Tuesday, September 8, 2009

Shotgun Malfunctions







Shotgun Malfunctions

เป็นที่ยอมรับกันว่าอำนาจหยุดยั้งของปืนลูกซองนั้นเหนือชั้นกว่าปืนสั้นมาก มีโอกาสยิงถูกเป้าหมายได้ง่ายกว่าเนื่องจากมีเม็ดลูกปรายกระจายออกไปเป็นบริเวณกว้าง แต่อานุภาพของปืนลูกซองก็ยังต้องพึ่งความสามารถและทักษะของผู้ยิงด้วยเช่นกัน รวมทั้งการเลือกกระสุนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ระยะยิงที่เหมาะสม (กระสุนลูกซองที่ต่างกันมีระยะยิงหวังผลต่างกัน) ปืนลูกซองยังมีคุณสมบัติคล้ายปืนยาวไรเฟิ่ล (Rifle) เมื่อยิงด้วยกระสุนลูกโดด (ปืนลูกซองที่ใช้ในทาง Tactical ที่ลำกล้องยาวตั้งแต่ 20 นิ้วขึ้นไปจึงมักติดศูนย์ไรเฟิ่ลมาด้วย)

เนื่องจากปืนลูกซองมีขนาดใหญ่และน้ำหนักมากกว่าปืนสั้นมากทำให้ความคล่องตัวน้อยกว่า พกซ้อนลำบาก จึงไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถยิงปืนลูกซองได้ดี อีกทั้งปืนลูกซองส่วนใหญ่สามารถบรรจุกระสุนได้ไม่มากนักเมื่อเทียบกับปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติทั่วไป นอกจากนั้นแรงถีบของการยิงปืนลูกซองนั้นหนักหน่วงกว่าปืนสั้นมาก ผู้ยิงจึงควรฝึกฝนการจับปืนและท่ายิงที่ถูกต้อง แต่กระนั้นปืนลูกซองก็ยังถือว่าเป็นอาวุธอีกชนิดหนึ่งที่เหมาะแก่การใช้งานเพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สินโดยเฉพาะที่บ้าน

ปืนลูกซองระบบ Pump action (เวลายิงเสร็จต้องสาวกระโจมมือถอยหลังและเดินหน้าเพื่อคัดปลอกกระสุนออกและบรรจุกระสุนใหม่เข้ารังเพลิงเองทุกนัด) มีการทำงานที่ไม่ซับซ้อนคล้ายกับปืนลูกโม่ ดังนั้นเหตุติดขัดจึงไม่มาก อีกทั้งสามารถใช้กระสุนที่มีแรงขับต่ำได้ ผิดกับปืนลูกซองกึ่งอัตโนมัติ (เวลายิงเสร็จจะใช้แรงดันของแก็สในการบริหารกลไกเพื่อคัดปลอกกระสุนออกและบรรจุกระสุนใหม่เข้ารังเพลิง จึงไม่ต้องสาวกระโจมมือ) มีการทำงานซับซ้อนหากใช้กระสุนแรงต่ำหรือถือปืนผิดท่ามีโอกาสทำให้การทำงานของปืนติดขัดได้

นาย Clint Smith ได้ให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขเหตุติดขัดของปืนลูกซองไว้อย่างน่าสนใจ ในปืนลูกซองระบบ Pump action ผู้ยิงต้องสาวกระโจมมือโดยดึงเข้าและดันออกจนสุดเพื่อบริหารกลไกของปืนให้ครบรอบการทำงาน (คัดปลอกกระสุนและบรรจุกระสุนใหม่เข้ารังเพลิง) ปัญหาหนึ่งที่พบคือ การบริหารกลไกไม่ครบรอบการทำงานจากการสาวกระโจมมือไม่สุด ในการยิงหลายเป้าหมายการบริหารกลไกปืนจึงขึ้นกับผู้ยิงเป็นสำคัญ ดังนั้นปืนจึงสามารถใช้ได้ในหลายสถานการณ์และรองรับการใช้งานอย่างหนักหน่วงได้

สำหรับปืนลูกซองกึ่งอัตโนมัติแม้จะสามารถทำการยิงหลายเป้าหมายได้เร็วกว่าและนุ่มนวลกว่า แต่นาย Clint Smith ก็ไม่แน่ใจว่าเพียงแค่เหตุผลเท่านี้เพียงพอสำหรับคุณสมบัติของปืนลูกซองที่จะใช้เพื่อการยิงต่อสู้ เพราะเขาพบว่าปืนบางครั้งมีเหตุติดขัดได้จากการยิงในบางท่าโดยเฉพาะท่านอน ดังนั้นหากใครที่จะเลือกใช้ปืนลูกซองกึ่งอัตโนมัติเพื่อใช้งาน ควรทดลองยิงในหลายท่าโดยเฉพาะท่าที่คิดว่าอาจทำให้ปืนมีปัญหา และควรเลือกกระสุนให้เหมาะสมด้วย

การเหนี่ยวไกปืนแล้วกระสุนไม่ลั่นออกไป (อาจเกิดจากยังไม่มีกระสุนในรังเพลิงหรือกระสุนด้าน) สำหรับปืนลูกซอง Pump action ก็แค่สาวกระโจมมือหนึ่งรอบการทำงาน (ดึงเข้าหาตัวจนสุดและดันออกจนสุด) และทำการยิงใหม่ แต่ถ้ายังไม่ลั่นอีกอาจเป็นเพราะยังไม่ได้ใส่กระสุนเลย ก็ให้สาวกระโจมมือเข้ามาเพื่อเปิดลูกเลื่อนค้างไว้ ใช้มือข้างไม่ถนัดหยิบกระสุนใส่ในรังเพลิงแล้วปิดลูกเลื่อนโดยสาวกระโจมมือดันออกจนสุด ทำการบรรจุกระสุนใส่ในหลอดกระสุนสำรองของปืนลูกซองมากเท่าที่ต้องการและทำการยิงต่อได้

สำหรับปืนลูกซองกึ่งอัตโนมัติก็เช่นกันให้ทำการดึงคันรั้งลูกเลื่อนมาด้านหลังจนสุดแล้วปล่อย ส่วนมากแล้วหากปืนไม่มีกระสุนลูกเลื่อนจะค้างอยู่ไม่ปิดกลับ เราก็ต้องใส่กระสุนในรังเพลิงและหลอดกระสุนสำรองมากเท่าที่เราต้องการ แล้วทำการปิดลูกเลื่อนและทำการยิงได้

หากยิงไปแล้วปืนไม่สามารถคัดปลอกกระสุนออกได้สมบูรณ์ ทำให้ปลอกกระสุนยังติดอยู่ที่ช่องคายปลอก ลักษณะนี้เรียกว่า Stovepipe ที่ใช้ชื่อนี้เพราะมีลักษณะคล้ายปล่องควัน ส่วนใหญ่เกิดจากการสาวกระโจมมือได้ไม่สุดหรือกระสุนอ่อนอานุภาพแรงขับไม่พอ (ในกรณีของปืนลูกซองกึ่งอัตโนมัติ) แก้ไขโดยเอื้อมมือข้างไม่ถนัดลอดใต้โครงปืนมาปัดปลอกออกทิศทางมาด้านท้ายปืน สำหรับปืนลูกซอง Pump action ก็ต้องสาวกระโจมมือไปข้างหน้าจนสุดแล้วค่อยยิง ส่วนปืนลูกซองกึ่งอัตโนมัติส่วนใหญ่ลูกเลื่อนจะเดินหน้าปิดเอง

ในกรณีที่มีกระสุนสองนัดอยู่ในรังเพลิง เรียกว่า Double feed มีสองลักษณะๆแรกกระสุนซ้อนกันคล้ายตัวอักษร วี (V) โดยลูกเลื่อนจะเปิดค้างไว้ ในกรณีของปืนลูกซอง Pump action ให้สาวกระโจมมือถอยหลังมาให้สุดเพื่อลดความกดดันที่กระทำต่อกระสุน แล้วคว่ำปืนเอาช่องคัดปลอกกระสุนลงมาที่ทิศ 6 นาฬิกา ใช้นิ้วหยิบกระสุนในรังเพลิงออกทั้งสองนัด แล้วใส่กลับเข้าไปในรังเพลิงหนึ่งนัด สาวกระโจมมือไปข้างหน้าจนสุดส่วนกระสุนอีกนัดให้ใส่กลับเข้าไปที่หลอดกระสุนสำรอง แต่ถ้ากระสุนนั้นได้ยิงไปแล้วก็ให้ทิ้งปลอกไปได้

แต่สำหรับปืนลูกซองกึ่งอัตโนมัติเนื่องจาก Recoil spring จะทำให้ลูกเลื่อนพยายามเคลื่อนไปข้างหน้าอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นคงต้องฝึกเล็กน้อยในการเปิดหน้าลูกเลื่อนด้วยก้านรั้งลูกเลื่อนแล้วเทกระสุนออกมา พร้อมกับใส่กระสุนที่ยังไม่ได้ยิงกลับเข้าไปหนึ่งนัด แล้วปล่อยให้ลูกเลื่อนเคลื่อนไปข้างหน้าพร้อมที่จะยิง

ลักษณะที่สองคือ กระสุนที่ใส่ไว้ในหลอดกระสุนสำรองไม่ถูกต้อง โดยกระสุนนัดสุดท้ายที่ใส่ในหลอดกระสุนไม่ได้ถูกดันเข้าไปลึกพอที่ขอยึดกระสุนในหลอดกระสุนจะยึดไว้ได้ ดังนั้นกระสุนจึงถูกสปริงในหลอดกระสุนดันให้ไหลออกมาเตรียมที่จะเข้ารังเพลิง (ขณะที่ในรังเพลิงมีกระสุนอยู่ก่อนแล้ว) เมื่อหงายปืนมองดูจะพบว่ามีกระสุนค้างอยู่หน้าหลอดกระสุนสำรอง แก้ไขโดยพยายามสาวกระโจมมือเพื่อเอากระสุนออกจากรังเพลิงให้หมดทั้งสองนัดแล้วใส่กระสุนกลับให้ถูกต้อง

การแก้ไขเหตุติดขัดของปืนควรต้องหมั่นฝึกซ้อมด้วยกระสุนปลอม (Dummies) เพื่อความปลอดภัยและให้เกิดทักษะความชำนาญ โดยรวมแล้วปืนลูกซองระบบ Pump action เหมาะที่จะนำมาใช้ในการปกป้องชีวิตและทรัพย์สิน เนื่องจากความน่าเชื่อถือของระบบการทำงานทำให้มีโอกาสเกิดเหตุติดขัดยากกว่าปืนลูกซองกึ่งอัตโนมัติ

ไม่ว่าจะเป็นปืนสั้นหรือปืนลูกซองก็ต้องการการฝึกฝนเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้อาวุธและทักษะความชำนาญ เรียนรู้เหตุติดขัดและวิธีแก้ไข รู้ข้อดี ข้อด้อย และข้อจำกัดของอาวุธที่เราใช้ เพื่อที่จะนำอาวุธปืนมาใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

TAS สอนเหตุติดขัดของปืนสั้นรวมทั้งวิธีแก้ไขใน TAS 2 โดยผู้รับการฝึกควรหมั่นฝึกซ้อมเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดทักษะ ส่วนปืนลูกซองนั้นจะเปิดสอนในหลักสูตรต่อๆไป

สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”

เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Shotgun Malfunctions ของ Clint Smith

No comments:


Newcastle limousines