Friday, May 28, 2010

Sniper

Sniper



พลแม่นปืน หรือ พลซุ่มยิง (Sniper หรือ Sharpshooter) เจ้าของสมยานาม “One Shot, One Kill” หรือ “หนึ่งนัด หนึ่งสังหาร” มีประจำการในสองหน่วยงานหลักๆ คือ การทหาร (นิยมเรียกว่า Sniper) และ ตำรวจ (มักเรียกว่า Sharpshooter) อาวุธประจำกายของพลซุ่มยิงเป็นปืนยาวความแม่นยำสูงติดกล้องเล็ง (High-precision rifles with scope) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปืนระบบ Bolt action (ปืนยิงทีละนัด บรรจุกระสุนและคัดปลอกกระสุนด้วยมือ) แม้ปัจจุบันจะมีปืนซุ่มยิงแบบกึ่งอัตโนมัติ (Semi-auto sniper rifles) แต่มีข้อจำกัดบางประการจึงยังไม่นิยมมากนัก

คำว่า Sniper นั้นเริ่มใช้กันมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1824 โดยเรียกทหารอังกฤษในอินเดียซึ่งสามารถยิงปืนได้แม่นยำ (ขณะนั้นกีฬายิงนก Snipe นิยมมากและผู้ที่ยิงได้ดีจึงถูกเรียกว่า Sniper) ในอเมริกาคำว่า Sniper ถูกนำมาใช้ภายหลังสงครามกลางเมือง (American civil war, ค.ศ. 1861-1865) โดยความรู้ในเรื่องการซุ่มยิงและการพลางตัวได้นำมาจากนายพรานล่าสัตว์ในช่วงแรกและมีการพัฒนาต่อมาเพื่อใช้ในการสงคราม

ปืนยาวติดกล้องเล็งซึ่งใช้ในการซุ่มยิงถูกใช้ครั้งแรกโดยทหารเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 (ค.ศ. 1914-1918) ต่อมาอังกฤษจึงได้จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมพลแม่นปืนขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1915 บทบาทของพลซุ่มยิงเด่นชัดมากขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1939-1945)


การฝึกพลซุ่มยิงสำหรับตำรวจเริ่มหลังจากเหตุการณ์จับตัวประกันที่ประเทศเยอรมันในปี ค.ศ. 1972 (ขณะนั้นมีเพียงพลซุ่มยิงของทหารเท่านั้น แต่กฎหมายภายในประเทศห้ามทหารปฏิบัติการในเขตเมืองเป็นอันขาด ทำให้มีตัวประกันเสียชีวิตจำนวนมาก หลังจากนั้นกรมตำรวจทั่วโลกก็เริ่มเห็นความสำคัญของพลซุ่มยิง จึงได้มีการฝึกอบรมในเวลาต่อมา)


พลซุ่มยิงเหล่านี้มีความแตกต่างกันในภาระหน้าที่ตามแต่ลักษณะงาน เช่น ในการทหารพลซุ่มยิงมักใช้ในยามสงครามเป็นส่วนใหญ่เป็นการยิงที่ระยะไกลกว่า 1 ก.ม. จนถึง 2 ก.ม. (แต่สถิติไกลสุดอยู่ที่ระยะ 2,475 เมตร โดยทหารอังกฤษนาม Craig Harrison เมื่อ พ.ย. พ.ศ. 2552 ที่ประเทศอัฟกานิสถาน) ส่วนพลซุ่มยิงของตำรวจมักเป็นการยิงในเขตเมืองที่ระยะไม่เกิน 1 ก.ม. โดยส่วนใหญ่เป็นการยิงเพื่อช่วยเหลือตัวประกัน ซึ่งเป็นทางเลือกสุดท้ายหากการเจรจากับคนร้ายล้มเหลว เนื่องจากเป็นการยิงเพื่อสังหารคนร้ายโดยเฉพาะ


มีคติพจน์ประจำพลซุ่มยิงของตำรวจอเมริกา ว่า “Be prepared to take a life to safe a life หรือ เตรียมที่จะคร่าหนึ่งชีวิต เพื่อช่วยหนึ่งชีวิต”


พลซุ่มยิงของตำรวจมักยิงในระยะใกล้กว่าของทหาร โดยส่วนใหญ่มักยิงในระยะ 50 ถึง 100 เมตร โดยพลซุ่มยิงนั้นมีประจำอยู่เฉพาะในหน่วยปฏิบัติการพิเศษเท่านั้น เช่น หน่วย SWAT หรือหน่วยต่อต้านการก่อการร้าย (สำหรับประเทศไทยก็คือ หน่วยอรินทราช 26 และ หน่วยนเรศวร 261) ลักษณะงานมักเป็นการยิงจากอาคาร หรือที่หลบซ่อนระยะไกลไปยังเป้าหมาย


ในการปฏิบัติงานของพลซุ่มยิงมักประกอบด้วยสองคน (Two-man sniper team) คือ พลปืน (a shooter) กับพลชี้เป้า (a spotter) โดยปกติพลชี้เป้าจะเป็นคนซึ่งมีประสบการณ์มากที่สุดและอาจเปลี่ยนตำแหน่งกันได้หากอีกคนอ่อนล้า พลชี้เป้าจะช่วยกำหนดเป้าหมาย บอกระยะห่างของเป้าหมาย ความแรงและทิศทางลม การเล็งเป้าชดเชย หากยิงในระยะที่ไกลมากๆต้องคำนึงถึงอัตราการหมุนของโลกด้วย ส่วนพลปืนมีหน้าที่ปฏิบัติตามและทำการยิงให้ดีที่สุด (มักยิงหลังหายใจเข้าเต็มที่แล้วหายใจออกจนสุดและกลั่นหายใจไว้ อีกทั้งยิงในระหว่างจังหวะการเต้นของหัวใจ โดยใช้อุ้งนิ้วชี้ในการเหนี่ยวไกเพื่อความเที่ยงตรงมากที่สุด)


หน้าที่ของพลซุ่มยิงมี 2 ประการหลักๆ คือ


1. ทำลายเป้าหมาย โดยมักเป็นการยิงในระยะไกลจากที่ซ้อนเพื่อกำจัดเป้าหมายหรือทำให้บาดเจ็บ (ขึ้นกับจุดประสงค์) พลซุ่มยิงจึงต้องฝึกการยิงในสภาพแวดล้อมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลางวันหรือกลางคืน (มีอุปกรณ์เสริมช่วยให้ยิงกลางคืนได้แม่นยำ) ในสภาพป่าหรือในเขตเมือง ในสภาพความเครียดและความกดดันทางจิตใจสูง เลือกหาตำแหน่งในการซุ่มยิงที่เหมาะสม


2. หาข่าว โดยการพลางตัวเข้าไปในพื้นที่ใกล้เป้าหมายเพื่อหาข่าวและทำการซุ่มยิงเมื่อได้รับคำสั่ง คอยสังเกตความเคลื่อนไหวของศัตรูอยู่ห่างๆและรายงานกลับมาให้ผู้บังคับบัญชาเพื่อวางแผน ดังนั้นผู้ที่ฝึกเป็นพลซุ่มยิงจึงต้องฝึกการพลางตัวเพื่อสอดแนมฝ่ายศัตรูทั้งกลางวันและกลางคืน การเคลื่อนที่เข้าหาเป้าหมายโดยไม่ให้ศัตรูรู้ตัว จึงต้องเป็นผู้ที่มีความอดทนสูงมาก


ท่ายิงที่ให้ความแม่นยำสูงสุด คือ ท่านอนคว่ำโดยหนุนลำกล้องปืนด้วยถุงทราย อาวุธปืนที่ใช้ก็ขึ้นกับหน่วยงานและลักษณะงานที่ใช้ซึ่งมีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ


ผู้ที่จะเข้ารับการฝึกเป็นพลแม่นปืนหรือพลซุ่มยิงนั้น จะมีการคัดเลือกกันอย่างเข้มข้นเนื่องจากรัฐต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการผลิตพลซุ่มยิงที่เชี่ยวชาญแต่ละคน อีกทั้งอุปกรณ์ต่างๆไม่ว่าจะเป็นปืน กระสุนหรืออุปกรณ์เสริมอื่นๆก็มีราคาแพง ดังนั้นพลซุ่มยิงในแต่ละหน่วยงานจึงมีจำนวนไม่มากนัก (ในประเทศไทยพลซุ่มยิงมีในหน่วยปฏิบัติการพิเศษของทุกเหล่าทัพและตำรวจ)


ดังนั้นการซุ่มยิงในระยะไกลนั้นไม่เพียงแต่จะต้องมีอุปกรณ์ที่ดีมีราคาแพงแล้ว ยังต้องมีพลซุ่มยิงที่มีความสามารถและได้รับการฝึกฝนมาอย่างดีด้วย


สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนหรือรับข้อมูลข่าวสารขอให้มี “สติ”


เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Sniper Tidbits ของ snipercentral.com และ Wikipedia

Friday, May 21, 2010

Stopping power

Stopping power



ในการเลือกซื้ออาวุธปืนเพื่อการปกป้องชีวิตและทรัพย์สินนั้น นอกจากต้องพิจารณาชนิดและคุณสมบัติของอาวุธปืน เช่น ปืนลูกโม่ ปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติ หรือ ปืนลูกซอง ในแง่ของปืนสั้นแล้วยังต้องคำนึงถึงชนิดของกระสุนที่จะใช้ด้วย โดยพิจรณาจากอำนาจหยุดยั้งของกระสุน (Stopping power) เป็นสำคัญ อีกทั้งความสะดวกในการหากระสุนมาใช้งานและฝึกซ้อม หลังจากนั้นก็นำข้อมูลต่างๆทั้งข้อดี-ข้อเสียมาประกอบการพิจารณาเลือกซื้ออาวุธปืนให้เหมาะสมกับจุดประสงค์ในการใช้งานของเรา


มีการศึกษาประสิทธิภาพของกระสุนปืนหลายการศึกษา มีทั้งการศึกษาในห้องปฏิบัติการและจากสถิติซึ่งเก็บจากเหตุการณ์ใช้อาวุธปืนในสถานการณ์จริง ประสิทธิภาพของกระสุนปืนซึ่งได้ผลดีในห้องปฏิบัติการอาจได้ผลไม่ดีนักในสถานการณ์จริงก็ได้


อำนาจหยุดยั้งของกระสุนปืนขึ้นกับปัจจัยหลายประการ อาทิเช่น


- ขนาดหัวกระสุน ขนาดใหญ่กว่ามักมีอำนาจหยุดยั้งดีกว่าขนาดเล็ก


- น้ำหนักหัวกระสุน น้ำหนักที่มากกว่ามักให้อำนาจหยุดยั้งดีกว่า


- การออกแบบหัวกระสุน กระสุนหัวรู (Hollow point) ซึ่งเมื่อถูกยิงเข้าสู่เป้าหมายแล้วจะบานออกคล้ายดอกเห็ดเพิ่มขนาดหน้าตัดของกระสุนใหญ่ขึ้น มักให้อำนาจหยุดยั้งดีกว่ากระสุนหัวกลม (Round nose point)


- ความเร็วของกระสุน กระสุนที่มีความเร็วสูงมักให้อำนาจหยุดยั้งดีกว่ากระสุนที่มีความเร็วต่ำกว่า


ในการออกแบบหัวกระสุนนั้นขึ้นกับวัตถุประสงค์ของกระสุนที่จะนำไปใช้ เช่น ใช้ในการทหาร ใช้ในการป้องกันตัว ใช้ในการล่าสัตว์ ใช้ในการกีฬา เป็นต้น แล้วนำปัจจัยต่างๆข้างต้นมาประกอบกันเพื่อให้ได้กระสุนที่มีประสิทธิภาพตามที่ต้องการ โดยต้องคำนึงถึงการใช้งานจริงด้วย


มีการศึกษาหนึ่งจากกรมตำรวจดีทรอยต์ (Detroit Police Department) โดยอดีตตำรวจชื่อ Evan Marshall เป็นการรวบรวมข้อมูลจากการยิงต่อสู้ของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นส่วนใหญ่และบางส่วนจากการยิงโดยประชาชน โดยศึกษาเฉพาะการยิงบริเวณลำตัวเพียงหนึ่งนัด สามารถทำให้ผู้ถูกยิงทรุดลงในระยะไม่เกิน 10 ฟุตและไม่สามารถตอบโต้กลับมาได้ การศึกษานี้ได้ถูกตีพิมพ์ในช่วงต้นปี ค.ศ. 1990s ในชื่อ “Handgun Stopping Power-The Definitive Study” ซึ่งสามารถใช้อ้างอิงในการเลือกใช้กระสุนให้กับเจ้าหน้าที่รักษากฎหมายและประชาชนเพื่อการป้องกันตัว (Self-defense)


จะขอกล่าวถึงเฉพาะขนาดกระสุนที่นิยมใช้ในประเทศไทยและในการป้องกันตัว ขอนำเสนอเพียงข้อมูลบางส่วนที่สำคัญเท่านั้น


.38 ACP


ยี่ห้อ Federal Hydra Shok อำนาจหยุดยั้ง 71 เปอร์เซ็นต์, Cor Bon Jacketed Hollow Point (JHP) อำนาจหยุดยั้ง 70 เปอร์เซ็นต์, Federal JHP อำนาจหยุดยั้ง 69 เปอร์เซ็นต์


.38 Special-2” barrel


ยี่ห้อ Winchester 158gr lead Hollow Point (HP), Federal 158gr lead HP, Remington 125gr JHP และ Remington 158gr lead HP มีอำนาจหยุดยั้ง 67 เปอร์เซ็นต์ เท่ากันหมด


.38 Special-4” barrel


ยี่ห้อ Cor Bon 115gr jhp +P+ (เลิกผลิตแล้ว), Winchester 110gr JHP +P+ มีอำนาจหยุดยั้ง 83 เปอร์เซ็นต์, Winchester 158gr lead HP อำนาจหยุดยั้ง 77 เปอร์เซ็นต์, Federal 158gr lead HP อำนาจหยุดยั้ง 76 เปอร์เซ็นต์


.357 Magnum


ยี่ห้อ Federal 125gr JHP อำนาจหยุดยั้ง 96 เปอร์เซ็นต์, Remington 125gr JHP อำนาจหยุดยั้ง 94 เปอร์เซ็นต์, CCI 125gr JHP อำนาจหยุดยั้ง 91 เปอร์เซ็นต์, Federal 110gr JHP อำนาจหยุดยั้ง 90 เปอร์เซ็นต์


9 mm.


ยี่ห้อ Cor Bon 115gr JHP, Federal 115gr JHP +P+, Winchester 115gr JHP +P+ และ Remington 115gr JHP +P+ มีอำนาจหยุดยั้ง 91 เปอร์เซ็นต์, Federal 124gr HS +P+ อำนาจหยุดยั้ง 88 เปอร์เซ็นต์, Federal 124gr Nyclad HP อำนาจหยุดยั้ง 84 เปอร์เซ็นต์


.45 ACP


ยี่ห้อ Federal 230gr Hydra Shok อำนาจหยุดยั้ง 95 เปอร์เซ็นต์, Remington 185gr Golden Sabre อำนาจหยุดยั้ง 94 เปอร์เซ็นต์, Cor Bon 185gr JHP และ Remington 185gr JHP +P มีอำนาจหยุดยั้ง 92 เปอร์เซ็นต์


จะเห็นได้ว่ากระสุนขนาดเดียวกันแต่ทำจากต่างบริษัทกลับให้อำนาจหยุดยั้งต่างกัน เป็นเพราะการออกแบบกระสุนที่ต่างกันนั้นเอง เป็นการนำปัจจัยต่างๆข้างต้นมาประกอบกันด้วยสัดส่วนที่ต่างกันก็จะทำให้มีประสิทธิภาพที่ต่างกันออกไป


กระสุนปืนสั้นขนาด .357 Magnum มีอำนาจหยุดยั้งดีที่สุด แต่ก็มีข้อเสียที่สำคัญ คือ มีอำนาจในการทะลุทะลวงอย่างมาก ซึ่งเมื่อยิงถูกคนร้ายแล้วกระสุนก็ยังอาจทะลุผ่านไปถูกผู้บริสุทธิ์ซึ่งอยู่ข้างหลังได้ จึงไม่เหมาะที่จะนำมาใช้ในการยิงต่อสู้ในเขตเมือง หลายรัฐในสหรัฐจึงไม่อนุญาตให้ใช้กระสุนชนิดนี้ ดังนั้นบริษัทผลิตกระสุนจึงทำกระสุนที่มีความแรงลดน้อยลงมา เช่น กระสุน +P และ +P+ โดยกระสุน +P+ มีความเร็วหัวกระสุนมากกว่ากระสุน +P แต่น้อยกว่า .357 Magnum เพียงเล็กน้อยเท่านั้นซึ่งกฎหมายอนุญาตให้ใช้ได้ โดยกำหนดให้เจ้าหน้าที่รักษากฎหมายสามารถใช้กระสุน +P+ ได้ แต่อนุญาตให้ประชาชนใช้ได้แค่กระสุน +P เท่านั้น


ปัจจุบันมีการผลิตกระสุนออกมาใหม่หลายชนิด โดยอาศัยการออกแบบหัวกระสุนที่หลากหลาย ซึ่งพบว่ามีประสิทธิภาพดีเมื่อทำการทดสอบในห้องปฏิบัติการ


สำหรับประเทศไทยนั้นมีกระสุนซึ่งผลิตในต่างประเทศขายเพียงบางยี่ห้อและราคาก็สูงมากเมื่อเทียบกับราคาในต่างประเทศหรือกระสุนขนาดเดียวกันแต่ผลิตในประเทศไทย อีกทั้งกระสุนบางประเภท เช่น กระสุน +P+ ซึ่งไม่อนุญาตให้ประชาชนใช้และไม่มีขายในประเทศไทย แต่กระสุน +P มีขายทั่วไป สำหรับประเทศไทยแล้วอนุญาตให้ใช้กระสุน .357 Magnum ได้ ดังนั้นผู้ที่เลือกใช้กระสุนชนิดนี้จะต้องระมัดระวังในเรื่องอำนาจทะลุทะลวงของกระสุนด้วย


โดยส่วนตัวแล้วไม่แนะนำให้พยายามขวนขวายหากระสุนราคาแพงๆเหล่านี้มาใช้ เนื่องจากเสียค่าใช้จ่ายสูงและหายาก ทำให้ไม่สามารถนำกระสุนเหล่านี้มาฝึกซ้อมยิงได้บ่อยนัก อีกทั้งต้องเก็บไว้นานหลายปีกว่าจะทำใจซื้อกระสุนใหม่มาเปลี่ยนเพื่อเก็บไว้ใช้งาน

แต่ถ้าใช้กระสุนที่ผลิตในประเทศ (มีบริษัทที่มีมาตรฐานดีพอสมควร ซึ่งกระสุนมีคุณภาพใช้ได้) มีราคาถูกและหาง่ายกว่า จึงสามารถนำกระสุนเหล่านี้มาฝึกซ้อมยิงและสามารถซื้อมาเปลี่ยนได้บ่อยกว่า เช่น อาจซื้อมาเปลี่ยนได้ทุกปี ทำให้เราได้ใช้กระสุนที่ผลิตใหม่ๆเอาไว้สำหรับการป้องกันตัว ซึ่งอาจจะดีกว่ากระสุนปืนอย่างดีแต่เก่าเก็บไม่รู้ว่าอานุภาพของกระสุนอ่อนแรงลงหรือไม่จนอาจทำให้ปืนเกิดเหตุติดขัดได้ขณะใช้งาน


โดยหลักการแล้วพยายามเลือกกระสุนที่มีความแรงมากที่สุดเท่าที่จะหาได้และปืนของเราสามารถรองรับได้ด้วย เช่น เลือกกระสุน +P แต่โดยส่วนตัวแล้วไม่แนะนำ .357 Magnum เนื่องจากอำนาจทะลุทะลวงที่มากเกินไปเมื่อจะใช้งานในเขตเมือง เลือกขนาดกระสุนที่เราสามารถควบคุมปืนได้ดี และควรทดลองยิงด้วยกระสุนที่จะใช้งานจริงเป็นระยะๆเพื่อดูการทำงานของปืนว่ามีความราบรื่นหรือไม่และทำให้เราเกิดความคุ้นเคยกับการยิงด้วยกระสุนจริง


สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”


เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Selecting the Duty Weapon--Is Caliber the Key? ของ Evan Marshall

Saturday, May 15, 2010

The Proper Reason for Gun Use

The Proper Reason for Gun Use



สำหรับการใช้อาวุธปืนในภาคประชาชนนั้นควรใช้ด้วยเหตุผลที่เหมาะสม ใช้เพื่อปกป้องชีวิตของตนเองหรือสมาชิกในครอบครัวจากภัยคุกคามร้ายแรงซึ่งไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ปกป้องทรัพย์สินอันมีค่าควรแก่การเสี่ยงชีวิตของเราในการใช้อาวุธปืนเพื่อต่อสู้กับคนร้าย การใช้อาวุธปืนเพื่อปกป้องบุคคลอื่นจากภยันตรายคุกคามที่ร้ายแรงและสมควรแก่เหตุ


ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของกฏหมายซึ่งเปิดช่องให้ประชาชนสามารถใช้อาวุธปืนเพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สินได้แต่ก็ต้องสมควรแก่เหตุ เมื่อเราใช้อาวุธปืนแล้วจะมีปัญหาตามมาอีกมาก และจะมีคนอื่น (ศาล) มาตัดสินการกระทำของเราว่าถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งเขาอาจไม่เห็นด้วยกับเหตุผลในการใช้อาวุธปืนของเราก็ได้ ดังนั้นก่อนที่จะนำอาวุธปืนออกมาใช้ ควรหยุดคิดสักครู่ว่า “เหตุผลที่จะนำอาวุธปืนมาใช้นั้น เหมาะสมหรือไม่” “เราใช้อารมณ์ในการตัดสินใจหรือไม่” ถ้าเราใช้อารมณ์ก็จงอย่าใช้อาวุธปืนเป็นอันขาด “มีวิธีอื่นซึ่งสามารถใช้แก้ไขเหตุการณ์นั้นได้นอกจากการใช้อาวุธปืนหรือไม่” ถ้ามีก็ให้ใช้วิธีนั้นก่อน แต่หากไม่มีวิธีอื่นซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาได้นอกจากอาวุธปืน ก็ต้องใช้ด้วยทักษะที่เหนือชั้นกว่าคนร้าย


การหลีกเลี่ยงปัญหาหรือภัยคุกคามยังคงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดและควรเลือกเป็นอันดับแรกเสมอ


หลักการดังกล่าวสามารถใช้ได้ไม่เพียงแต่ประชาชนทั่วไป แม้แต่ภาครัฐก็ควรยึดหลักการที่ถูกต้องเช่นนี้เช่นกัน

สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี "สติ"

เรียบเรียงโดย Batman

Friday, May 7, 2010

Rubber Bullets

Rubber Bullets



กระสุนปืนที่มีอันตรายต่อชีวิตน้อย (Less-than-lethal bullets) ถูกนำมาใช้ครั้งแรกที่ประเทศสิงคโปร์ในช่วงปี ค.ศ. 1880s เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ในการปราบจลาจล


ในช่วงปี ค.ศ. 1990s ตำรวจปราบจลาจลในสิงคโปร์ มาเลเซีย และฮ่องกงใช้กระสุนปืนที่ทำจากไม้ที่เรียกว่า Knee-knockers ในการใช้งาน ต่อมาประเทศอังกฤษได้นำแนวคิดนี้ไปพัฒนาต่อเป็นกระสุนที่มีอำนาจทะลุทะลวงได้มากขึ้นโดยทำจาก “ยาง”


ทหารอังกฤษเริ่มนำกระสุนยางมาใช้กับประชาชนที่ไอแลนด์เหนือเป็นครั้งแรกในช่วงปี ค.ศ. 1970s ต่อมาในช่วงปี ค.ศ. 1980s ก็เปลี่ยนมาใช้กระสุนพลาสติกแทนเนื่องจากให้ความแม่นยำมากกว่า ซึ่งกระสุนเหล่านี้ถูกแนะนำให้ยิงในส่วนครึ่งล่างของร่างกายมนุษย์เพื่อความปลอดภัย แต่ก็มีรายงานว่ามีชาวไอแลนด์เหนือเสียชีวิตถึง 19 รายจากการถูกยิงที่ศีรษะ ต่อมากระสุนพลาสติกก็ถูกห้ามใช้เนื่องจากอันตรายมากเกินไป


ในช่วงปลายปี ค.ศ. 1980s ทหารอิสราเอลได้พัฒนากระสุนสำหรับควบคุมฝูงชนของตนเองขึ้นมา กระสุนเหล่านี้มีขนาดเล็กเป็นโลหะที่หุ้มด้วยยาง (Rubber-coated metal pellets) ซึ่งสามารถยิงได้ไกลถึง 130 ฟุตโดยเล็งไปที่ขาเป็นหลัก แต่กระนั้นกระสุนเหล่านี้ก็ยังอาจทำให้เสียชีวิตได้เมื่อยิงถูกบริเวณศีรษะในระยะใกล้ และก็พบว่ามีประชาชนเสียชีวิตจากการใช้กระสุนเหล่านี้เช่นกัน


กระสุนยางเริ่มนำมาใช้ในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1960s และถูกห้ามใช้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1971 เนื่องจากอันตรายถึงชีวิต แต่ก็นำกลับมาใช้ใหม่ในช่วงปลายปี ค.ศ. 1980s ซึ่งส่วนใหญ่ถูกใช้กับคนที่มีความผิดปกติทางจิตใจซึ่งมีอาวุธไม่ร้ายแรงในมือ โดยกระสุนจะเป็นลูกตะกั่วน้ำหนัก 40 กรัม หุ้มด้วยพลาสติกแบบที่ใช้ในไอแลนด์เหนือ อย่างไรก็ตามก็ยังมีรายงานผู้เสียชีวิตจากการใช้กระสุนเหล่านี้ทั้งในอเมริกาและแคนนาดา


กระสุนยางมักใช้ยิงจากปืนซึ่งใช้กระสุนจริงหรือปืนที่ทำมาเฉพาะกับกระสุนยาง โดยกระสุนเหล่านี้มีดินขับน้อยจึงมีระยะหวังผลที่ไม่ไกลนัก อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บเล็กๆน้อยๆได้ตั้งแต่ แผลถลอก จ้ำเลือด ฟกช้ำ ไปจนถึงทำให้กระดูกแตกหัก หรือเป็นอันตรายต่ออวัยวะภายในหรือแม้แต่เสียชีวิตก็ได้ บางคนอาจมีความพิการถาวรได้จากการถูกยิงด้วยกระสุนยาง


กระสุนยางนั้นแม้จะเป็นกระสุนที่มีอันตรายถึงชีวิตน้อย แต่ก็ต้องใช้ให้ถูกวิธีโดยยิงในส่วนครึ่งล่างของร่างกายและไม่ยิงในระยะที่ใกล้เกินไป เพราะถึงอย่างไรเสียกระสุนเหล่านี้ก็ยังอาจทำอันตรายจนถึงชีวิตได้


ดังนั้นการที่ยิงด้วยกระสุนยางนั้นไม่ได้หมายความว่าจะไม่ทำให้ผู้ถูกยิงปลอดภัยต่อชีวิตอย่างแน่นอน แต่ก็ถือว่าเป็นวิธีหนึ่งที่สามารถใช้ในการควบคุมฝูงชนหรือปราบจลาจลตามมาตรฐานสากล โดยผู้ใช้กระสุนเหล่านี้ควรรู้หลักการใช้กระสุนยางอย่างปลอดภัย


ในการควบคุมฝูงชนหรือปราบจลาจลนั้น โดยหลักการแล้วเจ้าหน้าที่ไม่ได้ต้องการให้เกิดการสูญเสียชีวิตของประชาชน แต่เครื่องมือที่มีใช้อยู่นั้นยังมีอันตรายจนถึงเสียชีวิตได้

ปัจจุบันนี้ยังมีความพยายามคิดค้นอาวุธที่ไม่ทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตอย่างแท้จริง เช่น ปืนใหญ่เสียงความถี่สูง เป็นต้น


สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”


เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง What are Rubber bullets? ของ Emily Yoffe, Rubber bullet ของ Wikipedia

Saturday, May 1, 2010

The Hip to Point Shoulder Transition

The Hip to Point Shoulder Transition



ในการป้องกันตัวจากภัยคุกคามร้ายแรงในระยะประชิด (Close-combat situations) ซึ่งคนร้ายปรากฏออกมาอย่างรวดเร็วและรุนแรง เราคงต้องตอบสนองด้วยการปัดป้อง หลบเลี่ยง หลีกหนี เพื่อให้อันตรายนั้นผ่านพ้นไปหรือบรรเทาลงก่อน หลังจากนั้นหากเรามีอาวุธปืนพกซ่อนอยู่กับตัวหรือใกล้ตัวก็ต้องเตรียมพร้อมเพื่อใช้งาน


โดยปกติมีการตอบสนองต่อภัยคุกคามจากคนร้ายที่มีอาวุธนั้นจะมีสองอย่าง คือ ยอมแพ้ หรือ ต่อสู้ ซึ่งคนร้ายมักคิดว่าเหยื่อจะยอมแพ้เมื่อเห็นอาวุธของตน แต่ก็บ่อยครั้งที่ต้องตะลึงงันเมื่อถูกเหยื่อตอบโต้อย่างรุนแรงโดยไม่คาดหมาย


อย่างไรก็ตามความสำเร็จในการเอาตัวรอดจากคนร้ายที่มีอาวุธนั้นขึ้นกับทักษะของคุณมากกว่าโชค ถ้าคุณมีความรู้เกี่ยวกับอาวุธซึ่งคนร้ายใช้ ได้เรียนรู้วิธีการปลดอาวุธด้วยวิธีการที่เรียบง่ายจากครูฝึกที่มีความรู้ ส่วนการใช้ศิลปะการต่อสู้ที่ซับซ้อน (Complicated martial arts techniques) นั้นอาจจะเหมาะกับคนซึ่งมีเวลาเรียนนานๆ


รูปแบบการยิงปืนระยะประชิดนอกจาก Speed Rock position แล้ว (อ่านเพิ่มเติมได้ในบทความเรื่อง Speed Rock position) ก็ยังมีอีกรูปแบบหนึ่ง คือ การยิงฉับพลันระดับเอว (Hip shooting) ซึ่ง FBI แต่ก่อนนั้นสอนให้ยิงที่ระยะ 7 หลา แต่ปัจจุบันจำกัดให้ยิงที่ระยะ 3 ถึง 5 หลาเท่านั้น


หากปืนอยู่ในซองปืนหรืออยู่บนโต๊ะเบื้องหน้า เมื่อจับปืนและดึงขึ้นจนพ้นซองปืนหรือหยิบปืนจากโต๊ะ ให้ดันปืนไปข้างหน้าโดยให้ข้อศอกงอเป็นแนวตั้งฉาก ท่อนแขนขนานกับพื้น ปากกระบอกปืนชี้ไปยังเป้าหมายข้างหน้าแนวกลางตัว และอยู่แนวเดียวกับตาข้างถนัด กำปืนให้แน่นและเกร็งข้อมือไม่ให้ขยับ ข้อศอกอยู่ชิดชายโครงหรือมาข้างหน้าเล็กน้อย มืออีกข้างมักกำอยู่บริเวณหน้าอก อาจย่อตัวลงเล็กน้อยเพื่อความมั่นคง


การยิงในท่านี้อาจยิงได้ในขณะตัวเราอยู่กับที่ หรือเมื่อยิงแล้วให้ยกปืนขึ้นยิงในระดับสายตา (eye-level stance) ต่อเนื่องพร้อมกับเคลื่อนที่ถ่อยหลังเฉียงออกจากเป้าหมาย เพื่อหลบออกจากแนวการโจมตีของภัยคุกคาม ควรยิงต่อเนื่องจนกว่าจะหยุดภัยคุกคามได้


ในการฝึกยิงฉับพลันระดับเอวนั้นอาจเริ่มจากการจัดท่าทางและใช้กระสุนปลอมก่อน (Dry fire) ฝึกยิงจากช้าๆแล้วเร็วขึ้น มีการเปลี่ยนตำแหน่งการยิงจากระดับเอวไปสู่ระดับสายตา (ทั้งใช้และไม่ใช้มืออีกข้างช่วยพยุงปืน) โดยยิงอย่างต่อเนื่องร่วมกับเคลื่อนที่ถ่อยหลังเฉียงออกจากเป้าหมาย มักยิงประมาณ 3 นัดในแต่ละชุด

ในบางสถานการณ์มืออีกข้างสามารถใช้ในการปัดป้อง หรือโจมตีภัยคุกคามได้ ซึ่งช่วยเบี่ยงเบนความสนใจของคนร้ายและทำให้เรารอดพ้นจากอันตรายเบื้องหน้า หลังจากนั้นรีบเตรียมอาวุธของเราเพื่อการตอบโต้

สำหรับหน่วยพิเศษตอบโต้การก่อการร้ายของอิสราเอลจะใช้วิธีป้องกันการโจมตีจากภัยคุกคามและตอบโต้ในขณะเดียวกัน จากข้อมูลพบว่ามีประสิทธิภาพดีมากในการเอาตัวรอดจากภยันอันตรายที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน


ทั้ง Speed Rock และ Hip shooting นี้เป็นรูปแบบหนึ่งของการใช้อาวุธปืนต่อสู้ในระยะประชิด (Close Combat Techniques) ซึ่งมีประโยชน์มากหากนำมาใช้ถูกที่ ถูกเวลา


การใช้อาวุธปืนในระยะใกล้มากๆเช่นนี้ไม่มีที่ว่างสำหรับความผิดพลาด ดังนั้นการเรียนรู้ ฝึกฝน ให้เกิดทักษะความชำนาญจึงเป็นสิ่งสำคัญ


TAS สอนการยิงฉับพลันระดับเอว (Hip shooting) เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับผู้รับการฝึกอบรมตั้งแต่ TAS 1


สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”


เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Close Combat Techniques ของ Bob Pilgrim (อดีตครูฝึก FBI)

Newcastle limousines