Friday, January 28, 2011

Newest FBI Study 1

Newest FBI Study 1



ในปี ค.ศ. 2006 FBI ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยล่าสุดชื่อ Violent Encounters เป็นการศึกษาวิเคราะห์เกี่ยวกับการเผชิญเหตุร้ายแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจสหรัฐโดยมีการใช้อาวุธและเจ้าหน้าที่ตำรวจส่วนใหญ่จะเสียชีวิต เป็นการศึกษาในระยะเวลา 5 ปี จุดประสงค์เพื่อหาแนวทางป้องกันการสูญเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ตำรวจและหาแนวทางฝึกฝน (Training) เจ้าหน้าที่ตำรวจในการปฏิบัติงาน


จะขอสรุปเนื้อหาบางส่วนที่น่าสนใจ ดังนี้


- อาวุธที่ใช้: อาวุธปืนสั้นเป็นอาวุธซึ่งใช้ทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจมากที่สุด และปืนส่วนใหญ่ก็เป็นปืนที่ถูกต้องตามกฎหมายด้วยโดยเฉพาะปืนที่ใช้กันตามท้องถนนและพวกหัวขโมย จากการสัมภาษณ์คนร้ายพบว่า การจัดหาปืนมาใช้นั้นง่ายมากและกฎหมายไม่ได้เป็นอุปสรรคในการครอบครองปืนเลย นอกจากนั้นพวกเขากลับหัวเราะเยาะกฎหมายควบคุมปืนเสียด้วยซ้ำ


- ความคุ้นเคย: คนร้ายส่วนมากพกปืนเป็นประจำนานตั้งแต่ 9 ถึง 12 ปี อายุเฉลี่ยที่เริ่มพกปืน คือ 17 ปี โดยเฉพาะพวกแก๊งอาชญากรรมมักเริ่มพกตั้งแต่อายุน้อยๆ


40 เปอร์เซ็นต์ ของคนร้ายได้รับการฝึกฝนการใช้อาวุธอย่างเป็นระบบส่วนใหญ่จากกองทัพ มากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ได้รับการฝึกยิงปืนสั้น โดยมีการฝึกยิงปืนเฉลี่ย 23 ครั้งต่อปี แต่ส่วนใหญ่เป็นการฝึกยิงปืนอย่างไม่เป็นระบบ


สำหรับเจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิตพบว่าโดยเฉลี่ยผ่านการฝึกยิงปืนเพียง14 ช.ม. หรือฝึกเพียง 2.5 ครั้งต่อปีเท่านั้น มีเพียง 6 ใน 50 คนเท่านั้นที่ฝึกยิงปืนสั้นอย่างสม่ำเสมอ


โดยภาพรวมแล้วคนร้ายฝึกยิงปืนมากกว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียอีก นี่จึงอาจเป็นสาเหตุที่คนร้ายมีความสามารถในการยิงปืนที่ดีกว่า


มากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของคนร้ายเคยมีประสบการณ์เผชิญหน้าด้วยอาวุธปืนในสถานการณ์จริงมาก่อน ส่วนใหญ่เป็นการยิงกันตามท้องถนน มักเป็นการต่อสู้ในแก๊งค้ายาเสพติด ในขณะที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเพียง 8 ใน 50 คนเท่านั้นที่เคยมีประสบการณ์จริงมาก่อน


- การพกซ่อน: คนร้ายส่วนใหญ่จะพกซ่อนปืนไว้ที่เอวด้านหน้าบริเวณขาหนีบ อีกตำแหน่งคือเอวด้านหลัง นอกจากนั้นอาจให้คนอื่นเป็นคนพกอาวุธแทนโดยเฉพาะเพื่อนผู้หญิง ส่วนใหญ่ไม่ใช้ซองปืน มีประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ที่พกปืนสำรองในบางครั้ง ส่วนใหญ่มักพกอาวุธเกือบตลอดเวลา โดยหนึ่งในสามแม้แต่เวลาทำงานก็พกอาวุธด้วย ดูเหมือนว่าคนร้ายในการศึกษาครั้งนี้จะนิยมใช้อาวุธปืนมากกว่าคนร้ายในสองการศึกษาก่อนหน้านี้ (ในช่วงปี ค.ศ. 1980s และ 90s)


ตามท้องถนนนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ว่าหญิงหรือชายมักคิดว่าคนร้ายซึ่งเป็นผู้หญิงนั้นไม่ค่อยมีพิษภัย โดยคิดว่าพวกหล่อนไม่น่าจะมีปืน ในความเป็นจริงแล้วจากการศึกษาพบว่าผู้หญิงพกอาวุธปืนมากขึ้นกว่าเมื่อ 20 กว่าปีก่อนมาก


- รูปแบบการยิง: 60 เปอร์เซ็นต์ของคนร้ายบอกว่าเป็นการยิงโดยสัญชาติญาณ เพียงแค่ชี้ปืนไปที่เป้าหมายแล้วเหนี่ยวไกไม่ได้มองศูนย์ปืน พวกเขาฝึกที่จะชักปืนออกมาแล้วใช้มัน ไม่สนใจว่ากระสุนจะถูกส่วนไหนของร่างกายเป้าหมาย ขอเพียงยิงให้ถูกเป็นใช้ได้


- ความแม่นยำ: เกือบ 70 เปอร์เซ็นต์ที่คนร้ายใช้อาวุธปืนสั้นยิงถูกเป้าหมาย เมื่อเทียบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งตกเป็นเหยื่อมีความสามารถยิงถูกเป้าหมายเพียง 40 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น (ดูจากความสามารถในการยิงถูกเป้าหมายโดยไม่คำนึงถึงจำนวนกระสุนที่ใช้) ที่เป็นเช่นนี้อาจเนื่องมาจากคนร้ายเปิดฉากยิงก่อนทำให้ได้เปรียบและสร้างความประหลาดใจให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ อีกทั้งเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งบาดเจ็บก่อนที่จะทำการยิงตอบโต้


- ข้อผิดพลาด: เจ้าหน้าที่จะยังคงระวังตัวเมื่อเห็นความผิดปกติในตัวคนร้ายซึ่งอาจเป็นอาวุธที่พกซ่อน ดังนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงควรสังเกตสิ่งผิดปกติในตัวคนร้าย ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย การเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ เสื้อผ้าที่มีส่วนยื่นออกมาผิดสังเกต หากเป็นฤดูร้อนแต่กลับใส่เสื้อหลายชั้น ในฤดูหนาวหรือฝนใส่เสื้อมีหมวกคลุมศีรษะแต่กลับไม่คลุม ก็ต้องสงสัยว่าในหมวกคลุมศีรษะนั้นอาจพกซ่อนอาวุธปืนเอาไว้


เนื่องจากคนร้ายมักไม่ใช้ซองปืนดังนั้นพวกเขามักต้องสัมผัสหรือขยับมันเป็นระยะๆ เพื่อให้แน่ใจว่าปืนยังอยู่ในที่ของมันโดยเฉพาะในเวลาที่พวกเขาเปลี่ยนท่าทาง เช่น จากนั่งไปยืน หรือออกจากรถยนต์ เป็นต้น


เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งทำงานนอกเวลาเป็นผู้ดูแลไนท์คลับมักสามารถดูอาวุธพกซ่อนของคนที่มาเที่ยวได้ดี แต่เมื่อกลับมาทำงานในเวลาปกติก็เหมือนจะปิดทักษะนั้นไปเสีย ซึ่งในหลายครั้งมันหมายถึงชีวิตทีเดียว


- จิตสำนึก: เจ้าหน้าที่ตำรวจ 36 ใน 50 นาย เคยตกอยู่ในสถานการณ์ที่ตึงเครียดซึ่งตามกฎหมายแล้วพวกเขาสามารถใช้อาวุธปืนได้ แต่พวกเขากลับเลือกที่จะไม่ใช้ ผิดกับคนร้ายซึ่งตกอยู่ในสถานการณ์ร้ายแรงถึงชีวิตตั้งแต่เด็ก พวกเขาสามารถถูกฆ่าได้เสมอ ดังนั้นจึงไม่ลังเลที่จะยิงใครก็ได้รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ คนร้ายไม่มีจิตสำนึกหรือคุณธรรมแม้แต่น้อยในการใช้อาวุธปืน ในชีวิตจริงพวกเขายึกหลัก “ชิงลงมือ ยิงก่อน” ดังนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องคิดไว้เสมอว่าคนร้ายมีอาวุธเสมอจนกว่าจะค้นตัวคนร้ายจนละเอียดดีแล้วเท่านั้น


จะเห็นได้ว่าอาชญากรในปัจจุบันนั้นอาจมีทักษะในการใช้อาวุธปืนมากกว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยเฉลี่ยเสียอีก ดังนั้นการฝึกฝนเพื่อเพิ่มทักษะการใช้อาวุธปืน การเป็นคนชั่งสังเกต ไม่ประมาท จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการเอาตัวรอดจากสถานการณ์ปัจจุบัน


สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”


เรียบเรียงโดย Batman
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง NEW FINDINGS FROM FBI ABOUT COP ATTACKERS & THEIR WEAPONS ของ Charles Remsberg

No comments:


Newcastle limousines