Friday, September 30, 2011

Cruiser Safe/Cruiser Ready


Cruiser Safe/Cruiser Ready

ไม่ได้เขียนบทความเกี่ยวกับปืนลูกซองเสียนาน วันนี้จึงขอนำความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับปืนลูกซองมาบอกกล่าว

ปืนลูกซองเป็นอาวุธที่เหมาะอย่างมากแก่การป้องกันตัวเองและสมาชิกในครอบครัวโดยเฉพาะที่บ้าน การเก็บปืนและเตรียมปืนให้ปลอดภัยและพร้อมใช้งานนั้น ควรจะต้องรู้ 2 คำนี้ คือ Cruiser Safe และ Cruiser Ready

ที่มาของทั้งสองคำนั้นได้มาจากการเก็บปืนลูกซองไว้ภายในหรือท้ายรถตำรวจของอเมริกา ต่อมาถูกนำมาใช้และสอนกันอย่างกว้างขวาง ในที่นี้จะขอกล่าวเฉพาะวิธีของปืนลูกซองแบบ Pump Action ของ Remington 870 เป็นหลัก (เป็นปืนที่เหมาะมากสำหรับประชาชน เพราะกลไกเรียบง่ายโอกาสติดขัดน้อยและดูแลรักษาง่าย) ส่วนปืนลูกซองกึ่งอัตโนมัติหรือแบบอื่นอาจมีวิธีแตกต่างกันบ้างเล็กน้อยแต่หลักใหญ่ๆจะคล้ายกัน

Cruiser Safe เป็นวิธีที่ปลอดภัยในการเก็บปืนลูกซองไว้ในรถหรือที่บ้าน มี 2 วิธีใหญ่ๆ

-          วิธีแรกเป็นแบบดั่งเดิม ในกรณีที่ปืนยังไม่ได้บรรจุกระสุนเลยให้สาวกระโจมมือดึงเข้าและดันออกหนึ่งรอบแล้วเหนี่ยวไกทิ้งไป จากนั้นกดปุ่ม Safety ของปืน ต่อมาบรรจุกระสุนใส่ในหลอดบรรจุกระสุนของปืนลูกซองจนเต็ม เวลาจะใช้งานก็ให้กระชากกระโจมมือหนึ่งรอบเพื่อบรรจุกระสุนเข้ารังเพลิงพร้อมยิง (ก่อนยิงอย่าลืมปลดล็อค Safety ไกปืนด้วย)

-          วิธีที่สอง (แนะนำให้ใช้วิธีนี้) เมื่อสาวกระโจมมือดึงเข้าและดันออกจนสุดแล้ว ให้กดปุ่ม Safety ของปืน (ไม่ต้องเหนี่ยวไกทิ้ง) แล้วบรรจุกระสุนใส่ในหลอดบรรจุกระสุนของปืนจนเต็ม เวลาจะใช้งานต้องกดปุ่มปลดล็อคกระโจมมือก่อน แล้วสาวกระโจมมือหนึ่งรอบเพื่อบรรจุกระสุนเข้ารังเพลิงพร้อมใช้งาน (ก่อนยิงอย่าลืมปลดล็อค Safety ไกปืนด้วย)

โดยส่วนตัวและผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่แนะนำให้ใช้วิธีที่สอง เพราะวิธีแรกนั้นกระโจมมือจะไม่ถูกล็อค (Lock) สามารถเคลื่อนที่ขึ้น-ลงได้อย่างอิสระ เมื่อวางปืนไว้ในรถหรือท้ายรถหากรถมีการกระแทกแรงๆ พบว่าอาจทำให้กระโจมมือถูกสาวขึ้น-ลงและมีการบรรจุกระสุนเข้ารังเพลิงโดยไม่ตั้งใจได้ แต่วิธีที่สองนั้นกระโจมมือจะถูกล็อคไม่สามารถสาวขึ้น-ลงเองได้ ต้องกดปุ่มปลดล็อคกระโจมมือที่บริเวณหน้าโกรงไกปืนก่อนจึงจะสาวกระโจมมือได้ ดังนั้นโอกาสที่จะมีการบรรจุกระสุนเข้ารังเพลิงโดยไม่ตั้งใจจึงเกิดขึ้นได้ยากกว่า

Cruiser Ready เป็นการเตรียมปืนโดยมีกระสุนบรรจุอยู่ในรังเพลิงพร้อมใช้งาน โดยสาวกระโจมมือดึงเข้ามาจนสุดเพื่อเปิดช่องคายปลอกกระสุนออก ใส่กระสุนปืนเข้าไปในช่องคายปลอกหนึ่งนัดและกระชากกระโจมมือเดินหน้าไปจนสุดเป็นการบรรจุกระสุนปืนเข้ารังเพลิงและขึ้นไกปืน ให้กดปุ่ม Safety และบรรจุกระสุนเข้าหลอดบรรจุกระสุนของปืนจนเต็ม เวลาใช้งานก็แค่กดปุ่มปลด Safety ไกปืนก็ทำการยิงได้แล้ว

ในการเก็บปืนลูกซองไว้ที่บ้านสำหรับประชาชนแนะนำให้ใช้ Cruiser Safe วิธีที่สอง และเมื่อมีภัยคุกคามเราหยิบปืนจะมาใช้งานให้รีบสาวกระโจมมือเพื่อบรรจุกระสุนเข้ารังเพลิงโดยเร็ว (Cruiser Ready) และอาจบรรจุกระสุนเข้าหลอดบรรจุกระสุนเพิ่มอีกหนึ่งนัดทดแทนกระสุนที่ถูกนำไปบรรจุในรังเพลิง เพื่อให้ปืนมีกระสุนพร้อมใช้งานให้มากที่สุด

สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”
                                                                                                            เรียบเรียงโดย Batman

Thursday, September 22, 2011

2 Seconds Rule


2 Seconds Rule

ในการพกพาอาวุธปืนสั้นสำหรับประชาชน เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งอยู่นอกเวลาทำงาน เจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ หรือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ มักใช้ “การพกซ่อน (Concealed Carry)” ซึ่งมีหลายวิธี แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการพกไว้บริเวณเอวโดยมีเสื้อผ้าปกปิด หรือการพกไว้ที่ข้อเท้า เป็นต้น

โดยตำแหน่งที่พกบริเวณเอวอาจเป็นที่ 12, 2, 3, 4, 6 หรือ 10 นาฬิกา เป็นส่วนใหญ่ (ในกรณีถนัดมือขวา) และใช้เสื้อผ้าปกปิดไว้ เช่น ชายเสื้อหรือใส่เสื้อแจ๊กเก็ตคลุมไว้ เป็นต้น (อ่านเพิ่มเติมได้ในบทความเรื่อง Concealed Carry for Civilian วันที่ 4 Apr 10) ผู้หญิงบางท่านอาจใส่ปืนไว้ในกระเป๋าถือซึ่งไม่แนะนำ เพราะเมื่อถูกปล้นหรือมีภัยคุกคามคนร้ายมักยึดกระเป๋าถือของผู้หญิงไว้เป็นอันดับแรกเนื่องจากในกระเป๋ามักมีเงิน โทรศัพท์มือถือ ดังนั้นหากใส่ปืนไว้ในกระเป๋าถือก็จะถูกคนร้ายยึดไปด้วย

ในกรณีของปืนพกซ่อนเพื่อใช้งานอย่างจริงจังมักต้องสามารถเข้าถึงอาวุธปืนได้อย่างง่ายดาย ซึ่งถือว่าเป็นปืนหลักแต่ใช้การพกซ่อนแทนการพกนอกอย่างเปิดเผย (Open carry) ดังนั้นการพกปืนไว้ที่ข้อเท้าจึงมักใช้ในกรณีของปืนสำรอง (Backup gun, BUG) มากกว่า

เมื่อปืนหลักถูกนำมาพกแบบซ่อนเร้นก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคงไว้ซึ่งศักยภาพในการเข้าถึงอาวุธปืนและสามารถใช้งานได้อย่างรวดเร็ว มีหลักการหนึ่งที่ยึดถือในกรณีของปืนพกซ่อนก็คือ 2 Seconds Rule

ผู้ที่พกปืนแบบพกซ่อนจะต้องสามารถชักปืนออกจากตำแหน่งที่พกและทำการยิงเป้าหมายได้ภายในเวลา 2 วินาที

การที่จะทำเช่นนั้นได้ปืนจำเป็นที่จะต้องพร้อมใช้งานตลอดเวลา ส่วนวิธีชักปืนออกจากที่พกก็มีหลายวิธีทั้งใช้มือเดียวและสองมือขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่พกและวิธีการปกปิดซุกซ่อน

ดังนั้นการฝึกชักปืนออกจากตำแหน่งที่พกซ่อนเพื่อใช้งานจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่พกพาอาวุธปืนติดตัวตลอดเวลาแบบซ่อนเร้น ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ หรือในกรณีที่ปืนสำรองเป็นปืนพกซ่อนก็ควรมีการฝึกใช้งานจากตำแหน่งพกซ่อนเช่นกัน

มีข้อแนะนำเกี่ยวกับการเตรียมตัวในการพกพาอาวุธปืนแบบพกซ่อน ก็คือ ควรมีกระสุนสำรองเก็บไว้ในซองกระสุนพกติดตัวอีกอย่างน้อย 1 ซอง เผื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน เช่น กรณีกระสุนหมดหรือมีเหตุติดขัดขณะยิงปืนซึ่งอาจต้องปลดซองกระสุนเก่าทิ้งอย่างน้อยก็ยังมีอีกหนึ่งซองเอาไว้ใช้งานได้

สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”

                                                                                                เรียบเรียงโดย Batman
                                                                        อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจาก Magpul dynamics training program

Thursday, September 15, 2011

Gun and Law


Gun and Law

กฎหมายควบคุมอาวุธปืนสำหรับประชาชนนั้นเกิดจากข้อสันนิฐานที่ว่า ปืนเป็นอาวุธอันตรายร้ายแรงหากประชาชนสามารถครอบครองและพกพาได้อย่างอิสระอาจเกิดปัญหาการใช้อาวุธปืนอย่างไม่เหมาะสมมากขึ้นในสังคม เพื่อความสงบสุขรัฐจึงจำเป็นต้องควบคุมและจำกัดการครอบครองและพกพาอาวุธปืนของประชาชน

เมื่อรัฐนำปืนออกไปจากมือของประชาชนทั่วไปทำให้หน้าที่ในการป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของพวกเขาตกอยู่กับเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งก็คือ ตำรวจ

ในอเมริกาซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ใช้อาวุธปืนเพื่อสร้างชาติและเห็นว่าการมีอาวุธปืนเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนเพื่อเอาไว้ปกป้องตัวเอง โดยมีถึง 42 รัฐซึ่งอนุญาตให้ประชาชนสามารถพกปืนด้วยซองปืนพกนอกได้ (Open carry)  แต่ก็มีบางสถานที่สาธารณะมีข้อกำหนดห้ามพกพาอาวุธปืนเข้าไป เช่น โรงเรียน เป็นต้น

เราคงได้ข่าวหลายครั้งเกี่ยวกับเหตุยิงกันภายในโรงเรียนของอเมริกาซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก หลายคนคงมองต้นเหตุของสิ่งเหล่านี้ไปที่ “อาวุธปืน” ซึ่งคนร้ายใช้ก่อเหตุ ดังนั้นการห้ามมีและพกพาอาวุธปืนน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด แต่พบว่าเหตุการณ์เหล่านี้หลายครั้งเกิดในรัฐหรือสถานที่ซึ่งห้ามพกพาอาวุธปืนเข้าไปอยู่แล้ว อีกทั้งยังไม่มีข้อมูลสนับสนุนจากการศึกษาที่บ่งชี้ว่าการห้ามประชาชนพกพาอาวุธปืนจะสามารถลดอาชญากรรมเหล่านี้ได้

การห้ามประชาชนพกพาอาวุธปืนกลับพบว่าทำให้ประชาชนเหล่านั้นตกเป็นเหยื่อของการก่ออาชญากรรมได้ง่ายขึ้นและไม่สามารถป้องกันตัวเองได้ ในขณะที่รัฐก็ไม่สามารถเข้ามาช่วยเหลือพวกเขาได้ในขณะเกิดเหตุ ถ้าพวกเขามีอาวุธปืนอยู่ในมือเหตุการณ์ร้ายเช่นนี้อาจไม่จบลงด้วยความสูญเสียมากเช่นนั้นก็ได้ ดังนั้นในปัจจุบันเริ่มมีโรงเรียนอย่างน้อย 26 แห่งใน 3 รัฐอนุญาตให้มีการพกพาอาวุธปืนเข้าโรงเรียนได้

เนื่องจากคนร้ายทั้งหลายไม่สนใจต่อกฎหมาย กฎระเบียบของสังคม พวกเขาไม่สนใจว่ารัฐนี้หรือสถานที่นี้ห้ามพกพาอาวุธปืน และพร้อมที่จะทำผิดกฎหมายด้วยความตั้งใจอยู่แล้ว ในขณะที่เหยื่อหรือประชาชนทั่วไปกลับไม่สามารถปกป้องตนเองได้ เพราะรัฐนำปืนออกไปจากมือของพวกเขาและไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมากพอที่จะมาระงับเหตุได้ทัน

ในอเมริกาเองรัฐซึ่งอนุญาตให้พกพาอาวุธปืนได้อย่างเสรี กลับพบว่ามีอัตราการก่ออาชญากรรมด้วยอาวุธปืนน้อยกว่ารัฐอื่นๆมาก อาทิเช่น รัฐเท็กซัส เป็นต้น และพบว่าอาชญากรรมร้ายแรงหลายครั้งสามารถถูกหยุดได้ด้วยประชาชนที่มีอาวุธปืน

สำหรับประเทศไทยแล้วเมื่อรัฐนำปืนออกไปจากมือของประชาชน ก็เป็นหน้าที่ของรัฐในการปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เรารู้อยู่ว่าอาชญากรรมร้ายแรงจากอาวุธปืนของคนร้ายนั้นมีมากแต่หากประชาชนมีอาวุธซึ่งสามารถป้องกันตัวเองได้แล้ว พวกเขาก็อาจไม่ตกเป็นเหยื่อเช่นนั้นก็ได้

ก็คงต้องถามทางรัฐว่ามีความสามารถมากพอที่จะปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้จริงหรือไม่ หรือเพียงแค่คอยเก็บศพประชาชนให้เป็นข่าวหน้าหนึ่งแล้วก็เลือนหายไป ถ้าเรารอดจากคมกระสุนมาได้ก็ถือว่า “โชค” ดี ถ้าเสียชีวิตก็ถือว่า “โชค” ร้าย เพราะอย่างไรเสียประชาชนทั่วไปก็ไม่สามารถมีอาวุธปืนไว้ป้องกันตัวเองได้อยู่แล้ว ในขณะที่รัฐก็ไม่สามารถปกป้องคุณได้ อย่าลืมว่ากฎหมายมีไว้ควบคุมคนดี แต่สำหรับคนร้ายแล้วเขาไม่สนใจกฎหมายอยู่แล้ว

แล้วท่านล่ะ... มีความคิดเห็นอย่างไร?

            สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”

                                                                                                            เรียบเรียงโดย Batman
                                                                        อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง Campus carry reality check ของ Dave Bahde

Thursday, September 8, 2011

Gun VS. Knife


Gun VS. Knife

เมื่อไม่นานมานี้ได้มีโอกาสร่วมสังเกตการณ์การฝึกอบรม VIP Protection จากอเมริกา ซึ่งในการฝึกตอนหนึ่งนั้นครูฝึกได้บอกเล่าเหตุการณ์จริง ที่นายตำรวจนอกเครื่องแบบท่านหนึ่งอยู่ในลิฟ ถูกคนร้ายปล้นและใช้มีดแทง นายตำรวจท่านนั้นได้ป้องกันตัวด้วยการยกแขนซ้ายขึ้นกันและมือขวาชักปืนยิงสวนออกไปจึงรอดพ้นเหตุการณ์ร้ายออกมาได้

หลายท่านคงคิดว่ามีดจะไปสู้ปืนได้อย่างไร แต่เมื่อมาวิเคราะห์กันแล้วนายตำรวจท่านนั้นถึงแม้จะมีปืนพกติดตัวอยู่แต่ก็ถือว่าโชคดีในหลายเรื่อง อย่างแรกปืนนั้นพร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา (ปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติที่บรรจุกระสุนในรังเพลิง และสามารถยิงได้ในจังหวะ Double action) เพราะหากปืนที่พกอยู่ยังไม่พร้อมใช้งานได้ทันที คงเป็นการยากที่จะเตรียมปืนให้พร้อมได้ทันในขณะที่เผชิญเหตุเช่นนั้น

อย่างที่สอง คนร้ายไม่มีทักษะในการใช้อาวุธมีดที่ดีนัก เพราะอาวุธมีดหากอยู่ในมือของผู้เชี่ยวชาญ (An Expert Knife Fighter) แล้ว ระยะประชิดเช่นนั้นมีโอกาสน้อยมากที่จะหยุดอาวุธมีดลงได้ เพราะในการใช้มีดจะมีความไหลลื่นของการเคลื่อนไหวสูงมากทำให้ยากแก่การป้องกัน

หลายครั้งแม้แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบซึ่งพกอาวุธปืนไว้ตลอดเวลา เมื่อเผชิญเหตุการณ์ร้ายเช่นนี้มักจะพยายามชักปืนออกมาให้เร็วที่สุดเพื่อหวังจะหยุดภัยคุกคามจากมีด ซึ่งมันอาจสายเกินไป

มีหลักการง่ายๆซึ่งแนะนำสำหรับการเผชิญเหตุการณ์ร้ายอย่างฉับพลัน เช่น การถูกฟันหรือแทงด้วยมีด ถูกตีด้วยไม้ ในขณะที่ยังไม่พร้อมที่จะตอบโต้ด้วยอาวุธประจำกายของเรา

-          ให้แก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้านั้นก่อนที่จะคิดถึงการชักอาวุธของเราออกมาใช้ เนื่องจากการโจมตีเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและเรายังไม่ได้เตรียมอาวุธสำหรับตอบโต้ หากเราคิดแต่จะพยายามชักอาวุธของเราออกมาไม่ว่าจะเป็นปืนหรือมีดมันอาจสายเกินไป เพราะหากเราถูกฟัน แทงหรือตีในตำแหน่งที่สำคัญเราอาจไม่มีโอกาสที่จะตอบโต้กลับไปได้ ดังนั้นควรแก้ไขการโจมตีนั้นให้ปลอดภัยก่อนด้วยวิธีการต่างๆ เช่น หลบหลีก ป้อง ปัด ปิด เปิด เป็นต้น

-          Distance is always your friend ระยะห่างเป็นเพื่อนของเราเสมอ อาวุธต่างๆมีระยะในการใช้งานที่ได้ผลดีที่สุดและด้อยที่สุด โดยส่วนใหญ่ยิ่งเราอยู่ห่างจากภัยคุกคามมากเท่าไรก็จะยิ่งปลอดภัยมากเท่านั้น เมื่อเราถูกโจมตีด้วยมีดหรือไม้หากเราสามารถถอยห่างออกมาจากระยะของอาวุธเหล่านั้นได้ก็จะปลอดภัย นอกจากนั้นหลังจากที่เราทำการหลบหลีก ป้อง ปัด ปิดหรือเปิดการโจมตีอย่างฉับพลันนั้นแล้ว ก็ให้รีบถอยห่างออกมาหรือผลักคนร้ายให้ห่างออกไป เพื่อสร้างระยะสร้างเวลาให้เราตั้งตัวเตรียมตอบโต้กลับด้วยอาวุธของเราได้

-          เคลื่อนไหวตลอดเวลา การไม่เป็นเป้านิ่งทำให้ถูกทำร้ายได้ยากขึ้น ควรเคลื่อนที่อย่างน้อย 3 ฟุตต่อวินาที

-          หลีกเลี่ยงการนอนต่อสู้บนพื้น (Ground fighting) เพราะจะจำกัดการเคลื่อนไหวและเคลื่อนที่ของเรา จึงมีโอกาสถูกทำร้ายได้ง่ายกว่า

สำหรับประชาชนทั่วไปแล้วการเรียนรู้วิธีการแก้ไขเหตุการณ์ร้ายอย่างฉับพลันเช่นนี้ก็ถือว่าสำคัญเช่นกัน สามารถใช้หลักการเบื้องต้นและพยายามมองหาสิ่งของรอบตัวนำมาปรับใช้ให้เป็นประโยชน์ในการเอาตัวรอด

สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”

                                   เรียบเรียงโดย Batman

Newcastle limousines