Monday, August 31, 2009

Heroic Consequences





Heroic Consequences

นาย David Kenik หัวหน้าแผนกด้านความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเป็นประชาชนคนหนึ่งที่พกอาวุธปืน นอกจากนั้นยังเป็นนักกีฬายิงปืน อีกทั้งเป็นผู้เขียนบทความเรื่อง A Comprehensive Guide to Using Firearms for Self-Defense เขาได้ให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้อาวุธปืนเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นนอกจากตนเองและสมาชิกในครอบครัวไว้อย่างน่าสนใจ

ยามใดที่พกอาวุธปืนความรู้สึกจะเหมือนมีพลังขึ้นมามากมาย รู้สึกปลอดภัย รู้สึกว่าคงกระพัน ยิ่งถ้าพกปืนที่มีอานุภาพร้ายแรงก็จะยิ่งมีความรู้สึกท้วมท้นมากขึ้น

มีคำกล่าวของทางตะวันตกที่ว่า “พระเจ้าสร้างมนุษย์ แต่ Sam Colt (คนที่ประดิษฐ์ปืนยี่ห้อ Colt) ทำให้มนุษย์เท่าเทียมกัน” หมายถึงว่า ไม่ว่าใครเป็นคนถือปืน เช่น เด็ก ผู้หญิง คนชรา ถ้ายิงถูกใคร ไม่ว่าจะเป็นผู้ชายตัวใหญ่แค่ไหน ก็ตายได้เหมือนกัน คือ มีสิทธิเสียชีวิตเท่ากันหมด ดังนั้นผู้หญิงตัวเล็กๆก็อาจล้มผู้ชายตัวโตๆได้ด้วยอาวุธปืน

อาวุธปืนสามารถใช้เพื่อการป้องกันตัวได้แต่ก็ต้องพกปืนและฝึกการยิงปืนมาก่อนรวมทั้งต้องมีความระแวดระวังภัยอยู่ตลอดเวลา แม้กระนั้นการใช้อาวุธปืนเพื่อป้องกันตัวก็มักจะเกิดขึ้นหลังจากถูกโจมตีจากภัยคุกคามแล้ว

ความรู้สึกดีๆเมื่อยามที่คุณพกอาวุธอาจนำไปสู่อันตรายได้ ความรู้สึกปลอดภัยนั้นเป็นอย่างแรกที่อาจผิดพลาดได้ คุณคงเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า “จงอย่าทำอะไรด้วยปืน ในเมื่อสิ่งนั้นไม่จำเป็นต้องใช้ปืน” เขามักได้ยินหลายคนพูดว่า พวกเขาต้องพกปืนไว้ตลอดเผื่อว่าจำเป็นต้องใช้มัน ในเมื่อคุณคิดว่าสถานที่นั้นอาจจะต้องใช้ปืนก็อย่าไปเสียสิ (หลีกเลี่ยงสถานที่อโคจร) กฎข้อแรกของการชนะในการต่อสู้ด้วยอาวุธปืน คือ อย่าอยู่ในสถานที่หรือสถานการณ์ที่ต้องใช้ปืน

นาย David Kenik ยังจำได้ถึงช่วงเวลาแรกที่เขาพกปืนเมื่อหลายปีก่อน หากมีอาชญากรรมรุนแรงเกิดขึ้นซึ่งหน้า เช่น การปล้น การข่มขืน เขาจะสามารถหยุดอาชญากรรมนั้นได้อย่างแน่นอนเพราะเขามีปืน แต่สำหรับตอนนี้เมื่อเขานึกย้อนกลับไปพบว่า เขาไม่ได้คิดถึงผลกระทบที่ตามมาหากเขาใช้อาวุธปืนแม้แต่น้อย เขาคิดเพียงว่าคงเหมือนในภาพยนตร์ที่พระเอกไม่เคยตาย

เมื่อเขาสอนยิงปืนให้กับนักเรียนยิงปืน พบว่าพวกเขาส่วนใหญ่ไม่ได้ตระหนักถึงผลที่ตามมาหากใช้อาวุธปืน ในความเป็นจริงหากคุณใช้อาวุธปืนก็อาจพลาดยิงถูกตัวเองซึ่งอาจบาดเจ็บหนักหรือเสียชีวิตก็ได้ อีกทั้งอาจต้องติดคุกแม้ว่าคุณคิดว่าคุณทำถูกต้องแล้ว การแพ้หรือชนะมันขึ้นกับการให้การในชั้นศาล ซึ่งศาลอาจจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับคุณก็ได้

เขาขอยกตัวอย่างเหตุการณ์จริงในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2005 หน้าบันไดศาลในรัฐ เท็กซัส ของอเมริกา นาย David Arroyo สวมเสื้อเกราะควงปืนไรเฟิ่ลบุกเข้ามาในศาล นาย Mark Wilson ผลเมืองดีที่มีใบพกอาวุธอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เขายิงปืนขนาด .45 ไปที่คนร้ายแต่เพราะเกราะที่ใส่อยู่จึงไม่สามารถหยุดคนร้ายไว้ได้ เขาถูกยิงเสียชีวิตเมื่อคนร้ายยิงโต้ตอบกลับมา

อีกเหตุการณ์หนึ่งในเดือนพฤศจิกายน ปี 2005 ในเมือง Tacoma รัฐ วอชิงตัน นาย Dominick Maldonado เปิดฉากยิงคนในร้านขายจักรยานยนต์ด้วยปืนไรเฟิ่ล นาย Brendan McKown พลเมืองดีที่พกอาวุธปืน ได้ใช้ปืนพกของตนและสั่งให้คนร้ายวางอาวุธลง แต่นาย Dominick Maldonado กลับยิงใส่เขาสี่นัด ถึงแม้จะรอดชีวิตแต่ก็มีบาดแผลสาหัสจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่รู้ว่าจะกลับมาเดินได้หรือไม่

คงไม่มีใครปฏิเสธว่าทั้งสองคนนั้นเป็นวีรบุรุษตามความรู้สึกของพวกเรา ถึงแม้อาจวิพากวิจารณ์แทคติกที่ทั้งสองคนใช้ในการเผชิญเหตุณ์ แต่พวกเขาทั้งสองก็เสี่ยงชีวิตตนเองเพื่อช่วยเหลือคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จัก และทั้งคู่ก็ต้องชดใช้ด้วยราคาที่แสนแพงกับความกล้าของพวกเขา

ในขณะที่เราเต็มใจเสี่ยงจะช่วยเหลือคนที่ตนเองรัก แต่กับคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จักละ เป็นคำถามที่ยากจะให้คำตอบได้ถึงแม้กฎหมายจะเปิดช่องให้ใช้อาวุธได้ก็ตาม

มีหลักง่ายๆที่พอจะใช้ได้คือ ในกรณีที่ตนเองเป็นผู้เคราะห์ร้ายให้ใช้อาวุธปืนเพื่อแก้ไขสถานการณ์เมื่อมีสามปัจจัยเกิดขึ้น อย่างแรก ความสามรถของคนร้าย เช่น คนร้ายแข็งแรงกว่าเรา หรือมีอาวุธ สอง โอกาสของคนร้ายที่จะเข้ามาทำร้าย เช่น คนร้ายอยู่ใกล้เพียงพอที่จะทำร้ายเรา ประการสุดท้าย ความตั้งใจของคนร้าย เช่น คนร้ายแสดงความตั้งใจที่จะทำร้ายเราถึงแก่ชีวิตหรือพิการ

แต่การยื่นมือเข้าช่วยเหลือบุคคลอื่นที่ไม่รู้จัก จำเป็นอย่างยิ่งที่คุณจะต้องรู้เห็นเหตุการณ์ทั้งหมดและรู้ว่าใครเป็นคนดี ใครเป็นคนร้าย เพราะการที่เห็นคนถือปืนวิ่งออกมาจากร้าน แล้วมีคนตะโกนตามหลังมาว่า “หยุดคนร้ายที” ในความเป็นจริงคนที่ถือปืนอาจเป็นพลเมืองดีที่ใช้อาวุธปืนเพื่อปกป้องตนเองจากคนร้ายที่ตะโกนตามหลังมาก็ได้ การตะโกนเช่นนั้นอาจเพื่อเบนความสนใจคนอื่นเพื่อที่ตนจะได้มีเวลาหนี

ในชั้นประชาชนไม่ได้มีกฎหมายบังคับว่าเมื่อประสบเหตุอาชญากรรมแล้วเราต้องเสี่ยงชีวิตตนเองเข้าช่วยเหลือคนอื่น แต่ถ้าคุณตัดสินใจจะทำเช่นนั้นก็มีหลักง่ายๆดังนี้ คุณต้องรู้เหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นทั้งหมด รู้ว่าใครเป็นคนร้าย ไม่ใช่เดาเอาว่าใครน่าจะเป็นคนร้าย ไม่ใช้อารมณ์ และสถานการณ์นั้นเหมาะสมที่จะใช้อาวุธปืน (ตามหลักเกณฑ์สามข้อที่กล่าวไปข้างต้น)

ความสมดุลระหว่างการมีและใช้อาวุธปืนนั้นเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนยากที่จะทำให้ทุกคนมีความเห็นตรงกันได้ ดังนั้นการใช้อาวุธปืนจึงควรเป็นทางเลือกสุดท้าย เราต้องคำนึงถึงผลกระทบที่ตามมาอีกมากจากการใช้อาวุธปืน และต้องตระหนักว่าเราเองก็อาจเสียชีวิตได้จากการใช้อาวุธปืนเช่นกัน

การต่อสู้ด้วยอาวุธปืนนั้นผู้เชี่ยวชาญหลายคนที่มีประสบการณ์ในการใช้อาวุธปืนต่อสู้ในสถานการณ์จริงต่างให้ความเห็นตรงกันว่า ชัยชนะในการต่อสู้นั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยทั้งที่ควบคุมได้ เช่น ทักษะความชำนาญของผู้ใช้อาวุธปืนเอง อาวุธที่มี และปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้อีกหลายประการ เช่น สภาพแวดล้อม ความชำนาญในการใช้อาวุธปืนของคนร้าย อาวุธของคนร้าย สภาพจิตใจของคนร้าย และที่สำคัญ คือ โชค (Luck) ดังนั้นการต่อสู้ด้วยอาวุธปืนหากเลี่ยงได้ควรเลี่ยงเพราะเราอาจไม่ใช่ผู้ชนะเสมอไป

TAS สอนการใช้อาวุธปืนด้วยสติ โดยมีเหตุผลอันสมควรเพื่อปกป้องชีวิตตนเองและสมาชิกในครอบครัวจากภัยคุกคามซึ่งไม่อาจหลีกเลี่ยงหรือบรรเทาได้ด้วยวิธีอื่นใด ในสถานการณ์เช่นนั้นเราควรใช้ทักษะที่ได้รับการฝึกสอนมาปรับใช้ให้เหมาะสมเพื่อเพิ่มโอกาสรอดชีวิต

สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”

เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Heroic Consequences ของ David Kenik

No comments:


Newcastle limousines