการยิงที่แม่นยำได้ในระยะซึ่งตัวเราปลอดภัย


ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของศูนย์ไฟฉายที่มักถูกมองข้าม ยกตัวอย่างเช่น เหตุการณ์ซึ่งสองนายตำรวจเผชิญคนร้ายที่มีอาวุธในต่างสถานการณ์กัน โดยทั้งคู่ใช้ปืนสั่นกึ่งอัตโนมัติแต่คนหนึ่งไม่ได้ใช้ปืนที่ติดศูนย์ไฟฉาย เมื่อคนร้ายบุกเข้าทำร้ายนายตำรวจทั้งสองอย่างรุนแรง จนพวกเขาทั้งสองนายต้องชักปืนออกมายิงคนร้ายชนิดที่ปลายปากกระบอกปืนกดชิดลำตัวของคนร้าย แต่ปืนของตำรวจนายหนึ่งกลับไม่ทำงานซึ่งก็คือปืนของตำรวจที่ไม่มีศูนย์ไฟฉายติดอยู่ เป็นเพราะปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติเมื่อยิงในระยะประชิดตัวมากๆเช่นนี้จนสไลด์ถูกดันถอยหลังไปแม้เพียงเล็กน้อย กลไกของปืนก็จะติดขัดทันทีไม่สามารถทำการยิงได้

แต่ปืนซึ่งติดศูนย์ไฟฉายนั้นโดยทั่วไปตัวไฟฉายจะยื่นยาวออกไปจนเลยปลายปากกระบอกปืน ดังนั้นเมื่อกดปลายปืนจนชิดลำตัวคนร้าย ส่วนที่สำผัสคนร้ายจึงเป็นปลายของศูนย์ไฟฉาย ปากกระบอกปืนจะยังไม่ถูกกด สไลด์ไม่ถูกดันถอยหลังปืนจึงยังใช้งานได้ตามปกติ (ไม่ใช่ปืนทุกกระบอกเมื่อติดศูนย์ไฟฉายแล้วจะยื่นยาวออกมามากกว่าปลายปากกระบอกปืน)


เมื่อจะเริ่มนำศูนย์ไฟฉายมาติดกับปืนที่ใช้งานประจำ ควรทดลองยิงด้วยกระสุนอย่างน้อยสองร้อยนัด เพื่อให้แน่ใจว่าปืนทำงานได้ตามปกติเมื่อติดศูนย์ไฟฉาย เนื่องจากการติดศูนย์ไฟฉายจะเพิ่มน้ำหนักปืนบริเวณปากกระบอกปืนซึ่งอาจมีผลต่อการทำงานของปืน เพราะความน่าเชื่อถือในการใช้งานของอาวุธปืนต้องมาเป็นอันดับแรก หากทดลองยิงแล้วไม่เกิดเหตุติดขัดอันใดก็สามารถใช้ปืนติดศูนย์ไฟฉายได้อย่างมั่นใจ


ประโยชน์ของการใช้ศูนย์ไฟฉายในภาวะแสงต่ำ คือ การค้นหา (Searching) การแยกแยะภัยคุกคาม การช่วยเล็ง กลยุทธ์ในการใช้ไฟฉายเพื่อเพิ่มความได้เปรียบ เช่น ทำให้ตาคนร้ายพล้ามัวจากแสงจ้าของไฟฉาย เบี่ยงเบนความสนใจของคนร้าย เป็นต้น


ข้อเสียของการใช้ศูนย์ไฟฉายที่สำคัญก็คือ การเปิดเผยตำแหน่งของเราให้คนร้ายได้รู้ ดังนั้นเมื่อเปิดไฟฉายเพื่อค้นหาหรือแยกแยะเป้าหมายแล้ว มักเปิดเพียงชั่วคราวแล้วเคลื่อนที่หรือเปลี่ยนตำแหน่งของเราเพื่อไม่ให้คนร้ายรู้ที่อยู่ของเรา


ผู้ที่จะใช้ปืนประกอบศูนย์ไฟฉายหรือใช้ไฟฉายประกอบการยิงปืน จึงต้องเรียนรู้การใช้รวมทั้งกลยุทธ์อย่างถูกต้อง อีกทั้งต้องตรวจความพร้อมของศูนย์ไฟฉายอย่างสม่ำเสมอ


เป็นที่ทราบกันดีว่าภัยคุกคามต่อชีวิตและทรัพย์สินส่วนใหญ่มักเกิดในภาวะแสงต่ำ ดังนั้นการรู้จักใช้ไฟฉายประกอบการยิงปืนหรือใช้ปืนประกอบศูนย์ไฟฉายจึงเป็นทักษะที่มีประโยชน์มากในการสร้างความได้เปรียบเหนือคนร้าย


“หากคุณอยู่ในที่สว่างก็จงทำที่มืดให้สว่างเสีย หากคุณอยู่ในที่มืดก็จงอยู่ที่นั้นอย่าออกมา”


TAS สอนการยิงปืนในภาวะแสงต่ำทั้งที่ใช้และไม่ใช้ไฟฉายหรือศูนย์ไฟฉายประกอบการยิงปืน เพื่อให้ผู้รับการฝึกได้มีทักษะครบถ้วน


สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”


เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง A Gun Light Plus-Factor ของ Massad Ayoob

Thursday, August 19, 2010

Leather or Kydex Holster

Leather or Kydex Holster


วัสดุทำซองปืนในอดีตมีแต่หนังสัตว์ (Leather holster) เท่านั้น แต่ปัจจุบันมีซองปืนซึ่งทำจากพลาสติกที่เรียกว่า Kydex มีการออกแบบที่ทันสมัย สวยงาม คงทนและมีระบบป้องกันการแย่งปืนที่ดีจึงเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ


ข้อโต้แย่งที่ว่าซองปืนแบบใดดีกว่ากันระหว่างซองปืนซึ่งทำจากหนังสัตว์กับ Kydex มีมานานและพบเห็นได้ทั้งในเว็บไซด์และตามสนามยิงปืนทั่วไป คล้ายกับข้อโต้แย้งระหว่างปืนที่ใช้กระสุน 9 มม. กับ .45 นิ้ว อย่างไหนดีกว่ากันก็โต้เถียงกันไม่สิ้นสุด


นาย Sammy Reese เคยมีเพื่อนคนหนึ่งซึ่งจะว่ากล่าวตำหนิซองปืนทุกชนิดยกเว้นซองปืนที่ทำจากหนังสัตว์ชนิดที่ทำขึ้นด้วยมือ (Hand-tooled leather) เท่านั้น ในหลายด้านเขาก็เห็นด้วยกันเพื่อนคนนั้นแต่ก็มีบางกรณีที่ซองปืนแบบอื่นก็ใช้ได้ดีเช่นกัน


โดยส่วนตัวแล้วเขามักใช้ซองหนังเป็นส่วนใหญ่ เพราะในกรณีที่พกซ้อน (Concealed carry) เมื่อใช้ซองหนังจะให้ความสะบายตัวมากกว่าซอง Kydex


หลังจากช่วง Break in ของซองหนังใหม่ (เป็นการใส่ปืนไว้ค้างคืนกับซองปืน โดยอาจต้องทำให้ซองปืนเปียกน้ำเล็กน้อยเพื่อให้ซองปืนปรับรูปร่างให้เข้ากับปืนกระบอกนั้นอย่างพอดี) ปืนกับซองหนังก็จะกระชับพอดีและจะไม่ทำเสียงดังมากนักขณะเกิดการกระแทกของซองปืนกับสิ่งของรอบตัว (ซอง Kydex เมื่อกระแทกสิ่งของรอบตัวจะทำให้เกิดเสียงดังกว่า)


ถึงแม้จะใช้ซองปืนที่ทำจากหนังสัตว์เป็นส่วนใหญ่ แต่เขากลับใช้ซองใส่ซองกระสุนที่ทำจาก Kydex อีกทั้งหากต้องใช้เวลาทั้งวันในสนามยิงปืนหรือต้องฝึกยิงปืนอย่างจริงจัง เขาจะใช้ซองปืน Kydex แทน เพราะมันทนการกระทบกระแทกได้ดีกว่า แต่ต้องระวังการกระแทกในช่วงอากาศที่ร้อนมากๆ เพราะพลาสติกจะอ่อนตัวและอาจเสียรูปทรงไปได้อย่างถาวร


โดยรวมๆแล้วนาย Sammy Reese ชอบใช้ซองปืนที่ทำจากหนังมากที่สุด แต่เขาก็เปิดใจรับบทบาทของซอง Kydex ได้อย่างไม่ยากเย็นนัก


ซองหนังนั้นเวลาเปียกน้ำจะแห้งยากกว่า อีกทั้งดูดซับน้ำมันจากตัวปืนที่ทาไว้จนอาจทำให้ปืนขึ้นสนิมได้ ดังนั้นจึงควรหมั่นนำปืนมาทาน้ำมันเป็นระยะๆหากเก็บปืนโดยใส่ไว้ในซองหนังตลอดเวลา

ซองปืนไม่ว่าจะทำจากหนังสัตว์ หรือ Kydex ล้วนมีข้อดีและข้อเสีย เลือกใช้ตามที่ชอบและต้องรู้ข้อจำกัดของซองปืนนั้นๆด้วย


โดยปกติประชาชนทั่วไปคงไม่มีโอกาสมากนักที่จะพกปืนด้วยซองพกนอกอย่างเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือทหาร แต่ในบางสถานการณ์ เช่น อยู่ในบริเวณหรือภายในบ้านของเราเอง การใช้ซองปืนพกนอกก็อาจมีประโยชน์อยู่บ้างในบางโอกาส การเลือกใช้ซองปืนให้เหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง


สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”


เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Leather VS. Plastic the Winner is… ของ Sammy Reese

Friday, August 13, 2010

The SIG principle

The SIG principle



นาย Dave Spaulding หนึ่งในครูสอนยิงปืนที่มีชื่อเสียงของอเมริกา เขาเป็นคนที่บ้าการฝึกยิงปืนอย่างมาก โดยเริ่มเรียนยิงปืนตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1980 เป็นต้นมา ตลอดสามสิบกว่าปีที่ผ่านมาเริ่มจะไม่มีสิ่งใหม่ๆให้เรียนรู้


ตลอดเวลามานี้เขาจับหลักการที่สำคัญได้อย่างหนึ่ง นั่นก็คือ ความเรียบง่ายเป็นสิ่งที่ดีที่สุด จนกระทั้งปี ค.ศ. 1998 เขาเป็นคนแรกที่พูดถึง “the SIG principle” (Simple Is Good) หลังจากนั้นก็มีอีกหลายคนนำมาใช้เรื่อยมา


ทำไมเขาถึงคิดเช่นนั้น ก็เพราะว่า ความเรียบง่ายทำให้เรียนรู้ได้เร็ว ฝึกฝนหรือทำตามได้ง่าย และสามารถทบทวนได้ไม่ยากจึงคงทักษะนั้นไว้ได้นาน ซึ่งจะนำไปสู่การประหยัดทั้งเวลาและเงินทอง


ในปัจจุบันนี้เขาพบว่าหลักสูตรยิงปืนส่วนใหญ่จะทำให้มีความหวือหว่าเกินความจำเป็น เพราะต้องการทำให้หลักสูตรของตนเองมีความแตกต่างจากคนอื่น โดยการกำหนดหลักสูตรให้ผู้รับการฝึกต้องทำภาระกิจที่ซับซ้อนด้วยความรวดเร็วอย่างมาก (High speed)


เมื่อไม่นานมานี้เขาได้สมัครเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรหนึ่งชื่อ CQB in the Unforgiving Urban Environment ซึ่งเขาคาดหวังว่าจะต้องมีเทคนิคที่ลับสุดยอด หรือวิธีที่ใช้กันในกองทัพ หรือใช้เครื่องมือพิเศษ ในการตรวจค้นภายในอาคารและตรวจค้นห้อง (Building search and room clearing)


นาย Dave Spaulding เคยทำงานในหน่วย SWAT มา 12 ปี หน่วยปราบปรามยาเสพติด 5 ปี เคยเป็นสายตรวจอยู่พักหนึ่ง เขามีประสบการณ์ในการบุกเข้าช่วยตัวประกัน การค้นหาในอาคารและห้อง รู้ว่าสิ่งเหล่านี้เขาทำกันอย่างไร


หลักสูตรที่เข้ารับการฝึกครั้งนั้นได้ตั้งสถานการณ์ที่มีความซับซ้อนมากและต้องปฏิบัติภาระกิจอย่างรวดเร็วเกินความจำเป็น ไม่ว่าจะเป็นการทำ Slice the pie และ Dynamic entry ซึ่งเต็มไปด้วยเสียงดังและไม่มีเวลาสำหรับดูสิ่งรอบตัวว่ากำลังมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง


เมื่อเราทำอะไรที่เร็วเกินไป หลายๆสิ่งก็จะเริ่มผิดพลาด เช่น ลื่นหกล้ม เคลื่อนที่ชนสิ่งของทำให้เกิดเสียง ในการฝึกครั้งนั้นดูยอดเยี่ยม สนุกสนาน เพราะไม่มีคนร้ายคอยยิงมาที่เรา ในความคิดของเขาแล้วเราไม่จำเป็นจะต้องรีบร้อนไปให้คนร้ายยิงเราเลย การฝึกครั้งนั้นเป็นสิ่งที่เขาจะไม่นำมาใช้อย่างแน่นอน


หลักสูตรยิงปืนที่ดีควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของการนำไปใช้ได้อย่างปลอดภัย (Train safe, Work safe) เรียบง่าย ฝึกฝนและทบทวนได้ไม่ยาก สำหรับประชาชนแล้วควรเลือกหลักสูตรที่ไม่ซับซ้อนเหมือนการฝึกของทหารหรือตำรวจ เพราะโอกาสที่จะต้องบุกเข้าไปยิงคนร้ายเช่นนั้นน้อยมากถึงแม้หลักสูตรเหล่านี้จะดูน่าสนใจมากเพียงใดก็ตาม


TAS สอนยิงปืนโดยอาศัยหลัก SIG principle เราคัดเลือกเฉพาะทักษะที่จำเป็น ซึ่งประชนชนทั่วไปควรรู้ในการใช้อาวุธปืนเพื่อการปกป้องชีวิตและทรัพย์สินภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย

สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี "สติ"


เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Random Thoughts ของ Dave Spaulding

Friday, August 6, 2010

Odd Shooting Positions

Odd Shooting Positions



นาย Clint Smith หนึ่งในครูฝึกยิงปืนที่มีชื่อเสียงของอเมริกากล่าวไว้ว่า ท่ายิงปืนที่แปลกๆ (Odd shooting positions) ซึ่งแตกต่างจากท่ายิงมาตรฐานนั้น ตลอดระยะเวลา 40 กว่าปีเขาเห็นมามาก โดยอาศัยปัจจัยสองประการ คือ สิ่งที่เราคิดว่าการต่อสู้ด้วยอาวุธปืนอาจจะเกิดขึ้นเช่นนั้น กับ สิ่งที่การยิงปืนต่อสู้เกิดขึ้นจริง โดยรูปแบบการฝึกอาศัยหลักคิดทั้งสองประการนี้ เช่น คิดว่าการต่อสู้ด้วยอาวุธปืน “อาจจะ” เกิดขึ้นในลักษณะอย่างไรแล้วนำไปสู่รูปแบบการฝึก หรือเมื่อเกิดเหตุการณ์ใช้อาวุธปืนขึ้นจริงแล้วนำไปสู่รูปแบบการฝึกเพื่อรองรับเหตุการณ์เหล่านั้นในอนาคต


ในสมัยก่อนนั้น (ระหว่างปี ค.ศ. 1960s ถึงต้นปี 1980) การฝึกยิง PPC (Practical Pistol Course) ซึ่งเป็นการฝึกยิงปืนสั้นในระยะต่างๆตั้งแต่ 7 เมตรจนถึง 60 เมตร (สมัยนั้นมักยิงด้วยปืนลูกโม่ หรือ Revolver เป็นส่วนใหญ่) เป็นที่แพร่หลายและคิดว่าการยิงเช่นนี้ดีมากๆ แต่ในสถานการณ์จริงกลับพบว่ามันไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป


หลายเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องทำการยิงในท่าซึ่งไม่ได้อยู่ในรูปแบบการฝึกมาตรฐาน และพวกเขาเหล่านั้นต้องทำการยิงเพื่อให้ได้ชัยชนะในที่สุด นาย Clint Smith ไม่ได้บอกว่าการยิงด้วยท่าทางแปลกๆเหล่านี้ดีหรือไม่ดี แต่อยู่ที่ว่าเราได้เรียนรู้อะไรจากมันบ้าง


นาย Clint Smith แนะนำว่า เพื่อให้เราได้เตรียมตัวเผชิญกับสถานกาณ์ที่ไม่ปกติ เราควรฝึกยิงปืนในท่าทางแปลกๆบ้าง เช่น การยิงปืนในรถ หลังเฟอร์นิเจอร์หรือกำแพง โดยฝึกยิงทั้งจากมือเดียวข้างถนัดและไม่ถนัด ด้วยมือสองข้าง ยิงในท่ายืน นั่งคุกเข่า และท่านอน


ฝึกยิงเหนือที่กำบัง เช่น ยิงเหนือกระโปรงหน้ารถ เหนือโต๊ะเครื่องแป้งในห้องนอน เป็นต้น ฝึกยิงรอบๆที่กำบัง (Cover) หรือที่หลบซ่อนตัว (Concealment) จำไว้ว่า คนร้ายจะยิงคุณได้ก็เพราะเขาเห็นคุณ ดังนั้นจงอย่าให้เขาเห็นคุณ ชีวิตจะยืนยาวแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณทำสิ่งนี้ได้ดีแค่ไหน (กำบังและหลบซ่อนตัว)


สำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้นการทำงานโดยมีคู่หู (Buddy) สำคัญอย่างยิ่งต่อการใช้อาวุธปืน เนื่องจากหากเราทำอะไรผิดพลาดไปก็ยังมีอีกคนคอยให้ความช่วยเหลืออยู่ใกล้ๆ ดังนั้นระบบคู่หู (Buddy System) จึงจำเป็นอย่างมาก


นาย Clint Smith ให้ความสำคัญกับ “ความเร็ว” เป็นอย่างยิ่ง แต่ในการฝึกนั้นควรเริ่มจากช้าก่อนเสมอ แล้วค่อยๆเพิ่มความเร็วในการกระทำมากขึ้นเมื่อชำนาญ และอย่าลืมให้เสียงให้สัญญาณกับคู่หูตลอดเวลา มองหาจุดบกพร่องแล้วแก้ไข


ถึงแม้ความเร็วจะสำคัญแต่เหนืออื่นใด คุณต้องยิงถูกสิ่งที่คุณต้องยิง จึงจะถือได้ว่าคุณยิงปืนได้ดี เพราะนั่นเป็นความรับผิดชอบของผู้ยิงโดยตรง หากเรายิงพลาดไปถูกผู้บริสุทธิหรือไม่สามารถหยุดคนร้ายไว้ได้อาจทำให้สถานการณ์แย่ลง ความแม่นยำจึงมาก่อนความเร็วเสมอ


ในสนามฝึกยิงปืนส่วนใหญ่ไม่สามารถทำการฝึกที่มีลักษณะแปลกๆอย่างที่กล่าวได้ ดังนั้นอาจซื้อปืนปลอมพลาสติกที่มีลักษณะเหมือนปืนจริงที่เราใช้อยู่มาฝึกที่บ้านได้ โดยฝึกท่าทางต่างๆตามที่เราต้องการ การฝึกนี้อาจดูไม่น่าสนใจ แต่จงเชื่อเถอะว่ามันมีประโยชน์และไม่ทำให้บ้านคุณเป็นรูหรือทำให้เกิดกระสุนลั่นออกไปโดยไม่ตั้งใจหากคุณฝึกด้วยปืนจริงซึ่งคิดว่าไม่มีกระสุนแล้วก็ตาม


จิตนาการว่าหากมีการใช้อาวุธปืนเกิดขึ้นเราจะทำอย่างไร สามารถเลือกยิงได้จากหลายท่าหลายตำแหน่ง แล้วพิจารณาว่าผลจะเป็นอย่างไรและทดลองฝึกยิงใหม่ได้ตลอด


ท่ายิงที่แปลกๆนั้นก็อาศัยพื้นฐานของการยิงปืนในท่าปกติมาตรฐาน ดังนั้นเมื่อฝึกยิงท่ามาตรฐานได้ดีแล้ว การฝึกยิงในท่าแปลกๆก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็นแต่อย่างใด


TAS สอนท่ายิงปืนมาตรฐานระบบต่อสู้ ซึ่งผู้รับการฝึกสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเพื่อปรับใช้ในสถานการณ์จริงได้


สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”


เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Practice odd stuff ของ Clint Smith

Newcastle limousines