Friday, December 23, 2011

Wheelguns for Personal Defense


Wheelguns for Personal Defense

ปืนลูกโม่ (Revolver) มีชื่อเล่นหลายชื่อ อาทิเช่น Wheelgun (เนื่องจากเวลายิง โม่จะหมุนเหมือนล้อ), Six gun (ปืนโครงปกติจะบรรจุกระสุนได้ 6 นัด ถึงแม้บางรุ่นจะบรรจุได้มากกว่าหรือน้อยกว่าแต่ก็ยังนิยมเรียกว่า Six gun)

นาย Clint Smith ซึ่งเป็นครูสอนยิงปืนที่มีชื่อเสียงของอเมริกา พบว่าบรรดาผู้รับการฝึกหลายคนรู้สึกแปลกใจที่เขาพกปืนลูกโม่เวลาออกไปสอน หลายคนถามเขาว่า “คุณใช้ปืนกระบอกนี้ (ปืนลูกโม่) จริงๆหรือ?” ด้วยความรู้สึกว่าเป็นปืนเก่าล้าสมัย

นาย Clint Smith มักอธิบายว่า เป็นความคิดที่โง่เขล่ามากที่คิดว่าปืนลูกโม่ไม่เหมาะสำหรับการป้องกันตัว ในความรู้สึกของคนทั่วไปคุณภาพของปืนที่ใช้เพื่อป้องกันตัวขึ้นกับจำนวนกระสุนที่สามารถบรรจุหรือพกติดตัวไปได้ ทั้งๆที่รู้ว่าในสถานการณ์จริงที่มีการศึกษามาพบว่าใช้กระสุนไม่มากเช่นนั้นก็ตาม

ปืนลูกโม่ที่จะใช้ในการป้องกันตัวไม่ควรมีโครงปืนใหญ่มากเกินไป เช่น ปืนขนาด .41 แม็กนั่ม, .44 แม็กนั่ม หรือขนาด .50 นิ้ว เป็นต้น (เขามักเรียกปืนขนาดเหล่านี้ว่า ปืนยิงไดโนเสาร์) เพราะปืนขนาดนี้น่าจะเหมาะกับคนที่ฝึกยิงปืนมาอย่างดีมากกว่า และเขาคงไม่พกปืนโครงใหญ่ขนาดนี้เป็นประจำอย่างแน่นอนถึงแม้จะหาปืนลำกล้องสั้นได้ก็ตาม

การบรรจุกระสุนของปืนลูกโม่ปัจจุบันก็มีเครื่องมือช่วยบรรจุหลากหลาย อาทิเช่น Speed strip, Speed loader, Jet loader เป็นต้น (อ่านเพิ่มเติมได้ในบทความเรื่อง Reload Equipments for Revolvers วันที่ 31 Mar 11) ทำให้ปัญหาในการบรรจุกระสุนด้วยมือที่ช้านั้นลดน้อยลง หลายคนถามเขาว่า “ปืนลูกโม่เป็นปืนที่ดีที่สุดหรือเปล่า?” เขาจะตอบว่า “ไม่ใช่... แต่ก็ไม่มีปืนแบบใดดีที่สุด”

นอกจากนั้นปืนลูกโม่ได้พิสูจน์ตัวเองมาอย่างยาวนานว่า เป็นปืนที่ช่วยชีวิตผู้บริสุทธิ์มามากมายอย่างไม่ต้องสงสัย

สำหรับนาย Nick Jacobillis อดีตนายตำรวจและนักเขียนเกี่ยวกับอาวุธปืนชื่อดัง คิดว่าปืนลูกโม่เป็นปืนที่ใช้งานง่าย มีความน่าเชื่อถือในการทำงานของปืนสูงมากและการดูแลรักษาปืนก็ง่าย ปัจจุบันกระสุนปืนลูกโม่มีการออกแบบดีขึ้นมาก (กระสุนหัวรู) จนมีความน่าเชื่อถือสูงไม่แพ้ปืนชนิดอื่นๆ

สำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งพกปืนลูกโม่เพื่อใช้งานประจำ ควรพกปืนลูกโม่ 2 กระบอก (ปืนสำรอง) เพราะหากปืนหลักยิงจนกระสุนหมดอาจชักปืนสำรองออกมาใช้ได้ทันทีไม่ต้องมาคอยบรรจุกระสุนใหม่ เรียกวิธีนี้ว่า New York reload (อ่านเพิ่มเติมได้ในบทความเรื่อง Backup Gun วันที่ 18 Feb 09) แต่การฝึกบรรจุกระสุนด้วยอุปกรณ์ช่วยบรรจุทั้งหลายก็ยังมีความสำคัญและช่วยได้มากเช่นกัน เพราะไม่ใช่ทุกสถานการณ์จะต้องใช้ New York reload เสมอไป

นอกจากนั้นปืนลูกโม่สามารถปรับแก้ได้ง่าย เช่น เปลี่ยนด้ามจับให้เหมาะกับมือได้ง่ายกว่าปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติ เป็นต้น

ด้วยคุณสมบัติที่โดดเด่นของปืนดังที่กล่าวไปจึงถือได้ว่า ปืนลูกโม่ยังคงเป็นปืนที่เหมาะสมสำหรับการป้องกันตัวเองและทรัพย์สินที่บ้าน (Personal and home defense)

สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”

                                                                                 เรียบเรียงโดย Batman
                                                อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง The Magic Wheel ของ Clint Smith และเรื่อง Revolvers ของ Nick Jacobillis

Tuesday, December 6, 2011

Shooting Range Rules

Shooting Range Rules

ได้มีโอกาสไปยิงปืนในหลายสนามและพบเห็นนักยิงปืนมือใหม่และมือเก่าหลายท่าน มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุปืนลั่นในสนามยิงปืน หากโชคดีอาจไม่มีใครได้รับอันตราย แต่ถ้าโชคร้ายผลของความประมาทอาจเปลี่ยนชีวิตของท่านไปตลอดกาล

จึงขอกล่าวถึง “มารยาท” หรือจะเรียกว่า “กฎ” ในการเข้าใช้สนามยิงปืนที่ดี เพื่อให้ทุกท่านได้ปฏิบัติอย่างถูกต้อง จะทำให้การใช้สนามยิงปืนร่วมกับผู้อื่นมีความปลอดภัย และแสดงถึงจิตสำนึกที่ดีในการใส่ใจเรื่องความปลอดภัยของการใช้อาวุธปืน

สิ่งแรกที่ต้องยึดถือปฏิบัติทุกครั้งที่จับปืน ก็คือ กฎเหล็ก 4 ข้อ ของ Jeff Cooper เรื่องความปลอดภัยในการใช้อาวุธปืน (อ่านเพิ่มเติมได้ในบทความเรื่อง Jeff Cooper’s Rules of Gun Safety วันที่ 10 June 09)

การนำปืนเข้าหรือออกจากสนามอาวุธปืนควรอยู่ในสภาพที่ปลอดภัย ในกรณีของปืนลูกโม่ไม่ควรมีกระสุนอยู่ในโม่ ส่วนปืนสั่นกึ่งอัตโนมัติควรแยกซองกระสุนออกจากตัวปืน และไม่มีกระสุนอยู่ในรังเพลิง หากต้องการถือปืนเดินเข้าไปในอาคารสนามยิงปืน หากเป็นปืนลูกโม่ก็ควรเปิดโม่ออกค้างไว้แล้วใช้นิ้วชี้กับนิ้วกลางเกี่ยวสะพานปืนเดินเข้าไป

ถ้าเป็นปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติก็ปลดซองกระสุนออกและเปิดค้างสไลด์ไว้แล้วใช้นิ้วก้อยเกี่ยวโกรงไกปืน เป็นการแสดงให้ทุกคนเห็นว่าปืนของเราปลอดภัย ซึ่งวิธีนี้ยังใช้ในกรณีที่เราส่งปืนให้ผู้อื่นด้วย (หากเรารับปืนมาจากคนอื่นก็ควรตรวจปืนซ้ำอีกครั้งฝึกให้เป็นนิสัย เพื่อให้แน่ใจว่าปืนปลอดภัย) แต่ถ้าใครนำปืนใส่ไว้ในกระเป๋าหรือกล่องใส่ปืนก็เพียงแค่ถือกระเป๋าหรือกล่องใส่ปืนเดินเข้าไปในสนามได้เลย

เมื่ออยู่ในสนามยิงปืนมักจะมีการแบ่งพื้นที่ด้านหน้าสำหรับนักยิงปืนซึ่งอยู่ในช่องยิงหรือแนวยิงกับด้านหลังสำหรับผู้ที่นั่งดู โดยผู้ที่อยู่ด้านหลังแนวยิงไม่ควรหยิบปืนออกมาเล่น เพราะจะเป็นที่หวาดเสียวสำหรับบุคคลทั่วไปโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ด้านหน้าซึ่งแนวปืนจะชี้ไปหา สนามยิงปืนที่ดีจะจัดแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งเอาไว้ให้นักยิงปืนซึ่งยังไม่เข้าช่องยิง ได้นำปืนมาปรับแก้จะทำให้มีความปลอดภัยมากขึ้น

บางคนมีซองปืนพกนอกติดมาด้วยก็ควรตรวจปืนให้ปลอดภัยก่อนใส่ปืนในซอง โดยปืนลูกโม่ก็ตรวจดูให้แน่ใจว่าไม่มีกระสุนตกค้างอยู่ในโม่ก่อน ถ้าเป็นปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติก็ต้องเคลียปืนหรือตรวจปืนก่อน (กระชากสไลด์ 2 – 3 ครั้ง ตรวจดูในรังเพลิงว่าไม่มีกระสุนตกค้างอยู่ เหนี่ยวไกทิ้งหนึ่งครั้งไปยังทิศทางที่ปลอดภัย) แล้วเปิดค้างสไลด์ไว้ค่อยเสียบลงซองปืน

เมื่ออยู่ในช่องยิงหรือแนวยิงควรวางปืนบนโต๊ะด้านหน้าโดยหันปากกระบอกปืนออกไปข้างหน้าเสมอ (ไปยัง Backstop) ห้ามหันปากกระบอกปืนไปด้านข้างเด็จขาดโดยเฉพาะขณะบรรจุหรือเลิกบรรจุกระสุน หลายท่านมักหันปากกระบอกปืนไปด้านข้างเป็นที่น่าหวาดเสียวสำหรับคนที่อยู่ด้านข้างเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นเรามักแนะนำให้ถอยเท้าขวาไปด้านหลังหนึ่งก้าว เพื่อบังคับให้แนวปากกระบอกปืนชี้ไปด้านหน้าตลอดเวลาขณะที่ทำการบรรจุหรือเลิกบรรจุกระสุนทุกครั้ง

ในการวางปืนที่โต๊ะถ้าเป็นปืนลูกโม่ให้เปิดโม่ออกแล้ววางเอาด้านข้างปืนลงบนโต๊ะ (ด้านตรงข้ามกับที่โม่เปิดออก) ไม่ควรวางปืนโดยใช้ปลายปากกระบอกปืน ปลายก้านคัดปลอกกระสุนและท้ายด้ามปืนตั้งปืนบนโต๊ะ ส่วนปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติให้วางปืนบนโต๊ะโดยหันช่องคายปลอกกระสุนขึ้นด้านบน

ระหว่างการยิงปืนหากได้รับสัญญาณให้วางปืน เช่น ขณะเปลี่ยนเป้าหรือติดเป้าซึ่งจะมีคนเดินเข้าไปภายในสนาม เราต้องวางปืนลงตามวิธีดังกล่าวข้างต้น แล้วถอยหลังออกมาจากโต๊ะหนึ่งก้าว ห้ามแตะต้องตัวปืนเด็จขาด ก่อนจะเริ่มทำการยิงใหม่ควรมองตรวจตราภายในสนามอีกครั้งว่าไม่มีคนอยู่เสมอ

ก่อนที่เราจะเดินลงไปภายในสนามเพื่อติดเป้าหรือเปลี่ยนเป้า ก็ต้องบอกนายสนามหรือผู้คุมสนามยิงปืนหรือตะโกนบอกช่องยิงอื่นๆให้ทราบว่า เราจะขอเข้าไปภายในสนามเพื่อเปลี่ยนเป้าหรือติดเป้า และต้องแน่ใจว่าทุกช่องยิงได้วางปืนบนโต๊ะแล้วก่อนเดินเข้าไปภายในสนาม

เมื่อยิงปืนเสร็จก็ให้ตรวจปืนอีกครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าปืนของเราปลอดภัย แล้วถือปืนออกจากแนวยิงหรือช่องยิงอย่างถูกวิธี (สำหรับปืนลูกโม่ให้เปิดโม่แล้วเกี่ยวสะพานปืน ปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติให้ปลดซองกระสุน ค้างสไลด์แล้วเกี่ยวโกรงไกปืน หรือใส่ซองปืนให้เรียบร้อย)

ไม่ควรเสพของมึนเมาหรือยาเสพติดอื่นใดในสนามยิงปืน

เหตุการณ์ปืนลั่นในสนามยิงปืนมักเกิดจากความประมาทเลินเล่อของนักยิงปืนไม่ว่าจะเป็นมือเก่าหรือมือใหม่ก็ตาม หลายครั้งจบลงด้วยความเศร้า หากไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้การใช้สนามยิงปืนอย่างถูกต้อง ถูกวิธี มีมารยาทที่ดี และเหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งควรยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”
                                                                                                            เรียบเรียงโดย Batman

Sunday, November 27, 2011

Rifle Sight for Shotgun


Rifle Sight for Shotgun

ปืนลูกซอง (Shotgun) ถือว่าเป็น ปืนปราบปืน เนื่องจากคุณสมบัติที่โดดเด่นหลายประการ มีการนำปืนลูกซองมาใช้ในหลากหลายวัตถุประสงค์ อาทิเช่น กีฬายิงปืนลูกซอง (ไม่ว่าจะเป็นยิงเป้าบินในแบบต่างๆ การยิงปืนรณยุทธ์ เป็นต้น) การล่าสัตว์ หรือใช้งานในราชการทหาร ตำรวจ และการป้องกันตัวภาคประชาชน

จุดเด่นสำคัญอย่างหนึ่งคือ กระสุนปืนลูกซอง มีให้เลือกใช้หลากหลายชนิดมาก ไม่ว่าจะเป็น กระสุนลูกปราย (กระสุน 1 นัด ภายในบรรจุหัวกระสุนเล็กๆหลายนัด) หรือ กระสุนลูกโดด (กระสุน 1 นัด มีหัวกระสุนขนาดใหญ่ 1 นัด)

โดยปกติการใช้ปืนลูกซองเพื่อการป้องกันตัวนิยมใช้กระสุนลูกปลาย 9 เม็ด เป็นส่วนใหญ่ เมื่อยิงออกไปหัวกระสุนจะกระจายออกเป็นม่านกระสุนหรือที่เรียกว่า Pattern ของกระสุน จึงมีโอกาสกระทบเป้าหมายได้ง่ายเมื่อเทียบกับกระสุนลูกโดด แต่กระสุนลูกโดดก็มีคุณสมบัติที่สามารถยิงออกไปได้ระยะหวังผลไกลกว่ากระสุนลูกปราย

ดังนั้นปืนลูกซองจึงมีคุณสมบัติของปืน 2 แบบในกระบอกเดียวกัน คือ ปืนลูกซองเมื่อใช้กระสุนลูกปราย และปืนไรเฟิ่ล (Rifle) เมื่อใช้กระสุนลูกโดด

ในการยิงปืนลูกซองระยะใกล้ด้วยกระสุนลูกปรายนั้น การใช้ศูนย์ปืนในการเล็งไม่ว่าจะเป็นศูนย์หน้าหรือศูนย์หลังอาจไม่มากนัก เพราะม่านกระสุนมักจะครอบคลุมเป้าหมายเบื้องหน้าในระยะใกล้ แต่เมื่อเป้าหมายอยู่ไกลเกินกว่าที่กระสุนลูกปรายจะมีประสิทธิผล ก็จำเป็นจะต้องใช้กระสุนลูกโดดแทน

การใช้ศูนย์ปืนไรเฟิ่ลจึงเป็นสิ่งจำเป็น บางกระบอกมีรางติดอุปกรณ์สามารถติดกล้องเล็งได้ เพื่อให้สามารถยิงกระสุนลูกโดดได้อย่างแม่นยำมากขึ้น

ศูนย์ปืนไรเฟิ่ลสำหรับปืนลูกซองที่นิยม อาทิเช่น ศูนย์ Ghost ring

เมื่อจะใช้ปืนลูกซองที่มีศูนย์ไรเฟิ่ลจำเป็นที่จะต้องตั้งศูนย์ปืนด้วยกระสุนลูกโดด หรือที่เรียกว่าการทำ Zero เพื่อให้เกิดความแม่นยำในการใช้งาน ส่วนกระสุนลูกปรายก็จำเป็นจะต้องทดลองยิงด้วยกระสุนที่เราจะใช้งานจริงเพื่อรู้ม่านกระสุนที่กระจายออกในระยะต่างๆ

นอกจากนั้นการฝึกเปลี่ยนกระสุนปืนจากกระสุนลูกปรายมาใช้ลูกโดด หรือที่เรียกว่า Changeover เป็นแทคติกหนึ่งที่สำคัญ เพื่อให้สามารถใช้ปืนลูกซองได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”

                                                                                                            เรียบเรียงโดย Batman

Saturday, November 12, 2011

Weapon-mounted Light VS. Tactical Flashlight


Weapon-mounted Light VS. Tactical Flashlight

เนื่องจากเหตุการณ์ร้ายๆมักเกิดขึ้นในภาวะแสงต่ำ ดังนั้นการยิงปืนประกอบไฟฉายจึงเป็นทักษะหนึ่งที่ถูกบรรจุไว้ในการสอนยิงปืนระบบต่อสู้

ประโยชน์หลักๆของไฟฉายก็เพื่อใช้ในการค้นหา (Search) แยกแยะเป้าหมาย (Identify the threat) ส่วนการเล็งนั้นไฟฉายทำให้เรามองเห็นเป้าหมาย ยังผลให้เล็งได้ง่ายและมีความแม่นยำมากขึ้น

ไฟฉายซึ่งใช้ประกอบการยิงปืนในภาวะแสงต่ำที่นิยมมีอยู่ 2 ประเภท คือ ศูนย์ไฟฉาย (Weapon-mounted Light) กับ ไฟฉายทางยุทธวิธี (Tactical Flashlight)

ไฟฉายไม่ว่าประเภทใดต่างก็มีข้อดี ข้อด้อยและข้อจำกัดของมันเอง

ศูนย์ไฟฉาย หรือ Weapon-mounted Light เป็นไฟฉายซึ่งติดอยู่ที่รางติดอุปกรณ์ใต้ปากกระบอกปืนโดยเฉพาะปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติ (ปืนลูกโม่บางรุ่นมีรางติดอุปกรณ์เหล่านี้เช่นกัน แต่ไม่ค่อยนิยมเพราะมักเป็นปืนโครงขนาดใหญ่) เวลาใช้งานต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าได้ทำการติดตั้งศูนย์ไฟฉายแน่นหนากับตัวปืนดีแล้ว เป็นที่ยอมรับว่าการยิงปืนประกอบศูนย์ไฟฉายเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการยิงเป้าหมายในภาวะแสงต่ำ อย่างไรก็ตามเมื่อปืนติดศูนย์ไฟฉายแล้วจะทำให้น้ำหนักปืนมากขึ้น โดยเฉพาะน้ำหนักจะถูกถ่วงไปด้านลำกล้องปืนมากขึ้น ความคล่องตัวก็อาจลดลงไปบ้าง

โดยปกติกฏแห่งความปลอดภัยในการใช้อาวุธปืนข้อหนึ่งซึ่งสำคัญมากๆ ก็คือ ห้ามชี้ปืนไปยังสิ่งซึ่งคุณไม่ต้องการยิง แต่เนื่องจากศูนย์ไฟฉายติดอยู่กับตัวปืนทำให้การค้นหาภัยคุกคาม (Search) แนวปืนและลำแสงจากไฟฉายจะไปในทิศทางเดียวกันตลอด เราอาจชี้ปืนไปยังบุคคลซึ่งไม่ใช่ภัยคุกคามก็ได้ จึงถือว่าเป็นการแหกกฏข้อนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นในขณะที่ทำการค้นหาจึงห้ามเอานิ้วชี้เข้าโกรงไกอย่างเด็จขาด และบางคนฝึกที่จะใช้ประโยชน์จากแสงสว่างจางๆซึ่งอยู่วงรอบนอกของแสงจากศูนย์ไฟฉายในการค้นหา เพื่อหลีกเลี่ยงแนวปืนไม่ให้ชี้ไปยังบุคคลซึ่งไม่ใช่เป้าหมาย

เป็นที่ทราบกันดีว่าการใช้ไฟฉายนั้นนอกจากจะช่วยเผยเป้าหมายให้เราเห็นได้ชัดเจนแล้ว แต่มันก็ยังเป็นการเปิดเผยตำแหน่งของตัวเราเองให้กับภัยคุกคามได้รู้เช่นกัน ในการถือปืนตามปกติปืนของเราจะอยู่แนวกลางตัว เมื่อภัยคุกคามยิงสวนมาที่แสงจากไฟฉายก็อาจถูกตำแหน่งที่สำคัญของเราได้ ในขณะที่ Tactical Flashlight ในบางเทคนิคไฟฉายอาจอยู่คนละตำแหน่งกับปืนทำให้ตัวเราปลอดภัยมากกว่า

การควบคุมการเปิด-ปิดศูนย์ไฟฉายจะใช้นิ้วโป้งของมือข้างไม่ถนัด (Supporting Hand) การใช้งานให้มีประสิทธิภาพจำเป็นต้องฝึกฝนเช่นกัน ไม่ใช่ว่าเปิดไฟฉายทุกครั้งจะต้องทำการยิงเสมอไป เราต้องควบคุมได้ว่าเป้าหมายใดจำเป็นต้องยิง

ศูนย์ไฟฉายบางรุ่นอาจมีศูนย์เลเซอร์ประกอบในกระบอกเดียวกัน ดังนั้นการฝึกใช้งานเพื่อให้สามารถใช้อุปกรณ์เหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดจึงเป็นสิ่งสำคัญ

เนื่องจากศูนย์ไฟฉายและ Tactical Flashlight ต่างก็มีข้อดี ข้อเสีย และข้อจำกัดของมันเอง ดังนั้นบางคนอาจใช้ไฟฉายทั้งสองแบบ โดยเลือกใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ บางครั้งการใช้ Tactical Flashlight อาจได้เปรียบกว่าการใช้ศูนย์ไฟฉาย เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไปก็หันมาใช้ศูนย์ไฟฉายแทน โดย Tactical Flashlight อาจมีสายคล้องข้อมือจึงทำให้ใช้งานง่ายขึ้นเมื่อต้องเปลี่ยนมาใช้ศูนย์ไฟฉาย เป็นต้น

โดยทั่วไปความสว่างของไฟฉายหรือศูนย์ไฟฉายอย่างน้อย 60 รูเมน ถือว่าเพียงพอที่จะทำให้เกิดอาการตาพล่ามัวชั่วขณะ (Blinding Effect) เมื่อส่องไฟไปที่ตาของคนร้ายภายในห้อง

การรู้จักอุปกรณ์ส่องสว่างของเราเป็นอย่างดีทำให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ควรฝึกยิงปืนประกอบไฟฉายหรือศูนย์ไฟฉายจนเกิดทักษะความชำนาญ เพราะสิ่งนี้อาจสร้างความแตกต่างระหว่างความเป็นและความตายได้เลยทีเดียว

สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”

                                                                                                            เรียบเรียงโดย Batman

                                                                                    อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Weapon-mounted Light Deployment ของ Richard Mann

Thursday, October 27, 2011

Tactical Reload for a Pistol

Tactical Reload for a Pistol



ในการยิงปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติจนกระสุนหมดโดยทั่วไปจะทำให้สไลด์เปิดค้าง เมื่อเราปลดซองกระสุนออก (ทิ้งซองเปล่าลงพื้นได้เลย) แล้วนำซองกระสุนใหม่บรรจุเข้าไป ต่อมาปลดคันค้างสไลด์หรือดึงสไลด์ถอยหลังเพื่อให้สไลด์สามารถเดินหน้าบรรจุกระสุนนัดแรกเข้ารังเพลิงเตรียมพร้อมที่จะยิงต่อไปได้ เรียกว่า Emergency Load (Reload) หรือ Empty Load

แต่หากเรายิงไปได้สักระยะเวลาหนึ่งโดยกระสุนยังไม่หมด แล้วทำการเปลี่ยนซองกระสุนเอาอันใหม่ใส่เข้าไป (ซองกระสุนใหม่ควรมีกระสุนบรรจุอยู่เต็มหรือมากกว่าซองกระสุนเก่า) เพื่อให้มีวงกระสุนเต็มหรือมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยซองกระสุนเก่าก็ยังเก็บไว้ใช้ในโอกาสต่อไป หากเรายิงจนกระสุนหมดอย่างน้อยเราก็ยังมีอีกหนึ่งนัดในซองกระสุนเก่าที่เก็บไว้สามารถนำมาใช้ได้ ซึ่งกระสุนนัดนี้อาจเป็นนัดที่สำคัญที่สุดในชีวิตก็เป็นได้ เรียกการเปลี่ยนซองกระสุนแบบนี้ว่า Tactical Load หรือ Tactical Reload เป็นการขยายศักยภาพของปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติให้ถึงขีดสุด

Tactical Reload นี้เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับการยิงปืนระบบต่อสู้ ก่อนที่จะทำ Tactical Reload ควรหลบเข้าหลังที่กำบังเสมอ


มีหลายวิธีในการทำ Tactical Reload โดยส่วนตัวแนวปืนจะชี้ไปยังเป้าหมายตลอดเวลา โดยยืดแขนตามปกติหรือหดเข้ามาใกล้ตัวอีกเล็กน้อยแต่แนวปืนยังอยู่ในระดับสายตา บางศูนย์ฝึกอบรมจะให้หดปืนกลับเข้ามาใกล้ตัวโดยแนวปืนไม่จำเป็นต้องชี้ไปยังเป้าหมายเพื่อสะดวกในการเปลี่ยนซองกระสุน เป็นการทำงานกับปืนในบริเวณที่เรียกว่า Work Space หรือ Work Zone (บริเวณสมมุติอยู่ด้านหน้าระดับสายตา เพื่อใช้ในการทำอะไรก็ตามต่อปืนของเรา เช่น บรรจุกระสุน เปลี่ยนซองกระสุน แก้ไขเหตุติดขัด เป็นต้น อ่านเพิ่มเติมได้ในบทความเรื่อง Work Zone for Gun วันที่ 4 January 10)


ในการทำ Tactical Reload ให้มือซ้ายเอื้อมไปหยิบซองกระสุนใหม่โดยนิ้วชี้สัมผัสกับหัวกระสุนในซองตลอดเวลาเพื่อให้รู้ว่าตำแหน่งของหัวกระสุนอยู่ด้านไหน บางศูนย์ฝึกอบรมจะใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้หนีบซองใหม่ไว้โดยไม่ได้เอานิ้วชี้แตะที่หัวกระสุน ดังนั้นเราต้องมั่นใจและรู้ว่าหัวกระสุนในซองปืนหันไปทางด้านใด


ในขณะเดียวกันมือขวาใช้นิ้วโป้งกดปุ่มปลดซองกระสุนออก โดยมีอุ้งมือซ้ายซึ่งถือซองกระสุนใหม่มารองไว้ ใช้นิ้วชี้กับนิ้วกลาง หรือนิ้วกลางกับนิ้วนาง หรือนิ้วนางกับนิ้วก้อย (โดยส่วนตัวถนัดแบบนี้) “หนีบ” ซองกระสุนเก่าออกแล้วเสียบซองกระสุนใหม่กลับเข้าไปแทน ใช้อุ้งมือซ้ายกระแทกท้ายซองกระสุนเพื่อให้แน่ใจว่าซองกระสุนใหม่ใส่ได้แน่นดี แล้วนำซองกระสุนเก่ามาเก็บไว้ใช้ในโอกาสต่อไป หากสถานการณ์คับขันก็สามารถทำการยิงได้โดยยังหนีบกระสุนเก่าไว้ระหว่างนิ้วโดยทำการกำด้ามปืนตามปกติ เมื่อมีโอกาสจึงค่อยเก็บซองกระสุนเข้าที่


Tactical Load หรือ Tactical Reload เป็นทักษะที่สำคัญและต้องฝึกฝนบ่อยๆให้เกิดความชำนาญ เพื่อความปลอดภัยควรใช้กระสุนปลอม (Dummy bullets) ในการฝึกซ้อม ส่วนปืนลูกโม่ก็มีการทำ Tactical Reload เช่นกัน แต่จะขอกล่าวในโอกาสต่อไป


TAS สอน Tactical Load ใน TAS 2 ซึ่งเป็นทักษะที่ผู้ใช้อาวุธปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติควรรู้อย่างยิ่ง


สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”


เรียบเรียงโดย Batman

Friday, October 7, 2011

Mind-set for Home Defense


Mind-set for Home Defense

ในการเตรียมอาวุธปืนสั้นสำหรับเก็บไว้ที่บ้าน มีหลักการที่ควรพิจารณาดังนี้

-          ในกรณีที่มีอาวุธปืนหลายกระบอก ให้เลือกอาวุธปืนสั้นซึ่งทุกคนที่สามารถเข้าถึงปืนกระบอกนั้นสามารถใช้ได้อย่างดี หากเป็นปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติและมีผู้หญิงในบ้านสามารถใช้ปืนได้ก็ต้องแน่ใจว่าเธอสามารถใช้ปืนกระบอกนั้นได้อย่างดี ปัญหาที่พบบ่อยเป็นเรื่องของการขึ้นลำสไลด์ปืนลำบาก ไม่สามารถตรวจปืนได้อย่างเหมาะสมหรือแก้ไขเหตุติดขัดของปืนได้ หากมีปัญหาเช่นนั้นก็ควรเลือกปืนลูกโม่จะเหมาะสมกว่าเพราะกลไกเรียบง่าย ใช้งานง่าย

-          ซองปืนพกนอกที่มีความแข็งแรง หากมีปุ่มล็อกปืนทุกคนที่จะใช้ปืนกระบอกนั้นต้องสามารถปลดล็อกและชักปืนออกมาใช้งานได้อย่างรวดเร็ว โดยส่วนตัวจะเลือกใช้ซองปืนที่ทำจาก Kydex เนื่องจากซองปืนแข็งแรงพอที่จะใช้ในการขึ้นลำสไลด์ในกรณีที่ต้องทำด้วยมือเพียงข้างเดียวได้ง่ายกว่าซองหนัง

-          มีกระสุนสำรองอย่างเพียงพอ นอกจากบรรจุกระสุนไว้ในตัวปืนอย่างเหมาะสมแล้ว เรายังต้องเตรียมกระสุนสำรองไว้จำนวนหนึ่งบรรจุในซองกระสุนสำรองอีก 1 ถึง 2 ซองในกรณีของปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติ หรือบรรจุไว้กับอุปกรณ์ช่วยบรรจุสำหรับปืนลูกโม่ เช่น Speed load, Jet load หรือ Speed strip เป็นต้น โดยมีซองใส่ซองกระสุนสำรองหรืออุปกรณ์ช่วยบรรจุเหล่านั้นอย่างเหมาะสม

-          มีไฟฉาย (Tactical Flashlight) หรือ ศูนย์ไฟฉาย/ศูนย์เลเซอร์ติดปืน การมีอุปกรณ์ส่องสว่างเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก เนื่องจากเหตุการณ์ร้ายส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในภาวะแสงต่ำ ดังนั้นไฟฉายจะช่วยให้เราสามารถแยกแยะเป้าหมายหรือภัยคุกคามได้ง่ายขึ้นในสถานที่หรือสภาพแสงที่น้อย ควรเลือกไฟฉายที่มีความสว่างอย่างน้อย 50 รูเมน (ยิ่งสว่างมากยิ่งดี)

-          มีดต่อสู้ (Combat Knife) สำหรับผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับการใช้มีดในการป้องกันตัว การมีมีดพับ (Tactical Folder) หรือมีดใบตาย (Fixed Blade) สักเล่มในขนาดที่เหมาะสม ก็จะทำให้เรามีความยืดหยุ่นในการจัดการกับปัญหาหรือภัยคุกคามได้มากขึ้น (ผู้ที่พกปืนจำนวนไม่น้อยจะพกมีดต่อสู้ด้วย แต่มีเพียงส่วนน้อยที่มีความรู้เกี่ยวกับการใช้งานอย่างถูกต้อง)

-          เข็มขัด ควรเลือกเข็มขัดที่มีความแข็งแรงและใช้งานง่าย

โดยส่วนตัวจะนำปืนซึ่งบรรจุกระสุนพร้อมใช้งานใส่ในซองปืน, มีกระสุนสำรองซึ่งบรรจุในซองกระสุนหรืออุปกรณ์ช่วยบรรจุใส่ในซองอุปกรณ์เหล่านั้น, ไฟฉาย และมีดต่อสู้ เหน็บไว้กับเข็มขัดตามตำแหน่งที่เหมาะสม เมื่อยามต้องใช้งานก็เพียงแค่หยิบเข็มขัดซึ่งมีทุกอย่างเหน็บไว้ครบถ้วนอยู่แล้วมาคาดเอว เราก็จะมีทุกสิ่งที่สำคัญสำหรับการใช้งานในยามฉุกเฉิน เพื่อเผชิญหน้ากับภัยคุกคามร้ายแรงได้อย่างรวดเร็ว

อย่าลืมตรวจสอบสภาพของอุปกรณ์ต่างๆเป็นระยะๆเพื่อให้พร้อมใช้งานได้ตลอดเวลาโดยเฉพาะไฟฉาย เลือกใช้กระสุนที่มีคุณภาพมาตรฐานและผ่านการทดลองยิงกับปืนกระบอกนั้นมาแล้วอย่างราบรื่น

การเตรียมตัวให้พร้อมและทดลองหยิบอุปกรณ์เหล่านั้นมาใช้งานจะทำให้เรามีความพร้อมในการเผชิญเหตุได้ดีขึ้น

สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”
                                                                                                            เรียบเรียงโดย Batman

Friday, September 30, 2011

Cruiser Safe/Cruiser Ready


Cruiser Safe/Cruiser Ready

ไม่ได้เขียนบทความเกี่ยวกับปืนลูกซองเสียนาน วันนี้จึงขอนำความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับปืนลูกซองมาบอกกล่าว

ปืนลูกซองเป็นอาวุธที่เหมาะอย่างมากแก่การป้องกันตัวเองและสมาชิกในครอบครัวโดยเฉพาะที่บ้าน การเก็บปืนและเตรียมปืนให้ปลอดภัยและพร้อมใช้งานนั้น ควรจะต้องรู้ 2 คำนี้ คือ Cruiser Safe และ Cruiser Ready

ที่มาของทั้งสองคำนั้นได้มาจากการเก็บปืนลูกซองไว้ภายในหรือท้ายรถตำรวจของอเมริกา ต่อมาถูกนำมาใช้และสอนกันอย่างกว้างขวาง ในที่นี้จะขอกล่าวเฉพาะวิธีของปืนลูกซองแบบ Pump Action ของ Remington 870 เป็นหลัก (เป็นปืนที่เหมาะมากสำหรับประชาชน เพราะกลไกเรียบง่ายโอกาสติดขัดน้อยและดูแลรักษาง่าย) ส่วนปืนลูกซองกึ่งอัตโนมัติหรือแบบอื่นอาจมีวิธีแตกต่างกันบ้างเล็กน้อยแต่หลักใหญ่ๆจะคล้ายกัน

Cruiser Safe เป็นวิธีที่ปลอดภัยในการเก็บปืนลูกซองไว้ในรถหรือที่บ้าน มี 2 วิธีใหญ่ๆ

-          วิธีแรกเป็นแบบดั่งเดิม ในกรณีที่ปืนยังไม่ได้บรรจุกระสุนเลยให้สาวกระโจมมือดึงเข้าและดันออกหนึ่งรอบแล้วเหนี่ยวไกทิ้งไป จากนั้นกดปุ่ม Safety ของปืน ต่อมาบรรจุกระสุนใส่ในหลอดบรรจุกระสุนของปืนลูกซองจนเต็ม เวลาจะใช้งานก็ให้กระชากกระโจมมือหนึ่งรอบเพื่อบรรจุกระสุนเข้ารังเพลิงพร้อมยิง (ก่อนยิงอย่าลืมปลดล็อค Safety ไกปืนด้วย)

-          วิธีที่สอง (แนะนำให้ใช้วิธีนี้) เมื่อสาวกระโจมมือดึงเข้าและดันออกจนสุดแล้ว ให้กดปุ่ม Safety ของปืน (ไม่ต้องเหนี่ยวไกทิ้ง) แล้วบรรจุกระสุนใส่ในหลอดบรรจุกระสุนของปืนจนเต็ม เวลาจะใช้งานต้องกดปุ่มปลดล็อคกระโจมมือก่อน แล้วสาวกระโจมมือหนึ่งรอบเพื่อบรรจุกระสุนเข้ารังเพลิงพร้อมใช้งาน (ก่อนยิงอย่าลืมปลดล็อค Safety ไกปืนด้วย)

โดยส่วนตัวและผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่แนะนำให้ใช้วิธีที่สอง เพราะวิธีแรกนั้นกระโจมมือจะไม่ถูกล็อค (Lock) สามารถเคลื่อนที่ขึ้น-ลงได้อย่างอิสระ เมื่อวางปืนไว้ในรถหรือท้ายรถหากรถมีการกระแทกแรงๆ พบว่าอาจทำให้กระโจมมือถูกสาวขึ้น-ลงและมีการบรรจุกระสุนเข้ารังเพลิงโดยไม่ตั้งใจได้ แต่วิธีที่สองนั้นกระโจมมือจะถูกล็อคไม่สามารถสาวขึ้น-ลงเองได้ ต้องกดปุ่มปลดล็อคกระโจมมือที่บริเวณหน้าโกรงไกปืนก่อนจึงจะสาวกระโจมมือได้ ดังนั้นโอกาสที่จะมีการบรรจุกระสุนเข้ารังเพลิงโดยไม่ตั้งใจจึงเกิดขึ้นได้ยากกว่า

Cruiser Ready เป็นการเตรียมปืนโดยมีกระสุนบรรจุอยู่ในรังเพลิงพร้อมใช้งาน โดยสาวกระโจมมือดึงเข้ามาจนสุดเพื่อเปิดช่องคายปลอกกระสุนออก ใส่กระสุนปืนเข้าไปในช่องคายปลอกหนึ่งนัดและกระชากกระโจมมือเดินหน้าไปจนสุดเป็นการบรรจุกระสุนปืนเข้ารังเพลิงและขึ้นไกปืน ให้กดปุ่ม Safety และบรรจุกระสุนเข้าหลอดบรรจุกระสุนของปืนจนเต็ม เวลาใช้งานก็แค่กดปุ่มปลด Safety ไกปืนก็ทำการยิงได้แล้ว

ในการเก็บปืนลูกซองไว้ที่บ้านสำหรับประชาชนแนะนำให้ใช้ Cruiser Safe วิธีที่สอง และเมื่อมีภัยคุกคามเราหยิบปืนจะมาใช้งานให้รีบสาวกระโจมมือเพื่อบรรจุกระสุนเข้ารังเพลิงโดยเร็ว (Cruiser Ready) และอาจบรรจุกระสุนเข้าหลอดบรรจุกระสุนเพิ่มอีกหนึ่งนัดทดแทนกระสุนที่ถูกนำไปบรรจุในรังเพลิง เพื่อให้ปืนมีกระสุนพร้อมใช้งานให้มากที่สุด

สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”
                                                                                                            เรียบเรียงโดย Batman

Thursday, September 22, 2011

2 Seconds Rule


2 Seconds Rule

ในการพกพาอาวุธปืนสั้นสำหรับประชาชน เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งอยู่นอกเวลาทำงาน เจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ หรือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ มักใช้ “การพกซ่อน (Concealed Carry)” ซึ่งมีหลายวิธี แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการพกไว้บริเวณเอวโดยมีเสื้อผ้าปกปิด หรือการพกไว้ที่ข้อเท้า เป็นต้น

โดยตำแหน่งที่พกบริเวณเอวอาจเป็นที่ 12, 2, 3, 4, 6 หรือ 10 นาฬิกา เป็นส่วนใหญ่ (ในกรณีถนัดมือขวา) และใช้เสื้อผ้าปกปิดไว้ เช่น ชายเสื้อหรือใส่เสื้อแจ๊กเก็ตคลุมไว้ เป็นต้น (อ่านเพิ่มเติมได้ในบทความเรื่อง Concealed Carry for Civilian วันที่ 4 Apr 10) ผู้หญิงบางท่านอาจใส่ปืนไว้ในกระเป๋าถือซึ่งไม่แนะนำ เพราะเมื่อถูกปล้นหรือมีภัยคุกคามคนร้ายมักยึดกระเป๋าถือของผู้หญิงไว้เป็นอันดับแรกเนื่องจากในกระเป๋ามักมีเงิน โทรศัพท์มือถือ ดังนั้นหากใส่ปืนไว้ในกระเป๋าถือก็จะถูกคนร้ายยึดไปด้วย

ในกรณีของปืนพกซ่อนเพื่อใช้งานอย่างจริงจังมักต้องสามารถเข้าถึงอาวุธปืนได้อย่างง่ายดาย ซึ่งถือว่าเป็นปืนหลักแต่ใช้การพกซ่อนแทนการพกนอกอย่างเปิดเผย (Open carry) ดังนั้นการพกปืนไว้ที่ข้อเท้าจึงมักใช้ในกรณีของปืนสำรอง (Backup gun, BUG) มากกว่า

เมื่อปืนหลักถูกนำมาพกแบบซ่อนเร้นก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคงไว้ซึ่งศักยภาพในการเข้าถึงอาวุธปืนและสามารถใช้งานได้อย่างรวดเร็ว มีหลักการหนึ่งที่ยึดถือในกรณีของปืนพกซ่อนก็คือ 2 Seconds Rule

ผู้ที่พกปืนแบบพกซ่อนจะต้องสามารถชักปืนออกจากตำแหน่งที่พกและทำการยิงเป้าหมายได้ภายในเวลา 2 วินาที

การที่จะทำเช่นนั้นได้ปืนจำเป็นที่จะต้องพร้อมใช้งานตลอดเวลา ส่วนวิธีชักปืนออกจากที่พกก็มีหลายวิธีทั้งใช้มือเดียวและสองมือขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่พกและวิธีการปกปิดซุกซ่อน

ดังนั้นการฝึกชักปืนออกจากตำแหน่งที่พกซ่อนเพื่อใช้งานจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่พกพาอาวุธปืนติดตัวตลอดเวลาแบบซ่อนเร้น ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ หรือในกรณีที่ปืนสำรองเป็นปืนพกซ่อนก็ควรมีการฝึกใช้งานจากตำแหน่งพกซ่อนเช่นกัน

มีข้อแนะนำเกี่ยวกับการเตรียมตัวในการพกพาอาวุธปืนแบบพกซ่อน ก็คือ ควรมีกระสุนสำรองเก็บไว้ในซองกระสุนพกติดตัวอีกอย่างน้อย 1 ซอง เผื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน เช่น กรณีกระสุนหมดหรือมีเหตุติดขัดขณะยิงปืนซึ่งอาจต้องปลดซองกระสุนเก่าทิ้งอย่างน้อยก็ยังมีอีกหนึ่งซองเอาไว้ใช้งานได้

สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”

                                                                                                เรียบเรียงโดย Batman
                                                                        อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจาก Magpul dynamics training program

Thursday, September 15, 2011

Gun and Law


Gun and Law

กฎหมายควบคุมอาวุธปืนสำหรับประชาชนนั้นเกิดจากข้อสันนิฐานที่ว่า ปืนเป็นอาวุธอันตรายร้ายแรงหากประชาชนสามารถครอบครองและพกพาได้อย่างอิสระอาจเกิดปัญหาการใช้อาวุธปืนอย่างไม่เหมาะสมมากขึ้นในสังคม เพื่อความสงบสุขรัฐจึงจำเป็นต้องควบคุมและจำกัดการครอบครองและพกพาอาวุธปืนของประชาชน

เมื่อรัฐนำปืนออกไปจากมือของประชาชนทั่วไปทำให้หน้าที่ในการป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของพวกเขาตกอยู่กับเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งก็คือ ตำรวจ

ในอเมริกาซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ใช้อาวุธปืนเพื่อสร้างชาติและเห็นว่าการมีอาวุธปืนเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนเพื่อเอาไว้ปกป้องตัวเอง โดยมีถึง 42 รัฐซึ่งอนุญาตให้ประชาชนสามารถพกปืนด้วยซองปืนพกนอกได้ (Open carry)  แต่ก็มีบางสถานที่สาธารณะมีข้อกำหนดห้ามพกพาอาวุธปืนเข้าไป เช่น โรงเรียน เป็นต้น

เราคงได้ข่าวหลายครั้งเกี่ยวกับเหตุยิงกันภายในโรงเรียนของอเมริกาซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก หลายคนคงมองต้นเหตุของสิ่งเหล่านี้ไปที่ “อาวุธปืน” ซึ่งคนร้ายใช้ก่อเหตุ ดังนั้นการห้ามมีและพกพาอาวุธปืนน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด แต่พบว่าเหตุการณ์เหล่านี้หลายครั้งเกิดในรัฐหรือสถานที่ซึ่งห้ามพกพาอาวุธปืนเข้าไปอยู่แล้ว อีกทั้งยังไม่มีข้อมูลสนับสนุนจากการศึกษาที่บ่งชี้ว่าการห้ามประชาชนพกพาอาวุธปืนจะสามารถลดอาชญากรรมเหล่านี้ได้

การห้ามประชาชนพกพาอาวุธปืนกลับพบว่าทำให้ประชาชนเหล่านั้นตกเป็นเหยื่อของการก่ออาชญากรรมได้ง่ายขึ้นและไม่สามารถป้องกันตัวเองได้ ในขณะที่รัฐก็ไม่สามารถเข้ามาช่วยเหลือพวกเขาได้ในขณะเกิดเหตุ ถ้าพวกเขามีอาวุธปืนอยู่ในมือเหตุการณ์ร้ายเช่นนี้อาจไม่จบลงด้วยความสูญเสียมากเช่นนั้นก็ได้ ดังนั้นในปัจจุบันเริ่มมีโรงเรียนอย่างน้อย 26 แห่งใน 3 รัฐอนุญาตให้มีการพกพาอาวุธปืนเข้าโรงเรียนได้

เนื่องจากคนร้ายทั้งหลายไม่สนใจต่อกฎหมาย กฎระเบียบของสังคม พวกเขาไม่สนใจว่ารัฐนี้หรือสถานที่นี้ห้ามพกพาอาวุธปืน และพร้อมที่จะทำผิดกฎหมายด้วยความตั้งใจอยู่แล้ว ในขณะที่เหยื่อหรือประชาชนทั่วไปกลับไม่สามารถปกป้องตนเองได้ เพราะรัฐนำปืนออกไปจากมือของพวกเขาและไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมากพอที่จะมาระงับเหตุได้ทัน

ในอเมริกาเองรัฐซึ่งอนุญาตให้พกพาอาวุธปืนได้อย่างเสรี กลับพบว่ามีอัตราการก่ออาชญากรรมด้วยอาวุธปืนน้อยกว่ารัฐอื่นๆมาก อาทิเช่น รัฐเท็กซัส เป็นต้น และพบว่าอาชญากรรมร้ายแรงหลายครั้งสามารถถูกหยุดได้ด้วยประชาชนที่มีอาวุธปืน

สำหรับประเทศไทยแล้วเมื่อรัฐนำปืนออกไปจากมือของประชาชน ก็เป็นหน้าที่ของรัฐในการปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เรารู้อยู่ว่าอาชญากรรมร้ายแรงจากอาวุธปืนของคนร้ายนั้นมีมากแต่หากประชาชนมีอาวุธซึ่งสามารถป้องกันตัวเองได้แล้ว พวกเขาก็อาจไม่ตกเป็นเหยื่อเช่นนั้นก็ได้

ก็คงต้องถามทางรัฐว่ามีความสามารถมากพอที่จะปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้จริงหรือไม่ หรือเพียงแค่คอยเก็บศพประชาชนให้เป็นข่าวหน้าหนึ่งแล้วก็เลือนหายไป ถ้าเรารอดจากคมกระสุนมาได้ก็ถือว่า “โชค” ดี ถ้าเสียชีวิตก็ถือว่า “โชค” ร้าย เพราะอย่างไรเสียประชาชนทั่วไปก็ไม่สามารถมีอาวุธปืนไว้ป้องกันตัวเองได้อยู่แล้ว ในขณะที่รัฐก็ไม่สามารถปกป้องคุณได้ อย่าลืมว่ากฎหมายมีไว้ควบคุมคนดี แต่สำหรับคนร้ายแล้วเขาไม่สนใจกฎหมายอยู่แล้ว

แล้วท่านล่ะ... มีความคิดเห็นอย่างไร?

            สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”

                                                                                                            เรียบเรียงโดย Batman
                                                                        อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Campus carry reality check ของ Dave Bahde

Newcastle limousines