Monday, September 21, 2009

Shooting Hearing Protection




















Shooting Hearing Protection

การยิงปืนนั้นต้องมีอุปกรณ์ป้องกันอย่างน้อยสองอย่าง คือ แว่นตาสำหรับยิงปืนและเครื่องป้องกันเสียงดังสำหรับหู เพื่อความปลอดภัยและถนอมให้อวัยวะทั้งสองใช้งานต่อไปได้อย่างยาวนาน

นักยิงปืนนั้นถือว่าเป็นหนึ่งในคนที่ต้องเผชิญกับสิ่งแวดล้อมที่มีเสียงดังที่สุด ดังนั้นแม้จะเป็นการได้ยินเสียงปืนที่ดังเพียงครั้งเดียวก็อาจทำให้หูได้รับความเสียหายอย่างถาวรได้แล้ว การใช้อุปกรณ์ป้องกันเสียงดังจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง

Peak Sound Pressure Levels (SPLs)
- .45 Automatic 165 dB
- .357 Revolver 160 dB
- 12 Gauge shotgun 155 dB
- .38 Revolver 150 dB
- .22 Rifle 145 dB

Occupational Safety and Health Administration (OSHA) ถือว่าระดับเสียงซึ่งดังมากกว่า 90 dB เป็นอันตรายต่อสุขภาพ (เสียงพูดสนทนาตามปกติมีระดับเสียงดังประมาณ 60 dB)

วิธีง่ายที่สุดในการปกป้องหูจากเสียงดังขณะยิงปืน คือ การใช้นิ้วอุดหู แต่คงไม่สามารถใช้นิ้วอุดได้ตลอดเวลาโดยเฉพาะเมื่อเราต้องทำการยิงปืนไปด้วย อุปกรณ์ใดก็ตามที่สามารถป้องกันคลื่นเสียงไม่ให้มาถึงหูเราได้ก็ถือว่าใช้ได้ทั้งสิ้น

ที่ครอบหู (Earmuffs) ซึ่งมีค่า Noise Reduction Rating (NRR) อย่างน้อย 19 ถือว่าเพียงพอสำหรับใช้ปกป้องหูจากการยิงปืนทั่วไปได้

สำหรับผู้ที่ยิงปืนบ่อยๆหรือยิงปืนยาวด้วยกระสุนความเร็วสูง (High velocity rifle) ควรต้องใช้อุปกรณ์ที่สามารถป้องกันเสียงได้ดียิ่งขึ้น ทางเลือกที่ดีที่สุดก็คือ การใช้ทั้งที่ครอบหูและที่อุดหู (Earplugs) ร่วมกัน (Muffs and Plugs system) โดยคิดง่ายๆให้บวก 6 ไปกับค่า NRR ของที่ครอบหู ยกตัวอย่างเช่น ที่ครอบหูมีค่า NRR 30 เมื่อใช้ร่วมกับที่อุดหูซึ่งดีที่สุดก็จะได้ค่า NRR ประมาณ 30 + 6 หรือ 36 เป็นต้น

หากคุณเป็นนักยิงปืนในระบบต่อสู้ นักกีฬายิงปืนที่ต้องการฟังคำสั่งจากกรรมการ นายพรานล่าสัตว์ ทหารในสนามรบหรือสนามฝึก การใช้ที่ครอบหูอิเล็กโทรนิก (Tactical electronic earmuffs) น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะในกรณีที่เสียงเบา เช่น เสียงคนพูด ที่ครอบหูจะมีอุปกรณ์ขยายเสียงนั้นให้ผู้สวมใส่ได้ยินเสียงดังขึ้น (มีปุ่มปรับความดังของเสียงตามที่ต้องการ) แต่เมื่อมีเสียงดังมากๆเกิดขึ้น เช่น เสียงปืน ระบบอิเล็กโทรนิกจะตัดระบบขยายเสียงทันทีทำให้หูได้รับการปกป้องจากเสียงที่ดังเกินไป ทันทีที่ระดับเสียงลดลงมาสู่เกณฑ์ที่ปลอดภัยระบบขยายเสียงก็จะกลับมาทำงานอีกครั้ง อุปกรณ์ที่ดีเช่นนี้ก็ต้องแลกมาด้วยราคาที่แพงขึ้น

หากอุปกรณ์ราคาแพงเหล่านี้ไม่สามารถหามาใช้ได้ ที่อุดหู (Earplugs) ซึ่งอนุญาตให้เสียงเบาผ่านได้แต่ป้องกันเสียงดังเกินไปก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่อุดหูซึ่งป้องกันเสียงได้มากที่สุดในท้องตลาดขณะนี้มีค่า NRR 33 หากต้องการใช้อุปกรณ์ที่มีค่า NRR มากกว่านี้ก็ต้องใช้ร่วมกับที่ครอบหู

ไม่แนะนำให้ใช้ที่อุดหูซึ่งทำจากขี้ผึ้ง เพราะขี้ผึ้งเป็นฉนวนกันเสียงที่แย่มาก (แย่กว่าที่อุดหูซึ่งทำจากโฟมเสียอีก)

ค่า NRR นั้นได้จากการคำนวณในห้องปฏิบัติการ ซึ่งใช้ค่า C rated scale ในการคำนวณ แต่เสียงที่มีผลต่อการได้ยินของมนุษย์นั้นเป็นค่า A rated scale ดังนั้นหากต้องการคำนวณเป็นค่า NRR ซึ่งมีผลต่อการได้ยินของมนุษย์ก็ต้องลบด้วย 7 เช่น ที่ครอบหูมีค่า NRR 29 ในสิ่งแวดล้อมที่มีเสียงดัง 120 dB เสียงหลังจากใส่ที่ครอบหูจะดังประมาณ 120-(29-7) หรือเท่ากับ 98 dB ซึ่งก็ยังอยู่ในเกณฑ์อันตราย

จำไว้ว่าค่า NRR เป็นเพียงตัวเลขในห้องปฏิบัติการ ซึ่งในสภาพความเป็นจริงแล้วจะไม่มีทางลดเสียงได้มากเท่านั้น จึงควรใช้สามัญสำนึกช่วยหากใช้เครื่องป้องกันหูแล้วไม่ว่าแบบใดก็ตาม ยังรู้สึกว่าเสียงยังดังมากอยู่ก็ควรหาวิธีป้องกันเสียงให้มากขึ้นไปอีก พึงระลึกไว้ว่าเมื่อความสามารถในการได้ยินเสียงเสียไปแล้วจะไม่สามารถหายเองได้ ดังนั้นการป้องกันจึงดีกว่าการรักษาโดยเฉพาะเรื่องของหู

ทุกครั้งที่ยิงปืนจึงควรใส่แว่นสำหรับยิงปืนและเครื่องป้องกันหูจากเสียงดังให้เป็นนิสัย เพื่อปกป้องอวัยวะที่มีค่าของคุณ

TAS เล็งเห็นถึงความปลอดภัยของผู้รับการฝึกเป็นอันดับแรก เราจึงมีแว่นและเครื่องป้องกันหูให้กับผู้รับการฝึกทุกคนได้ใช้ขณะฝึกซ้อมยิงปืน

หมายเหตุ Combat Arms Military Earplugs ปัจจุบันใช้ในกองทัพกลุ่ม NATO และกองทัพสหรัฐ โดยด้านสีเหลืองจะอนุญาตให้เสียงเบาผ่านได้แต่ลดเสียงดังลง ขณะที่ด้านสีดำจะมีค่า NRR 22 ตายตัวเหมาะกับสภาพแวดล้อมที่มีเสียงดังตลอดเวลา

เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Hunting/Shooting Hearing Protection and Enhancement, Protection While Shooting Firearms และ Hearing Protection Option ในเว็บ http://earplugstore.stores.yahoo.net/

3 comments:

Unknown said...

สำหรับผู้ที่สนใจครอบหูลดเสียง ตัดเสียงปืนอัตโนมัติ (tactical 6S) www.esafetythailand.com มีจำหน่ายแล้วครับ

Esafety said...

อาจารย์ครับอ่านเรื่องอันตรายของเสียงดังแล้วมีประโยชน์มากครับ อยากรบกวนให้เขียนบทความเกี่ยวกับแว่นตาด้วยครับ แว่นนที่ใช้ยิงปืน มีความแตกต่างจากแว่นเซฟตี้ (ANSI 87.1-2003) อย่างไรบ้างครับ

Batman said...

ได้เขียนบทความเกี่ยวกับแว่นสำหรับยิงปืนไว้แล้ว หาอ่านได้ในเดือน May 2009

Batman


Newcastle limousines