Friday, November 5, 2010

Tab-Rack-Bang (TRB)

Tab-Rack-Bang (TRB)



เหตุติดขัดขณะทำการยิงของปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติที่พบบ่อย ได้แก่ กระสุนด้าน, ใส่ซองกระสุนไม่สนิท, ปลอกกระสุนติดอยู่ที่ช่องคายปลอกคล้ายปล่องไฟ (Stovepipe malfunction), มีกระสุนสองนัดอยู่ในรังเพลิง (Double feed)


แนวทางแก้ไขทั่วไปก็ขึ้นกับสาเหตุ อาทิเช่น กระสุนด้านก็ต้องกระชากสไลด์ถอยหลังหนึ่งครั้งเพื่อคัดกระสุนที่อยู่ในรังเพลิงออกทิ้งไปและนำกระสุนใหม่จากซองกระสุนเข้ารังเพลิงเพื่อทำการยิงต่อไป


หากใส่ซองกระสุนไม่สนิทก็ต้องทำการดันท้ายซองกระสุนให้สนิท แล้วทำการกระชากสไลด์ถอยหลังหนึ่งครั้งเพื่อป้อนกระสุนเข้ารังเพลิง


ถ้ายิงไปแล้วปลอกกระสุนถูกดีดออกแต่กลับมาติดอยู่ที่ช่องคายปลอกกระสุนจะมีลักษณะคล้ายปล่องไฟของฝรั่งจึงเรียกว่า Stovepipe ก็ต้องใช้มือข้างไม่ถนัดทำการปัดปลอกกระสุนให้หลุดออกจากช่องคายปลอก (ปัดเข้าหาตัว) สไลด์จะเคลื่อนไปข้างหน้าทำให้ป้อนกระสุนนัดต่อไปและทำการยิงได้


ในบางครั้งมีกระสุนอยู่ในช่องรังเพลิงสองนัด (Double feed) ทำให้ไม่สามารถยิงได้ เราต้องปลดซองกระสุนออกก่อน (ควรเกี่ยวซองกระสุนด้วยนิ้วก้อยของมือข้างที่ถือปืน) แล้วกระชากสไลด์ถอยหลังหลายๆครั้งเพื่อคัดกระสุนทั้งสองนัดออกจากรังเพลิงให้หมด จากนั้นใส่ซองกระสุนกลับเข้าไปใหม่ทำการกระชากสไลด์ถอยหลังหนึ่งครั้งเพื่อป้อนกระสุนนัดใหม่เข้ารังเพลิงแล้วจึงทำการยิงต่อไป


ขณะทำการยิงเมื่อเหนี่ยวไกไปแล้วแต่กระสุนไม่ออกทั้งๆที่กระสุนยังไม่หมด (สไลด์ยังไม่ค้าง) และไม่ได้ยินเสียงระเบิดของดินปืน โดยทั่วไปก็ต้องละสายตาออกจากเป้าหมายมาดูที่ตัวปืนเพื่อหาสาเหตุว่าเกิดอะไรขึ้นแล้วทำการแก้ไขไปตามสาเหตุที่พบ ซึ่งอาจเสียเวลามากโดยเฉพาะเมื่อกำลังเผชิญหน้ากับภัยคุกคามร้ายแรง


Tab-Rack-Bang (TRB) เป็นแนวทางหนึ่งซึ่งทำให้การแก้ไขเหตุติดขัดระหว่างการยิงปืนทำได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น


Tab หมายถึง การกระแทกท้ายซองกระสุนด้วยฝ่ามือข้างไม่ถนัด เพื่อดันให้ซองกระสุนแนบสนิทกับด้ามปืน


Rack หมายถึง การกระชากสไลด์ถอยหลังหนึ่งครั้งเพื่อคัดกระสุนที่อยู่ในรังเพลิงออกทิ้งไป (อาจเป็นกระสุนที่ด้าน) หรือปลอกกระสุนซึ่งติดอยู่ที่ช่องคายปลอกให้หลุดออกมา บางคนอาจแนะนำให้เอียงปืนเล็กน้อยให้ช่องคายปลอกชี้ลงพื้นเพื่อให้ปลอกกระสุนหลุดออกมาได้ง่ายขึ้น

Bang เป็นคำที่ใช้แทนเสียงปืนดัง “ปั่ง!” ตามแบบฝรั่ง จึงหมายถึง ให้ทำการเหนี่ยวไกยิงได้


เมื่อทำ TRB แล้วยังไม่สามารถยิงได้แสดงว่าน่าจะเป็น Double feed ซึ่งต้องทำการแก้ไขตามวิธีของ Double feed ดังกล่าวข้างต้น


TRB สามารถใช้ได้ในเหตุติดขัดส่วนใหญ่ของปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติ แต่ก็มีเหตุติดขัดบางประการที่วิธีนี้ไม่สามารถแก้ไขได้ เช่น กระสุนลั่นออกไปแล้วแต่หัวกระสุนติดอยู่ภายในลำกล้องปืน หากเรายิงซ้ำไปอีกอาจทำให้ลำกล้องปืนแตกได้ ดังนั้นต้องแยกให้ดีว่าเหนี่ยวไกไปแล้วมีเสียงระเบิดของดินปืนแล้วหรือยัง ถ้ายังไม่มีการระเบิดของดินปืนก็ให้ใช้ TRB ได้ แต่หากไม่แน่ใจอาจต้องมองดูในลำกล้องปืนด้วย (อย่าลืมทำให้ปืนปลอดภัยก่อน) ปืนบางกระบอกบกพร่องที่กลไกเมื่อยิงกระสุนหมดแล้วแต่สไลด์ไม่ค้างทำให้คิดว่ากระสุนยังไม่หมด เป็นต้น


วิธี TRB นิยมใช้กันมากและมีสอนกันในหลายศูนย์ฝึกอบรมยิงปืนทั่วโลกรวมทั้ง TAS ด้วย


สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”


เรียบเรียงโดย Batman

No comments:


Newcastle limousines