Thursday, November 19, 2009

NYPD SOP 9 - ANALYSIS OF POLICE COMBAT











NYPD SOP 9 - ANALYSIS OF POLICE COMBAT

ในปี ค.ศ. 1969 แผนก Firearms and Tactics section ของกรมตำรวจนิวยอร์ก (NYPD) ได้คิดที่จะทำการศึกษาในเชิงลึกเกี่ยวกับการใช้อาวุธของตำรวจในสถานการณ์จริง เรียกคำสั่งนี้ว่า SOP 9

การศึกษาเริ่มตั้งแต่ ม.ค. ค.ศ.1970 ถึง ธ.ค. ค.ศ.1979 และรายงานได้รับการเผยแพร่ในปี ค.ศ.1981โดยรวบรวมมากกว่า 6,000 เหตุการณ์

จนถึงช่วงเวลาที่รายงานได้รับการเปิดเผย ปืนส่วนใหญ่ของตำรวจได้มีการเปลี่ยนจากปืนลูกโม่มาเป็นปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติ และเงื่อนไขของสถานการณ์ใช้อาวุธปืนก็ค่อยๆเปลี่ยนไปด้วย ผลการศึกษาจะนำไปสู่รูปแบบการฝึกและการตอบสนองเพื่อการป้องกันตัวเองอย่างเหมาะสมจนกว่าจะมีการศึกษาใหม่ๆเพิ่มเติม

- ระยะในการยิงต่อสู้ (Shooting Distances) นับตั้งแต่ ก.ย. ค.ศ. 1854 ถึง ธ.ค. ค.ศ.1979 มีตำรวจ 254 นายเสียชีวิตจากการยิงต่อสู้กับคนร้ายที่มีอาวุธ โดย 90 เปอร์เซ็นต์เกิดขึ้นในระยะต่ำกว่า 15 ฟุต (ระยะประชิดจนถึง 3 ฟุตมี 34 เปอร์เซ็นต์, ระยะ 3 ถึง 6 ฟุตมี 47 เปอร์เซ็นต์, ระยะ 6 ถึง 15 ฟุตมี 9 เปอร์เซ็นต์) เมื่อศึกษาย้อนกลับไปจนถึงปี ค.ศ. 1929 จำนวน 4,000 เหตุการณ์ พบว่า 75 เปอร์เซ็นต์ เป็นการยิงในระยะต่ำกว่า 20 ฟุต (ระยะประชิดจนถึง 10 ฟุตมี 51 เปอร์เซ็นต์, ระยะ 10 ถึง 20 ฟุตมี 24 เปอร์เซ็นต์)

- สภาพแสง (Light Conditions) ส่วนใหญ่เหตุการณ์เกิดขึ้นในภาวะแสงต่ำ (Poor lighting conditions) แต่ไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นในภาวะที่มืดสนิท (Total darkness) เลย เป็นที่น่าสังเกตว่าไฟฉายไม่ได้ถูกนำมาใช้ช่วยเพิ่มขีดความสามารถ การยิงปืนในสภาพแสงสลัวๆนั้นมีความแตกต่างจากการยิงในภาวะแสงที่สว่างจ้าเห็นชัด

- อาวุธ (Weapons) อาวุธปืนเป็นอาวุธที่ใช้ทำร้ายตำรวจประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ของเหตุการณ์ทั้งหมด แต่ตำรวจ 254 นายที่เสียชีวิตจากการถูกทำร้ายนั้น 90 เปอร์เซ็นต์เกิดจากอาวุธปืนและมีเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เกิดจากมีด

60 เปอร์เซ็นต์เกิดจากปืนลูกโม่ โดย 35 เปอร์เซ็นต์เกิดจากปืนลูกโม่แบบพกซ่อน (โครงปืนเล็กลำกล้องสั้น)

- การเล็งปืน (Sight Alignment) 70 เปอร์เซ็นต์ของเหตุการณ์ทั้งหมดไม่มีการเล็งปืน เจ้าหน้าที่ตำรวจรายงานว่าพวกเขาใช้การยิงโดยสัญชาติญาณ (Instinctive or Point shooting) เมื่อระยะห่างระหว่างตำรวจกับคนร้ายเพิ่มขึ้นเริ่มมีรายงานการเล็งปืนมากขึ้น เช่น การใช้แนวลำกล้องปืนชี้ไปที่คนร้ายแล้วมองศูนย์หน้ารวมทั้งการเล็งละเอียด มีประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์จำไม่ได้ว่าได้เล็งหรือยิงโดยสัญชาติญาณ

- การชักปืนเร็ว (Quick Draw) 65 เปอร์เซ็นต์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจรู้ว่ากำลังจะเกิดเหตุร้าย และได้ชักปืนลูกโม่ (สมัยนั้นนิยมใช้ปืนลูกโม่) ออกมาพร้อมที่จะใช้งานซึ่งในทางยุทธวิธีถือว่าเหมาะสมแล้ว ตำรวจที่เสียชีวิตส่วนใหญ่มักทำงานในขณะที่อยู่คนเดียวและเผชิญหน้ากับคนร้ายมากกว่าหนึ่งคน

- การคุ้มกัน (Cover) มีเพียงปัจจัยเดียวซึ่งสำคัญที่สุดต่อการมีชีวิตรอดของตำรวจก็คือ การคุ้มกัน ในสถานการณ์ที่ตึงเครียดตำรวจจะตอบสนองต่อเหตุการณ์ตามที่ได้ฝึกมา โดยมักจะมีการคุ้มกันรวมอยู่ด้วยถ้าทำได้ แต่มันจะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าไม่เคยฝึกมาก่อน

- ตำเหน่ง (Positions) 84 เปอร์เซ็นต์ตำรวจกำลังยืนหรือนั่งคุกเข่า (Crouch position) ในขณะที่พวกเขายิงปืน

- มือข้างถนัดหรือมือข้างไม่ถนัด (Strong Hand or Weak Hand) เจ้าหน้าที่ตำรวจส่วนใหญ่ยิงด้วยมือข้างถนัด แม้แต่ในบางสถานการณ์ถ้าหากยิงด้วยมือข้างไม่ถนัดจะมีประโยชน์กว่า ดังนั้นการเน้นให้ฝึกยิงด้วยมือข้างไม่ถนัดอย่างหนักนั้นยังคงเป็นข้อสงสัยอยู่ว่าจำเป็นหรือไม่

- ยิงแบบขึ้นนกหรือไม่ขึ้นนก (Single and Double Action) ปืนลูกโม่ที่ใช้นั้น 90 เปอร์เซ็นต์ยิงโดยไม่ขึ้นนก (Double action) และเกือบจะไม่มีข้อยกเว้นเลย

- การยิงเตือน (Warning Shoot) อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการยิงอย่างต่อเนื่อง การยิงปืนด้วยความแม่นยำจากยานพาหนะที่กำลังเคลื่อนที่อย่างรวดเร็วนั้นแถบจะเป็นไปไม่ได้เลย แม้ผู้ยิงจะได้รับการฝึกยิงปืนมาอย่างดีเยี่ยมก็ตาม

การยิงปืนขณะที่กำลังวิ่งอยู่นั้นทำให้สถานการณ์แย่ลง เช่น กระสุนหมดเร็วขึ้นหรืออาจยิงพลาดไปถูกผู้บริสุทธิ์ซึ่งปรากฏออกมาอย่างกะทันหัน

- การบรรจุกระสุนอย่างรวดเร็ว (Rapid Reloading) จำนวนกระสุนที่ใช้ในการยิงต่อสู้กับคนร้ายที่มีอาวุธนั้นอยู่ที่ 2 ถึง 3 นัดเท่านั้น จำนวนกระสุนนี้คงที่มานานหลายปีตลอดการศึกษาและตรงกับการศึกษาที่ LAPD ซึ่งใช้กระสุนเฉลี่ย 2.6 นัดในการยิงต่อสู้แต่ละครั้ง

ความจำเป็นที่จะต้องทำการบรรจุกระสุนอย่างรวดเร็วเพื่อป้องกันการเสียชีวิตหรือบาดเจ็บอย่างร้ายแรงนั้นอาจไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ จากผลการศึกษานี้แม้แต่การยิงในระยะใกล้ซึ่งต่ำกว่า 15 ฟุตก็ไม่มีรายงานว่าจำเป็นต้องทำการบรรจุกระสุนอย่างรวดเร็ว

มีเพียง 6 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มีรายงานว่ามีการบรรจุกระสุนใหม่ (Reloading) ซึ่งมักเป็นเหตุการณ์ยิงในการไล่ติดตามคนร้าย หรือคนร้ายอยู่ในที่กำบัง หรือเป็นการยิงในระยะไกลกว่า 25 ฟุต

- ประสิทธิภาพของกระสุน (Bullet Efficiency) จากการศึกษาพบว่าไม่ใช่ขนาดของกระสุน รูปร่างของกระสุน ส่วนประกอบของกระสุน หน้าตัดของกระสุนหรือ ความเร็วของกระสุน จะเป็นปัจจัยสำคัญในการบอกประสิทธิภาพของกระสุน แต่ตำแหน่งที่โดนกระสุนต่างหากเป็นตัวบอกประสิทธิภาพของกระสุนในการหยุดคนร้ายไม่ว่าจะเป็นการเสียชีวิตหรือบาดเจ็บจนต่อสู้ต่อไปไม่ได้

- ความแม่นยำในการยิงต่อสู้ (Hit Potential In Gun Fights) ความแม่นยำในการยิงต่อสู้ของเจ้าหน้าที่ตำรวจดีขึ้นเรื่อยๆทุกปี มาหยุดอยู่ที่มากกว่า 25 เปอร์เซ็นต์เล็กน้อยเมื่อสิ้นสุดการศึกษา ส่วนความแม่นยำของคนร้ายนั้นอยู่ที่ 11 เปอร์เซ็นต์เมื่อปี ค.ศ. 1979

ในปี ค.ศ. 1992 ตำรวจโดยรวมๆ (Overall police) มีความแม่นยำประมาณ 17 เปอร์เซ็นต์ ในระยะต่ำกว่า 15 หลาโดย ระยะต่ำกว่า 3 หลายิงถูก 28 เปอร์เซ็นต์, 3 ถึง 7 หลา ยิงถูก 11 เปอร์เซ็นต์, 7 ถึง 15 หลา ยิงถูก 4.2 เปอร์เซ็นต์

- มีความแตกต่างระหว่างความสามารถในการยิงถูกเป้าในสนามยิงปืนกับในสถานการณ์ต่อสู้จริง (The Disconnection Between Range Marksmanship and Combat Hitsmanship) โดยปกติเรามักคิดว่าคนที่ยิงถูกเป้าที่ระยะ 50 หลาได้ในสนามยิงปืน ก็ควรจะต้องยิงถูกคนร้ายที่ระยะ 3 ฟุตอย่างแน่นอน แต่จากรายงานนี้กลับไม่พบว่าเป็นเช่นนั้น เพราะถ้าเป็นจริงอัตราการยิงถูกเป้าหมายน่าจะสูงกว่านี้ เพราะ 75 เปอร์เซ็นต์เป็นการยิงในระยะต่ำกว่า 20 ฟุต และเมื่อดูในรายละเอียดกว่า 200 เหตุการณ์ ซึ่งผู้ยิงมีฝีมือดีในสนามยิงปืนแต่กลับไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างการยิงแม่นในสนามยิงปืนกับการยิงในสถานการณ์จริง

ในกองทัพสหรัฐได้ตระหนักถึงความไม่สัมพันธ์กันนี้ ดังนั้นในปี ค.ศ. 1988 จึงเริ่มให้ทหารฝึกยิงด้วยสัญชาติญาณ (Point shooting) ในระยะต่ำกว่า 15 ฟุต รวมทั้งการยิงกลางคืนด้วย

การยิงปืนด้วยสัญชาติญาณมีหลายรูปแบบให้เลือกใช้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เรียบง่าย เรียนรู้ได้เร็วและมีประสิทธิภาพ

จะเห็นได้ว่าในการยิงปืนต่อสู้ในสถานการณ์จริงนั้นมักเกิดขึ้นและสิ้นสุดอย่างรวดเร็ว เป็นการยิงในระยะใกล้และมีภาวะแสงต่ำ ใช้วงกระสุนประมาณ 2 ถึง 3 นัดเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติหรือปืนลูกโม่ก็มีวงกระสุนเพียงพอสำหรับใช้ป้องกันตัว การฝึกยิงด้วยสัญชาติญาณมีประโยชน์อย่างมากในการยิงปืนระบบต่อสู้

TAS สอนการยิงปืนระบบต่อสู้ด้วยสัญชาติญาณ ผู้รับการฝึกจะได้เรียนรู้ทักษะที่จำเป็นสำหรับการใช้อาวุธปืนเพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สิน

สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”

เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง NYPD SOP 9 - ANALYSIS OF POLICE COMBAT จาก marylandcops.org

4 comments:

Jarhead said...

เผอิญเพิ่งไปบวช ลาสึกออกมา มีบทความใหม่ๆดีๆเต็มเลย เป็นข้อมูลที่ดีมากเลยครับ ขออนุญาตินำไปใช้อ้างอิงในการสอนด้วยนะครับ ถ้าอาจารย์จะกรุณา

Batman said...

ขอแสดงความดีใจกับการบวชครับ....

ส่วนการนำบทความไปอ้างอิงต่อก็ยินดีครับ หวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ใช้อาวุธปืนได้ใช้อาวุธอย่างมีประสิทธิภาพและมี "สติ"

Batman

Jarhead said...

ขอบพระคุณครับ พักหลังนี้จะมีข้าราชการส่วนของมหาดไทยมาเรียนค่อนข้างมาก เพราะส่วนมากถูกจะไปประจำทางภาคใต้ หลักๆจริงคือทางเชียงใหม่ไม่มีสถาบันที่สอนด้านการยิงต่อสู้แบบจริงๆจังๆ เลยถูกขอร้องแกมบังคับให้สอน สิ่งจริงๆแล้วไม่อยากรับเท่าไรครับ เพราะยังด้อยประสบการณ์ และไม่ได้มีคุณวุฒิด้านการสอนด้วย จึงต้องรบกวนเนื้อหาในบล็อคของอาจารย์ไปใช้ด้วยเสมอๆ อนาคตคงต้องหาโอกาสไปร่ำเรียนกับทางอาจารย์แบบจริงๆจังแล้วครับ

Batman said...

ขอเรียกว่ามาแลกเปลี่่ยนความรู้กันดีกว่าครับ ไม่อยากให้เป็นทางการมากนัก

Batman


Newcastle limousines