Saturday, September 25, 2010

กราดยิง เจตนาฆ่า

กราดยิง เจตนาฆ่า


ข่าวนักเรียนช่างกลกราดยิงใส่รถเมล์เมื่อเห็นคู่อริอยู่ในรถคันดังกล่าวโด่งดังนานเป็นอาทิตย์ การกราดยิงครั้งนั้นทำให้เด็กนักเรียนวัย 9 ปีที่นั่งอยู่กับพี่ชายตายคารถ ส่วนคู่อริรอดชีวิตไปได้ นอกจากนั้นยังมีผู้บาดเจ็บจากกระสุนปืนไทยประดิษฐ์อีกจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นผู้โดยสารรถเมล์ คนขับรถให้สัมภาษณ์ว่าส่วนใหญ่จะเลี่ยงไม่จอดป้ายที่มีเด็กช่างกลยืนรวมกลุ่มกันเพราะไม่อยากเจอเรื่องร้ายๆแบบนี้ เนื้อหาข่าวอย่างนี้บอกเตือนให้รู้ว่าภาพนักเรียนช่างกลโดยรวมไม่ค่อยดีนักในสายตาชาวบ้านว่า เป็นกลุ่มชอบหาเรื่อง รังแกคนอื่น ก่อความวุ่นวายให้สังคม ทั้งที่มีแค่บางกลุ่มที่เป็นวัยรุ่นนอกกรอบ นอกวินัย ไม่เคารพกฎระเบียบของสังคม และทำลายอนาคตของตัวเองจากคำสอนฝังหัวของรุ่นพี่ไม่ดีและจิตกร่างเมื่อมีปืนที่สร้างไว้ใช้เองได้


สายตากฎหมายมองปืนเป็นอาวุธอันตรายสูงสุด จึงมีการควบคุมทั้งการครอบครองและการพกพาอย่างเข้มงวดโดยต้องมีทะเบียนปืนทั้งสองแบบ นอกจากนั้นยังกำหนดชนิดของปืนที่ประชาชนมีได้อย่างจำกัด บทลงโทษหนักสำหรับผู้ทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับปืน เมื่อนำปืนไปฆ่าหรือทำร้ายคนอื่น ก็จะมีกฎหมายอาญาลงโทษอย่างหนัก กรณีกราดยิงนักเรียนคู่อริในรถเมล์ด้วยปืนไทยประดิษฐ์ เป็นอีกบทเรียนที่เกิดซ้ำซากมานานเมื่อพิจารณาจากคำพูดของผู้ยิงที่บอกว่า ไม่ได้ตั้งใจหรือมีเจตนายิงเด็กชายวัย 9 ปี แต่จะยิงคู่อริเท่านั้น คำแก้ตัวนี้ไม่ได้ช่วยลดหย่อนโทษฆ่าผู้อื่นของเขาได้ แต่ชี้ว่าเขามีความเข้าใจผิดพลาดเกี่ยวกับข้ออ้างว่าใช้ปืนกราดยิงใส่รถเมล์เพื่อสังหารคู่อริเท่านั้น


เจตนาในกฎหมายไทยหรือหลักสากลจะมีสองแบบ คือ เจตนาโดยตรง กับ เจตนาแบบเล็งเห็นผล เมื่อกฎหมายมองว่าปืนเป็นอาวุธสุดอันตราย จึงตีความหมายของเจตนาอย่างเคร่งครัดและครอบคลุมลักษณะการใช้งานหรืออันตรายของปืนด้วย เจตนาโดยตรง คือ การกระทำโดยรู้สำนึกในสิ่งที่กระทำและประสงค์ต่อผลจากการใช้ปืนว่า ต้องการทำอะไร ทำกับใคร คนกระทำมีจิตสำนึกดีว่าใช้ปืนเพื่ออะไร เพื่อใคร เช่น ใช้ปืนเล็งยิงใส่คนอื่นด้วยสารพัดสาเหตุ โดยรู้ดีว่ากำลังฆ่าคนด้วยปืน ส่วน เจตนาเล็งเห็นผล คือ การกระทำด้วยรู้สึกนึกในสิ่งที่กระทำและเล็งเห็นผลได้ว่าการกระทำนั้นจะเกิดผลอย่างไร เช่น เลือกใช้ปืนยิงไปที่กลุ่มคนซึ่งในนั้นมีศัตรูรวมอยู่ด้วย เขามีเจตนาใช้ปืนจึงหยิบปืนไป เมื่อยิงไปที่กลุ่มคนซึ่งรวมศัตรูเข้าไปด้วย แทนที่จะยิงศัตรูคนเดียว ถ้ามีคนตายในกลุ่มนั้นซึ่งอาจรวมศัตรูด้วยหรือไม่ก็ได้ กฎหมายถือว่า เขามีเจตนาฆ่าคนตายแบบเล็งเห็นผล เนื่องจากเขารู้ดีว่าปืนยิงออกไปต้องมีคนตายหรือบาดเจ็บด้วยประสิทธิภาพของมัน เมื่อเลือกใช้ปืน ย่อมถือว่ามีเจตนาฆ่าเยี่ยงเดียวกับเจตนาโดยตรง แม้คนตายหรือคนบาดเจ็บจะไม่รู้จักกับผู้ยิงก็ตาม


กรณีนักเรียนช่างกลกราดยิงใส่รถเมล์เมื่อเห็นคู่อริอยู่ในรถคันนั้น แล้วกระสุนไปฆ่าเด็กวัย 9 ปีและทำร้ายผู้บาดเจ็บจำนวนหนึ่ง เคยมีคดีประเภทนี้เกิดขึ้นมาหลายครั้งในศาลซึ่งตัดสินแล้วว่า แม้นักเรียนช่างกลอ้างว่าไม่ตั้งใจฆ่าเด็กหรือทำร้ายผู้บาดเจ็บเพราะไม่รู้จักกันมาก่อน แต่ยอมรับว่าตั้งใจยิงคู่อริเท่านั้น ศาลเคยตัดสินว่า ผู้กราดยิงใส่รถเมล์ด้วยปืนถือว่ามีเจตนาฆ่าคนตายโดยเล็งเห็นผลได้ว่า ปืนสร้างอันตรายถึงชีวิตแก่คนอื่นได้ ส่วนคนบาดเจ็บก็ถือว่าผู้กราดยิงมีเจตนาทำร้ายร่างกายผู้อื่นด้วยปืนโดยเจตนาเล็งเห็นผลหรือรู้อยู่แล้วว่าปืนทำอันตรายแก่ทุกคนได้ กฎหมายมองการกราดยิงว่า ผู้ยิงมีเจตนาฆ่าผู้ตาย เจตนาทำร้ายผู้บาดเจ็บ โดยไม่สนใจว่าผู้ยิงจะรู้จักเหยื่อหรือไม่ด้วยเหตุผลทางกฎหมายเรื่องเจตนาเล็งเห็นผล ดังนั้น เมื่อยิงปืน ก็ถือว่ามีเจตนายิงแบบเล็งเห็นผลหรือเจตนาโดยตรงขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงประกอบเสริมด้วย


ปืนในสายตากฎหมายถือเป็นอาวุธอันตราย เมื่อใครใช้ปืน ไม่ว่าจะรู้จักกับเหยื่อหรือไม่ จะถูกถือว่าเจตนาฆ่าหรือทำร้ายผู้อื่นแบบเล็งเห็นผลเสมอ เพราะกฎหมายถือว่าประชาชนรู้ดีว่าปืนมีประสิทธิภาพและมีอันตรายมากน้อยแค่ไหน จึงต้องระวังการใช้ปืนเสมอ เมื่อเกิดผลลัพธ์จากการใช้ปืน ผู้ยิงต้องมีความรับผิดชอบทางกฎหมายด้วย กรณีฆ่าคนตาย ผู้ยิงต้องรับผิดชอบในคดีอาญาด้วยระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 15 ถึง 20 ปี แล้วแต่ดุลพินิจของศาลโดยมีข้อเท็จจริงในคดี ประวัติของผู้ใช้ปืน อายุ เป็นหลักพิจารณากำหนดโทษของแต่ละคน


คดีกราดยิงใส่รถเมล์โดยปืนไทยประดิษฐ์ของนักเรียนช่างกลเป็นตัวอย่างล่าสุดของเจตนาเล็งเห็นผลที่ถือว่าเป็นคดีซ้ำรอยกับรุ่นพี่ช่างกลที่รับโทษอาญามาแล้วในข้อเท็จจริงแบบเดียวกัน กรณีที่คนใช้ปืนเป็นผู้เยาว์ ศาลอาจใช้ดุลพินิจกำหนดโทษไม่ถึงประหารชีวิตหรือลดโทษจำคุกลงด้วยเหตุเป็นเยาวชน การจำคุกของวัยรุ่นก็ถูกแยกไปจำขังในคุกเยาวชน มิใช่คุกผู้ใหญ่ แต่พวกเขาจะได้รับการบันทึกประวัติว่าเคยต้องโทษจำคุกทางอาญาไว้ตลอดชีวิต อารมณ์ชั่ววูบและความเข้าใจผิดพลาดของเยาวชนทำลายอนาคตของตัวเองเพราะเชื่อในพลังของปืนและความกร่างเมื่อถือปืนไว้โดยไม่คำนึงถึงผลลัพธ์จากการใช้ปืนด้วย


ปืนมีพลังในตัวเองจากประสิทธิภาพของมัน ส่งผลให้คนถือปืนรู้สึกว่ามีพลังเหนือคนอื่น แต่ควรเตือนตนไว้ว่า ทุกครั้งที่เลือกใช้ปืน กระสุนทุกนัดที่ยิงออกไป ผู้ใช้ปืนต้องมีความรับผิดชอบเสมอ กฎระเบียบที่ใช้ควบคุมหรือลงโทษผู้ใช้ปืน แม้จะมีข้อยกเว้นโทษอยู่ด้วย แต่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้ตัดสินว่าเชื่อในข้ออ้างประกอบการขอยกเว้นโทษหรือไม่ มันไม่ได้อยู่ในความควบคุมของผู้ใช้ปืนอีก ความกร่างเมื่อมีปืน คือ วิธีทำลายคนใช้ปืน คนฉลาดต้องควบคุมพลังของปืนได้ นี่คือ เจ้าของปืนตัวจริง มิใช่ทาสของปืน


เรียบเรียงโดย Black Cuff

No comments:


Newcastle limousines