Saturday, March 31, 2012

All-ladies Classes


All-ladies Classes

นาง Heidi Smith เป็นภรรยาของนาย Clint Smith ทั้งคู่เป็นครูฝึกยิงปืนที่ศูนย์ฝึกอบรม Thunder Ranch ไม่นานมานี้ได้เปิด หลักสูตรยิงปืนสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ (All-ladies Classes)ซึ่งได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เธอเป็นครูฝึกยิงปืนให้กับหลักสูตรยิงปืนสำหรับผู้หญิงทั่วประเทศมานานหลายปีก่อนที่จะแต่งงานกับนาย Clint Smith เมื่อ 13 ปีก่อนเสียอีก

เป็นที่ยอมรับกันว่าทั้งสามีและภรรยาควรได้รับการฝึกอบรมการใช้อาวุธปืนอย่างถูกวิธี และมีข้อมูลว่าหลายครั้งคนร้ายบุกรุกเข้าบ้านในขณะที่สามีและภรรยายังอยู่ในบ้าน ดังนั้นทั้งคู่ควรมีการฝึกอบรมการใช้อาวุธปืนร่วมกันในการปกป้องตนเองและสมาชิกในครอบครัว

หากทั้งคู่ไม่เคยฝึกการใช้อาวุธปืนร่วมกันก็เปรียบเสมือนกับการแข่งขันขับรถวิบากทางไกลซึ่งมีเพียงหนึ่งคนที่คาดเข็มขัดนิรภัย อาจเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้เสมอหรือไม่สามารถทำภารกิจให้สำเร็จได้

ส่วนใหญ่แล้วผู้หญิงมักจะสนใจเรื่องเกี่ยวกับอาวุธปืนน้อยกว่าผู้ชาย หลายครั้งภรรยาถูกสามีแนะนำกึ่งบังคับให้มาอบรมการใช้อาวุธปืนตามศูนย์ฝึกอบรมทั่วไป จากประสบการณ์ของนาง Heidi Smith แล้วพบว่า ลูกศิษย์หลายคนสามารถเห็นถึงประโยชน์ของการฝึกอบรมยิงปืน นอกจากนั้นก็ยังเต็มไปด้วยความสนุกสนานด้วย

มีอยู่คู่หนึ่งซึ่งภรรยามาเรียนยิงปืนเนื่องจากสามีแนะนำ ตลอดการฝึกในช่วงแรกเธอไม่แสดงสีหน้าอะไรเลย จนวันสุดท้ายก็เข้ามาสวมกอดนาง Heidi Smith ซึ่งเป็นครูฝึกและกล่าวว่า ตอนนี้เข้าใจแล้วว่าการฝึกยิงปืนมันดีอย่างไรและก็สนุกมาก ต่อมาเธอกลับมาฝึกอีกหลายครั้งและมาฝึกพร้อมกับสามีด้วย
            
การมีปืนไว้ในบ้านเพื่อป้องกันตัวและครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญที่สมาชิกในครอบครัวควรเรียนรู้การใช้อาวุธปืนนั้นอย่างถูกวิธี และหากมีโอกาสการฝึกทำงานเป็นทีมทั้งสามีและภรรยาวันหนึ่งอาจสร้างความแตกต่างได้ระหว่างความเป็นและความตายเลยทีเดียว

สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”
                                                                                                เรียบเรียงโดย Batman
                                                                                    อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง I Do and I Don’t: in Training? ของ Heidi Smith

Sunday, March 18, 2012

Sidesaddle Shotgun Shell Carrier


Sidesaddle Shotgun Shell Carrier

จุดอ่อนสำคัญข้อหนึ่งของปืนลูกซองก็คือ จำนวนลูกกระสุนที่บรรจุได้ในตัวปืนมีจำกัดมาก เมื่อเทียบกับปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติทั่วไป อาทิเช่น ปืนลูกซองส่วนใหญ่ซึ่งประชาชนใช้มักบรรจุได้ 4 นัดในหลอดกระสุนและอีกหนึ่งนัดในรังเพลิง หรือที่เรามักเรียกว่า 4 + 1 ในบางรุ่นหรือบางครั้งเจ้าของก็นำปืนมาขยายหลอดบรรจุกระสุนจาก 4 นัด เป็น 6 ถึง 8 นัด เป็นต้น แต่อย่างไรเสียก็ยังนับว่าน้อยกว่าปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติส่วนใหญ่ซึ่งบรรจุกระสุนได้มากกว่าสิบนัด

ดังนั้นเทคนิคหนึ่งซึ่งมีประโยชน์อย่างมากในการใช้ปืนลูกซองก็คือ การยิงไปบรรจุกระสุนไป เพื่อให้ปืนสามารถมีกระสุนพร้อมใช้งานให้มากที่สุดตลอดเวลา แต่กระสุนสำหรับเตรียมบรรจุใส่ตัวปืนนั้นมีหลายวิธี แต่ที่นิยม เช่น Sidesaddle Shotgun shell Carrier เป็นแท่นหนีบกระสุนสำรองมีตั้งแต่ 3 ถึง 8 นัด (แนะนำ 6 นัด) โดยติดไว้บริเวณกระโหลกปืนลูกซองด้านซ้าย อีกทั้งบริเวณด้ามพานท้ายปืนด้านขวาก็เป็นอีกตำแหน่งหนึ่งซึ่งนิยมมากเช่นกัน เรียกว่า Shotgun Butt Stock Shell Holder มักบรรจุได้ 5 นัด

ข้อดีของกระสุนสำรองตำแหน่งเหล่านี้ คือ กระสุนจะติดไปกับตัวปืนตลอด หากเราใช้กระสุนเหน็บไว้ที่เข็มขัดเราก็ต้องคาดเอวตลอดเวลาขณะนำปืนไปใช้ แต่ในยามฉุกเฉินเราอาจคว้าปืนอย่างเดียวไปได้ทันทีโดยมีกระสุนสำรองไว้ใช้ได้มากพอสมควร

สำหรับนักกีฬายิงปืนลูกซองรณยุทธบางกลุ่มจะใช้หลอดบรรจุกระสุนสำรองยาวมากๆ ซึ่งไม่แนะนำสำหรับใช้ในเชิงต่อสู้ป้องกันตัวเพราะขาดความคล่องตัว

ข้อเสียของการใช้อุปกรณ์เสริมเหล่านี้ก็คือ น้ำหนักปืนที่มากขึ้นเมื่อใส่กระสุนไว้เต็ม ดังนั้นการจะใช้ตำแหน่งใดในการใส่กระสุนสำรองไว้ไม่ว่าจะเป็นด้านข้างกระโหลกปืนและ/หรือที่ด้ามปืนก็ขึ้นกับผู้ใช้เป็นหลักว่าสามารถใช้ปืนได้อย่างคล่องตัวหรือไม่

นอกจากนั้นต้องหมั่นฝึกฝนการบรรจุกระสุนจากตำแหน่งที่มีกระสุนสำรอง เพื่อให้เกิดทักษะความชำนาญและสามารถใช้ได้อย่างคล่องแคล้วในยามฉุกเฉิน

สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนของให้มี “สติ”
                                                                                                            เรียบเรียงโดย Batman

Sunday, March 4, 2012

DA/SA Pistol


DA/SA Pistol

ปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติเป็นปืนที่ได้รับความนิยมสูงสุดในปัจจุบัน ปืนสมัยแรกๆยิงในระบบ Single Aciton Only (SAO) แต่ปืนสมัยใหม่หลายรุ่นสามารถยิงได้ทั้งระบบ Double Action และ Single Action (DA/SA) ในการยิงระบบ Double Action นั้นนกสับจะอยู่ชิดโครงปืนและไกอยู่ในตำแหน่งปกติ เวลายิงนิ้วต้องเหนี่ยวไกปืนลากยาวกว่ากระสุนจะลั่นออกไป (ระยะลากไกยาว) เนื่องจากการเหนี่ยวไกนั้นจะต้องทำการง้างนกสับให้ถอยหลังจนสุดถือเป็น Action แรก ต่อมาเมื่อถึงจุดหนึ่งนกสับจะดีดกลับมาชิดโครงปืนกระแทกเข็มแทงชนวนไปกระทบจานท้ายปลอกกระสุนเกิดการจุดระเบิดของกระสุนขึ้นเป็น Action ที่สอง

ในขณะที่ปืนซึ่งยิงในระบบ Single Action นั้นนกสับจะถูกง้างไว้พร้อมยิงก่อนแล้ว และไกปืนจะถอยหลังมาอยู่ในตำแหน่งที่ใกล้โครงปืน เวลายิงนิ้วเหนี่ยวไกเพียงเล็กน้อยก็สามารถส่งกระสุนเข้าเป้าหมายได้ (ระยะลากไกสั้น)

ปืนแบบนี้เมื่อบรรจุกระสุนพร้อมในรังเพลิงสามารถลดนกให้ชิดโครงปืนได้ เมื่อต้องการยิงก็สามารถเหนี่ยวไกได้ทันทีโดยยิงในระบบ Double Action (ลากไกยาว) และในนัดถัดไปนกสับจะถูกง้างเตรียมพร้อมในระบบ Single Action (สไลด์ถอยหลังมาง้างนกให้) ดังนั้นไกปืนจะอยู่ในตำแหน่งที่ใกล้โครงปืนจึงใช้แรงในการเหนี่ยวไกน้อยกว่า (ลากไกสั้น) โดยปกติเมื่อมีกระสุนพร้อมในรังเพลิงเพื่อความปลอดภัยจึงต้องขึ้นคัน Safety ของปืนเอาไว้ด้วยเสมอ เมื่อจะใช้งานก็แค่ปลดคัน Safety ลงก็สามารถยิงได้เลย

ปืนบางแบบยิงได้แต่ระบบ Double Action Only (DAO) การยิงทุกนัดต้องลากไกยาวเท่ากันตลอด นอกจากนั้นหากปืนไม่มีซองกระสุนอยู่ในโครงปืนก็จะไม่สามารถทำการยิงได้

จะเห็นได้ว่ากลไกการทำงานของปืนสมัยใหม่มีให้เลือกหลากหลาย เราต้องรู้ว่าปืนกระบอกที่เราใช้อยู่มีระบบการทำงานแบบใด ในกรณีของระบบ DA/SA เราควรรู้ว่ายิงนัดแรกต้องลากไกยาวใช้แรงมาก แต่นัดถัดไปลากไกสั้นและออกแรงน้อยลง แต่ถ้าเป็นระบบ DAO ก็ลากไกยาวเท่ากันทุกนัด ซึ่งต้องอาศัยการฝึกฝนให้คุ้นเคยกับปืนกระบอกที่เราใช้อยู่ประจำ

ประชาชนทั่วไปมักเลือกปืนตามที่มีใช้กันในหน่วยงานราชการทั้งตำราจและทหารซึ่งเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากการเลือกใช้ปืนในหน่วยงานเหล่านี้ได้รับอิทธิพลอย่างมากจาก “การเมือง” ไม่ใช่จากประสิทธิภาพของปืน ดังนั้นควรเลือกปืนที่คุณสามารถใช้และยิงได้อย่างถนัด อีกทั้งทำความคุ้นเคยกับการเหนี่ยวไกในปืนของเราเอง

สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”
                                                                                                
 เรียบเรียงโดย Batman
                                                                        อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Triggers: Two or One? ของ Clint Smith

Newcastle limousines