Monday, August 31, 2009

Heroic Consequences





Heroic Consequences

นาย David Kenik หัวหน้าแผนกด้านความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเป็นประชาชนคนหนึ่งที่พกอาวุธปืน นอกจากนั้นยังเป็นนักกีฬายิงปืน อีกทั้งเป็นผู้เขียนบทความเรื่อง A Comprehensive Guide to Using Firearms for Self-Defense เขาได้ให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้อาวุธปืนเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นนอกจากตนเองและสมาชิกในครอบครัวไว้อย่างน่าสนใจ

ยามใดที่พกอาวุธปืนความรู้สึกจะเหมือนมีพลังขึ้นมามากมาย รู้สึกปลอดภัย รู้สึกว่าคงกระพัน ยิ่งถ้าพกปืนที่มีอานุภาพร้ายแรงก็จะยิ่งมีความรู้สึกท้วมท้นมากขึ้น

มีคำกล่าวของทางตะวันตกที่ว่า “พระเจ้าสร้างมนุษย์ แต่ Sam Colt (คนที่ประดิษฐ์ปืนยี่ห้อ Colt) ทำให้มนุษย์เท่าเทียมกัน” หมายถึงว่า ไม่ว่าใครเป็นคนถือปืน เช่น เด็ก ผู้หญิง คนชรา ถ้ายิงถูกใคร ไม่ว่าจะเป็นผู้ชายตัวใหญ่แค่ไหน ก็ตายได้เหมือนกัน คือ มีสิทธิเสียชีวิตเท่ากันหมด ดังนั้นผู้หญิงตัวเล็กๆก็อาจล้มผู้ชายตัวโตๆได้ด้วยอาวุธปืน

อาวุธปืนสามารถใช้เพื่อการป้องกันตัวได้แต่ก็ต้องพกปืนและฝึกการยิงปืนมาก่อนรวมทั้งต้องมีความระแวดระวังภัยอยู่ตลอดเวลา แม้กระนั้นการใช้อาวุธปืนเพื่อป้องกันตัวก็มักจะเกิดขึ้นหลังจากถูกโจมตีจากภัยคุกคามแล้ว

ความรู้สึกดีๆเมื่อยามที่คุณพกอาวุธอาจนำไปสู่อันตรายได้ ความรู้สึกปลอดภัยนั้นเป็นอย่างแรกที่อาจผิดพลาดได้ คุณคงเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า “จงอย่าทำอะไรด้วยปืน ในเมื่อสิ่งนั้นไม่จำเป็นต้องใช้ปืน” เขามักได้ยินหลายคนพูดว่า พวกเขาต้องพกปืนไว้ตลอดเผื่อว่าจำเป็นต้องใช้มัน ในเมื่อคุณคิดว่าสถานที่นั้นอาจจะต้องใช้ปืนก็อย่าไปเสียสิ (หลีกเลี่ยงสถานที่อโคจร) กฎข้อแรกของการชนะในการต่อสู้ด้วยอาวุธปืน คือ อย่าอยู่ในสถานที่หรือสถานการณ์ที่ต้องใช้ปืน

นาย David Kenik ยังจำได้ถึงช่วงเวลาแรกที่เขาพกปืนเมื่อหลายปีก่อน หากมีอาชญากรรมรุนแรงเกิดขึ้นซึ่งหน้า เช่น การปล้น การข่มขืน เขาจะสามารถหยุดอาชญากรรมนั้นได้อย่างแน่นอนเพราะเขามีปืน แต่สำหรับตอนนี้เมื่อเขานึกย้อนกลับไปพบว่า เขาไม่ได้คิดถึงผลกระทบที่ตามมาหากเขาใช้อาวุธปืนแม้แต่น้อย เขาคิดเพียงว่าคงเหมือนในภาพยนตร์ที่พระเอกไม่เคยตาย

เมื่อเขาสอนยิงปืนให้กับนักเรียนยิงปืน พบว่าพวกเขาส่วนใหญ่ไม่ได้ตระหนักถึงผลที่ตามมาหากใช้อาวุธปืน ในความเป็นจริงหากคุณใช้อาวุธปืนก็อาจพลาดยิงถูกตัวเองซึ่งอาจบาดเจ็บหนักหรือเสียชีวิตก็ได้ อีกทั้งอาจต้องติดคุกแม้ว่าคุณคิดว่าคุณทำถูกต้องแล้ว การแพ้หรือชนะมันขึ้นกับการให้การในชั้นศาล ซึ่งศาลอาจจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับคุณก็ได้

เขาขอยกตัวอย่างเหตุการณ์จริงในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2005 หน้าบันไดศาลในรัฐ เท็กซัส ของอเมริกา นาย David Arroyo สวมเสื้อเกราะควงปืนไรเฟิ่ลบุกเข้ามาในศาล นาย Mark Wilson ผลเมืองดีที่มีใบพกอาวุธอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เขายิงปืนขนาด .45 ไปที่คนร้ายแต่เพราะเกราะที่ใส่อยู่จึงไม่สามารถหยุดคนร้ายไว้ได้ เขาถูกยิงเสียชีวิตเมื่อคนร้ายยิงโต้ตอบกลับมา

อีกเหตุการณ์หนึ่งในเดือนพฤศจิกายน ปี 2005 ในเมือง Tacoma รัฐ วอชิงตัน นาย Dominick Maldonado เปิดฉากยิงคนในร้านขายจักรยานยนต์ด้วยปืนไรเฟิ่ล นาย Brendan McKown พลเมืองดีที่พกอาวุธปืน ได้ใช้ปืนพกของตนและสั่งให้คนร้ายวางอาวุธลง แต่นาย Dominick Maldonado กลับยิงใส่เขาสี่นัด ถึงแม้จะรอดชีวิตแต่ก็มีบาดแผลสาหัสจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่รู้ว่าจะกลับมาเดินได้หรือไม่

คงไม่มีใครปฏิเสธว่าทั้งสองคนนั้นเป็นวีรบุรุษตามความรู้สึกของพวกเรา ถึงแม้อาจวิพากวิจารณ์แทคติกที่ทั้งสองคนใช้ในการเผชิญเหตุณ์ แต่พวกเขาทั้งสองก็เสี่ยงชีวิตตนเองเพื่อช่วยเหลือคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จัก และทั้งคู่ก็ต้องชดใช้ด้วยราคาที่แสนแพงกับความกล้าของพวกเขา

ในขณะที่เราเต็มใจเสี่ยงจะช่วยเหลือคนที่ตนเองรัก แต่กับคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จักละ เป็นคำถามที่ยากจะให้คำตอบได้ถึงแม้กฎหมายจะเปิดช่องให้ใช้อาวุธได้ก็ตาม

มีหลักง่ายๆที่พอจะใช้ได้คือ ในกรณีที่ตนเองเป็นผู้เคราะห์ร้ายให้ใช้อาวุธปืนเพื่อแก้ไขสถานการณ์เมื่อมีสามปัจจัยเกิดขึ้น อย่างแรก ความสามรถของคนร้าย เช่น คนร้ายแข็งแรงกว่าเรา หรือมีอาวุธ สอง โอกาสของคนร้ายที่จะเข้ามาทำร้าย เช่น คนร้ายอยู่ใกล้เพียงพอที่จะทำร้ายเรา ประการสุดท้าย ความตั้งใจของคนร้าย เช่น คนร้ายแสดงความตั้งใจที่จะทำร้ายเราถึงแก่ชีวิตหรือพิการ

แต่การยื่นมือเข้าช่วยเหลือบุคคลอื่นที่ไม่รู้จัก จำเป็นอย่างยิ่งที่คุณจะต้องรู้เห็นเหตุการณ์ทั้งหมดและรู้ว่าใครเป็นคนดี ใครเป็นคนร้าย เพราะการที่เห็นคนถือปืนวิ่งออกมาจากร้าน แล้วมีคนตะโกนตามหลังมาว่า “หยุดคนร้ายที” ในความเป็นจริงคนที่ถือปืนอาจเป็นพลเมืองดีที่ใช้อาวุธปืนเพื่อปกป้องตนเองจากคนร้ายที่ตะโกนตามหลังมาก็ได้ การตะโกนเช่นนั้นอาจเพื่อเบนความสนใจคนอื่นเพื่อที่ตนจะได้มีเวลาหนี

ในชั้นประชาชนไม่ได้มีกฎหมายบังคับว่าเมื่อประสบเหตุอาชญากรรมแล้วเราต้องเสี่ยงชีวิตตนเองเข้าช่วยเหลือคนอื่น แต่ถ้าคุณตัดสินใจจะทำเช่นนั้นก็มีหลักง่ายๆดังนี้ คุณต้องรู้เหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นทั้งหมด รู้ว่าใครเป็นคนร้าย ไม่ใช่เดาเอาว่าใครน่าจะเป็นคนร้าย ไม่ใช้อารมณ์ และสถานการณ์นั้นเหมาะสมที่จะใช้อาวุธปืน (ตามหลักเกณฑ์สามข้อที่กล่าวไปข้างต้น)

ความสมดุลระหว่างการมีและใช้อาวุธปืนนั้นเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนยากที่จะทำให้ทุกคนมีความเห็นตรงกันได้ ดังนั้นการใช้อาวุธปืนจึงควรเป็นทางเลือกสุดท้าย เราต้องคำนึงถึงผลกระทบที่ตามมาอีกมากจากการใช้อาวุธปืน และต้องตระหนักว่าเราเองก็อาจเสียชีวิตได้จากการใช้อาวุธปืนเช่นกัน

การต่อสู้ด้วยอาวุธปืนนั้นผู้เชี่ยวชาญหลายคนที่มีประสบการณ์ในการใช้อาวุธปืนต่อสู้ในสถานการณ์จริงต่างให้ความเห็นตรงกันว่า ชัยชนะในการต่อสู้นั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยทั้งที่ควบคุมได้ เช่น ทักษะความชำนาญของผู้ใช้อาวุธปืนเอง อาวุธที่มี และปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้อีกหลายประการ เช่น สภาพแวดล้อม ความชำนาญในการใช้อาวุธปืนของคนร้าย อาวุธของคนร้าย สภาพจิตใจของคนร้าย และที่สำคัญ คือ โชค (Luck) ดังนั้นการต่อสู้ด้วยอาวุธปืนหากเลี่ยงได้ควรเลี่ยงเพราะเราอาจไม่ใช่ผู้ชนะเสมอไป

TAS สอนการใช้อาวุธปืนด้วยสติ โดยมีเหตุผลอันสมควรเพื่อปกป้องชีวิตตนเองและสมาชิกในครอบครัวจากภัยคุกคามซึ่งไม่อาจหลีกเลี่ยงหรือบรรเทาได้ด้วยวิธีอื่นใด ในสถานการณ์เช่นนั้นเราควรใช้ทักษะที่ได้รับการฝึกสอนมาปรับใช้ให้เหมาะสมเพื่อเพิ่มโอกาสรอดชีวิต

สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”

เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Heroic Consequences ของ David Kenik

Monday, August 24, 2009

Have You Qualified Lately?











Have You Qualified Lately?

นานแค่ไหนแล้วที่คุณได้ทำการทดสอบความสามารถในการยิงปืนเป็นครั้งสุดท้าย? หลายคนหลังจากเรียนยิงปืนจบก็ไม่ได้ยิงอีกเลย หรือยิงบ้างแต่เพียงแค่เป้าแข่งขันทั่วไป มีส่วนน้อยที่ทำการฝึกยิงปืนอย่างสม่ำเสมอ

นาย Nick Jacobellis ได้ให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการฝึกยิงปืนไว้อย่างน่าสนใจ เขาเป็นผู้รักษากฎหมายที่ผ่านการฝึกและมีความมั่นใจในการใช้อาวุธปืนในการปกป้องชีวิตและทรัพย์สิน การผ่านการฝึกมาอย่างดีทำให้เขาเชื่อมั่นว่าเขามีความสามารถในการใช้อาวุธปืนได้ดีกว่าคนร้ายโดยเฉลี่ยที่ไม่เคยผ่านการฝึกหรือฝึกแบบไม่เป็นรูปแบบ (No formal training)

แล้วคุณผ่านการฝึกมานานแล้วใช่ไหม? หรือพูดอีกแง่หนึ่งคือ ความสามารถในการใช้อาวุธปืนของคุณตอนนี้ยังเหมาะสมดีอยู่หรือไม่? ในสหรัฐมีกฎหมายให้เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งต้องพกอาวุธปืนในการปฏิบัติหน้าที่ไล่ล่าคนร้ายข้ามรัฐต้องผ่านการฝึกการใช้อาวุธปืนจากสถาบันสอนยิงปืนที่ได้มาตรฐานสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจของรัฐที่ตนเองสังกัดอยู่ทุกปี ซึ่งเขาต้องผ่านการฝึกใช้อาวุธปืนประจำกายในหลักสูตรยิงปืนที่ไม่คุ้นเคย เป็นรูปแบบการฝึกที่แตกต่างไปจากที่เขาเคยเรียนมาก่อน

ในตอนแรกเขาใช้ปืน SIG 228 ขนาด 9 มม. และเมื่อเวลาผ่านไปจนมาถึงการฝึกครั้งใหม่เขาก็เลือกฝึกทั้งปืนกึ่งอัตโนมัติและปืนลูกโม่เพื่อความคล่องตัวในการเลือกอาวุธสำหรับพกซ่อน ในครั้งนั้นเขาใช้ปืนลูกโม่ Smith & Wesson Model 64 ขนาด .38 ลำกล้อง 2 นิ้วในการยิงเป้าหุ่นคนระยะ 25 หลา กลับพบว่าการยิงครั้งนั้นไม่ง่ายเลยทั้งๆที่เพิ่งผ่านการยิงปืน SIG 228 ขนาด 9 มม. มาได้อย่างง่ายดาย

ไม่มีทางใดที่จะทำให้คุณชนะในการยิงต่อสู้ได้นอกจากความมั่นใจ และความมั่นใจก็มาจากการฝึกหนักและการถูกทดสอบในหลายรูปแบบ

วิธีหนึ่งที่ได้ผลดีคือ การฝึกต่อสู้จริงด้วยกระสุนสี (Simulated munitions) เนื่องจากเป้ากระดาษไม่มีการยิงตอบโต้กลับมาจึงขาดความสมจริง นอกจากนั้นการฝึกด้วย Paintball หรือปืนอัดลม (Airsoft) ก็สามารถช่วยในการฝึกด้านยุทธวิธีได้ดี แต่น่าเสียดายที่ Simunition มีเฉพาะในการฝึกของตำรวจและทหารเท่านั้น (ในไทยก็ยังไม่มี แต่ใช้ Paintball กับ Airsoft แทน)

แต่กระนั้นก็ตามถึงแม้จะฝึกกับกระสุนสีก็ยังต้องหมั่นฝึกความสามารถเฉพาะตัวด้วยการยิงกับเป้ากระดาษด้วย ประชาชนที่มีอาวุธปืนครอบครองส่วนใหญ่ไม่เคยเป็นตำรวจหรือทหารมาก่อน นาย Nick Jacobellis ไม่คาดหวังว่าประชาชนเหล่านั้นจะต้องผ่านการฝึกยิงปืนระดับสูงมาก่อน แต่พวกเขาควรฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอเท่าที่จะเป็นไปได้และมีความสามารถระดับหนึ่งที่ยอมรับได้ในการใช้อาวุธปืน

มันไม่จำเป็นที่คุณจะต้องใช้ปืนทุกกระบอกที่คุณมีได้อย่างดีเยี่ยม แต่คุณควรสามารถใช้ปืนกระบอกที่ใช้งานประจำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และฝึกใช้กับกระสุนหลายๆแบบไม่จำเป็นจะต้องใช้กระสุนหัวกลมแบบมาตรฐาน (Full metal jacket, FMJ) เท่านั้น และควรทำการทดสอบความสามารถของคุณด้วยเป้าหุ่นคน (เป้าวงกลมดำมักใช้ในการแข่งขันทั่วไปแต่สำหรับการยิงต่อสู้จะใช้เป้าหุ่นคน)

สำหรับผู้สูงอายุแค่ทำการยิงถูกเป้าหุ่นคนในระยะใกล้ได้ก็ถือว่าน่าจะยอมรับได้แล้ว คุณอาจออกแบบการฝึกและประเมินความสามารถของตนเองได้ โดยการยิงนั้นควรต้องประกอบด้วยการยิงด้วยมือเดียวข้างถนัดและมือข้างไม่ถนัดภายในเวลาที่เหมาะสม ควรต้องมีการเปลี่ยนซองกระสุนแบบ Combat reload อย่างน้อยหนึ่งครั้งด้วย

เขาแนะนำการทดสอบความสามารถยิงปืนสำหรับประชาชนไว้ดังนี้
- ยิง 5 นัดที่ระยะ 3 หลา
- ยิง 5 นัดที่ระยะ 7 หลา ด้วยสองมือแล้วเปลี่ยนกระสุนใหม่อีก 5 นัดตามวิธี Combat reload ด้วยมือข้างไม่ถนัด
- ยิง 5 นัดที่ระยะ 15 หลา ด้วยสองมือ แล้วเปลี่ยนกระสุนใหม่อีก 5 นัดด้วยวิธี Combat reload
- ยิง 3 นัดที่ระยะ 25 หลา ด้วยสองมือในท่ายืน และอีก 2 นัดในท่านั่งคุกเข่า
- รวมทั้งหมด 30 นัด แต่ถ้าใช้ปืนลูกโม่ก็อาจปรับเป็นยิงครั้งละ 6 นัดได้ รวมทั้งหมด 36 นัด
- ที่สำคัญคือ ควรทำการฝึกและทดสอบยิงปืนในภาวะแสงต่ำ (Low light conditions) ด้วย

สำหรับผู้ที่มีอาวุธปืนนั้นเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้และใช้อาวุธปืนของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเข้ารับการฝึกอบรมตามศูนย์ฝึกอบรมยิงปืนต่างๆก็เป็นทางเลือกหนึ่งในการเพิ่มพูนความรู้ในการใช้อาวุธปืน นอกจากนั้นปัจจุบันยังมีแหล่งความรู้อีกมากให้เราใช้ค้นคว้าเพิ่มเติม

แต่การเรียนเพียงไม่กี่วันคงไม่อาจทำให้เกิดทักษะความชำนาญได้ เราจึงควรต้องฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอเพื่อพัฒนาความสามารถในการใช้อาวุธปืน อีกทั้งต้องประเมินความสามารถของเราเองเป็นระยะๆ เพื่อคงไว้ซึ่งความมั่นใจในการใช้อาวุธปืน

TAS สอนพื้นฐานการยิงปืนระบบต่อสู้เพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สิน หลังฝึกอบรมผู้รับการฝึกควรหมั่นฝึกฝนเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดทักษะความชำนาญ และสามารถมาทบทวนความรู้ได้ทุกครั้งที่ TAS เปิดการฝึกอบรม

สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”

เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Have You Qualified Lately? ของ Nick Jacobellis

Tuesday, August 18, 2009

Shedding Some Light











Shedding Some Light

นาย Dave Spaulding ใช้เวลาสามสิบกว่าปีในการศึกษาความเห็นที่แตกต่างในการใช้อาวุธปืนโดยเริ่มตั้งแต่ก่อนเข้าโรงเรียนตำรวจจนมาถึงปัจจุบันนี้ การศึกษาของเขารวมไปถึงการได้พูดคุยกับบุคคลที่ผ่านประสบการณ์การใช้อาวุธปืนในการต่อสู้ตลอดสามสิบปีที่ทำงานในหน้าที่ผู้รักษากฎหมายและรักษาความปลอดภัย

เขาเข้ารับการฝึกอบรมในโรงเรียนสอนยิงปืนของเจ้าหน้าที่รักษากฎหมายและเป็นนักเรียนยอดเยี่ยมที่สุดในสถาบันแห่งนั้น เขายังศึกษาจากหนังสือและวิดีโอจำนวนมาก จนถึงขณะนี้เขาแทบไม่พบอะไรใหม่ๆที่มีคุณค่าเกี่ยวกับการยิงปืน

เทคนิคใหม่ที่มีการสอนกันในช่วงหลังๆมานี้ คงใหม่สำหรับผู้ที่ไม่เคยเห็นมาก่อนแต่ที่จริงแล้วเทคนิคเหล่านี้กลับถูกคิดค้นขึ้นมาในช่วงปี ค.ศ. 1870 ถึง 1940

เขาเคยไปที่โรงเรียนสอนยิงปืนแห่งหนึ่งซึ่งสอนการถือปืนในท่า High ready position โดยให้ถือปืนในระดับสายตา (ตา ศูนย์หน้าและเป้า อยู่ในแนวเดียวกันตลอด) โดยครูฝึกบอกถึงประโยชน์ของเทคนิค “ใหม่” นี้ว่า มันเป็นการง่ายที่จะมองศูนย์หน้าขณะที่วาดปืนไปหาเป้าหมายเพื่อทำการยิงและให้ความแม่นยำที่ดีขึ้น

อันที่จริงแล้วเทคนิคนี้ได้ถูกค้นพบมาตั้งแต่ต้นปี 1980 ซึ่งเรียกว่า Tactical high ready position แต่น่าเสียดายเมื่อเจ้าหน้าที่รักษากฎหมายนำมาใช้งานจริงตามท้องถนน กลับพบว่าการถือปืนลักษณะนี้จะบดบังมุมมองบางส่วนของเขาไป ดังนั้นส่วนใหญ่ที่เขาเห็นจึงเป็นเรื่องของการนำของเก่ามาเล่าใหม่เสียมากกว่า

นาย Dave Spaulding เคยอ่านบทความหนึ่งชื่อ Fire in the sky ของอดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจบนเครื่องบิน (Air marshal) นาม Matthew Graham เขารู้สึกนับถือเจ้าหน้าที่เหล่านี้อย่างมาก ซึ่งเป็นหน่วยงานเล็กๆมีคนอยู่ไม่มากนักก่อนเหตุการณ์ 9/11 เป็นหน่วยงานที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างพิเศษ (เพื่อปฏิบัติหน้าที่บนเครื่องบินโดยเฉพาะ)

จุดเด่นของบทความนั้นก็คือ วิธีการถือไฟฉายประกอบการยิงปืนรูปแบบใหม่ ซึ่งนาย Graham คิดค้นขึ้นมาเพื่อใช้ในการยิงปืนบนเครื่องบิน โดยจุดประสงค์หลักเพื่อใช้ไฟฉายประกอบการยิงปืน ไม่ใช่เพื่อช่วยในการค้นหา (Search) ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมสอนกันมากที่สุดในปัจจุบัน

เมื่อนำวิธีการส่องไฟฉายเพื่อค้นหา (Searching technique) มาใช้งานก็พบจุดอ่อน ทันทีที่ปรากฏแสงไฟจากกระบอกไฟฉายขึ้นในเครื่องบินความโกลาหลก็จะเกิดขึ้นทันที สิ่งเดียวที่เจ้าหน้าที่รักษากฎหมายบนเครื่องบินต้องการเห็นก็คือ ภัยคุกคาม เริ่มแรกนั้นนาย Graham ต้องการใช้ปืนที่มีรางติดศูนย์ไฟฉายแต่เนื่องจากกฎระเบียบ ทำให้ต้องใช้ปืนที่มีลักษณะพกซ้อนเท่านั้นซึ่งไม่มีรางติดศูนย์ไฟฉาย

เขาจึงคิดวิธีการถือไฟฉายประกอบการยิงปืนที่มีลักษณะคล้ายกับไฟฉายที่ติดกับปืน โดยถือไฟฉายไว้ด้วยมือข้างที่คอยพยุงปืน วิธีการถือไฟฉายแบบนี้ใช้ร่วมกับ Combat ring (เป็นห่วงยางสวมติดกับไฟฉายเอาไว้คล้องนิ้ว ซึ่งใช้กับกระบอกไฟฉายที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 นิ้ว) โดยห่วงจะอยู่ท้ายกระบอกไฟฉายใกล้กับปุ่มเปิด-ปิด คล้องห่วงไว้ด้วยนิ้วชี้มือข้างไม่ถนัด มือข้างถนัดกำด้ามปืนตามปกติ ส่วนมือข้างไม่ถนัดกำรอบมือข้างถนัดเป็นการช่วยพยุงปืน ควบคุมการเปิด-ปิดไฟฉายด้วยการดันปุ่มท้ายไฟฉายให้ไปกดกับข้อหรือนิ้วของมือข้างถนัด

เขาอ่านบทความนี้หลายครั้งและเห็นความสำคัญของวิธีการนี้ เขาเริ่มฝึกด้วยการยิงแห้งก่อน (Dry firing) เขารู้สึกถึงความเป็นธรรมชาติเมื่อถือปืนประกอบไฟฉายด้วยวิธีนี้ และเมื่อยิงด้วยกระสุนจริงก็พบว่ามันใช้งานง่ายมาก แม้จะเริ่มจากการชักปืนออกจากซองปืนก็ตาม

เขาลองยิงวิธีนี้มาหลายเดือนแล้วและไม่พบข้อบกพร่องที่ร้ายแรงแต่อย่างใด สำหรับนาย Dave Spaulding แล้วเขามีมือที่เล็กจึงเป็นการยากที่จะกำกระบอกไฟฉายขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางหนึ่งนิ้วไว้ระหว่างนิ้วของเขา ดังนั้นจึงใช้ไฟฉายที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 5/8 นิ้วแทนและต้องตัด Combat ring ให้เล็กลงแล้วพันด้วยเทปเพื่อให้สามารถใช้กับไฟฉายของเขาได้

ถ้าคุณยังไม่เคยลองวิธีนี้เขาแนะนำว่าควรทดลองเสีย เพราะเป็นวิธีที่สามารถถือปืนด้วยสองมือทำให้มีความมั่นคงและเป็นธรรมชาติ

การยิงปืนประกอบไฟฉายตามวิธีของ Graham (The Graham Method) ถือเป็นสิ่งใหม่จริงๆและมีคุณค่าอย่างมาก

เป็นที่ทราบกันดีว่าการต่อสู้ด้วยอาวุธปืนสั้นในชั้นประชาชนส่วนใหญ่เกิดขึ้นในภาวะแสงต่ำ การยิงปืนประกอบไฟฉายหรือศูนย์ไฟฉายจึงเป็นทักษะที่ขาดไม่ได้ มีหลายวิธีที่สามารถทำการยิงปืนประกอบไฟฉายซึ่งต่างก็มีทั้งข้อดีและข้อด้อยหรือข้อจำกัดของมัน เราควรเรียนรู้วิธีการเหล่านี้ไว้และนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับตนเองและสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ ดังนั้นถึงแม้เราจะไม่มีปืนที่ติดศูนย์ไฟฉายได้ก็ยังต้องสามารถทำการยิงในภาวะแสงต่ำด้วยอุปกรณ์ส่องสว่างที่เรามีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

TAS สอนการยิงปืนประกอบไฟฉายในภาวะแสงต่ำ ภายใต้การดูแลของครูฝึกอย่างใกล้ชิดเพื่อความปลอดภัย

สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”

เรียบเรียงโดย
Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Shedding Some Lightของ Dave Spaulding

Wednesday, August 12, 2009

Light Deviation
















Light Deviation

ตั้งแต่ช่วงปี 1980 เป็นต้นไปปืนสั้นเริ่มมีรางติดศูนย์ไฟฉายมากับตัวปืน ในอดีตปืนบางยี่ห้อทำรางที่จำเพาะกับศูนย์ไฟฉายและต้องใช้ซองปืนของบริษัทของตนเองเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันนี้ไม่มีการผลิตเช่นนั้นอีกแล้ว

ซองปืนแบบแรกที่มีกันมักทำจากผ้าไนล่อนซึ่งไม่ค่อยดีนัก ผิดกับซองปืนคุณภาพสูงอย่างยี่ห้อ Blackhawk, Safariland เป็นต้น ในช่วงแรกๆซองปืนเหล่านี้มีใช้กันอยู่เฉพาะในหน่วย SWAT และหน่ายงานทางทหาร แต่ปัจจุบันมีการใช้กันอย่างแพร่หลายในหลายภาคส่วนรวมทั้งประชาชนทั่วไป เมื่อคนนิยมปืนพกซ้อน (Concealed carry guns) มากขึ้นความนิยมปืนที่มีรางติดศูนย์ไฟฉายจึงลดลง (ปืนพกซ้อนมักมีขนาดเล็กไม่สามารถติดรางศูนย์ไฟฉายได้ อีกทั้งหากติดศูนย์ไฟฉายเข้ากับปืนจะทำให้ปืนมีขนาดใหญ่ขึ้นจึงไม่เหมาะแก่การพกซ้อน)

มีการพูดกันในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญในอินเตอร์เน็ตว่า การใช้อาวุธปืนในภาคประชาชนมักเกิดขึ้นบน “ท้องถนน” (จากพวกมิจฉาชีพ อันธพาลหรือพวกแก๊งป่วนกวนเมือง) แต่สำหรับนาย Clint Smith แล้วกลับคิดว่า พวกเราซึ่งเป็นสุจริตชนในความเป็นจริงมักใช้อาวุธปืนเมื่ออยู่ที่ “บ้าน” (เพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สิน) ดังนั้นจึงเป็นความคิดที่ดีถ้ามีปืนซึ่งมีรางติดศูนย์ไฟฉายอยู่ด้วย ซึ่งมันจะมีประโยชน์อย่างมากในการใช้ปกป้องครอบครัว

โดยส่วนตัวนาย Clint Smith แล้วเขาใช้ปืนขนาด .45 Model 1911 ที่มีรางติดศูนย์ไฟฉายในการใช้งานประจำ เมื่อสิ้นสุดแต่ละวันเขาจะนำศูนย์ไฟฉายมาประกอบเข้ากับตัวปืน ตรวจปืนและอุปกรณ์เพื่อเตรียมความพร้อมในการใช้งานในยามค่ำคืน

ในช่วงเวลาปกติเขาพกปืนแต่แยกศูนย์ไฟฉายเก็บไว้ในกระเป๋ากางเกง จะไม่ติดศูนย์ไฟฉายไว้ตลอดเวลายกเว้นในการฝึกที่สนามยิงปืนเมื่อต้องการฝึกการยิงปืนร่วมกับศูนย์ไฟฉาย ปืนที่ติดศูนย์เรืองแสงจะมีประโยชน์อย่างมากในการยิงกลางคืนทำให้รู้แนวปืนเมื่อทำการยิงในภาวะแสงต่ำ

ในระหว่างการสอนยิงปืนเขาเห็นข้อผิดพลาดหลายประการจากผู้รับการฝึกเมื่อใช้ปืนประกอบศูนย์ไฟฉาย เขาแนะนำว่าเมื่อทำการประกอบศูนย์ไฟฉายเข้ากับตัวปืนต้องตรวจสอบให้แน่ชัดว่าประกอบแน่นหนาดีแล้ว ต้องแน่ใจว่ามันจะไม่หลุดออกมาขณะทำการยิง ประการต่อไปคือตรวจสอบการทำงานของศูนย์ไฟฉาย ต้องแน่ใจว่าทุกระบบทำงานปกติดี และจะดียิ่งขึ้นเมื่อทดลองถือปืนโดยเทคนิคประกอบศูนย์ไฟฉายและตรวจระบบการทำงานทุกอย่าง การเตรียมความพร้อมจะเพิ่มโอกาสที่จะเป็นผู้ชนะในสถานการณ์วิกฤติ

ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ของการยิงปืนต่อสู้มักเกิดขึ้นในภาวะแสงต่ำ ภัยคุกคามที่บ้านมักเกิดขึ้นในยามวิกาล ดังนั้นการฝึกยิงปืนประกอบไฟฉายหรือศูนย์ไฟฉายจึงเป็นสิ่งจำเป็น ประโยชน์ของไฟฉายหรือศูนย์ไฟฉายก็คือ การช่วยให้เราแยกแยะเป้าหมายได้ว่าเป็นภัยคุกคามหรือไม่ ดังนั้นก่อนทำการยิงเราต้องแยกแยะเป้าหมายก่อนเสมอ ห้ามยิงโดยไม่รู้ว่าเป้าหมายนั้นคืออะไร เพราะอาจยิงพลาดไปถูกผู้บริสุทธิได้

การฝึกใช้อุปกรณ์ส่องสว่างที่มีอยู่ประกอบการยิงในภาวะแสงต่ำ ไม่ว่าจะเป็นไฟฉายธรรมดาที่มีใช้กันอยู่ทั่วไป ไฟฉายที่ทำมาเฉพาะสำหรับการยิงปืน (Tactical handheld flashlight) หรือแม้แต่ศูนย์ไฟฉายเป็นสิ่งสำคัญ และเราควรต้องฝึกใช้อุปกรณ์ที่เรามีอยู่อย่างชำนาญ อาจไม่จำเป็นต้องไขว่ขว้าหาไฟฉายราคาแพงๆ ขอเพียงเรียนรู้และฝึกฝนการใช้อุปกรณ์ที่เรามีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เรียนรู้ข้อจำกัดและข้อควรระวังในการยิงปืนในภาวะแสงต่ำ หมั่นตรวจสอบไฟฉายอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้พร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา

TAS สอนการใช้อาวุธปืนในภาวะแสงต่ำในหลักสูตรที่สูงขึ้นไป ผู้รับการฝึกจะได้ทำการยิงปืนทั้งที่มีและไม่มีไฟฉาย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและทักษะในการใช้อาวุธปืนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”

เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Light Deviation ของ Clint Smith

Newcastle limousines