Friday, July 2, 2010

Tactical sighting-in

Tactical sighting-in



ในการตั้งศูนย์ปืนนั้นมีหลายวิธี ตั้งแต่การใช้เครื่องมือยึดจับปืนอยู่กับที่แล้วทำการยิง หรือใช้ถุงทรายรองปืนหรือแท่นรองปืนในการยิงตั้งศูนย์ จนถึงการถือปืนยิงตามปกติ ในการยิงปืนแข่งขันเอาคะแนนความแม่นยำนั้น การตั้งศูนย์ปืนให้เที่ยงตรงมีความสำคัญอย่างมากจึงต้องใช้ความละเอียดอ่อนในการตั้งศูนย์ปืนเป็นพิเศษ


โดยทั่วไปแล้วการจัดศูนย์ปืนในการแข่งขันทั่วไปมักตั้งศูนย์ปืนให้เที่ยงตรงในระยะใดระยะหนึ่งที่จะทำการแข่งขัน เช่น ถ้าแข่งยิงปืนระยะ 10 เมตร ก็ต้องจัดศูนย์ปืนให้เที่ยงตรงที่ระยะ 10 เมตร เมื่อจะแข่งที่ระยะ 15 เมตร ก็ต้องจัดศูนย์ปืนกันใหม่ เนื่องจากการแข่งขันมักใช้เป้าวงกลมดำ (Bulleye target) เพื่อความแม่นยำและการให้คะแนน เวลาเล็งจึงมักเล็งศูนย์ปืนแบบนั่งแท่นเป็นส่วนใหญ่


แต่สำหรับปืนต่อสู้นั้นเราไม่ได้ยิงในระยะไกลมากๆ และไม่ได้ยิงเป้าวงกลม อีกทั้งไม่ได้ต้องการให้ยิงเข้าจุด X ทุกนัด ขอเพียงยิงให้อยู่ใน “บริเวณที่ต้องการ” ก็เป็นอันใช้ได้ เนื่องจากการยิงต้องทำอย่างรวดเร็วและเป้าที่ใช้มักเป็นเป้าหุ่นคน ดังนั้นการจัดศูนย์จึงนิยมแบบ “ศูนย์จี้” เป็นส่วนใหญ่ เมื่อเราต้องการจะยิงตำแหน่งใดก็เพียงจัดแนวศูนย์หลัง ศูนย์หน้า แล้วจี้ไปยังตำแหน่งนั้นเพื่อทำการยิง

การที่จะสามารถส่งกระสุนไปยังตำแหน่งที่เราต้องการได้นั้น ก็ยังต้องมีการตั้งศูนย์ปืนให้มีความเที่ยงตรงในระดับหนึ่งอยู่ดี โดยมีหลักการดังนี้


ในการจัดศูนย์ปืนนั้นจะใช้เป้าวงกลมดำเนื่องจากทำการเล็งและดูกลุ่มกระสุนได้ง่าย อาศัยหลักการที่ว่า ปืนของเราจะต้องใช้งานในลักษณะใดก็ให้ตั้งศูนย์ในแบบเดียวกับที่จะใช้งานจริง จึงไม่ใช้อุปกรณ์ช่วยในการวางปืน (การตั้งศูนย์ปืนโดยใช้ถุงทรายช่วยในการวางปืน อาจทำให้กลุ่มกระสุนที่ได้แตกต่างจากการยิงปืนโดยไม่ใช้ถุงทรายช่วย)

เนื่องจากการยิงระบบต่อสู้นั้นมักยิงในระยะใกล้ไม่เกิน 7 หลา ดังนั้นการจัดศูนย์จึงทำที่ระยะ 7 หลา ถือปืนด้วยสองมือ เปิดตาทั้งสองข้างขณะเล็งยิง จัดศูนย์แบบศูนย์จี้ ไม่ต้องรีบร้อนในการยิง ยิงเป็นชุดๆละ 3 ถึง 5 นัด เพื่อดูกลุ่มกระสุน


หากการถือปืนและการเหนี่ยวไกทำได้ดีจะได้กลุ่มกระสุนที่แคบและเล็ก ซึ่งจะช่วยในการปรับศูนย์ปืนได้ แต่หากกลุ่มกระสุนกระจายมากก็คงต้องฝึกการถือและเหนี่ยวไกให้ดีก่อน


ปืนระบบต่อสู้นั้นศูนย์ปืนมีทั้งแบบ ศูนย์ตาย (ปรับไม่ได้) ศูนย์กึ่งปรับได้ (ปรับได้เล็กน้อย) ไม่ว่าจะเป็นศูนย์หน้าหรือศูนย์หลัง ในการปรับตั้งศูนย์ปืนนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่า ศูนย์ปืนกระบอกนั้นปรับได้มากน้อยแค่ไหน


ถ้าศูนย์หลังปรับได้บ้างก็ใช้หลักการดังนี้


- ให้ปรับศูนย์ปืนไปยัง “ทิศทางซึ่งต้องการ” ให้กลุ่มกระสุนย้ายไปอยู่ เช่น เมื่อยิงไปแล้วกลุ่มกระสุนอยู่ทางซ้ายของวงกลมดำ ซึ่งเราต้องการให้กลุ่มกระสุนเลื่อนมาทางขวาเล็กน้อยเพื่อให้เข้าตรงกลางวงกลมดำ เราก็ปรับศูนย์หลังไปทางขวาเล็กน้อยแล้วทดลองยิงใหม่เพื่อดูกลุ่มกระสุน ทำการปรับทีละเล็กละน้อยจนกว่าจะได้ตำแหน่งที่ต้องการ ถ้าศูนย์หลังสามารถปรับสูง-ต่ำได้ด้วยก็จะสามารถปรับแนวกลุ่มกระสุนให้สูงหรือต่ำได้ด้วยหลักการเดียวกัน


ถ้าศูนย์หน้าปรับได้บ้างก็ใช้หลักการดังนี้


- ให้ปรับศูนย์ปืนไปยัง “ทิศทางตรงข้าม” กับที่ต้องการให้กลุ่มกระสุนย้ายไปอยู่ (จะกลับทิศทางกับการปรับศูนย์หลัง) เช่น เมื่อยิงไปแล้วกลุ่มกระสุนอยู่ทางซ้ายของวงกลมดำ ซึ่งเราต้องการให้กลุ่มกระสุนเลื่อนมาทางขวาเล็กน้อยเพื่อให้เข้าตรงกลางวงกลมดำ เราก็ปรับศูนย์หน้าไปทางซ้ายเล็กน้อยแล้วทดลองยิงใหม่เพื่อดูกลุ่มกระสุน ถ้าศูนย์หน้าสามารถปรับสูง-ต่ำได้ด้วยก็จะสามารถปรับแนวกลุ่มกระสุนให้สูงหรือต่ำได้ด้วยหลักการเดียวกัน (ปกติศูนย์หน้าจะปรับสูง-ต่ำไม่ได้ ยกเว้น ปืนไรเฟิ่ล ปืนกล)


โดยส่วนใหญ่นิยมปรับศูนย์หลังมากกว่าศูนย์หน้าเนื่องจากทำได้ง่ายกว่า นอกเสียจากปรับศูนย์หลังจนเต็มที่แล้วก็ยังแก้กลุ่มกระสุนไม่ได้ก็คงต้องมาปรับศูนย์หน้าด้วย


การตั้งศูนย์ปืนควรทำเป็นระยะๆ เพราะเมื่อยิงไปจำนวนหนึ่งหรือกระสุนที่ใช้มีแรงถีบมากๆ จะทำให้ศูนย์ปืนคลาดเคลื่อนไปทำให้ความแม่นยำลดลง


การตั้งศูนย์ปืนด้วยตนเองทำให้เรารู้ข้อจำกัดของปืนและเป็นการฝึกถือและเหนี่ยวไกปืน ซึ่งเป็นพื้นฐานของการยิงปืนทุกระบบ


สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”


เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Sighting-in secrets ของ Mike “Duke” Venturino

No comments:


Newcastle limousines